คัดลอกมาบางส่วน
ความจริงแล้ว พระภิกษุเสพเมถุนกับสีกา, พระภิกษุที่มั่วสีกา, พระภิกษุที่ละเมิดธรรมวินัยเป็นอาจิณด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีบันทึกในพระไตรปิฎกด้วยซ้ำว่าบางรูปเสพเมถุนกับเดรัจฉาน, บางรูปเสพเมถุนแม้แต่กับแม่ตัวเอง, บางรูปเสพเมถุนกับซากศพ ฯลฯ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนเข้ามาบวชในบวรพุทธศาสนาไม่ได้เน้นหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหมด เรามีบวชเรียนตามประเพณี หลายคนที่บวชในประเทศไทย ก็พ่อแม่จับบวช บ้าง ไม่มีงานทำก็บวชบ้าง ฯลฯ เมื่อคนพวกนี้ บวชเข้าไปมากๆ ก็ทำให้สังฆมณฑลมัวหมอง
กระนั้นก็ดี เราต้องยอมรับว่าสังฆมณฑลนั้นส่วนมากยังบริสุทธ์อยู่ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังน่าเคารพสักการะอยู่ คนเป็นพุทธมามกะแท้จริงต้องเข้าใจประเด็นนี้ อีกอย่างหนึ่ง พุทธบริษัทควรต้องตระหนักว่าพระสงฆ์หรือสมมติสงฆ์นั้นเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่ชาวพุทธกราบไว้อยู่ทุกวัน คนเป็นพุทธมามกะที่มีหิริโอตตัปปะอย่างแท้จริง จะไม่ลบหลู่หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อพระรัตนตรัยเด็ดขาด เพราะพระรัตนตรัยคือที่พึ่งที่ระลึกถึงของชาวพุทธ นายอนุพงษ์ จันทรก็คงไม่ปฏิเสธว่าตนเองรู้เรื่องพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้ก็เพราะความสามารถของพระสงฆ์ที่เป็นสมมติสงฆ์ได้ช่วยกันเผยแผ่สั่งสอนมา คุณูปการที่พระสงฆ์ได้ทำต่อชาวโลกนั้นมากมายเหนือคณานับ สามารถที่จิตรกรหรือศิลปินจะรังสรรค์งานให้โลกเห็นได้มากมายหลายแง่มุม นอกจากวัด เป็นสถานที่อบรมบ่มนิสัยแล้ว ยังสร้างโรงเรียน ยังปลูกฝังจริยธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยขึ้นปกหนังสือพิมพ์นัก แต่ถ้ามีข่าวพระภิกษุมีเรื่องเสื่อมเสียก็มักจะขึ้นปกเสมอ ทำให้ประชาชนเห็นภาพด้านลบต่อสงฆ์มากกว่าด้านดีการไปจับประเด็นภิกษุละเมิดพระวินัยมาทำเป็น ภิกษุสันดานกา ในทรรศนะผมเท่ากับไปเอาประเด็นเล็กๆ มาทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าคนเห็นภาพนายอนุพงษ์แล้วรู้สึกว่าสังคมสงฆ์ไทยมีแต่เรื่องฉาวโฉ่และลดศรัทธาที่มีต่อพระ สังฆรัตนะเพราะรู้สึกเบื่อ ก็จะเป็นบาปมหันต์ของนายอนุพงษ์ผู้ผลิตเอง เพราะศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นได้ผลักคนออกนอกพระพุทธศาสนาไป
ประเด็นที่เราพึงถกก็คือความจริงทุกเรื่องควรสะท้อนออกมาในรูปศิลปะหรือไม่? ศิลปินจำเป็นต้องผลิตศิลปะเพื่อถ่ายทอดทุกเรื่องที่จริงในสังคมกระนั้นหรือ? ศิลปินควรหลีกเลี่ยงผลิตศิลปะที่กระทบต่อความรู้สึกคนอื่นหมู่มาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาที่คนอื่นเขานับถือหรือไม่? ศิลปินควรหลีกเลี่ยงไม่ไปวาดรูปหรือผลิตศิลปะที่กระทบความเชื่อของคนหมู่มากหรือไม่?
ตรงนี้ ผมเชื่อว่าในโลกแห่งศิลปะเองก็ไม่มีการกล่าวถึงชัดเจนนัก ความควรไม่ควรกลายเป็นจิตสำนึกของศิลปินเองมากกว่า ถ้ามีใครเขียนภาพลบหลู่ศาสนาอิสลาม บทลงโทษก็คือคนผู้นั้นจะถูกประณามและอาจไม่มีแผ่นดินจะอยู่ แต่คนที่เขียนภาพลบหลู่พระพุทธศาสนา มักไม่มีบทลงโทษเป็นกฎหมายชัดเจนนัก เพราะส่วนใหญ่ในสังคมไทยนั้น มีแต่ประเภทชาวพุทธในนาม ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา แต่เราก็เห็นช่างภาพจำนวนมากใช้ความสามารถถ่ายภาพลามกอนาจาร (ซึ่งพวกเขาเองก็มักอ้างว่าเป็นงานศิลปะ) แล้ววางขายตามท้องตลาด, ผู้กำกับภาพยนตร์จำนวนมากหันไปสร้างหนังลามกอนาจาร (ซึ่งเขาก็อ้างกันว่าเพื่องานศิลปะเช่น เดียวกัน) หรือกระตุ้นราคะตัณหาเพื่อมอมเมาประชาชน, คนสร้างศิลปะประเภทอื่นๆ จำนวนมากกินเหล้าเที่ยวอาบ อบนวดอยู่ประจำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าศิลปินสมัยปัจจุบันที่ไม่เคารพในวัฒนธรรมพุทธเลย ละโมบโลภมาก เห็นแก่กระเพาะของตัวเอง ไม่เห็นแก่สังคม นับวันจะมากขึ้นทุกที
เมื่อพวกศิลปินสมัยทุนนิยมเสรีมีอิสระที่จะผลิตศิลปะอย่างไรก็ได้ตามความพึงพอใจ อยู่เรื่อยๆ ก็สมควรที่ชาวพุทธต้องประท้วง เพราะประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา คนเป็นพุทธมามกะ เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นพุทธ มีหิริโอตตัปปะเพียงพอ คงไม่มีใครนำเอาเรื่องราวพระสงฆ์ที่ปฏิบัติผิดธรรมผิดวินัยไปประจานหรอกครับ มีแต่จะลุกขึ้นมาหาทางช่วยกันแก้ไขตามหน้าที่ชาวพุทธแท้ แต่ก็นั่นแหละครับ สมัยทุกวันนี้ คนเป็นพุทธแต่ในนาม แต่หากินโดยวิถีผิดหลักศีลธรรม เช่น เปิดผับ บาร์ ผลิตเหล้าและขายเหล้า เป็นเจ้าของอาบ อบ นวด ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ผมจึงสนับสนุนให้ชาวพุทธได้ประท้วงกันอย่างเต็มที่
เหมือนกรณีที่ดาราไฮโซถ่ายนู๊ดหวังช่วยเหลือเอดส์เข้ากองทุนอาทรประชานาถ ของพระอาจารย์อลงกต ติกฺขปญฺโญ วัดพระพุทธบาทน้ำพุ แต่โดนท่านปฏิเสธ เพราะเงินได้มาแบบวิธีผิดศีลธรรม ท่านทำถูกต้องที่ปฏิเสธเงินบริจาคจากดาราพวกนี้ เพราะถ้ารับเงินก็เท่ากับยอมรับศิลปะที่ผิดศีลธรรมโดยอัติโนมัติ อย่างน้อย ก็กระตุ้นต่อมจิตสำนึกให้คนพวกนี้เข้าใจว่าไม่ใช่ชาวพุทธทุกคน ที่ตกเป็นขี้ข้าวัฒนธรรมทุนนิยมเสรีแบบฝรั่งโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมของพระพุทธศาสนา
ผมดีใจที่กลุ่มชาวพุทธประท้วงภาพสันดานกา ผมเห็นด้วยว่าภาพทำนองนี้ไม่ควรได้รับการส่งเสริมในแผ่นดินที่พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองอย่างในประเทศไทยเพราะผมถือว่าเป็นการลบหลู่พระรัตนตรัยที่ชาวพุทธทั้งปวงเคารพนับถือ ผมอยากให้ประท้วงจนถึงที่สุด ด้วยเหตุผลสองประการ 1.รัฐบาลไทยแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้มีนโยบายชัดเจนในการปกปักพิทักษ์พระพุทธศาสนา สส.ชาวพุทธส่วนใหญ่เล่นการเมืองเพื่อกระเพาะตัวเอง หรือเพื่อรักษาทรัพย์สินมรดกของตระกูลให้คงอยู่ มีน้อยรายจะดูแลเอาใจใส่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ถ้าพระสงฆ์ไม่ประท้วง ใครเล่าจะประท้วง 2.พระสงฆ์ที่ประพฤติผิดธรรมวินัยมีจำนวนน้อย ชาวพุทธแท้ควรมีหิริโอตตัปปะ ไม่ควรเอาเรื่องเสียๆ หายๆ ของสงฆ์มาประจาน ถ้าพระสงฆ์ในประเทศไทยพากันอยู่เฉยๆ ภาพทำนองเดียวกันนี้ก็จะเพิ่มมาอีกนับไม่ถ้วน
ด้วยเหตุนี้ ถ้าชาวพุทธไม่ร่วมกันประท้วงอย่างจริงจัง โอกาสที่จะรักษาเกียรติพระพุทธศาสนาไว้ในแผ่นดินไทยคงเป็นได้ยาก จะโดนชาวพุทธ(แต่ในนาม)ด้วยกันเขียนประจานอยู่เรื่อยๆ ถ้าเห็นพระภิกษุประพฤติย่อหย่อนหลักพระธรรมวินัย หน้าที่ของชาวพุทธที่ถูกต้องก็คือเราต้องช่วยกันท้วงติงเพื่อปรับปรุงแก้ไขอย่างถูกวิธีเท่าที่กำลังความสามารถจะพึงมี ไม่ใช่ฉวยโอกาสนำไปตีแผ่ในทำนองประจานให้เกิดความเสื่อมเสีย
ศิลปินที่สร้างวัดสร้างพระพุทธรูปเป็นพุทธบูชาอย่างอภัย นาคคง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอีกหลายท่านที่ผมไม่อาจระบุได้หมดต่างหากที่ควรได้รับรางวัลเกียรติยศเพื่อยกย่องเชิดชูให้เป็นที่ปรากฏ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ศิลปินอื่นๆ เจริญรอยตาม.

ปัจจุบัน อาจารย์ดร.ปฐมพงษ์ เป็นประธานคณะ กรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
เกียรติคุณ
- บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 12 ปี สอบได้เปรียญ ๙ ขณะเป็นสามเณร เมื่ออายุ 20 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
(เรียนบาลีทั้งหมด 8 ปีซึ่งเป็นสถิติที่เร็วที่สุดในหมู่ภิกษุสามเณรผู้เรียนบาลีทั่วประเทศในปัจจุบัน) ได้รับ
พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามภายใต้พระบรม
ราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงสนับสนุนทุนการศึกษาโดยตลอด
- รางวัลคะแนนดีเด่นสาขาสันสกฤตในนามนิสิตจุฬาฯ จากมูลนิธิคีตาศรมประเทศไทยระหว่างเป็นนิสิต
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- ทุนการศึกษาโบเดน (Boden scholarship) ระหว่างเป็นนักศึกษาปริญญาเอกเป็นเวลา 4 เทอมจาก
สถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
- ทุนจากอ๊อกซฟอร์ดเพื่อไปทำวิจัยทางอินเดียศึกษาเพิ่มเติมที่ภาควิชาสันสกฤตและอินเดียศึกษา
(Department of Sanskrit and Indian Studies) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
- ทุนจากอ๊อกซฟอร์ดเพื่อไปทำวิจัยทางอินเดียศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยปารีส (Sorbone & College
de France) และสถาบันตะวันออกไกลของฝรั่งเศส (L'Ecole francaise d'Extreme Orient) กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
