ไปที่เนื้อหา


tooyarihc

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 13 Aug 2013
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Oct 02 2013 05:04 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.2 Final

06 September 2013 - 09:34 AM

วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.2 Final

 

 

     ความแตกต่างระหว่างรากฐานของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้เป็นเองสำคัญ มีคนอ้างบ่อยๆ ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์บ้าง การอ้างนั้นแม้จะเกิดจากความหวังดีและต้องการเชิดชูพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องระวังเช่นกัน ความรู้บางส่วนในพุทธศาสนาอาจพิสูจน์ตรวจสอบได้เหมือนความรู้ในวิทยาศาสตร์ เพราะต่างก็เป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อาจตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัสและเหตุผลเหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่จำเป็นว่าพุทธศาสนาจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ทุกอย่างเสมอไป รากฐานของสองระบบความรู้นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อสาวไปจนถึงที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์นั่นเองคือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อพุทธศาสนา หรือจะพูดได้อีกอย่างได้ว่า “วิทยาศาสตร์เองนั้นขัดแย้งต่อกฎธรรมชาติ!” เมื่อมีวิทยาศาสตร์ก็ต้องย่อมมีการวิจัยทดลอง จึงมีคำถามที่หน้าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยทดลองเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่

     จะเห็นได้ว่าการทดลองวิจัยบางอย่างในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง เช่น การผสมเทียม หรือการสร้างเด็กหลอดแก้ว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างมนุษย์คนใหม่ขึ้นมาลืมตาดูโลก แต่จากวิธีการสร้างที่ต้องสร้างตัวอ่อนขึ้นมาหลายๆตัว และเลือกไว้เพียงจำนวนที่ต้องการใช้ ขณะที่ตัวอ่อนที่เหลือจะต้องถูกกำจัดทิ้งไปในทางศาสนาแล้วถือว่าเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์หรือไม่ ตัวอ่อนถือว่าเป็นหนึ่งชีวิตหรือไม่ นิยามเกี่ยวกับ ชีวิตมนุษย์ ของแต่ละศาสนาคืออะไร มุมมองต่อเรื่องการเกิด การตาย การทำลายสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมนุษย์ของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร ในยุคหนึ่งความรู้และอำนาจได้ตั้งอยู่บนฐานของกระบวนการโลกทัศน์ที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของระบบจักรวาล แต่โคเปอร์นิคัส พบว่าไม่ใช่ เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ วกกลับของดาวเคราะห์ต่างๆได้ เขาพิสูจน์ว่าถ้าให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง จึงจะสามารถอธิบายได้ในเรื่องของการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ แต่ความรู้ใหม่ของเขา ได้เป็นอันตรายต่อศรัทธาและโครงสร้างอำนาจ ที่อิงอยู่กับความรู้เดิมอย่างรุนแรง โชคดีที่โคเปอร์นิคัสตายก่อน ผู้เห็นจริงตามโคเปอร์นิคัสคนหนึ่งคือ บรูโน ได้พยายามเผยแพร่ความคิดดังกล่าว ก็ได้ถูกศาลไต่สวนศรัทธาจับเผาทั้งเป็นเมื่อปี ค.ศ.๑๖๐๐ ส่วนอีกคนที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี โดนจับหลายครั้ง ถูกลงโทษจำขัง และห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ อีกตลอดชีวิต

     นี่คือการเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ตะวันตก ที่ต้องต่อสู้และแลกมาด้วยเลือดและชีวิต ของผู้คนจำนวนมากมาย เพื่อแลกกับอิสรภาพและเสรีภาพในการแสวงหาความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งระบบกดขี่ข่มเหงหมดพลังอำนาจลงไป วิทยาศาสตร์ที่ยืนอยู่ข้างความจริงก็ได้รับการยอมรับ ระยะเวลาที่ผ่านมาสามศตวรรษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตะวันตก ก็กลับกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจ แผ่ไปครอบงำวิถีชีวิตของคนทั่วโลก เวลานี้ ถ้าใครไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อวิธีการพัฒนาแบบทันสมัย กลายเป็นพวกนอกรีตหรือล้าสมัย หากยังมีจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์หลงเหลืออยู่บ้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ควรใช้วิธีการทางปัญญาควบคู่กันไปด้วย มีจิตใจวิทยาศาสตร์ เปิดกว้างมากขึ้นควบคู่ไปกับแนวทางวิทยาศาสตร์ด้วย

     การทดลองในห้องทดลองเมื่อผิดพลาด เรายังรื้อทิ้งแก้ใหม่ได้ แต่อาจจะมีผลกระทบกับชีวิตและของธรรมชาติในสรรพสิ่งบ้าง และมีชีวิตคนเป็นเดิมพันบ้าง วัฒนธรรมชุมชนเป็นเดิมพันบ้าง ระบบนิเวศเป็นเดิมพัน บ้าง เท่าที่คิดได้ชีวิตและธรรมชาติมีแค่มิติเดียวเท่านั้นหรือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณค่าของการเรียกร้องเอาธรรมชาติกลับคืนมา มันไม่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หรือวิทยาศาสตร์ที่เป็นอยู่ได้มอบกายมอบใจสวามิภักดิ์ให้กับเทคโนโลยีไปหมดแล้วก็เป็นได้

     ปัจจุบันนี้ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา มีหลายคนเห็นว่ามนุษย์กำลังทำตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง บ้างก็เป็นห่วงว่า ปัจจุบันมนุษย์เรายังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติดีนัก เรายังไม่รู้ว่าที่ธรรมชาติกำหนดให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ เช่น กำหนดให้คนสืบพันธุ์ด้วยวิธีอาศัยเพศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้คนสืบพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์หรือตัดเอาเนื้อหนังไปเพาะพันธุ์ เป็นต้น ธรรมชาติมีเหตุผลอย่างไร สติปัญญาของมนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความเร้นลับดังกล่าวนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่พยายามฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติวางไว้ให้อาจไม่ต่างจากพฤติกรรมของทารกที่ไม่รู้ว่าทำไมแม่จึงห้ามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็ฝ่าฝืนคำสั่งนั้นจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน นี่คือส่วนหนึ่งของความวิตกที่คนส่วนหนึ่งในโลกมีต่อทิศทางของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ในอีกแง่หนึ่งของวิทยาศาสตร์ จากอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ดังนั้นวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุกยุคทุกสมัยต่างก็พยายามหาหนทางในการที่จะกำจัดโรคร้ายเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาคิดค้นยารักษาโรคตลอดจนการรักษาด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ก็ด้วยเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน เราห้ามนักวิทยาศาสตร์ไม่ให้ค้นคว้าไม่ได้เพราะวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์บริสุทธิ์ ไม่ดีและไม่เลว คนที่ใช้วิทยาศาสตร์ต่างหากที่จะทำให้โลกพินาศหรือเจริญรุ่งเรือง และวิทยาศาสตร์เอง ก็ไม่มีหน้าที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักควบคุมตนเอง นั่นจึงเป็นหน้าที่ของศาสนา วิทยาศาสตร์มีหน้าที่เพียงค้นคว้าหากฎเกณฑ์ในธรรมชาติเท่านั้น ท่าทีของวิทยาศาสตร์ที่แสดงมาทั้งหมดนี้นับว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับท่าทีของทางศาสนา เคยมีคนกล่าวอย่างสรุปท่าทีระหว่าง วิทยาศาสตร์กับศาสนาไว้ว่า

 


“วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเปรียบได้กับคนแขนขาพิการ ส่วนศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบได้กับคนตาบอด”

( Science without religion is lame, religion without science is blind )

 

     ไอน์สไตน์เคยกล่าวข้อความสั้นๆนี้ คิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่กะทัดรัดที่สุดสำหรับปัญหาว่าศาสนาควรวางตัวอย่างไรต่อวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็ควรจะวางตัวอย่างไรด้วยเช่นกันต่อศาสนา

     หากลองพิจารณาคิดกันสักนิดว่า ลำพังเพียงวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่อาจสร้างปัญหาให้กับโลกได้เลยตัวการของปัญหา คือ “มนุษย์เรานี่เอง” หาใช่อะไรที่ไหนไม่ เราก็คงไม่ประณามวิทยาศาสตร์ว่าเป็นตัวก่อปัญหาคนเรานั้น พุทธศาสนาเชื่อว่าต้องพัฒนาสองสิ่งในตัวพร้อมๆกัน คือ “ปัญญา กับ คุณธรรม” เท่าที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์ที่สร้างปัญหาคือวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีคุณธรรมกำกับ หากวิทยาศาสตร์เดินเคียงคู่ไปกับคุณธรรมด้วยแล้ววิทยาศาสตร์จะกลายเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์อย่างอเนกอนันต์เลยทีเดียว

     เนื้อหาหลักของพุทธศาสนานั้นเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอันเป็นอมตะของมนุษย์ ธรรมชาติที่ว่านี้จะคงอยู่ในตัวมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะมีพัฒนาการทางความรู้ไปมากมายเพียงใด คนในยุคหินเคยมีความโลภ โกรธ หลง อย่างไร คนในยุคเทคโนโลยีนี้ก็มีความโลภ โกรธ หลง อย่างนั้นด้วยเช่นกัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติภายในอันเป็นที่มาของปัญหาชีวิตและสังคม หากเราคิดว่า มีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องได้รับการขัดเกลาธรรมชาติภายในเหล่านี้ ตราบนั้นพุทธศาสนาก็ยังจะมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษยชาติอยู่ตลอดไป

     เมื่อมองจากแง่นี้แล้ว ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาจะไม่มีทางได้รับผลกระทบจากวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ศึกษาในขอบเขตหนึ่ง ส่วนพุทธศาสนาก็ศึกษาในอีกขอบเขตหนึ่ง วิทยาศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับ “วัตถุ” (ภายนอก) ส่วนพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “จิตใจ” (ภายใน) คนที่เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถหักล้างความเชื่อในศาสนา คือ คนที่ไม่เข้าใจสาระที่แท้ของวิทยาศาสตร์และศาสนา และก็เช่นเดียวกัน คนที่เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถใช้สนับสนุนความน่าเชื่อถือของศาสนาก็ คือ คนที่ไม่เข้าใจสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์และศาสนาด้วยเช่นเดี่ยวกัน

     ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงกำใบไม้แห้งที่ร่วมอยู่ตามพื้นดินขึ้นมากำหนึ่ง แล้วถามพระภิกษุที่แวดล้อมอยู่ว่า ใบไม้ในพระหัตถ์กับใบไม้ทั้งป่าที่ไหนมากกว่ากัน พระสาวกทั้งหลายก็ตอบว่าในป่ามากกว่าอย่างไม่อาจเทียบกันได้ในพระหัตถ์ พระพุทธองค์ก็ตรัสสืบไปว่า ใบไม้ในพระหัตถ์นั้นเปรียบได้กับหลักธรรมที่ทรงนำมาสอนพุทธบริษัท ส่วนใบไม้ที่อยู่ในป่าทั้งหมดเปรียบได้กับสิ่งที่ทรงรู้แต่ไม่นำมาสอน

 

 

 

ขอขอบคุณที่ติดตามรับชม

 

ที่มา http://bigbanginmymi...-post_9311.html


วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.1

04 September 2013 - 01:47 PM

วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.1

 

 

     ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ศาสนา” (Religion) เป็นสิ่งหนึ่งที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์เราตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตามที่มีอยู่ในโลกนี้ต่างก็พร่ำสอนให้คนเป็นคนดี ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรมกันทั้งนั้นอาจจะมีส่วนน้อยที่แบ่งแยกตนออกไปเป็นลัทธิ มีความเชื่อผิดแผกไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็เน้นให้คนเห็นความสำคัญของการดำรงตนเป็นคนดีของทุกคนและสังคม แต่ในภาวะปัจจุบันที่โลกมีแต่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ล้ำหน้าเสียจนคนก้าวตามแทบไม่ทัน นำความเปลี่ยนแปลงหลากหลายประการมาสู่ชีวิตมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถล่วงรู้ว่า “ยีน” (Gene) หรือหน่วยพันธุกรรมเป็นหัวใจหลักของการควบคุมการแสดงออกของลักษณะต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ และมนุษย์ ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของยีนได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสังเคราะห์ชิ้นส่วนยีนรวมถึงถ่ายฝากยีนของสิ่งมีชีวิตหนึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “พันธุวิศวกรรม” (Genetic Engineering) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำการเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่ง ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มในสร้างสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ที่มียีนลูกผสมแบบใหม่ ในคุณลักษณะแบบใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในธรรมชาติมาก่อน ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ให้ดีกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สนองความต้องการของมนุษย์ในด้านการอุปโภคและบริโภคที่สูงขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านทานโรคและแมลง การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพผลผลิตดี การพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนที่ไม่เคยทำได้ในยุคก่อนหน้านี้

 

     ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้มาใช้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ผลผลิตจะมีพิษภัยต่อสุขภาพคนและสัตว์หรือไม่ ยีนเหล่านี้จะมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นยีนก่อโรคหรือไม่ ยีนเหล่านี้จะมีโอกาสหลุดรอดออกไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นได้หรือไม่ ฯลฯ เพราะฉะนั้นความเชื่อทางศาสนาจึงก้าวมามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มุมมองผลกระทบทางเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยแสดงถึงมิติแห่งการรับรู้ และกำหนดขอบเขตการยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของสังคม เพราะความเชื่อทางศาสนานั้นมักเป็นความเชื่อที่อยู่บนรากฐานของการยอมรับในกฎแห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่เกี่ยวกับมนุษย์

 

     ความรู้ในทางศาสนาแม้จะมีรากฐานอันเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ตั้งอยู่บนความเชื่อแบบ มนุษย์นิยมเหมือนกัน แต่ท่าทีที่ศาสนามีต่อธรรมชาติแตกต่างจากท่าทีของวิทยาศาสตร์ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะไม่ประกาศท่าทีของเขาต่อธรรมชาติอย่างแจ้งชัด แต่จากลักษณะการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ เราก็พอมองเห็นได้ว่าคนเหล่านี้คิดเช่นไรต่อสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์บางแขนง เช่น ชีววิทยา สัตว์จำนวนหนึ่งจะถูกนำมาทรมานให้เจ็บปวด เคยมีคนเขียนหนังสือบรรยายสภาพของสัตว์ที่ถูกนำมาทดลองว่าน่าสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง สัตว์เหล่านี้บ้างก็พิกลพิการ บ้างอยู่ในภาวะหวาดผวาจนเสียสติ บ้างก็ล้มตายลงด้วยโรคร้ายอันเกิดจากสารเคมีที่นักวิทยาศาสตร์ฉีดเข้าไปในร่างกายของมัน ที่นักวิทยาศาสตร์ทำเช่นนั้นอาจมีเหตุผลเพื่อความผาสุกของมนุษยชาติโดยส่วนรวม การทดลองเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อค้นหาสิ่งมาอำนวยความสะดวกสบายและการมีสุขภาพที่ยืนยาวสำหรับมนุษย์ ในที่นี้เราจะไม่อภิปรายกันว่าจุดประสงค์ดังกล่าวนี้มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่จะลบล้างบาปกรรมที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้เหล่านั้น ประเด็นที่เราจะพิจารณากันก็คือ การที่คนเราสามารถทำทารุณกรรมต่อสัตว์ตาดำๆ เหล่านั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ที่ทำการทดลองบนความเจ็บปวดทรมานของสัตว์พวกนั้นคิดว่าตนเอง คือ “นายของธรรมชาติ” เมื่อเป็นนายย่อมไม่แปลกที่เราจะทำอะไรก็ได้กับสิ่งที่เราครอบครองเป็นเจ้าของนั้น ความคิดที่ว่าคนคือนายของธรรมชาตินี่เอง ที่ผลักดันให้วิทยาศาสตร์ก้าวล้ำเข้าไปในอาณาเขตที่น่าวิตก ปัจจุบันวิชาชีววิทยาก้าวหน้าไปมาก มนุษย์สามารถควบคุมให้พืชหรือสัตว์เจริญเติบโตไปในทิศทางและรูปแบบที่ตนต้องการ มีคนคิดผสมพันธุ์แปลกๆ แปลกถึงขนาดมีการคิดผสมพันธุ์พืชและสัตว์เข้าด้วยกัน และด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่าตนคือนายของธรรมชาตินี่เองที่ก่อให้เกิดโครงการที่น่าเกรงกลัวอย่างยิ่ง เช่น โครงการเพาะพันธุ์มนุษย์แบบไม่อาศัยเพศ หรือที่เรียกว่า “โครนนิ่ง” เป็นต้น

 

     เป็นที่ทราบกันดีว่า การสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ (sexual reproduction) อันเป็นวิธีการแบบธรรมชาติที่คนเรากระทำกันอยู่นี้ไม่สามารถคงคุณสมบัติบางประการที่เราต้องการไว้ได้ อัจฉริยะอย่างเช่นไอน์สไตน์เมื่อมีลูกก็ไม่จำเป็นว่าลูกของเขาจะเป็นอัจฉริยะด้วย นักวิทยาศาสตร์ใฝ่ฝันมานานว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถถ่ายทอดคุณสมบัติที่หาได้ยากของพ่อแม่ไปสู่ลูก หากเราค้นพบวิธีถ่ายทอดคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อัจฉริยะบุคคลทั้งหลายจะมีชีวิตเป็นอมตะ

 

     ความรู้ในโลกนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่งรู้แล้วเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ส่วนอีกประเภทหนึ่งรู้แล้วไม่เป็นประโยชน์ ความรู้ที่พุทธศาสนาเลือกนำมาสอนนี้ คือ ความรู้ประเภทแรกเท่านั้น ส่วนประเภทที่สองแม้จะรู้ก็ไม่นำมาสอนและหากจะเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่า ความรู้ที่เป็นประโยชน์นั้นมีน้อยมากความรู้ส่วนใหญ่ไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ความเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์วัดจากอะไร คำตอบคือ ความรู้ใดไม่ส่งเสริมให้เราเข้าถึง “บิ๊กแบงภายในใจ” (ผู้เขียนเปรียบเทียบขึ้นมาเอง) นิพพาน หรือ ความสิ้นทุกข์ ความรู้นั้นถือว่าไม่เป็นประโยชน์ในแนวพุทธศาสนา

 

     ดังนั้นในขณะที่เรากำลังชื่นชมวิทยาศาสตร์ว่ามีคุณอเนกอนันต์ เราต้องไม่ลืมว่าในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็มีโทษมหันต์ด้วย และก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรากำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิทยาศาสตร์ คือ ต้นตอของปัญหาที่กำลังคุกคามสันติภาพในโลกคุกคามความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้โลกเสียสมดุล ทำให้คนมีจิตใจเป็นเครื่องจักร ทำให้สะดวกสบายจน หลงใหลในสิ่งฉาบฉวยมากกว่าแก่นของชีวิตเป็นต้น เราต้องไม่ลืมว่าวิทยาศาสตร์ ก็มีคุณูปการอันไม่อาจประมาณได้แก่มนุษย์ด้วยเช่นกัน

 

     วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่อง “สสารนิยม” เรื่องที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส ดังนั้นรากฐานทางอภิปรัชญาของวิชาวิทยาศาสตร์จึงได้แก่ แนวคิดแบบ สสารนิยม เนื้อหาของวิชาวิทยาศาสตร์ทุกสาขาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสสารเท่านั้น ไม่มีเนื้อหาของวิทยาศาสตร์ส่วนใดหรือสาขาใดที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ใช่สสาร จริงอยู่ที่บางครั้งวิทยาศาสตร์อาจกล่าวถึงสิ่งเร้นลับที่วิทยาศาสตร์เองไม่สามารถอธิบายได้ว่ามาจากไหนในเบื้องสุด เช่น สนามแม่เหล็ก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อิเล็กตรอน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่ามีฐานะเป็นสสาร หรือไม่ก็เป็นการแสดงตัวของสสาร นักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น นิวตัน เชื่อในสิ่งเร้นลับที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น พระเจ้า , จิต , วิญญาณ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์อาจมีความเชื่อส่วนตัวอย่างไรก็ได้ เพราะเขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาท่ามกลางผู้คนและขนบธรรมเนียมประเพณี นิวตันเกิดมาในสังคมที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน นิวตันไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวที่เชื่อในพระเจ้า เขายังเป็นมนุษย์ที่สามารถถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดทางศาสนา การเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิวตันจะเชื่อเรื่อง พระเจ้า แต่เมื่อนิวตันจะเสนอแนวคิดใดก็ตามในทางวิทยาศาสตร์เขาต้องพักความเชื่อส่วนตัวไว้ก่อน วิชาวิทยาศาสตร์ไม่อนุญาตให้เราใส่เรื่องที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัสลงในเนื้อหาของวิชาวิทยาศาสตร์ ดังนั้นแม้ว่านิวตันจะเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เขาจะเอาเรื่องนี้มาปนลงในวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่นิวตันเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ออกมาก แนวคิดนั้นจะกลายเป็นของสาธารณะ และ มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์ รากฐานทางอภิปรัชญาของวิทยาศาสตร์คือแนวคิดแบบสสารนิยม ดังนั้นใครก็ตามหากต้องการเสนอความคิดทางวิทยาศาสตร์ออกมาเขาต้องเสนอในกรอบแนวคิดแบบสสารนิยมนี้เท่านั้น

 

     ส่วนพุทธศาสนาเป็นที่ทราบกันดีว่ามีรากฐานทางอภิปรัชญาแบบ “จิตนิยม” พุทธศาสนาเชื่อว่าภายในจักรวาลนี้ นอกจากวัตถุยังมีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่วัตถุรวมอยู่ด้วยแนวคิดแบบจิตนิยมของพุทธศาสนาอาจดูได้ง่ายๆ จากหลักคำสอนที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” พุทธศาสนาเชื่อว่าคนเราประกอบด้วย กาย (รูป) หนึ่ง กับอีกสี่อย่าง คือ ความรู้สึก (เวทนา) การจำ(สัญญา) การคิด(สังขาร) และการรู้ (วิญญาณ) สี่ขันธ์หลังนี้ไม่ใช่สสาร หากแต่เป็นนามธรรม ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่บทต้นๆแล้วมา ดังนั้นในทัศนะของพุทธศาสนา การที่คนเราคิดได้ มีอารมณ์ความรู้สึก มีจินตนาการ มีความรัก ความเกลียด ความโกรธ เป็นต้น ก็เพราะเรามีจิตซึ่งแยกต่างหากจากกาย คนไม่ใช่กลุ่มก้อนของสสารอย่างที่ลัทธิสสารนิยมเชื่อกัน

 

 

ติดตามต่อได้ในตอนถัดไป..

 

ที่มา http://bigbanginmymi...-post_9311.html


วิทยาศาสตร์ทางจิต (SCIENCE OF CONSCIOUSNESS)

03 September 2013 - 01:29 PM

วิทยาศาสตร์ทางจิต
(SCIENCE OF CONSCIOUSNESS)
 

 

     เรื่องราวเกี่ยวกับสมาธิที่เกิด "อภิญญาจิต" คือ ออกมาในรูปของอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ชาวโลกก็หันมาศึกษากัน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎบัติในชื่อวิชาว่า "วิชาปรจิตวิทยา"

 

 

 

วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่

     ปัจจุบัน...ด้านฟิสิกส์ใหม่ "ด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" กับ "แควนตัมอิเล็กตรอนไดนามิคส์" (QED) เป็นสองทฤษฎีที่สามารถนำมาใช้สร้างจักรวาลใหม่ แทนความเชื่อเก่าได้ทั้งหมด

 

     ส่วนอีกด้านหนึ่ง... เป็นด้านของวิทยาศาสตร์ทางจิต เป็นวิทยาศาสตร์ใหม่เช่นเดียวกัน และด้วย "ทฤษฎีสนามแควนตัม" (QUANTUM FIELD THEORY) กับ "ทฤษฎี อเทศะ - ไร้กาลเวลา" (NON-LOCAL SPACE AND TIME) และวิชา "ปรัชญาทางจิต" (PHILOSOPHY OF THE MIND) ทำให้นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่สามารถสัมผัสมิติแห่งจิตวิญญาณได้ !

 

     แม้กระทั้ง... เรื่องราวเกี่ยวกับสมาธิที่ทำให้เกิด "อภิญญาจิต" คือ ออกมาในรูปของอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ชาวโลกก็หันมาศึกษาเล่าเรียนกันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ ในชื่อวิชาว่า "วิชาปรจิตวิทยา" (PARAPSYCHOLOGY) นั่นเอง ซึ่งมีบางส่วนคล้ายคลึงเรื่องของอภิญญาในพระพุทธศาสนา

 

 

ปรากฎการณ์ทางปรจิตวิทยา

     ปรากฎการณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรจิตวิทยา เช่น
     ...การเข้าฌาณ หรือ การทำสมาธิ
     ...การทำนายเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
     ...การอ่านจิตใจของผู้อื่นหรือ โทรจิต หรือ การส่งกระแสจิต
     ...การรักษาโรคด้วยพลังจิต หรือ พลังอันลึกลับ
     ...การใช้พลังจิต หรือ พลังอันลึกลับในระยะไกล บังคับให้วัตถุเคลื่อนที่ได้
     ...พลังแสงรังสีที่ห่อหุ้มอยู่รอบๆ พืช สัตว์ หรือ มนุษย์
     ...การมองเห็นภาพทางปลายนิ้วมือ หรือฝ่ามือ
     ...โหราศาสตร์
     ...การสะกดจิต
     ...การสำรวจแหล่งน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ใต้ธรณีด้วยพลังจิต
     ...การฝังเข็มตามความเชื่อเกี่ยวกับพลังงานชีวิต
     ...การค้นคว้าพลังงานลึกลับภายในร่างกายมนุษย์
     ...อี.เอส.พี หมายถึง การรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพิเศษ หรือ ประสาทสัมผัสที่ 6
     ...การใช้พลังลึกลับในการยกวัตถุ หรือ การทำให้ตัวลอย เป็นต้น

 

 

ปฎิวัติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ

     ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ได้มีการถกเถียงกันในทางวิชาการอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องระหว่าง "จิต" กับ "สมอง"
     ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเรื่องของจิตทั้งหมดเป็นผลผลิตของการทำงานของสมองทั้งสิ้น (EPIPHENOMENON)
     อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ารากฐานของจิตใจในทุกระดับมิติไม่ได้เป็นผลผลิตหรือมีที่มาจากสมอง "สมองเป็นเพียงทางผ่าน หรือ เป็นเพียงเครื่องมือ" เช่น โทรทัศน์ที่มีหน้าที่เพียงเป็นเครื่องรับรู้ข้อมูลเท่านั้น

     ทุกวันนี้... มีนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่รวมทั้งที่ได้รับ "รางวัลโนเบล" อยู่ในค่ายนี้ด้วยหลายคน เช่น เซอร์จอหน์ เอ็คเคิลส์ คาร์ลป็อบเปอร์ ไบรอันโจเซฟสัน เกร็กกอรี่ เบทสัน ฯลฯ และคนอื่นๆ ที่รวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าจำนวนคนของนักวิทยาศาสตร์ของอีกค่ายหนึ่ง

 

 

ความเชื่อเรื่องจิต
ที่เป็นผลผลิตของสมอง

     ฝ่ายนี้เชื่อว่า... เรื่องราวของจิตทั้งหมดรวมทั้งสติปัญญาของมนุษย์ล้วนได้มาจากสมอง มาจากวิวัฒนาการ "ที่เป็นเรื่องราวของความบังเอิญทั้งหมด"

 

     สมอง... ก็คือ "คอมพิวเตอร์ที่มีเลือดเนื้อแทนวัตถุ" (STRONG AL) หรือ อย่างน้อยบทบาทของสมองก็สามารถอธิบายได้ "ด้วยหลักการของเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด" (WEAK AL) ยิ่งความรู้ทางด้านประสาทวิทยาบทบาทของสมอง และระบบประสาทก้าวหน้าไปเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายนี้เชื่อมั่นขึ้นเรื่อยๆ ว่า "สมองก็คือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล" แน่นอน

 

 

ความเชื่อเรื่องจิต
ที่ไม่เป็นผลผลิตของสมอง

     ฝ่ายนี้เชื่อว่า...จิตของมนุษย์มิใช่ผลผลิตของสมอง
     สมอง...มิใช่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่มีโปรแกรมมีฮาร์แวร์ที่ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนที่แปลกแยกหลากหลาย และมีลักษณะและหน้าที่เฉพาะตัวจิตมิใช่เป็นผลผลิตของกระบวนการทำงานเหล่านี้
"ที่ต้องอาศัยแรงหรือพลังงานจากภายนอก เข้ามากระทำต่อชิ้นส่วนต่อเซลล์สมอง" เช่นเดียวกับที่ "กระแสไฟฟ้า" เข้ามาบริหารอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่แตกต่างกันด้วยกลไกหรือวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ อันเป็นเรื่องของฟิสิกส์และสารเคมีล้วนๆ

แต่จิตสามารถสะท้อนสิ่งที่รู้และสิ่งที่คิดได้นั้นกลับไปกลับมา "จนทำให้จิตสามารถวิวัฒนาการความรู้สึก และความรู้ได้ด้วยตนเองให้ก้าวหน้าต่อไป" เช่น ความรักความเมตตาอันดื่มด่ำลึกล้ำ อย่างที่ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาพูดได้ หรือตัวอย่างของวิวัฒนาการในด้านปัญญาความรู้ ที่อาจเป็นความรู้ที่สูงล้ำลึกซึ้งยิ่ง "จนทะลุผ่านเหตุผลตัวตน...เป็นญาณทัศนะ...เป็นความรู้แจ้ง" ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยตรรกะหรือภาษาใดๆแม้ด้วยตรรกะแห่งภาษา ที่เรียกว่า คณิตศาสตร์

 

     เมื่ออยู่นอกเหนือตรรกะและเหตุผล "เมื่อไม่สามารถอาศัยตรรกะคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์จึงทำเช่นจิตของมนุษย์ไม่ได้" แต่คอมพิวเตอร์ทำได้ก็เพียงแค่ "เรื่องของการเก็บความจำ...การระลึกความจำ...แนะนำข้อมูลที่เก็บที่จำเหล่านั้นมาวิเคราะห์...ด้วยตรรกะการคำนวนเท่านั้น"

 

     คอมพิวเตอร์รู้สึกไม่ได้ แม้เป็นเพียงสัญชาตญาณการสนองตอบง่ายๆ เช่น การหนี การต่อสู้ ความรู้สึกผูกพัน ความห่วงใย ความรัก ความกลัว ความปีติ เป็นต้น

 

     ทั้งหมดที่กล่าวมานี้... คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ "คอมพิวเตอร์เป็นตัวรู้ดั่งจิตเป็นไม่ได้" ที่คอมพิวเตอร์จะทำได้บ้าง ก็เมื่อสิ่งที่ต้องการรู้นั้นต้องเป็นสิ่งที่มันเคยรู้ "ที่มีโปรแกรมกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าด้วยโปรแกรมที่จิตของมนุษย์สร้างขึ้น"

 

 

คอมพิวเตอร์มิได้เป็นเช่นขันธ์ 5

     ขันธ์5... ได้แก่ขันธ์ที่เป็น รูป (รูป) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความนึกคิดปรุงแต่ง) วิญญาณ (ความรู้)

     ในขันธ์5... คอมพิวเตอร์อาจเป็นได้เพียงแค่รูปขันธ์ สัญญาขันธ์หรืออาจเป็น "เพียงบางส่วนของสังขารขันธ์" แต่ไม่สามารถเป็นในส่นของ "การคิดการรู้ที่ได้จากการสะท้อนความคิดจากภายในซึ่งอยู่เหนือเหตุผล" และไม่สามารถเป็นส่วนของสังขารขันธ์ ที่เป็นเรื่องของวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณที่กล่าวมาแล้ว

     และแน่นอนที่สุด... คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเป็น "เวทนาขันธ์" และ "วิญญาณขันธ์" ที่เป็นตัวรู้ดังเช่นมนุษย์ !

 

 

วิทยาศาสตร์ทางจิตแห่งยุคใหม่

     นำโดยฟิสิกส์ใหม่ และจิตวิทยาใหม่ "ได้เชื่อมโลกแห่งจิตที่ละเอียดกับโลกที่หยาบ" เข้าด้วยกัน เป็นการ "ปฎิวัติความรู้และวิธีคิดของมนุษย์ชาติ"
     ...สู่มิติใหม่
     ...สู่การปฎิวัติทางสังคม
     ...สู่การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ชาติ

     วิทยาศาสตร์ทางจิตแห่งยุคใหม่ เป็นหนึ่งในกระบวนการความรู้ใหม่ "เป็นเรื่องเร้นลับทางจิตที่เหนือธรรมชาติ" หรือไม่ก็เป็น "เมตาฟิสิกส์แท้ๆ" ที่ก่อนหน้านี้เป็นชั่วเวลาเพียงสั้นๆไม่กี่ปีที่ไม่ยอมรับกัน แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

     หลังทศวรรษที่ 1990... เรื่องจิตไม่ว่าจะเป็นของธรรมจิตธรรมปัญญาที่ได้มาจากญาณทัศนะ (SPIRITUAITY AND WISDOM) สูงส่งด้วยปัญญาและความดีงาม "ซึ่งได้มาจากปฎิบัติสมาธิ" หรือว่าจะเป็นเรื่องราว "พลังจิต...พลังจักรวาล...และความสามารถพิเศษต่างๆ" เช่น เรื่องของการรับรู้เหตุการณ์นอกสถานที่หรือเวลา หรือเรื่องของพลังอำนาจของจิต ที่ก่อผลเหนือความเป็นไปได้ตามธรรมชาติ "ที่เคยถือกันว่าไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นความจริงหรือ เป็นไปไม่ได้"

     แต่ทว่า ณ เวลานี้... เรื่องที่แปลกพิศดารเหล่านี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่มีการค้นคว้าวิจัยในวิทยาศาสตร์สายแท้สายตรงอย่างจริงจังมากมาย "ตามมหาวิทยาลัย หรือ ตามสถาบันวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียงระดับโลก" เช่น
     ...ที่สแตนด์ฟอร์ด
     ...ที่ปริ้นซ์ตัน
     ...ฮาร์วาร์ด ฯลฯ
     ...สภาวิจัยแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา
(NATIONAL RESEARCHCOUNCIL)
    
...องค์กรบริการการวิจัยของสภาคองเกรสประเทศสหรัฐอเมริกา (CONGRESIO -NALRESEARCH SERVICE CENTER)
     ...สถาบันวิจัยทางวิทยาศาตร์อเมริกันขององค์การซีไอเอ (AMERICAN INSTITUTES FOR RESEARCH) และองค์กรย่อยของกองทัพอีกหลายแห่งของอเมริกาฯ เป็นต้น

 

 

นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่
ยอมรับพลังจิตเหนือธรรมชาติ

     ก่อนหน้านี้กว่า 20 ปีมาแล้ว... คงไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใด ที่ไม่ล่วงรู้ความตรงไปตรงมา "แบบขวานผ่าซากของจอห์น วีลเลอร์" เขาเป็นผู้หนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่กล้ายื่นหน้าออกมาต่อต้านคัดค้าน "เรื่องจิตเหนือธรรมชาติปรจิตวิทยาทุกแขนง" อย่างโจ่งแจ้ง จนเป็นที่ครื้นเครงในวงการนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในระยะหลายปีนั้น

     บทความของจอห์น วิลเลอร์รุนแรงตรงไปตรงมา เช่น
     ... "พวกเราจงมาช่วยกันขับไล่ของเทียมของปลอมออกไป จากวงการวิทยาศาสตร์ให้หมด"
     ... "ที่ใดมีควัน ที่นั้นย่อมมีแต่ควัน"

    
     ในการประชุมใหญ่ของสมาคมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเเมริกา
(AAAS) เป็นสมาคมที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ในปี 1979 เมื่อจอห์น วีลเล่อร์ ทราบว่า จะมีการนำเสนอรายงานการเสนอวิจัย ทางปรจิตวิทยาของ เจ. บี. ไรน์ แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ดจากนอร์ธคาโรไลน่า (ต่อมาไรน์ได้ถูกขนานนามว่า บิดาของปรจิตวิทยา)

     จอห์น วีลเล่อร์ ได้เขียนหนังสือถึงนายกสมาคม ขอให้เอาเรื่องของไรน์ ที่เสนอในที่ประชุมในนั้นออกไป "ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับผลงานของวีลเล่อร์" เมื่อไม่สำเร็จในวันประชุมวันนั้นวีลเล่อร์ก็ได้ขึ้นไปพูดในที่ประชุมก่อนการเสนอรายงาน เจ. บี. ไรน์

 

     จอห์น วีลเล่อร์ได้โจมตีทั้งปรจิตวิทยา และ เจ. บี. ไรน์ เช่น
     ... "วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงย่อมให้ผลที่แน่นอนตายตัวไม่ว่าทำซ้ำกี่ร้อยครั้ง แต่การวิจัยทางปรจิตวิทยาไม่เคยให้ผลที่แน่นอนตายตัวแม้แต่ครั้งเดียว"
     ... "หากว่าจะส่งคนที่ดื้อรั้นมั่นใจตนเองเข้าคุกตอนนี้ ก็จะมีพื้นทางนิติศาสตร์เพียงพอที่สามารถส่งนักปรจิตวิทยาเข้าคุก" เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม เจ.บี.ไรน์ ไม่ได้โต้ตอบอะไร เมื่อถึงเวลาที่เขานำเสนอไรน์เพียงพูดทำนองว่า บางทีคนเรา "เพราะไม่น่าเชื่อหรือเพราะตั้งใจไม่ยอมรับอยู่ก่อนแล้ว เลยไม่สนใจติดตามและศึกษาผลงานทางปรจิตวิทยาจึงทำให้เกิดความไม่เข่าใจกัน"

 

     วันนั้น...จอห์น วีลเล่อร์ จำต้องนั่งฟังรายงานของ เจ.บี.ไรน์ เนื่องจากตนเองยังมีงานอภิปรายร่วม "ในทันทีเขารู้สึกสนใจในสิ่งที่เขาไม่เคยสนใจมาก่อน"

 

     หลังจากวันนั้น...จอห์น วีลเล่อร์ พยายามหางานของ เจ.บี.ไรน์ "มาศึกษาอย่างจริงจังเช่นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งหลายทำ" ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานจอห์น วิลเล่อร์ "ถึงกับเดินทางไปหา เจ.บี.ไรน์ ถึงบ้านเพื่อขอโทษและอย่างเป็นทางการ" คือ ทำให้เป็นข่าว

 

     ปัจจุบันนี้...เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "งานฟิสิกส์ของจอห์น วีลเล่อร์ได้หันมาข้องเกี่ยวกับ เรื่องทางจิตวิญญาณ ทางอภิปรัชญาอย่างลึกซึ้ง มันกลายเป็นสิ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง" (TIME-LIFE EDITORS; PSYCHICPOWER, 1985)

 

 

จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
กับงานวิจัยเรื่องคนถูกจับตัวโดยมนุษย์ต่างดาว

     จอห์น อี.แม็ค... เป็นจิตแพทย์ที่ทำวิจัยเรื่องคนถูกจับตัวโดยมนุษย์ต่างดาวร่วมร้อยรายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง แม็คสนับสนุนเรื่องที่เกิดเหล่านั้นว่า "อาจเป็นไปได้จริง" ขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกโจมตีอย่างหนักในระยะแรกเช่นเดียวกับเจ.บีไรน์ "จากผู้ไม่รู้และไม่เปิดโอกาสให้กับตนเองศึกษาก่อนที่จะโจมตีกล่าวหาผู้อื่น"
     หลังจากเขียนหนังสือได้รับรางวัล "พูลิตเชอร์"...
     เขาถูกนักวิทยาศาสตร์และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด "ที่ต่อต้านเรื่องจิตเหนือธรรมชาติ" โจมตีทางหน้าหนังสือพิมพ์อย่างหนัก เช่น วารสารไทม์ และโทรทัศน์อย่างอื้อฉาว จนกระทั้งมหาวิทยาลัยต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนในปี 1995

     สุดท้าย... กรรมการทุกคน "ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่างานวิจัยของเขาเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดเท่าที่จะทำได้และรอบที่สุดแล้ว" อธิการบดีเองยังทำหนังสืออย่างเป็นทางการและเป็นการส่วนตัวไปขอโทษด้วย

     ส่วนคนที่ต่อต้านบางคน... เมื่อเรื่องมันดังขึ้นมาเลยต้องติดตามศึกษางานของแม็คอย่างละเอียด "ในสิ่งที่ตนไม่เคยที่จะอ่านเลยแต่กลับต่อต้านอย่างหนัก" หลังจากนั้นหลายๆ คน "ก็เปลี่ยนใจแล้วหันมาเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติและการรับรู้ต่างมิติ" (JOHN MACK ; ABDUCTION 1994)


สมาธิมีผลต่อคลื่นสมองและจิตใจ

29 August 2013 - 01:29 PM

สมาธิ
มีผลต่อคลื่นสมองและจิตใจ

     เมื่อพูดถึงเรื่องปรากฎการณ์ทางจิต พลังจิต และความสามารถเหนือธรรมชาติ มักจะมีคำถามว่า "ปรากฎการณ์เหล่านี้จะเป็นความจริงในทางวิทยาศาสตร์กระนั้นหรือ" ปัจจุบัน... คำตอบคือ "ใช่"

วิทยาศาสตร์ทางจิต (SCIENCE OF CONSCIOUSNESS)
     ในรอบ 2 ทศวรรษนี้... นักวิทยาศาสตร์ทางจิตได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ "เกี่ยวกับคลื่นสมองของคนเรา" ที่สามารถวัดออกมาได้ค่าที่แตกต่างกันในสภาวะต่างๆ เช่น ในขณะที่นอนหลับ ตื่น หรือ จิตใจขณะที่สงบ ขณะที่วุ่นวาย หรือ ขณะที่มีสมาธิสูง เป็นต้น


จากผลการทดลองพบว่า
     1. คลื่นเบต้า (BETA WAVE)
     ... มีความถี่ 13-40 รอบ ต่อวินาที
     ... เป็นคลื่นสมอง ที่เกิดขึ้นใน
"สภาวะปกติจนถึงขณะวุ่นวายสับสน"
     ... ยิ่งความถี่สูงขึ้นเท่าไร จิตใจคนเราก็ยิ่งวุ่นวายสับสนเท่านั้น
     ... จิตใจที่วุ่นวายสับสนได้ง่าย
"ก็เนื่องมาจากมีอารมณ์ด้านลบในจิตมาก" เช่น ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความโลภ ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น ความรู้สึกหลงตนเอง ฯลฯ

    
2. คลื่นอัลฟา (ALPHA WAVE)
     ... มีความถี่ 8-13 รอบต่อวินาที
     ... เป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นใน
"สภาวะจิตใจสงบ เยือกเย็น สมดุล แต่มีความตื่นตัว" พร้อมที่จะทำกิจการใดๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
     ... มีพลังงานมากกว่าคลื่นเบต้า
     ... คลื่นอัลฟาทำให้คนเรามีอารมณ์ดี ร่าเริง เบิกบาน มีควาามคิดสร้างสรรค์สูง มีภูมิคุ้มกันในร่างกายสูง มีพลังความคิดด้านบวกสูง มีสมาธิสูง ฯลฯ
     ... สภาวะอัลฟาบางครั้งเราเคยเข้าสู่สภาวะนี้
"ซึ่งเป็นสภาวะที่เราทำภารกิจต่างๆได้ยอดเยี่ยมยิ่ง" เช่น เล่นกีฬาได้ดีเป็นพิเศษจนน่าประหลาดใจ นักกีฬาระดับโลกเรียกสภาวะนี้ว่า "IN THE ZONE"

     3. คลื่นคอสมิค (COSMIC WAVE)
     ... มีความถี่ 4 รอบต่อวินาทีจนถึงนิ่งเป็นเส้นตรง
     ... เป็นคลื่นแห่งความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่
     ... ความถี่ของคลื่นสมองที่ต่ำที่สุด
"แต่มีพลังงานสูงที่สุด" จะอยู่ระหว่าง "4 รอบต่อวินาทีจนถึงนิ่งเป็นเส้นตรง"
     ... ผู้ที่เขาถึงสภาวะนี้ "จะเกิดภาวะปีติสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่" (UNIVERSAL LOVE) ให้กับทุกสรรพสิ่งในจักรวาล
     ... คลื่นคอสมิคนี้
"จะพบในผู้ที่มีสมาธิจิตสูงมาก" !


สรุปผลที่เกิดขึ้น
ในสภาวะที่เกิดคลื่นสมองต่างๆ

     คนทั่วไปในเวลาปกติ... จะส่งคลื่นเบต้าออกมาซึ่งมีความถี่ประมาณ 21 รอบต่อวินาที เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา ตื่นเต้น ฯลฯ "คลื่นสมองจะมีความถี่สูงขึ้นทันที" ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้น "มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีความตึงเคลียดสูง มีสมาธิน้อยลง มีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำลง มีภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดลง" ฯลฯ
     ถ้าเราปล่อยให้คลื่นสมองของเรา... มีความถี่สูงเกินกว่า 21 รอบต่อวินาที
"มากๆ เป็นเวลานานๆ" เราจะอยู่ในสภาวะที่แพทย์ปัจจุบัน เรียกว่า "โรคเครียดและวิตกกังวล" ซึ่งเป็น "โรคร้ายอันดับ 1 ของโลก" ในปัจจุบันแพทย์ได้ยอมรับว่า สภาวะเครียดและวิตกกังวล "เป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆทั้งทางร่างกายและจิตใจ" อีกมากมาย


     ในสภาวะเคลียดนี้... การสร้าง "ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายจะทำงานไม่เป็นปกติ" ร่างกายของคนเราจะอ่อนแอลง เชื่อโรคต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย เช่น เป็นหวัดบ่อย เป็นโรคภูมิแพ้ ความดันโลหิต อาการบาดเจ็บบ่อยของนักกีฬา รวมทั้งมะเร็ง (มีผลวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า มีผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดรุนแรงเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก ที่สูญเสียทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่ในช่วง 3 - 12 เดือน...ก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง)


     คลื่นสมองที่มีคลื่นความถี่สูงๆ...นอกจากเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนเรามีร่างกายอ่อนแอเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายแล้ว ยิ่งคลื่นสมองของเรา "มีความถี่เกิน 40 รอบต่อวินาที เราแทบจะไม่สามารถควบคุมความคิดและอารมณ์ได้เลย" เช่น เวลาที่เราโกรธใครมากๆ เราจะไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ความคิดต่างๆ จะผ่านเข้ามาในสมองของเราเร็วมาก จนเราแทบจำไม่ได้ว่ามีความคิดอะไรที่ผ่านมาบ้าง
     คลื่นสมองที่มีคลื่นความถี่สูงๆ...
     จะทำให้
"เกิดพลังงานส่วนเกินที่จะต้องระบายออกมาทางร่างกาย" เช่น หน้าแดง มือสั่น เหงื่อออกมาก หรือพฤติกรรมที่รุนแรงต่างๆ ฯลฯ ซึ่งการกระทำของเราในขณะที่คลื่นสมองมีความถี่สูงนี้ มักจะไม่ค่อยเหมาะสมและเรามักจะรู้สึกเสียใจในภายหลัง
 

     ในทางตรงกันข้าม...
     หากเราสามารถควบคุมคลื่นสมองเรา
"ให้มีความถี่ต่ำได้ ผลดีต่างๆ ก็จะเกิดตามมามากมาย" เช่น
     ... มีร่างกายแข็งแรง
     ... มีภูมิคุ้มกันโรคสูง
     ... มีจินตภาพ และความคิดสร้างสรรค์สูง
     ... มีสัมผัสที่ 6 สูง
     ... มีพลังแห่งความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่สูง ฯลฯ


     การทำสมาธิที่สมบูรณ์แบบ "เป็นวิธีการลดคลื่นสมองของตัวเรา ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"


     เมื่อพูดถึงเรื่องประสบการณ์ทางจิต พลังจิต และความสามารถเหนือธรรมชาติ มักจะมีคำถามว่า "ปรากฎการณ์เหล่านี้จะเป็นความจริงในทางวิทยาศาสตร์กระนั้นหรือ"


     ปัจจุบัน... คำตอบคือ "ใช่"
     เป็นคำตอบของนักวิทยาศาตร์ระดับโลก "ที่เป็นส่วนมากที่สุด" หรืออาจกล่าวได้ว่า "แทบทั้งหมด" ก็ว่าได้ ทุกวันนี้สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า "เรื่องพลังจิตพีเอสไอ (PSI)" ปรากฎการณ์ลึกลับทางพลังจิต เป็นเรื่องที่ยอมรับในด้านของความเป็นไปได้ อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า "ของชาติตะวันตกในทุกประเทศ" จะหาผู้ที่ต่อต้านหรือคัดค้านเรื่องของพลังจิตอำนาจของจิตอย่างจริงจังได้ยากเต็มที !


     น.พ.ประสาน ต่างใจ
     ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านเรื่อง
"วิทยาศาสตร์จิตวิญญาณ" เกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านว่า... "ที่เห็นออกมาต่อต้านนั้นก็มีบ้างแต่ว่าไม่ใช่นักคิดหรือนักวิทยาศาสตร์สายตรงระดับชั้นนำ อาจมีสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาบ้าง หรือไม่ก็พวก นักแสดงมายากล เช่น เจมส์ แรนเดิล" (JAMES RANDLE ; HELL STAMP OUT ABSURD BELIEFS , 1992)
     ... "หลายคนทีเดียวที่ต่อต้านพลังจิตแต่แทบว่าไม่ได้ร่ำเรียน หรือ มีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ประการใดเลย"
     ... "ประสบการณ์ทางจิตเหนือธรรมชาตินั้น สำหรับผู้ที่ได้ติดตามและศึกษาการวิจัยอย่างจริงจังแล้ว จะไม่มีผู้ใดแม้คนเดียวที่สงสัยหรือคัดค้านว่าเรื่องของพลังจิต พี เอส ไอ เป็นเรื่องที่ไม่จริง หรือเป็นเรื่องที่เป้นไปไม่ได้" (ROBERT JAHN & BRENDS BUNNE ; THE SPIRITUAL SUBSTANCE OF SCIENCE, 1994)


ประโยชน์ของการทำสมาธิในการกีฬา

     ปัจจุบันนี้... ประเทศต่างๆ ในยุโรปในอเมริการวมทั้งญี่ปุ่น ได้จัดเวลาให้นักกีฬา "มีการฝึกปฎิบัติสมาธิควบคู่ไปกับการฝึกซ้อม"
     เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคนเรานั้นมี "พลังสะสม หรือพลังสำรอง" (RESERVES POWER) บางทีเรียกว่า "พลังแฝง" (LATENT POWER) อยู่ในตัวของทุกๆ คน

 

     การนำเอาพลังงานดังกล่าวออกมาใช้... ต้องมีวิธีหรือเหตุ ยกตัวอย่างเช่น เวลาคนตกใจเมื่อเกิดไฟไหม้บ้าน เขาสามารถยกกำปั้นหรือหีบห่อที่มีน้ำหนัก เกินกว่ากำลังตามปกติจะเคลื่อนได้ แต่เพราะความตกใจเขาสามารถวิ่งหนีไปได้อย่างสบายๆ ประดุจของนั้นเบา แต่เมื่อหายตกใจแล้วเขากลับยกไม่ขึ้นเลย
 

     สิ่งนี้อธิบายว่า... คนเรานั้นธรรมชาติได้สร้างศักยภาพ (POTETNTIA LENERGY) เอาไว้ในตัวมากมาย แต่ในสภาวะปกติประจำวัน "เราใช้มันเพียง 10-25 % เท่านั้น" หรือตัวอย่างเช่น "หากเราตัดปอด หรือไต ออกไปเสียข้างหนึ่ง ข้างที่เหลือก็สามารถทำงานได้อย่างสบายๆ"

 

     จิตของมนุษย์ หรือ พลังในตัวมนุษย์นี้... นักจิตวิทยาพยามหาวิธีดึงเอาออกมาใช้ โดยพยาม "ฝึกจิตให้มีสมาธิดิ่ง" ที่เรียกว่า "จิตดิ่ง" (PURE CONCIOUSNESS) อันเป็นสภาวะของจิตที่ละเอียดนั้น "เพื่อดึงเอาพลังงานสะสม หรือ พลังงานภายใน" (RESERVED POWER หรือ WILL POWER) ออกมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น เพื่อเล่นกีฬา
 

     ปัจจุบันนี้... เขาใช้วิธีการอบรมที่เรียกว่า "INNER MENTAL TRAINING" อย่างเช่นในการประชุม WORLD CONGRESS IN SPORTS PSYCHOLOGY เมื่อวันที่ 24-27 มิถุนายน 2528 ที่กรุง COPENHAGEN ประเทศเดนมาร์ค ก็มีหัวข้อพูดกันเรื่อง "MIND OVER BODY CHAMPIONSHIP IN VARIOUS SPORTS"

 


ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับกันว่า...จิตเป็นนายเหนือกาย !

 

 

จากหนังสือ

 

 

วิทยาศาสตร์ทางใจ

 

- - - - - - - - - - - - -

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สุวิเชียร อุตฺตมพนโธ

 


"จิตใจ" ควบคุมทุกระบบ

26 August 2013 - 03:21 PM

จิตใจ
ควบคุมทุกระบบ

 

นักจิตวิทยาเชื่อว่า จิตใจคนเรานั้นมี 2 ระดับ
จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก

 

จิตใจทำงานอย่างไร?
เหตุใดจึงมีอิทธิพลมากนัก?
     นักจิตวิทยาเชื่อว่า จิตใจคนเรานั้นมี 2 ระดับ คือ
     1. จิตสำนึก ...มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนเราประมาณ 7%
     2. จิตใต้สำนึก ...มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนเราประมาณ 93%

 

จิตสำนึก
     จะทำหน้าที่คิดคำนวนแยกแยะหาเหตุผลต่างๆ ที่รับรู้มาทางประสาทสัมผัส 5 คือ "ตา หู จมูก ลิ้น กาย"

 

จิตใต้สำนึก
     เป็นที่รองรับอุปนิสัย กล่าวคือ อุปนิสัยในความคิดของจิตสำนึก ที่รับสิ่งต่างๆ มาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะจมดิ่งลงสู่จิตใต้สำนึก "มันจะก่อประโยชน์ ถ้าอุปนิสัยคิดไปในทางบวก" และตรงกันข้าม "มันจะก่อให้เกิดโทษ ถ้าอุปนิสัยเป็นไปในทางลบ"

 

     พฤติกรรมของเรานั้น เช่น "จะดีหรือเลว เข้มแข็งหรืออ่อนแอ ความเชี่ยวชาญในทักษะใดๆ" เป็นต้น "จิตใต้สำนึกมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมทั้งหลาย" รวมทั้ง "การทำงานของจิตใต้สำนึกด้วย"

 

 

     เมื่อมีการสัมผัสต่างๆ กระตุ้นจากภายนอก ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย การรับรู้ต่างๆ จะถูกส่งไปตามเส้นประสาท พื่อถ่ายทอดไปยังสมองสมองจะแปลงสัญญาณเหล่านี้โดยลำพังไม่ได้การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิตสำนึกในขณะที่เราไม่รู้สึกตัว เช่น "เวลานอนหลับ" ตาและหูของเรายังรับแสงและเสียงได้ แต่เราไม่รู้ตัวเลยเพราะจิตสำนึกไม่ทำงาน เมื่อจิตสำนึกรับสิ่งใดเข้ามา "มันจะส่งไปยัง...จิตใต้สำนึก" ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูลต่างๆ "เพราะจิตใต้สำนึกทำงานตลอดเวลา...ไม่มีเวลานอนหลับพักผ่อน"

 

 

     ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บสะสมไว้ในจิตใต้สำนึก ไม่จำเป็นจะต้องผ่านจิตสำนึกเสมอไป "ข้อมูลอาจจะถูกส่งไปที่จิตใต้สำนึกได้โดยตรง" ดังนั้น "ระหว่างที่เรานอนหลับเราไม่รู้ว่ามีเสียงอะไรมาเข้าหูเรา แต่จิตใต้สำนึกรู้และรับหมด เราจึงอาศัยวิธีนี้ในการสอนบางสิ่งบางอย่างแก่เด็กได้" และเรียกวิธีนี้ว่า "การเรียนระหว่างนอนหลับ พอเด็กตื่นขึ้นมาเขาก็ยังจดจำบางส่วนได้บ้าง" ดังนั้น พ่อแม่ทะเลาะและด่าทอกันด้วยคำหยาบ ทุกสิ่งที่พ่อแม่พูด "จะถูกเก็บสะสมไว้ในจิตใต้สำนึกของเด็ก" และสักวัน "มันจะโผล่ออกมาจากความทรงจำทำให้เด็กกลุ้มอกกลุ้มใจหรือกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ได้"

 

 

     จิตใต้สำนึก "จะเป็นขุมแห่งอุดมคติ...ความคิดสร้างสรรค์...เป็นคลังแห่งความทรงจำและไม่เคยลืม" เกินกว่าความสามารถทางเทคโนโลยี จะค้นคว้าหามูลได้ แต่ทว่า "หากเราสามารถทำจิตสำนึกให้สงบได้ เราก็สามารถรับเครื่องหมาย จากจิตใต้สำนึกได้ ดึงข้อมูลต่างๆ ออกมาใช้ได้"

 

 

     จิตใต้สำนึก "จะกระตุ้นการทำงานของระบบอัตโนมัติต่างๆ ในร่างกายของคนเรา" เช่น การเต้นของหัวใจ การสูบฉีดโลหิต การหายใจ ระบบย่อยอาหาร การดูดซึม การหลั่งสารต่างๆ การกำจัดของเสีย เป็นต้น เมื่อเรารับประทานขนมปังชิ้นหนึ่งจิตใต้สำนึกจะแปลงรูปขนมปังชิ้นนี้พร้อมกับส่งไปยังเนื้อเยื้อ กล้ามเนื้อ กระดูกและกระแสโลหิต "ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มหัศจรรย์เกินกว่าขอบเขตความรอบรู้ของมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดบนโลกนี้"

 

 

     จิตใจ เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนและสิ่งสำคัญ "เพียงแค่อารมณ์เปลี่ยนเท่านั้นก็จะมีผลทันทีต่อชีวิตของคนเรา" เช่น เวลาที่คนเราโกรธนั้นทางการแพทย์พบว่า...

 

 

     เมื่อเกิดขึ้นคราวใด "ก็จะทำให้ชีวิตของคนเราสั้นลงทุกครั้ง" เนื่องจาก "ระบบต่างๆ ของอวัยวะภายใน เกิดการแปรปรวนอย่างหนักทั้งระบบ เช่น การเต้นของหัวใจ ระบบสูบฉีดโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่ายหรือการหลั่งสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย" เป็นต้น

 

 

     ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ... อารมณ์ที่สงบเยือกเย็นแจ่มใสมีความสุขอย่างสิ้นเชิง !

 

 

ดังนั้น การฝึกจิตโดยการทำสมาธิ
"จึงมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง"

 

จากหนังสือ

 

 

วิทยาศาสตร์ทางใจ

 

- - - - - - - - - - - - -

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สุวิเชียร อุตฺตมพนโธ