ทาน-ทางมาแห่งทรัพย์สมบัติ ความหมายของทาน

ทาน หมายถึง การให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน เมื่อเราให้ทาน แม้จะไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนก็ตาม แต่ก็จะมีบุญเกิดขึ้น และบุญนั้นจะช่วยออกแบบชีวิตของเราให้สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ https://dmc.tv/a7980

บทความธรรมะ Dhamma Articles > แก้กรรม-รู้ทันวิบากกรรม
[ 4 ก.ย. 2553 ] - [ ผู้อ่าน : 18278 ]
ทาน ..ทางมาแห่งทรัพย์สมบัติ
 
ทาน
 
ความหมายและประเภทของทาน
 
        ทาน หมายถึง การให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน เมื่อเราให้ทาน แม้จะไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนก็ตาม แต่ก็จะมีบุญเกิดขึ้น และบุญนั้นจะช่วยออกแบบชีวิตของเราให้สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ถ้าใครปราศจากทานบารมี เกิดมาก็จะยากจน สร้างบารมีได้ไม่สะดวก เพราะมัวแต่กังวลเรื่องการทำมาหากิน “ทาน” จึงเป็นพื้นทานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้า ทาน เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10_การทำทานจึงเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คำว่า “ทาน” นี้โดยทั่วไปมักเข้าใจสับสนกับคำว่า “บุญ” เนื่องจากเรามักจะเรียกการถวายของแด่พระภิกษุว่า “ทำบุญ” แต่เมื่อให้ของแก่คนยากจน หรือคนที่ด้อยกว่าตน มักเรียกว่า “ทำทาน” แต่จริงๆ แล้ว การให้นั้นไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ตามถือว่าเป็นทานทั้งสิ้น และได้บุญทั้งนั้น
 
ทาน การให้
 
ทานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
 
1.อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นทาน เช่น ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ประทีปโคมไฟ เป็นต้น
 
การให้อามิสทานนี้ แบ่งตามคุณภาพของสิ่งที่ทำทานได้เป็น 3 อย่าง ดังนี้
    1.1    ทาสทาน ให้ของที่ด้อยกว่าตนเองใช้ ได้บุญน้อย
    1.2    สหายทาน ให้ของที่เสมอกับที่ตนเองใช้ ได้บุญมากขึ้น
    1.3    สามีทาน ให้ของที่ดีกว่าที่ตนเองใช้ ได้บุญมากที่สุด
 
2.อภัยทาน คือ การให้ขีวิตสัตว์เป็นทาน รวมทั้งการปล่อยวางความโกรธให้หมด ไปจากใจ เลิกพยาบาท ให้อภัยกัน
 
3.วิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน และให้คำแนะนำสั่งสอนที่ดี ที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
 
4.ธรรมทาน คือ การให้ความรู้เรื่องธรรมเป็นทาน เช่น การแนะนำสั่งสอนให้เข้าใจเรื่องบุญ บาป ให้ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ด้วยการทำสมาธิภาวนา ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ จนกระทั้งสิ้นอาสวกิเลสได้
 
การให้ธรรมทานเปรียบเสมือนการให้ประทีปส่องทางชีวิตให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ดีงาม ธรรมทานจึงมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าทานทั้งปวง
 
ทาน ทำบุญ ตักบาตร
 
การให้ทานที่มีอานิสงส์มาก
 
        การให้ที่ได้บุญมาก มีผลนับประมาณมิได้ ตามหลักของพระพุทธศาสนา จะต้องครบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
 
1.วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง สิ่งของที่นำมาทำทานหามาได้โดยชอบธรรม ไม่ได้ไปลักขโมยมา
2.บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง ทั้งผู้รับและผู้ให้มีศีลมีธรรมตามเพศภาวะของตน
3.เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึง มีเจตตนาให้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เชื่อในผลของทานทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้แล้ว
 
        นอกจากนี้ การให้ทานจะได้บุญมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับเจตตนาของผู้ให้อีกด้วย ถ้าให้ทานแบบเฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ปาฏิปุคลิกทาน” จะได้บุญน้อยกว่าการให้ทานแก่หมู่คณะโดยไม่เจาะจงผู้หนึ่งผู้ใด ที่เรียกว่า “สังฆทาน” ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองไว้ว่า “สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์นั่นแหละเป็นประมุขของผู้บูชาและเป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า”
 
ของที่ให้แล้วไม่ได้บุญ
 
        ของบางอย่างไม่ควรนำไปให้ใคร เพราะเมื่อให้แล้วนอกจากจะไม่ได้บุญ ยังมีโทษ หรือบาปกรรมเกิดขึ้นแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ ได้แก่ สุรา ยาเสพติด มหรสพที่ทำให้ประมาทมัวเมาสัตว์เพื่อการผสมพันธุ์ รูปภาพ หรือสิ่งของที่ยั่วยุกามารมณ์ อาวุธหรือยาพิษเพื่อการทำมิจฉาชีพ
 
สุรา ยาเสพติด
 
อานิสงส์ของการให้ทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอานิสงส์ของทานไว้ในสีหสูตรว่า
 
1.  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก
2.  คนดีเป็นอันมากย่อมพอใจคบหาผู้ให้ทาน
3.  ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมฟุ้งขจรไป
4.  ผู้ให้ย่อมแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่เก้อเขินในที่ประชุมชน
5.  เมื่อละจากโลกนี้ ผู้ให้ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
        อานิสงส์ 4 ประการแรกส่งผลในชาติปัจจุบัน ประการสุดท้ายส่งผลในชาติหน้า นอกจากนี้ ทานบางอย่างก็มีอานิสงส์ที่เด่นชัดอยู่ในตัวเอง เมื่อเราทำทานแล้ว แม้ไม่ได้อธิษฐานก็ตาม บุญก็จะส่งผลตามลักษณะของทาน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกินททสูตรว่า “ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ ผู้ให้ยาน (พาหนะ) ชื่อว่าให้ความสุข ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง ส่วนผู้ที่ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมฤตธรรม” 
       
----------------------------------

http://goo.gl/fjUMf


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      โทษภัยของการพนัน
      วิบากกรรมปาณาติบาต
      โทษภัยของการลักขโมย ผิดศีลข้อที่ 2
      วิบากกรรม วิบากกาม
      โทษภัยของการพูดโกหก ผิดศีลข้อที่ ๔
      วิบากกรรมที่ทำให้ท้องเสียและท้องผูก
      วิบากกรรมที่ทำให้เป็นวัณโรค
      วิบากกรรมที่ทำให้ฆ่าตัวตาย
      วิบากกรรมที่ทำให้หน้าแก่เกินวัย
      กรรมที่ทำให้มีขางาม
      ทุกข์ในอัตภาพสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์
      ฆ่าตัวตาย กรรมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย
      กรรมที่ทำให้รูปงาม