ในช่วงท้ายของโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา นักเรียนอนุบาลทุกท่านคงจะได้สวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยอันมีคุณไม่มีประมาณโดยพร้อมเพรียงกัน
โดย บทสวดขึ้นต้นว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน" เป็นทำนองสรภัญญะ แต่จะมีท่านใดทราบหรือไม่ว่า ใครเป็นผู้แต่งบทสวดมนต์อันทรงคุณค่าทั้งทางภาษาและความหมายอย่างจะหาใครเปรียบไม่ได้นี้ ขึ้นมาให้พวกเราได้ใช้สวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยกันทุกวัน
วันนี้กระผมจึงใคร่ขอนำประวัติของผู้ประพันธ์บทสวดมนต์นี้ มาเล่าสู่กันฟังพอสังเขปนะคะ
ผู้ประพันธ์บทสวดมนต์นี้เป็นถึงนักปราชญ์ราชบัณฑิตในรัชกาลที่ ๕ เลยทีเดียว
นามของท่านคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นองคมนตรี และ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
นามเดิมของท่านคือ น้อย อาจารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ (๑๘๕ ปีที่แล้ว)
ท่านมีผลงานที่เด่นมากในวงการศึกษา เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก) และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง
ส่วนในด้านการศาสนานั้น ท่านได้ดำรงสมณเพศอยู่ช่วงหนึ่งในราชการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๙ พรรษา และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พรรษา รวมเป็น ๑๑ พรรษา ศึกษาเปรียญธรรมได้ ๘ ประโยค ท่านได้ทรงกำกับแปลพระปริยัติธรรมร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม
งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กลองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง
ท่านถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยฯ) เป็นผู้คิดแบบสอนหนังสือไทยไว้มากมายหลายเล่ม เล่มที่แพร่หลายที่สุด คงหนีไม่พ้น "มูลบทบรรพกิจ"
ซึ่งบางตอนท่องกันมาแต่รุ่นปู่ย่าตายายจนถึงลูกหลานบัดนี้ คือ เรื่องใช้ไม้ม้วน (ใ)
(ยานี ๑๑) ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี
ตอนเป็นเด็ก ใครเคยท่องกันบ้างคะ (

ส่วนบทประพันธ์ของท่านอีกบทหนึ่งที่แพร่หลายไม่แพ้กัน ผมเชื่อว่าในพิธีวันครูของเกือบทุกโรงเรียนในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ก็คือ "คำนมัสการอาจริยคุณ"
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชน
สำหรับบทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ที่พวกเราสวดกันทุกวันก่อนเลิกโรงเรียนอนุบาลฯ นั้น คัดมาจากคำประพันธ์ของท่าน ชื่อ "คำนมัสการคุณานุคุณ" โดยมีทั้งหมด 5 ตอน คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ มาตาปิตุคุณ อาจาริยคุณ
แต่ที่พวกเรานำมาใช้สวดมนต์กันนี้ ได้ตัดเอาตอน มาตาปิตุคุณ และ อาจาริยคุณ ออกไป คงเหลือไว้แต่เพียง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อพวกเราสวดมนต์บทนี้กันครั้งใด หวังว่าบุญกุศลทั้งหลายคงจะได้ทับทวีถึงท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้ซึ่งเป็นบรรพบุรุษต้นแบบอันดีงามให้กับพวกเราเหล่าอนุชนไทยรุ่นหลังได้สืบทอดงานพระศาสนาต่อมาด้วยนะคะ