ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

โสเภณีไทยจะอยู่ตรงไหนในแผ่นดินสยาม


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 บุญโต

บุญโต
  • Members
  • 2192 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • Interests:ปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 16 June 2006 - 08:57 AM

โสเภณีไทยจะอยู่ตรงไหนในแผ่นดินสยาม ?

เมื่อธุรกิจโสเภณี หรือการค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายได้กลายเป็นมาตรการที่รัฐเสนอขึ้น เพื่อ "re-managing" เศรษฐกิจนอกระบบให้กลับมาสู่ระบบที่ชอบโดยกฎหมาย อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดการ/จัดระเบียบใหม่สำหรับกรณีธุรกิจการค้าโสเภณีก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับทางออกที่รัฐได้เสนอให้กับสังคม

ดังนั้นในงานเขียนชิ้นนี้ จึงหยิบประเด็นธุรกิจโสเภณีมาวิเคราะห์ วิพากษ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวในแง่โสเภณี การมีอยู่และความหมาย รวมถึงนัยต่อผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมแล้ว และทางออกของการจัดการ โดยอาศัยหลักวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดเชิงบูรณาการ แนวคิดเรื่องพื้นที่ (space) และแนวคิดพัฒนศึกษา

โสเภณีหญิงงาม นางกลางเมือง : ค้าเซ็กส์ เสพกาม สนามชีวิต
"โสเภณี" คืออะไร เป็นใคร อยู่ตรงไหน ทำอะไรในสังคม

คำถามดังกล่าวอาจจะมีตอบคล้ายๆ กันในหลายสังคมว่า โสเภณีคือ "หญิง/ชายขายตัว" หรือการขายตัวเป็นสินค้า โดยร่วมหลับนอนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับเงินตราหรือสิ่งของเป็นผลตอบแทนอื่นๆ (ยศ สันติสมบัติ, 2535) โสเภณีมีชีวิตอยู่ในซ่อง/โรงแรม/แหล่งโลกีย์ต่างๆ โดยไม่ได้ทำอะไรให้สังคมได้เท่ากับแค่สนองความต้องการทางเพศของผู้กระหายในกามารมณ์ ดังนั้นธุรกิจธุรกรรมต่างๆ ของโสเภณีจึงเกี่ยวพันกับเรื่องของการค้าเซ็กส์ เสพกาม จนมีการเปรียบโสเภณีเป็น "อีตัว" ตัวอะไรสักอย่างที่เหมือนไม่ใช่คนปกติ โดยสามารถเสพสมผสมพันธุ์กับคนทุกเผ่าทุกเชื้อชาติทุกชนชั้นที่มีผลตอบแทนให้ได้ อันหมายความว่า โสเภณีจะมีพื้นที่อยู่ตรงไหนก็ตาม แต่ก็คือ "แหล่งชั่ว" และนั่นคือความรู้ความเข้าใจที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ลึก นัยต่อการมองโสเภณีนั้นแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของสังคม เช่น เดิมก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) ที่อธิบายสังคมด้วยระบบเทวะ --> สู่พระเจ้ากำหนด --> สู่พระบัญญัติ (มีกฎ/บรรทัดฐาน) การมีโสเภณีจึงเป็นเรื่องผิดศีลธรรมจรรยา การควบคุมจัดการจึงมีทั้งรูปแบบการกำราบ ประจาน ตีตรา และสร้างภาพลักษณ์แห่งความชั่วช้าเพื่อป้องกันหรือทำให้คนหวาดกลัว ไม่ใช้ชีวิตมั่วกับกิจกรรมเหล่านี้

แต่ถึงกระนั้นโสเภณีก็ยังมีขึ้นเพื่อสนองกามารมณ์ของเทว/เจ้า/ฤาษีชีไพร พื้นที่ของโสเภณีอาจมีพื้นที่เล็กๆ ที่มีเพื่อสนอง "ใครบางคน" (some one) แต่ถึงกระนั้นในสังคมไทยก็มีการจำกัดพื้นที่สำหรับโสเภณีไว้ว่า ผิด ไม่ควรและไม่มีที่อยู่ให้ โดยสร้างความเชื่อ เช่น ความเชื่อไตรภูมินรก-สวรรค์ กรรม เป็นต้น (จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์, 2540) เพื่อป้องกันการก่อเกิดธุรกิจโสเภณี....ขอแทรกความคิดเห็นส่วนตัวนิดนึง...ถ้าทำได้ก็คงจะดีนะคะ

เมื่อมาถึงสมัยใหม่ (modern) ดูเหมือนโสเภณีจะเริ่มมีพื้นที่กว้างขึ้น ฉะนั้น "ความเป็นโสเภณี" จึงถูกกำหนดให้มีหน้าที่ทางสังคม หรืออีกนัยคือสังคมกำหนดให้ต้องมี "โสเภณี" เพื่อทำ "หน้าที่เฉพาะกิจ" บางอย่างที่สังคมบัญญัติไว้ เช่น โสเภณีเป็นระบบหนึ่งที่ทำหน้าที่ในกิจกรรมทางเพศ "ที่ต้องห้าม/ปกปิด" สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่เป็น "ช่องทาง/พื้นที่ของการแสดงพลังทางเพศ" สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม กรณีเช่นมิดะจึงได้รับสถานภาพที่เปรียบเสมือน "ครูเพศ" ที่สอนประสบการณ์ทางเพศ และมีพื้นที่ที่ถูกจัดวางให้ควรแก่การเคารพให้เกียรติ ดังที่แนวคิดโครงสร้างหน้าที่ (structural-function) มองว่า ทุกสังคมมีระบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และในระบบต่างมีหน้าที่กระทำการต่างๆ เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้ (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2533)

พื้นที่ของโสเภณีได้ขยายตัวอย่างมากเมื่อแนวคิดทุนนิยมระบาด "โสเภณี" กลายเป็นผลรวมอันว่าด้วยแหล่งธุรกิจ ตลาดสินค้า อุตสาหกรรมบริการ-การบริโภคกาม หรือช่องทางสร้างรายได้ที่ลงทุนต่ำได้กำไรสูง ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งประเทศไทยเองก็ได้เปิดธุรกิจการค้าประเวณี/โสเภณี โดยมีรัฐเป็นผู้จัดการควบคุม รวมไปถึงการสร้างขบวนการแห่งการจัดหา ชักนำ บังคับค้าหญิงและเด็กสู่การค้าประเวณี (ศิริพร สะโครบาแนค และคณะ, 2540)

ซึ่งแม้ภายหลังสหประชาชาติได้มีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องปรามการค้าหญิงและเด็ก ค.ศ.1921 และค.ศ.1949 และอนุสัญญาฉบับหลังนี่เองที่มีแนวคิดต้องการล้มเลิกระบบโสเภณี โดยไม่ให้รัฐเข้าไปควบคุมการค้าประเวณี (แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระบุว่าการเป็นโสเภณีเป็นความผิดที่ต้องลงโทษ)

ประเทศไทยเองก็ได้สนองตอบโดยออกกฎหมายปรามการค้าประเวณีในปี พ.ศ.2503 ทำให้การค้าประเวณีซึ่งเป็นกิจกรรมที่รัฐเคยเข้าควบคุมด้วยการจดทะเบียนซ่องและหญิงโสเภณีกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และหญิงที่ค้าประเวณีต้องถูกปราบปรามจับกุมลงโทษ แต่ไม่มีการลงโทษผู้ใช้บริการ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้สามารถหยุดยั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมบริการทางเพศ และธุรกิจการค้าหญิงได้ (ศิริพร สะโครบาแนค และคณะ, 2540)

ประเด็นที่น่าคิดก็คือขณะที่ "โสเภณี" ถูกจัดวางให้อยู่ใน "พื้นที่แอบ" อันมีกฎหมายปรามการค้าประเวณีรองรับ แต่ในความเป็นจริง มีผลวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ได้ปฏิเสธสมมติฐานว่า การค้าดังกล่าวจะลดลงเพราะมีกฎหมายห้าม ตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่าในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจการค้า "โสเภณี" นอกจากจะมิได้ลดลงแล้ว ยังกลับขยายตัวมากขึ้น ถึงกับมีการประมาณไว้ว่า ประเทศไทยมีโสเภณีไม่ต่ำกว่า 75,000 คนและสูงเกือบถึง 2 ล้านกว่าคน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, 2543) และในบรรดาจำนวนโสเภณีที่มีอยู่นี้ถึงกับเป็นแหล่งทำเงินที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะมีกฎหมายห้ามปรามอย่างไร หรือมีขบวนการต่อต้านการค้าโสเภณีว่าเป็นธุรกิจที่สร้างธุรกรรมที่ผิดศีลธรรมจรรยาเพียงใด ก็ยังไม่อาจต้านทานกระแสการเติบโตของตลาดการค้าบริการทางเพศดังกล่าวที่นับวันมีแต่จะขยายตัวสูงขึ้นๆ ยิ่งเมื่อรัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยก็ยิ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมบริการทางเพศเบ่งบานจนกฎหมายปราบปรามแทบจะใช้ไม่ได้ผล

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมองในมุมกลับกัน การที่รัฐได้เสนอทางออกของการจัดการในเรื่องนี้ใหม่ว่า เมื่อไม่อาจปรามหรือห้ามไม่ให้มีธุรกิจนี้แล้ว ทางที่ดีก็ยอมรับว่ามีอยู่จริง และทำให้ถูกกฎหมายเลยดีไหม เพื่อให้ "โสเภณี" เป็น "สินทรัพย์/ทุนคน/สินค้ามนุษย์" ที่จะไปช่วยเสริมพลังทางเศรษฐกิจของประเทศเสียเลย (www.matichon)

อันหมายความว่า แทนที่จะปิดพื้นที่โสเภณีให้อยู่ใน "มุมอับ" ก็เปิดพื้นที่ให้ได้อยู่ในที่โล่งกว้าง "มุมสว่าง" หรือแปลงนัยจาก "โสเภณีในความเป็นอื่น" (other) มาเป็น "หญิงกลางเมือง" ในพื้นที่สาธารณะที่ "ทุกคน" (everyone) ต้องยอมรับ/เข้าใจได้

แน่นอนว่า เมื่อมุมมองต่อการมีอยู่ของโสเภณีเปลี่ยนไปด้วยยุคสมัย
คำถามก็คือ เรามองกิจการโสเภณีเป็นอะไร อย่างไร

ยิ่งในยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern) ที่สังคมต่างมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น มีความต่างหลากหลาย มีแนวคิดแยกแปลกกระจาย มุมมองต่อการมีโสเภณี และพื้นที่ก็เป็นเรื่องของอำนาจและการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งนักคิดอย่างฟูโก ถือว่า ร่างกายของมนุษย์ก็เป็นพื้นที่ชนิดหนึ่ง มีวาทกรรมขององค์ความรู้ มีระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาชุดหนึ่งกำกับเรื่องนี้อยู่ (ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ประเด็นเรื่องของโสเภณีถูกกฎหมายจึงมีทั้งการเรียกร้อง-ต่อต้าน เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ถูก-ผิด ฯลฯ ที่วิพากษ์กันมากในปัจจุบัน

พื้นที่ใหม่ นัยต่อการศึกษา วิกฤตหรือโอกาสการพัฒนา
โสเภณีเป็นปัญหาสังคมหรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนคิด เพราะหากมองอย่าง "คนนอก" ที่มองสังคมทั้งระบบ อาจจะมองว่า โสเภณีเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม และเป็นตัวปัญหาสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา

ในอีกทางหนึ่ง หากมองอย่าง "คนใน" ในมุมมองปัจเจกบุคคล หรือในมุมของผู้เป็นโสเภณี/คนในระบบธุรกิจค้าประเวณี โสเภณีอาจมิใช่อะไรอื่นที่เป็นปัญหาสังคม ตรงกันข้ามสังคมต่างหากที่สร้างปัญหาให้โสเภณี เพราะไม่สามารถจัดหาตำแหน่งแห่งที่ หรือดูแลโสเภณีให้ถูกที่ถูกทาง และปัญหาต่างๆ เช่น มาเฟีย โสเภณีเด็ก อีตัวเถื่อน จึงเป็นผลมาจากรัฐ/สังคมต่างหากที่ปล่อยปละละเลย ไม่มองถึงความเป็นจริงและไม่คิดจะจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง (www.sanook)

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองในมุมใดก็จะเห็นได้ว่า มีปัญหาเกิดขึ้นแน่ ดังนั้นการ re-managing โสเภณี ก็น่าจะมองให้รอบพอที่จะเข้าใจได้ว่า โสเภณีเป็นปัญหาร่วมของชาติที่มีผลกระทบต่อระบบสังคม วัฒนธรรมและระบบการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะของตัวกระทำการหรือตัวรองรับการกระทำของสังคม

แต่ถึงกระนั้น พื้นฐานเบื้องต้นต่อการจัดการเรื่องนี้ก็คงอยู่ที่โลกทัศน์ของสังคมที่มองธุรกิจกิจโสเภณีว่าคืออะไร เป็นอย่างไร สมมติว่าถ้ามองเป็น "เชิงลบ" คือ ความชั่ว เลว ผิด ต่ำทราม การเสนอทางออกในการจัดการคือการ "ขจัด/ทำลายล้าง/ปราบปราม" ให้หมดสิ้นไปใช่ไหม ซึ่งที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า มันไม่เป็นผล

ในทางตรงกันข้ามหากมองโสเภณีใน "ด้านบวก" คือ มิได้เลวร้ายชั่วช้าต่ำทราม แต่ทำคุณอะไรบางอย่างให้สังคม โดยเฉพาะอย่างน้อยก็เป็นทางหนึ่งของทางออกในเรื่อง "การเก็บกด/ปิดกั้น/ต้องการทางเพศ" ในสังคมไทย ประเด็นคือมองเชิงบวกแล้วจะจัดการมันอย่างไร

1) ถ้ามองเชิงบวก ควรจะบวกมันไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ทำให้ถูกต้อง (โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี) ยกย่องเสียว่าควรปล่อยให้มันเติบโตไป ขยายตลาดไปให้มาก เพราะเป็นลู่ทางเพื่อความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ

2) หรือมองเชิงบวก ที่เห็นว่า ควรจะทำให้ถูกในแง่ที่ จัดให้ถูกต้อง ทำให้ถูกที่ มีให้ถูกทาง เพื่อสนองตลาดเฉพาะกิจ ดูแลกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะทาง โดยไม่ไปทำลายระบบศีลธรรม/วัฒนธรรม/สังคมส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจะทำความเข้าใจอีกประการในเรื่องนี้ คือ ขบวนการโสเภณีในปัจจุบันเองก็มีพลวัตรในตัวมันเอง โดยจากที่สังคมเคยรับรู้หรือเข้าใจว่า คนเป็นโสเภณีมักมาจากการถูกบังคับค้าหรือจำยอมแบบในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" (object) กลับกลายเป็นการเลือกเข้าสู่อาชีพโสเภณีโดยสมัครใจ/ตั้งใจ หรืออีกนัยคือพลวัตรที่ได้แปลงภาพผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อมากลายเป็น "ผู้กระทำการ" (subject) หรือ "ผู้ล่า" ที่คอยหาเหยื่อที่ดูโง่แต่โก้หรูแทน

ดังข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในหลายแหล่ง เช่น มูลนิธิผู้หญิง งานวิจัยการศึกษากับสังคมของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ งานสนิมดอกไม้ และงานศึกษาอื่นๆ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างลักษณะการเป็นโสเภณีที่ปรากฏในปัจจุบันได้เช่น (อาจมีมากกว่าที่นำเสนอ)

โสเภณีสมัยก่อน (เหตุผล สู่ทางเลือกและการกระทำ)
กลุ่มหนึ่ง "เพราะเลือกเกิดไม่ได้ จึงไม่มีทางเลือก" คือ หมดสิทธิ์เลือก ถูกบังคับ ไร้ความรู้ ไร้การศึกษา
กลุ่มสอง "เลือกแทบไม่ได้ จึงต้องเลือก" นั่นคือคำตอบสุดท้าย หรือทางเลือกเดียวที่จะไปได้ เพราะความรู้
การศึกษาต่ำ

โสเภณีปัจจุบัน (เหตุผล สู่ทางเลือกและการกระทำ)
กลุ่มสาม "คือทางเลือกที่ดีอันดับแรก" เป็นคำตอบแรกที่ดีสำหรับชีวิต ไม่ต้องคิดมากอะไรแล้ว
กลุ่มสี่ "เป็นทางเลือกคู่ขนาน" หรือทางเลือกเสริม ทำไปพร้อมๆ กับอาชีพอื่น หารายได้เสริมจากงานประจำ
การศึกษาสูง

กล่าวได้ว่าเมื่อมองความสลับซับซ้อนของโสเภณีไทยในวันนี้ ก็จะเห็นว่ามีหลายคำตอบ การจัดการ/จัดระเบียบโสเภณีถูกกฎหมายคงมิเพียงการสร้างแนวทางใดแนวทางหนึ่งเพื่อจัดการ (management) โสเภณีในทุกกลุ่มทุกประเภท และในทางนี้ ประเด็นสำคัญ คือสังคมไทยมีองค์ความรู้มากพอต่อการจัดการชุดความรู้ของระบบโสเภณีที่หลากหลายเหล่านี้เพียงใด และมีองค์ความรู้แห่งการจัดระเบียบที่ต้องการความหลากหลายและแนวทางที่ชัดเฉพาะกลุ่ม

ตัวอย่างพื้นที่โสเภณี สามสี่สนามข้างต้น น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ทางออกหรือมาตรการสำหรับการจัดการเรื่องนี้ก็คงไม่ควรจะมีลู่ทางเดียว หากแต่ควรมีหลายช่องทางที่ดีหรือมียุทธวิธีมากแบบที่จะจัดการงานให้ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะกลุ่มเฉพาะกิจด้วย และแน่นอนว่านั่นย่อมกระทบต่อระบบกระบวนการศึกษาอย่างแน่ชัด อันหมายความว่า การศึกษาจะต้องเข้าไปมีบทบาทไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของโสเภณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พื้นที่ใหม่" ที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในวันนี้ รวมไปถึงพื้นที่แปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งที่กระบวนการศึกษาน่าจะเร่งและทำได้ในทันที อาทิ

- ในแง่องค์ความรู้ : การศึกษาต้องเข้าไปช่วยในแง่เป็นเครื่องมือค้นหา/วิจัย (research) เพื่อทำความเข้าใจ/สร้างความรู้ต่อการจัดการความหลากหลายของโสเภณี และพื้นที่ธุรกิจเหล่านี้ที่กำลังขยายตัวในสังคม ด้วยกระบวนการร่วมค้นหาทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายและเพื่อประโยชน์สังคม ที่สำคัญองค์ความรู้เหล่านี้ควรส่งไปถึงเบื้องบนที่มีอำนาจในการจัดการ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่มากพอสำหรับการวางยุทธศาสตร์ที่ใช้จัดการเรื่องดังกล่าว

- รัฐ/สถาบันที่รับผิดชอบต่อการจัดการโสเภณี : กระทรวงไหน หรือหน่วยงานใดจะรับผิดชอบเรื่องนี้ ควรมีมาตรการกำกับดูแลป้องกัน ควบคุม ปราบปราม "จำกัด/จัดพื้นที่" (zoning) ให้มีพื้นที่เฉพาะที่ไม่ใช่มีเกลื่อนทั่วสาธารณะ การไม่ตีตราขึ้นทะเบียนโสเภณี แต่ขึ้นทะเบียนสถานประกอบการให้ถูกต้อง (ให้รับผิดชอบการดูแลธุรกิจและดูแลโสเภณีอย่างถูกต้องชอบธรรม) การบังคับใช้กฏหมาย เช่น การจับกุมผู้ค้าประเวณีเด็กหรือการบังคับค้า รวมไปถึงมาตรการ "สร้าง/ให้ความรู้" (educating) ทั้งในแง่สำหรับกลุ่มโสเภณี และประชาชนทั่วไป เช่น ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง และสุขภาวะของสังคมโดยเลี่ยงการเสี่ยงสนุกทางเพศ เป็นต้น

- การศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบ และตามอัธยาศัย : จะต้องไปเสริมสร้างความรู้ความเข้าต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบของขบวนการโสเภณี/พื้นที่ที่มีกับผลกระทบต่อสังคม หัวใจสำคัญคือทำ/สร้างให้ผู้เรียนได้รับรู้หรือเข้าใจว่า สิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์นั้นแท้จริงอยู่ตรงไหน การให้คุณค่ากับคนหรือความเป็นมนุษย์ควรคำนึงถึงอะไร และมนุษย์จะอยู่อย่างไรอย่างเป็นสุข (แน่นอนว่าโสเภณีคือก็คน หากแต่พวกเธอ/เขา ได้เลือกดำรงศักดิ์ศรีหรือมองคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตนเองต่างออกไป และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การกระทำเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาวะด้านต่างๆ ของโสเภณีทั้งสิ้น เช่น ต้องติดยา เสี่ยงโรคเรื้อรัง ฯลฯ)

- ระบบสังคมและวัฒนธรรม : จะต้องเข้ามาช่วยหล่อหลอมคุณค่าและสำนึกที่ดี โดยอาศัยกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการถ่ายทอดวิถีชีวิตที่ถูกครรลองครองธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังคมและวัฒนธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อและหลักธรรมทางศาสนา ก็จำเป็นต้องอาศัยศาสนาเป็นเครื่องกำกับจิตใจ การมีสติ การรักษา "ศีล" เช่นเดียวกับสถาบันครอบครัว และสถาบันต่างๆ ในชุมชนจะต้องช่วยกันปลูกฝังคุณค่าแท้ (value) ของมนุษย์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แม้จะทำได้อย่างในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าไม่ทำ สังคมก็อาจจะไปไม่รอด

- กระบวนการสื่อสารทางสังคม : การให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน มากพอที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจ และแยกแยะได้ มิใช่กระบวนการครอบงำหรือชวนให้เชื่อฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่ต้องยืนอยู่บนหลักที่ไม่เอียง "เชียร์-แช่ง" จนไร้เหตุอันทำให้สังคมไม่อาจเข้าใจปัญหาที่เป็นจริงได้

กล่าวโดยสรุปว่า "โสเภณีไทยจะอยู่ตรงไหนในแผ่นดินสยาม" คำตอบของการจัดการในเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ หลายบริบท หลายความคิด การสรุปเรื่องดังกล่าวว่าถูกต้อง ผิดชั่วในยุคนี้ และคงไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับสังคม อย่างไรก็ดีสำหรับในยุทธศาสตร์ของการจัดการ "โสเภณีและพื้นที่" ทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันขบคิดด้วยว่า ถ้าจะทำให้โสเภณีถูกกฎหมาย มีพื้นที่ทางสังคม ก็ต้องไม่กระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ หรือไม่ขยายออกไปจนทำให้สังคมทั้งหมดเห็นดีเห็นงามกับดำเนินธุรกิจประเภทนี้ จนทำให้ระบบคุณค่าที่มองศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ต้องสูญสลายไป และมนุษย์ได้กลายเป็น "สินค้า" ที่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจตอบได้ว่า พัฒนาประเทศไปแล้ว "สยามประเทศดีขึ้นอย่างไร"

เอกสารอ้างอิง
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์. การศึกษากระบวนการและผลของโครงการสื่อชาวบ้านกับการพัฒนามนุษย์และสังคมในภูมิภาคต่างกัน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาพื้นฐานการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ. อุตสาหกรรมการพนันไทย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2538

ยศ สันติสมบัติ. แม่หญิงสิขายตัว : ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : พิมพ์ตุลา, 2535

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา : อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2533

ศิริพร สะโครบาแนค และคณะ. การค้าหญิง : ฤาวิถีสังคมไทย. มูลนิธิผู้หญิง. กรุงเทพฯ : ผู้หญิง, 2540

www.matichon.com และ www.sanook.com



#2 Mai D na

Mai D na
  • Members
  • 282 โพสต์

โพสต์เมื่อ 17 June 2006 - 02:26 PM





ทำไมถึงกลายเป็นธุรกิจไปได้

กลายเป็นปัญหาสังคม

ที่ต้องมีการประชุมกันเพื่อหาข้อยุติ

ขึ้นชื่อว่าโสเภณี

ก็ให้นึกถึงผู้หญิง..นึกถึงเพศแม่

ทำไมถึงได้ด้อยค่า..

ไร้คุณค่าได้ขนาดนี้..








แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
แต่..
เ ป้ า ห ม า ย ไ ม่ เ ป ลี่ ย น แ ป ร




#3 นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว
  • Members
  • 2378 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:รู้สึกว่าจะไม่ค่อยได้อยู่กะที่อ่ะ มาดูอารายกานอ่ะ
  • Interests:มาสร้างบารมีตามติดหมู่คณะดีกว่า

โพสต์เมื่อ 25 September 2006 - 08:16 PM

ขุม3เลยแบบนี้
กายธรรมควรเทิดไว้ ในใจ
เป็นสรณะภายใน เทียงแท้
กว่านี้ บ่ มีใด เทียบได้
น้อบนบท่านไว้แล ค่ำเช้าสุขเสมอ


เอาบุญมาฝากจ้า นั่งสมาธิเยี่ยมไปเลย แถมไปติดจานมาอีกด้วย เด็กชาวเขานี้น่ารักนะแม้คุยไม่รู้เรื่องก็ตามล่ะ สนุกดี

#4 *arthit*

*arthit*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 06 December 2010 - 07:02 AM

ผมก็เป็นผู้ชายขายน้ำคนหนึ่งครับ อาทิตย์