ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

"สัตยาไส" โรงเรียนคุณธรรม


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 ตาล

ตาล
  • Members
  • 69 โพสต์
  • Location:ดุสิตบุรีวงบุญพิเศษ เขตของบรมโพธิสัตว์

โพสต์เมื่อ 26 June 2006 - 01:56 AM

"เราขอขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่ผู้ให้ชีวิตเรามา เราขอขอบพระคุณคุณครูผู้อบรมสั่งสอนและธรรมชาติผู้ให้อาหารกับเรา เราขอตั้งใจรับประทานอาหารนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ และรับใช้ช่วยเหลือทุกคนด้วยรัก ความเสียสละและอ่อนน้อมถ่อมตน"

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กนักเรียนโรงเรียนสัตยาไส ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ยามถึงเวลารับประทานอาหาร ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม และนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ที่พาคณะอาจารย์จากโรงเรียนนำร่องในโครงการเร่งสร้างคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนไทยมาดูงานที่โรงเรียนแห่งนี้ รู้สึกประทับใจในความน่ารักของเด็กๆ

ยิ่งได้รู้ว่าทุกคนในโรงเรียนสัตยาไสไม่ทานเนื้อสัตว์ และข้าวที่รับประทานนั้นก็เป็นข้าวที่เด็กนักเรียนทุกคนปลูกเองกับมือ...ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความประทับใจมากขึ้นไปอีก

ดอกเตอร์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่คนไทยรู้จักกันในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ยานไวกิ้งเพื่อลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ สร้างชื่อเสียงในองค์การนาซา คือผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้


ดอกเตอร์อาจองเริ่มต้นเล่าถึงโรงเรียนสัตยาไสว่า ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ เช่น เป็นป่า เป็นเขา ทำให้มีสัตว์ อาทิ งู แมงป่อง และสัตว์มีพิษอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่นักเรียนก็ไม่เคยถูกสัตว์เหล่านี้ทำร้าย ซึ่งดอกเตอร์อาจองตั้งข้อสังเกตว่า คงเป็นเพราะเด็กนักเรียนไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่มีกลิ่นอายของเนื้อสัตว์ สัตว์จึงไม่มาทำร้ายเด็ก

"โรงเรียนนี้มีครูกว่า 50 คน ต้องใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงอยู่กับเด็กอีก 363 คน ทานข้าวก็ทานด้วยกัน นอนก็นอนด้วยกัน ดังนั้น ครูกับเด็กๆ จึงมีความสนิทสนมและไว้วางใจซึ่งกันและกันมาก

"นักเรียนรุ่นพี่ก็จะดูแลนักเรียนรุ่นน้องเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน โดยมีครูคอยดูอยู่ห่างๆ เด็กที่นี่จึงไม่คิดหนีโรงเรียน แม้ว่าโรงเรียนนี้จะไม่มีรั้วกั้นก็ตาม เพราะเด็กๆ รู้สึกผูกพันกัน

"ถึงปิดเทอมจะได้กลับบ้านสักครั้งหนึ่ง แต่เด็กๆ ก็ไม่เหงา ยกเว้นเด็กอนุบาลเท่านั้นที่ต้องไป-กลับ เพราะเด็กยังเล็กมาก ต้องอยู่ในอ้อมอกพ่อแม่ให้มั่นคงก่อน" ดอกเตอร์อาจองเล่า

ทุกเช้านักเรียนโรงเรียนสัตยาไสจะตื่นขึ้นมาสวดมนต์ในเวลา 05.00 น. ต่อจากนั้นถึงเวลาของการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวและได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ผ่านการฟังนิทาน 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ดอกเตอร์อาจองเป็นคนเล่า

การเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไสยึดหลัก 3 เอช (3 H) คือ เฮด (head-สมอง) ฮาร์ท (heart-หัวใจ) และ แฮนด์ (hand-การกระทำ) หมายถึงการกระทำทุกอย่างต้องสอดคล้องกับสมองและหัวใจ การเรียนการสอนจึงเริ่มต้นจากความคิดดี คิดด้านบวกแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นการกระทำที่ดี

เด็กทุกคนจึงเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการก็ถือว่าน่าพอใจ โดยดอกเตอร์อาจองบอกว่า นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้จำนวนมาก เพราะโรงเรียนสอนให้เด็กมีสมาธิ มีปัญญาในการเรียนอยู่ตลอด และยังมีทักษะความรู้ภาษาอังกฤษอีกด้วย เนื่องจากมีครูชาวต่างชาติแวะเวียนมาเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กๆ อย่างสม่ำเสมอ

ดอกเตอร์อาจองบอกเพิ่มถึงวิธีการรับเด็กเข้ามาเรียนว่า ครูจะสัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กก่อน ถ้าอยากให้เด็กเก่ง เห็นทีจะหมดสิทธิ แต่หากอยากให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม ควบคู่ไปกับพัฒนาการทางการเรียน ก็จะพิจารณา แต่รับนักเรียนจำนวนจำกัด เพราะสอนไปตามกำลังครูที่มี

แม้สัตยาไสจะเป็นโรงเรียนราษฎร์ แต่ก็ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เพราะค่าใช้จ่ายของโรงเรียนทั้งหมดมาจากการบริจาคผ่านมูลนิธิสัตยาไส

"การมาเยี่ยมชมโรงเรียนสัตยาไสทำให้ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า การสอนศีลธรรมและจริยธรรมสามารถประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนทุกวิชาได้ และพิสูจน์ได้ด้วยว่า เด็กๆ สามารถเป็นทั้งคนดีและคนเก่งได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ค่ากับความเก่งอย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกันอย่างเดียว" นราทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมบอก

นับเป็นโรงเรียนนำร่องด้านคุณธรรมอีกแห่งของไทย