เนรมิตพระมหามณฑป พุทธรูป"หลวงพ่อทองคำ"
 

"เยาวราช" หรือ "ไชน่าทาวน์เมืองไทย" เป็นย่านสำคัญอีกแห่งที่ชาวต่างชาติมักนิยมมาท่องเที่ยว จุดแรกที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมากราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคล และชื่นชมความงดงามขององค์ "พระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำ" เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ที่มีอายุมากกว่า 700 ปี ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก ออฟเวิร์ลด์ เร็กคอร์ด เมื่อปีค.ศ.1991 ตรงกับพ.ศ.2534 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

สร้างด้วยโลหะทองคำแท้ มีน้ำหนักถึง 5.5 ตัน มูลค่าทองคำถึง 28.5 ปอนด์

ปัจจุบันพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำ เริ่มทรุดโทรมและคับแคบ แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาสักการบูชา และชื่มชมความงามไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน

ทางชุมชนเยาวราช ประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับวัดไตรมิตรวิทยาราม โดยการสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงร่วมกันจัดทำ "โครงการจัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) บริเวณด้านหน้าวัดไตรมิตรวิทยาราม" ระหว่างปี 2550-2551 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมมายุครบ 80 พรรษา

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานคณะกรรมการโครงการจัดสร้างพระมหามณฑปฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า องค์พระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำ เมื่อครั้งในสมัยสุโขทัยถูกโบกปูนพอกไว้ สันนิษฐานว่าองค์หลวงพ่อน่าจะประดิษฐานอยู่ในที่อันเหมาะสม

หลังจากชะลอมาจากหัวเมืองเหนือในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระยาไกร หรือวัดโชตนาราม ก่อนจะอัญเชิญเก็บรักษาไว้ที่วัดสามจีน เมื่อปีพ.ศ.2478 ในเวลานั้นมีผู้ขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดอื่น แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่มาก จึงเคลื่อนย้ายลำบาก

ต่อมาในปีพ.ศ.2497 วัดสามจีนถูกยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และสร้างพระวิหาร จึงเคลื่อนย้ายองค์พระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเหตุให้องค์พระตกกระแทกปูนที่พอกไว้บางส่วนหลุดลอก จึงเห็นเนื้อทองภายใน ทำให้เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางถึงทุกวันนี้

สำหรับพระมหามณฑปที่จะสร้างขึ้นใหม่มีทั้งหมด 4 ชั้น รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดพระมณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุข ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตัวอาคารพระมหามณฑป เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบุด้วยหินอ่อน ขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร มีโครงสร้างหลัก 4 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้สอยดังนี้

ชั้น 4 เป็นชั้นบนสุด ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และลานประทักษิณสำหรับประกอบศาสนกิจ ชั้น 2 และชั้น 3 จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่มาที่ไปของเหล่าบรรดาเจ้าสัว เสื่อผืนหมอนใบ จำลองภาพเหตุการณ์ให้เด็กรุ่นใหม่ในเขตพื้นที่ได้เห็นและมีความมุมานะ ส่วนชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่จอดรถ

การดำเนินงานและควบคุมดูแลออกแบบก่อสร้าง ทำร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งงบประมาณไว้เบื้องต้น 550 ล้านบาท และจะให้แล้วเสร็จในวันที่ 5 ธ.ค.51

นายวิศิษฎ์กล่าวอีกว่า โครงการจัดสร้างพระมหามณฑปนี้ เข้าไปอยู่ในวาระของชาติ และดำเนินในรูปของคณะกรรมการซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธาน ส่วนประธานคณะกรรมการ ฝ่ายออกแบบพระมหามณฑปแห่งนี้ คือ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร

พระมหามณฑปแห่งนี้ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะเป็นภูมิสถาปัตยกรรมใหม่ของเยาวราช และเป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนา ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาสักการบูชา เป็นศูนย์รวมใจของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน เขตสัมพันธวงศ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ด้านพระเทพภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เล่าว่า หลวงพ่อทองคำถือเป็นปูชนียวัตถุที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลก ส่วนแผนงานโครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี แบ่งเป็นช่วงต่างๆ ดังนี้

พ.ศ.2549 ออกแบบฐานราก ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว ช่วงเดือนมี.ค.2550 ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เดือนพ.ค.2550 ถึงเดือนเม.ย.2551 เริ่มก่อสร้างพระมหามณฑป

วันที่ 5 ธ.ค.2550 เคลื่อนย้ายองค์พระเข้าสู่พระมหามณฑป เดือนม.ค.-ธ.ค.2551 ตกแต่งพระมหามณฑป และเดือนธ.ค.51 พระมหามณฑปเสร็จสมบูรณ์

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/news/trimit.html
เมื่อ 6 พฤษภาคม 2567 09:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv