อารมณ์ติดลบในหน้าร้อน

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว


อารมณ์ทำให้เราหงุดหงิดได้อย่างไร?

       อารมณ์กับจิตใจเป็นสิ่งที่เนื่องกันอยู่แล้ว เพราะอารมณ์คือสิ่งที่แสดงออกของใจ แต่บางคนสงสัยว่า ทำไมหน้าร้อนคนถึงรู้สึกหงุดหงิดง่ายเป็นพิเศษ อันนี้ถ้าตอบกึ่งทางการแพทย์ ก็ต้องบอกว่า ปกติร่างกายของคนเรามีกระบวนการเมตาบอลิซึม การทำงานของร่างกายจะทำให้เกิดความร้อนขึ้น ร่างกายก็ต้องระบายความร้อนออกมา ซึ่งถ้าเจออากาศเย็น ๆ สบาย ๆ ก็ระบายความร้อนออกได้ง่าย แต่พอหน้าร้อน อากาศข้างนอกร้อน ร่างกายระบายความร้อนไม่ค่อยออก จึงต้องพยายามขบออกมาดวยกระบวนการพิเศษคือมีเหงื่อออกมาบ้าง และพอเหงื่อระเหยออกมาก็เป็นการช่วยเอาความร้อนออกไป เป็นต้น แต่พอเหงื่อออกก็เริ่มเหนียวเหนอะหนะ ร่างกายจะรู้สึกว่า เริ่มระบายความร้อนลำบากขึ้น เหมือนกับรถยนต์ที่โอเวอร์ฮีตหนัก ๆ เข้า เครื่องก็จะแฮงก์ไปเลย ตัวคนเราก็เหมือนกัน พอระบายความร้อนไม่ค่อยออก ก็เริ่มเกิดโอเวอร์ฮีตขึ้นข้างใน และเนื่องจากกายกับใจสัมพันธ์กัน โอกาสที่ใจจะเกิดโอเวอร์ฮีตก็เริ่มสูงขึ้นมา เพราะฉะนั้นหน้าร้อนคนก็เลยหงุดหงิดง่าย

นอกจากกระบวนการในร่างกายแล้ว สภาพแวดล้อมอื่น ๆ มีผลต่ออารมณ์ไหม?

      มีแน่นอน สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราที่สำคัญอย่างหนึ่งคือคน ตัวเราเป็นอย่างไร คนอื่นก็คล้ายกัน เราเองหน้าร้อนหงุดหงิดง่าย คนอื่นเขาก็มีโอกาสหงุดหงิดง่ายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องตั้งหลักให้ดี ไม่อย่างนั้นจะหงุดหงิดกันเอง เช่น คนอื่นเขาพูดไม่เพราะมาคำสองคำ แล้วมากระทบใจเราเข้า ว่ากันไปว่ากันมา เดี๋ยวไปกันใหญ่ แต่ถ้าเขาจะว่าอย่างไรเราก็ยังเย็น แบบนี้ช่วยลดภาวะโลกร้อนทางใจได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน

อากาศร้อนมีข้อดีบ้างไหม?

      ที่จริงข้อดีของอากาศร้อนมีมาก คนเราอาจจะรู้สึกว่าอยู่เย็น ๆ ก็ดี ร้อน ๆ แล้วหงุดหงิดแต่ความจริงถ้าเราปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวก เราจะพบว่าอย่เมืองร้อนสบายกว่าเมืองหนาวอยู่เมืองหนาวหน้าหนาวถึงตายได้ ถ้าไม่มีเครื่องทำความอบอุ่นเพียงพอ หรือไม่มีที่อยู่อาศัยที่มิดชิด แต่ในเมืองร้อนชีวิตความเป็นอยู่ง่ายกว่า อย่างไรก็ยังอยู่ได้สบาย ๆ เพราะสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย อย่างในแง่การหาข้าวปลาอาหารมาหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกหรือการหาอาหารตามธรรมชาติ เมืองร้อนหาง่ายอย่างที่เราได้ยินคำว่าหาเช้ากินค่ำ ก็เพราะว่าหาวันนั้นกินวันนั้นได้ บางทีหาเช้ากินเช้าด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเป็นเมืองหนาว พอช่วงหนาวจะไม่มีอะไรเลย ต้นไม้ทิ้งใบหมด เหลือแต่กิ่งแห้ง ๆ ถ้าไม่เตรียมการล่วงหน้าก็ถึงตายได้ เพราะสิ่งแวดล้อมบีบคั้น

ถ้าร้อนกายเราอาบน้ำหรือกินน้ำเย็นได้ ถ้าร้อนใจควรทำอย่างไร?

    ถ้าร้อนใจต้องอาศัยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องช่วย แต่พอถึงเวลานั้นแล้วต้องตั้งหลักให้ได้ อย่าให้เป็นลักษณะว่าเผลอไปแล้ว ลืมสติไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้วแบบนี้น่าเสียดาย ฉะนั้นขอให้ตั้งหลักดี ๆ ที่จริงต้องมีการปูพื้นฐานก่อน คือเราต้องตั้งใจสวดมนต์ทำสมาธิให้เป็นประจำ สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานใจ พอเจออะไรเราจะมีสติ และจะสามารถยับยั้งใจตัวเองได้ทัน ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า อย่าไปสุกเอาเผากิน โกรธเมื่อไรค่อยตั้งหลักแล้วก็ “สัมมา อะระหัง” ทำใจนิ่ง ๆ ซึ่งตอนนั้นไม่ทันแล้ว ใจกระเพื่อมเสียก่อน

เวลาอารมณ์ร้อนในที่ทำงานควรทำอย่างไร?

       ถ้าเอาตัวออกมาไม่ได้เราก็เอาใจออกจากเรื่องนั้น ปัจจุบันมีสปา มีที่เสริมสวยอะไรต่างๆ ซึ่งฮิตกันไปทั้งโลกเลย โดยเฉพาะสุภาพสตรีจะสนใจเรื่องผิวสวย และแม้แต่สุภาพบุรุษก็เริ่มสนใจ เรื่องนี้กันมากขึ้น มีวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผิวสวย เรียกว่าสวยทั้งชาตินี้และสวยข้ามชาติด้วย คือผู้ที่ฆ่าความโกรธได้ ผู้ที่ไม่โกรธ จะมีอานิสงส์คือผิวพรรณวรรณะดี ลองสังเกตตัวเราเวลาโกรธหัวใจจะเต้นแรง บางทหี น้าแดงก่ำขึ้นมา เลือดสูบฉีดความร้อนข้างในระอุขึ้นมาเลยมันแผดเผาทำให้ผิวเกรียม ใครมักโกรธผิวจะเสีย เกรียมกร้าน มีไฝมีฝ้า มีสิวขึ้น ผิวจะไม่ดี แต่ถ้าเป็นคนใจเย็นมีเมตตา ผิวพรรณวรรณะจะดี เพราะฉะนั้นใครอยากผิวดีอย่าโกรธเด็ดขาด ถ้าโกรธขึ้นมาจะลดต้นทุนความงามตัวเอง ให้เตือนใจตัวเองไว้อย่างนี้ แล้วเวลามีอะไรมากระทบต้องรู้จักจับแง่มุมให้เป็น

      ในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อปุณณะ นั่งธรรมะได้ไม่ดี สำรวจตัวเองพบว่าไม่คุ้นกับสถานที่ เลยมากราบทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษาที่เมืองสุนาปรันตะ พระพุทธองค์ทรงถามว่าไหวหรือท่านปุณณะ ชาวเมืองสุนาปรันตะส่วนมากอารมณ์แรงโหดมาก ท่านก็บอกว่าไหว ทรงถามว่าถ้าโดนเขาด่าจะว่าอย่างไร ท่านปุณณะกราบทูลว่า เขาด่าดีกว่าเขาตี แล้วถ้าเขาตีจะทำอย่างไร ท่านกราบทูลว่า เขาตีด้วยไม้ดีกว่าฟันด้วยมีด แล้วถ้าเขาฟันด้วยมีดล่ะท่านกราบทลูว่าดีกว่าเขาฆ่า แล้วถ้าเขาฆ่าล่ะ เขาฆ่าก็ดี เพราะบางคนอยากตาย ยังต้องหาเชือกหาอะไรมาผูกคอตาย หายาพิษมากิน หาปืนมายิง ลำบากมากกว่าจะตาย แต่เราไม่ต้องเสียเวลาไปขวนขวายหาอะไรเลย มีคนช่วยจัดการให้เสร็จ พระพุทธเจ้าจึงตรัสอนุญาตให้ไปเมืองสุนาปรันตะได้ และต่อมาไม่นานท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ที่จริงพอจับหลักในการคิดได้ รู้จักเชิดอารมณ์ตัวเองให้สูงขึ้น เปลี่ยนมุมมองคิดในเชิงบวก ก็จะเห็นแง่มุมดี ๆ ตรงนี้สำคัญ การจับหลักมุมมองในการคิดทำให้ใจเราห่างจากเรื่องนั้น ตัวเราหนีจากตรงนั้นไม่ได้เราก็เอาใจเราหนีออกมา โดยเปลี่ยนมุมมอง แล้ว เราจะดีขึ้นความโกรธมี 100 อาจจะเหลือ 10 หรือ 20 หรือหายไปหมดเลย

เวลาโกรธนับ 1 ถึง 1,000 ก็ไม่หาย จะทำอย่างไรดี ?

     ถ้านับเฉยๆ ยังไม่หาย ถ้าสถานที่อำนวยขอแนะนำให้สวดมนต์ทำวัตรยาวๆ ไปเลย ประมาณ 15 - 20 นาที จะช่วยได้เยอะ เพราะนับเฉย ๆ บางทีเบื่อ ที่บอกว่านับ 1 ถึง 1,000 จริง ๆ ไม่ถึงหรอก นับ 1, 2, 3... เดี๋ยวก็กลับไปคิดเรื่องเก่า แล้วก็กลับมาโกรธอีก แต่ถ้าสวดมนต์ยาว ๆ เสียงสวดมนต์ที่ลื่นไหลโดยคำภาษาบาลีจะทำให้ใจเรานิ่ง สวดมนต์เสร็จถ้ายังไม่หายโกรธให้สวดรอบสองหรือนั่งสมาธิต่อ เปิดเทปเสียงนำนั่งสมาธิของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จะช่วยให้ใจเราค่อย ๆ นิ่ง สุดท้ายจะคลี่คลายหายโกรธไปได้

คำว่าเอาน้ำเย็นเข้าลูบหมายถึงอะไร?

      คำนี้คงเป็นคำโบราณ เปรียบว่าความโกรธเวลาเกิดขึ้นมันคล้ายไฟ ให้เอาน้ำเย็นเข้าลูบคือค่อย ๆ ประโลมให้ไฟอ่อนกำลังลง แล้วค่อย ๆ มอดลงไปนั่นเอง

    ในครั้งพุทธกาลมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นคือมีนางพราหมณีคนหนึ่งเป็นคนที่มีความศรัทธาในพระรัตนตรัยมาก แต่สามีไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเลย กลับไปเลื่อมใสพวกชีเปลือย อยู่มาวันหนึ่งสามีเชิญพวกชีเปลือยมาเลี้ยงอาหาร ปรากฏว่านางพราหมณีเอาอาหารมาให้สามีแล้วสะดุดหกล้ม ตอนหกล้มอุทานออกมาว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” 3 จบ พวกชีเปลือยได้ยินเข้าพากันไม่พอใจ ลุกหนีออกไปหมดเลย พ่อบ้านสุดแค้นแม่บ้าน หาว่ามาทำอย่างนี้ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าที่ฉันเคารพนับถือได้อย่างไร ต่อว่าต่าง ๆ นานา แล้วความโกรธก็พุ่งขึ้น ๆ พระพุทธเจ้าอาจารย์ของเธออยู่ที่ไหน จะต้องไปจัดการสักหน่อย พูดเสร็จแล้วก็ออกจากบ้าน บอกว่าจะต้อนคำถามพระพุทธเจ้าให้อยู่หมัดเลย และจะล้างแค้นให้ได้ วิ่งไปถึงวัดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ รีบเข้าไปทันที ดูก่อนสมณโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะเป็นสุข คือใจตอนนั้นถึงขนาดคิดอยากฆ่าภรรยาเลย

      เมี่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเจอคำถาม พระองค์ทรงนิ่งๆ แต่เมื่อตรัสตอบที่เดียวพราหมณ์ตะลึงเลย นอกจากหายโกรธแล้ว ยังสามารถพลิกใจพราหมณ์ได้ ตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบพระทัยของพระองค์นิ่งมากและอยู่ในแหล่งของความเย็นมากๆ คือที่ศูนยกลางกาย กระแสความเย็นความเมตตาที่ออกไปมีพลานุภาพเสริมที่สำคัญมาก พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์บุคคลฆ่าความโกรธได้จะนอนเป็นสุข ตรัสแค่นี้พราหมณ์ช็อกไปเลย เพราะกำลังคิดว่าจะไปฆ่าภรรยาให้สมแค้น จะได้เป็นสุข แต่พระองค์กลับตรัสว่า ฆ่าความโกรธได้นอนเป็นสุข พราหมณ์ก็คิดได้ว่าจริง เราจะไปแก้เหตุข้างนอกมันไม่จบ ต้องแก้ที่ใจเราเอง คำตอบของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด จุดประทีปโคมไฟในที่มืด บอกทางให้คนหลงทาง พราหมณ์กราบทูลขอบวชเลย ต่อมาได้เป็นพระอรหันต์ด้วยฉะนั้นเอาน้ำเย็นเข้าลูบต้องลูบอย่างนี้ ตรงจุดปั๊บใจพลิก 180 องศาเลย แต่ว่าพลิกให้ดีไม่ใช่จี้เข้าไปแล้วลุกพรึบขึ้นมา นึกว่าเอาน้ำเย็นเข้าลูบกลับกลายเป็นน้ำ มันเบนซิน แบบนี้ก็แย่เหมือนกัน ฉะนั้นสังเกตใจแต่ละคนให้ดีก็แล้วกัน แต่อย่าลืมว่าอย่าไปมุ่งเน้นที่คำพูดอย่างเดียวต้องเริ่มต้นจากใจของเราต้องเย็นจริง ๆ ให้ไอเย็นจากใจเราสามารถแผ่ไปถึงทุก ๆ คนรอบตัวได้คำพูดเราถึงจะมีพลานุภาพอย่างแท้จริง

มีหลักธรรมอะไรอีกบ้างที่ช่วยระงับความโกรธได้?

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการระงับความโกรธไว้เหมือนกัน ขยายในเชิงปฏิบัติมากขนึ้ ทรงให้ไว้ 5 ข้อ คือ 1. ให้เจริญเมตตาต่อบุคคลนั้น 2. เจริญกรณุาต่อบุคคลนั้น 3. เจริญอุเบกขาต่อบุคคลนั้น 4. ไม่ทัก ไม่สนใจ 5. ให้คิดว่าคนเรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด พูดง่าย ๆ ว่ากรรมใครกรรมคนนั้น

     ข้อ 1 ข้อ 2 จะอธิบายควบกัน เพราะเรามักจะใช้เมตตากรุณาควบกัน เมตตา คือปรารถนาให้เขาเป็นสุข คือเขาอยู่ดี ๆ อยู่แล้ว เราก็อยากให้เขาเป็นสุขยิ่ง ๆ ขึ้น กรุณา คือเขากำลังลำบากเราก็อยากให้เขาพ้นจากความลำบากนั้น นี่คือความหมายของกรุณา ฉะนั้น เจริญเมตตากรณุาก็คือให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราโกรธนั้นจริงๆ เขากำลังแย่ คนที่ทำให้เราโกรธนั้น ใจเขาเองไม่ปกติ มักจะมีเชื้อโกรธอยู่ด้วย เชื้อความเห็นผิดด้วย แบกกรรมต่าง ๆ ไปด้วย

      เพราะฉะนั้นให้เจริญเมตตา แทนที่จะนึกว่ามาทำกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร สังเกตว่าความโกรธมันอยู่ที่ความคิด เคยมีบางคนเจอกับเพื่อน คุย ๆ กันเสร็จเรียบร้อยก็จากกันไป ไม่มีอะไรแต่มานึกทบทวนเมื่อกี้คุยอะไรกัน นึกได้ว่าเขาว่าเรา ตอนคุยกันไม่ทันนึก รู้สึกหงุดหงิดมาก เจอกันเมื่อไรจะต้องต่อว่า ยิ่งคิดยิ่งแค้น เห็นไหมว่าความคิดปรุงแต่งทำให้เกิดอารมณ์อย่างนี้ขึ้นมา แล้วมักจะเป็นลักษณะถือตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางว่ามาทำกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร พูดกับเราอย่างนี้ได้อย่างไร หมิ่นศักดิ์ศรีกัน ให้เราสังเกตว่าคนที่มาพูดกับเรา ทำกับเราแบบเดียวกัน ถ้าหากเป็นคนระดับใกล้ ๆ กัน บางทีเราโกรธ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่มาก ๆ หรือเป็นคนที่เราเคารพนับถือ เรากลับไม่ค่อยถือสา รู้สึกว่ารับได้ อย่างนี้เป็นต้น มันอยู่ที่การคิดปรุงแต่งของเรานั่นเองและถ้าเป็นคนที่เรากำลังหวังจะได้ประโยชน์จากเขา จะพูดอย่างไรเรารับได้หมด อารมณ์ดีหมดขออย่างเดียวคุณช่วยหน่อยแล้วกัน

      ฉะนั้นทั้งหมดมันอยู่ที่ใจของเราที่จะคิดปรุงแต่งไปทางด้านใดเท่านั้นเอง แต่การคิดอย่างนี้จะมีปัญหาได้เยอะ ถ้าเราคิดใหม่ว่าคนที่เขาทำอย่างนั้นผลจะเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปโกรธเขา กลับเห็นใจเขา เจริญเมตตาในตัวเขา ถ้าเขาทำอย่างไรแล้วสบายใจพูดแล้วสบายใจ ปล่อยเขาไปเถิด เราไม่คิดอะไรมากก็ไม่มีปัญหา คำพูดที่เสีย ๆ ของเขาที่พูดออกมาเหมือนคนที่อุจจาระออกมา มันไม่ดีเลย แต่ขับถ่ายแล้วเขาสบายตัว ก็ให้เขาระบายเถิดอย่าไปใส่ใจ เจริญเมตตาในตัวเขา หรือคิดในทางสงสารเขาว่าทำอย่างนี้จะมีวิบากกรรมติดตัวดีกว่าไปโกรธเขา ให้คิดในเชิงสร้างสรรค์แทน คิดเมตตา คิดกรุณา แต่ไม่ใช่มุทิตา เพราะมุทิตาคือเขาได้ดีก็ดีใจด้วย คำว่าเจริญมุทิตาไม่ใช้กับเรื่องนี้ ข้อที่ 3 กล่าวถึงอุเบกขา ให้วางใจกลาง ๆ ไม่ใส่ใจอะไรมาก ข้อนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับ ข้อ 4 คือ ไม่ทัก ไม่สนใจ อันนี้อยู่ที่ระดับของแต่ละคนว่าเขาร้ายแค่ไหน ถ้าร้ายมาก ๆ เข้าใกล้ เมื่อไรเหมือนมีเชื้อไฟตลอดเวลา เราเองก็ยังไม่ถึงขนาดหมดกิเลส แบบนี้ ก็ห่าง ๆ ไว้ อย่าไปทัก อย่าไปสนใจ บางคนรู้อยู่ว่าเขานิสัยอย่างนี้ ถึงเวลาก็ไปแหย่ แล้วก็มีปัญหาขึ้นมาทีหลัง คนนั้นก็ยิ่งโกรธไปใหญ่ เป็นวิบากกรรมกับตัวเองด้วย ฉะนั้นถ้าดูท่าไม่ดีก็ไม่ต้องไปทัก ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจอันนี้เป็นวิธีการที่ช่วยได้อีกวิธีหนึ่ง

      ข้อที่ 5 คือให้นึกว่าคนเรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ที่เราเรียกว่าเป็นกรรมพันธุ์ กรรมเป็นเครื่องจำแนกเผ่าพันธุ์ของสัตว์ เพราะฉะนั้นทำอะไรไว้เดี๋ยวได้รับอย่างนั้น เราอย่าไปโกรธเขาเลยเดี๋ยวกฎแห่งกรรมจัดการเอง ถ้าคิดได้แบบนี้จะนึกสงสารเหมือนอย่างข้อข้างต้น

       ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นกระบวนการสัมพันธ์กัน เกิดต่อเนื่องกัน ไม่ใช่แยกข้อใดข้อหนึ่ง เพราะฉะนั้นนึกอย่างนี้แล้ว เราจะได้ปลอดโปร่งใจ หรือแทนที่จะไปคิดว่าทำไมเราต้องเจออย่างนี้ ทำไมเขาถึงมาทำกับเราอย่างนี้ ก็ให้คิดว่าคงเป็นวิบากกรรมของเรา แสดงว่าภพในอดีตเราต้องทำอะไรบางอย่างเอาไว้ ถึงได้เจออย่างนี้ เพราะฉะนั้นให้จบไปชาตินี้เลย อย่าไปต่อกรรมใหม่ แล้วก็อโหสิกรรม ให้อภัยทุกคน ไม่ถือโทษโกรธเคืองใคร เราเองก็รับวิบากกรรมในอดีตของเราเองส่วนเขาจะเป็นอย่างไรก็ต้องรับของเขาไป เราจะไม่ผูกเวรและไม่ผูกโกรธกันต่อไป คิดอย่างนี้แล้วอารมณ์โกรธในใจจะคลี่คลายและเบาลง

สรุปว่าร้อนหรือเย็นอยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ที่อากาศใช่หรือไม่?

      ใจเราเป็นหัวใจหลัก อย่างอื่นเป็นแค่องค์ประกอบย่อยเท่านั้น ที่จริงมีข้อคิดเรื่องหนึ่งซึ่งพระครูวินัยธรสุวิทย์ สุวิชฺชาโภ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เคยกล่าวเอาไว้น่าคิดทีเดียว ท่านผูกเป็นคำไว้ว่า

ฟ้านั้นคล้ายหม่นหมอง เพราะฝุ่นละอองมาบดบัง
เราดูฟ้าคล้ายหมอง เพราะมัวมองแต่ฝุ่นบัง


     แต่จริง ๆ ฟ้าไม่ได้หมอง ฟ้าก็ยังเป็นฟ้าอยู่อย่างนั้น บางทีก็มีฝุ่นมีอะไรมาบ้าง ถ้าหากเรามัวมองแต่ฝุ่น เราจะรู้สึกว่า ฟ้าอย่างนั้นฟ้าอย่างนี้ไปเรื่อย แต่ถ้าเรามองดี ๆ จะพบว่า ที่จริงฟ้าก็เป็นฟ้า ฝุ่นละอองพัดมาเดี๋ยวก็พัดไปที่อื่น เรื่องราวในชีวิตคนเราก็เช่นกัน เดี๋ยวเรื่องนี้ก็มาเดี๋ยวเรื่องนี้ก็มา เดี๋ยวเรื่องนี้ก็ไป หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป แล้วเวลามองอะไรให้มองในแง่บวก มองด้วยความเข้าใจโดยยกใจเราให้สูงขึ้นจากเรื่องราวที่มากระทบ แล้วเรื่องต่าง ๆ ให้มองเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวแล้วก็ให้พัดผ่านใจเราไป อย่าไปเก็บเอาไว้ สุดท้ายใจเราก็จะผ่องแผ้ว มีแต่สิ่งดี ๆ อารมณ์ดีอารมณ์เบิกบาน ตลอดวัน ตลอดปี และตลอดไป ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใส นอนเป็นสุขตื่นก็เป็นสุข ชีวิตมีความสุขตลอดทั้งชาตินี้และชาติหน้า

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/ข้อคิดรอบตัว/อารมณ์ติดลบในหน้าร้อน.html
เมื่อ 22 พฤษภาคม 2567 03:54
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv