

ดังเรื่อง พระเจ้าสัตตุตาปนะ เป็นหนึ่งในพระชาติที่ดำริไว้ในใจ ของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ตระกูลกษัตริย์ ที่นครสิริมดี ทรงพระนามว่า พระเจ้าสัตตุตาปนะ ทรงมีพระราชสมบัติเพียบพร้อม แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารที่จงรักภักดี ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรม ประชาราษฎร์อยู่ร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า
พระเจ้าสัตตุตาปนะโปรดการประพาสคล้องช้างเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งทรงทราบข่าวเรื่องมีช้างเผือก จึงเสด็จไปคล้องได้มาโดยไม่ยาก โปรดให้นำมาขึ้นระวางเป็นช้างมงคลคชสาร ทรงมีรับสั่งให้นายหัตถาจารย์(ควาญช้างผู้เชี่ยวชาญตำราคชเวท) ฝึกหัดให้ช้างเชื่อง ชำนาญพิธีใช้งานได้อย่างดีภายใน 7 วัน
พอวันที่ 8 พระองค์ทรงประทับบนหลังช้างมงคลคชสารเสด็จชมเมืองจนถึงเวลาเย็น ทรงสดับข่าวว่า ในราตรีก่อนมีช้างป่าโขลงใหญ่บุกเข้าทำลายอุทยานพังยังเยิน จึงทรงช้างไปทอดพระเนตร
ทันทีที่เข้าเขตพระราชอุทยาน ช้างมงคลคชสารของพระองค์ซึ่งเยื่องย่างเป็นสง่าอย่างดีก็พลันมีอาการเปลี่ยนแปรไป สลัดนายหัตถาจารย์ตกลง แล้วตั้งหน้าวิ่งเตลิดเข้าป่า แม้พระราชาจะทรงลงทัณฑ์โดยพระขอคมกริบเพื่อบังคับ ช้างทรงก็ไม่เกรงกลัว ยังคงวิ่งตะลุยฝ่าดงไม้ไม่คิดชีวิต
พระเจ้าสัตตุตาปนะ ทรงเห็นว่าพระองค์อาจถูกกิ่งไม้ทำอันตรายถึงแก่พระชนม์ชีพจึงทรงคว้ากิ่งมะเดื่อ โหนพระวรกายขึ้นประทับอยู่บนกิ่งไม้พ้นอันตรายในครั้งกระนั้น จึงทรงพิโรธอย่างมาก
เมื่อทรงซักถามนายหัตถาจารย์ถึงสาเหตุ นายหัตถาจารย์กราบทูลว่า เป็นเพราะช้างมงคลคชสารได้กลิ่นนางช้างที่ถ่ายมูลไว้ที่ราวป่า ด้วยอำนาจมนต์(ราคะ)ดำกฤษณา จึงเกิดมัวเมาด้วยไฟราคะ ลืมสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความเจ็บปวดจากตะขอสับ เมื่อได้พบนางช้างและเสพสังวาสเสร็จกิจตามประสงค์แล้ว จะเชื่องและกลับมาอยู่ในอำนาจมนต์ตามเดิม
เหตุการณ์เป็นไปตามที่นายหัตถาจารย์กราบทูล ในวันถัดมาช้างมงคลคชสารก็กลับมา
นายหัตถาจารย์ทูลว่า"ขึ้นชื่อว่ามนต์ดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอเป็นร้อยเท่าพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าข้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือมนต์ดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์อย่างเหลือล้น ยิ่งกว่าความร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ
อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือมนต์ดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่ง เกินกว่าพิษแห่งจตุรพิธภุชงค์ คือ พิษแห่งพญานาคราชทั่งสี่ชาติสี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนี้พระองค์จึงมิสามารถหยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า !"
" แล้วไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจของตนเอง" พระราชาทรงถามขึ้นหลังจากที่ฟังนายหัตถาจารย์อธิบายเป็นเวลานาน
" การที่พญาคชสารกลับมาในครั้งนี้ ใช่ว่าจะมาโดยเจตนาก็หาไม่ แต่เป็นเพราะกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า !"
เมื่อทรงสดับดังนั้นแล้ว พระองค์จึงตรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์แสดงกำลังมนตรามหาโอสถให้ทรงทอดพระเนตร ส่วนนายหัตถาจารย์ก็ได้ให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทองเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้วจึงเอาคีมคีบออกจากเตา เรียกช้างมงคลคขสารเข้ามาแล้วร่ายมนต์ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า "ดูกรพญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ จงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้น ณ บัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด" ครั้นช้างมงคลคชสารได้ฟังคำสั่งบังคับ ก็ยื่นงวงออกมาจับเอาก้อนเหล็กที่ลุกเป็นไฟ แม้ว่าจะร้อนงวงเหลือหลายจนงวงไหม้เป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้ด้วยกลัวต่ออำนาจมนตราของนายหัตถาจารย์เป็นกำลัง
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นงวงช้างมงคลคชสารถูกเพลิงไหม้เช่นนั้น ก็ทรงสงสารเวทนาและเกรงช้างมงคลคชสารจะถึงแก่ความตาย จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์บอกให้ช้างมงคลคชสารทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสีย ทรงหวนคิดถึงอำนาจมนต์ดำกฤษณาของช้างมงคลคชสาร พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์ ทรงยิ่งสังเวชในใจหนักหนา จึงเปล่งสังเวชเวทีว่า "โอหนอ...น่าสมเพชหนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องขัดอยู่ด้วยมนต์ดำกฤษณา อันมีพิษพิลึกน่าสะพรึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีมหันตโทษมหาศาล เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกกิเลสราคะย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสารไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ เพราะราคะกิเลสนี้แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรัจฉาน สัตว์ทั้งหลายต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะมนต์ดำกฤษณานี้เป็นประการสำคัญ สัตว์ทั้งหลายที่เบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกันก็เพราะอำนาจมนต์ดำกฤษณา ทำให้ต้องระทมตรมทุกข์ถึงซึ่งความพินาศนานับประการ ไม่เว้นแม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา ภรรยาสามีที่รักเป็นหนักหนา ก็ยังต้องเบียดเบียนบีฑาฆ่ากันเพราะอำนาจดำนี้มานักต่อนัก มิใยถึงคนอื่นที่มิใช่ญาติเล่า ก็ยิ่งฆ่ากันเป็นมีอำนาจดำกฤษณานี้เป็นเหตุพื้นฐาน บางครายอมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทียอมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมอกุศลทำให้สิ้นสุข และเมื่อจิตใจเบือนจากกุศลย่อมไปสู่ทุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ ความโลภ โกรธ หลง จนต้องเจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่ เพียงเท่านี้ก็หาไม่ บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลทำให้คนเสื่อมจากฌานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ราคะกิเลสจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มหันตโทษให้เสวยทุกขเวทนา เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องมีความเศร้าหมองต่างๆ มากมาย"
เมื่อตรัสเช่นนั้นแล้ว ก็มอบรางวัลให้แก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วคำนึงในพระราชหฤทัยว่า "สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้จักพ้นจากอำนาจมนต์ดำกฤษณาอันเป็นทุกขภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด?" แล้วจึงเห็นแจ้งในพระราชหฤทัยว่า ธรรมทั้งหลายอื่นนอกจาก "พุทธกรณธรรม" แล้วก็ไม่เห็นว่าสิ่งอื่นจะเปลื้องตนให้พ้นจากวัฏสงสารได้ ดังนั้นพระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยงแท้ถือเอา "พระพุทธภูมิ" ปณิธานว่า "เราได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใด ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย" ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนาเฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนั้นแล้ว ก็ทรงสละราชสมบัติ ดำรงเพศเป็นพระดาบสบำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบสิ้นอายุขัยแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน และ
พระเจ้าสัตตุตาปนะ กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย คือ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ช้างมงคลคชสาร กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย คือ พระมหากัสสปเถระเจ้า
นายหัตถาจารย์ควานช้าง กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย จักได้ตรัสรู้เป็น พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผลจากชาตินี้นำไปสู่บุพกรรมระหว่างนายหัตถาจารย์และช้างมงคลคชสาร กล่าวคือ
ในพุทธกาลของพระสมณโคดม หลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะเถระเมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พำนักอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงขันธ์อยู่ถึง120ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน 1วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านแล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสอนภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาทแล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แสดงอิทธิปาฏิหาริยิ์และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทแล้ว อธิษฐานจิต ขอให้ภูเขาทั้ง 3ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ซึ่งในภูขาทั้ง 3ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำปฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย เพราะท่านทำความเพียรอย่างแรงกล้า ด้วยกำลังแห่งอนิมิตตเจโตสมาธิ ปธานสังขารอิทธิบาทภาวนา ส่วน ตา หู จมูก และ ฟัน ก็ยังสมบรูณ์อยู่อย่างอัศจรรย์
และเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์จักเสด็จไปที่ "ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต" อันเป็นที่บรรจุสรีระของพระมหากัสสปเถรเจ้า พร้อมสงฆ์หมู่ใหญ่ในยุคภัทรกัลป์สุดท้าย แล้วพระองค์จักทรงยื่นพระหัตถ์ ยกสรีระของพระมหากัสสปะนั้น ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์ขวา อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้ว(พระวรกายพระศรีอาริยเมตไตรย สูง 88ศอก ขณะที่สรีระของพระมหากัสสปเถระ ยาวราว 18ศอก) จะมีพุทธฏีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า "ดูกร..เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! เธอจงพากันมองดูซึ่งสรีระนี้ นี่คือผู้เป็นพี่ชายของตถาคต(สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีนามว่า "อชิตภิกษุ" เป็นภิกษุที่มีพรรษาน้อย ฉะนั้น พระองค์จึงเรียกพระมหากัสสปเถระเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า พี่ชายของตถาคต ในกาลครั้งนั้น) ซึ่งเป็นสาวกใหญ่ในศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามปรากฏว่า พระอริยกัสสปเถระ เป็นผู้ทรงคุณพิเศษโดยถือธุดงค์ได้สิ้นทั้ง 13 ประการ ตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน คือ
ถือบังสุกุลิกธุดงค์ เตจีวริกธุดงค์ บิณฑบาติกาธุดงค์ สัปปทานจาริกธุดงค์ เอกาสนิกธุดงค์ ปัตตบินฑิกธุดงค์ ขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์ อารัญญิกธุดงค์ รุกขมลิกธุดงค์ อัพโภกาสิกธุดงค์ โสสานิกธุดงค์ ยถาลันตติกธุดงค์ เนสัชชิกธุดงค์ ตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบเท่าถึงวันเข้าพระนิพพาน"
หลังสิ้นพุทธฎีกาแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของพระเถรเจ้า แล้วค่อยลามลุกไหม้ให้สิ้น ปราศจากเถ้าธุลีอยู่บนฝ่าพระหัตถ์ของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นอัศจรรย์
(เตโชธาตุ...จากเศษกรรมในวิบากที่...พระมหากัสสปะเกิดช้างมงคลคชสารได้ฟังคำสั่งบังคับ ก็ยื่นงวงออกมาจับเอาก้อนเหล็กที่ลุกเป็นไฟ แม้ว่าจะร้อนงวงเหลือหลายจนงวงไหม้เป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้ด้วยกลัวต่ออำนาจมนตราของนายหัตถาจารย์(ซึ่งก็คือพระศรีอาริยเมตไตรยในพระชาตินั้น)เป็นกำลัง...แต่ไฟธาตุก็หาได้ระคายพระหัตถ์ของผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมไม่

