พระสมณโคดม.....................ช่วยชี้
ชีวิตประเสริฐสม....................บริสุทธิ์
ธรรมประจำใจนี้...................ประพฤติได้ ยิ่งเจริญ

เมตตา...คนอื่นด้วย...............รักเสมอ
หมายมุ่งให้พบเจอ.................สุขล้น
ปรารถนาสิ่งดีเสนอ................หนุนส่ง
ขอสุขจงท่วมท้น....................พรั่งพร้อมบริบูรณ์

กรุณา...คนอื่นด้วย................สงสาร
หมายมุ่งพ้นภัยพาล................อย่าใกล้
ปรารถนาช่วยในการ..............พ้นทุกข์
ขอเรื่องร้ายอย่าได้..................เกิดขึ้นอีกเลย

มุทิตา...คนอื่นด้วย.................ยินดี
แสดงจิตมิตรไมตรี..................มอบให้
ไม่คิดริษยาตี.........................ตนต่ำ
เป็นสุขอารมณ์ได้...................ร่วมด้วยสรรเสริญ

อุเบกขา...คนอื่นด้วย...............วางเฉย
ใจไม่โอนเอียงเลย...................อย่างนี้
เป็นกลางนิ่งอย่างเคย...............เห็นวิบัติ
ดีย่อมได้ดีชี้...........................ชั่วได้ชั่วเสมอ

๑) เมตตา ความรักที่จะให้เป็นสุข ตรงกันข้ามกับความเกลียดที่จะให้เป็นทุกข์ เมตตาเป็นเครื่องปลูกอัธยาศัย เอื้ออารี ทำให้มีความหนักแน่นในอารมณ์ ไม่ร้อนวู่วาม เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรู ไม่เบียดเบียนใคร แม้สัตว์เล็กเพียงไหน ให้เดือดร้อนทรมานด้วยความเกลียด โกรธ หรือสนุกก็ตาม
๒) กรุณา ความสงสารจะช่วยให้พ้นทุกข์ ตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัยเผื่อแผ่เจือจาน ช่วยผู้ที่ประสบทุกข์ยากต่าง ๆ กรุณานี้เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระมหากษัตริย์ และเป็นคุณข้อสำคัญของท่านผู้มีคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น
๓) มุทิตา ความพลอยยินดีในความได้ดีของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยาในความดีของเขา เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัย ส่งเสริมความดี ความสุข ความเจริญของกันและกัน
๔) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ในเวลาที่ควรวางใจดังนั้น เช่น ในเวลาที่ผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็วางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจว่า ศัตรูถึงความวิบัติ ไม่เสียใจว่า คนที่รักถึงความวิบัติ ด้วยพิจารณาในทางกรรมว่า ทุก ๆ คนมีกรรมเป็นของตน ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมที่ตนได้ทำไว้เอง ความเพ่งเล็งถึงกรรมเป็นสำคัญดังนี้ จนวางใจลงในกรรมได้ ย่อมเป็นเหตุถอนความเพ่งเล็งบุคคลเป็นสำคัญ นี้แหละเรียกว่า อุเบกขา เป็นเหตุปลูกอัธยาศัยให้เพ่งเล็งถึงความผิดถูกชั่วดีเป็นข้อสำคัญ ทำให้เป็นคนมีใจ ยุติธรรมในเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย
เนื้อเรื่อง พระพุทธเจ้าสอนอะไร โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก บทกวีโดยคุณ Oracle รูปจากอินเตอร์เน็ต
ธรรม ๔ ข้อนี้ควรอบรมให้มีในจิตใจ ด้วยวิธีคิดแผ่ใจ ประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น ออกไปในบุคคลและสัตว์ทั้งหลายโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป เมื่อหัดคิดอยู่บ่อย ๆ จิตใจก็จะอยู่กับธรรมเหล่านี้บ่อยเข้าแทนความเกลียด โกรธ เป็นต้น ที่ตรงกันข้าม จนถึงเป็นอัธยาศัยขึ้น ก็จะมีความสุขมากครับ