การทำทานในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภท - หลวงพ่อตอบปัญหา

การทำทานในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภท, ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง”, การถวายสังฆทาน จริงๆแล้วมีหลักอย่างไร และการถวายกับพระภิกษุรูปเดียว ถือเป็นสังฆทานหรือไม่ และการถวายสังฆทาน กับถวายแบบเจาะจง แบบไหนได้บุญมากกว่ากัน https://dmc.tv/a5552

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 14 ก.ย. 2552 ] - [ ผู้อ่าน : 18258 ]
หลวงพ่อตอบปัญหา 
 

 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 
คำถาม:กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการทำทานในพระพุทธศาสนาว่า มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภทครับ
 
ตอบ:ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า คำว่า ทาน นั้นจริงๆแล้ว เป็นภาษาแขก ภาษาอินเดีย ภาษาไทย คือ ให้ ชัดๆลงไปนะ ทาน ก็คือ ให้
 
ทีนี้วัตถุประสงค์ของการให้ แบ่งออกได้ 4ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่
 
ประเภทที่1.ให้เพื่ออนุเคราะห์ คือ ผู้ใหญ่ให้กับเด็ก อย่างนี้...ให้เพื่อการอนุเคราะห์
 
ส่วนประเภทที่2.ให้อีกเหมือนกัน แต่...ให้เพื่อการสงเคราะห์ คือ ใครเดือดร้อนมา คนยากจน หรือไม่ยากไม่จนหรอก แต่ว่าไฟไหม้-น้ำท่วมขึ้นมาแล้ว...มันเดือนร้อน มันก็ต้องให้ ให้แบบนี้ก็เป็นเรื่องให้ที่เขาเรียกว่า สงเคราะห์ คือ ใครตกทุกข์ได้ยาก ก็ช่วยกันล่ะนะ จะใจไม้ไส้ระกำกันได้อย่างไร มีข้าวให้ข้าว มีของให้ของ ช่วยกันคนละไม้ละมือ
 
ประเภทที่3.ก็ให้อีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการให้ที่คำนึงถึงพระคุณ ที่เขาเคยหว่านมากับเรา เคยเลี้ยงดูเรามา เคยให้ความรู้เรามา เราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาเคยหยิบยื่นมือมาช่วยเหลือเรา...คิดถึงพระคุณของเขา เราก็เลยหาทาง มีอะไรที่คิดว่าถูกใจเขา หรือเป็นประโยชน์ต่อเขา...เอาไปให้ ให้ชื่นใจกัน นี่ก็เป็นการให้ประเภทที่3
 
ถ้าประเภทที่4.ก็จะเป็นการให้เพื่อจะเอาบุญ ให้เพราะรู้ว่าการให้เป็นความดี เมื่อทำความดีด้วยการให้อย่างนี้ ผลออกมาเป็นบุญ ในพระพุทธศาสนาที่พวกเราต้องศึกษากันมาก อยู่ที่การให้ด้วยวัตถุประสงค์ที่4 นี่เอง
 
ทีนี้ การให้เพื่อให้เกิดเป็นบุญ เป็นกุศลกันขึ้นมา เป็นความดีขึ้นมา มันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน คือ ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห ให้เพราะว่ามีปัญญารู้ว่า การให้นี่มันมีผลทางด้านจิตใจ คือ อย่างน้อยมันก็ทำให้คลายความตระหนี่ คลายความหวงแหน นี่รู้ขั้นต้นรู้อย่างนี้
 
ถ้ารู้ลึกไปอีกว่า เมื่อมันคลายความตระหนี่ คลายความหวงแหนลงไปแล้ว บุญยังเกิดขึ้นในใจด้วย แล้วบุญนี้...เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว ยังทำให้ใจใส ใจสว่าง ใจสะอาด ขึ้นมา ตามมาอีกด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของการให้ประเภทที่4
 
ทีนี้การให้ประเภทที่4.จึงจัดเป็นการให้ของคนที่คนที่มีปัญญา คนที่ฉลาด มองรู้ทะลุปรุโปร่งในเรื่องของบุญ เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบด้วย
 
คนฉลาดนั้น...ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห มันก็ต้องคำนึงนะ เมื่อรู้ว่าการให้ทานก็มีผลเหมือนอย่างกับอะไร...รู้ว่าปลูกพืชปลูกผักแล้วมันมีผล มันก็ต้องคำนึงกันแล้ว จะปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกข้าว นี่คำนึงอะไรกันบ้างล่ะ
 
พันธุ์ข้าวที่จะเอาไปปลูกก็ต้องคำนึง
 
พื้นที่นา...ถ้ามันแล้งไป น้ำท่วมจัดไป...ไม่ได้เรื่องหรอก มันต้องพอดีๆ อย่างที่เขาเรียกว่า เนื้อนาดี
 
แล้วอันที่สาม ตัวของเราเอง...มันก็ต้องมีปัญญาด้วยนะ ถ้าโง่ๆไม่มีปัญญา พอหว่านข้าวกล้าลงไปเดี๋ยวก็ตายหมด
 
เช่นกัน รู้ว่าการทำบุญนี้...การให้ประเภทที่4...นี้ มันเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว คำนึงอะไร
 
ประการที่1.ประโยชน์อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำอย่างไรจะให้ประโยชน์นั้นมันสมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งเมื่อคำนึงแล้ว เราก็พบว่าประโยชน์จะสมบูรณ์นั้น เราต้องมองทะลุปรุโปร่งอย่างที่ว่านี้ว่ามันส่งผลอย่างไร
 
ประการที่2.พันธุ์ข้าวที่ว่าเมื่อกี้ที่อุปมา คือ อะไร คือ สิ่งของที่จะเอามาทำบุญทำทานที่จะให้กันนั้น มันต้องคัดแล้วคัดอีก เอาไอ้ที่ดีๆ มันมีผลต่อไปภายหน้า พันธุ์ข้าวดีๆต้องปลูกในเนื้อนาดี ฉันใด ของดีๆจึงจะเอามาทำบุญ ฉันนั้น ของเศษๆ เดนๆ อะไรทำนองนี้ ป่วยการเอาไปทำบุญ ไม่เข้าท่าหรอก
 
ประการที่3.เนื้อนาดีเป็นอย่างไร...ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัวนั้นแหละ คือ  เนื้อนาบุญของเรา ใครล่ะ...ก็พระภิกษุผู้ทรงศีล ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม...นี้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้น ถ้าหาพระภิกษุไม่ได้ ก็ผู้ทรงศีลทรงธรรม ถ้าเขามีศีลมีธรรม ถ้าอย่างนั้นพอจะเป็นเนื้อนาบุญให้เราได้
 
ประการที่4.ตัวของเราเองนั้นก็ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องกันทีเดียว เช่น ไม่ใช่เมาเหล้าแล้วไปทำทาน ตัวของเราต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัว มีศีลมีธรรมประจำใจ
 
การที่มีองค์ประกอบอย่างนี้ครบ พูดง่ายๆ ไทยธรรมก็มี เนื้อนาบุญ คือ พระภิกษุก็มี ตัวเราเองศรัทธาเต็มเปี่ยม มีสติ มีปัญญา มีความบริสุทธิ์อยู่ในตัว มองทะลุปรุโปร่งว่า การให้ทานครั้งนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อไปในภายภาคหน้า ภายภาคหน้าชาตินี้หรืออนาคตข้างหน้า รวมทั้งชาติหน้า คือ ชีวิตหลังความตายของเราด้วย มองทะลุปรุโปร่งอย่างนี้แล้วก็ทำทาน อย่างนี้ล่ะได้บุญเยอะ
 
ถามว่า ทานมีกี่ประเภท คำตอบ คือ มี 3ประเภทด้วยกัน...โดยย่อนะ ได้แก่
 
1.ให้สิ่งของเป็นทาน เรียกกันว่า อามิสทาน เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร ผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น
 
2.ให้ความรู้เป็นทาน หรือ ธรรมทาน ให้ความรู้ ทางโลกท่านเรียกว่า วิทยาทาน ให้ความรู้ ทางธรรม ท่านเรียกว่า ธรรมทาน
 
3.ให้...อภัยทาน คือ ไม่จองเวรจองกรรมอะไรกับใคร ใครเข้าใกล้เราถือว่าปลอดภัย
 
นี้ก็เป็นการทำทานในพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งได้บุญได้กุศลกันเยอะๆ ทั้งชาตินี้และติดตัวข้ามชาติกันทีเดียว
 
คำถาม:จากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้เอ่ยถึงเกี่ยวกับคำว่า ธรรมทาน อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง” ครับ
 
ตอบ:ถามดีคุณโยม...ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มุ่งเน้นกันที่ธรรมทานให้มาก โดยตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ คือ การให้ธรรมทาน วิเศษกว่าให้ทานอย่างอื่น ทำไมพระองค์ตรัสอย่างนั้น ก็นึกถึงความจริงก็แล้วกัน โบราณท่านเคยพูดเอาไว้แบบโลกๆ ท่านบอกว่า ถ้าเราให้ข้าวเขาไปสักถังหนึ่ง กระสอบหนึ่ง อย่างมากเขากินได้ไม่กี่วันหรอก แล้วมันก็หมด แต่ว่าถ้าสอนวิธีปลูกข้าวให้เขา เขาก็จะมีข้าวกินตลอดทั้งชาติ ไม่ใช่วันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว แต่ตลอดชาติกันทีเดียว
 
พูดง่ายๆ สอนให้ใครมีความรู้แล้วล่ะก็ ความรู้นั้นมันกินไม่หมด มันใช้ได้ตลอดปี นี่ขนาดแค่ความรู้ทางโลกนะ คือ เรื่องการปลูกข้าว ยังทำให้มีข้าวกินได้ทั้งปี แต่ว่าปัญหาของมนุษย์เรานั้น มันไม่ได้อยู่แค่ความหิว ปัญหารวมๆของโลกมนุษย์มันมีอยู่ 3เรื่องใหญ่ๆ คือ
 
1.ความรู้ไม่ทันโลก ปรากฏการณ์ต่างๆในโลกนี้ ตั้งแต่ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินถล่ม อะไรก็ว่ากันไป นั่นก็เป็นความรู้ เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับโลก
 
2.ความรู้ไม่ทันคนอื่นเขา ก็เลยโดนโกง โดนรังแก...กันสารพัด  
 
3.ความรู้ไม่ทันกิเลส
 
ความรู้ไม่ทันโลกนั้น เราหาเทคโนโลยีศึกษาที่ไหนก็ได้ในยุคปัจจุบันนี้ เพราะว่าด้านวิชาการตำรับตำราเดี๋ยวนี้มีเยอะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก หรือว่าในเรื่องของความไม่ทันคน ความไม่ทันคนก็มีตำรับตำราป้องกันการโกงกันเยอะแยะอีกเหมือนกัน แต่ว่าความไม่ทันคน ไม่ทันโลกยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญกว่านั้นมีอยู่ แล้วจัดว่าสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ก็คือ เราเกิดมาพร้อมกับความโง่ และวันที่เกิดมาก็มีสิ่งหนึ่งห่อหุ้มใจ บีบคั้นใจเรา คือ กิเลสในตัวของเรา มันฝังมาอยู่ในใจเรา ตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่
 
เพราะฉะนั้นพอเกิดขึ้นมา กิเลสมันบีบคั้นเรา ทำให้เราเสียหายเยอะแยะเลย ทำให้เราคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง เมื่อคิดไม่ค่อยดีอย่างนั้นแล้ว มันก็เลยทำให้พูดไม่ดี ทำไม่ดีตามมา ซึ่งความรู้ที่จะมากำจัดกิเลสนี้ คนทั้งโลก ศาสดาทั้งหลายที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์นี้ ไม่รู้หรอก มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเท่านั้น ที่ทรงรู้ความลับเรื่องนี้ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับกิเลสที่อยู่ในใจ
 
สิ่งที่พระองค์ทรงนำมาสอนนั้น เรื่องใหญ่ๆเลยก็คือ เรื่องของการปราบกิเลสที่อยู่ในใจ ความรู้ที่จะเอามาปราบกิเลสซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์นี้ ท่านเรียกว่า ธรรมทาน ถ้าปราบกิเลสตรงนี้ได้ล่ะก็ เรื่องทันโลก เรื่องทันคน เป็นเรื่องเล็กเลย เพราะว่าเมื่อกิเลสหมดไป มองโลกทั้งโลกเห็นได้ชัดเจน เหมือนอะไร...เหมือนอย่างกับเห็นผลส้มในฝ่ามือ คือ มันเห็นชัดเจน เห็นรอบเลย ถ้ายังเห็นไม่ชัดจะผ่าออกมาดูก็ยังได้
 
ผู้ที่ศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดีจริง ฝึกตัวเองมาดีจริง โดยอาศัยธรรมทานที่ได้จากผู้รู้แล้วล่ะก็ ประเดี๋ยวเดียวรู้ทันโลก เห็นโลกเหมือนของเด็กเล่น เหมือนยังกับผลส้มในผ่ามือ
 
ปราบกิเลสไปแล้ว ปราบกิเลสในตัวของเราไปได้มากเท่าไหร่ ก็เห็นอีกเหมือนกัน เห็นอะไร…เห็นว่าคนที่แสบๆทั้งหลายนั้น แท้ที่จริง มันก็อยากดี แต่ว่ากิเลสที่หุ้มใจ บีบคั้นใจมัน ทำให้มันแสบ มันแสบจนกระทั่งเมื่อก่อนเราตามมันไม่ทัน
 
แต่ว่าวันนี้ เราทันกิเลสของเราแล้ว มันก็เลยส่งผลให้เรานั้น ทันกิเลสของคนอื่นด้วย ก็เลยรู้ทันคนอื่นตามไปด้วย เป็นผลพลอยได้ ผลหลัก คือ ได้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วจากธรรมทาน ทำให้เรารู้ทันกิเลสแล้วสามารถปราบกิเลสที่มันอยู่ในใจ กิเลสซึ่งเป็นโรคร้ายอยู่ในใจเรา หรือเหมือนกับไวรัสที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ ได้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว เราปราบกิเลสเสียเรียบ เมื่อกิเลสเรียบไปแล้ว เราทันกิเลสเสียแล้ว เราก็สามารถที่จะทันคนอื่นด้วย เพราะว่าคนอื่นก็ถูกกิเลสบีบคั้นเช่นเดียวกับเรา
 
เราทันกิเลสของเรา คราวนี้ไม่ยากที่จะทันกิเลสของคนอื่น ทำให้ทันคนอื่นด้วย แล้วเรื่องต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆทั้งโลก หนีไม่พ้นปัญญาของเรา
 
เหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องหนักหนาทีเดียวว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง”
 
เพราะฉะนั้น ที่คุณโยมตั้งใจมาถามปัญหาธรรมะอย่างนี้ นี่อาตมากำลังให้ธรรมทาน ซึ่งชนะการให้ทั้งปวง เมื่อรู้แล้ว...เอาปฏิบัติให้ดีนะ
 
คำถาม:อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า การถวายสังฆทาน จริงๆแล้วมีหลักอย่างไรครับ และการถวายกับพระภิกษุรูปเดียว ถือเป็นสังฆทานหรือไม่ครับ และการถวายสังฆทาน กับถวายแบบเจาะจง แบบไหนได้บุญมากกว่ากันครับ
 
ตอบ:เจริญพร การทำบุญที่เรียกว่า สังฆทาน ถ้าว่าไปแล้ว...เอาง่ายๆภาษาชาวบ้าน นี่ก็ทำความเข้าใจคำว่า สังฆะ เสียก่อน
 
สังฆะ ถ้าว่าไปแล้ว คือ ความเป็นทีม...ชัดดีไหม การทำบุญที่เรียกว่า สังฆทาน คือ การทำบุญกับพระที่เป็นคณะหรือว่าที่เป็นทีม พระที่เป็นคณะหรือว่าเป็นทีม ที่เรียกว่าสังฆะ โดยพระวินัยแล้วล่ะก็อย่างน้อยประกอบด้วยพระตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป
 
เมื่อการทำทานที่จะให้เรียกว่า สังฆทานจริงๆก็คือ การทำทานกับพระซึ่งเป็นหมู่เป็นคณะตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป เราเรียกว่า สังฆทาน
 
ทีนี้ก็ต้องถามว่า ถ้าเราทำทานกับพระรูปใดรูปหนึ่ง จะเป็นสังฆทานขึ้นมาได้ไหม ก็ตอบว่า มีทั้งได้และไม่ได้...ทำไม ถ้าจำเพาะเจาะจงว่าจะไปทำกับรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จัดว่าเป็นสังฆทาน
 
แต่ตรงกันข้าม ตั้งใจไว้ว่าจะไปทำทานกับพระทีมใดทีมหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป แต่ว่าตอนนั้นท่านอยู่องค์เดียวรูปเดียว อีก 3รูป 5รูป 10รูปก็แล้วแต่ล่ะ ท่านไม่อยู่ด้วย เราก็ต้องบอกกับท่านว่า เราจะถวายท่านนี้แล้วท่านช่วยจัดการด้วยเถอะ เอาไปแบ่งเอาไปปันกันให้ได้ เป็นสังฆทานให้กับเราก็แล้วกัน อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสังฆทานอยู่ดี เพราะใจที่เราตั้งไว้นั้น ตั้งใจว่าเราจะทำทานกับพระที่เป็นทีม อย่างนี้ชัดเจนไหม
 
ตกลงคำว่า สังฆะ ก็คือคำว่า ทีม หรือคำว่า คณะ ในปัจจุบันนั่นแหละ มองภาพนี้ให้ชัด
 
ทีนี้ถามว่า การทำทานที่เป็นสังฆทานนี้ ทำไมจึงได้บุญมากนักมากหนา ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญนักทีเดียว เราก็ต้องมองอย่างนี้ว่า เอาทางโลกก่อน ในทางโลกไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ถ้าทำเพียงเดี่ยวๆมันก็ได้น้อย ถ้าทำเป็นทีมมันก็ได้เยอะ ทำความดีเป็นทีมก็ได้เยอะ ทำความชั่วเป็นทีมมันก็ได้เยอะเหมือนกัน แต่ทำความชั่วเป็นทีมไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่อยากลงนรก เพราะฉะนั้นทำความชั่วเป็นทีม เลิกไม่เอา มีแต่ว่าจะทำความดีหรือจะทำบุญกันเป็นทีม ก็คือเป็นสังฆทานนั่นเอง
 
ทีนี้ก็ถามว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสรรเสริญ การทำทานที่เป็นสังฆทาน หรือทำทานที่มุ่งให้กับพระที่ท่านเป็นทีม การทำอย่างนี้ก็ดีทั้งฝ่ายพระ ดีทั้งฝ่ายคนนั่นแหล่ะ
 
ดีทั้งฝ่ายพระเป็นอย่างไร พระ...ท่านมีจิตเมตตากับคนอยู่แล้ว อยากจะให้คนได้บุญเยอะๆ เมื่อเห็นเราตั้งใจจะทำทานเป็นสังฆทาน ถ้ามีพระอยู่เพียงน้อยรูป แค่รูปสองรูป ท่านก็ต้องขวนขวาย...ขวนขวายอะไร ขวนขวายการสร้างทีม ถ้าพระยังน้อยอยู่ท่านก็หาให้พระที่อื่นมาร่วม...มาอยู่ร่วม นี่ก็เป็นทีมขึ้นมา หรือว่าถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาพระที่ไหน ก็ลูกบ้านนั้น ตำบลนั้น ใครที่มีจิตศรัทธาจับมาบวช หรือทั้งยังไม่มีจิตศรัทธา ก็เทศน์อบรมกล่อมเกลากันไป จนกระทั่งเขามีจิตศรัทธา มาบวชกับท่านจนได้นั่นแหล่ะ
 
ในที่สุด การถวายสังฆทานก็บังคับไปในตัว ให้พระ...ท่านสร้างทีมให้ได้ ยังไม่พอ พอพระ...ท่านได้สร้างทีมโตๆเข้า เรามันก็ฟู เราก็เลยทำบุญไปใจก็ฟูไป ไม่ฟูแต่เรา พวกก็ฟูด้วย เดี๋ยวทีมเราก็โต ทีมเราโตเอง พอทีมเรายิ่งโตทำทานได้เต็มที่เข้า ทำจนพระกลุ่มนั้น คณะนั้น ทีมนั้น ท่านรับไม่ไหว เดี๋ยวท่านก็ต้องขยายทีมต่อไปอีก
 
เมื่อท่านขยายทีมต่อ หรือว่าไปตามพระกลุ่มอื่น คณะอื่นมาร่วมทีมกับท่านอีก ก็เลยทำให้ความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์เกิด เมื่อความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์เกิดขึ้น คราวนี้อะไรเกิดขึ้น ก็คือเมื่อท่านได้รับการทำนุบำรุงจากสังฆทานของเรา คณะสงฆ์ก็เกิดความเข้มแข็งขึ้น เป็นทีมโตขึ้น
 
ไม่โตแต่ทีมหรอก...ลูกเอ๊ย เดี๋ยวการให้ธรรมทานก็เกิดโตขึ้นมาอีก มากขึ้นมาอีก เพราะว่าพระภิกษุแต่ละรูป ท่านก็ฝึกตัวเองของท่านมา ท่านก็มีความรู้ มีความดี หลายแง่หลายมุม มากรูป มากทีมเข้า ก็มากธรรมทานขึ้นมา
 
เมื่อธรรมทานมากยิ่งขึ้น ลูกเอ๊ย...ตัวของเราซึ่งนำทีมไปทำสังฆทาน ก็จะได้ภูมิปัญญา ซึมซับเอาภูมิปัญญาธรรมมาจากท่าน เราก็เลยได้แก้ไขตัวเองมากขึ้น แล้ว คราวนี้เราก็เลยได้ธรรมทานเป็นความรู้กำจัดกิเลส ได้บุญอันเกิดจากการทำทานนี้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ทำให้เป็นหลักประกันว่า เกิดกี่ภพกี่ชาติ เราก็ไม่รู้จักจน อดอยากยากจนนั้นไม่รู้จัก มีแต่อิ่มอร่อย ข้ามชาติกันทีเดียว แล้วก็ได้ธรรมะจากพระมาอีกมากมาย เอามาฝึกตัว ปัญญาก็เพิ่มพูน เสบียงอันเกิดจากการทำทานของเรา ก็เพิ่มพูนติดตัวข้ามภพข้ามชาติ แล้วก็แน่นอน ศีลที่เราซึมซับมาจากพระ ได้กำลังใจจากพระที่ท่านจะแก้ไขอบรมให้เรา มันก็มั่นคงยิ่งขึ้น จากศีลห้า กลายเป็นศีลแปด จากศีลแปด วันดีคืนดีเดี๋ยวก็กลายเป็นศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด ออกบวชตามท่านไปด้วย
 
เพราะอะไร...เพราะเห็นแล้วว่า พระที่อยู่เป็นหมู่คณะนี้ มีความน่าเข้าใกล้ มีความน่าเลื่อมใส มีความน่าเข้าไปเป็นสมาชิกกันด้วย เดี๋ยวได้บวชกันอีกล่ะน่า
 
นี่...ฤทธิ์ของสังฆทานดีอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญสังฆทาน เพราะฉะนั้นพรรษานี้ ตั้งใจไปถวายสังฆทานกันให้เต็มที่ พระกำลังมีเยอะทุกวัด
 

http://goo.gl/HDpYi


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร
      การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related