ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

เส้นทางสู่ความเป็นพุทธะ (๒)


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 samana072

samana072
  • Admin_Article_Only
  • 109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:วัดพระธรรมกาย

โพสต์เมื่อ 05 July 2006 - 09:31 AM

[attachmentid=6135]

ธรรมดาว่าท่านผู้ประเสริฐ เมื่อจะอุบัติในโลกนี้ ท่านจะอุบัติเฉพาะในสัตว์ ๒ เท้าเท่านั้น คือถือกำเนิดในมนุษย์และเทวดา เมื่อเสด็จอุบัติในหมู่มนุษย์ ย่อมเป็นผู้สามารถเพื่อทำ ๓,๐๐๐ โลกธาตุ และหลายพันโลกธาตุให้อยู่ในอำนาจได้ เมื่ออุบัติในหมู่เทวดา ย่อมอุบัติเป็นท้าวมหาพรหม ผู้ทำหมื่นโลกธาตุให้อยู่ในอำนาจได้ จุดหมายปลายทางของทุกชีวิต คือการไปสู่อายตนนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นบุญต้นแบบของบุคคล ที่สมบูรณ์ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตแล้ว ในระหว่างที่ทรงสร้างบารมีวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนั้น ท่านได้เคยเกิดเป็นอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ท่านเห็นว่าชีวิตนั้นเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ยังไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้ ดังนั้นท่านจึงสละราชสมบัติอันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของมนุษย์ทั่วไป และมุ่งหน้าแสวงหาหนทางพระนิพพาน

มีธรรมภาษิตใน อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดของสรรพสัตว์ เพราะพระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่าด้วยคุณ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมดาว่าท่านผู้ประเสริฐ เมื่อจะอุบัติในโลกนี้ ท่านจะอุบัติเฉพาะในสัตว์ ๒ เท้าเท่านั้น คือถือกำเนิดในมนุษย์และเทวดา เมื่อเสด็จอุบัติในหมู่มนุษย์ ย่อมเป็นผู้สามารถเพื่อทำ ๓,๐๐๐ โลกธาตุ และหลายพันโลกธาตุให้อยู่ในอำนาจได้ เมื่ออุบัติในหมู่เทวดา ย่อมอุบัติเป็นท้าวมหา-พรหม ผู้ทำหมื่นโลกธาตุให้อยู่ในอำนาจได้ ถึงกระนั้นท้าวมหาพรหม ก็พร้อมที่จะเป็นกัปปิยการก หรือเป็นคนเฝ้าอารามของพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นยอดของสัตว์ ๒ เท้า ด้วยอำนาจ เป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ และเทวดา”

ผู้ที่สั่งสมเอาบุญบารมีไว้มากๆ อย่างพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ท่านสามารถเลือกเกิดได้ และในภพชาติที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นเอกบุรุษไม่เป็นสองรองใคร ท่านลิขิตชีวิตตนเองได้ เปรียบเหมือนมหาเศรษฐีมีทรัพย์มากสามารถเลือกซื้อรถ บ้าน อะไรก็ได้ที่ตนเองชอบใจ เมื่อได้ออกแบบชีวิตของตัวท่านไว้อย่างดีแล้ว ถึงคราวจะเลือกให้เป็นไปในทิศทางไหนก็ทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเมื่อจะอุบัติขึ้นในโลกเพื่อมาตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะเลือก ๕ อย่าง คือ กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล และพุทธมารดา

ครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้กล่าวถึง พระโพธิสัตว์ผู้เป็นต้นบุญต้นแบบ ปรารถนาที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ท่านจะมีปณิธานที่พิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไปที่เรียกว่า อภินิหาร ๘ ประการ ครั้นท่านทำได้สำเร็จ ผลคือ ท่านจะเป็นผู้ไม่เข้าถึงอภัพฐานะ ๑๘ ประการ เป็นฐานะที่ไม่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญบารมี คือ

*ท่านจะไม่เกิดเป็นคนตาบอด หูหนวกแต่กำเนิด ยกเว้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าประมาทพลาดพลั้ง ไม่ระมัดระวังตนเอง อาจเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหูหนวกตาบอดได้ จะไม่เป็นคนบ้า แต่จะเป็นคนมีสติปัญญาแจ่มใส มีดวงปัญญาที่สว่างไสวอยู่ภายในตลอดเวลา จะไม่เป็นคนใบ้ คนแคระ ไม่เกิดในชนชาติ มิลักขะ คือ พวกคนป่าเถื่อนที่ไร้การศึกษา แต่จะเกิดในชนชาติที่มีอารยธรรม หรือมีการศึกษาดีเท่านั้น
*มก. ขัคควิสาณสูตร เล่ม ๔๖ หน้า ๑๐๙

ธรรมดาของพระโพธิสัตว์จะไม่เกิดในท้องของนางทาสี คือ ไม่เกิดเป็นลูกทาส ไม่เป็นคนนิยตมิจฉาทิฏฐิ ไม่เป็นคน กลับเพศ ไม่หลงทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง ไม่เป็นคนโรคเรื้อน แม้เข้าถึงทุคติถือกำเนิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็มีอัตภาพไม่ใหญ่กว่าช้าง ไม่เล็กกว่านกกระจาบ อัตภาพสุดท้ายของท่านจะไม่เวียนมาในกำเนิดเดียรัจฉานอีก

ท่านไม่เกิดในอบายภูมิ ตั้งแต่ขุปปิปาสิกเปรต คือ เปรต ที่ถูกความหิวกระหายครอบงำตลอดเวลา และนิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกความอยากเผาผลาญ ไม่เกิดในจำพวก กาลกัญชิกาสูร ซึ่งในแดนนั้นพวกอสุรกายมีความอดอยากมาก ไม่สามารถที่จะได้หยาดน้ำเพียงชุ่มหัวใจหรือเพียงชุ่มลิ้น ตลอด ๒-๓ พุทธันดร เมื่อพวกอสุรกายไปดื่มน้ำที่แม่น้ำ ด้วยแรงกรรมที่ทำไว้ น้ำจะกลายเป็นหาดทราย เมื่อลงไปในมหาสมุทร มหาสมุทรก็เป็นแผ่นหินดาด พวกอสุรกายจะซูบซีด ถูกความทุกข์หนักบีบคั้น ร้องครวญครางอยู่เป็นพุทธันดร

ประการต่อมา พระโพธิสัตว์ท่านจะไม่เกิดในอเวจีมหานรก ไม่เกิดในโลกันตนรก ไม่เกิดเป็นมารในสวรรค์ชั้นกามาวจร ไม่เกิดในอสัญญีภพ ในรูปาวจรภูมิ ไม่เกิดในภพสุทธาวาส เพราะเนื่องจากถ้าตกไปในอบายภูมิก็ดี หรือไปเสวยสุขในภพภูมิที่สูงๆ อายุยืนเป็นกัปๆ ก็ดี ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างบารมี เพราะเสวยสุขและทุกข์นานเกินไป และประการสุดท้ายคือ จะไม่ก้าวไปสู่จักรวาลอื่น

ธรรมชาติของผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิจะมีลักษณะพิเศษ ๔ ประการ คือ

ลักษณะที่ ๑ เป็นผู้มีความเพียรพยายามไม่ลดละ เมื่อทำอะไรจะทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ มีความเพียรชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว จนกว่าสิ่งที่ปรารถนาไว้จะสำเร็จ ด้วยถือว่าถ้าท้อแท้ท้อถอยในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แล้วงานสร้างบารมีที่จะเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือวิสัยของมนุษย์ทั่วไปจะสำเร็จได้อย่างไร

ลักษณะที่ ๒ คือ เป็นผู้มีปัญญาสามารถเตือนตนเอง และสอนคนอื่นได้ เราจะเห็นว่าบางภพชาติที่ท่านกำลังสร้างบารมีนั้น ท่านสามารถแสดงปัญญาประหนึ่งว่าพุทธญาณทีเดียว เช่น สมัยที่เป็นมโหสถบัณฑิต หรือเป็นเสนกบัณฑิต

ลักษณะที่ ๓ คือ เมื่อทำบุญอะไรท่านจะอธิษฐานจิตมั่นที่จะให้ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ ความปรารถนาของท่าน ไม่เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ท่านตอกยํ้าซํ้าเดิม ซํ้าแล้วซํ้าเล่า ชาติแล้วชาติเล่า แม้จะถือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังตั้งใจมั่นว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ประการสุดท้ายคือ เป็นผู้มีเมตตา เป็นปกติ ท่านจะไม่ประทุษร้าย ไม่ว่าร้ายใคร แต่จะชื่นชมยินดีในความสำเร็จของคนอื่นเสมอ

นอกจากนี้พระโพธิสัตว์ยังมีอัธยาศัยอีก ๖ ประการ ที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา คือ

๑. มีอัธยาศัยเพื่อน้อมไปในเนกขัมมะ หมายถึงมีปกติเห็นโทษในกาม รู้ว่าสุขยิ่งกว่ากามคุณ ๕ นั้นยังมีอยู่ เป็นสุขจากการเข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งเกิดจากการทำใจหยุดนิ่ง

๒. ท่านมีอัธยาศัยเพื่อปลีกวิเวก คือ มีปกติเห็นโทษในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีในที่นอนที่นั่ง อันสงัดเหมาะสมต่อการทำใจให้สงบ

๓. ท่านมีอัธยาศัยเพื่อความไม่โลภ

๔. อัธยาศัยเพื่อความไม่โกรธ

๕. อัธยาศัยเพื่อความไม่หลง เรียกได้ว่า ท่านเห็นโทษในความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งกิเลส ๓ ตระกูลนี้ ทำให้คนไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม มีใจมืดบอด ไม่มีความกตัญญูรู้คุณ

ประการสุดท้าย มีอัธยาศัยเพื่อความสลัดออก คือ มีปกติเห็นโทษในภพทั้งหมด ทั้งกามภพ รูปภพ และอรูปภพ มุ่งปฏิบัติเพื่อไปสู่อายตนนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขอย่างเดียว ทั้งหมดนี้เป็นอัธยาศัยที่เป็นไปเพื่อบ่มโพธิญาณให้แก่รอบ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ รวมไปถึงอภัพฐานะของพระโพธิสัตว์แล้ว ขอให้ไตร่ตรองพิจารณาดูว่า เรามีธรรมชาติ จริตอัธยาศัยที่ดีๆ เหมือนท่านบ้างไหม ถ้ายังไม่มีก็ฝึกให้มีขึ้นมา โดยน้อมนำคุณธรรมของท่านมาใส่ไว้ในตัว ฝึกฝนอบรมตนจนเป็นปกติอัธยาศัยของเราให้ได้ เรารู้แล้วว่าเกิดมาภพชาตินี้เพื่อสร้างบารมี มาปรับปรุงแก้ไขตนเองให้สมบูรณ์ขึ้น เมื่อเราศึกษาต้นแบบต้นบุญจากประวัติการสร้างบารมี ซึ่งเป็นการฝึกตนเองอย่างยิ่งยวดของพระพุทธเจ้าแล้ว ให้เรามุ่งมั่นตั้งใจก้าวตามรอยบาทของพระบรมศาสดา เพื่อภพชาติหน้าที่สมบูรณ์กว่า และเพื่อเป้าหมาย อันสูงสุด คือ ที่สุดแห่งธรรม

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  7.jpg   180.55K   14 ดาวน์โหลด
  • แนบไฟล์  8.jpg   255.74K   14 ดาวน์โหลด

<a href="http://www.dmc.tv/im...0-02-14-18.jpg" target="_blank">
</a>