มีหลายครั้งที่คนไม่เข้าใจภาษาพระ และใช้ตามที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ ก็ไม่ผิดอะไรบางครั้งน่ารักดีไปอีกแบบ
มีครั้งหนึ่งมีโยมมาถวายอาหาร ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานในวังมาโดยตลอด จึงไม่คุ้นเคยกับคำพูดที่ใช้กับพระนัก พอประเคนเสร็จ เธอก็เชิญชวนให้ลองลิ้มรสอาหารทันที
“ลองเสวยดูสิเพคะ”
พระเณรก็ได้แต่อมยิ้ม ไม่รู้มีเชื้อเจ้ากันตั้งแต่เมื่อไร
ที่จริงถ้าจะใช้ให้ถูก คือคำว่า “ฉัน” หมายถึง รับประทานอาหาร
และยังมีอีกครั้งหนึ่งพระอาจารย์แก้วไปสอนสามเณรที่เข้ามาบวชใหม่ๆ ให้รู้จักภาษาที่พระนิยมใช้กัน ก็เลยถามไป
“ใครรู้บ้างพระอาบน้ำใช้คำว่าอะไร”
สามเณรหลายคนพยายามทำท่าคิดแต่ก็ยังไม่รู้จะตอบอะไร
“เรียกว่า สรงน้ำ” เพื่อไม่ให้สามเณรเครียดเกินจำเป็นจึงตอบแทนให้ก่อนจะถามต่อไป
“แล้วพระนอนละใช้อะไร”
สามเณรน้อยรีบยกมือขึ้นก่อนจะลุกขึ้นตอบด้วยความมั่นใจเต็ม ๑๐๐
“หมอนครับ”
พระอาจารย์ถึงกับอมยิ้มก่อนจะถามใหม่ .
“ไม่ใช่ ที่พระอาจารย์ถามหมายถึงพระนอนใช้คำว่าอะไร”
“อ้อ...ครับ แล้วใช้คำว่าอะไรครับ”
“พระนอน เรียกว่า จำวัด”
“กลัวลืมหรือครับ” สามเณรน้อยเริ่มสงสัยกับการใช้คำพระ
...พระอาจารย์เลยต้องอธิบายอีกยาวเลยทีนี้...
“การ จะรู้จักหรือพูดคุยกับใครจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะรู้ว่าเขาใช้ภาษาอะไร และชอบพูดกันอย่างไร เพื่อพูดคุยและสอนเขาได้มากขึ้น” เป็นคำที่พระอาจารย์บอกสามเณรไม่ให้ดูถูกภาษา

จากหนังสือ ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม โดย: กิตติเมธี