ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

การทำโคลนนิ่ง


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 วัดในดวงใจ

วัดในดวงใจ
  • Members
  • 1199 โพสต์

โพสต์เมื่อ 11 February 2008 - 09:50 PM

การทำ "โคลนนิ่ง" ผิดหลักพุทธหรือไม่?
[/size]
ถาม :
ในแง่ของวิทยาศาสตร์ ถือว่าการชนะธรรมชาติของคนโดยการโคลนนิ่ง ถือว่าวิทยาศาสตร์ชนะธรรมชาติหรือไม่ครับ ?

พระธรรมปิฎก :
การพูดว่า "ชนะ" เป็นเพียงสำนวนของมนุษย์ ความจริงก็คือเราเอาความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้ สาระอยู่ที่ว่าเราต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วเราก็ใช้ความรู้นั้นมาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตัวต้องการ มนุษย์มีความสามารถอันนี้ แต่ ก็ปัญหาก็มีว่า
    ๑.มนุษย์นั้นรู้พอใหม บางทีเราเห็นว่า เราทำสำเร็จ เราก็บอกว่าเราชนะ แต่ปรากฏว่าเรารู้ไม่ทั่วถึง เมื่อรู้ไม่ทั่วตลอด ปรากฏว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นเหตุปัจจัยส่งผลโยงใยไปหาองค์ประกอบอื่น ๆ ในธรรมชาติที่กว้างขวาง โดยเราไม่รู้ตัว บางทีอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี จึงรู้ว่ามันเกิดผลร้ายอย่างไร ผลร้ายแบบนี้ปรากฏขึ้นบ่อยมาก เพราะมนุษย์มองและเห็นแค่ตัวจะเอา แต่ไม่รู้ทั่วตลอดจริง
    ๒.ต้องตั้งเป้าหมายให้ถูก เราอย่าไปคิดเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยมัน ทำไมไม่คิดในทางเสริมสร้างหรือเกื้อหนุนแบบคิดดีต่อมัน
เรื่องนี้ก็น่าสนทนากัน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเราจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจน พูดสั้น ๆ ก็คือ เวลานี้มีแนวคิดสุดโต่ง ๒ แบบ
    ๑.แบบอารยธรรมตะวันตกเป็นที่เป็นมา คือมุ่งพิชิตธรรมชาติให้จัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เรียกว่า เอาชนะธรรมชาติ
    ๒.แบบปล่อยตามธรรมชาติ คนพวกหนึ่งคิดว่าพิชิตธรรมชาติผิด เพราะฉะนั้นต้องปล่อยตามธรรมชาติจึงจะถูก แต่จริงๆ แล้วผิดทั้งคู่
เราจะต้องมีแนวทางที่ถูกต้อง คือทางที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เรียกว่า "ทางสายกลาง" ธรรมะสอนว่า "ธรรมชาติทั้งหมดคือระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย" มนุษย์เราเป็นชีวิต ก็เป็นธรรมชาติอยู่ในระบบความสัมพันธ์นี้ ต้องเป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยต่อสิ่งอื่นที่รับผลไปด้วยกัน

แต่ไม่ใช่เท่านั้น มันมีข้อที่สองว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษตรงที่ว่า มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก และมนุษย์ที่ฝึกแล้วจึงประเสริฐ

ข้อสำคัญหรือจุดแก้ปมอยู่ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราจึงต้องมาพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อจะได้มาเป็นองค์ประกอบ ที่เกื้อหนุนระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลยิ่งขึ้น อันนี้คือ "ทางสายกลาง"



เพราะฉะนั้น ตัวแก้ปัญหาอยู่ที่ "พัฒนาคน" เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างนั้น ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และถ้าฝึกแล้วจะประเสริฐ เราก็ฝึกมนุษย์พัฒนามนุษย์ขึ้นไป มนุษย์ก็จะเป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนร่วมที่ดี จะได้มาช่วยสร้างเสริมระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด อย่างที่ท่านว่า "ให้เป็นโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน" ถาม :</B> ที่ผ่านมา การพัฒนาวิทยาศาสตร์กับปรัชญาทางพุทธเป็นการแสวงหาความจริงซึ่งขนานกันไป ต่างฝ่ายต่างแสวงหาความจริง ทีนี้เมื่อมาถึงจุดตัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการอธิบาย เช่น การโคลนนิ่ง ผมเข้าใจว่าเป็นจุดตัด ซึ่งอธิบายกันคนละด้าน การกำเนิดชีวิตใหม่ ซึ่งตรงนี้ยังไม่สามารถเข้าใจปัญหานี้ได้ ?

พระธรรมปิฎก :
มันไม่ตัดกันหรอก ความจริงก็ต้องเป็นความจริง ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติอยู่นั่นแหละ เป็นแต่เพียงเราพูดถูกหรือพูดผิด เรารู้จริงหรือไม่รู้จริง เราเข้าถึงธรรมชาติจริงไหม

ขณะนี้เราต้องยอมรับว่ามนุษย์แม้แต่ที่ทำโคลนนิ่งนั้นก็ไม่ได้รู้ความจริงของธรรมชาติเพียงพอ เช่น ในเรื่องยีน ลึกลงไปยังไม่รู้ชัดว่า ยีนนี้มาอย่างไร ตัวอะไรกำหนดยีน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็เอาเท่าที่สะสมประสบการณ์มา

เราก็เป็นเหมือนมนุษย์สมัยโบราณในแง่หนึ่ง คือ เอาปรากฏการณ์เท่าที่เราเห็นและสังเกตได้ จดจำมาว่าเราทำอย่างนี้แล้วผลเกิดอย่างนี้ เราก็ทำตามนั้นก้าวต่อ ๆ มาใช่ไหม

เราเก่งกว่ามนุษย์สมัยโบราณ ในแง่ที่เราสังเกตปรากฏการณ์ได้ลึกกว่า ละเอียดกว่า เรายืนอยู่บนยอดสุดของกองแห่งประสบการณ์ความรู้ที่คนรุ่นก่อนๆ ได้สะสมไว้ตลอดอารยธรรมทั้งหมด เรามีเครื่องมือดีกว่า แต่ที่แท้นั้นลักษณะการที่จะเข้าถึงความจริงของเราก็ยังคล้ายกับคนโบราณ คือต่างโดยขั้นระดับที่ก้าวไปไกลว่า แต่โดยประเภทยังไม่ได้ห่างไปไหน

ทีนี้จะทำอย่างไร เมื่อเรามารู้ความจริงถึงระดับนี้ เราจะต้องตั้งจิตตั้งใจให้ถูกต้องด้วย
    ๑.เราต้องตระหนักว่า เรายังไม่ได้รู้จริง ยังรู้ความจริงของธรรมชาติไม่ทั่วตลอด จะต้องตระหนักความจริงที่ว่า "เรายังไม่รู้จริง"
    ๒.ตั้งเจตจำนงหรือมีจุดหมายว่า ทำอย่างไรจะให้เกิดผลดีที่สุดต่อระบบธรรมชาติทั้งหมดที่ร่วมกัน หรือต่อชีวิต สังคม และ ธรรมชาติแวดล้อม ให้ไปดีด้วยกัน พร้อมกันและ ไม่ประมาท คอยระวังหลีกเลี่ยงผลร้าย เราอย่าตั้งใจผิด อย่าตั้งเจตนาที่ผิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งเป็นการตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ และมองธรรมชาติต่างหากจากตัวเอง ซึ่งมันผิดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
เมื่อมองอย่างนี้แล้ว เราก็ตั้งใจให้มันสอดคล้องกัน คือ จะทำสิ่งที่เกื้อหนุนธรรมชาติ อย่าไปคิดเอาชนะมัน ถ้าทำเพื่อเกื้อหนุน เราก็มองจุดหมายให้ชัดและให้สอดคล้อง

หมายความว่า ถ้าเรายอมรับว่า การที่มนุษย์พัฒนาอารยธรรม เช่นสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างนี้ทั้งหมด ก็เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามมีความสุข เพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความร่มเย็นเป็นสุข และ เป็นสภาพเอื้อให้แต่ละชีวิตจะได้พัฒนาตัวเองได้ดี และช่วยรักษาโลกของธรรมชาติให้รื่นรมย์ น่าอยู่อาศัย

ถ้าเรายอมรับอย่างนี้ เราก็ตั้งจุดมุ่งหมายไปรวมอยู่ที่นี่หมด โดยไม่ได้คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติ แต่คิดมุ่งหมายจะทำชีวิต สังคม และ โลกนี้ให้ดีขึ้น

ขอให้สังเกตว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ทำโน่นทำนี่ แสดงออกมาต่าง ๆ หลายคนไม่ได้มีความมุ่งหมายนี้ แต่มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ฉันเก่ง ฉันทำได้ ถ้าแย่กว่านั้นก็ทำเพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงว่าเมื่อทำไปแล้วจะเกิดผลร้าย หรือ ผลเสียอย่างไร นี่คือความสำเร็จในความหมายของคนเหล่านี้

ถาม :</B></I> เรื่องของการเกิดชีวิตใหม่โดยไม่เป็นวิธีธรรมชาติ ในทางพุทธศาสนามีแนวคิดต่อเรื่องนี้อย่างไร?

พระธรรมปิฎก :
เราอาจจะพูดผิดไป ที่จริงไม่ใช่เป็นวิธีธรรมชาติ แต่เป็นวิธีเลียนแบบธรรมชาติ อย่างที่พูดแล้วว่า ความจริงก็คือความจริง เช่น ตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ต้องมีส่วนประกอบอย่างนั้น ๆ มาประกอบกัน เช่นมี สภาพที่เอื้อที่อาศัย อย่างครรภ์มารดา นี่ก็คือสภาพเอื้อให้เราเติบโตขึ้นมา เราต้องมองที่สาระ ว่ามันคืออะไร

มันก็คืออันเดียวกัน แทนที่เราจะใช้ครรภ์มารดา เราก็เอาอะไรก็ไม่รู้มาเป็นสภาพเอื้อแทน แล้วไป ๆ มา ๆ ในที่สุดสภาพเอื้ออันที่เราสร้างเลียนแบบขึ้นมานั้น มันสู้ครรภ์มารดาได้จริงหรือเปล่า แล้วมันมีผลกระทบอะไรอื่นหรือเปล่า ลองดูที่สาระนี้

การที่เราไปทำองค์ประกอบอันนั้นอันนี้มา เราแสดงความเก่งกล้า แต่ที่แท้มันก็ใช้ความจริงของธรรมชาติอยู่อย่างเดิมนี่แหละ ไม่เห็นไปไหนเลย คือความจริงของธรรมชาติก็เป็นอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าเราได้ความรู้นี้ เราก็ดึงเอาความรู้ชิ้นนั้นชิ้นนี้มาใช้พลิกแพลง เปลี่ยนจุดเปลี่ยนที่ แล้วเราก็บอกฉันเก่ง ฉันชนะธรรมชาติแล้ว

ถ้าทำด้วยจุดหมายเพียงเพื่อแสดงว่าฉันเก่งเท่านั้น อย่างนี้ก็แย่ จริงไม่จริง ลองดูซิว่า นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทีเดียวทำผลงานเพียง
    ๑.เพื่อได้ผลประโยชน์ไปสนองระบบอุตสาหกรรม แล้วตัวได้รายได้ นั้นแบบหนึ่ง
    ๒.เพื่อแสดงว่า "ฉันเก่ง"
อย่างที่ทางพระท่านบอกว่า ถูกตัณหามานะครอบงำ ตัณหา คืออยากได้ผลประโยชน์ มานะ คือต้องการแสดงเก่งเท่านั้น ถ้าอยู่ด้วยตัณหามานะ ก็ได้แค่สนองความต้องการเพียงเพื่อจุดหมายของบุคคล แต่ชีวิต สังคม และ โลกนี้ไม่ได้ผลดี

เราต้องตั้งแนวคิดให้ถูกต้อง มุ่งสู่จุดหมายของมนุษย์ที่ว่า เพื่อให้ชีวิตดี สังคมดี โลกนี้น่าอยู่



[size="3"]ตัดตอนมาจากหนังสือ "ธุรกิจ ฝ่าวิกฤติ" จัดพิมพ์โดย มูลนิธิพุทธธรรม โทร ๕๘๙-๙๐๑๒,๕๘๐-๔๗๙๑ โทรสาร ๙๕๔-๔๗๙๑

ไฟล์แนบ


พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์