คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย รวมบันทึกคำสอนหลวงพ่อธัมมชโย ในวันมหาปวารณา โอวาทอันทรงคุณค่า น่าน้อมนำเข้ามาสู่ตนเอง .. https://dmc.tv/a18921

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ชีวิตสมณะ ฉบับมหาปวารณา
[ 15 ต.ค. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18254 ]

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณา
คัดจากหนังสือ ชีวิตสมณะ ฉบับวันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณา

     “ชีวิตสมณะ" เป็นชีวิตที่ประเสริฐ  ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมตนเองในทุกรูปแบบเพื่อให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาและเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก หากผู้ใดมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบวชอยู่ฝึกตนในเพศนี้ให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ตลอดเส้นทางสายนี้ จำเป็นต้องมีกัลยาณมิตร คอยชี้แนะประคับประคองไปจนกว่าจะขจัดกิเลสในตัวให้หมดสิ้น เพราะ “กัลยาณมิตรนั้น เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”

     ดังนั้น จึงได้มีอริยประเพณีที่เรียกว่า “มหาปวารณา” คือ การเปิดโอกาสให้พระภิกษุได้เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน คือ แนะนำตักเตือนกันได้ตามพระธรรมวินัย โดยหากได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกรูปใดมีความประพฤติที่จะทำให้เบี่ยงเบนไปจากเส้นทางของพระนิพพาน ก็ให้อาศัยจิตเมตตาปรารถนาดีแนะนำตักเตือนกัน อันนับว่าเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้แก่กัน ทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของชีวิตนักบวชที่มีเป้าหมายจะไปพระนิพพานร่วมกันการปวารณานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ทำในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษาทุกปี การที่สามารถแนะนำตักเตือนกันได้นี้เอง ทำให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ร่วมกันโดยมีศีลและทิฏฐิเสมอกัน ยังผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้

     หนังสือ “ชีวิตสมณะ (ฉบับมหาปวารณา)” เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงโอวาทของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ได้ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย ในวันมหาปวารณาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 - 2553 มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2530

     วันนี้เป็นวันมหาปวารณา เป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายในพระพุทธศาสนาได้มาปวารณาร่วมกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อให้ตักเตือนกันในข้อวัตรปฏิบัติที่ยังบกพร่อง ทั้งทางกาย ทางวาจา จะโดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม

    ถ้าหากว่า มีผู้ใดได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุรูปนั้น ก็ให้อาศัยความเป็นครู แนะนำตักเตือนด้วยความรักและปรารถนาดี เพื่อเกื้อกูลให้กับพระภิกษุรูปนั้นได้มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวกลับใจเสียใหม่ จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องร่องรอยตามคำสอนของพระบรมศาสดา

     พุทธประเพณีการปวารณานี้นับเป็นประเพณีที่ดีงามที่ได้ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาสองพันกว่าปีแล้ว เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พิสูจน์ใจที่จะรองรับคำแนะนำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี การแนะนำกันนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะผู้แนะนำมักจะขาดทุน แม้มีความปรารถนาดีเพียงใดก็ตาม อาจจะได้รับความไม่พอใจได้ แต่เมื่อปวารณากันไว้แล้ว ก็จะทำให้ผู้ที่ตั้งใจแนะนำเป็นกัลยาณมิตร ให้จะได้ทุ่มเทความปรารถนาดีไปยังภิกษุรูปนั้นอย่างเต็มที่

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2532

     การมีชีวิตเป็นฆราวาส แม้ว่าจะมีโอกาสว่างน้อย แต่ก็ไม่ได้ หมายถึงว่าไม่ว่าง ถ้าหากเราเป็นผู้มีปัญญา ฉลาดในการจัดสรรเวลา เราจะมีเวลาว่างพอที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกายได้ อย่ามีข้ออ้างที่จะทำให้เราละเว้นจากการปฏิบัติธรรม ในสมัยพุทธกาล มีฆราวาสจำนวนมากที่บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่เขาก็มีธุรกิจการงานมากมาย แต่ก็จัดสรรเวลาสำหรับการประพฤติธรรมกระทั่งบรรลุธรรมอันเป็นเป้าหมายหลักของชีวิตได้ ชีวิตของคนสมัยโน้นกับสมัยนี้ก็ไม่ต่างกัน ธุรกิจก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่อคนในสมัยพุทธกาลสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมได้ สมัยนี้ก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นอย่านำภารกิจการงานมาเป็นข้ออ้างขวางหนทางที่เราจะเข้าถึงพระธรรมกาย

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2534

     หลับตาทำสมาธิกันนะลูกนะ การปฏิบัติธรรมเป็นภารกิจหลักที่ทุกรูปจะต้องทำ เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เราเข้าถึงวัตถุประสงค์หลักของชีวิต นั่นคือการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป เมื่อความโลภความโกรธความหลงไม่มีอยู่ในใจ ธาตุธรรมของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ความสุขที่ไม่มีประมาณก็จะเกิดขึ้น เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “บรมสุข” คือ สุขกว่าความสุขที่เราเคยพบเจอมาตลอดชีวิต เป็นความสุขที่เรายอมรับว่า เป็นความสุขแท้จริง สุขทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งนั่งนอนยืนเดิน สุขอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย

      หมดกิเลสเมื่อไรก็หมดกรรม เมื่อหมดกรรมก็หมดวิบาก การเวียนว่ายตายเกิดก็สิ้นสุด เพราะฉะนั้นการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของชีวิต

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
โอวาทคำสอนหลวงพ่อธัมมชโย


ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงธรรม

     การจะเข้าถึงธรรมกายได้นั้นต้องปฏิบัติธรรม ด้วยการวางใจให้ถูกทาง คือ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ทำให้ถูกส่วน จนกระทั่งปฐมมรรคเกิดขึ้น เห็นจุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย พอถูกทาง ถูกต้อง ถูกส่วนไม่ช้าก็จะถึงที่หมาย คือ เข้าถึงธรรมกายได้

     จะหยุดได้ จะเข้าถึงได้ ต้องปลดปล่อยวางอารมณ์ภายนอก ให้มองเห็นแจ่มแจ้งด้วยสติปัญญาของเราว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ หรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่เราพบปะเจอะเจอนั้น ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สาระแก่นสาร พิจารณาให้เห็นอย่างนี้บ่อย ๆ นึกคิดบ่อย ๆ ให้มีโยนิโสมนสิการและปัญญา

      เมื่อเราปลดปล่อยวางได้ ใจก็จะเริ่มกลับเข้าสู่ภายใน แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทำไปบ่อย ๆ ใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ไม่ช้าก็จะถูกส่วนเอง พอถูกส่วนปฐมมรรคก็เกิดขึ้น ไม่ช้าก็เห็นกายในกาย พอเห็นกายในกาย ไม่ช้าใจจะแล่นเข้าไปถึงสรณะ ถึงพระธรรมกาย ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะในที่สุด

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2536

ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการปวารณา

     ประโยชน์ต่อตัวเรา คือ เราจะได้เห็นข้อบกพร่องในตัวเอง แล้วปรับปรุงตัวของเราให้สมบูรณ์ขึ้น จนกระทั่งสามารถเข้าไปถึง จุดแห่งความสมบูรณ์ของชีวิต

     ประโยชน์ต่อผู้อื่น คือ เราจะเป็นต้นแบบที่ดีให้ผู้อื่นได้ กระทำตาม จะโดยการแนะหรือการนำก็ตาม ผู้อื่นก็จะได้รับประโยชน์อันนี้ด้วย

     ประโยชน์ต่อหมู่คณะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหมู่คณะของเรามีเป้าหมายที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ให้ธรรมกายนี้ไปปรากฏทั่วโลก ธรรมกายซึ่งมีอยู่จริงในกายของมวลมนุษย์ชาติแต่ขาดผู้แนะนำผู้ชี้ทาง ของที่มีอยู่จึงดูเหมือนไม่มี

     เป้าหมายของเราต้องการที่จะเปิดเผยสิ่งที่ดีงามนี้ให้แก่ชาวโลกได้ประพฤติปฏิบัติ จะได้เข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่อย่างยิ่ง ซึ่งจะทำตามลำพังไม่ได้ จะต้องร่วมมือทำกันไปเป็นทีม แล้วทีมทั้งทีมนั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ มีความดีงาม ต้องมีความรู้  มีสติปัญญา มีคุณธรรมหลาย ๆ อย่างเท่าเทียมทันกันทั้งทีม เราจึงจะทำงานนี้ได้สำเร็จ

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2538

    เนื่องจากวัดเรามีทั้งกิจวัตรและกิจกรรมที่จะต้องทำควบคู่กันไป ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถแนะนำตักเตือนเพื่อนสหธรรมิกจึงมี 2 เรื่อง
คือ เรื่องกิจวัตรและกิจกรรม

     ในด้านกิจกรรม ลูกทุกรูปต่างตั้งใจสร้างบารมี ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ที่สุด ก็พยายามปรึกษาหารือกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งดึกๆ ดื่นๆ เท่าที่หลวงพ่อสังเกตดู เรามักจะบริหารเวลากันไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จักวิธีที่จะรวบรัดสรุปงาน ให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาประชุมน้อยที่สุด แต่ให้ได้งานมากที่สุด

     ที่ผ่านมานั้น เราทำตรงนี้ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อทำบ่อยเข้าก็เกิดเป็นความเคยชินจนติดเป็นนิสัย นิสัยที่อยู่ทำงานกันดึกๆ ดื่นๆ คุยเรื่องงานส่วนหนึ่ง คุยเรื่องอื่นอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็เพลินไปจนกระทั่งดึกดื่น จำวัดดึก ตื่นเช้าไม่ไหว พอตื่นขึ้นมาก็เพลีย เหนื่อยไม่มีอารมณ์ที่จะทำวัตร จึงทำให้กิจวัตรกิจกรรมไม่ลงตัว

     ในด้านกิจวัตร การสวดมนต์ไหว้พระจะเป็นเครื่องกลั่นกรองใจเราให้หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นกิจวัตรที่จัดเอาไว้ให้ จะเป็นการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-วัตรเย็น นั่งสมาธิภาวนาก็ดี ล้วนมีวัตถุประสงค์ที่จะตะล่อมใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงธรรมภายในทั้งนั้น

     หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกรูป เกิดความสำนึกว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด หากเมื่อไรมีวัยเท่ากับหลวงพ่อตอนนี้ จะยิ่งมีความรู้สึกว่า วันคืนมันหมดไปอย่างรวดเร็ว เวลาแห่งการทำความดีหมดไปเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้นขอย้ำอีกทีว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เมื่อเราตั้งใจเป็นนักบวชเพื่อมุ่งแสวงหาพระนิพพาน หาที่สุดแห่งธรรม เราก็ควรจะทำให้ได้อย่างที่ได้ตั้งใจเอาไว้ โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข

     หากลูกเชื่อคำพูดที่ว่าหว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ประกอบเหตุอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ปลูกถั่วก็ได้ถั่ว ปลูกงาก็ได้งา ตลอดระยะเวลาหนึ่งพรรษาที่ผ่านมา หากเราปฏิบัติกิจวัตรกิจกรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมอย่างไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไข ผลที่จะออกมาต้องเป็นสิ่งที่ดีงามอย่างแน่นอน

     ให้ถามตัวเองว่า ตลอดพรรษาที่ผ่านมานั้น เราได้เป็นนักสู้สมกับที่ได้ตั้งใจมาบวชมาแสวงหาหนทางพระนิพพาน และมีเป้าหมายจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมแล้วหรือยัง หากเรายังทำไม่สมบูรณ์ ออกพรรษาแล้วก็ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2539

นักบวชสมัยพุทธกาลกับมหาปวารณา

     การบวชในสมัยพุทธกาลนั้นแตกต่างจากในสมัยปัจจุบันนี้ สมัยพุทธกาล ผู้ที่เข้ามาบวช คือ ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์ อยากจะแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน
ของพระบรมศาสดา ก็เกิดกุศลศรัทธา อยากจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าชีวิตของนักบวชเป็นชีวิตที่มีแก่นสาร ปลอดกังวลจากพันธนาการของชีวิต จะได้มีเวลาว่างศึกษาพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา แล้วลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริงของชีวิต และพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

     เพราะฉะนั้น นักบวชในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อออกบวชแล้วก็ตั้งใจแสวงหามรรคผลนิพพาน ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้

     ต่อมาทรงมีพุทธานุญาตให้มีการอยู่จำพรรษา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน และได้กำหนดให้วันสุดท้ายของการเข้าพรรษาเป็นวันมหาปวารณา เพราะในสมัยก่อน ตลอดระยะเวลา
หนึ่งพรรษานั้น ต่างก็มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหามรรคผลนิพพาน ดังนั้นโอกาสที่จะพูดจาแนะนำตักเตือนกันจึงไม่มี

     ผู้เข้ามาบวชนนั้น บางรูปยังเป็นผู้ใหม่อยู่ยังไม่เข้าใจพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง เมื่อไม่มีกัลยาณมิตรคอยแนะนำก็ทำไม่ถูกต้อง เมื่อทำไม่ถูก ก็ทำอย่างที่เคยทำสมัยเมื่อครั้งเป็นฆราวาส จึงทำให้ประโยชน์ที่จะ
ได้รับจากการบวชไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

     พระพุทธองค์จึงได้กำหนดให้มีวันมหาปวารณาขึ้น เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายต่างเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน โดยมีจุดมุ่งหมายว่า จะช่วยชี้แนะข้อบกพร่องเหมือนการชี้ขุมทรัพย์ให้แก่กัน เพื่อที่จะได้ประคับประคองให้ทุกรูปนั้นอยู่ในเส้นทางธรรม แล้วมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันมหาปวารณา

    โดยต่างปวารณาซึ่งกันและกันว่า ใครได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยถึงความประพฤติที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ให้แนะนำตักเตือนกันได้เมื่อใครได้รับการแนะนำแล้วก็จะขอบคุณ ไม่ผูกโกรธ ไม่ขัดเคือง และนำมาพิจารณาใคร่ครวญว่า สิ่งที่เพื่อนสหธรรมิกแนะนำนั้นถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยไหม เราพลาดจากข้อวัตรปฏิบัตินั้นจริงหรือเปล่า ถ้าหากว่าเราประพฤติบกพร่องจริง ก็จะปรับปรุงแก้ไขตนเองด้วยความปีติยินดี ดีอกดีใจ และขอบพระคุณผู้ที่มาแนะนำนั้น

     แต่ถ้าหากผู้ที่มาแนะนำนั้นอาจจะได้ยินต่อ ๆ กันมา หรือแค่สงสัย ซึ่งความจริงเรามิได้เป็นอย่างนั้น ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อได้รับคำแนะนำก็ควรขอบคุณ แล้วก็ให้อภัยไม่ถือสาในการชี้แนะ แม้ว่าจะไม่ตรงกับความจริงในข้อวัตรปฏิบัติของเรา ซึ่งถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้วก็ตาม

      สรุปง่าย ๆ ก็คือ ไม่ผูกโกรธ ไม่ขัดเคืองใจ ไม่ว่าสิ่งที่แนะนำนั้นจะถูกหรือไม่ถูกก็ตาม หรือถูกตามพระธรรมวินัยแต่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของข้อวัตรปฏิบัติของเราก็ตาม ให้มีแต่ใจยินดีน้อมรับคำแนะนำด้วยจิตใจที่ชื่นบานปลื้มปีติยินดีตลอดเวลา

     ในสมัยพุทธกาล หลังจากวันมหาปวารณา พระภิกษุทั้งหลายต่างก็จะปลีกตัวแยกย้ายกันไปแสวงหาที่วิเวก เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปตามจริตอัธยาศัยที่ชอบบางท่านชอบอยู่ป่าก็ไปป่า ชอบอยู่ถ้ำก็เข้าถ้ำ ชอบอยู่โคนไม้ก็ไปที่โคนไม้ ชอบที่ไหนก็ไปที่นั่น ดังนั้นในสมัยพุทธกาลจึงมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมาก

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2540

ตักเตือนกัน ไม่ใช่ของง่าย

     เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็เหลือเพียงพระธรรมคำสอนเป็นสิ่งแทนพระองค์ อันเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่จะนำเราไปสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาปวารณากันเอาไว้ โดยมีหลักว่า หากได้ยิน ได้เห็น หรือสงสัยว่าเพื่อนสหธรรมมิกท่านใดประพฤติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ให้อาศัยจิตที่ประกอบด้วยความปรารถนาดีชี้ขุมทรัพย์ให้ซึ่งกันและกันเพื่อที่จะได้รู้ตัว แล้วกลับเนื้อกลับตัวตั้งหลักชีวิตเสียใหม่ ตั้งใจใหม่ที่จะทำสิ่งที่พลาดพลั้งกันไป ที่จะออกนอกลู่นอกทางนอกพระธรรมวินัย จะพลัดจากหนทางที่จะไปสู่เป้าหมาย ให้กลับเข้าสู่ร่องรอยของอายตนนิพพาน

     การจะตักเตือนกันนั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะปกติของปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ แม้จะเป็นนักบวชก็ตาม ย่อมมีความขัดเคืองขุ่นเคืองในใจ เพราะไม่อยากให้ใครเตือน ยังทำใจยอมรับไม่ค่อยได้ความขุ่นมัวความโกรธนี้เองจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน และอาจจะกลายไปเป็นการผูกเวรผูกพยาบาทกันต่อไปในอนาคตได้

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันมหาปวารณา

    เพราะฉะนั้นการเตือนกันไม่ใช่ของง่าย แม้จะรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนสหธรรมมิกมากเพียงใดก็ตาม พระพุทธองค์จึงให้มีการปวารณาซึ่งกันและกัน โดยไม่นำเอาอาวุโสภันเตมาเป็นอุปสรรคในการเป็นกัลยาณมิตร

     ดังนั้น จึงได้มีการารปวารณากันระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย และระหว่างผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ว่า ถ้าหากได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่า ข้าพเจ้าประพฤติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ขอให้อาศัยจิตที่ประกอบไปด้วยความปรารถนาดีแนะนำตักเตือนข้าพเจ้า เมื่อทราบแล้วก็จะได้พิจารณาดูว่าสิ่งที่เตือนมานั้นเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นจริงอย่างนั้นก็ให้อภัย เพราะผู้ที่ไปบอก ไปแนะนำหรือผู้ที่เห็นก็ดี สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงอาจไม่ตรงกัน เมื่อไม่ตรงกันก็อาจจะเกิดการเข้าใจผิดก็ให้อภัยกัน

     แต่ถ้าหากว่าถูกต้อง ก็จะไม่ขุ่นมัว ไม่โกรธ และจะกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ตั้งใจเป็นนักบวชที่ดี เพื่อจะไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ อายตนนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการทำมหาปวารณา

     สมัยพุทธกาลท่านปฏิบัติกัรมาอย่างนี้ จึงส่งผลให้มีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมากมาย เพราะว่านอกจากตัวเราคอยอบรมตนเองแล้วยังมีหมู่เพื่อนสหธรรมมิกคอยเป็นเงาตามตัวดูแลเราด้วย เพราะฉะนั้น กิเลสจึงไม่ได้ช่องที่จะแทรกแซงมาตามอายตนะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อไม่มีโอกาสได้ช่องเข้ามา ใจก็หยุดนิ่งอยู่ภายใน เมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ภายในได้ก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้ สมความปรารถนาที่ได้ตั้งใจมาเป็นนักบวช

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2541

สังคมบริสุทธิ์ สุดยอดปรารถนาของสังคม
  
    การอยู่ในสังคมของผู้บริสุทธิ์ นำมาซึ่งความปีติ ความสุขใจ และเป็นกำลังใจในการสร้างความดี สิ่งนี้เป็นยอดปรารถนาของทุกคนในโลกทกุกคนปรารถนาจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมมี่บริสุทธิ์ เพราะว่าความบริสุทธิ์นั้นเป็นทางมาแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม ถึงแม้ไม่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยก็บริสุทธิ์ในระดับหนึ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความผาสุก ประกอบความเพียรได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมาหวาดระแวง เคลือบแคลงหรือรำคาญใจซึ่งกันและกัน

     ในพรรษานี้ วัดของเรามีจำนวนพระภิกษุสามเณรมากที่สุดในประเทศ เพราะฉะนั้นสายตาของพระผู้ใหญ่ผู้น้อย เขาก็มองเราอยู่ แล้วท่านทั้งหลายก็อัศจรรย์ใจว่า เรามีพระมีเณรมากที่สุดในประเทศไทยอย่างนี้ แต่ทำไมเราอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกถ้าหากเรามากด้วยปริมาณและคุณภาพ คือ มีพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก แต่คนจำนวนมาก ๆ เหมือนคน ๆ เดียว ที่มีเป้าหมายปณิธาน มีหัวใจดวงเดียวกัน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสขุ อย่างนี้กก็จะเป็นแบบอย่าง เป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีไปทั่วสังฆมณฑล ผลดีก็เกิดขึ้นต่อพระพุทธศาสนา เป็นความหวังของชาวโลกทั้งหลาย ซึ่งเขาไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ก็จะได้อาศัยพระ อาศัยสามเณร คอยแนะนำสั่งสอน คอยประคัประคองจูงมือกันไปสู่อายตนนิพพาน  นี่แหละคือความสำคัญของหมู่คณะที่มีความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ จึงเป็นสุดยอดของความปรารถนาในทุกๆ สังคม

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2543

มหาปวารณา

     เมื่อสักครู่ เราได้กล่าวคำปวารณาซึ่งกันและกันระหว่างอาวุโสภันเต เริ่มต้นจากหลวงพ่อเรื่อยไปจนถึงพระภิกษุผู้บวชใหม่ จากพระนวกะถึงพระเถระว่า หากได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย ในสิ่งที่ได้กระทำแล้วขวางต่อหนทางพระนิพพานก็ให้อาศัยความเอ็นดู อาศัยวิญญาณกัลยาณมิตรช่วยแนะนำตักเตือนโดยธรรม ชี้ขุมทรัพย์ให้กันและกันว่า ไม่ควรทำสิ่งนี้ เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการไปสู่อายตนนิพพาน

    เมื่อใครได้รับคำแนะนำอย่างนี้แล้วก็ทำใจนิ่ง ๆ เอาไว้ รับฟังด้วยใจที่เป็นปกติ ถ้าสิ่งที่เขาแนะนำนั้นเป็นจริง เราก็แก้ไขเสีย ถ้าไม่จริงเราก็ให้อภัยผู้ที่เขามาแนะนำ และขอบคุณเขาไป อย่าขุ่นมัว

 

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย

     หลักวิชชาที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแบบแผนเอาไว้ว่า ให้แนะนำตักเตือนกันได้โดยธรรมระหว่างผู้อาวุโสกับภันเต ด้วยความรักปรารถนาดีอย่างแท้จริง ไม่ใช่ติเตียน หรือนินทากัน เพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ผู้เตือนก็ได้บุญ ผู้ถูกเตือนก็ได้รับประโยชน์ว่า มีคนคอยดูแลเอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใยมีความรักปรารถนาดีต่อเรา ช่วยชี้ขุมทรัพย์ข้อบกพร่องให้ เราจะได้ปรับปรุงแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วความสมบูรณ์ก็จะได้เกิดขึ้นกับตัวของเรา เป็นการแนะนำสร้างสรรค์ เป็นสิ่งดีงามที่ควรรักษาธรรมเนียมและควรให้เป็นหลักวิชชาในการที่จะประคับประคองกันไปสู่ฝั่งของพระนิพพาน

     ที่ผ่านมา เนื่องจากว่าเรายังมีกิเลสอาสวะกันอยู่ เมื่อมีผู้มาแนะนำตักเตือนก็มักจะขุ่นมัว  เอาความขุ่นมัว มาขัดเคืองใจ  เอาทิฏฐิมานะมาใช้กันก่อน ความขุ่นมัวก็เลยบดบังหนทางพระนิพพาน บดบังดวงปัญญา ปัญญาที่มีอยู่ก็ไม่ได้นำมาใช้ ประโยชน์ก็ไม่เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวผู้แนะนำ และผู้ที่ถูกแนะนำ

     เพราะความขุ่นมัว ทิฏฐิมานะ ความถือตัวว่า เรารู้ดีแล้ว เข้าใจดีแล้ว เธอไม่ต้องมาเตือน เมื่อความขุ่นมัวเกิดขึ้น ช่องว่างระหว่างทั้งสองก็เกิดขึ้น เคยมองหน้ากัน มีความรักปรารถนาดีห่วงใยกันก็ไม่ค่อยอยากจะมองหน้ากันมองกันด้วยหางตา ชายตา หรือเบือนหน้ากันไปคนละทิศคนละทาง ถ้อยคำที่เป็นที่รักที่เคยพูดกันก็กลายเป็นถ้อยคำที่นำมาซึ่งความร้อนอกร้อนใจ ห่างเหินกันไป สิ่งที่เรามักจะเจอะเจอ ที่ผ่านมามักเป็นเช่นนี้

    พรรษานี้เอาใหม่ ที่ผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป เราไม่มีโอกาสที่จะไปแก้ไขข้อผิดพลาดแต่หนหลังได้ เมื่อเรายังแก้ไขอดีตไม่ได้เราก็สร้างปัจจุบันและอนาคตให้ดีด้วยการทำตามแบบแผน ตามหลักวิชชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ เราก็สร้างปัจจุบันและอนาคตให้ดีด้วยการทำตามแบบแผน ตามหลักวิชชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้

คลิกอ่าน Ebook คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย จากหนังสือชีวิตสมณะ (ฉบับวันมหาปวารณา) แบบเต็มได้ที่ ::

ชีวิตสมณะ (ฉบับมหาปวารณา)

ชีวิตสมณะ ฉบับวันมหาปวารณา

บทความอื่นๆ

กำเนิดวันมหาปวารณา ประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณา
วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

ประวัติหลวงพ่อธัมมชโย

รวมคำสอนต่างๆ

ภาพการ์ดคำสอนหลวงพ่อธัมมชโย
188 คำสอนยาย ขุมทรัพย์ล้ำค่าจากคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
กลอนรัก จากสุนทรพ่อ รวมบทกวีที่แต่งโดยตะวันธรรม


http://goo.gl/PLdnIM


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณา




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related