ไปที่เนื้อหา


thaikids072

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 16 Dec 2006
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Oct 10 2009 10:32 AM
****-

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

อย่าลืม! สืบสาน มาฆบูชา

09 February 2009 - 11:52 AM



9 กุมภาพันธ์ 2552

วันมาฆบูชา ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง

ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม

ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์











วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 3 หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์

แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น

วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 4 หรือประมาณเดือนมีนาคม

ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552





วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3

คำว่า “มาฆะ” เป็นชื่อของเดือนที่ 3 ของอินเดียโบราณ

ถือเป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ 4

ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ



1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ เดินทางมาเฝ้า

พระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวช จากพระพุทธเจ้า

โดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย

4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรง

แสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์



โอวาทปาติโมกข์ คือ

ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา 3 ประการ ได้แก่



1. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ

2. ทำความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกาย วาจา ใจ

3. ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส





หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี

พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน"

การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พระชันษา



ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญ

เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม 2 ประการ คือ

เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร





ประวัติการถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย



พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ

"พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า



ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2394

ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า

นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป

ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม





เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์

เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง

แล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย

ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ

เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ



ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี

แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง

นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง





ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง

และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย

เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอกิจกรรมทางศาสนา



ในวันมาฆบูชา มีประเพณีและกิจกรรมอันดีงามต่างๆ

ที่พวกเราชาวพุทธทุกคนปฏิบัติสืบต่อกันมาคือ ทำบุญตักบาตร

อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ ไปวัดเพื่อรักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา

และเจริญสมาธิภาวนา ร่วมเวียนเทียนรอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ

ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ ในเวลาเย็น-ค่ำ ที่วัดใกล้บ้าน



ช่วยกันสืบสานประเพณีอันงดงามในวันมาฆบูชา

ร่วมทำบุญรักษาศีล, ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญสมาธิภาวนา

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของพวกเรา ทุก ๆ ท่าน ครับ



........

มะนาวเลิกบุหรี่ ยัน2อาทิตย์ได้ผล

31 August 2008 - 06:32 PM

พบคุณวิเศษมะนาวกินเลิกบุหรี่ได้ ชี้ในวิตามินซีมีสารช่วยลดความอยากนิโคติน ทั้งทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป เผยผลทดลองในนักเรียนได้ผลดี สามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 สัปดาห์

ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในการประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 7 เรื่อง "เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจต้านภัยบุหรี่" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ว่า จากผลการวิจัยพบในวิตามินซีจะมีสารที่ช่วยลดความอยากนิโคตินได้ และช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรมให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงมีการนำไปใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยเทคนิคการรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะมะนาว พบว่าเมื่อนำไปใช้แล้วมีประสิทธิภาพได้ผลดีมาก เนื่องจากมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป

ผศ.กรองจิตกล่าวว่า วิธีการกินมะนาวช่วยเลิกบุหรี่ต้องหั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีเปลือกติดมาด้วย ขนาดเท่าหัวแม่โป้ง หรือพอคำ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ให้กินมะนาวแทน โดยอมแล้วค่อยดูดความเปรี้ยว จากนั้นเคี้ยวเปลือกอย่างช้าๆ นาน 3-5 นาที จะมีผลทำให้ลิ้นขม เฝื่อน จากนั้นดื่มน้ำ 1 อึก นอกจากช่วยลดความอยากนิโคตินแล้ว เมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนเป็นขมจนไม่อยากสูบ และสามารถกินมะนาวหรือผลไม้ชนิดอื่นที่มีความเปรี้ยวมากๆ ได้ทุกครั้งที่เกิดความอยากบุหรี่ แต่เมื่อเทียบกันพบว่ามะนาวจะได้ผลดีที่สุด

"การเลิกบุหรี่ด้วยการกินมะนาว ส่วนใหญ่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ และไม่อยากบุหรี่อีก ถือว่าชนะนิโคตินได้ มีการนำไปทดลองกับนักเรียน หลายคนที่ได้ทดลองวิธีนี้จะรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วไม่อร่อย รสชาติไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่อีก อย่างไรก็ตาม แม้อาการทางกาย คือความอยากจะหมดไป แต่อาการทางใจบางครั้งจะยังมีอยู่ เช่น เศร้า หงุดหงิดเหมือนคนอกหัก คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ และตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาดจะสามารถเลิกได้อย่างแน่นอน" ผศ.กรองจิตกล่าว

ด้านนางอนงค์ พัวตระกูล อาจารย์โรงเรียนบางมดวิทยา "สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์" ซึ่งได้รับรางวัลควบคุมยาสูบแห่งชาติ ประเภทสถานศึกษาปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากการทำค่ายลดละเลิกบุหรี่ โดยนำนักเรียนที่สูบบุหรี่จำนวน 75 คนมาทำกิจกรรม โดยให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และให้เด็กใช้เวลาในการเลิกบุหรี่อย่างจริงจังประมาณ 3-7 วัน รวมทั้งใช้วิธีการเคี้ยวมะนาวเพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ พบว่าร้อยละ 75 จะสูบเป็นครั้งคราว เมื่อผ่าน 2 สัปดาห์ จะมีเด็กที่เลิกสูบเด็ดขาดร้อยละ 50 และภายใน 1 ปีมีเด็กเพียงร้อยละ 30 ที่กลับไปสูบอีก โดยปัจจัยเสริมที่ทำให้เลิกได้ พบว่า หากเป็นเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงก็จะเลิกง่ายกว่าเด็กที่หัวอ่อนตามเพื่อน

"ภาย 2 สัปดาห์พบว่าการติดตามพฤติกรรมร่วมกับการใช้มะนาวช่วยเลิกบุหรี่สามารถทำให้เด็กลดและเลิกบุหรี่ได้ นอกจากนี้ต้องมีคนให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ซึ่งโรงเรียนต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งในการดูแลเด็ก มีการทำโทษ แจ้งผู้ปกครอง หรือแม้แต่การให้ไปเสียค่าปรับที่โรงพักก็เคยมี เนื่องจากการเลิกบุหรี่ในเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ที่เลิกได้จริงก็จะเกิดจากความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัย และไม่กลับมาสูบบุหรี่อีกตลอดไป" นางอนงค์กล่าว

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2550-2551 นี้ สธ.มีนโยบายให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพในการแก้ไขปัญหาบุหรี่และสุขภาพ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยตายจากโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบ รวมปีละกว่า 42,000 คน เฉลี่ยวันละ 115 คน

ดังนั้น บุคลากรและนักศึกษาของสถาบันฯ ควรมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเป็นตัวอย่างที่ดีและมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ด้วย เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ สธ.จึงร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นำร่องโครงการใน 6 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ใน 5 จังหวัด คือ ชลบุรี ชัยนาท ลำปาง มหาสารคาม ตรัง และวิทยาการสาธารณสุขสิรินธร 1 แห่ง ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นวิทยาลัยต้นแบบจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็น "เขตปลอดบุหรี่" บรรจุเรื่องการแนะนำการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2550-พฤษภาคม 2551 การประเมินผลพบว่าได้ผลดี ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 93 อยากเลิกสูบบุหรี่ ส่วนบุคลากรของสถาบันร้อยละ 98 รู้สึกสบายใจเมื่อทราบว่าวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ ในปี 2552 จึงมีนโยบายขายผลเพิ่มอีก 31 แห่ง.

ข้อมูลจาก : http://www.dmh.go.th...iew.asp?id=9923

บุญ กับ กุศล

29 June 2008 - 02:55 AM


บุญ กับ กุศล

เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง
สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย
แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว
บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม
ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว

คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น,
ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย
เช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม
แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่
ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะ
เป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์
มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่
การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก
ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ
อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจ
และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

ส่วนกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง
ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่ง
สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้ว
เกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการ
โอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถือ
อะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น
เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า
ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ
ผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่

แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำ
ทางภายนอกอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้
เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือ
ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร
หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้
เรียกว่า ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ
เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้
เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ
โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า
ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล
ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไป
อีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน
จนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคน
ขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์
ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูง
พ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะ
ให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่า
ควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศล
ไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือ
ผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ
ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จัก
ความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวด
เพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้
หรือ ทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น
ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความ
ยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัด
ในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ ส่วนบุคคลอีกประเภท
หนึ่ง รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความ
บริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญา
ชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัด
เดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ แห่ง
ความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย ก็
ไม่มีทางตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร
ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่า
กุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้
สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้
เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า
สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมัน
นั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้อง รับการรักษา
เป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้
มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสาร
ตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย
เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้
ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็น
ทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล
ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึง
ตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ



ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัว
ปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์
อย่างเดียว แม้ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความ
รู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียน
จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่า
ปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทาง
อาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น

ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลงเอา
บุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสนอลเวง
เพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสน
อลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอา
ของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า
"บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับ
การทำบุญกุศล นี้ ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือ
ปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก

ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง
สูญสิ้นไม่มีเหลือ ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้

คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล
และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็น
และจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใดจึงจะชื่อว่า
พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า และ
ทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกัน
ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย.......
Tags: ศิษย์พระพุทธ

สูตรสำเร็จของสันติภาพของโลก

08 June 2008 - 08:39 PM



การคิดได้อย่างกว้างขวางของไอน์สไตน์จนทำให้เขาอยู่ในระดับอัจริยะบุคคลแห่งความเป็นนักคิดนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการเดินลึกเข้าไปในท่อแห่งความคิดอันมีทางตันเป็นที่สุด สิ่งที่มนุษย์พยายามไขว่คว้าหาอยู่ด้วยความหวังว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขจริง ๆ นั้นจึงเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถคิดค้นและเข้าถึงได้ด้วยความคิดและการคิดเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องฟังผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในท่ามกลางพระศาสดาทั้งหลายของโลก สิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าเด่นขึ้นมาเพราะ หลังจากที่ท่านได้ค้นพบสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว ท่านยังสามารถชี้แนวทางที่ชัดเจนให้กับผู้แสวงหาทั้งหลายที่ต้องการเดินตามรอยเท้าของท่าน เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดเหมือนกับที่ท่านได้เข้าถึงแล้ว แนวทางของท่านคือ มรรคมีองค์แปดที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา แต่หากพูดให้รัดกุมมากขึ้นก็คือ เรื่องมหาสติปัฏฐานสี่ เป็นเรื่องการทำความรู้จักกับความคิดและเข้าใจความเป็นมายาของความคิดเพื่อมนุษย์จะได้ไม่ถูกความคิดหลอกเอา



ความรู้ทางโลกกับทางธรรมต้องไปพร้อมกัน

แม้ความรู้ทางโลกจะสร้างปัญหา ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องปฏิเสธความรู้ทางโลกอย่างเด็ดขาดหากต้องการมุ่งเอาความรู้ทางธรรม ไม่ใช่เช่นนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ระบบการศึกษาทางโลกจำเป็นต้องมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้บรรลุจุดประสงค์ทางธรรมไว้ก่อน คือ กอบกู้เอกราชที่แท้จริงให้แก่มนุษยชาติ หรือ ช่วยพามนุษย์เดินกลับมาสู่หลักนิ้วที่สามเพื่อทุกคนจะได้เดินทางออกจากอุโมงค์ชีวิตและกลับมาสู่ทุ่งกว้างที่จุด ก อันเป็นพรมแดนสุดท้ายของชีวิต หากระบบการศึกษาของโลกตั้งอยู่บนหลักการของปัญญา ศีล สมาธิ แล้ว การเรียนรู้วิชาการทางโลกจะเป็นไปอย่างไม่หลงทิศทางของชีวิต และจะสามารถเดินขนานกับความรู้ทางธรรมได้

ในภาคปฏิบัติย่อมหมายความว่า วิปัสสนาจะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา จะต้องเป็นหลักสูตรบังคับ เด็ก ๆ อนุบาลจนถึงนักศึกษาปริญญาเอกจะต้องรู้จักการใช้ตาใจ และรู้ว่าจะพาตัวใจกลับบ้านได้อย่างไร นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมสติปัฏฐาน เมื่อปัจเจกชนสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวในใจของตนเองโดยการพาตัวใจกลับบ้านแล้ว คนเหล่านี้จะไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม สามารถอยู่ติดบ้าน ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ธรรมดา ๆ ปัญหาสังคมก็จะน้อยลง จากความสุขสงบในจิตใจของปัจเจกชนแต่ละคน เมื่อนำมารวมกันเข้า ก็จะกลายเป็นความปกติสุขหรือสันติภาพของชาวโลกโดยส่วนรวม

ท่านเหลาจื้อได้พูดว่า ระบบการปกครองที่ดีที่สุดนั้น ชาวบ้านจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีผู้ปกครองอยู่ เพราะทุกคนล้วนทำมาหาเลี้ยงชีพ รับผิดชอบต่อครอบครัวของตน ใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาซึ่งเป็นการรักษาศีลอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รู้ว่านั่นคือศีล สังคมเช่นนี้ฟังเหมือนอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว เป็นไปได้ทีเดียว ถ้าระบบการศึกษาของโลกมีเป้าหมายอยู่้ที่การแสวงหาตนเองโดยมีวิปัสสนาเป็นหลักสูตรบังคับ



วิปัสสนาคือสูตรสำเร็จของสันติภาพของโลก

น่าเสียดายว่าไอน์สไตน์ไม่มีโอกาสได้พบอาจารย์สอนวิปัสสนาในช่วงชีวิตของเขา มิเช่นนั้นแล้ว โลกนี้อาจจะมีอะไรที่ดีขึ้นกว่านี้ก็เป็นได้ หากไอน์สไตน์รู้เรื่องและได้ฝึกวิปัสสนาแล้ว มันอาจจะหมายความว่า คนทั่วโลกอาจจะยอมรับวิปัสสนาในฐานะที่เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถช่วยปรับสภาวะจิตใจของคนให้อยู่ในระดับปกติได้ การยอมรับของไอน์สไตน์ในเรื่องวิปัสสนานี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้วงการวิทยาศาสตร์วิจัยเรื่องจิตใจของมนุษย์อย่างถูกทาง ไม่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ โดยการพยายามเอาผ้าปิดตาออกจากอายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจ แทนที่จะไปผูกมัดให้มันแน่นมากขึ้น การวิจัยเรื่องจิตใจของมนุษย์อย่างถูกทางนี้อาจจะสามารถช่วยมนุษยชาติจากวัฒนธรรมยาเสพติดทั้งหลายที่สังคมมนุษย์กำลังติดกับดักมันอยู่ นี่อาจจะเป็นข่าวร้ายต่อผู้หารายได้กับการผลิตและขายยาเสพติด แต่ย่อมเป็นข่าวดีต่อมนุษยชาติโดยส่วนรวม

วิปัสสนาจึงเป็นสูตรสำเร็จของสันติภาพของโลก ซึ่งสันติภาพของโลกเป็นสิ่งที่ไอน์สไตน์ต้องการเห็นในตลอดชีวิตของเขา

หาก A มีค่าเท่ากับความสำเร็จแล้วละก็ สูตรสำเร็จควรเป็นเช่นนี้คือ A=X+Y+Z X คือ การทำงาน Y คือ การเล่น Z คือ การปิดปากให้แน่น

นั่นคือคำพูดของไอน์สไตน์โดยที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนา หากไอน์สไตน์มีโอกาสได้ฝึกฝนวิปัสสนาแล้วไซร้ เขาอาจจะพูดเช่นนี้ก็ได้ คือ

หาก A มีค่าเท่ากับสันติภาพของโลกแล้วละก็ สูตรสำเร็จควรเป็นเช่นนี้คือ A=X+Y+Z X คือ การฝึกวิปัสสนาของชายทุกคน Y คือ การฝึกวิปัสสนาของหญิงทุกคน Z คือ การปิดปากให้แน่น

หากชาวโลกสามารถทำตามสูตรสำเร็จนี้ได้แล้วละก็ สันติภาพของโลกย่อมเป็นสิ่งที่รับประกันได้อย่างแน่นอน



กอบกู้วัฒนธรรมสติปัฏฐาน[1]

วัฒนธรรมสติปัฏฐานเคยมีอยู่แล้วในสังคมโลก ดังปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมอินเดีย ยุคหลังพุทธกาล ที่เมืองปาฏลีบุตร คนในสังคมของยุคนั้นมักทักทายซึ่งกันและกันโดยถามว่า

“ขณะนี้ เธอกำลังกำหนดสติอยู่กับฐานใดหรือ?”

ถ้าพูดภาษาของดิฉันก็จะเป็นว่า

“ตอนนี้ตัวใจของเธอกำลังอยู่บ้านไหนหรือ?”

คนถูกถามก็จะตอบไปตามที่ตนเองกำลังทำอยู่ แต่หากใครบอกว่า ฉันไม่ได้ทำ ไม่ได้อยู่บ้านไหนทั้งสิ้น คนก็จะเิดินหนี เห็นคนเหล่านั้นเป็นตัวนำโชคร้าย และเรื่องอัปมงคลมาสู่ตน อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นนั้นต้องนับว่าเป็นวัฒนธรรมสติปัฏฐานที่ร่ำรวยมหาศาลมาก เป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้ชาวโลกสามารถเดินทางเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า หรือ พระนิพพานได้เป็นหมู่มาก Exodus

ชี้ให้เห็นด้วยว่า เรื่องการฝึกทักษะของการพาตัวใจกลับบ้านนี้ เป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ที่ชาวมนุษย์ล้วนทำกันได้ทั้งสิ้นแม้แต่คุณที่กำลังอ่านประโยคนี้อยู่ จึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นขึ้นในสังคม เนื้อหาที่แท้จริงของการฝึกสติปัฏฐานหรือการพาตัวใจกลับบ้าน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การรับรู้ลมหายใจของเราอย่างชัดเจน (เข้าบ้านที่หนึ่ง) รับรู้การเคลื่อนไหวของกายอย่างทั่วพร้อม (เข้าบ้านที่หนึ่ง) รวมทั้งการรับรู้ความรู้สึกของกายอย่างทั่วพร้อมด้วย (เข้าบ้านที่สอง) ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ พื้น ๆ ธรรมดามาก ทุกคนที่ ไม่ได้นอนหลับ ไม่ได้สลบ ไม่ได้อยู่ในอาการโคม่า และยังไม่ตาย ล้วนทำได้ ตราบใดที่ยังหายใจอยู่และเคลื่อนไหวได้ย่อมทำได้ทั้งสิ้น แม้เป็นเป็นคนตาบอด เป็นอัมพาต นอนเฉย ๆ หรือนั่งรถเข็นก็ยังทำได้ เพราะลมหายใจยังมีอยู่

น่าเสียดายมากว่าวัฒนธรรมสติปัฏฐานอย่างเช่นที่เมืองปาฏลีบุตรได้หายไปจากสังคมโลกเสียแล้ว ยุคนี้ใครฝึกสติปัฏฐาน พูดเรื่องการไปนิพพาน กลับถูกคนตาบอดทางใจเหล่านั้นมองเป็นคนที่มีปัญหาชีวิต เป็นคนเพี้ยนไปเสียอีก ยุคนี้จึงเป็นสังคมที่กลับหัวกลับหาง คนหมู่มากเห็นดอกบัวเป็นกงจักร และเห็นกงจักรเป็นดอกบัว น่าสงสาร สังคมจึงยุ่งมาก



สรุป

หากการกอบกู้วัฒนธรรมสติปัฏฐานเป็นเรื่องอุดมคติมากเกินไป ไม่สามารถทำให้ เป็นจริงได้ละก็ ทางออกที่เหลือจึงมีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องพยายามเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน โดยการเร่งรีบทำความเข้าใจในสิ่งที่ดิฉันนำเสนอคุณในหนังสือเล่มนี้ และรีบเดินทางออกจากอุโมงค์ของชีวิตเสียโดยการฝึกวิปัสสนาหรือพาตัวใจกลับบ้าน เพื่อจะได้ชื่อว่า โชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา ไม่เสียชาติเกิดแล้ว หากสามารถช่วยคนอีกหนึ่งคนให้รู้เรื่องเหล่านี้ได้ ก็ควรพอใจมากแล้ว แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องรีบช่วยตัวเอง

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องราวของชีวิตอย่าง ถูกต้อง ขอให้มีความอดทน มีความเพียร อย่าท้อถอย และทำให้ดีที่สุดเท่านั้น

ดิฉันขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ของมนุษย์ สามารถหลุดพ้นออกจากถนนวงแหวนของสังสารวัฏและเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้ด้วยเทอญ


ที่มา หนังสือ : ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ








ฃฃฃ

การเกิดของพระพุทธเจ้า

09 May 2008 - 03:49 AM

การเกิดของพระพุทธเจ้า


พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะลงจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาจุติเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะลงพระโพธิสัตว์จะทรงเลือก ๕ อย่าง คือ


๑. กาล (อายุขัยของมนุษย์)


อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง ๑๐ ปีถึง ๑ อสงไขย(๑ ตามด้วยเลข ๐ ถึงหนึ่งร้อยสี่สิบตัว) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง ๑๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปี ถ้าหากน้อยกว่า ๑๐๐ ปีมนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกินก็จะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตายเพราะอายุยืนความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ ๔ หรือธรรมใดๆ


๒. ทวีป(ทวีปที่จะลงมาจุติ)


พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ


สาเหตุอีกอย่างที่เลือกมนุษย์เพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ ๔ มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์


๓. ประเทศ (ประเทศที่จะจุติ)


พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมากมาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้


๔.ตระกูล (ครอบครัวที่จะลงมาจุติ)


พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง ตระกูลกษัตริย์ กับ ตระกูลพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน ๔ อสงไขยแสนมหากัปล่าสุดนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปป์นี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระศรีอาริยเมตไตรย) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์


พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา ๗ รุ่นแล้ว ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้วลงมาจุติแล้วเป็นพระพุทธเจ้าก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูลกษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์


๕.มารดา (มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)


พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกผู้หญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรมได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และจะทรงกำหนดอายุพระมารดาว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไรเพราะพระพุทธมารดาต้องสงวนไว้สำหรับการจุติของพระพุทธเจ้าเพียงผู้เดียวไม่ให้ใครมาเกิดอีก


พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายา ได้อธิษฐานไว้ว่า ขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า