การสวดมนต์มีวัตถุประสงค์อะไร ? มีที่มาอย่างไร ?

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ) (M.D.; Ph.D.)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 
 
จุดประสงค์การสวดมนต์

      การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นการสวดสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ โดยสรุปเอาประเด็นสำคัญมาสวด เพื่อกันลืม เพื่อทบทวน และเพื่อเป็นการทรงจำ ที่บอกว่าเพื่อกันลืมก็เพราะในครั้งพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎกเป็นเล่ม ๆ อย่างนี้จึงต้องใช้วิธีท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้าแม้หลังจากพุทธปรินิพพานมีการสังคายนาพระไตรปฎิกครั้งที่ ๑ เรียบเรียงคำสอนทั้งหมดเป็นพระไตรปิฎกแล้วก็ตาม ก็ยังใช้การท่องจำสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลา ๔๐๐ กว่าปี ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” ภายหลังจึงเริ่มจารึกด้วยตัวอักษรเพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดต้องอาศัยการท่องจำทั้งนั้น และมีการคัดเอาคำสอนที่สำคัญ ๆ มาสวดสาธยายอยู่เป็นเนืองนิตย์ เป็นบทสวดมนต์สืบทอดต่อกันมาทั้งนี้เพื่อตอกย้ำตัวเอง เหมือนกับที่คนทางโลกท่องสโลแกนบางอย่าง

     เราจะเห็นว่าในครั้งพุทธกาล บางคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาพาธ ยังมีพระภิกษุมาสาธยายพุทธมนต์ให้ฟัง เช่น บทโพชฌงค์ และด้วยอานุภาพแห่งบทโพชฌงค์ที่ฟังแล้วทำให้สบายใจ อาการอาพาธก็คลายและทุเลาลง แล้วเวลามีพระภิกษุอาพาธพระพุทธเจ้าก็ทรงสาธยายพระพุทธมนต์ให้ฟังเหมือนกัน บทสวดมนต์เป็นสิ่งที่มีอานุภาพอย่าดูเบา และชาวพุทธเราก็สวดกันเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ทั้งพระภิกษุ ทั้งญาติโยมเพื่อเป็นการทบทวนพุทธคุณและคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราจะแยกระหว่างบทสวดมนต์กับคาถาอาคมได้อย่างไร?

     บทสวดมนต์เป็นการรวมคำสอนที่สำคัญเอาไว้ ซึ่งคำสอนนั้นมีอานุภาพ ส่วนคำว่าคาถา ความหมายที่แท้จริงแปลว่า ร้อยกรองคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีทั้งที่เป็นบทร้อยกรองและร้อยแก้ว ร้อยแก้วก็คือคำบอกเล่าทั่ว ๆ ไป ส่วนร้อยกรองก็คล้าย ๆ กับโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่เราใช้ในภาษาไทยแต่ในภาษาบาลีนั้น คาถา ๑ คาถา มีอยู่ ๒ บรรทัด ๔ วรรค ตัวอย่างเช่น วรรคที่ ๑ “อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ” ต่อไปวรรคที่ ๒ “โก หิ นาโถ ปะโร สิยา”... พอครบ ๔ วรรค ก็เป็น ๑ คาถา นี้คือบทร้อยกรองในพระพุทธศาสนาแต่เรามาใช้คำว่า คาถาอาคม ซึ่งความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบันรู้สึกว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์

     ส่วนคำว่า อาคม ที่จริงศัพท์เดิมหมายถึงพระสูตร พระไตรปิฎกประกอบด้วยพระวินัยพระสูตร และพระอภิธรรม พระสูตรบางทีใช้คำว่าอาคมแทน แต่ในยุคหลังเรายืมคำเก่ามาใช้แล้วความหมายแปลงไปนิดหน่อย คำว่าคาถาอาคม เรารู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่ต้องห้อยลูกประคำ มีการล้อมสายสิญจน์ มีการเสกคาถาเรียกวิญญาณลงหม้อ ฯลฯ ส่วนคำว่าคาถา แต่เดิมเขาก็ใช้กัน เช่น คาถาทำคลอดสมัยโบราณถ้าผู้หญิงท้องแก่จะคลอด แล้วคลอดยาก ต้องไปนิมนต์พระมาสวดคาถาพระปริตร

     เหตุที่มามีอยู่ว่า เมื่อครั้งพุทธกาลองคุลิมาลฆ่าคนมาเยอะ เพราะท่านเป็นโจรมาก่อน ภายหลังกลับใจมาบวช พอบวชแล้วคนก็ไม่ค่อยใส่บาตร หนีกันหมด บางคนเอาหินขว้างปา เพราะโกรธที่ท่านเคยฆ่าญาติของตน

     คราวหนึ่งพระองคุลิมาลเจอหญิงท้องแก่เจ็บท้องจะคลอด แต่ไม่ยอมคลอด ปวดมากท่านก็เลยเข้าไปโปรด โดยการตั้งสัตยาธิษฐานว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกบวชในอริยวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ไม่เคยเลยที่จะปลงชีวิตสัตว์แม้ด้วยความคิด ด้วยอานุภาพแห่งสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและทารกในครรภ์เทอญ

     สิ้นเสียงพระองคุลิมาลเท่านั้น เด็กคลอดออกมาได้อย่างสบาย ดังนั้นในยุคหลังผู้หญิงท้องแก่ที่คลอดยาก ก็เลยเอาคำของท่านมาเป็นคาถาให้คลอดง่าย

     คาถาแต่ละคาถาล้วนมีที่มาที่ไป อิงอาศัยอานุภาพของพระรัตนตรัยทั้งนั้น อย่างเวลาเข้าป่า ถ้ากลัวงูก็ต้องใช้คาถากันงู“วิรูปักเขหิ เม เมตตัง” แผ่เมตตาให้พญานาคตระกูลใหญ่ ๆ ทั้ง ๔ ตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าแห่งงูแล้วงูเล็กงูน้อยทั้งหลายซึ่งอยู่ในอำนาจจะไม่มารบกวน เลยถือเป็นคาถากันงู

     เวลาจะขึ้นบ้านใหม่ นิยมนิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนานในนั้นจะต้องมีบทกันไฟไหม้ด้วย คือบท “อัตถิ โลเก สีละคุโณ” คาถานี้มีที่มาจากชาดกตอนที่พระพุทธเจ้าทรงระลึกชาติไป แล้วทรงเล่าอดีตชาติให้ฟังว่า มีพระชาติหนึ่งพระองค์เกิดเป็นลูกนกคุ่มอาศัยอยู่ในรัง พ่อนกแม่นกออกไปหากิน เกิดไฟไหม้ป่า ไหม้จะมาถึงรังแล้วลูกนกก็ยังบินไม่ได้ ก็เลยตั้งสัตยาธิษฐาน และด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานนี้ ไฟจึงหยุดไหม้ แล้วที่ตรงนั้นไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัป ด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานของพระบรมโพธิสัตว์ เราก็เลยเอาคาถาบทนี้เป็นคาถากันไฟไหม้

     ถ้าไปเยี่ยมคนเจ็บก็จะสวดคาถาบทที่เรียกว่าโพชฌงคสูตร ซึ่งฟังแล้วทำให้ใจสบายอาการป่วยก็จะคลี่คลาย ทุเลาเบาบางลงเป็นต้น ซึ่งต่อมาหลัง ๆ คนไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เลยถือว่าเป็นคาถาอาคม บางครั้งไม่ได้เกี่ยวกับบทสรรเสริญพระรัตนตรัยโดยตรง แต่ว่าเป็นของที่แต่งขึ้นในยุคหลัง คาถาที่ศักดิ์สิทธ์ิจริง ๆ แล้ว จะต้องมาจากบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีที่มาที่ไป อ้างอิงถึงคุณของพระรัตนตรัย สวดแล้วมีอานุภาพ แต่อานุภาพจะแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าผู้สวดมีศีลบริบูรณ์แค่ไหน แล้วก็มีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยแค่ไหน ถ้าหากสวดแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อานุภาพก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้าสวดด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจริง ๆ ใจดิ่งปักมั่นในพระรัตนตรัยจริง ๆ อานุภาพไม่มีประมาณ

บทสวดมนต์ทำวัตรเช้า
บทสวดมนต์ทำวัตรเย็น
่านหนังสือสวดมนต์ ออนไลน์
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/ข้อคิดรอบตัว/การสวดมนต์มีวัตถุประสงค์อะไร-มีที่มาอย่างไร.html
เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567 01:40
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv