
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในแง่ของการปฏิบัติ คือเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน พระภิกษุสงฆ์คือผู้ที่สละโลกตั้งใจปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลส ถือว่าเป็นต้นแบบของชาวพุทธทั่วไป ในแง่การเผยแผ่พระศาสนา พระภิกษุสงฆ์อยู่ในฐานะครูผู้สอน โดยสาธุชนทั่วไปเป็นผู้รับฟังคำสอนและนำไปปฏิบัติ อีกทั้งทำบุญสนับสนุนในการดำรงชีพ อีกทั้งปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์
ในระยะแรกพระภิกษุสงฆ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปฏิบัติตนเป็นผู้นำเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นแฟ้น เป้าหมายการบวชในสมัยนั้นคือ บวชเพื่อมุ่งพระนิพพาน ให้ความสำคัญทั้งพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามต่อไป พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ต่อมาผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีน้อยลง ในหมู่พระภิกษุสงฆ์มีทั้งผู้ที่มีใจรักและเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรมและผู้ที่เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ แต่เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นสิ่งที่วัดความรู้กันได้ สามารถจัดความรู้ให้เป็นระบบและวุฒิการศึกษาได้ เช่น ได้เปรียญธรรมประโยคนั้น ประโยคนี้ แต่ทางด้านธรรมปฏิบัติเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน เป็นของละเอียดวัดได้ยาก และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปฏิบัติ มักจะมีใจโน้มเอียงไปในทางแสวงหาความสงบ ความสงัด มักไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากกาลเวลาผ่านไป พระภิกษุสงฆ์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรม จึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์โดยปริยาย เมื่อผู้บริหารการคณะสงฆ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทางพระปริยัติธรรม ก็เป็นธรรมดาที่การศึกษาของสงฆ์จะเน้นหนักในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและชำนาญ แม้จะเห็นความสำคัญของธรรมปฏิบัติ แต่ในเมื่อตนไม่คุ้นเคย ไม่ชำนาญ การสนับสนุนก็ทำได้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น พระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ ๆ จึงมักได้รับการฝึกอบรมในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก ส่วนทางด้านธรรมปฏิบัติก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงมา
การศึกษาพระปริยัติธรรมในยุคแรก ๆ เป็นการศึกษาเพื่อเน้นให้เข้าใจในพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากเข้า ๆ ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนักคิดนักทฤษฏีจำนวนหนึ่ง ทนการท้าทายจากนักคิด นักปรัชญาศาสนาอื่น ๆ ไม่ได้ เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา เช่น ใครสร้างโลก โลกนี้โลกหน้ามีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน จิตมีการรับรู้ได้อย่างไร โลกเป็นอยู่อย่างไร มีจริงหรือไม่ เป็นต้น จึงพยายามหาเหตุผลตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนา ใช้การให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์มาให้เหตุผลเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ตอบ เพราะถือว่าตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเป็นเหตุให้ไปถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ทรงอบรมสั่งสอนในสิ่งที่นำไปสู่การขัดเกลากิเลส มุ่งไปสู่พระนิพพาน ซึ่งถ้าใครทำอย่างนี้จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใสจนเกิดธรรมจักขุและญาณทัสนะ เมื่อถึงจุดนั้นแล้วผู้ปฏิบัติธรรมก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้เอง เพราะไปเห็นและไปรู้ จะไปถกเถียงกันทั้งที่ไม่รู้ก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ แต่นักคิดจะชอบถกเถียงกันไป
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเมื่อปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นตรงกัน เป็นภาวนามยปัญญา ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง คือ เห็นแล้วจึงรู้ แต่เมื่อพยายามพิสูจน์ด้วยความคิดทางตรรกศาสตร์ คือจินตามยปัญญา ซึ่งเป็นความนึกคิดที่ไม่ได้รู้แจ้งด้วยตนเอง คือไม่ได้เห็นแจ้ง ย่อมมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ผลคือนักทฤษฏีของพระพุทธศาสนามีความเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะถกเถียงกันเองเกิดเป็นแนวคิดของสำนักต่าง ๆ แล้วแตกตัวเป็นนิกายต่าง ๆ ในที่สุด
มีนักทฤษฏีในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ท่านอานาคารชุน อสังคะ วสุธะ นสันธุ ทฤษนาคะ ภาวะวิเวก ธรรมกีรติ ศานตรสิตะ เป็นต้น ชื่อเหล่านี้จะคุ้นเฉพาะนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้เป็นผู้ตั้งทฤษฏีต่าง ๆ จึงทำให้แตกเป็นนิกายต่าง ๆ มากมาย แนวคิดของพระนักทฤษฏีเหล่านี้มีความลึกซึ้งมาก แม้นักวิชาการชาวตะวันตกปัจจุบันมาเห็นเข้ายังตื่นตะลึง ผลที่เกิดจากนักคิดเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกกันในหมู่ชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่สลับซับซ้อนจนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ
ประหนึ่งว่า ความรู้พระพุทธศาสนาศึกษาผูกขาดได้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น เพราะมีพระภิกษุสงฆ์เพียงจำนวนน้อยที่รู้เรื่อง แถมยังคิดเห็นยังไม่ตรงกันอีก ส่วนชาวพุทธทั่วไปต่อมาก็กลายเป็นเพียงชาวพุทธแต่ในนามอย่างปัจจุบันนี้ ไปวัดก็ไปเพียงทำบุญตามเทศกาลตามประเพณีเท่านั้น ถามว่ารู้เรื่องอะไรไหมก็ไม่รู้ ถ้าถามเรื่องบอลยูโรยังรู้มากกว่าอีก
ขณะเดียวกัน มีพระภิกษุสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากกว่านักคิด นักปฏิบัติ ได้หันไปปฏิบัติตามใจชาวบ้าน ซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการเล่นเครื่องรางของขลังเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ ทำให้วัตรปฏิบัติต่าง ๆ ย่อหย่อนลงมา จนกลายเป็นนิกายตันตระ เช่น กุมารทอง รักยม สาลิกาลิ้นทอง ฯลฯ
ในปัจจุบันก็จะคล้าย ๆ กัน มีนักคิดเป็นจำนวนมาก และสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งก็ปฏิบัติตามใจชาวบ้าน เช่น น้ำมูก น้ำมนต์ หมอดู แจกกุมารทอง ฯลฯ พอเอาเวลามาศึกษาเกี่ยวกับการปลุกเสกเลขยันต์ เวลามนุษย์ซึ่งมีจำกัดเพียงวันละ 24 ชั่วโมง เมื่อต้องทุ่มเทชีวิตในการเรียนทางนี้ ก็จะไปย่อหย่อนในอีกทางหนึ่ง คือ ถ้าตึงทางหนึ่ง ก็ต้องหย่อนทางหนึ่ง เช่น ตึงทางเรียนเวทมนต์คาถา ก็จะหย่อนทางด้านความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ ถ้าตึงทางพระปริยัติก็จะไปหย่อนทางด้านธรรมปฏิบัติ จริง ๆ แล้วต้องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา ไปให้พร้อม ๆ กันจึงจะพอดี เรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตรงนี้จะไปโยงว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว มีสัญญาณมากมายแล้ว ถ้าไม่รีบป้องกันในตอนนี้หรือแก้ไขในตอนนี้ในพุทธบุตรทั้งหลาย มีสิทธิที่เมืองไทยจะคล้าย ๆ กับอินเดีย ถ้าสาเหตุภายในอ่อนแออย่างนี้ เดี๋ยวสาเหตุภายนอกกระทุ้งนิดเดียวไปกันใหญ่ นี่เป็นเรื่องราวที่เราจะต้องทบทวนกันว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมสลายไปจากอินเดีย
เรามาดูท่านผู้นี้ แม้อยู่ไกล แต่ได้มาศึกษาความเป็นจริงของชีวิตและได้ทำถูกหลักวิชชา ดังนั้นพุทธบุตรที่มุ่งในการแจกของขลัง คงจะต้องหันกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าเราบวชเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ในการบวชคืออะไร เราทำถูกวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่ เมื่อชาวบ้านให้กำลังเรามาให้มีเรี่ยวแรง เพราะกว่าเขาจะได้ปัจจัยมา เขาเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เขาจบเหนือหัวทุกอย่าง เคารพสักการะบูชาเนื้อนาบุญอายุพระพุทธศาสนา ผู้เป็นแหล่งเนื้อนาบุญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เคารพกราบไหว้บูชานายนั่นนายนี่ ถ้าหากไม่ศึกษาไว้จะมีภัยต่อพุทธบุตรเอง เรียกว่าขบฉันด้วยความเป็นหนี้เรียกว่าอินนะบริโภค ทำให้เป็นอันตรายคือต้องไปใช้หนี้เขาในภพถัด ๆ ไป ทำครั้งเดียว ใช้หลายครั้ง ถ้าทำหลายครั้งก็คูณกันเข้าไป ตรงนี้ไม่คุ้มกัน
Case study รักต้องลอย
เจ้าของเคสชื่อไพฑูรย์ ทองทวี ลูกพระราชฯ เป็นชาวไต้หวันโดยกำเนิด แล้วมาเติบโตที่พม่า ได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญการดูหยกและอัญมณี ต่อมา เดินทางมาทำงานร้านทองที่เมืองไทย จึงมีชื่อนามสกุลภาษาไทย และเพราะความที่พูดภาษาไทยได้ทำให้เขาได้เข้ามาในวงการพระเครื่อง เครื่องรางของขลังของเมืองไทย เมื่อเขาเดินทางไปเปิดร้านพระเครื่องที่ไต้หวัน จึงได้เปรียบพ่อค้าชาวฮ่องกงและสิงคโปร์ เพราะสามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ ทำให้สามารถไปหาของจากแหล่งเกจิในเมืองไทยได้โดยตรง
ร้านของเจ้าของเคสเป็นร้านพระเครื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไต้หวัน นอกจากลูกค้าจะถามถึงพระเครื่องแล้ว ยังถามถึงกุมารทอง กุมารีทอง รักยม เป็นต้นด้วย เขาจึงออกแสวงหาสิ่งเหล่านั้นจากเมืองไทยให้ได้ (ตัวเองก็ไม่รู้ว่าของอย่างนี้มีคุณมีโทษอย่างไร) ของในร้านที่ได้มาก็ได้มาด้วยความไม่รู้อย่างนี้
ของที่เจ้าของเคสขายก็แบ่งเป็นหมวดให้ถูกรสนิยมของลูกค้า คือ ลูกค้าที่ชอบการค้าขายก็จะมีหมวดค้าขาย ซึ่งจะมีกุมารทอง กุมารีทอง นางกวัก รักยม อิ้ง จิ้งจก 2 หัว 2 หาง สีผึ้ง สีปาก หมวดที่ 2 เป็นหมวดเมตตามหานิยม ซึ่งมีขุนแผน มักกะลีผล ตะกุด ชูชก พรหม 4 หน้า พระภิคเนตร ปลัดขิก สาลิกาลิ้นทอง
จนกระทั่งเจ้าของเคสได้มาเป็นนักเรียนอนุบาล คุณครูไม่ใหญ่ได้พูดถึงโทษของการเลี้ยงกุมารทอง คือการกักขังกุมารทอง ผู้ที่เลี้ยงจะมีกรรมติดตัวด้วย เขาตกใจมาก เพราะที่ผ่านมานั้น ทำไปด้วยความไม่รู้ โดยของเหล่านั้นมีอยู่ในร้านมากถึง 500 ชิ้น รวมมูลค่าหลักล้าน เขาคิดอย่างเดียวแล้วว่า ถ้ารักต้องฝัง ให้รีบปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้เสีย แต่ของเหล่านี้จำนวนมากเป็นเหล็ก ถ้าเอาไปฝังก็ไม่สูญสลาย ถ้ามีคนไปขุดขึ้นมาหรือจะเอาไปหลอม หรือจะส่งกลับคืนเมืองไทย นับเป็นความเมตตาของคุณครูไม่ใหญ่ที่แนะนำให้นำไปฝากไว้กับแม่พระธรณีหรือในพระแม่คงคา หย่อนลงไปในน้ำจะได้มีความเย็นทั้งผู้ปล่อยและผู้ถูกปล่อย เมื่อหย่อนลงไปในน้ำลงไปจนถึงก้นก็จะเป็นแม่พระธรณี
เจ้าของเคสเลือกวันที่เหมาะสมในการทำพิธีคือ วันที่ 14 ก.พ. 2547 วันแห่งความรัก โดยจะมอบความรักแก่กุมารทองและของขลังทั้งหลาย โดยการเช่าเรือทำพิธีปลดปล่อยกุมารทองและส่งของคืนครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วยความเคารพ 3 วันต่อเนื่องก่อนทำพิธี เขาฝันเห็นทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง คนแก่ ผู้ชาย ผู้หญิงใส่ชุดไทย ใส่ชุดจีน มาขอบคุณที่ได้ให้ความสุข บางคนก็เอาเงินทองมาให้ เขาปลื้มมาก จากที่กล้า ๆ กลัว ๆ ก็กลายเป็นความเชื่อมั่นและมีกำลังใจมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป รู้สึกซาบซึ้งพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาให้ความกระจ่างแก่เขา ถึงแม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติได้เดินถูกทาง เขาปีติมาก เมื่อถึงช่วงวันที่ 22 เม.ย.2547 เขาจึงเดินทางมาเมืองไทยเพื่อบวชธรรมทายาทรุ่น 60 ปีบูชาธรรม พระราชฯ ด้วย