ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ปริศนาแห่งความฝัน ตอนที่ 4


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 April 2006 - 04:28 PM

ปริศนาแห่งความฝัน ตอนที่ 4
บทที่ ๓ ศึกษา วิเคราะห์แนวคิดเรื่องความฝัน ตามหลักพระพุทธศาสนา

ความฝันตามหลักพระพุทธศาสนา
ก่อนที่จะศึกษาเรื่องความฝัน ควรจะต้องเข้าใจธรรมชาติและลักษณะของจิตตามแนวพระอภิธรรมก่อน ดังนี้

จิตนั้นมีธรรมชาติอันเป็นลักษณะพิเศษอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. มีการรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ
๒. เป็นประธานในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
๓. มีการเกิดดับเนื่องกันไม่ขาดสายเป็นอาการปรากฏ
๔. เป็นเหตุให้เกิดนามรูป (พระราชวิสุทธิกวี ๒๕๓๓ : ๑๗)

๓.๑ กระบวนการทำงานของจิตเรียก วิถีจิต
วิถีจิตประกอบด้วย
๑. ปัญจทวารวิถีจิต – จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย
๒. มโนทวารวิถี – จิต

วิถีจิต มี ๑๗ ขณะ
ตัวที่ทำให้ความสืบเนื่องของกรรมดำเนินไปไม่ขาดตอนคือ ภวังคจิต
บางท่านใช้คำว่า จิตใต้สำนึก หรือจิตไร้สำนึก

ภวังคจิต ได้แก่ จิตไร้สำนึกที่ไม่ขึ้นสู่วิถีตามปกติ ปรากฏชัดในขณะหลับ หรือสลบไม่รู้ตัว

อ.วศิน สรุปไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ภวังคจิตจะปรากฏในช่วงรอยต่อระหว่างตื่น – หลับ หลับ – ตื่น
หรือภาวะที่หลับสนิท ไม่มีความฝัน เป็นภาวะที่จิตไม่มีกิเลส จึงไม่ฝัน
ซึ่งเป็นภาวะที่บอกยากว่าอยู่ตรงไหน


ในทัศนะตะวันตก ภวังคจิต คือ
ภาวะที่จิตทำงานร่วมกับจิตปกติทั่ว ๆ ไป หรือร่วมกับจิตขณะอื่น ๆ จึงใช้คำว่า
จิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Sub – conscious mind or Sub - consciousness)

ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า ภวังคจิตสามารถเก็บความทรงจำในอดีตไว้ได้นานโดยเราไม่รู้สึกนึกคิดขึ้นมาได้ เป็นจิตที่อารมณ์ไม่ขึ้นสู่การแสดงออก แม้ในขณะหลับ ไม่มีการฝัน ซึ่งเรียกว่า จิตอยู่ในภวังค์

คือสงบนิ่งไม่แสดงออกซึ่งอารมณ์หรือการนึกคิด หรือการรับรู้ใด ๆ ภวังคจิตอาจปรากฏได้เมื่อจิตมีอำนาจ มีญาณอันเป็นภาวะที่จิตปราศจากความวุ่นวายของกิเลสตัณหา ภวังคจิตเป็นอดีตกรรมของมนุษย์

จิตที่ได้ฌานสมาบัติสามารถรู้เหตุกรรมในอดีตได้ ที่เราเรียกว่า ระลึกชาติ (บุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
หรือการระลึกถึงอดีตกรรมของตน

ภวังคจิตมี ๓ คือ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะ
อตีตภวังค์ ได้แก่ ภวังคจิตที่เกิดขึ้นต่อจากตทาลัมพนจิต
ภวังคจลนะ ได้แก่ ภวังคจิตที่เกิดขึ้น ทำความสืบต่อแห่งภวังค์ที่เป็นอดีต (อตีตภวังค์) ให้ไหวตัว
ภวังคุปัจเฉทะ ได้แก่ ภวังคจิตที่เกิดขึ้น ตัดขาดความไหวของภวังคจลนะ และเตรียมพร้อมจะก้าวขึ้นสู่วิถีจิต

วิถีจิต ได้แก่ จิตสำนึก เป็นจิตในขณะตื่น
ซึ่งทำให้เราสามารถรับรู้ถึงสิ่งสัมผัสรอบตัวเราได้ เช่น
การเห็นรูป การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การได้รับสัมผัสทางกาย และการตริตรองนึกคิด

วิถีจิตจึงเป็นจิตส่วนที่ออกมารับอารมณ์ในปัจจุบัน
จิตส่วนนี้จะก้าวพ้นความเป็นภวังคจิต แล้วก้าวขึ้นสู่วิถีเพื่อคอยรับอารมณ์ที่มากระทบ

วิถีจิตมี ๗ คือ
ปัญจทวาราวัชชนจิต ปัญจวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต
โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต (อภิ.วิ. ๓๕ / ๑๑๒ / ๙๗)


ปัญจทวาราวัชชนจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่แยกสายไปตามอารมณ์ที่มากระทบ คล้ายคนที่ยืนอยู่ตรงทางแยก ๕ แพร่ง
เพื่อจะเลือก และเตรียมตัวไปสู่ทิศทางที่ตนปรารถนา และทิศทางที่จิตจะไปได้ คือ
ทวารหรืออายตนะ ๕ ได้แก ตา หู จมูก ลิ้น และกาย


ปัญจวิญญาณจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่รับรู้ทางทวารหรืออายตนะทั้ง ๕ โดยรับรู้แยกไปตามทวารแต่ละอย่าง เช่น
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ เป็นต้น


สัมปฏิจฉนจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณจิต

สันตีรณจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่กำหนดพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ เพื่อความแน่ชัด
เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นต่อจาก สัมปฏจฉนจิต

โวฏฐัพพนจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ซึ่งสันตีรณจิตได้พิจารณาแล้ว

ชวนจิต ได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์นั้น เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นต่อจากชวนจิต

ตทาลัมพนจิต ได้แก่ จิตที่เป็นวิบาก เก็บผลแห่งอารมณ์ที่ชวนจิตนั้นเสวยแล้ว เป็นจิตดวงสุดท้ายในวิถีจิต
หลังจากนั้นจิตก็จะถึงสุดวิถีขณะหนึ่ง และตกลงสู่ภวังค์ตามเดิม


ในพระอภิธรรม ได้มีการอธิบายความเป็นมาของภวังคจิตและวิถีจิต
โดยยกข้ออุปมาขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

ชายคนหนึ่ง นอนหลับคลุมโปงอยู่โคนต้นมะม่วง อันมีผลสะพรั่ง เกิดมีลมพัด
มะม่วงผลหนึ่งตกลงมาใกล้ที่นอนเขา เพราะเสียงตกลงของมะม่วงผลนั้น ทำให้เขาตื่น
เขาเลิกผ้าออกจากศีรษะ ลืมตาเห็นมะม่วงผลนั้น จึงหยิบขึ้นมาพิจารณา และดมดู
ทราบว่าเป็นมะม่วงสุก จึงบริโภค แล้วกลืนมะม่วงที่อยู่ในปากลงคอไป
ครั้นแล้วก็นอนหลับในที่เดิมต่อไป

ระยะเวลาแห่งภวังคจิต เปรียบเหมือน ระยะเวลาที่ชายคนนั้นหลับ

ระยะเวลาแห่งปัญจทวาราวัชชนจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่อารมณ์มากระทบประสาท

ระยะเวลาแห่งสัมปฏิจฉนจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่ชายคนนั้นจับผลมะม่วง

ระยะเวลาแห่งสันตีรณจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่ชายคนนั้นบีบผลมะม่วง ที่จับอยู่นั้นพิจารณา

ระยะเวลาแห่งโวฏฐัพพนจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่ชายคนนั้นดมผลมะม่วง

ระยะเวลาแห่งชวนจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่ชายคนนั้นบริโภคผลมะม่วงเข้าปาก

ระยะเวลาแห่งตทาลัมพนจิต เปรียบเหมือนระยะเวลาที่ชายคนนั้นกลืนชิ้นมะม่วงที่อยู่ในปากลงคอไป

จะเห็นได้ว่า ภวังคจิตและวิถีจิตสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
เมื่อใดที่เราหลับ วิถีจิตจะดับ ภาษาอภิธรรมเรียกว่า จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ซึ่งหมายถึง จิตตกภวังค์
และเมื่อใดที่เราตื่นขึ้น แสดงว่าจิตได้ล่วงพ้นสภาพตกภวังค์ แล้วกลับขึ้นสู่วิถีจิตอีก
ซึ่งทำให้เราสามารถรับรู้สิ่งสัมผัสรอบตัวเราได้ดุจเดิม
การที่วิถีจิตกลับตกภวังค์และการที่วิถีจิตก้าวสู่ภวังค์ในลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า
การแผ่ขยาย (บรรจบ บรรณรุจิ ๒๕๒๙ : ๒๓) อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของจิต



ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  111_L.jpg   170.69K   237 ดาวน์โหลด


#2 แก้วประเสริฐ

แก้วประเสริฐ
  • Members
  • 513 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 April 2006 - 08:07 PM

สาธุ ครับ

#3 ป่าน072

ป่าน072
  • Members
  • 371 โพสต์
  • Location:โคราช
  • Interests:การศึกษาต่อในวิชา วิทยาศาสตร์<br />วิศวะปิโตรเคมี

โพสต์เมื่อ 22 August 2006 - 04:38 PM

อันนี้ก็ดทั้งเนื้อหา
ภาพสวยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
เลยค่ะ

เมื่อดวงตาปิดสนิมอย่างละมุน
ไม่มีลุ้นเร่งจองมองที่หมาย
ก็จะพบผู้รู้อยู่กลางกาย
ธาตุอ่อนแก่มากมายถึงปลายทาง