ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

กฐินกับผ้าป่าต่างกันอย่างไรคะ?


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 10 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 DMCchild

DMCchild
  • Members
  • 270 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:Singapore

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 02:32 PM

สงสัยมานานแล้วคะ ช่วยอธิบายให้กระจ่างทีเถิด ปัญญาจะได้สว่างขี้นอีกนิด....เพื่อนๆหลายคนก็ยังไม่ทราบเช่นกันคะ กราบขอบพระคุณล่วงหน้า
สาธุ
ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าตั้งใจบำเพ็ญ ขอให้ตามติด ติดตาม หลวงพ่อธัมมฯ ใกล้ชิด ทั้งหยาบและละเอียดตราบวันที่สุดแห่งธรรมเทอญ...สาธุ

#2 koonpatt

koonpatt
  • Members
  • 616 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 03:54 PM

ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณ คุณ dmcchild ด้วยนะคะ ที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา เพราะ koonpatt จะได้ทราบด้วยน่ะค่ะ (ไม่ค่อยทราบเหมือนกัน)
laugh.gif laugh.gif laugh.gif

ความหมาย

พิธีทอดกฐิน เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทาน แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" คำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้

กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้
กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อม ทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก

กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม
คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีกานสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

จากความหมายข้างต้นจะเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกัน 4 ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐินคือแสดงความพอใจ ว่าได้ กรานกฐิน เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี คำว่า กรานกฐิน คือการลาดผ้า หรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง

ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันก่อนจะมีการทำบุญกฐิน คือ การจองกฐิน หมายถึงการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน แต่จะต้องภายในเขตเวลา 1 เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)

อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรุปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น

ในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกัน
และเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทสไทยจึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศล เรื่องกฐินนี้ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน


กฐินราษฎร์

กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ประชาชนหรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวาย ณ วัดต่างๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง) การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง 4 รูปแบบคือ

กฐิน หรือ มหากฐิน
จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น
กฐินสามัคคี
กฐินตกค้าง

กฐิน หรือ มหากฐิน
เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น
นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 คือ

เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น
เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม
เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น
หรือจะมีอย่างอื่นนอกจากที่กลาวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุ สามเณร จะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริมน้ำ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว (ถ้าเป็นวัดที่อยู่ไกลแม่น้ำให้มีธงผ้าขาวเขียนรูปตะขาบปักไว้หน้าวัดแทนรูปสัตว์น้ำ) การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้

ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ

ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

นอกจากนี้แล้วยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐิน ถ้าเป็นเวลาเช้าจะมีการทำบุญถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร ในวัดด้วย
กฐินที่ราษฎรเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินและบริวารกฐินไปทอดยังวัดต่างๆ นี้เรียกว่า กฐิน หรือ มหากฐิน เหตุที่เรียกว่ามหากฐินอาจเป็นเพราะจะให้เห็นความแตกต่างจากกฐินอีกชนิดหนึ่งคือ จุลกฐิน ก็ได้

จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น

เป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่า กฐินแล่น (ความหมายคือเร่งรีบ ฟ้าว ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล) เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝัก มีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้แล้ว ทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุก แล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน
เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระภิกษุองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย
หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั้นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ ทับรีดเสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จการพินทุอธิษฐานแล้วจะมีการประชุมสงฆ์ แจ้งให้ทราบ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีจุลกฐิน

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมาก พอจะตัดวิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุ อธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบ
ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธาน และเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธงจรเข้ ตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาในเรื่องของกฐินหรือมหากฐินนั่นเอง


กฐินสามัคคี

เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะบริจาคมากน้อยอย่างไรไม่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการก็มักจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่มีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาก็นำมาจัดหาผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารต่างๆ เมื่อมีปัจจัยเหลือก็นำถวายวัดเพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น กฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นการสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
เรื่องของกฐินสามัคคีเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาก เพราะนอกจากจะถือกันว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงวัด ตลอดจนเป็นการสร้างความสมานสามัคคีของชุมชน ให้มีความรักมั่นกลมเกลียวอันเนื่องมาจากอานิสงส์ของกฐินสามัคคีนั่นเอง


กฐินตกค้าง

กฐินประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฐินตก กฐินโจร ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินชนิดนี้ ตลอดจนชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปว่า (จากเรื่องเทศกาลออกพรรษา)
"...แต่ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดตกค้างไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐินตามปกติในวันใกล้ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน (คือวันก่อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12) การทอดกฐินอย่างนี้เรียกว่า กฐินตกค้าง หรือเรียกว่า กฐินตก บางถิ่นก็เรียก กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา บางคนเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้ทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือบางวัดทอดไม่ได้ (อาจเป็นที่ไม่ครบองค์สงฆ์) ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่า ผ้าป่าแถมกฐิน

กฐินประเภทนี้ เรื่ององค์กฐิน บริวารกฐิน ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฐินอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ไม่มีการจองวัดล่วงหน้า การทอดก็ทอดได้เฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด และเจ้าภาพเดียวอาจจะทอดหลายวัดก็ได้ ตลอดจนสามารถนำเอาของไทยธรรมที่เหลือทำเป็นการบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน ได้อีก


ผ้าป่า

ผ้าป่าคือผ้าที่ถวายแต่พระโดยวิธีปล่อยทิ้งไว้ให้พระมาหยิบเอาไปเอง ครั้งพุทธกาลเรียกผ้าบังสุกลจีวร ตามธรรมเนียมจะถวายหลังเทศกาลกฐินออกไป

การทอดผ้าป่ามีหลายชนิด ที่เรียกว่าผ้าป่าแถมกฐินหรือผ้าป่าหางกฐิน คือการทอดกฐินแล้วทอดผ้าป่าด้วย บางแห่งนำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางน้ำ เรียกกันว่า ผ้าป่าโยง ผ่านไปถึงวัดไหนก็ทอดวัดนั้น

พิธีทอดผ้าป่าข้อสำคัญมีอยู่ว่า ให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าถวายแก่ใครโดยเฉพาะ เพียงแต่ตั้งใจในขณะทอด ขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แด่ภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้าเท่านี้ก็ได้ชื่อว่าทอดและถวายผ้าป่าแล้ว

หรือ

ผ้าป่า เดิมหมายถึงผ้าที่ทิ้งอยู่ในป่าจริง ๆ ปัจจุบันหมายถึงผ้าที่สมมุติว่าตกอยู่ทอดทิ้งอยู่ในป่า นิยมถวายแก่พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากผ้ากฐิน ผ้าป่านั้นนับเข้าในผ้าบังสุกุล

ผ้าบังสุกุล แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น เป็นชื่อของผ้าซึ่งไม่มีเจ้าของ เป็นเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ผ้าที่เจ้าของทอดทิ้งเพราะสกปรกบ้าง ผ้าเช่นนั้นพระภิกษุเก็บเอามาปะติดปะต่อ ซักฟอก แล้วย้อมด้วยด้วยน้ำฝาดทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม มาภายหลังประชาชนมุ่งถวายความสะดวกแก่พระ จึงเอาผ้าดี ๆ ทำเป็นจีวรสำเร็จรูปไปทอดทิ้งไว้ในป่าบ้าง ในป่าช้าบ้าง ตามปกติเจ้าภาพจะเอาผ้าพาดไว้บนกิ่งไม้แล้วทิ้งไว้ พระรูปใดมาพบเข้าก็ชักเอาไป หรือจะนิมนต์พระให้มาชักผ้าป่าก็ได้ ต่อมาก็นิยมทอดที่โลงศพ หรือทอดบนสายโยงศพเพื่อให้พระชักผ้านั้นไป เป็นการอุทิศกุศลให้แก่ผู้ตาย

การทอดผ้าป่าไม่มีกำหนดเหมือนทอดกฐิน จะทอดได้ทุกฤดูกาล แต่นิยทำต่อท้ายทอดกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินแล้วก็จัดการทอดผ้าป่าตามไปด้วย ซึ่งเรียกว่า ผ้าป่าหางกฐิน เวลาจะทอดผ้าป่านั้น ท่านให้ตั้งใจถวายต่อสงฆ์ไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยการนำไปวางเสมือนว่าเป็นผ้าทิ้งอยู่ในป่า เมื่อภิกษุสามเณรมาพบเข้าก็ทำพิธีบังสุกุลเอาไป ก็เป็นอันหมดพิธี ไม่มีพิธีมากมายเหมือนการทอดกฐิน


อานิสงค์กฐิน ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ พระบรมศาสดาที่มีพระนามว่า" พระปทุมมุตตระ " เทศนาไว้ว่า

" อานิสงค์ของกฐินมีมากเป็นกรณีพิเศษ” คนถวายกฐินทาน และร่วมถวายกฐินทาน


ครั้งหนึ่งจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาพระนิพพาน ซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้ และยิ่งกว่านั้นไซร้ ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้น คือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ความเป็นอัครสาวกก็ดี หรือพระอรหันต์ที่ดี กว่าจะมาถึง พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มีบารมียังไม่สูงดี ยังไม่บรรลุ-มรรคผล ได้

อานิสงค์กฐินทาน จะให้ผลดังนี้
ในอันดับแรกเมื่อตายจากความเป็นคนจะไปเกิดเป็นเทวดาและลงมาจุติเป็นเจ้าจักรพรรดิปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ๕๐๐ ชาติ

เมื่อบุญแห่ง ความเป็นจักรพรรดิสิ้นไป บุญหย่อนลงมาจะเป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ

เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์หมดไป ก็เกิดเป็นเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ

เมื่อบุญแห่งความเป็นเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นอนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ

เมื่อบุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นคหบดี ๕๐๐ ชาติ

รวมความแล้วองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตรัสไว้ว่า คนที่ทอดกฐินทานครั้งหนึ่งก็ดี หรือ ร่วม ทอดกฐินก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันหมด ก็เข้านิพพานก่อนก็ได้


-----------------------------------------------------------------------------------------------

"ความจริง ผ้าป่า กับ กฐิน ก็เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ทว่าอานิสงส์ โดยเฉพาะ กฐิน ได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด คือจะทอดได้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น ต้นเหตุแห่ง การทอดกฐินนี้ ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืช ต้นข้าว ที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ในฤดูฝน ไม่ให้เสียหาย ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ รูป เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้น พระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อมาถึง ในขณะที่นางวิสาขาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชก ด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า
"หลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายจงมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวร แก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด" พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ ส่วนผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ กับสังฆทานไม่เฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผู้รับก็มีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้ เป็นอันว่า ทั้งสองอย่างนี้ ถือว่าอานิสงส์ การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า"
จึงยังคง เชื่อมั่นและศรัทธาใน "รัก" เหมือนอย่างที่เคย...เสมอมา...และจะตลอดไป
แด่
เธอ...ผู้นำแสงสว่างสู่...กลางใจ

#3 สิริปโภ

สิริปโภ
  • Members
  • 1766 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:เรื่องลึกลับ

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 04:06 PM

ข้อมูลแน่นปึ๊ก อนุโมทนาด้วยครับ




#4 DMCchild

DMCchild
  • Members
  • 270 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:Singapore

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 05:31 PM

ขอบพระคุณ คุณ koonpatt มากๆคะ
สาธุ สาธุ สาธุ
ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าตั้งใจบำเพ็ญ ขอให้ตามติด ติดตาม หลวงพ่อธัมมฯ ใกล้ชิด ทั้งหยาบและละเอียดตราบวันที่สุดแห่งธรรมเทอญ...สาธุ

#5 ดวงตะวันแก้ว

ดวงตะวันแก้ว
  • Members
  • 122 โพสต์

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 06:46 PM

เป็นความรู้มากค่ะ
อนุโมทนาบุญค่ะ

#6 นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว
  • Members
  • 2378 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:รู้สึกว่าจะไม่ค่อยได้อยู่กะที่อ่ะ มาดูอารายกานอ่ะ
  • Interests:มาสร้างบารมีตามติดหมู่คณะดีกว่า

โพสต์เมื่อ 07 November 2006 - 10:41 PM

อนุโมทนาด้วยครับ
กายธรรมควรเทิดไว้ ในใจ
เป็นสรณะภายใน เทียงแท้
กว่านี้ บ่ มีใด เทียบได้
น้อบนบท่านไว้แล ค่ำเช้าสุขเสมอ


เอาบุญมาฝากจ้า นั่งสมาธิเยี่ยมไปเลย แถมไปติดจานมาอีกด้วย เด็กชาวเขานี้น่ารักนะแม้คุยไม่รู้เรื่องก็ตามล่ะ สนุกดี

#7 น้ำฝน มัชฌิมหญิงรุ่น14

น้ำฝน มัชฌิมหญิงรุ่น14

    เราคือ นักรบกล้าอาสาสมัคร กองทัพธรรม

  • Members
  • 1961 โพสต์
  • Gender:Female
  • Interests:ช่วยงานบุญที่วัด ให้ถึงที่สุดกำลัง ตราบวันที่ชีวิตจะสิ้นลมหายใจ

โพสต์เมื่อ 08 November 2006 - 07:25 PM

พิธีทอดผ้าป่า ๑
ผ้าป่า คือ ผ้าบังสุกุล มี ๕ ประเภท ได้แก่ ผ้าที่ตกที่ป่าช้า ๑ ผ้าที่ตกที่ตลาด ๑ ผ้าที่หนูกัด ๑ ผ้าที่ปลวกกัด ๑ ผ้าที่ถูกไฟไหม้ ๑

ผ้าบังสุกุลแม้อื่นอีก ๕ ได้แก่ผ้าที่วัวกัด ๑ผ้าที่แพะกัด ๑ ผ้าห่มสถูป ๑ผ้าที่เขาทิ้งในที่อภิเษก ๑ ผ้าที่เขานำไปสู่ป่าช้าแล้วนำกลับมา ๑ มีเรื่องเกี่ยวกับผ้าป่าดังจะกล่าวต่อไป

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาตคฤหบดีจีวร พระภิกษุ ภิกษุณีเป็นต้น ย่อมแสวงหาผ้าบังสุกุลเพื่อนุ่งห่ม และภายหลังที่มีพระพุทธานุญาต ให้สงฆ์อุปสมบทแก่กุลบุตรกุลธิดา ที่มีศรัทธาปสาทจะปฏิบัติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานี้เพื่อการพ้นทุกข์ พระองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสัย ๔ ๒ แก่ผู้ขออุปสมบท ที่เกี่ยวกับผ้าบังสุกุลนี้อยู่ในข้อที่ ๒ ดังนี้

บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต

อดิเรกลาภคือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าแกมกัน(เช่นด้ายแกมไหม)

จะเห็นได้ว่าพระภิกษุ ภิกษุณี เป็นต้น ย่อมต้องอาศัยผ้าบังสุกุลเพื่อนุ่งห่มจนตลอดชีวิต ผ้าบังสุกุลจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสงฆ์ ในสมัยพุทธกาลก็มีการทอดผ้าบังสุกุล ผู้ทอดผ้าบังสุกุลเป็นเทพธิดาองค์หนึ่ง ความปรากฏในธัมมปทัฏฐกถา๓

ในวันหนึ่ง พระเทพธิดาถวายผ้าแก่พระอนุรุทธเถระมีจีวรเก่าแล้ว แสวงหาจีวรในที่ทั้งหลายมีกองหยากเยื่อเป็นต้น หญิงภรรยาเก่าของพระเถระนั้น ในอัตภาพที่ ๓ แต่อัตภาพนี้ ได้เกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลีนี ในดาวดึงส์ภพ นางชาลินีเทพธิดานั้น เห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ จึงถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่า "ถ้าเราจักถวายโดยทำนองนี้ พระเถระจักไม่รับ" จึงวางผ้าไว้บนกองหยากเยื่อแห่งหนึ่งข้างหน้าของพระเถระนั้น ผู้แสวงหาท่อนผ้าทั้งหลายอยู่ โดยอาการที่เพียงชายผ้าเท่านั้นจะปรากฏได้ พระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่โดยทางนั้น เห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงจับที่ชายผ้านั้นนั่นแลฉุดมาอยู่ เห็นผ้าทิพย์มีประมาณดังกล่าวแล้วถือเอาด้วยคิดว่า "ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ" ดังนี้แล้วหลีกไป

พระศาสดาทรงช่วยทำจีวร
ครั้นในวันทำจีวรของพระเถระนั้น พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นบริวารเสด็จไปวิหารทรงประทับนั่งแล้ว แม้พระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ก็นั่งแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน พระมหากัสสปเถระนั่งตอนต้นเพื่อเย็บจีวร พระสารีบุตรเถระนั่งในท่ามกลาง พระอานนท์เถระนั่งในที่สุด ภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายนั้นในช่องเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระ ความต้องการด้วยวัตถุใดๆ มีอยู่ เที่ยวน้อมนำวัตถุนั้นๆ มาแล้ว แม้เทพธิดาเข้าไปสู่ภายในบ้านแล้วชักชวนให้รับภิกษาว่า "ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ อันพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมทรงประทับนั่งอยู่ในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป พวกท่านจงถือข้าวยาคูเป็นต้นไปวิหาร" แม้พระมหาโมคคัลลานเถระ นำชิ้นชมพู่ใหญ่มาแล้วในระหว่างภัต ภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่อาจเพื่อขบฉันให้หมดได้ ท้าวสักกะได้ทรงทำการประพรมในที่เป็นที่กระทำจีวร พื้นแผ่นดินได้เป็นราวกะว่าย้อมด้วยน้ำครั่งกองใหญ่แห่งข้าวยาคู ของควรเคี้ยวและภัต อันภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว

เมื่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลายมีกุศลเจตนาที่จะอนุเคราะห์แก่ภิกษุสงฆ์ จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณะบริโภคนุ่งห่ม นำไปทอดทิ้งไว้ในป่า หรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สะดวกในการแสวงหาผ้าบังสุกุล แม้ในการทำบุญงานศพ ยังนิยมเอาผ้าไปทอดที่หีบศพ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ชักผ้านั้น เรียกว่า ชักผ้าบังสุกุล ถ้าหากมีการทอดผ้าจำนวนมาก ก็ยังนิยมเอาสายสิญจน์ผูกที่หีบศพ และยังโยงสายสิญจน์นั้นมาวางที่หน้าพระภิกษุสงฆ์ และทอดผ้าไว้บนสายสิญจน์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ชักผ้านั้น ก็เรียกว่าชักผ้าบังสุกุล
สำหรับการนำผ้าป่าไปทอด ณ วัดต่างๆ นั้น ไม่ต้องไปบอกทางวัดให้ทราบก่อน ไม่เหมือนกับการทอดกฐินซึ่งจะต้องมีการจองกฐิน และจะทอดวัดละกี่ครั้งก็ได้ และไม่จำกัดเวลาว่าจะต้องทอดในระหว่างหลังจากออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน เมื่อพุทธศาสนิกชนมีจิตศรัทธาและมีกำลังทรัพย์ที่จะหาผ้าเพื่อทอดผ้าป่าได้เมื่อไร ก็ทำการทอดผ้าป่าได้เมื่อนั้น

องค์ผ้าป่าก็มีไตรจีวร หรือสบง บริวารขององค์ผ้าป่าก็แล้วแต่จะจัดหาได้ เพื่อเหมาะสมแก่สมณะบริโภค เช่นอาหารแห้ง หรือเครื่องใช้ที่ควรแก่สมณะ

การตั้งองค์ผ้าป่า คือเอากิ่งไม้หนึ่งกิ่งปักลงในภาชนะ เช่น โอ่ง กระถัง เป็นต้น เพื่อให้กิ่งไม้อยู่คงที่ไม่เอนไปเอนมา จะเอาสิ่งอื่นๆ ที่สมควรแก่สมณะบริโภคใส่ในภาชนะนั้น เพื่อทรงกิ่งไม้นั้นไว้ หรือจะใช้ดินใส่ภาชนะนั้นก็ได้ ตามกิ่งไม้นิยมผูกเส้นด้ายไว้เพื่อสำหรับผูกสมุด ดินสอ หรือเงิน ส่วนองค์ผ้าป่าก็พาดไว้บนกิ่งไม้ และหากมีผู้บริจาคเงินสมทบมากจนผูกไว้ที่กิ่งไม้ไม่ได้ ก็เก็บรวบรวมไว้ต่างหากเพื่อมอบให้แก่ไวยาวัจกรของวัดนั้นๆ ถ้าหากของบริวารมีมากจนกระทั่งโอ่ง หรือกระถัง เป็นต้นนั้นไม่พอที่จะบรรจุได้ก็รวบรวมเก็บไว้ข้างๆ องค์ผ้าป่านั้น

การทอดผ้าป่า เมื่อถึงวัดที่จะทอดแล้ว ก็จัดสถานที่ตั้งองค์ผ้าป่าและบริวาร เช่นจัดตั้งไว้ข้างพระอุโบสถ เพื่อจะได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วย เมื่อจัดตั้งเรียบร้อยแล้วถ้าหากไม่มีพระภิกษุมาชักผ้าบังสุกุลในขณะนั้น ก็ไม่ต้องกล่าวคำถวาย แต่ถ้ามีพระภิกษุจากสงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล ผู้ร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน ก็กล่าวคำถวายผ้าป่าพร้อมๆ กัน ดังนี้

คำบาลีถวายผ้าป่า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น (๓ จบ)

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

เมื่อกล่าวคำถวายจบ ก็จะมีพระภิกษุซึ่งมอบหมายจากสงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล และมีไวยาวัจกรของวัดมารับต้นผ้าป่าและบริวารอื่นๆ ตลอดจนเงินด้วย ผู้ร่วมกันทอดผ้าป่าต่างก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพพการีเป็นต้น การทอดผ้าป่าไม่เป็นการถวายแก่พระภิกษุที่เจาะจง ถ้านำไปถวายเจาะจงพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ ก็ไม่เป็นการทอดผ้าป่า คือไม่ใช่ทอดผ้าป่าบังสุกุล

สำหรับในกรณีที่ไม่มีพระภิกษุมาชักผ้าบังสุกุล เมื่อจัดตั้งองค์ผ้าป่าและบริวารในสถานที่เหมาะแล้ว ก็ให้สัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบว่ามีผ้าป่ามาทอดที่วัด แล้วก็หลีกไป


๑ บริวาร ภาค ๒ ว่าด้วยอาบัติเป็นต้น ข้อ ๙๗๙ พระไตรปิฎกแปลเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔๘ บาลีเล่มที่ ๘ หน้า ๓๒๕ ปัญจมสมันตปาสาทิกา ปริวารวรรณนา ว่าด้วยผ้าบังสุกุลเป็นต้น หน้า ๘๐๔ ฉบับบาลี ภาค ๓ หน้า ๕๑๒

๒ มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ข้อ ๘๗,๑๔๓ พระไตรปิฎกแปลในเล่มที่ ๖ หน้า ๑๓๐,๒๕๓ บาลี เล่มที่ ๔ หน้า ๑๐๖,๑๙๓

๓ ธัมมปทัฏฐกถาแปล เล่มที่ ๔ หน้า ๙๘-๙๙ บาลีเล่มที่ ๔ หน้า ๖๔-๖๕


กฐินคืออะไร
กฐิน น. ผ้าที่ถวายพระซึ่งจำพรรษาแล้ว๑ ว. สำหรับการอย่างนั้น เช่นในคำว่า ผ้ากฐิน (ป. ไม้สะดึง คือไม้แบบตัดจีวร ผ้ากฐิน คือผ้าสำหรับใช้ไม้สะดึง เพราะต้องเอาไม้สะดึงมากะเพื่อตัดจีวรให้เสร็จก่อนรุ่ง)

กฐิน สังฆกรรมอย่างหนึ่ง๒ ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้เพื่อขยายระยะเวลาทำจีวรให้ยาวออกไป โดยปกติระยะเวลาทำจีวรมีเพียงท้ายฤดูฝน ถ้าได้กรานกฐินแล้วระยะเวลาย่อมขยายออกไปตลอดฤดูหนาว ในกาลต่อมาได้กำหนดเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญอันหนึ่งของชาวไทยที่เป็นพุทธศาสนิก สืบต่อตกทอดมาแต่โบราณเท่าที่มีหลักฐานทราบได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกเป็นสามัญว่า "ประเพณีทอดกฐิน"

กฐินไม้สะดึง๓ไม้แบบสำหรับเอาผ้าลาดลงไปแล้วตัดผ้าตามไม้แบบนั้นและเย็บตามแบบนั้นด้วย ผ้าที่ถวายประจำปีแก่ภิกษุอยู่จำพรรษาเพื่อทำจีวร

มูลเหตุแห่งพุทธานุญาต
มูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุกรานกฐินนั้นคือภิกษุปาเฐยยะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า๔ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาเฐยยรัฐ ๓๐ รูป ล้วนถืออรัญญิกธุดงค์บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ก็ยังไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยมีใจรัญจวนว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่ก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วง ๓ เดือน ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน จีวรก็เปียกชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

การที่พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้น เป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้นพระองค์ได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ยังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต และได้กราบทูลเล่าตั้งแต่ต้นว่า เดินทางมาเฝ้าพระองค์ไม่ทัน เพราะต้องจำพรรษาในระหว่างทาง และเดินทางมาด้วยความลำบาก เพราะฝนยังตกชุก จีวรก็ชุ่มชื้นด้วยน้ำ

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น จึงตรัสสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน และเมื่อกรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ

พระอรรถกถาจารย์อธิบาย
ข้อความในตอนนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า๕ เมืองปาเฐยยะอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นโกศล คำว่าปาเฐยยะเป็นชื่อของพวกพระภัททวัคคิยเถระ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าโกศล ในจำนวนภิกษุ ๓๐ รูปนั้น บรรลุเป็นพระอนาคามีเป็นอย่างสูงและบรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ ไม่มีพระอรหันต์หรือปุถุชนเลย และความจริงภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้น สมาทานธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อทีเดียว แต่ที่ยกขึ้นมากล่าวว่า ถืออารัญญิกธุดงค์นั้น เป็นเพียงยกขึ้นมากล่าวเป็นตัวอย่าง

มูลแห่งกฐิน๖


ถามว่า กฐินมีมูลเท่าไร มีวัตถุเท่าไร มีภูมิเท่าไร
ตอบว่า กฐินมีมูลอย่างเดียวคือสงฆ์
มีวัตถุ ๓ คือ ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผ้าอุตราสงค์ ๑ ผ้าอันตรสาวก ๑
มีภูมิ ๖ คือ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ผ้าทำด้วยฝ้าย ๑ ผ้าทำด้วยไหม ๑ ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ๑ ผ้าทำด้วยป่าน ๑ ผ้าทำด้วยสัมภาระเจือกัน ๑ (ผ้าผสมกัน)


ถวายกฐินหรือทอดกฐินกันเมื่อไร
การถวายผ้ากฐินหรือทอดกฐินนั้น คือเดือนท้ายแห่งฤดูฝน๗ ทำกันภายในหนึ่งเดือน หลังจากออกพรรษา คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ใครเป็นผู้ถวายกฐิน
บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง๘ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์หรือสหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็นเวลา ๒ ปี เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี) สามเณรี สามเณร คนใดคนหนึ่งถวายก็ใช้ได้

คหบดีจีวร
สำหรับเรื่องของกฐินเป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนฆราวาสเราที่ได้มีโอกาสถวายไตรจีวรที่สำเร็จรูปเป็นผ้ากฐินนั้น คงจะหลังจากที่พระพุทธองค ์ ทรงอนุญาตคหบดีจีวรแล้ว๙ คือท่านชีวกโกมารภัจจ์ได้ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่ง เป็นผ้าเนื้อดีที่พระเจ้าจันทปัชโชตทรงส่งมาพระราชทานเป็นรางวัลในการที่ท่านได้รักษาพระองค์ให้ทรงหายประชวร เมื่อท่านชีวกโกมารภัจจ์ได้รับผ้าแล้ว ก็คิดว่าผ้านี้สมควรสำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงได้ถวายแด่พระพุทธองค์และกราบทูลขอให้พระองค์ทรงพระพุทธานุญาตคหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วย พระพุทธเจ้าทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา เมื่อท่านชีวกโกมารภัจจ์ได้ถวายบังคมพระพุทธองค์ทำประทักษิณกลับไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้นแล้วตรัสสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนาจงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร แต่เราสรรเสริญการยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้"



"ด้วยใจกล้าอาสา พัฒนาไม่หยุดยั้ง"

น้ำฝนลูกพระธัมฯ

#8 koonpatt

koonpatt
  • Members
  • 616 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 08 November 2006 - 07:33 PM

สา...ธุ กับรายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ น้อง SoperNora
จึงยังคง เชื่อมั่นและศรัทธาใน "รัก" เหมือนอย่างที่เคย...เสมอมา...และจะตลอดไป
แด่
เธอ...ผู้นำแสงสว่างสู่...กลางใจ

#9 chath

chath
  • Members
  • 29 โพสต์

โพสต์เมื่อ 09 November 2006 - 11:40 AM

อ่านแล้วก็ยังไม่ค่อย clear เลยค่ะ ขอแบบสรุปสั้นๆ อีกทีได้ไหมคะ

#10 *ธนพล*

*ธนพล*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 22 December 2010 - 11:27 AM

อนุโมทนาครับ

#11 skynoi

skynoi
  • Admin
  • 603 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 31 October 2013 - 04:09 PM

ความรู้เรื่อง การทอดผ้าป่า :D

 

ความรู้เรื่อง การทอดกฐิน :D