ไปที่เนื้อหา


สิอร

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 20 Feb 2008
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Jun 12 2008 09:12 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

ประวัติท่านอนาคาริก ธรรมปาละ รัตนบุรุษแห่ง ศรีลังกา

26 March 2008 - 10:23 AM



ตอนที่ฉันหาข้อมูลประกอบการเขียนบันทึก "ไปเที่ยวอินเดียกับคุณยาย" ได้อ่านเจอเรื่องราวของท่านอนาคาริก ผู้ต่อสู้นำเอาพุทธคยากลับมาคืนเป็นของชาวพุทธ รู้สึกประทับใจ จึงอยากนำเรื่องราวของท่านมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการระลึกถึงความเสียสละของท่าน เนื้อหาค่อนข้างยาว แต่ขอลงม้วนเดียวจบ จะได้อ่านอย่างต่อเนื่องค่ะ

รัตนบุรุษแห่ง ศรีลังกา
ประวัติของท่านอนาคาริก ธรรมปาละ



แนบไฟล์  Anagarika_1_.jpg   40.24K   751 ดาวน์โหลด



อนาคาริก ธรรมปาละ ( Anagarika Dhammapala ) เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่องประทีปแห่งเอเชียของท่านเซอร์ เอ็ดวิล อาร์โนล ก็เกิดความซาบซึ้ง มีความคิดอยากอุทิศชีวิตถวายต่อพระพุทธองค์ในการฟื้นฟูพุทธศาสนาที่อินเดีย จึงออกเดินทางสู่อินเดีย เมื่อได้เห็นเจดีย์พุทธคยาที่ชำรุดทรุดโทรมถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความครอบครองของพวกมหันต์ จึงเกิดความสังเวชใจ ที่ได้พบเห็นเช่นนั้น จึงทำการอธิษฐานต่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ว่า จะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา ในอินเดียและนำพุทธคยากลับคืนมาเป็นสมบัติของชาวพุทธทั่วโลกให้ได้

ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ เดิมนามว่า ดอน เดวิด เหวะวิตารเน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2407 ในครอบครัวผู้มั่งคั่ง บิดาชื่อว่า เดวิด เหววิตรเน ในตระกูลชาวพุทธผู้มั่งคั่ง ซึ่งทำธุรกิจเฟอนิเจอร์ในเมืองโคลัมโบ ตำบลเปตตาห์ เป็นบุตรของดอน คาโรลิส เหวะวิตารเน และนางมัลลิกา เหวะวิตารเน (นามสกุลเดิม - ธรรมคุณวัฒนะ) ตระกูลของฝ่ายบิดาท่าน เป็นชาวพุทธผู้ทำเกี่ยวกับการกสิกรรมในเมืองมาตะระ ทางตอนใต้ของศรีลังกา ปู่ของท่านมีนามว่า ทินคิรี อัปปุฮามี มีบุตรสองคน คนหนึ่งออกบวชเป็นพระภิกษุ นามว่า หิตตะติเย อัตถทัสสี เป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดหิตตะติยะมหาวิหาร ส่วนลูกคนที่สอง คือบิดาของท่านธรรมปาละ ได้เดินทางมาทำงาน ตั้งรกรากในกรุงโคลัมโบ ต่อมาได้สมรสกับนางมัลลิกา ธรรมคุณวัฒนะ ซึ่งเป็นตระกูลชาวพุทธผู้มั่งคั่ง ในกรุงโคลัมโบ และตระกูลนี้ ได้อุทิศที่ดินแปลงหนึ่ง สร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ให้ชื่อว่า วิทโยทัยปริเวณะ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยวิทโยทัย


บิดาและมารดาของท่าน ในตอนแรกตั้งใจจะได้ลูกชาย แต่จุดหมายต่างกัน บิดาปรารถนาจะได้ลูกชาย ไว้สืบสกุลและสืบทอดกิจการ ส่วนมารดา อยากได้ลูกชายเพราะปรารถนาจะเห็นพระภิกษุผู้ครองกาสาวพัสตร์ ที่จะนำดวงประทีบแห่งพระธรรม ฉายส่องทางสว่างให้แก่ประชาชาติชาวลังกาในขณะนั้น ทุกๆ เช้านางจะเก็บดอกไม้มา บูชาพระรัตนตรัย และนิมนต์พระภิกษุมาเพื่อเจริญพระพุทธมนต์ และถวายทานกุศลทุกๆวันพระ ปรารถนาขอให้มีบุตรชายที่เกิดมาเป็นผู้ที่มีปัญญาแจ่มใส มีจิตใจฝ่ในพระธรรม และเป็นผู้ที่จะนำประชาชาติให้พ้นจาก ความมืดมนจากการปกครองอันอยุติธรรมของคนต่างชาติต่างศาสนาในยุคนั้น

เมื่อครบกำหนดเวลา นางมัลลิกา เหวะวิตารเน ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่แข็งแรง และมีใบหน้าผ่องใส ในคืนวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๗ ซึ่งเด็กทารกคนนั้น ต่อมา คือ ดอน เดวิด เหวะวิตารเน หรือ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ นั่นเอง สภาวะสังคมลังกายุคนั้น นับว่าเป็นยุคเสื่อมโทรมที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากภัยต่างชาติต่างศาสนาเข้ามารุกราน คือภัยจากพวกโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ครั้งหลังสุดก็หนักมาก พระพุทธศาสนาถูกเบียดเบียน พระภิกษุสามเณรถูกกลุ่มคนมิจฉาทิฎฐิรับจ้างด่าทอ ชาวพุทธถูกดขี่ข่มเหง ถูกเรียกเก็บภาษีแพงๆ จากผู้ปกครองประเทศต่างชาติในยุคนั้น ชาวพุทธบางคน เวลารับราชการ หรือทำงานทั่วไป หากเป็นชาวพุทธ จะไม่ได้รับเข้าทำงานในตำแหน่งสูง เด็กเมื่อเกิดมาก็ถูกยัดเยียดให้มีชื่อแบบต่างชาติ เช่นเดวิด ไมเคิล อะไรทำนองนี้ ท่านธรรมปาละ หรือดอน เดวิด เหวะวิตารเน เติบโตขึ้นมาในสังคมแบบนี้

ชีวิตผลิกผัน สละเรือนเพื่องานพระศาสนา

ตลอดเวลา ตั้งแต่ดอน เดวิด เกิดมา พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนให้อยุ่ในศีลในธรรม สอนให้ศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนา เด็กชายเดวิด จึงเติบโตมาท่ามกลางฝ่ายธรรมะ คือพ่อแม่ของตน ที่สอนให้อยู่ในหลักธรรมะ และฝ่ายอธรรม คือสังคมรอบข้าง และครูอาจารย์ที่โรงเรียน ที่มักพูดดูหมิ่นพระพุทธศาสนา และพูดโน้มน้าวให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ บางครั้งอาจารย์ที่โรงเรียนของเดวิด ถึงกับกล่าวว่า "ที่ฉันมาที่ประเทศนี้ ไม่ใช่เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้เธอ แต่มาเพื่อเปลี่ยนศาสนาของเธอ" แต่ท่านธรรมปาละ หรือเด็กชายเดวิดในขณะนั้นก็ยังมั่นคงในพระพุทธศาสนาเช่นเดิม เพราะการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีในพระพุทธศาสนานั่นเอง บางครั้ง เพราะความมั่นคงในพระพุทธศาสนานี้เอง ท่านถึงกับต้องถูกลงโทษจากอาจารย์ที่โรงเรียน เพียงเพราะลาหยุดไปเพื่อประกอบพิธีกุศลในวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ท่านธรรมปาละ หรือดอน เดวิด เหวะวิตารเน ต้องหันเหชีวิตจากเดิม ไปสู่ความเป็นผู้มีบทบาท อย่างสูง ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย คือ การโต้วาทะธรรมที่เมืองปานะดุรา ..เป็นการโต้วาทีเกี่ยวกับหลักธรรม ทางพระพุทธศาสนา และศาสนาคริสต์ ซึ่งมี พระมิเคตตุวัตเต คุณานันทะ นักบวชในพระพุทธศาสนา ได้รับคำท้าทาย จากนักบวชที่เรียกกันว่า ศิษยาภิบาล ของศาสนาคริสต์ ให้มาโต้วาทะธรรมกัน ซึ่งฝ่ายคริสต์ เห็นท่านคุณานันทะ เป็นศัตรูตัวฉากจ เพราะเวลาที่นักสอนศาสนาไปด่าว่าร้ายพระพุทธศาสนาที่ไหน พระคุณานันทะ ก็จะไปโต้วาทะ แก้ข้อกล่าวหา อย่างถึงพริกถึงขิง และท่านคุณานันทะนี้ เป็นวีรบุรุษในดวงใจของเด็กน้อยเดวิด หรือท่านธรรมปาละ มาโดยตลอด และเมื่อการโต้วาทะธรรมครั้งสุดท้าย ที่เมืองปานะดุรา ระหว่างท่านคุณานันทะ และ ศิษยาภิบาลเดวิด เดอ สิลวา ปรากฏว่า ฝ่ายพระพุทธศาสนา คือท่านคุณานันทะได้รับชัยชนะ ฝ่ายศาสนาคริสต์ก็เริ่ม เข็ดขยาด และไม่กล้าต่อว่า ว่าร้ายพระพุทธธรรมในที่สาธารณะอีกเลย

และผลการโต้วาทะธรรมครั้งนี้ ได้มีผู้แปลการโต้วาทะเป็นภาษาต่างประเทศ ก็ปรากฏมีชาวต่างประเทศสองท่าน เกิดได้อ่านและมีความศรัทธาในความมีเหตุผลของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงได้เดินทางมายังศรีลังกา สองท่านนี้คือ พันเอก เฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ และ มาดาม เอช.พี. บลาวัตสกี ทั้งสองท่านได้มาปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ที่เมืองกอลล์ ทางภาคใต้ของศรีลังกา และเด็กน้อยเดวิด ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับทั้งสองท่านนี้ด้วย ต่อมาทั้งสองท่าน ได้ตั้งสมาคม ที่ดำเนินงานด้านศาสนสัมพันธ์ (โดยส่วนใหญ่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทางพระพุทธศาสนา) คือ สมาคมธีออสโซฟี่ ตั้งสาขาขึ้นที่อัทยา ใกล้ๆกับเมืองมัทราสทางตอนใต้ของอินเดีย

ทางด้านท่านธรรมปาละ ซึ่งตอนนี้หัวใจของท่านเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา พอถึงราว พ.ศ. ๒๔๒๗ ขณะนั้นท่านธรรมปาละ ได้มีอายุครบ ๒๐ ปีพอดี ท่านได้ขอร้องบิดามารดาเพื่อที่จะเดินทางไปร่วมงานของ สมาคมธีออสโซฟี่ อัทยา ซึ่งท่านก็ได้ไปตามความปรารถนา ที่นั่นท่านธรรมปาละได้ศึกษาพระพุทธศาสนา และภาษาบาลีเพิ่มมากขึ้น ตามคำแนะนำช่วยเหลือของนางบลาวัตสกี ต่อมา นางบลาวัตสกี ถูกพวกคณะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอินเดียใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นา ๆ เพราะการที่มีสมาคมธีออสโซฟี่ ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา และมีพันเอกโอลคอตต์ และนางบลาวัตสกีอยู่ ทำให้การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้นางบลาวัตสกีต้องเดินทางกลับยุโรป

ถึงขณะนี้ ดอน เดวิด เหวะวิตารเน ก็จำเป็นต้องอยู่ที่สมาคมธีออสโซฟี่ต่อไป ได้เขียนจดหมาย ถึงพ่อแม่ และญาติๆที่ศรีลังกา ว่าขอประกาศสละงานบ้านเรือน เพื่อถือเพศ เป็นอนาคาริก เป็นผู้ถือพรหมจรรย์(ถึงตอนนี้ แสดงว่า ท่านได้ชื่อว่า เป็น อนาคาริก ธรรมปาละ อย่างสมบูรณ์แล้ว) และขอทำงานที่สมาคมธีออสโซฟี่ต่อไปอีกสักพัก ทางฝ่ายบิดา ก็ทัดทานอยู่บ้าง กล่าวว่า หากลูกชายคนโตทิ้งบ้านเรือนไปแล้ว ใครจะดูแลน้อง ๆ ท่านธรรมปาละได้ตอบบิดาด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว อันเป็น ปกตินิสัยของท่าน ว่า "ทุกคนมีกรรมเป็นของตน และกรรมนั่นแหละ จะดูแลรักษาพวกเขาเอง" ทางฝ่ายมารดาเองก็มีศรัทธา และปรารถนาที่จะเห็นบุตรของตน เป็นเช่นนี้อยู่เป็นทุนเดิม อยู่แล้ว ได้ให้ศีลให้พรและบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงทางบ้าน หากตัวของมารดาเองไม่มีภาระ ที่ต้องดูแลลูกๆ ของท่านอีกสองคน เธอเองก็คงจะได้ร่วมด้วยในชีวิตใหม่ ของท่านธรรมปาละ เป็นแน่

ต่อมา ในปี ๒๔๒๙ ขณะนั้นท่านธรรมปาละกำลังทำงานรับราชการเป็นเสมียน ชั้นผู้น้อยในกรมศึกษาธิการ ในกรุงโคลัมโบอยู่ และได้สอบเลื่อนชั้นในตำแหน่งที่สูงกว่า ในช่วงนั้น พันเอกโอลคอตต์และเพื่อนต้องการที่จะเดินทาง จาริกทั่วลังกา เพื่อพบปะ พี่น้องชาวพุทธ และท่านต้องการล่าม ท่านธรรมปาละอาสาจะเป็นล่าม ท่านธรรมปาละ ในตอนนั้น กิจอื่นที่จะทำ นอกจากพระพุทธศาสนา ไม่มีอีกแล้ว ท่านได้ขอยื่นใบลาออก จากราชการ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา" และท่านได้พบปะชาวพุทธมากมาย ทำให้ทราบปัญหา ความเดือดร้อนที่ถูกกดขี่ ทั้งด้านการศาสนา และการทำงาน หรืออื่น ๆ ซึ่งเรื่องที่ท่านทำไว้ในประเทศลังกามีมากมาย เช่น การทำให้เกิดมีตั้ง โรงเรียนสอนพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ และโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมากลายเป็นวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียง คือ อานันทะคอลเลจ

พันเอก เฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ ท่านได้เดินทางไปยังประเทศพระพุทธศาสนาอื่นๆอีก ร่วมกับพันเอกโอลคอตต์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ท่านได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบปะกับชาวพุทธที่นั่น และท่าน ได้พาพระภิกษุจากประเทศญี่ปุ่น ที่ปรารถนาจะมาศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่ศรีลังกา มาด้วยซึ่งได้รับการต้อนรับจากชาวลังกา อย่างเอิกเกริก

ในปีพ.ศ. ๒๔๓๔ พันเอกโอลคอตต์เดินทางมายังประเทศพม่า เพื่อพบปะชาวพุทธ ที่พม่า และหารือเกี่ยวกับงานฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ในขณะนั้นท่านธรรมปาละ ได้เดินทาง มายังอินเดียเพื่อนมัสการพุทธสถาน และสังเวชนียสถานที่อินเดีย โดยเดินทางมากับ พระภิกษุชาวญี่ปุ่น คือพระโกเซน คุณรัตนะ โดยเดินทางมายังอัทยา จากอัทยาไปบอมเบย์ จากบอมเบย์ไปที่สารนาถ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล เรียกว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และจากสารนาถ เดินทางไปยังพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของ พระพุทธองค์ และทั้งชีวิตของท่าน ก็หมดไปกับการฟื้นฟู พระพุทธสถานที่พุทธคยานี้เอง



ตำนานแห่งพระมหาเจดีย์พุทธคยาและ เรื่องราวของมหันต์

แนบไฟล์  _E0_B9_82_E0_B8_9E_E0_B8_98_E0_B8_B4_E0_B9_80_E0_B8_88_E0_B8_94_E0_B8_B5_E0_B8_A2_E0_B9_8C_1_.jpg   26.43K   110 ดาวน์โหลด




มหาเจดีย์พุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานนะลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น มีการสร้างพระมหาเจดีย์มาตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างเติมต่อ ๆ มา โดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิม ได้บุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาก็ถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล ราวปี พ.ศ. ๒๑๓๓ นักบวชฮินดูรูปหนึ่ง ชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึง ที่พุทธคยา และเกิดชอบใจในทำเลนี้ จึงได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้ ๆ กับ พระมหาเจดีย์พุทธคยา และพออยู่ไปนาน ๆ ก็คล้าย ๆ กับเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย และพวกมหันต์นี้ ก็คือนักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดูนั่นเอง กล่าวกันว่า เป็นพวกที่ติดอันดับ มหาเศรษฐี ๑ ใน ๕ ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์ปัจจุบัน ก็มีการสืบทอดมาตั้งแต ่โคเสณฆมัณฑิคีร์ ตอนนี้เป็นองค์ที่ ๑๕ การที่พวกมหันต์ มาครอบครองพุทธคยานั้น ก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไรทั้งสิ้น เพียงใช้พื้นที่ เพื่อหาประโยชน์เท่านั้นเอง

ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดงมิน แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดีย เพื่อขอบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบาง ประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับ ความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดีย ได้ส่ง เซอร์ อเล๊กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ด.ร.ราเชนทรลาล มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะ ทั้งหมดมาทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนเป็นดังที่เห็นในปัจจุบัน ก่อนหน้าที่ท่านธรรมปาละจะเดินทางมาที่พุทธคยานั้น ท่านได้อ่านบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีบแห่งทวีปเอเซีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา ได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า (แปลจากภาษาอังกฤษ) ตะวันตกและวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์ ( EAST and West ; A Splendid Opportunity) เขียนโดย ท่านเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์

แนบไฟล์  _E0_B9_80_E0_B8_AD_E0_B8_94_E0_B8_A7_E0_B8_B4_E0_B8_99__E0_B8_AD_E0_B8_B2_E0_B9_82_E0_B8_99_E0_B8_A5_E0_B8_94_E0_B9_8C_1_.jpg   28.52K   113 ดาวน์โหลด
ท่านเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์

บทความของท่านเซอร์ เอดวิน อาโนลด์


“ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกังขาสงสัยใดๆ ในความเป็นจริง ของสถานที่ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลของชาวพุทธ คือ กบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ, ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค ์ได้แสดงธรรมเทศนา กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ซึ่งมี ต้นโพธิ์เป็นเครื่องหมาย ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อ ๒๓๘๓ ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตและมีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้นำ ความเจริญทางอาารยธรรม มาสู่เอเชีย บรรดาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คือสิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย ทำไมหรือ เพราะว่า ปัจจุบันตกอยู่ในมือของนักบวชพราหมณ์ ผู้ไม่ได้ดูแลวัดเลย นอกจากว่าจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น และพวกเขา ได้ตักตวงเอาผลประโยชน์ เป็นอย่างมาก

ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวคือ ๑๔๐๐ ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสุดและชาวพุทธรักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลงและถูก ปล่อยปละละเลย เหมือนกับ วัดพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ จากการอันตรธานสูญหายของพุทธศาสนาจากอินเดีย ๓๐๐ ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่ นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครองสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งได้เห็นและก่อนตั้ง โรงเรียนสอนศาสนาขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครองเป็นเจ้าของวัดพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลเบงกอลได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่ รอบพุทธคยา ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ.๑๘๘๐) และได้ขอส่วนหนึ่งของรั้วเสาหินสมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่พวกเขาได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม แต่พวกมหันต์ไม่ได้คืนมา และท่านเซอร์ อาชเลย์ gvgfo (Sir Ashley Eden) ก็ไม่สามารถผลักดันการบูรณะให้แล้วเสร็จได้

ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมคืนที่ดี และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของศรัทธา ดังเช่นนครเมกกะ และเยรูซาเล็ม (Mecca and Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน-เมื่อข้าพเจ้าได้พักที่โรงแรม ที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชา สาร์ท (Shraddh) ของพวกฮินดูในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่าจำนวนมากหลายพันชิ้น ซึ่งจารึก ด้วยภาษาสันสกฤตได้ถูกทิ้งจมอยู่ในดิน ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า

“ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่”

“เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา” นี้เป็นคำตอบจากพวกเขา

ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ ๓-๔ ใบอย่างเงียบ ๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หักมาจาก กิ่งบนหัวของพวกเขา และข้าพเจ้าได้นำใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้า ได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ และได้ใส่ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชาทุก ๆ วัน ”

( และอีกตอนหนึ่งที่ท่านเซอร์อาร์โนลด์เขียนถึงพวกมหันต์ที่พุทธคยา มีดังต่อไปนี้ )

“ แต่ ๒-๓ ปีผ่านไป ในขณะที่ความคิดไปแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย และสมาคมอย่างมากมายได้ก่อตั้งขึ้น ด้วยจุดประสงค์พิเศษ เพื่อเรียกร้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนมา พวกมหันต์ได้เรียกร้องเอาทรัพย์สินมากเกินไป และเข้ายึดครองวัดมากขึ้นทุกที จดหมาย ที่ข้าพเจ้าได้รับจากทางตะวันออก แสดงว่า พวกรัฐบาลได้นึกถึงคำขู่ของพวกพราหมณ์และผู้บริหารท้องถิ่น ได้มีท่าทีเปลี่ยนไป ในการเจรจา

ข้าพเจ้าคิดว่า พวกมหันต์เป็นคนดี ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาอย่างนี้มาก่อนเลย แต่มิตรภาพและความพอใจที่พวกเขามีให้ ถ้าคุณเดินเข้าไปในสถานที่ซึ่งผุ้คนที่ศรัทธานับล้าน เลื่อมใสศรัทธา อยู่ คุณอาจสังเกตเห็นสิ่งที่น่าอดสูและระทมใจในสวนมะม่วง ด้านตะวันออกของแม่น้ำ ลิลาจัน (Lilajan) พระพุทธรูปสมัยโบราณได้ถูกนำมาติดไว้ที่คลองชลประทานใหล้กับหมู่บ้านมุจลินท์ คือ สระมุจลินท์ และได้เห็น พระพุทธรูปใช้เป็นฐานรองรับบันไดที่ท่าตักน้ำ ข้าพเจ้าได้พบชาวนาในหมู่บ้านรอบ ๆ วิหารพุทธคยา พวกเขาใช้แผ่นสลักที่มีความงดงามจากวิหาร มาทำเป็นขั้นบันได ของพวกเขา ข้าพเจ้าได้พบภาพสลักสูง ๓ ฟุต ซึ่งมีสภาพดีเยี่ยม จมอยู่ใต้กองขยะด้านตะวันอกของวังมหันต์ อีกส่วนหนึ่ง ติดอยู่กับผนังด้านตะวันออกของสวนมะม่วงริมแม่น้ำ และรั้วเสาหินพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของอินเดีย ซึ่งล้อมวิหาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องครัวพวกมหันต์ ”

ทันทีที่บทความของท่านเซอร์เอดวิน อาโนลด์ ได้ตีพิมพ์ ท่านธรรมปาละได้มีโอกาสอ่าน ก็เกิดแรงบันดาลใจยิ่งขึ้น ที่จะมาดูพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านเดินทางมาถึงพุทธคยา พร้อมกับพระโกเซน คุณรัตนะ วันที่ท่านมาถึงพุทธคยานั้น เป็นวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๓๔ ท่านธรรมปาละได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้เองว่า “หลังจากขับรถออกมาจากคยา ๖ ไมล์ (ประมาณ ๑๐ กม.) พวกเราได้มาถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในระยะทาง ๑ ไมล์ ท่านสามารถเห็นซากปรักหักพังและภาพสลักที่เสียหายเป็นจำนวนมาก ที่ประตู ทางเข้าวัดของพวกมหันต์ ตรงหน้ามุข ทั้งสองด้าน มีพระพุทธรูปปางสมาธิและปฐมเทศนาติดอยู่ จะแกะออก ได้อย่างไร พระวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่ บนบัลลังก์ งดงามมาก ซึ่งแผ่ไปในใจ ของพุทธศาสนิกชนสามารถทำให้หยุดนิ่งได้ ช่างอัศจรรย์จริง ๆ

ทันใดนั่นเอง ข้าพเจ้าได้มานมัสการ พระพุทธรูป ช่างน่าปลื้มอะไรเช่นนี้ เมื่อข้าพเจ้าจดหน้าผาก ณ แท่นวัรชอาสน์ แรงกระตุ้นอย่างฉับพลัน ก็เกิดขึ้นในใจ แรงกระตุ้นดังกล่าวนั้นกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหยุดอยู่ที่นี่ และ ดูแลรักษา พุทธสถาน อันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสถานที่ตั้งแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเจ้าชายศากยะสิงหะ (พระสิทธัตถะ) ได้ประทับตรัสรู้ และเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่มีที่แห่งใดในโลกมาเทียมเท่านี้

( As soon as I touched with my forehead the Vajrasana a sudden impulse came to my mind to stop here and take care of this sacred spot, so sacred that nothing in the world is equal to this place where Prince Sakya Sinha attained enlightenment under the Bodhi Tree )

เมื่อมีแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถามท่านโกเซน คุรุรัตนะ ว่า ท่านจะร่วมมือกับข้าพเจ้าหรือไม่ และท่านได้ตอบตกลงอย่างเต็มใจ และมากไปกว่านั้นท่านเองก็มีความคิด เช่นเดียวกัน เราทั้งสองสัญญากันอย่างลูกผู้ชายว่า พวกเราจะพักอยู่ที่นี้ จนกระทั่งมีพระสงฆ์บางรูปมาดูแล สถานที่แห่งนี้ ”

แนบไฟล์  _E0_B8_9E_E0_B8_B8_E0_B8_97_E0_B8_98_E0_B8_84_E0_B8_A2_E0_B8_B2._1_.jpg   44.2K   108 ดาวน์โหลด
ภาพนี้คือ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ และพระโกเซน ชาวญี่ปุ่น เดินทางมาพุทธคยา
(สังเกตแท่นวัชรอาสน์ในสมัยก่อน ไม่มีรั้วล้อมรอบ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ยังไม่ใหญ่มากนัก)


ท่านธรรมปาละและพระโกเซน ได้พักอยู่ที่พุทธคยาชั่วคราว ที่ศาลาพักของพม่า ซึ่งคณะทูตของพระเจ้ามินดงมิน ได้สร้าง ไว้เป็นที่พัก เรียกเสียง่าย ๆ ว่า วัดพม่า จากนั้นท่านธรรมปาละก็เริ่มงานของท่าน โดยการเขียนจดหมายบอกเล่าสภาพของ พุทธคยา ส่งไปยังบุคลลแทบทุกวงการของพม่า ลังกา อินเดีย และเรียกร้อง ชักชวนให้ร่วมมือกัน เพื่องานฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และพุทธสถาน ท่านได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดคยาเพื่อจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูพุทธคยา ได้รับการชี้แจง ว่าพระวิหารมหาโพธิพร้อมกับ รายได้ที่เกิดขึ้นนั้น ตอนนี้กลายเป็นของมหันต์ แต่ว่าด้วย ความช่วยเหลือของรัฐบาลก็อาจมีทางเป็นไปได้ที่จะขอซื้อพระวิหาร และบริเวณดังกล่าว จากมหันต์ (น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ว่าเราต้องขอซื้อ ขอมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็น ของพวกเราชาวพุทธเอง )

การก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์



ท่านธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังโคลัมโบ เพื่อที่จะไปจัดตั้งสมาคมขึ้น เพื่อการนำ พุทธคยากลับคืนมาสู่ชาวพุทธ และในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ พุทธสมาคม เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ในชื่อว่า "พุทธคยามหาโพธิโซไซเอตี้ " ก็ได้รับการตั้งขึ้น ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศลังกา มีท่านประธานนายกะ เอช. สุมังคลมหาเถระ เป็นนายกสมาคม พันเอกโอลคอตต์เป็นผู้อำนวยการ ท่านธัมมปาละเป็นเลขาธิการ นอกนี้ก็มีผู้แทนจากประเทศและกลุ่มชาวพุทธต่าง ๆ เข้าร่วม ในการก่อตั้งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้แทนจากประเทศไทยของเราเข้าร่วมด้วย คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จันทรทัตจุฑาธร ( His Royal Highness Prince Chandradat Chudhadharn) ชื่อของสมาคมนี้ ต่อมาได้ตัดคำว่า พุทธคยาออก คงไว้แต่ มหาโพธิโซไซเอตี้ ดังในปัจจุบัน

สรุป จุดประสงค์ของสมาคมมหาโพธิ ที่ได้จัดตั้งขึ้นในคราวนั้น คือ

" เพื่อสร้างวัดพระพุทธศาสนาและก่อตั้งพุทธวิทยาลัย กับส่งคณะพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนของประเทศพระพุทธศาสนา คือ จีน ญี่ปุ่น ไทย เขมร พม่า ลังกา จิตตะกอง เนปาล ธิเบต และอารกัน ไปประจำอยู่ ณ พุทธคยา " " เพื่อจัดพิมพ์วรรณคดีพระพุทธศาสนาขึ้นในภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของอินเดีย " หลังจากนั้น ในวันอาสาฬหปุรณมี ท่านอนาคาริกธรรมปาละได้กลับไปยังพุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุลังกาอีก ๔ รูป ที่พร้อมจะมาร่วมด้วยกับท่าน และท่านได้ขอติดต่อกับมหันต์ อย่างยากลำบาก จนกระทั่งพวกมหันต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นยุคของ เหมนารยันคี มหันต์ ยอมตกลงให้เช่าที่แปลงเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในพุทธคยา เพื่อทำเป็นที่พัก ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านธัมมปาละได้จัดให้มีการประชุมชาวพุทธระหว่างชาติขึ้นที่พุทธคยา โดยมีผู้แทนชาวพุทธจากลังกา จีน ญี่ปุ่น และจิตตะกอง เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้มีการประชุมกันในวันที่ ๓๑ ของเดือนตุลาคม

ผู้แทนจากญี่ปุ่นกล่าวว่า ชาวพุทธญี่ปุ่นยินดีที่จะสละทรัพย์ เพื่อขอซื้อพุทธคยาคืนจากมหันต์ คำกล่าวนี้เป็นที่อนุโมทนาในที่ประชุมอย่างมาก ท่านธัมมปาละได้ให้มีการประดับ ธงชาติญี่ปุ่นไว้ข้าง ๆ ธงพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเกียรติแก่ชาวพุทธญี่ปุ่น แต่กลับไม่เป็นผลดี อย่างที่คิด เมื่อข้าหลวงเบงกอล เดินทางมา ถัดจากวันที่มีการประชุม เพื่อจะมาเยี่ยมชมพุทธคยา แต่เมื่อเห็นธงชาติญี่ปุ่น ก็เกิดระแวงขึ้นมาทันที เพราะขณะนั้นอินเดีย และอังกฤษที่ปกครองอินเดีย ยังวิตกกับท่าทีทางการเมืองของญี่ปุ่นอยู่ ทำให้ข้าหลวงเบงกอล เดินทางกลับทันที และปฏิเสธที่จะพบกับผู้แทนชาวพุทธอย่างไม่มีข้อแม้ และยังบอกผ่านเจ้าหน้าที่ ไปยังท่านธัมมปาละอีกว่า พุทธคยาเป็นของมหันต์ รัฐบาลจึงไม่ประสงค์จะไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับเรื่องนี้ ในการที่ชาวพุทธ ได้เรียกร้องนั้น สรุปว่าหนทาง ที่จะได้พุทธคยาคืนมาเป็นของชาวพุทธ ก็กลับมืดมนไปอีก

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ สมาคมมหาโพธิ ก็ได้ย้ายจากโคลัมโบ มาอยู่ที่กัลกัตตา ที่อินเดีย และได้ออกวารสาร สมาคมมหาโพธิ ( Mahabodhi Review ) ซึ่งยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้ ถึง ๑๑๑ ปี แล้ว และเป็นวารสารที่โด่งดังในทั้งตะวันออก และตะวันตก ในช่วงแรก ๆ ว่ากันว่าท่านธัมมปาละและทีมงานต้องอดมือกินมื้อเพื่อนำเงินไปซื้อแสตมป์มาส่งหนังสือกันทีเดียว


อุปสรรคจากพวกมหันต์


วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๖ ท่านธัมมปาละและพันเอกโอลคอตต์ เดินทางจากศรีลังกามาที่พุทธคยา ก็ได้รับข่าวทันที่ว่า พระภิกษุที่จำพรรษาประจำอยู่ที่พุทธคยา ขณะกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอย่างสงบในที่พักวัดพม่า ก็ถูก พวกมหันต์ยกพวกมารุมทุบตี รูปหนึ่งอาการสาหัสต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พันเอกโอลคอตต์เข้าพบมหันต์ทันที เพื่อเจรจาและขอเหตุผลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าพวกมหันต์ไม่ยอมรับการเจรจาใด ๆ และยังปฏิเสธไม่ยอมขายที่ ไม่ยอม ให้เช่า ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ไม่ยอมให้สร้างแม้แต่ที่พักสำหรับชาวพุทธผู้มาแสวงบุญ เป็นอันว่าเรื่องของพุทธคยา ก็ยังตก อยู่ในภาวะยุ่งยากลำบากเช่นเคย

ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ท่านธัมมปาละได้รับเชิญในฐานะผู้แทนชาวพุทธ ให้เข้าร่วมการประชุมสภาศาสนา (parliament religion) ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา การที่ท่านธัมมปาละได้เดินทางไปครั้งนี้ นับว่าเกิดผลอย่างมาก ต่อพระพุทธศาสนา และต่อศาสนาทั้งหลาย ท่านธัมมปาละได้กล่าวปราศัยในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ที่ประชุมรู้สึกทึ่ง ในคำสอนของ พระพุทธศาสนา ถึงกับมีนักการศาสนา และปรัชญาท่านหนึ่ง คือ มิสเตอร์ ซี. ที. เสตราส์ ประกาศปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนา ท่านธัมมปาละจึงได้จัดให้มีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่ สมาคมธีออสโซฟี่ แห่งชิคาโก นับว่าเป็นอุบาสกคนแรก ในประเทศอเมริกาทีเดียว

เมื่อท่านธรรมปาละ เดินทางกลับจากการประชุมสภาศาสนาครั้งนี้ ท่านได้ผ่าน ฮอนโนลูลู และสมาชิกสมาคมธีออสโซฟี่ แห่งฮอนโนลูลู ได้มาต้อนรับท่าน ซึ่งท่านได้พบกับ นางแมรี่ มิกาฮาลา ฟอสเตอร์ นางเป็นเชื้อสาย เจ้าผู้ครองฮาวาย นางเป็นคนโทสะจริต มีอารมณ์ขุ่นมัวเสมอ มักทำให้ทั้งเธอ และคนรอบข้างเกิดความเดือดร้อน จะเอาหลักศาสนา ไหน ๆ มาปฏิบัติก็ไม่หาย ได้มาปรึกษาท่านธรรมปาละ ท่านธรรมปาละจึงแนะนำหลักธรรม ทางพระพุทธศาสนาอย่างง่าย ๆ ให้เธอนำไปปฏิบัติ ปรากฏว่า เธอนำไปปฏิบัติได้ไม่นาน ก็หายจากอาการเจ้าโทสะ อารมณ์ร้าย เธอจึงเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา และท่านธรรมปาละมาก นางแมรี่ ฟอสเตอร์นี่เอง ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ท่านธรรมปาละ ด้าน ทุนทรัพย์ ในการฟื้นฟูพุทธคยา ด้วยจำนวนเงินรวม ๆ แล้ว กว่าล้านรูปี มีคนถึงกับขนานนามเธอว่า " วิสาขาที่ ๒ " ทีเดียว

หลังจากนั้นท่านได้เดินทางผ่านประเทศญี่ปุ่น จีน ไทย สิงคโปร์ และลังกา เพื่อพบปะ กับผู้นำฝ่ายศาสนาและบ้านเมือง ขอความร่วมมือด้านกิจกรรมฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ที่ท่าน กำลังทำอยู่ ที่เมืองไทยเรา ท่านได้เฝ้า กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ซึ่งทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และพบกับเจ้านายอีกหลายพระองค์ ท่านอยู่ใน เมืองไทย ๓ อาทิตย์ จึงเดินทางกลับ (หลังจากนั้นท่านได้เดินทางมาอีก เพื่อมาขอรับ ส่วนแบ่งพระบรมธาตุ ซึ่งพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับ ทูลถวายจากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนพระบรมธาตุที่ขุดได้จากบริเวณกรุงกบิลพัสดุ์ แถบเนปาล พระองค์ทรงประกาศ ไปยังประเทศพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ว่าพระองค์ทรงยินดี จะแบ่งพระบรมธาตุให้กับชาวพุทธ ในประเทศอื่น ๆ ท่านธรรมปาละ ได้เดินทางมาขอรับพระราชทานส่วนแบ่งพระบรมธาตุ ในฐานะตัวแทนชาวพุทธลังกา ในปี ๒๕๔๓) หลังจากนั้นท่านได้เดินทางผ่านประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระพุทธรูปเก่าแก่ ถึง ๗๐๐ ปี จากชาวพุทธญี่ปุ่น ซึ่งมีความประสงค์ จะขอให้ท่านนำพระพุทธรูปนี้ ไปประดิษฐาน ที่พุทธคยาด้วย และพระพุทธรูปนี้เอง ต่อมาเป็นชนวนการขัดแย้ง ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างท่านธรรมปาละ และมหันต์

ท่านธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังอินเดีย ได้ติดต่อขอนำพระพุทธรูปที่ได้รับมาจาก ชาวญี่ปุ่น มาประดิษฐานยังพุทธคยา ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่า มหันต์ไม่ยอมอย่างแน่นอน ทาง มิสเตอร์แมคเฟอร์สัน เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองของอังกฤษประจำคยา ได้ขอให้ท่านธรรมปาละ ลองหาเสียงสนับสนุนจากชาวฮินดูทั่ว ๆ ไปก่อน แต่ท่านก็ได้รับ คำตอบจากพราหมณ์ชั้นบัณฑิตที่พาราณสี อย่างข้าง ๆ คู ๆ ก็คือ พระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ ดังนั้นพระวิหาร พุทธคยาจึงเป็นของฮินดู ชาวพุทธไม่มีสิทธิอะไร ในวิหารนั้น พวกมหันต์เอง ก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้นำพระพุทธรูป เข้าไปยัง วิหารพุทธคยาเป็นอันขาด และยังประกาศว่า หากยังขืนดึงดันจะนำเข้ามา ก็จะจ้างคนห้าพันคน มาคอยดักฆ่า และได้เตรียม เงิน ไว้ถึงแสนรูปีเพื่อการนี้แล้วด้วย เป็นอันว่า เรื่องการนำพระพุทธรูป มาประดิษฐาน ยังวิหารพุทธคยา ก็ยังต้องพักไว้ก่อน

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘ ท่านธรรมปาละก็ได้นำพระพุทธรูปมายังวิหารพุทธคยา โดยไม่กลัวการขู่จากพวกมหันต์ แต่ผลก็คือว่า เมื่อท่านได้นำพระพุทธรูปญี่ปุ่นองค์นั้นไปถึงองค์พระเจดีย์พุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุ อีก ๔ รูป ซึ่งประจำอยู่ที่นั่น กำลังจะยกพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน ปรากฏว่าพวกมหันต์ หลายสิบคนกรูกันเข้ามาบังคับ สั่งให้ท่านธรรมปาละเอาพระพุทธรูป ออก และทำการทุบตีทำร้ายอีกด้วย ท่านธรรมปาละกล่าวไว้ในบันทึกของท่าน ว่า“มันช่างเจ็บปวดเหลือแสน ชาวพุทธถูกห้ามไม่ให้บูชาในวิหารที่เป็นสิทธิ์ของตนเอง ”

ศาลประจำจังหวัดคยา ได้ตัดสินความผิดกับพวกมหันต์ ในขณะที่ศาลสูงของกัลกัตตา กลับตัดสินให้พวกมหันต์ชนะคดี แต่ทางศาลสงฆ์ของกัลกัตตาก็มีความเห็นใจชาวพุทธ ได้ พิจารณาว่าอย่างไรก็ตาม พุทธคยานั้นเป็นพุทธสถานและสมบัติของชาวพุทธ อย่างชัดเจน หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปยังจังหวัด เขต ตำบลต่าง ๆ ในอินเดีย เพื่อชี้แจงเรื่อง ปัญหาของชาวพุทธกับกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธในพระเจดีย์พุทธคยาชาวอินเดีย ที่มีการศึกษา และประเทศใกล้เคียง ต่างก็ให้ความสนใจ หลายฝ่ายเทคะแนนให้กับชาวพุทธ และเห็นว่า พุทธคยานั้น เป็นกรรมสิทธิ์ ของชาวพุทธอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่นักปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องในอินเดีย เช่น ท่านรพินทร์นาถ ฐะกูร นักกวี และ นักวรรณคดีชาวอินเดียก็เห็นว่า พระวิหารพุทธคยานั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างแน่นอน





แนบไฟล์  5image10_1_.jpg   135.43K   447 ดาวน์โหลด

ภาพเขียนพุทธคยา วาดโดยชาวอังกฤษในสมัยนั้น




ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี ๒๔๓๗ เป็นต้นมา ท่านก็ได้ดำเนินการเรียกร้องทั้งในอินเดียและลังกา เรื่องของพุทธคยา ก็เป็นประเด็นที่ชาวอินเดียต่างให้ความสนใจ เรียกว่าเป็น Talk of The Town เลยทีเดียว ท่านธรรมปาละได้เดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ประเทศอเมริกา เพื่อไปเปิดสาขามหาโพธิสมาคมขึ้นที่นั่น เนื่องจากการตรากตรำทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยดีนัก

ในปี พ.ศ ๒๔๕๘ ท่านธรรมปาละได้ทำงานที่ปรารถนาจะทำให้สำเร็จมานานได้เรียบร้อย คือการที่จะให้มีพุทธวิหาร หรือวัดแห่งแรกในอินเดียหลังจากพระพุทธศาสนาถูกทำลายไปกว่า ๗๐๐ ปี ที่กัลกัตตา และการจดทะเบียน สมาคมมหาโพธิ เป็นสมาคมที่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วย การสร้างพระวิหารนั้น ได้ประกอบพิธีวางศิลลาฤกษ์ ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ และสร้างแล้วเสร็จในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๓ รัฐบาลอินเดียได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งขุดค้นพบในอินเดีย ในประดิษฐานในพระวิหาร ส่วนตึกอาคารสมาคมมหาโพธินั้น สร้างเสร็จ และเปิดในเดือนกันยายน ๒๔๖๓ สิ้นเงินการสร้างทั้งสองแห่ง ราว ๆ ๒ แสนรูปี พุทธวิหารที่จัดสร้างขึ้นนี้ ให้ชื่อว่า ศรีธรรมราชิกเจติยวิหาร

ในปี ๒๔๖๙ ท่านธรรมปาละได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และร่วมจัดงานวิสาขะบูชาขึ้นที่กรุงลอนดอนด้วย ในเดือนธันวาคม ปี ๒๔๗๓ มิสซิสฟอสเตอร์ ซึ่งคอยช่วยเหลือท่านธรรมปาละในด้านเงินทุนตลอดมา ได้ถึงแก่กรรมลง ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม นางได้ฝากมรดกเป็นเงินก้อนสุดท้าย จำนวน ๕ หมื่น ดอลลาห์ ให้กับ ท่านธรรมปาละ ท่านธรรมปาละ ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นว่า หากท่านจะตาย ขอตายในเพศบรรพชิต ดังนั้น ท่านจึงได้รับการบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) ที่ วัดมูลคันธกุฎิวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในบริเวณห่างจากสารนาถ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา ของพระพุทธองค์ ในวันที่ ๑๓ กรกฏาคม ปี ๒๔๗๔ โดยมีพระเรวตเถระ จากศรีลังกา มาบวชให้ (วัดมูลคันธกุฎิวิหารนั้น ท่านธรรมปาละริเริ่มการสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๔๔๔)

ถึงบัดนี้ สุขภาพของท่านธรรมปาละก็เริ่มเจ็บหนักขึ้น เพราะการตรากตรำทำงานหนัก มากเกินไป แต่ท่านก็ปรารถนา ที่จะได้บวชเป็นพระภิกษุให้ได้ และ ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ วัดมูลคันธกุฎิวิหารก็ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมีการผูก พัทธสีมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ โดยคณะสงฆ์ลังกา สิ้นเงินการสร้างวัด ตลอดจนเงินค่าจ้าง ช่างชาวญี่ปุ่น คือ โกเซทซุ โนสุ มาเขียนภาพฝาผนังพุทธประวัติ รวมทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ รูปี ในวันเปิดมูลคันธกุฎิวิหาร มีชาวพุทธและข้าราชการ รัฐบาลอินเดียหลายท่าน และชาวพุทธจากต่างประเทศมากมาย ได้มาร่วมงานกว่าพันคน รัฐบาลอินเดียได้มอบ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ให้กับผู้แทนสมาคม ได้มีการนำ พระธาตุขึ้นสู่หลังช้าง แห่รอบพระวิหารสามรอบ แล้วจึงนำขึ้นประดิษฐานยังยอดพระเจดีย ์ในพระวิหาร

ท่านธรรมปาละได้กล่าวปราศัยในงานเปิดวันนั้น ความตอนสุดท้ายที่น่าประทับใจ ว่า "...หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้ถูกเนรเทศออกไปเป็นเวลานานถึง ๘๐๐ ปี ชาวพุทธทั้งหลายก็ได้กลับคืนมา ยังพุทธสถานอันเป็นที่รักของตนนี้อีก ... เป็นความปรารถนาของสมาคมมหาโพธิ ที่จะมอบพระธรรมคำสอนอันเปี่ยม ด้วย พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ ให้แก่ประชาชนชาวอินเดียทั้งมวล ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ และลัทธินิกาย.. ข้าพเจ้ามั่นใจ ว่าท่านทั้งหลาย จะพร้อมใจกันเผยแผ่ " อารยธรรม " (ธรรมอันประเสริฐ) ของพระตถาคตเจ้า ไปให้ตลอดทั่วทั้งอินเดีย... "

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ตรงกับปีที่ไทยเราเปลี่ยนระบอบการปกครองพอดี) ท่านธรรมปาละได้ล้มเจ็บหนักอีกครั้ง เมื่อพอสบายดีขึ้น ท่านรู้ว่าใกล้จักถึงวาระสุดท้ายของท่านแล้ว ท่านจึงได้คิดที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเสียที จึงได้นิมนต์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากลังกา ๑๐ รูป มีท่านพระสิทธัตถะอนุนายกเถระ คณะสยามนิกาย วัดมัลวัตวิหาร เป็นประธาน และเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ทำการอุปสมบทท่านธรรมปาละ ได้รับภิกษุฉายาในทางศาสนาว่า "ภิกฺขุ ศรี เทวมิตฺร ธมฺมปาล" เมื่อท่านได้อุปสมบท ก็ปรากฏว่าท่านได้มีกำลังกายกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการ กลับคืนมาเหมือนกับเปลวเทียน ที่กำลังจะหมดไส้ ซึ่งจะสว่างได้ไม่นาน ดังนั้น ในเดือนเมษายน ของปี ๒๔๗๖ ท่านจึงได้ล้มเจ็บลงอีก โดยมีนาย เทพปริยะ วาลีสิงหะ ซึ่งเป็นทั้งศิษย์ และสหายของท่านได้คอยรักษาและดูแลอยู่

จนถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๗๖ (ประวัติบางแห่งว่า วันที่ ๒๗) อาการโรคหัวใจ ของท่านเพียบหนักถึงที่สุด แต่ท่านก็ยังพอจะพูดได้บ้าง และสิ่งที่ท่านกล่าวย้ำบ่อย ๆ ในขณะเวลา ที่เหลืออีกไม่นานก็คือ " ขอให้ข้าพเจ้าได้มรณะเร็ว ๆ เถิด แต่ข้าพเจ้าจักกลับมาเกิดใหม่อีก ๒๕ ครั้ง เพื่อเผยแผ่ ประกาศพระธรรมของพระพุทธเจ้า "

และในเวลาเช้าของวันที่ ๒๙ เมษายน ท่านแทบไม่รู้สึกตัวอะไรอีก พูดออกมาได้เพียงคำว่า " เทพปริยะ " ราวจะฝากฝังให้นายเทพปริยะ จับงานของสมาคมให้ดำเนินต่อไป เพราะพุทธคยายังไม่กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ ของชาวพุทธ โดยสมบูรณ์ จนถึงบ่าย ๒โมง อุณหภูมิในตัวของท่านสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง ๑๐๔.๖ ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนที่อยู่รอบ ๆ ก็ทราบว่า ท่านกำลังจะมรณภาพ พระภิกษุสามเณรจากลังกาและอินเดียที่อยู่ที่นั่น ได้ล้อมรอบท่าน พร้อมกับ สวดพระพุทธมนต์ ไปเรื่อย ๆ พอสิ้นเสียงสวด ....วิญญาณของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผู้เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวม และเชิดชูพระศาสนาของพระพุทธองค์ ก็ดับวูบลง ละร่างกาย อันเก่า คร่ำคร่าเกินเยียวยา เหลือเพียงใบหน้าอันยิ้มแย้มและเป็นสุขไว้เท่านั้น ในเวลา บ่าย ๓ ของวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๗๖ นั่นเอง.......

สรุป ผลงานที่ท่านได้ทำไว้


ท่านธรรมปาละ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูง ต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ประโยชน์ที่ท่านฝากไว้ในพระพุทธศาสนา พอสรุปได้ดังนี้
- เป็นผู้จุดประกายการศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย ทำให้ชาวอินเดีย ซึ่งแทบจะลืมเลือนพระพุทธศาสนา จนหมดสิ้น แล้ว หันกลับมาแนวทางแห่งอริยมรรคแห่งพระพุทธองค์อีกครั้ง

- ท่านได้สร้างอนุสรณ์สถาน ปูชนียสถานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่ระลึกถึง พระพุทธองค์ เช่น วัดมูลคันธกุฎวิหาร ใกล้ ๆ กับสถานที่แสดงปฐมเทศนา ที่สารนาถ

- ท่านได้เป็นผู้จุดประกายริเริ่มให้ชาวพุทธ และชาวอินเดีย หันมาเอาใจใส่และฟื้นฟูพุทธสถาน ที่สำคัญของพระพุทธองค์ โดยเฉพาะพุทธคยา แม้ในสมัยของท่าน อาจจะยังไม่ทำให้พุทธคยา คืนสู่กรรมสิทธิ์ของชาวพุทธ และอยู่ในการดูแลคุ้มครอง ของชาวพุทธได้ แต่ต่อมา การกระทำของท่านก็เป็นกระแสผลักดันสังคม ชาวอินเดียหลายฝ่าย นักปราชญ์หลายท่าน ก็ได้แสดงความเห็นควรว่าพุทธคยาเป็นสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างแน่นอน ต่อมา ในเดือนเมษายน ปี ๒๔๙๙ รัฐบาล แห่งรัฐพิหาร ได้ผ่านพระราชบัญญัติวิหารพุทธคยา ซึ่งให้ส่วนหนึ่ง อยู่ในการดูแลของชาวพุทธ โดยมีกรรมการชาวพุทธ ๔ ท่าน ชาวฮินดู ๔ ท่าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธาน

สรุป


ท่านธรรมปาละ เป็นบุคคลธรรมดา ที่เกิดในตระกูลชาวพุทธลังกา แต่ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาที่อินเดีย และที่ลังกามากมาย ท่านเป็นผู้ที่จุดประกายอะไรหลาย ๆ อย่าง ให้ชาวอินเดีย หันกลับมามอง ถึงสิ่งที่ชาวอินเดียลืมเลือนไปแล้ว ให้กลับมาคู่อินเดียอีกครั้ง ให้พระพุทธศาสนา กลับมายังมาตุภูมิ ถิ่นเกิดของตนเองอีก ท่านธรรมปาละ เป็นอมตบุคคล และเป็นรัตนบุรุษผู้หนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชน พึงจดจำ และระลึกถึงท่าน นำเอาแนวทางของท่าน มาเป็นแบบดำเนินชีวิต ท่านธรรมปาละได้อุทิศ กาย ใจ เพื่อเชิดชู เพื่อรักษา เพื่อเผยแผ่พระพุทธธรรมของพระพุทธองค์ จนกระทั่งวาระสุดท้าย แห่งชีวิต

ท่านธรรมปาละ เกิดเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๔๐๗ มรณภาพ เมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๔๗๖ สิริรวมอายุของท่าน ๖๙ ปี ๗ เดือน ๑๓ วัน

.... หนังสือประกอบการเรียบเรียง :
:- พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ) , จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพ ๒๕๔๓ :- พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ , ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพ : บริษัทพิมพ์สวย จำกัด, ๒๕๔๖









ไปเที่ยวอินเดียกับคุณยาย (ตอนจบ)

24 March 2008 - 12:32 PM


ตอนที่ 7 ..ตอนจบ

สวนลุมพีนีวัน สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ


เวลาของท้องถิ่นเนปาลเร็วกว่าอินเดีย 15 นาที และช้ากว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง 15 นาที ทางการเนปาลได้ดูแลสถานที่แห่งนี้อย่างดี มีต้นไม้โดยรอบร่มรื่น จุดที่พระพุทธองค์ประสูตินั้นได้สร้างวิหารมหาเทวีขึ้นทับ ซึ่งภายในก็ไม่ได้มีอะไรมาก เพราะคงต้องการรักษาสภาพเดิมไว้เพราะเป็นวิหารใหม่เนื่องจากได้มีการขุดค้นใหม่และพบจุดที่ได้ยืนยันว่าเป็นจุดที่พระองค์ประสูติ ห่างจากตำแหน่งเดิมที่เคยคิดว่าใช่ไม่มากนัก โดยทางการญี่ปุ่นได้ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อสืบเสาะหาจุดที่แน่นอน ภายในทำเป็นทางเดินโดยรอบบริเวณที่ถูกค้นพบใหม่ ด้วยเป็นจุดที่ทางเดินค่อนข้างแคบผู้คนจึงไปแออัดตรงนั้นเสียมาก เพราะต้องการที่จะสักการะ และถ่ายภาพเอาไว้ ความโกลาหลของการเบียดเสียดจึงทวีความแรงขึ้นอีก ฉันเข้าไปช้ากว่าคนอื่นๆ จึงสามารถมองเห็นภาพโดยรวมของความโกลาหลนั้นอย่างชัดเจน ฉันเลยตัดสินใจที่จะรอให้ม็อบของสาธุชนเบาบางลงก่อน เมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบฉันจึงเดินเอาตัวแทรกตามคนอื่นๆไป ฉันขอ บอกตามความจริงว่า ฉันรู้สึกตื่นเต้นมาก และแล้วฉันก็ได้มายืนอยู่ ณ จุดนั้น มองลงไปเบื้องล่าง แล้วก็เห็นหินโบราณที่เป็นจุดที่เมื่อกว่า 2600 ปีมาแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติ ณ จุดนี้ หินนี้ได้มีการสร้างตู้กระจกครอบไว้ แต่ก็สามารถมองทะลุไปได้ ฉันไม่รีรอที่จะหยิบกล้องออกมาถ่ายภาพ....แชะ สำเร็จ แถมรูปสลักหินรูปพระนางตอนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละที่ติดอยู่บริเวณนั้นมาอีกหนึ่งรูป


แนบไฟล์  .DSCN4129_1_1_.jpg   18.86K   137 ดาวน์โหลด
ตำแหน่งที่ค้นพบใหม่และยืนยันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ

แนบไฟล์  DSC03432.JPG   1.58MB   223 ดาวน์โหลด
บริเวณที่ขุดพบ

แนบไฟล์  DSC03434.JPG   1.5MB   144 ดาวน์โหลด
รูปสลักหินพระนางสิริมหามายาตอนประสูติจ้าชายสิทธัตถะ


เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ฉันจึงรีบแทรกตัวออกมา แล้วรีบสาวเท้าตามหมู่คณะส่วนใหญ่ไป ซึ่งกำลังออกไปชมเสาพระเจ้าอโศกกัน ที่อยู่ด้านหลังของวิหาร เสานี้ ก็เหมือนเสาต้นอื่นๆ คือ หัวเสาได้หักหายไปแล้ว เหลือเพียงแต่ลำต้นซึ่งยังพอที่จะแสดงถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระพุทธศาสนา เสาต้นนี้มีจารึกไว้ประมาณว่า พระเจ้าอโศกได้มาสักการะที่นี่ และได้สร้างเสาเอาไว้เมื่อปีที่ 20 ของรัชกาลของพระองค์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม)


บรรยากาศข้างนอกเริ่มโพล้เพล้ เนื่องด้วยเป็นเวลาบ่ายคล้อย ทำให้รู้สึกสงบจิตสงบใจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญไม่มีพวกขอทานที่มาตามงอนง้อเหมือนในอินเดียให้เราต้องรำคาญใจ แต่อย่างว่าการมีขอทานเหล่านั้นก็ยิ่งเป็นการท้าทายให้เรารักษาใจให้มั่นคง ไม่หงุดหงิดขุ่นเคืองใจ (ซึ่งฉันมักจะแพ้ตัวเองเสมอ) การเดินทางระยะไกลครั้งสุดท้ายของเราคือ การเดินทางโดยเครื่องบินของสายการบิน Cosmic Air จากสนามบินเมืองไพราวา เนปาล เพื่อออกเดินทางสู่นครกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ที่จริงในการเดินทางมากราบสังเวชนียสถานตามปกติแล้ว จะสิ้นสุดที่ลุมพินี แต่กรุ๊ปเราเป็นคณะพิเศษ จึงเดินทางต่อเข้ากาฎมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลด้วย ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าเที่ยวมากๆ สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาก็เยอะ แถมแหล่งShopping ก็โดนใจฉันมากเลย

พวกเราต้องกราบนมัสการลาพระอาจารย์ที่สนามบินนี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางโดยรถไฟกลับไปยังวัดไทยพุทธคยา เหลือเพียงพระคุณเจ้า 3 รูปที่เดินทางมากับพวกเราแต่แรก จะว่าไปเที่ยวบินนี้ก็ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของทริปนี้ก็ว่าได้...

: บินสู่นครหลวงของเนปาล

เพียง 40 นาทีต่อมา พวกเราก็มายืนอยู่ ณ หน้าสนามบินตรีภูวัน นครกาฐมาณฑุ เพื่อรอรถที่จะรับเราไปยังโรงแรม Hyatt Regency แค่ด้านหน้าของโรงแรมก็ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นกับความมีระดับห้าดาวของที่นี่ พอเดินเข้าพ้นประตูโรงแรมเข้ามาก็ยิ่งประทับใจ เพราะที่ล้อบบี้ มีพนักงานคอยแจกน้ำต้อนรับ บริเวณที่นั่งของล้อบบี้ก็มีรูปสถานที่จำลองที่สำคัญๆ ต่างๆ ของเนปาล ทั้งสถูปและเจดีย์แบบจำลอง ทำให้พวกเราอดไม่ได้ที่จะไปยืนข้างๆ เพื่อถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน เมื่อแยกย้ายกันไปตามห้องแล้ว ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ เพราะห้องฉันได้อยู่ชั้นหนึ่งซึ่งถ้าเปิดประตูระเบียงออกไปแล้วจะพบกับสวนของโรงแรมที่จัดเอาไว้อย่างสวยงาม แต่เนื่องจากว่าเรามาถึงกันมืดแล้ว เลยต้องระงับจิตระงับใจที่จะออกไปเดินเล่นในวันพรุ่งนี้เช้าแทน

มื้ออาหารเย็นวันนั้น ดูทุกคนต่างมีความสุขกันเป็นพิเศษ ฉันสัมผัสได้จากสีหน้าตอนที่ทุกคนถือจานเปล่าเพื่อที่จะไปตักอาหาร ทุกคนดูสนใจและตื่นตาตื่นใจกับอาหารมาก เพราะเป็นอินเตอร์จริงๆ ตักนู่นนิดนี่หน่อย ทั้งภาชนะ การตกแต่งของอาหารและสถานที่อันสวยงามของโรงแรมยิ่งทำให้บรรยากาศของมื้อเย็นนี้ดูจะเต็มไปด้วยความสุขมากขึ้น เฮ้อ...ยินดีต้อนรับเข้าสู่เนปาลค่ะ


วันที่ 5
: นมัสเตเนปาล


หลังจากมื้อเช้ามื้อแรกของเนปาล ฉันและน้องไม่รีรอที่จะรุดหน้าไปยังสวนของโรงแรมเพื่อสำรวจความสวยงามรอบๆ ที่สวนเขาได้ทำทางเดินเป็นหลายทาง ฉันและน้องได้เดินแยกกัน ฉันเดินไปและอ้อมไปทางรั้วของโรงแรมซึ่งติดกับบ้านเรือน บ้านแถวนั้นดูน่ารักและมีสีสันมาก เนื่องจากเป็นเวลาเช้าจึงเห็นคนกำลังออกจากบ้าน เพื่อที่จะเดินทางไปยังที่ทำงานบ้าง โรงเรียนบ้าง ฉันหันไปยังมุมๆ หนึ่งที่ไกลออกไปมาก ฉันเห็นยอดของเจดีย์ ตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน เพราะเจดีย์เนปาลนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และจะทำเหมือนกันในหลายๆ ที่ด้วย คือลักษณะขององค์เจดีย์เป็นรูปโอคว่ำ ที่เหนือขึ้นไปคือบัลลังค์นั้นจะมีสัญลักษณ์ที่สำคัญของเขาเลยคือ Buddha’s Eyes (พระเนตรของพระพุทธองค์) ตอนหลังจึงทราบว่าเป็นเจดีย์พุทธนาถที่เลื่องชื่อของเนปาลนั่นเอง

แนบไฟล์  DSC07475.JPG   2.09MB   196 ดาวน์โหลด
บ้านเรือนรอบโรงแรมที่พัก

แนบไฟล์  DSC07476.JPG   1.99MB   162 ดาวน์โหลด
มหาเจดีย์พุทธนาถ (Bodhnath) ที่เรามองเห็นได้จากโรงแรมในยามเช้า

แนบไฟล์  DSC07600.JPG   1.63MB   149 ดาวน์โหลด
พอตอนสายเราได้เข้าไปสักการะ..งดงามยิ่งนัก


แนบไฟล์  DSC07602.JPG   1.91MB   174 ดาวน์โหลด
เจดีย์ในเนปาล จะมีสัญลักษณ์พระเนตรของพระพุทธองค์ (Buddha's Eyes) ปรากฏอยู่เกือบทุกเจดีย์


เวลาบอกว่า 8 โมง ซึ่งนั่นคือเวลาที่รถออก ฉันจึงรีบวิ่งไปยังที่จอดรถทันที เส้นทางของเราในเช้านี้คือการเดินทางไปสักการะมหาเจดีย์เพาธนาถหรือพุทธนาถ เป็นพุทธเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล รอบๆ เจดีย์ยังมีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของฉันไปจากความยิ่งใหญ่ของเจดีย์ นั่นคือ บรรดาร้านรวงขายของที่ระลึกต่างๆ แต่ฉันก็ตัดสินใจที่จะทำภารกิจหลักให้เสร็จเสียก่อนคือสักการะพระเจดีย์ เอ..หรือว่าเป็นภารกิจรองนะ? ฮ่าๆๆๆ ดังนั้นฉันจึงเดินตามหมู่คณะไป ก่อนอื่นพวกเราก็เดินชมความงามโดยรอบ และเวียนประทักษิณ ซึ่งก็เป็นโอกาสอันงามที่ฉันจะได้เล็งร้านที่น่าสนใจเอาไว้

รอบๆ ลานพระเจดีย์มีคนนำข้าวเปลือกมาตาก โดยเกลี่ยไปรอบๆพื้น ฉันยืนดูอยู่สักพักด้วยความสนใจ จากตรงจุดที่ฉันยืนนั้น เมื่อมองขึ้นไปยังเจดีย์จะเห็นคนที่เดินอยู่บนลานเวียนประทักษิณตัวเท่าไม้ขีด ก็ด้วยเพราะขนาดที่ใหญ่โตของเจดีย์เพาธนาถ อีกตรงหนึ่งที่ฉันชอบก็คือ แนวธงที่ติดห้อยลงมาจากยอดเจดีย์ถึงพื้น โดยเป็นทั้งสี่มุมของเจดีย์ สามารถสร้างสีสันให้กับเจดีย์ได้ไม่น้อย ชาวเนปาลบอกว่าเป็นธงแห่งพุทธมนต์ เมื่อลมพัดก็จะพัดพาความศักดิ์สิทธิ์แห่งมนต์นั้นมาห่อหุ้มคุ้มครองตัวเราและบ้านเมืองไว้ พวกเขาจึงนิยมติดธงบูชาพระเจดีย์กันมาก เมื่อชมความงามของเจดีย์จากเบื้องล่างแล้ว ก็เดินขึ้นบันไดเพื่อที่จะไปชมความงามจากด้านบนบ้าง ข้างบนนั้นทัศนียภาพดีมากๆ ฉันสามารถมองเห็น Buddha’s Eyes ได้อย่างจุใจและเต็มตา ทั้งยังสามารถมองเห็นบ้านเรือนรอบได้ๆ ด้วย (มองเห็นร้านค้าที่เล็งไว้) ที่สำคัญเหนือกลุ่มเมฆสีขาวนั้น ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นเทือกเขาหิมาลัย ที่ทอดตัวยาวตามเส้นขอบฟ้า สวยงามจริงๆ ถึงแม้ว่าจะมองเห็นได้ไม่ชัดเท่าไหร่นัก เพราะฟ้าไม่ค่อยเปิดมาก แต่ก็สร้างความประทับใจให้ฉันได้ไม่น้อย

แนบไฟล์  DSC07547.JPG   1.82MB   146 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07561.JPG   1.72MB   132 ดาวน์โหลด
ธงแห่งพุทธมนต์ เมื่อลมพัดก็จะพัดพาความศักดิ์สิทธิ์แห่งมนต์นั้นมาห่อหุ้มคุ้มครองเราไว้



ที่มุมของเจดีย์ ฉันเห็นคู่รักนั่งดูวิวด้วยกัน ที่นี่นอกจากจะเป็นที่พึ่งทางใจแล้ว ก็คงเป็นที่พักผ่อนทางกายของคนที่นี่ด้วย แต่เป็นค่านิยมของผู้คนแถบนี้อยู่แล้วที่จะไม่ทำอะไรกันเกินเลย มีกาลเทศะตามสถานที่ ภาพคู่รักที่เห็นจึงเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกลมกลืนกับบรรยากาศที่นี่ไป พวกเราเดินไปยืนที่จุดๆหนึ่งซึ่งเป็นจุดสักการะพระพุทธรูป ตรงนั้นมีถ้วยซึ่งภายในมีเหมือนน้ำสีแดงๆ คนแถวนั้น ซึ่งน่าจะเป็นผู้ดูแลเจดีย์แห่งนี้เขาเอานิ้วจิ้มน้ำแดงๆนั่น แล้วนำมาเจิมให้ ด้วยหน้าตาแบบลูกผสมหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่มีมาแต่เดิมของฉันแล้ว พอแต้มสีแดงที่หน้าผากยิ่งทำให้ฉันละม้ายคล้ายคนท้องถิ่นของที่นั่นเข้าไปอีก

หลังจากเดินดูความยิ่งใหญ่และวิวโดยรอบแล้วฉันจึงกราบเจดีย์และเดินลงมาข้างล่าง เพื่อจะบรรลุภารกิจที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น ฉันเดินแยกออกมากับน้องและรีบมุ่งหน้าไปยังร้านค้าที่เล็งเอาไว้ ของที่นี่ราคาไม่ถูกมาก เพราะเค้าคงตั้งราคาไว้ให้นักท่องเที่ยว ฉันจึงต้องแวะเข้าหลายร้านเสียหน่อยเพื่อเปรียบเทียบราคา เมื่อสำเร็จสมประสงค์แล้ว ฉันก็ได้เดินตามกลุ่มซึ่งกำลังเข้าไปในเวิ้งๆหนึ่ง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องตามสไตล์เนปาล

แนบไฟล์  DSC07606.JPG   1.63MB   142 ดาวน์โหลด
พระพุทธรูปทรงเครื่องตามสไตล์เนปาล


จากนั้นพวกเราก็ออกเดินทางเพื่อชมทัศนียภาพรอบๆ เมือง ซึ่งงานแกะสลักประดับบ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่างๆ เค้าจะทำจากไม้ทั้งสิ้น รวมทั้งยังเป็นที่มาของชื่อเมืองกาฐมาณฑุ คือมณฑปที่ทำด้วยไม้นั่นเอง ฝีมือของเขาประณีตมาก ที่สำคัญคือว่าทางการเขารักษาโบราณสถานต่างๆ ไว้ดีมาก เพราะว่างานไม้นั้นมักจะผุผังไปได้ง่าย แต่ประเทศเขาอากาศแห้งและฝนตกน้อย จึงช่วยไม่ให้ไม้ของเขาผุพังได้เร็วเหมือนบ้านเรา



แนบไฟล์  DSC07512.JPG   1.82MB   175 ดาวน์โหลด
ในมณฑปไม้โบราณที่ตั้งอยู่ใจกลางนครกาฎมาณฑุ อันเป็นที่มาของชื่อเมือง มีรูปแกะสลักหนุมานที่เขาสักการะบูชา

แนบไฟล์  DSC07513.JPG   1.79MB   160 ดาวน์โหลด
รูปสลักพระพิฆเณศ เป็นที่สักการะบูชาด้วยเช่นกัน


แนบไฟล์  DSC07520.JPG   2.09MB   156 ดาวน์โหลด

ร้านขายของที่ระลึก


แนบไฟล์  DSC07521.JPG   1.99MB   157 ดาวน์โหลด
ฉันซื้อตุ๊กตาหุ่นกระบอกของเขากลับมาเป็นที่ระลึกด้วย





พวกเราเดินไปหยุดอยู่บริเวณที่ขายสินค้ากลางเมือง เขาขายกันกลางแจ้ง บางคนก็ได้ของติดไม้ติดมือกันไป อย่างว่าซื้อของแถบนี้ก็ต้องมีฝีปากในการต่อรองราคากันด้วย เพราะราคาที่เขาตั้งไว้นั้นบางทีมากกว่าเป็นสิบเท่าเลยก็มี เวลามีค่ามากสำหรับเราในวันเกือบสุดท้ายนี้ ล้อของรถบัสจึงหมุนต่อเนื่องและไปหยุดหมุนที่บริเวณพระมหาเจดีย์สวยัมภูวนาถ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เจดีย์นี้คล้ายกับเจดีย์เพาธนาถแต่ต่างกันที่ปล้องไฉนบนยอดเจดีย์เป็นทรงกลม แต่เจดีย์เพาธนาถเป็นทรงเหลี่ยม เจดีย์นี้มีอายุมากกว่าสองพันปี ประดิษฐานอยู่เนินเขากลางหุบเขากาฐมาณฑุ มีชื่ออีกอย่างว่า Monkey Temple คำตอกย้ำว่าเป็น Monkey Temple ก็วิ่งมาคอยต้อนรับพวกเราแล้ว เจ้าจ๋อน้อยใหญ่ มาเจ๋ออย่างไม่กลัวคนตลอดทางเดินขึ้นไปยังเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์นี้

แนบไฟล์  DSC07542.JPG   1.76MB   145 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07549.JPG   1.83MB   185 ดาวน์โหลด
พระมหาเจดีย์สวยัมภูวนาถ มีอายุมากกว่าสองพันปี เจดีย์นี้คล้ายกับเจดีย์เพาธนาถแต่ต่างกันที่ปล้องไฉนบนยอดเจดีย์เป็นทรงกลม แต่เจดีย์เพาธนาถเป็นทรงเหลี่ยม

แนบไฟล์  DSC07546.JPG   1.87MB   147 ดาวน์โหลด
เจดีย์มีชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า Monkey Temple




เนื่องจากเป็นที่สูงอากาศด้านบนจึงมีลมโกรกสบาย และแล้วก็ถึงบันได้ขั้นสุดท้าย การต้านแรงโน้มถ่วงในครั้งนี้เนื่องจากว่าไม่สูงมากนัก ฉันจึงไม่เหนื่อยหอบมาก และยังมีแรงพอที่จะเดินไปหมุนลูกล้อที่มีอยู่รอบๆ พระเจดีย์ได้ ลูกล้อนี้ ว่ากันว่าภายในบรรจุพระคัมภีร์อยู่ การได้ไปหมุนจึงเหมือนกับเป็นการหมุนวงล้อของพระธรรม และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองด้วย แต่ฉันก็หมดความอดทนเสียก่อนที่จะหมุนได้ครบหมด เพราะฉันสนใจกับการบันทึกภาพเสียมากกว่า องค์พระเจดีย์มีขนาดเล็กกว่าพระมหาเจดีย์เพาธนาถมาก แต่ลวดลายที่ประดับประดานั้นมีความวิจิตรมากกว่า ได้อรรถรสในการรับชมคนและแบบ

แนบไฟล์  DSC07545.JPG   2.2MB   132 ดาวน์โหลด
กงล้อบรรจุพระคัมภีร์ รอบพระเจดีย์


แนบไฟล์  DSC07514.JPG   2.13MB   137 ดาวน์โหลด
ที่จุดเทียนสักการะ หน้าพระเจดีย์สวยัมภูวนาถ



ต่อกันด้วยภาคบ่ายพี่ไกด์ของเราพาไปยังย่านใจกลางนครกาฐมาณฑุ ไกด์ของเรามีนามสกุลว่า “ศากยะ” เขาอธิบายว่าบรรพบุรุษของเขามาจากศากยวงศ์ซึ่งเป็นราชสกุลของพระพุทธเจ้า คนที่จะใช้นามสกุลศากยะได้นั้น จะต้องแต่งงานกับศากยะด้วยกันเท่านั้น ถึงแม้ผู้ชายที่นามสกุลศากยะไปแต่งงานกับหญิงนามสกุลอื่น เมื่อมีลูกๆ ก็ไม่มีสิทธิใช้ศากยะ เขาจึงภาคภูมิใจกับความเป็นเชื้อสายวงศ์สกุลของพระพุทธเจ้าเป็นยิ่งนัก และมีผู้ที่ใช้นามสกุลนี้ในเนปาลประมาณสามหมื่นคน

จุดไคลแมกซ์ของที่นี่คือ หนุมานโธก้า ถ้าผู้ที่เคารพแล้วบูชาหนุมานนั้น ถือว่าพลาดไม่ได้ที่จะมาไหว้หนุมานที่เก่าแก่นี้ ซึ่งลักษณะของหนุมานโธก้านี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่คนไทย จินตานาการไว้ เพราะเมื่อฉันไปเห็นถ้าไม่มีใครบอกว่าเป็นหนุมานฉันเองก็คงไม่ทราบ หนุมานโธก้าที่ฉันเห็นนั้นมีผ้าสีแดงคลุมและมีดอกไม้อยู่รอบๆ แสดงว่าเป็นที่เคารพและสักการะแก่คนเนปาลอย่างไม่ขาดสาย ที่น่าประหลาดใจคือปากหนุมานบวมเจ่อ มาทราบทีหลังว่าหญิงใดต้องการขอให้สามีของตัวเองแข็งแรงก็จะมาอธิษฐานกับหนุมานโธก้าโดยเอาอาหารป้อนใส่ปาก จึงเป็นที่มาของปากหนุมานดังในภาพ

แนบไฟล์  DSC07534.JPG   1.68MB   159 ดาวน์โหลด
หนุมานโธก้าที่หญิงเนปาลมาอธิษฐานขอให้สามีแข็งแรง

แนบไฟล์  DSC07531.JPG   1.99MB   185 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07532.JPG   2.12MB   149 ดาวน์โหลด
เหล่านักพรตเนปาลี






วันที่ 5
: ชมวังกุมารีหลวง


ไม่ไกลกันออกไปเราก็เดินไปยังบริเวณพระราชวัง มีขนาดเล็กกว่าปกติ เป็นเทวสถานของกุมารี ซึ่งจะไม่ได้ออกมาให้เราดูได้ตลอดเวลา แต่จะออกมาตามใจท่าน แต่โชคดีที่ไกด์ของเรา เป็นศากยวงศ์ ก็คือว่ามีเชื้อสายเดียวกันกับกุมารีด้วยจึงได้สิทธิพิเศษในการเข้าพบกุมารี ชาวเนปาลนั้นนับถือกุมารีมาก เขาถือว่าเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง วิธีการเลือกกุมารีมีวิธีการที่ละเอียดซับซ้อนมาก เท่าที่ฉันทราบมาคร่าวๆ ก็คือว่า เขาจะหาเด็กสาวของตระกูลศากยะอายุประมาณ สามถึงห้าปีมาทดสอบ เช่นให้อยู่ในห้องมืด โดยมีรูปเทพเจ้าที่น่ากลัวต่างๆ เสียงหวีดร้องโหยหวน ถ้าเด็กคนไหนร้องไห้ก็ถือว่าไม่ผ่านการทดสอบ จนเหลือหนึ่งเดียวเด็กคนนี้ถือว่าเป็นเทพเจ้าตัวจริง

กุมารีนั้นมีอยู่หลายองค์ด้วยกันตามเมืองต่างๆ แต่กุมารีของกาฐมาณฑุนั้นเป็นกุมารีหลวง คือผู้คนจะให้ความสำคัญ ให้ความเคารพและมียศมากที่สุด ขนาดที่ว่ากษัตริย์ของเนปาลเองยังให้ความคารพ กุมารีนี้จะอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงเมื่อร่างกายมีเลือดออกมา (มีประจำเดือน) หรือแม้จะโดนมีดบาดแผลถลอกก็เช่นกัน ก็จะพ้นจากการเป็นกุมารี เมื่อนั้นก็จะถึงคราเลือกกุมารีองค์ต่อๆไป

แนบไฟล์  kumari_1_.jpg   10.96K   103 ดาวน์โหลด
กุมารีหลวงของนครกาฎมาณฑุ ที่หน้าผากวาดเป็นรูปดวงตาที่ อันหมายถึงตาของเทพเจ้า


อย่างไรก็ตามการที่พ่อแม่มีลูกเป็นกุมารี ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วเวลาหนึ่ง ก็ถือว่าได้รับเกียรติมาก ดังนั้น พ่อแม่จึงผลักดันลูกของตนเองมาก เมื่อได้เป็นกุมารีแล้ว ทั้งครอบครัวก็จะได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังกับกุมารีด้วย ฝ่าเท้าของกุมารีนั้นจะไม่ได้โดนพื้นเลย กุมารีจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “เทวดาเดินดิน” เมื่อพี่ไกด์ของเราไปเจรจากับครอบครัวของกุมารีแล้ว สักพัก กุมารีก็ได้ออกมาปรากฏให้พวกเราได้เห็นบนหน้าต่างชั้นสองของวังกุมารี เมื่อท่านปรากฏออกมา ทุกคนต่างทำเสียงชื่นชม และประทับใจท่านมากๆ หน้าตาของพระองค์น่ารักมากๆๆ ดูแล้วรู้สึกชื่นใจ ทุกคนต่างอมยิ้มในความน่ารักของท่าน อายุของท่านตอนนั้น น่าจะประมาณ 7 ปี แต่ข้อแม้ที่สำคัญในการมาชมกุมารีคือ ห้ามบันทึกภาพใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องเก็บกล้องเอาไว้อย่างดี เมื่อกุมารีเดินกลับเข้าไป ใบหน้าของฉันและอีกหลายๆ คนก็ยังคงมีรอยยิ้มที่ค้างอยู่ ความรู้สึกก็คงคล้ายๆ กับคนเนปาลคือ แค่ได้เห็นท่านก็ชื่นใจ ท่านเหมือนเป็นกำลังใจให้ผู้คนเนปาลได้ดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งต่อไป

แนบไฟล์  images_18_.jpg   4.32K   105 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07509.JPG   1.93MB   132 ดาวน์โหลด
หน้าต่างบานกลางชั้นบน คือบานที่กุมารีออกมาปรากฏ

แนบไฟล์  DSC07524.JPG   1.95MB   157 ดาวน์โหลด
ประตูวังโบราณ

แนบไฟล์  DSC07522.JPG   1.68MB   196 ดาวน์โหลด
วัวที่ชาวฮินดู ในเนปาลเคารพ เพราะเป็นพาหนะของพระศิวะ



และแล้วก็ถึงเวลาที่สาวๆ ตั้งตารอ คือ เวลาที่ทางทัวร์จะให้เวลาอย่างอิสระ เพื่อที่จะให้เลือกชมสินค้าพื้นเมืองตามใจชอบ สินค้าพื้นเมืองที่พลาดไม่ได้เลยคือ ผ้า Pashminaอันเลื่องชื่อ แต่ก็ต้องดูดีๆ กันหน่อย อย่างคำกล่าวที่ว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย ฉันแยกเดินช้อปกับคุณแม่ โดยคุณแม่ไปกับคุณยายไปได้ผ้าคลุมไหล่สวยๆ มาหลายผืนซึ่งบางเบามากขนาดดึงรอดผ่านแหวนได้ทั้งผืน ส่วนฉันไปกับน้อง ฉันได้กระเป๋ามาหลายใบ เป็นกระเป๋าที่ทำมาจากขี้ไหม และเป้ที่เหมือนกับเส้นไหมพันกันยุ่งๆ ออกมาน่ารักดี แล้วก็ได้ผ้าพันคอที่ถูกใจอีกหลายผืน เนื่องจากราคาสามารถต่อรองได้ ฉันจึงเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อของมาก

ช่วงเวลาแห่งความสุขมักจะหมดไปเร็วเสมอ ตะวันได้ตกไปนานจนมืด นั่นหมายถึงเวลาที่เราต้องขึ้นรถเพื่อกลับไปยังโรงแรมก็ได้มาถึงแล้ว ถึงตัวฉันจะขึ้นรถแล้ว แต่ใจฉันได้ติดอยู่ตามร้านค้าพื้นเมืองเหล่านั้น เมื่อตรวจดูจำนวนเงินที่เหลืออยู่จึงสามารถที่จะดึงใจฉันกลับเข้ามาได้ เหตุด้วยจำนวนเงินที่ร่อยหรอนี่เอง...

คืนนี้ ฉันนอนดึกเป็นพิเศษเพราะว่าเป็นคืนสุดท้าย จึงนั่งคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เดินทางไปด้วยกันเกือบอาทิตย์ แต่กว่าจะเริ่มกล้าที่จะคุยกันก็จวนจะกลับแล้ว เลยรู้สึกเสียดายเวลานิดหน่อยที่พอได้คุยกันสนุกสนานก็เกือบวันสุดท้ายแล้ว

วันที่ 6 วันสุดท้าย
: เมืองมรดกโลก “บัคตาปูร์”


เช้าวันรุ่งขึ้น เช้าวันสุดท้ายที่เนปาล พวกเราไปเยี่ยมเมืองมรดกโลก “บัคตาปูร์” ความสวยงามของเมืองนั้นไม่แพ้นครกาฐมาณฑุเลยทีเดียว ตามโปรแกรมแล้วเราจะได้ไปชมพระราชวังโบราณที่มีประตูทองคำและหน้าต่าง 55 บาน แต่น่าเสียดายที่พวกเราไปในช่วงที่กำลังซ่อมแซม เลยได้เห็นแต่อุปกรณ์ก่อสร้างเท่านั้น เมืองนี้ศิลปกรรมส่วนใหญ่ของเขาก็ทำด้วยไม้เช่นเดียวกับเมืองกาฐมาณฑุ จากนั้นเราก็ไปชมเทวาลัยนายะทาโปลา สูง 30 เมตร ซึ่งเป็นศาสนาสถานที่สูงที่สุดในเนปาล ภายในมีเสาค้ำลงสี 108 ชิ้น แสดงภาพเทวีในปางต่างๆ ตัววัดตั้งอยู่บนฐานเขียงห้าชั้น มีรูปปั้นหินขนาดใหญ่ขนาบข้าง คอยดูแลรักษาสถานที่ เชื่อกันว่ารูปปั้นที่ถัดขึ้นไปแต่ละคู่มีอำนาจมากกว่าคู่ที่ถัดลงมาสิบเท่า

แนบไฟล์  DSC07608.JPG   1.4MB   164 ดาวน์โหลด
เทวาลัยนายะทาโปลา

แนบไฟล์  DSC07610.JPG   1.69MB   156 ดาวน์โหลด
บริเวณเมืองมรดกโลก บัคตาปูร์



เมืองที่นี่ค่อนข้างสะอาด ที่สำคัญยังขึ้นชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย ตามตรอกซอกซอยของที่เมืองนี้ มีร้านค้าอยู่มากมายให้เดินเลือกซื้อกันไม่หวั่นไม่ไหว ราคาย่อมเยากว่าที่ตลาดเมื่อคืนเสียด้วย ไม่รู้ว่าจะโทษตัวฉันเองหรือโทษร้านค้าดี เพราะฉันแทบจะไม่ได้สนใจบ้านเมืองเท่าไหร่นัก ก็เอาเวลาที่จะต้องพิจารณารายละเอียดความสวยงามของเมืองไปทดแทนกับเวลาช้อปปิ้งแทน ฉันเดินรั้งท้ายของกลุ่ม เพราะมัวแต่เสียเวลากับการถามไถ่ราคา และตัดสินใจ สักพักฉันก็ได้ยินเสียงเรียกของคุณแม่ให้รีบไปขึ้นรถ ฉันจึงรีบกุลีกุจอวิ่งตามไปทันที แต่ก็ไม่ลืมที่จะหันหน้าไปกล่าวคำลากับเมืองที่สวยงามแห่งนี้


แนบไฟล์  DSC07612.JPG   1.85MB   136 ดาวน์โหลด
ลานตากเครื่องปั้นดินเผา



เวลาเที่ยงครึ่งของวันสุดท้ายพวกเราก็มารอเช็คอินกันที่สนามบินตรีภูวันกันแล้ว การมาสนามบินครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะต่อเครื่องไปยังสถานที่อื่นๆ แต่มารอเครื่องเพื่อที่จะไปยังสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์และอบอุ่นที่สุด นั่นคือประเทศไทย ความทรงจำตลอดเกือบหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาเต็มเอียดทั้งในสมุด ในกล้องและในความทรงจำส่วนตัวของฉันเอง ความสนุก ความประทับใจ เกร็ดความรู้เล็กน้อยๆ ต่างๆ ที่ฉันได้มานั้นก็ถูกจัดและเรียบเรียงลงในหน้ากระดาษนี้แล้ว

การเดินทางไปสังเวชนียสถานส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ใหญ่ไปกัน มีผู้น้อยอย่างฉันไม่มากนักที่ได้ไป แต่ไปแล้วสนุก ไม่ลำบากอย่างที่เล่าลือ เพราะผู้ว่าการรัฐพิหารคนปัจจุบันเป็นชาวพุทธ พุทธคยาอยู่ในรัฐพิหาร ทางการจึงตัดถนนใหม่ ทำให้บางแห่งแทนที่จะนั่งรถ 7 ชั่วโมงก็เหลือเพียง 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอีกทั้งเดี๋ยวนี้การบินไทยเปิดบินไป คยาและพาราณสี ทุกสัปดาห์ แต่ในหน้าร้อนลดลงเหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากที่บินในหน้าหนาวอาทิตย์ละ 4 ครั้ง คงเป็นเพราะหน้าร้อนคงร้อนมาก เห็นบอกว่าถึง 52 องศา จึงบินน้อยลง ฉันคิดว่าเราชาวพุทธอย่างน้อยในชีวิตนี้น่าจะมีโอกาสได้ไปกราบสังเวชนียสถาน ณ ดินแดนของพระพุทธองค์สักครั้งหนึ่ง

เรื่องราวทั้งหมดนี้คงต้องขอบคุณป้าตู่ (คุณนารีลักษณ์ วิมุกตานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย) ที่ได้จัดรายการท่องแดนพุทธภูมินี้ขึ้นมาให้พวกเราได้ช้อปทั้งบุญ ช้อปทั้งของพื้นเมืองสวยๆ งามๆ อย่างโดนใจ
...ต้องขอบคุณป้าปิ๋ว (คุณสุชาดา ยุวบูรณ์) ที่มองเห็นฉันจดอะไรขยุ้กขยิ้กอยู่ในสมุดระหว่างที่นั่งอยู่บนรถบัส ถึงได้รู้ว่าเป็นบันทึกของการเดินทางทริปนี้และเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันจดบันทึกนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง
..ขอบคุณคุณแม่ที่ช่วยเกลาข้อความให้
..ขอบคุณทุกท่านทีอ่านมาถึงบรรทัดนี้และโพสต์มาให้กำลังใจ
.. และที่สำคัญที่สุดก็คงจะเป็นคุณยายที่ต้องกราบขอบพระคุณ เพราะถ้าไม่ใช่จากที่คุณแม่จะพาคุณยายมากราบสังเวชนียสถานแล้ว ฉันและน้องก็คงไม่ได้มาเที่ยวสนุกๆ ยังงี้กับคุณยาย ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งท่องเที่ยว ทั้งยังได้เจอคุณลุง คุณป้าและพี่ๆ ที่น่ารักอีกหลายคน...นมัสเตค่ะ


สิอร


แนบไฟล์  DSC07515.JPG   2.27MB   154 ดาวน์โหลด


เอกสารอ้างอิง - พุทธประวัติจากสังเวชนียสถานในอินเดีย ของ คุณไพโรจน์ (ลออ) คุ้มไพโรจน์





ไปเที่ยวอินเดียกับคุณยาย (ตอนที่ 6)

20 March 2008 - 12:44 PM

ขอบคุณท่านผู้อ่านที่โพสต์มาให้กำลังใจนะคะ จะพยายามค่ะ แต่คงต้องฝึกมืออีกเยอะ

ตอนที่ 6
วันที่ 3
: กุสินารา เมืองเล็กๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเลือก


มื้อกลางวันนี้พวกเราต้องรับประทานกันให้อิ่มท้องกันเป็นพิเศษ และยังต้องเตรียมเข้าห้องน้ำห้องท่ากันให้เรียบร้อยด้วย เพราะตลอดบ่ายนี้พวกเราจะต้องใช้เวลาทั้งหมดในการเดินทางนั่งรถไกลเพื่อไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน การเดินทางของเราในครั้งนี้พระอาจารย์ยังคงเดินทางร่วมไปกับคณะด้วย ท่านอยู่ศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อินเดียมาเป็นเวลาร่วมสิบปี ท่านจึงมีความรู้ไม่ใช่เพียงพระพุทธศาสนา ยังมีเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อของชาวอินเดียด้วย ซึ่งท่านบอกว่าเรียนรู้ประเทศอินเดียนี้ สิบปีที่ท่านอยู่ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีหลายความคิด ความเชื่อและเชื้อชาติ วิถีชีวิตจึงแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ท่านเองเคยถูกโจรแขกมอมยาปล้นทรัพย์จนสลบไปสองวันสองคืนก็เคยมาแล้ว มารู้ตัวอีกทีสงสัยว่าตัวเองมานอนอยู่ข้างถนนได้ยังไง เงินในย่ามถูกขโมยไปเกลี้ยง ก็ยังดีที่โจรยังไว้ชีวิตท่าน แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตโปรดพุทธศาสนิกชนที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเดินทางมานมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียอยู่ตลอดมา เวลาในการเดินทางก็ล่วงเลยไปหลายชั่วโมงแล้ว พวกเราบางคนก็ผลอยหลับไปบ้าง มองเหม่อดูทัศนียภาพข้างทางบ้าง แต่พระอาจารย์ของเรายังคงบรรยายทั้งเรื่องราวของอินเดีย เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่สนุกสนาน รวมไปถึงธรรมะที่น่ารู้ด้วย ด้วยความเมตตาของท่านนี้ทำให้ฉันได้ประเด็นหลายประเด็นในการเขียนครั้งนี้ด้วย อย่างเช่นเมืองกุสินาราที่เรากำลังเดินทางไปนี้ อยู่ห่างจากเมืองโครักขปุระ (Gorakhpur) ประมาณ 55 กิโลเมตรและมีสนามบินทหารด้วย ท่านก็เล่าที่มาของชื่อเมืองว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีแม่โคกับปูตัวหนึ่ง ทั้งสองหลงรักกันจึงเป็นที่มาของชื่อเมืองว่า “โครักกับปู” ทำเอาพวกเราที่ตั้งใจฟังต้องขำกลิ้งนึกว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ทำให้เราจำชื่อเมืองสุดท้ายก่อนที่เราจะอำลาอินเดียนี้ได้แม่น

การเดินทางรถในเมืองแขกบนถนนซุปเปอร์ ที่ไม่ใช่ Super Highway แต่เป็น Super Slow จากที่ควรจะวิ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็กลายเป็นสิบชั่วโมงได้อย่างมหัศจรรย์ ดังนั้นพระอาจารย์ท่านจึงมีเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าให้พวกเราฟังได้ตลอดการเดินทาง ทั้งพุทธประวัติและประสบการณ์ของท่านเองในฐานะที่อยู่อินเดียมากว่า 10 ปี ท่านพูดและฟังภาษาแขกได้เป็นอย่างดี มีอยู่ตอนหนึ่งท่านเล่าประสบการณ์การถอนฟันกับหมอแขกให้ฟัง ตอนนั้นท่านปวดฟันบ่อยเพราะฟันผุ หมอตรวจดูแล้วบอกว่าต้องถอนฟันกรามซี่นั้นทิ้ง ก่อนถอนฟันหมอก็ได้ฉีดยาชาให้เพื่อจะได้ไม่ปวด เมื่อหมอเริ่มลงมือถอน อาจจะด้วยเพราะยาชายังไม่ออกฤทธ์ดี ท่านจึงยังรู้สึกเจ็บอยู่ ปากก็พูดไมได้เพราะอุปกรณ์ถอนฟันคาอยู่เต็มปาก จึงพยายามจะยกมือบอกว่ายังเจ็บอยู่ แต่หมอก็นึกว่าท่านจะดิ้น จึงให้ผู้ช่วยมาผูกมือไว้กับเก้าอี้ถอนฟันแล้วเริ่มปฏิบัติการต่อ เพราะเดี๋ยวพอยาชาออกฤทธิ์ก็หายเจ็บเอง แต่ท่านก็ยังไม่หยุดดิ้นแล้วยังร้องลั่น

หมอก็บอกว่า “ภันเต อย่าร้องดิ้นโวยวายซิ อยู่เฉยๆ”

ว่าแล้วหมอก็ทำหน้าที่ของแกต่อไปด้วยความโมโหที่เห็นท่านดิ้นอาละวาดขนาดนี้ แต่ท่านก็ยังไม่หยุดร้องดิ้น รวมทั้งส่วนล่างของร่างกายท่านที่ยังเป็นอิสระอยู่ก็ถูกนำมาใช้ คือทั้งยันทั้งถีบชุลมุนไปหมด คราวนี้หมอแกเกณฑ์ผู้ช่วยมาหมดร้าน ให้มาช่วยกันโดยให้คนหนึ่งขึ้นคร่อมทับตัวท่านไว้ อีกสองคนล็อคขา ส่วนตัวหมอก็ปลุกปล้ำกับการถอนฟันที่ทั้งงัดทั้งดึงอย่างทุลักทุเลกว่าจะดึงเจ้าฟันซี่นั้นออกมาได้ ในสภาพที่เลือดกลบปากท่านและมีเสียงร้องโหยหวนของท่านเป็น background

พอหมอถอนฟันเสร็จ ก็ดุท่านใหญ่เลยว่า “ถอนฟันแค่นี้ ทำไมภันเตต้องร้องโวยวายด้วย”

“ก็มันเจ็บน่ะซิ ถึงได้ร้อง” ท่านบอก

“จะเจ็บได้ยังไง ก็ในเมื่อหมอฉีดยาชาให้แล้ว” หมอตวาดเสียงเข้ม

“ก็ไม่รู้น่ะ มันเจ็บอย่างสุดจะทน เจ็บมากปางตายก็แล้วกัน” ท่านตอบอย่างโมโหด้วยเสียงอู้อี้ สำลีเต็มปาก ในสภาพที่หน้าบวมโย้ไปข้างนึง

หมอทำหน้าครุ่นคิด แล้วเดินไปที่ถังขยะ เก็บขวดเปล่าของยาชาที่โยนทิ้งไปแล้วขึ้นมาดู หมออ่านดูที่สลากข้างขวดสักพักแล้วหันบอกกับท่านว่า

“ Sorry ภันเต ไอ้ที่ฉีดให้เมื่อกี้น่ะ ไม่ใช่ยาชา สงสัยผู้ช่วยหยิบยาผิดขวด เดี๋ยวหมอฉีดยาชาให้ใหม่ก็แล้วกัน”

“......?!!.???!!!....”

ปัดโธ่.. เล่นโดนถอนฟันสดๆ แล้วยังจะมีหน้ามาให้ฉีดยาชาตามทีหลัง ท่านบอกว่าครื้งนั้น หน้าท่านบวมโย้ไปอีกสามวันกว่าจะยุบ นี่แหละค่ะ ประสบการณ์ถอนฟันกับหมอแขกของท่านมหาน้อย

โยกไป ก็โยกมา ตัวพวกเราโอนเอียงตามหลุมตามบ่อของถนน จนกระทั่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็หยุดลง เพราะว่าการจราจรเริ่มติดขัด ผู้คนที่หลับบางคนก็ตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์รอบตัว รวมไปถึงฉันด้วย ฉันมองไปทางเท้าด้านซ้ายมือของรถ มีรถกระบะคันนึงจอดอยู่ริมทาง ดูเหมือนกับว่าจะเป็นคนขับที่กำลังง่วนอยู่กับการทำอะไรซักอย่างที่ข้างๆ รถนั้น พวกเราเริ่มสงสัยและย้ายตัวไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่าภาพที่เห็นคือ คนขับรถคนนั้นกำลังเชือดไก่ที่บรรทุกมาจากหลังกระบะ ทุกคนอึ้งกับโศกนาฏกรรมที่เห็นกันซึ่งๆ หน้า ฉันยังไม่ทันเห็นว่าคืออะไร ก็เบือนหน้าเสียก่อน

เวลาใกล้ค่ำ ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปตามหน้าที่ของมัน ทั้งรถ ทั้งคนขับรถ ทั้งม้าลาที่เดินอยู่ข้างๆ ถนน รวมไปถึงกระเพาะปัสสาวะของพวกเราด้วย หลังจากอั้นกันมานาน ก็ถึงจุดที่ไม่ไหวกันแล้ว หันไปรอบๆ ก็มีแต่ทุ่งเขียวไปหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายซะทีเดียว เพราะทุ่งนี้แหละคือ ห้องปลดทุกข์ของเรา โชคดีหน่อยที่คนขับรถสามารถหาซากบ้านร้างได้ พวกเราชาวสตรีเพศจึงรู้สึกมิดชิดมากขึ้น ฝ่ายชายก็ได้ข้ามไปปลดกันอีกฝั่ง ณ เวลานั้น ทั้งฐานะ วัย นิสัยใจคอ ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นของพวกเราอีกแล้ว เพราะต่างคนก็ต่างหามุมแล้วก็........สบาย กันถ้วนหน้า เมื่อทุกคนเดินขึ้นรถก็ได้ดอกไม้ และกระต่ายกันคนละตัวสองตัว ..

ท้องฟ้าเริ่มมืดแล้ว ระหว่างทางเราได้จอดแวะที่พักกลางทางอีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าห้องน้ำและดื่มชา คราวนี้เป็นห้องน้ำของจริงไม่อิงทุ่ง แต่ก็เป็นห้องน้ำแบบแขกๆ พอหลับหูหลับตาเข้าไปไหว ที่ชื่นใจผู้ใหญ่หลายท่านก็คงจะเป็นชานมร้อนๆ ของเขาที่เตรียมไว้ให้เรา เรียกตามภาษาเขาว่า “ไจ” กลิ่นหอมทีเดียว และในที่สุดโรงแรมของพวกเราก็อยู่ตรงหน้าแล้ว รวมเวลาในการเดินทางจากพาราณสีถึงกุสินาราทั้งหมดก็ประมาณ 9 ชั่วโมง บนระยะทางเพียง 268 กิโลเมตร!!

วันที่ 4
: ปรินิพพานวิหารและมกุฎพันธเจดีย์


เช้าวันรุ่งขึ้นที่กุสินารา เมืองนี้สมัยเมื่อพระถังซัมจั๋งมาเยือนได้วาดภาพเมืองกุสินาราที่รุ่งเรืองในสมัยนั้นไว้เป็นที่ระลึกนำกลับไปเมืองจีน น่าเสียดายที่เมืองถูกทิ้งให้ทรุดโทรม ซึ่งภาพวาดเหล่านั้นได้เป็นประโยชน์ต่อการขุดค้นทางโบราณคดีในอีกหลายร้อยปีต่อมา ในสมัยของพระพุทธองค์ พระราชาแคว้นใหญ่ๆ และผู้คนต่างสงสัยว่าทำไมทรงเลือกปรินิพพานที่เมืองเล็กๆ อย่างนี้ จึงทรงตรัสว่าเมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ และเคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้าจักรพรรดิสุทัสสนะ

พวกเราก็ลุยจาริกแสวงบุญกันต่อโดยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน มีต้าสาละปลูกอยู่เยอะ แต่ฉันไม่เห็นต้นรังนะ ลืมถามเขาไปเหมือนกันว่าเป็นต้นไหน ปัจจุบันนี้ทางการอินเดียได้ปรับปรุงดูแลอุทยานต้นสาละนี้ ให้เป็นอุทยานที่ร่มรื่นสวยงาม จากทางที่รถจอดไปถึงปรินิพพานวิหาร ก็ใช้ระยะทางพอสมควร ดูเหมือนว่าฝนจะเพิ่งตกไปไม่นาน ทางเข้าจึงมีแอ่งน้ำเจิ่งนองอยู่หลายแอ่ง แต่ก็ทำให้บรรยากาศ ณ ตอนนี้ น่าเดินเล่นเป็นอย่างมาก ไม่นานนักพวกเราก็ได้เดินเข้าไปในปรินิพพานวิหาร ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ ยาว 20 ฟุต หรือประมาณ 6 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ และหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

แนบไฟล์  800px_Kusinara_1_.jpg   73.92K   147 ดาวน์โหลด
ปรินิพพานวิหาร กุสินารา


แนบไฟล์  800px_Mahaparinirvana_1_.jpg   42.9K   152 ดาวน์โหลด
พระนอนที่วิหารมหาปรินิพพานซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองมธุระ


ตอนออกมานอกวิหาร ฉันหันไปเห็นขอทานร่างเล็ก ในมือถือไม้กวาดมาคอยกวาดลานพระวิหารและช่วยจัดเรียงรองเท้าให้นักท่องเที่ยว โดยหวังเพียงเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีใครเมตตาให้ แต่ปรากฏว่าฉันเข้าใจผิดถนัด เพราะพระอาจารย์มหาน้อยบอกว่า ชายร่างเล็ก เนื้อตัวมอมแมม เคี้ยวหมาก หน้าเปื้อนยิ้มผู้นี้ เขามีเงินฝากธนาคารถึง 20 ล้านรูปี (ประมาณ 20 ล้านบาท!!!!) อุแม่เจ้า อะไรกันเนี่ย แล้วพระอาจารย์ก็เล่าแจ้งแถลงไขว่า เขาคือเจ้าของที่ดินบริเวณมหาวิหารปรินิพพานแห่งนี้ และประกอบอาชีพด้วยการเป็นขอทาน เพราะมีแต่ที่ดิน ไม่มีตัง ทางการได้พยายามขอซื้อที่ดินนี้จากเขามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทำอย่างไรเขาก็ไม่ยอมขาย เพราะกลัวว่าจะไม่มีที่ไปขอทาน (เอ..หรือจะเป็นเพราะว่าที่นั่นมีมาเฟียขอทาน ห้ามหากินล้ำแดนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้) จนกระทั่งในที่สุดเขาใจอ่อนยอมขายให้ในราคา 20 ล้านรูปี โดยมีข้อแม้ว่า ยังต้องให้เขาเป็นคนดูแลปรินิพพานวิหารและยังคงประกอบอาชีพขอทานที่นี่ได้เหมือนเดิม! โอ๊ย..ลมจะใส่ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นขอทานเศรษฐีที่นี่ Only in India!

แนบไฟล์  DSC03361.JPG   1.7MB   161 ดาวน์โหลด
นี่ไงคะ..ขอทานเจ้าของที่ดินบริเวณปรินิพพานวิหารตัวจริง


เหตุผลที่เขายังขอเป็นขอทานอยู่ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร ก็เป็นขอทานมาตั้งแต่เกิดน่ะ มีเงินก็ใช้ไม่เป็น ยังอยู่กระต๊อบดินหลังเดิม เฮ้อ! อย่างนี้จะเรียกว่า มีบุญแต่กรรมบังรึเปล่าเนี่ย..

ภายในวิหารเป็นบรรยากาศที่สงบมาก ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนเข้าไปสักการบูชาแน่นขนัด หลังจากนั้นพวกเราก็ไปเสียเวลาเสียหลายนาทีที่ด้านหน้าของปรินิพพานวิหารนี้ สิ่งที่ทำให้พวกเรายอมเสียเวลาอันมีค่าของการเดินทางนี้ ถ้าไม่รวมช้อปปิ้งแล้ว ก็คือการถ่ายรูปนี่แหละ

คราวนี้เป็นการถ่ายรูปหมู่ คณะของเราก็มีจำนวนร่วมร้อย ต่างคนก็ต่างหาจุดของตัวเอง ต่างคนต่างครอบครัวก็ยังนำกล้องส่วนตัวมาอีก จึงทำให้ฉันต้องฉีกยิ้มอยู่เป็นเวลานาน หลังจากพักให้กล้ามเนื้อหน้าหายเมื่อยกันแล้ว พวกเราก็เดินชมรอบๆ อุทยาน มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยคือ ต้นสาละ ซึ่งต้นที่เราเห็นนี้ไม่ใช่ต้นที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล แต่ได้ปลูกใหม่เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึง หลังจากมานมัสการวิหารสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว พวกเราก็ไม่ควรพลาดที่จะไปนมัสการมกุฎพันธเจดีย์ด้วย ซึ่งก็คือสถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ตอนเดินกลับ ขอทานเศรษฐี เดินตามมาส่ง พร้อมกับยื่นใบสาละที่หล่นดินส่งให้เราเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก พร้อมกับรอยยิ้มสีหมากและสายตาที่รอคอย.. แน่นอนค่ะ รอคอยว่าหวังจะได้เศษตังเล็กๆ น้อยๆ จากพวกเรา ผู้ใหญ่หลายคนส่งตังให้ เพื่อเพิ่มยอดเงินฝากในธนาคารให้เขาซักหน่อย ก่อนจะเดินขึ้นรถไป

มกุฎพันธเจดีย์นั้นเป็นสถูปที่มีฐานใหญ่มาก แต่ก็พังทลายไปมากแล้ว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะได้สร้างถวาย โดยภายหลังได้มีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุในพระโกศทองคำ รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียในสมัยนั้นได้ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยได้ทำพิธีมอบกันที่เมืองโครักขปุระ ทรงให้นำบางส่วนไปไว้ที่เจดีย์ภูเขาทองและส่วนใหญ่ไว้ที่พระเจดีย์เกาะลอย(พระเจดีย์กลางน้ำ) ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเรียกว่าพระสมุทรเจดีย์ แต่ไม่ได้อยู่กลางน้ำแล้ว เพราะแผ่นดินได้งอกมาเชื่อมกัน และทรงประกาศให้ประเทศที่เป็นเมืองพุทธประเทศใดต้องการจะแบ่งไปบูชา ก็ทรงยินดีที่จะแบ่งให้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีหลายประเทศส่งตัวแทนเข้ามารับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ

แนบไฟล์  800px_Kushinara1_1_.jpg   67.79K   146 ดาวน์โหลด
มกุฎพันธเจดีย์ สถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า


จากมกุฎพันธเจดีย์ เราได้ออกเดินทางไปยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เพื่อทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกัน ได้กราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี ท่านเจ้าอาวาสด้วย ท่านเป็นพระเถระที่งดงามและเป็นพระธรรมฑูตรุ่นบุกเบิกในอินเดียก็แทบจะว่าได้ ตัวอุโบสถของวัดก็สวยงามมากเป็นสีขาวทั้งหลัง

วันที่ 4
: ข้ามพรมแดนอินเดียเข้าสู่เนปาล


มื้อเที่ยงของวันนี้ เป็นมื้อเที่ยงมื้อสุดท้ายที่พวกเราจะได้รับประทานกันที่อินเดีย เพราะบ่ายนี้ขบวนรถบัสของพวกเราจะมุ่งหน้าไปยังเนปาล เพื่อไปยังสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ระยะทางไม่ไกลจากกันมาก ประมาณ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางก่อนถึงด่านที่พรมแดน คุณแม่บอกว่าเดี๋ยวนี้ ได้มีคณะผู้แสวงบุญชาวไทยรวมทั้งการบินไทยด้วย ร่วมกันสร้างห้องน้ำและที่พักสงฆ์เอาไว้ก่อนถึงด่านสักหนึ่งชั่วไมงได้มั้ง โดยการนำของท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นที่พักระหว่างทาง รวมทั้งบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงหรือเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ที่ทำให้ด่านปิดเข้าเมืองเนปาลไม่ได้ จะได้เป็นที่พักแรมรอสำหรับทั้งพระทั้งคนที่แสวงบุญ พอด่านเปิดค่อยเดินทางใหม่

การเดินทางข้ามพรมแดน ต้องมีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง รถของเราจอดตรงจุดนั้นครู่ใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่นอกจากจะเช็คเอกสารแล้ว ยังเช็คความปลอดภัยด้วยว่า คนไทยในรถบัสนี้มีใครแอบพกพาอาวุธอันตรายหรือเปล่า พี่ไกด์ผู้คล่องแคล่วของเรา ได้เตรียมยาหม่องขาวตาลิงแพ็คใหญ่เพื่อเป็นใบเบิกทางในการข้ามแดน ที่จริงวิธีนี้ไม่ดีเลย แต่ดูเหมือนว่าในอินเดียต้องใช้เยอะ บางที่ต้องเป็นกระดาษพิเศษที่มีรูปท่านคานธีด้วย (ตัง) ถึงจะเรียบร้อย

ระหว่างรอฉันนั่งมองไปรอบๆ ด่านตรวจ พบกับผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ จุดประสงค์การเดินทางข้ามพรมแดนก็แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าโลกเราจะมีการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ซึ่งติดต่อกันไปมา ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากซีกโลกหนึ่งไปอีกซีกโลกหนึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามกับการเดินทาง ซึ่งดูเหมือนว่าการจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละที่นั้นจะมีข้อแม้ที่ทำให้เราต้องยากลำบากมากขึ้นๆ คิดนู่นคิดนี่ รู้ตัวอีกทีฉันและคณะทัวร์ก็มาถึงสวนลุมพีนีวัน อันเป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์กันแล้ว

แล้วฉันจะเล่าต่อในตอนหน้านะคะ คิดว่าคงจะเป็นตอนสุดท้ายแล้ว

จบตอนที่ 6 ค่ะ




ไปเที่ยวอินเดียกับคุณยาย (ตอนที่ 5)

13 March 2008 - 05:22 PM

ตอนที่ 5
วันที่ 3
: ล่องแม่น้ำคงคา



เช้าวันรุ่งขึ้น เวลาที่รถบัสออกจากโรงแรมนั้นยังไม่เห็นแสงอาทิตย์เลย เพราะว่านั้นเพิ่งจะตีห้า แต่ฉันก็ไม่รู้สึกง่วงเท่าไหร่นัก คงเป็นเพราะอยากจะเห็นแม่น้ำคงคาอันเลื่องชื่อ ที่รถบัสจะพาพวกเราไปในเช้านี้ ชื่อแม่น้ำนี้ในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า “Ganges” เหตุที่ต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษก็เพราะว่า แม่น้ำคงคานั้นเป็นสถานที่ๆ มีผู้คนมาใช้ตลอดเวลาเพราะถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ถ้าเราไปช่วงสาย คนที่มาใช้แม่น้ำคงคาก็จะล้นหลาม จนอาจจะทำให้การไปล่องแม่น้ำคงคาของเราหมดสนุกไปเลยก็ว่าได้

ท่ามกลางความมืด รถของเราได้จอดอยู่ ณ ที่หนึ่ง พี่ไกด์บอกว่ารถใหญ่ไม่สามารถเข้าไปถึงแม่น้ำคงคาได้ ดังนั้นพวกเราจึงต้องเดินเท้าฝ่าถนนและตลาดเข้าไป ฝนตกพรำๆ โชคดีที่ฟ้าเริ่มสางขึ้นบ้างแล้วจึงมองเห็นทางเดิน งานนี้คุณยายยอมใช้บริการรถแขกสามล้อถีบเพราะถนนค่อนข้างลื่นเละ สองข้างทางนั้นมีทั้งคนและสัตว์ และยังจะเห็นผู้คนที่คาดว่าคงจะเป็นพราหมณ์หรือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ถือภาชนะ ภายในมีน้ำสีแดงๆ เขาจะคอยมาแปะหน้าผากให้ เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ฉันเลือกที่จะไม่ให้เขาแปะ เมื่อคืนนี้ฝนคงจะตก พื้นจึงแฉะๆ ฉันและคนอื่นๆ จึงต้องคอยหลบแอ่งน้ำรวมไปถึงหลบกองมูลที่อยู่ตามพื้นด้วย ตอนแรกฉันนึกว่ากองมูลนี้มาจากโคที่ผู้เลี้ยงจูงมาบริเวณนั้น แต่ความจริงแล้วก็มีมูล..ด้วย ซึ่งต้องคอยเดินหลบให้ดีๆ เมื่อเดินตามถนนไปเรื่อยๆ พอเริ่มใกล้ถึงแม่น้ำคงคา ร้านค้าสองข้างทางก็เริ่มเพิ่มขึ้น และแล้วท่ามกลางฝนที่โปรยลงมาเราก็ถึงที่ท่าเรือ มีเรือที่รอเราอยู่สองลำ เป็นเรือขนาดใหญ่มาก มีผู้พายอยู่ท้ายเรือ เรือลำหนึ่งบรรทุกคนได้ประมาณสี่สิบกว่าคน แม่น้ำคงคานี้เชื่อกันว่าไหลมาจากภูเขาไกรลาสบนสรวงสรรค์ (ตามหลักภูมิศาสตร์ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล) เมื่อเขาเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เพราะมีที่มาจากสวรรค์ การทำพิธีกรรมต่างๆ ของชาวอินเดียจึงมาทำกันที่นี่

แต่พิธีกรรมที่น่าสนใจที่สุดคือ การเผาศพ ซึ่งผู้ชายเท่านั้นที่จะเข้าร่วมพิธีได้ แม้แต่แม่ของคนตายก็ไปเผาลูกตัวเองไม่ได้ ชาวฮินดูจะเผาศพแล้วทิ้งเถ้ากระดูกลงแม่น้ำคงคา หรือบางทีเผาเพียงแค่ไหม้เพราะไม่มีตังพอซื้อฟืนได้มากพอจนเผาหมดได้ เรียกว่าเผาพอเป็นพิธี แล้วก็จะทิ้งลงแม่น้ำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกศพจะเผาได้ทั้งหมด มีกรณียกเว้นบางประการเช่น ศพคนถูกงูกัด ศพผู้หญิงท้อง เป็นต้น จะห้ามเผา ให้ลอยคงคาเลย ดังนั้นการล่องเรือในแม่น้ำคงคานี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่จะมีศพมาติดตามเรือ ที่สำคัญศพที่จะมาลอยติดได้นั้น ก็จะต้องเป็นศพที่ขึ้นอืด หรือ ตายแล้วไม่ต่ำกว่าสองสามวัน ภาพที่เห็นจึงสุดจะบรรยาย แต่คงเป็นเพราะบุญกรรมวาสนาดีอย่างไรไม่ทราบ ศพทั้งหลายจึงพร้อมใจกันไม่เข้ามาติดเรือของเราในเช้าวันนั้น


แนบไฟล์  DSC07368.JPG   1.7MB   237 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC03480.JPG   1.46MB   205 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC03532.JPG   2.01MB   194 ดาวน์โหลด

บรรยากาศยามเช้าริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ฝั่งที่เห็นเงียบสงบ ไม่บ้านเรือนเลยนั้น เพราะชาวอินเดียถือว่าเป็นฝั่งนรก



ไฟที่ชาวอินเดียใช้จุดเผาศพนั้น ตั้งอยู่ในวิหารริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งกองไฟประธานว่ากันว่ามีมานานกว่าสามพันปีไม่เคยมอดดับ เพราะมีคนตายมาให้เผากันอยู่ตลอด ฝั่งที่เราขึ้นเรือนั้นเรียกกันว่าเป็นฝั่งสวรรค์ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นฝั่งนรก ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะฝั่งตรงข้ามนั้นแห้งแล้งกว่ามากๆ ทั้งยังเป็นที่ต่ำ จึงเกิดน้ำท่วมได้บ่อยครั้ง เมื่อเป็นที่ต่ำแล้ว ศพที่ลอยอืดก็จะไปเกยติดยังฝั่งตรงกันข้าม

แนบไฟล์  DSC07369.JPG   1.44MB   208 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07372.JPG   1.78MB   218 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07390.JPG   1.48MB   219 ดาวน์โหลด
ฝั่งนี้แหละ คือฝั่งสวรรค์
อาคารที่เห็นนั้นมีอายุนับพันปีเป็นโรงแรมสำหรับคนใกล้ตายรอเตรียมเผา ฟืนที่ใช้ในการเผาศพจะถูกลำเลียงมาทางเรือ
เผาเสร็จก็โปรยเถ้าลงคงคา ใครไม่มีตังพอซื้อไม้ฟืน ก็เผาพอเป็นพิธีแล้วก็ส่งลงคงคาเช่นกัน


เวลานี้ฟ้าสว่างแล้ว แต่ฝนก็ยังคงตกลงมาปรอยๆ เช่นเดิม เริ่มที่จะมีเรือจอแจมากขึ้น ที่นอกจากมาทำพิธีกรรมและล่องดูวัฒนธรรมแล้ว ยังมีเรือค้าขายอีกด้วย พวกเราเจอเรือมาเทียบพยายามเชื้อเชิญให้ซื้อของอยู่หลายลำ ของที่ขายนั้นก็ดูน่าซื้อ ส่วนมากเป็นเครื่องทองเหลือง แต่คงจะต้องต่อรองราคาให้ดีดี เพราะมิฉะนั้นจะเจอพ่อค้าแขกโก่งราคาเอาได้ นอกจากมาขายของแล้ว ยังมีมาขายปลา ปลาที่เห็นคงจะจับได้แถวนั้น เป็นปลาสร้อยปลาสอดธรรมดา แต่เขาขายพวกเราถึงร้อยบาท นอกจากสินค้าจะไม่น่าสนใจแล้ว ราคายังไม่เป็นที่ถูกใจอีกด้วย

พี่ไกด์ได้แนะนำเราว่าอย่าไปซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทองเหลืองที่น่ารักน่าเอ็นดูหรืออะไรก็ตามจากเรือเหล่านั้น ไม่ใช่ด้วยเพราะราคาสินค้า แต่ด้วยเหตุผลที่เรานึกไม่ถึง คือ เรือพ่อค้าเหล่านั้นที่มารุมเรือเรา เขาจะเกาะโหนเรือเราเอาไว้เป็นเรือโยงเรือแพเลย ทำให้ฝีพายเราต้องออกแรงพายอย่างหนักจนเหนื่อยหอบ โดยไม่มีสิทธิพูดจาหรือไล่ไม่ให้พ่อค้าเหล่านั้นมาเกาะเรือเราเลย เพราะพ่อค้าจัดว่าเป็นวรรณะศูทร ในขณะที่ฝีพายเราเป็นวรรณะจัณฑาลที่ตำกว่า ซึ่งไม่มีสิทธิหืออือใดๆ ทั้งสิ้น!! โถ น่าสงสารเขาจริงๆ เนี่ยขนาดรัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกระบบวรรณะมานานแล้ว แต่ค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่นั้น ยากจริงๆ ดังนั้นเพื่อช่วยไม่ให้เขาต้องออกแรงพายเหนื่อยมาก ก็อย่าซื้อเลย

ในขณะที่เขาตามตื้อเราอยู่นานมากๆ แต่ในที่สุด คงทนเห็นแรงความเฉยชาของผู้โดยสารในเรือเราไม่ไหว จึงย้ายเป้าหมายเป็นเรือลำอื่นๆ ต่อไป เมื่อหันไปทางท้ายเรือฉันก็เห็นฝีพายที่พายอยู่ด้วยความชำนาญ แต่อาจเป็นเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างร้อน เลยทำให้จังหวะที่ลมพัดมา โชยเอากลิ่นพิเศษมาด้วย ฉันจึงต้องเบือนหน้าหนีเข้าสู่ฝั่งทันที


แนบไฟล์  DSC07386.JPG   1.56MB   180 ดาวน์โหลด
นี่แหละค่ะ นายท้ายเรือของเรา


สีสันของผ้าส่าหรีเริ่มหลากตาตามจำนวนของคนที่มาใช้บริการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มากขึ้นๆ อีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวอินเดียมักจะมากันในเวลาเช้าก็เพราะพวกเขามาทำพิธีบูชาพระอาทิตย์กัน เมื่อเรือจอดนิ่ง คนที่ซื้อกระทงดอกไม้มาจากฝั่งก็ได้ร่วมกันลอยกระทง เพื่อบูชาแม่น้ำคงคา กระทงนี้ราคาสิบบาทบ้าง ห้าบาทบ้าง ทำจากใบตองภายในมีกลีบดอกไม้ และมีเทียน ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการมาล่องแม่น้ำคงคาอันเลืองชื่อ ฝีพายได้พาพวกเราขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย ดูเหมือนว่าเราได้ทำอะไรหลายๆ อย่างในเช้านี้มาก ก็เนื่องจากเราได้ตื่นกันตั้งแต่ ตีสี่ ตีห้า เวลาข้าวเช้าของพวกเรานั้นจึงเพิ่งถึง ระหว่างทางออก ฉันกับน้องก็ได้ซื้อของติดไม้ติดมือไปบ้าง เช่น ที่แปะหน้าผากที่ฉันซื้อมาทั้งแผงเพียง สองบาทเท่านั้น และก็ยังมีเชือกผูกข้อมือหลากสีที่ราคาถูกไม่แพ้กัน

แนบไฟล์  DSC07391.JPG   1.6MB   177 ดาวน์โหลด
พอพระอาทิตย์ขึ้น ผู้คนที่มาอาบน้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ก็เริ่มหนาตาขึ้น

แนบไฟล์  DSC07376.JPG   1.66MB   184 ดาวน์โหลด

แนบไฟล์  DSC07377.JPG   1.76MB   166 ดาวน์โหลด
ทางเดินกลับขึ้นจากท่าน้ำริมฝั่งคงคา



เราขึ้นรถกลับโรงแรม โดยหลังจากรับประทานอาหารเช้ากันแล้ว รถบัสก็พาเราไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไปกราบนมัสการธรรมเมกขสถูป คือ สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์หลังจากที่ทรงตรัสรู้ได้ 8 สัปดาห์ แต่เดิมนั้นเมืองสารนาถเป็นที่เงียบ เป็นป่า ไม่ได้มีบ้านเมืองหนาแน่นอย่างเช่นปัจจุบัน ในสมัยโบราณใครคิดว่าตัวเองได้สำเร็จวิชาอะไรๆ แล้ว จะต้องเริ่มมาเผยแพร่ที่นี่ เพื่อให้นักปราชญ์และผู้คนในเมืองนี้ยอมรับ ดังนั้นปัญจวัคคีย์จึงเลือกที่จะมาบำเพ็ญเพียรที่นี่ ณ ที่นี้ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์จึงได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์จนขอบวชเป็นพระสงฆ์ ที่เราเรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชานั่นเอง

ธรรมเมกขสถูปได้ถูกทำลายหลายครั้งแต่ก็ยังคงสภาพได้ดีกว่าสถูปอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งวิหารมูลคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ทรงประทับและปฏิบัติธรรมเมื่อคราวเสด็จมาสารนาถ ซึ่งวิหารนี้แต่เดิมสูงถึง 61 เมตร (ตามคำบอกเล่าของพระถังซัมจั๋งที่เดินทางมาเมื่อประมาณพ.ศ.1280) พวกเราได้เดินเข้าไปในบริเวณฐานของธรรมเมกขสถูป เพื่อที่จะไปวางดอกไม้และเดินประทักษิณรอบพระสถูปเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ ผู้ใหญ่หลายท่านในคณะเราอุตส่าห์เตรียมดอกกล้วยไม้ช่องามๆ จากเมืองไทยมากราบบูชาพระสถูป และยังสดอยู่จนถึงวันนี้ด้วยเพราะดูแลมาเป็นอย่างดี ฉันและคุณแม่คุณยายเลยได้อานิสงส์มีดอกไม้งามๆ บูชาพระสถูปไปกับเขาด้วย เพราะท่านมีน้ำใจงามได้เผื่อแผ่แบ่งปันมายังเราที่ไม่ได้เตรียมมาเลย สาธุ...

ณ จุดที่พวกเรากำลังเดินวนอยู่ ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เป็นจุดแรกเริ่มของพระพุทธศาสนา จากนั้นพวกเราก็ได้เดินชมซากของกุฏิกว่าหนึ่งร้อยหลัง และถัดจากธรรมเมกขสถูปไปทางเหนือเล็กน้อยเราจะพบกับ เสาพระเจ้าอโศกซึ่งปัจจุบันไม่มีหัวเสาเหลือแล้ว บางส่วนก็ได้ไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสารนาถที่พวกเราได้ไปเชยชมมาเมื่อวานนี้ อากาศเย็นขึ้นเล็กน้อย เพราะปรอยฝนที่ตกลงมา ภาพด้านหลังของฉันก่อนที่จะขึ้นรสบัสเป็นภาพธรรมเมกขสถูปที่ตั้งสูงเด่นอยู่ ถึงแม้ว่าจะเห็นได้ไม่ชัดมากเพราะความถี่ของเม็ดฝน แต่ฉันก็สามารถเห็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตได้



แนบไฟล์  dig_sarnath1_1_.gif   18.25K   139 ดาวน์โหลด
ธรรมเมกขสถูป สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา


จบตอนที่ 5 ค่ะ





ไปเที่ยวอินเดียกับคุณยาย (ตอนที่ 4)

12 March 2008 - 11:25 AM



ตอนที่ 4
วันที่ 2
: เยี่ยมบ้านนางสุชาดา


6.00 น. ก๊อกๆๆ...อืมม Morning call ที่เมืองนี้แปลก ไม่ได้มาตามสายปลุกอัตโนมัติเหมือนที่คิดไว้ เป็นอัตโนมือแทน แต่ก็เป็นการเริ่มเช้าวันใหม่ที่ดี วันนี้โปรแกรมแรกของเราคือออกเดินทางไปยังบริเวณที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นบ้านของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธองค์ อากาศในวันนี้จะเย็นกว่าเมื่อวานเนื่องจากฝนตกปรอยๆ ก่อนทางเข้าก็มีหมู่บ้านผู้ยากไร้เช่นเดียวกับที่ภูเขาดงคสิริ แต่มีจำนวนน้อยกว่ามาก คาดกันว่าจะเป็นลูกหลานของนางสุชาดาหรือเปล่าฉันเองไม่แน่ใจ บ้านนางสุชาดานั้นคงจะพังทลายไปตามเวลานับพันปีแล้ว ปัจจุบันก็เหลือเพียงแต่ฐานที่กว้างใหญ่และสูงทีเดียวในระดับหนึ่ง มีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด การที่จะเดินขึ้นไปบนฐานสูงนั้นต้องเหยียบตามเชิงดินที่ไม่เท่ากัน เพราะไม่มีบันได จึงต้องระมัดระวังมาก ดินก็เปียกเพราะฝนตกด้วย แต่ลูกหลานนางสุชาดาทั้งหลายที่ติดตามเรามานั้น ดูจะขึ้นลงด้วยความคล่องแคล่วมากทีเดียว

แนบไฟล์  image010_1_.jpg   4.54K   130 ดาวน์โหลด

บริเวณที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นบ้าน(ปราสาท)ของนางสุชาดา


จากซากปรักหักพังของเนินดินขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น พอจะสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยพุทธกาล บ้านของนางสุชาดา ซึ่งที่จริงน่าจะเรียกว่าปราสาทมากกว่า เพราะตามประวัตินางมีปราสาทถึง 3 หลัง สำหรับ 3 ฤดู ด้วยนางเป็นบุตรสาวของเศรษฐีใหญ่แห่งเมืองพาราณสี และเป็นมารดาของยสกุลบุตร ผู้เป็นเจ้าของ Wording คุ้นหู “ที่นี่...วุ่นวายหนอ ที่นี่...ขัดข้องหนอ” ที่เบื่อหน่ายในความหรูหราร่ำรวยของตนเอง จึงใส่รองเท้าทองคำ (แท้) ออกมาเดินเล่นตอนใกล้รุ่ง จนได้พบพระพุทธองค์และฟังธรรมได้บรรลุอรหันต์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอรหันต์องค์ที่ 6 ในพระพุทธศาสนา ต่อจากพระปัญจวัคคีย์

แนบไฟล์  DSC07309.JPG   1.58MB   180 ดาวน์โหลด

นี่แหละค่ะ ..ท่านมหาน้อย พระดอกเตอร์ปรีชา ผู้เป็นพระมัคคุเทศก์ให้เรา
จากจุดนี้เรายืนอยู่บนเนินดินที่สูงมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นปราสาทของนางสุชาดา


เมื่อหมู่คณะเดินไปถึงบนยอดฐานแล้วก็จัดแจงเอากล้องมาถ่ายภาพกันตามระเบียบ จากนั้นพวกเราก็เดินลัดเลาะตามร่องสวนของชาวบ้านเพื่อที่จะไปยังจุดที่พระพุทธองค์ทรงลอยถาดทองคำ ระหว่างที่เดินไป เราจะได้พบกับภาพของชาวบ้านทำกิจวัตรประจำวันกันอยู่ ชายคนหนึ่งกำลังแปรงฟันด้วยแปรงที่ทำมาจากกิ่งไม้เนื้ออ่อน ท่าทางของเขาไม่เคอะเขินต่อสายตาของพวกเราที่มองแบบไม่เคยเห็นมาก่อน โอ้โฮ..ทำให้นึกภาพออกเลยว่า หลายพันปีที่ผ่านมาแปรงสีฟันยี่ห้อนี้ยังติดอันดับยอดนิยมไม่เปลี่ยนแปลง

แนบไฟล์  DSC07318.JPG   2MB   167 ดาวน์โหลด

ระหว่างทางเดินจากบ้านนางสุชาดาไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา



พืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกไว้ระหว่างทางนั้นช่างสวย และน่ากินมาก คงเป็นเพราะได้ปุ๋ยหมักชั้นเยี่ยม.....เมื่อเดินไปถึงจุดที่พระพุทธองค์ทรงลอยถาดทองคำ ซึ่งบริเวณนั้นมีต้นไทรต้นใหญ่ ยืนแผ่กิ่งก้านอยู่ ตามพุทธประวัตินั้นหลังจากที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลิกการทำบำเพ็ญทุกขรกริยาแล้ว ท่านได้เสด็จลงจากเชิงเขาดงคสิริ มายังหมู่บ้านของนางสุชาดา พระองค์ได้เสด็จมายังใต้ร่มไทร ซึ่งเป็นต้นเดียวกับต้นที่นางสุชาดาได้มาบนบานเอาไว้ขอให้ได้ลูกชาย และเมื่อได้ลูกชายสมปรารถนาแล้ว นางได้จัดทำข้าวมธุปายาส หุงต้มด้วยน้ำนมโคสดอย่างดี ให้สาวใช้มาทำความสะอาดที่ทางไว้ล่วงหน้า เมื่อหญิงรับใช้ได้เห็นพระพุทธองค์ นางคิดว่าเป็นรุกขเทวดา จึงไปบอกกับนางสุชาดา นางรีบมายังต้นไทรด้วยความปิติ และถวายข้าวมธุปายาสพร้อมกับถาดทองคำ พระกระยาหารมื้อนี้เป็นมื้อที่สำคัญมาก หลังจากเสวยท่านได้ทรงอธิษฐานเสี่ยงบารมีว่า ถ้าจะได้ตรัสรู้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดนี้ลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำตามคำอธิษฐาน

ต้นไทรที่พวกเราเห็นอยู่ตรงริมฝั่งแม่น้ำนี้ คงจะเป็นต้นเดียวกัน หรือหน่อเนื้อของต้นไทรในพุทธประวัติเป็นแน่ ตรงกันข้ามของฝั่งแม่น้ำเนรัญชราที่เรายืนกันอยู่นั้น ก็คือมหาวิหารพุทธคยานั่นเอง สถานที่สำคัญทางพุทธประวัติในเมืองพุทธคยา ก็ครบสมบูรณ์ตามโปรแกรมที่จัดเตรียมไว้แล้ว ดังนั้นก่อนที่พวกเราจะเดินทางออกจากเมืองคยาเพื่อไปยังสังเวชนียสถานสำคัญต่อไป พวกเราจึงได้ไปกราบลาพระศรีมหาโพธิ์อีกครั้ง พร้อมกับร่วมทอดผ้าป่า ณ วัดไทยพุทธคยา

วันที่ 2
: บินจากเมืองคยาสู่เมืองพาราณสี


พวกเราเดินทางออกจากเมืองคยาสู่เมืองพาราณสีด้วยเที่ยวบินพิเศษของการบินไทย ทำให้เราสามารถย่นเวลาการเดินทางจาก 10 กว่าชั่วโมง เป็นแค่ 45 นาที สนามบินที่พาราณสีนั้น ก็มีสภาพที่ไม่ต่างไปจากสนามบินที่คยานัก แต่ดูเหมือนว่าสภาพของผู้คนดูจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคยามากๆ ที่สนามบินนั้น มีรถจอดมากมาย เป็นรถที่หน้าตาเหมือนกันหมด คาดว่าคงจะเป็นรถที่คนอินเดียผลิตกันเองเพราะไม่เคยเห็นรถแบบนี้ที่ไหนมาก่อน สีทั้งหมดเป็นสีขาว เรามาถึงพาราณสีบ่ายมากแล้ว พวกเราจึงไม่มีเวลามากนักก่อนที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมืองสารนาถจะปิด นอกจากจะต้องรีบขึ้นไปยังรถบัสที่จอดเตรียมไว้ ฉันและน้องเลือกที่นั่งด้านหลังสุดตามเดิม...ก็เพราะรู้ตัวว่าเด็กที่สุดในรถนั่นเอง

เมื่อถึงพิพิธภัณฑ์พวกเราก็เดินเรียงแถวเข้าประตูพิพิธภัณฑ์กันได้โดยสะดวก เนื่องจากว่าค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ทางทัวร์ได้ทำการตระเตรียมไว้แล้ว เมื่อเข้าไป เราจะพบกับหัวเสาของพระเจ้าอโศกซึ่งมีความใหญ่โตมากกว่าที่ฉันได้คิดเอาไว้มาก หัวเสานี้ทำจากหินทรายก้อนเดียว เป็นรูปพญาสิงห์สี่ตัวยืนหันหลังชนกัน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าอโศก และยังเป็นข้อกังขาในหมู่นักโบราณคดีปัจจุบันนี้ว่า ช่างในยุคนั้นใช้อะไรเคลือบเสาหิน จึงยังคงความเงางามอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านเลยมาหลายพันปีก็ตาม ที่ฐานมีรูปธรรมจักรสลับกับรูปของสัตว์สี่ชนิด คือ ช้าง ม้า สิงห์ โค สัตว์ทั้งสี่นี้จะคอยเฝ้าพิทักษ์ธรรมจักร คือ พุทธศาสนา ซึ่งอินเดียได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติดังที่เห็นปรากฏอยู่ในตราแผ่นดินของประเทศอินเดียนั่นเอง คติการสร้างของสัตว์นี้ นักวิชาการได้แปลความหมายต่างๆ กันออกไป เช่น ความหมายแห่งอำนาจ ความกล้าหาญ ปัญญาชาญฉลาด และพลังความอดทนแข็งแรง ด้านล่างมีอักษรเทวนาคี แปลได้ว่า “ความจริงเท่านั้นมีชัยชนะเหนือทุกสิ่ง”

แนบไฟล์  lion_capital_787_1_.jpg   9.79K   111 ดาวน์โหลด

เสาหินพระเจ้าอโศกส่วนยอด ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองสารนาถ
ตอนเข้าไปเขาห้ามถ่ายรูป จึงต้องไปหาภาพจากwebsiteมาให้ดูค่ะ


หลังจากฟังประวัติ พร้อมกับยืนถ่ายรูปกับความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็แยกกันเดินตามห้อง จุดที่วางหัวเสานั้นเป็นศูนย์กลางของห้องจัดแสดง มีทางแยกออกไปทางซ้าย ขวา ด้านหนึ่งเป็นศิลปะของศาสนาพราหมณ์ อีกด้านเป็นศิลปะของศาสนาพุทธ ฉันเดินไปทางศิลปะของศาสนาพุทธก่อน ภายในนั้นมีพระพุทธรูปมากมาย ทั้งองค์เล็ก องค์ใหญ่ ปางต่างๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปางปฐมเทศนา เป็นลักษณะของศิลปะคุปตะ ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียเลยทีเดียว ลักษณะเด่นของศิลปะคุปตะคือ ลักษณะจีวรเป็นลักษณะเหมือนผ้าเปียกน้ำ ดังนั้นจีวรจึงไม่ดูแข็งกระด้าง เมื่อมีลักษณะเปียกน้ำ จีวรจึงลู่ตามสรีระของพระพุทธองค์ จึงถือว่าเป็นฝีมือช่างที่มีความอ่อนช้อยและละเอียดอ่อนมาก ที่มุมสุดของห้องจัดโชว์นั้น เป็นพระพุทธรูปคุปตะ ปางปฐมเทศนา ทำจากหินทรายที่ฉันกล่าวถึงในตอนแรก

แนบไฟล์  sarnath_787_1_.jpg   19.61K   122 ดาวน์โหลด

พระพุทธรูปคุปตะ ปางปฐมเทศนา ทำจากหินทราย
ภาพนี้ นำมาจากwebsiteเช่นกันค่ะ


พระพุทธรูปองค์นี้นั้นเป็นองค์ที่มีความสวยงามเป็นเลิศ เป็นศิลปะชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของโลก ทำจากหินทราย สูง 5 ฟุต 3 นิ้ว ( 1 เมตร 60 ซม.) ทางอินเดียได้ส่งพระพุทธรูปองค์นี้เข้าร่วมการประกวดต่างๆ แม้จะถูกทุบทำลายจนพระนาสิกหัก แต่ก็ได้ชนะเลิศติดต่อกันหลายปี จนคณะกรรมการถึงกับต้องขอให้งดส่งเป็นเพราะว่า มิฉะนั้นประติมากรรมชิ้นอื่นคงจะไม่ได้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลเป็นแน่ ด้วยความมีคุณค่าทั้งในด้านจิตใจและด้านศิลปกรรมเช่นนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จึงต้องเข้มงวดรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ พวกเราจึงไม่สามารถถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกได้ นอกจากชื่นชมช่างฝีมือชาวพุทธอินเดียโบราณและจดจำความงดงามนี้ไว้ในใจของเรา

หลังจากเดินดูความเจริญรุ่งเรืองของอินเดียในสมัยก่อนเรียบร้อยแล้ว ก็เดินออกจากห้องจัดแสดง อากาศภายนอกฟ้าครึ้มเล็กน้อย ฝนก็เริ่มตกลงมาปรอยๆ พร้อมกับเวลาก็ลดน้อยลง พวกเราจึงต้องอดใจไว้รอไปดูป่าอิสิปตนมฤคทายวันในวันพรุ่งนี้ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณของพิพิธภัณฑ์นั่นเอง ระหว่างเดินกลับมีชาวบ้านนำเสนอขายของที่ระลึกเป็นพระพุทธรูปองค์จำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ขนาดเล็กกว่าฝ่ามือเล็กน้อย โดยเพิ่มความน่าสนใจว่าทำมาจากดินสังเวชนียสถาน แต่จะจริงหรือไม่จริงก็คงไม่ใช่ดินจากเมืองไทยแน่นอน ผู้ใหญ่หลายคนสนใจที่จะนำไปเป็นของฝาก พระอาจารย์ท่านเลยส่งภาษาอินเดียต่อรองราคาได้ถูกมากจากองค์ละกว่าห้าสิบกว่าบาทเหลือเพียงสิบบาท (แต่ปรากฏว่ารุ่นหลังๆ ที่ไปกันได้มาเพียงองค์ละ 3 บาท!!! อันนี้คงแล้วแต่ความสามารถในการเจรจาต่อรองของแต่ละท่านแล้วล่ะค่ะ) พวกเราได้สั่งเขาเป็นร้อยองค์และให้นำมาส่งในวันรุ่งขึ้นตอนที่เรามาที่นี่อีกครั้ง ตอนที่ขนกลับมาเมืองไทยนั้นหนักมากกกกกค่ะ ขอบอก..แถมฝีมือการ packing ใส่ลังกระดาษของพี่แขกก็ไม่จืดเลย กว่าจะถึงเมืองไทยก็ทุลักทุเล แถมบางกล่องขาดหลุดลุ่ย องค์พระแตกเสียหายไปก็มี แต่ก็เป็นของฝากจากอินเดียที่มีคุณค่า เพราะผู้รับดีใจ ผู้ให้ก็หายเหนื่อยลืมความหนักไปเลยค่ะ

แนบไฟล์  Copy_of_DSC07255.JPG   2.13MB   178 ดาวน์โหลด

พระพุทธรูปดินเผาจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา



ก่อนที่จะขึ้นรถนั้น มีเด็กน้อยวนิพกร้องบทสวดมนต์พร้อมกับตีกลองเป็นจังหวะของตัวเอง เสียงของเด็กน้อยใสปิ๊ง ใสจนผู้ใหญ่ในรถต่างหยิบตังให้กันแทบไม่ทัน แต่ละคนก็ให้หลักสิบหลักร้อย จึงทำให้ถึงแม้ว่ารถจะออกแล้วแต่เสียงใสใสยังคงเล็ดลอดตามช่องว่างของรถเข้ามา จากนั้นพวกเราก็กลับโรงแรม โรงแรมนี้ชื่อว่า Taj Ganges จัดว่าเป็นระดับห้าดาวของเขาทีเดียว แล้วก็ไม่ผิดหวัง โรงแรมสวย ที่ล้อบบี้มีนักดนตรีหนุ่มอินเดียตีกลองแขกช่วยให้บรรยากาศเป็นอินเดียมากขึ้น อาหารค่ำมีไอศกรีมอร่อยมาก และวันนี้เป็นวันที่ต่อม ‘Born to shop’ ของพวกเราหลายคนเริ่มทำงาน หลังมื้อเย็นฉันกับน้องเลยตามพวกพี่ๆ ออกมาเดินเล่นดูเมือง หลายคนได้ส่าหรีสีสวยๆ จากร้านค้าในโรงแรมติดมือกลับไปด้วย ก่อนที่จะแยกกันกลับไปพักผ่อนเพื่อที่จะเตรียมตัวไปสถานที่สำคัญอีกแห่ง ซึ่งจะต้องเตรียมลุยกว่าสถานที่อื่นๆ ที่ผ่านมา

แนบไฟล์  DSC07358.JPG   1.63MB   168 ดาวน์โหลด

นักดนตรีที่ล้อบบี้โรงแรม Taj Ganges เมืองพาราณสี


แนบไฟล์  DSC07363.JPG   1.57MB   166 ดาวน์โหลด

ร้านรวงแถวโรงแรมในคืนแรกที่ไปถึงพาราณสี


จบตอนที่ 4 ค่ะ