ไปที่เนื้อหา


ศรีวยาฆร

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 30 Oct 2007
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Feb 16 2009 02:29 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

เหตุใดต้องแบ่งกะทำวิชชา

14 January 2009 - 09:49 AM

happy.gif มาเล่าธรรมะ(อีกแว้ว)ครับ ฮิฮิ

ทำไมต้องแบ่งกะทำวิชชา

และต้องทำสืบทอดกันอย่างต่อเนื่อง


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี


ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอให้ระลึกถึงกันแล้ว

นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากเท่าไรหนอ”


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า

“ภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากนักหนา

มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป (๑)

เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป”


“พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”


“อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย

เปรียบเหมือนสาวก ๔ รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี

หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป (๓๖๕x๑๐๐x๑๐๐,๐๐๐=๓,๖๕๐,๐๐๐,๐๐๐ กัป)

กัปที่เธอเหล่านั้นระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่

ต่อมาสาวก ๔ รูป มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี พึงมรณภาพไปทุก ๑๐๐ ปี (๓,๖๕๐,๐๐๐,๐๐๐x๔=๑๔,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ กัป)

กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป

เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป


ข้อนั้นเพราะเหตุไร



เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง

ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป เธอทั้งหลายเสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก

ได้รับความพินาศเต็มป่าช้า เป็นเวลายาวนาน

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ จึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด

ควรเพื่อหลุดพ้น จากสังขารทั้งปวง



ที่มา-พระไตรปิฎก สํ.นิ. 16/433-434/217.

ภูเขาแห่งความตาย

09 January 2009 - 10:44 AM

happy.gif เล่าธรรมะให้ฟังครับ

ภูเขาแห่งความตาย



กาลครั้งหนึ่ง มีบุรุษผู้หนึ่งมีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ มาจากทิศตะวันออก กล่าวว่า

‘ท่านผู้เจริญ เรามาจากทิศตะวันออก ณ ที่นั้น เราได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ

กำลังกลิ้งบดขยี้สัตว์ทั้งปวงอยู่ ขอให้ท่านจงทำในสิ่งที่พึงทำเถิด



ต่อมา มีบุรุษคนที่ ๒ มีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ มาจากทิศตะวันตก กล่าวว่า

‘ท่านผู้เจริญ เรามาจากทิศตะวันตก ณ ที่นั้น เราได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ

กำลังกลิ้งบดขยี้สัตว์ทั้งปวงอยู่ ขอให้ท่านจงทำในสิ่งที่พึงทำเถิด



ต่อจากนั้น มีบุรุษคนที่ ๓ มีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ มาจากทิศเหนือ กล่าวว่า

‘ท่านผู้เจริญ เรามาจากทิศเหนือ ณ ที่นั้น เราได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ

กำลังกลิ้งบดขยี้สัตว์ทั้งปวงอยู่ ขอให้ท่านจงทำในสิ่งที่พึงทำเถิด



ต่อจากนั้น มีบุรุษคนที่ ๔ มีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ มาจากทิศใต้ กล่าวว่า

‘ท่านผู้เจริญ เรามาจากทิศใต้ ณ ที่นั้น เราได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ

กำลังกลิ้งบดขยี้สัตว์ทั้งปวงอยู่ ขอให้ท่านจงทำในสิ่งที่พึงทำเถิด



“ก็เมื่อมหันตภัยอันร้ายกาจเที่ยวกลืนกินชีวิตมนุษย์อยู่เห็นปานนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน

อะไรเล่าจะเป็นกิจที่ท่านควรกระทำในฐานะเป็นมนุษย์ อันหาได้ยากนี้”



“ท่านผู้เจริญ เมื่อมหันตภัยร้าย บังเกิดขึ้นแก่เราอย่างนี้

จะมีอะไรเล่าที่เราควรกระทำในฐานะมนุษย์อันหาได้ยากนี้”



“ท่านผู้เจริญ เรากำลังบอกให้ท่านรู้ว่า

ชราคือความเสื่อมโทรม และมรณะคือความตาย กำลังครอบงำท่านอยู่

เมื่อชราและมรณะครอบงำท่านอยู่ แม้ท่านเป็นกษัตราธิราชผู้ครองราชบัลลังก์

มีความยิ่งใหญ่ มีกองทัพอันเกรียงไกร ชนะศึกมาทั่วทิศ ครอบครองมหาปฐพีนี้ได้



แต่เมื่อชราและมรณะครอบงำท่านอยู่ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า แม้เหล่านั้นได้เลย ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้เลยที่ที่ท่านจะป้องกันชราและมรณะด้วยกำลังกองทัพอันเกรียงไกรใดๆ ทั้งหมดที่ท่านมีอยู่



หรือแม้ท่านจะมีผู้ทรงเวทมนต์วิเศษซึ่งสามารถจะใช้ทำลายข้าศึกที่ยกทัพมารบกับท่าน

แต่เมื่อชราและมรณะครอบงำท่านอยู่ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยเวทย์มนต์วิเศษเหล่านั้นได้เลย

ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้เลยที่ที่ท่านจะป้องกันชราและมรณะด้วยเวทย์มนต์วิเศษที่ท่านมีอยู่



อนึ่ง แม้ท่านจะมีทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทอง ทั้งที่อยู่ในแผ่นดิน หรืออยู่ในอากาศทั้งหมดก็ตามที

ซึ่งท่านอาจเคยใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ ทำให้ข้าศึกที่ยกทัพมาเกิดความแตกแยกกัน จนพิชิตชัยได้

แต่เมื่อชราและมรณะครอบงำท่านอยู่ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยทรัพย์เหล่านั้นได้เลย

ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้เลยที่ที่ท่านจะป้องกันชราและมรณะด้วยทรัพย์ที่ท่านมีอยู่เป็นอันมากนั้น”



“ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อชราและมรณะครอบงำอยู่อย่างนี้แล้ว

จะมีอะไรเล่าจะเป็นกิจที่เราควรกระทำ นอกจากปฏิบัติธรรมให้เสมอต้นเสมอปลาย สร้างบุญกุศลเอาไว้



“ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น

ก็เมื่อชราและมรณะครอบงำอยู่อย่างนี้แล้ว

อะไรเล่าจะเป็นกิจที่พระองค์ควรกระทำ

นอกจากปฏิบัติธรรมให้เสมอต้นเสมอปลาย สร้างบุญกุศลเอาไว้





ฝากบทกลอน(๖)ส่งท้ายครับ



happy.gif ภูเขาศิลาสูงใหญ่----- เสียดฟ้าฝ่าไปบดสัตว์

สี่ทิศรอบล้อมมิมีลัด----- กำจัดชีพสัตว์ฉันใด



happy.gif ความแก่ความตายฉันนั้น----- ไม่เว้นชนชั้นไหนๆ

ย่ำยีเหล่าสัตว์บรรลัย----- ครอบงำสัตว์ในมือมาร



happy.gif ณ ที่ทุกหน่วยพลรบ----- จบสิ้นกับลานประหาร

มนตราหรือทรัพย์ศฤงคาร----- มิทานต้านต่อมรณา



happy.gif เหตุนั้นบัณฑิตนักปราชญ์----- ฉลาดใน ประโยชน์ พึงหา

พึงตั้งใจด้วยศรัทธา----- รัตนาทั้งสามมั่นคง



happy.gif ผู้ใดประพฤติในธรรม----- สุขล้ำโลกนี้ประสงค์

บัณฑิตสรรเสริญยืนยง----- จำนงวงสวรรค์วันมรณา



ศรีวยาฆร-เรียบเรียง

๙ มกราคม ๒๕๕๒

ลูกศรที่เสียบอยู่ในใจ

08 January 2009 - 08:28 AM

happy.gif มีธรรมะมาฝากเพื่อนๆ ทุกคนครับ


จงถอนลูกศรที่เสียบอยู่ในใจเถิด



ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อจะตายก็ไม่มีนิมิตหมายที่แน่นอน จักถึงคราวใครๆก็ไม่รู้แน่

ชีวิตประกอบอยู่ด้วยความลำบาก อายุก็น้อยนิด ตั้งอยู่บนฐานแห่งความทุกข์

จะเที่ยวหาวิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว จะไม่ตายนั้นย่อมไม่มี

คนเราแม้จะอยู่ได้จนถึงแก่ แต่ก็จะต้องถึงความตายอยู่ดี

เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา

สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ย่อมมีภัยจากความตายอยู่เป็นนิตย์

เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว รอเวลาร่วงหล่นฉะนั้น



ภาชนะดินทั้งหลายที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด มีความแตกเป็นที่สุดฉันใด

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น ย่อมแตกสลายไปในที่สุด

มนุษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ จะโง่หรือฉลาด ทั้งหมดนั้น

ย่อมต้องไปสู่อำนาจแห่งความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้าทั้งนั้น

ก็เมื่อหมู่มนุษย์ถูกความตายครอบงำอยู่ กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก

แม้คนเป็นพ่อแม่ผู้รักบุตรยิ่งกว่าสิ่งใด ก็มิอาจป้องกันลูกน้อย ต้านทานความตายไว้ไม่ได้

และขณะที่ญาติๆ กำลังมองดูอยู่ ต่างก็พากันรำพันกันเป็นอันมากว่า

เออหนอ จงดูสรรพสัตว์แต่ละตนๆ ผู้ถูกความตายนำไป เหมือนโคที่ถูกเขานำไปฆ่าฉะนั้น



เมื่อสัตว์โลกต่างก็ถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้แล้ว

ดังนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย เมื่อทราบชัดความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว อย่าเศร้าโศกเลย

ก็ท่านไม่รู้แม้ทางของผู้มา หรือ ผู้ไป เหล่านั้น

เมื่อไม่เห็นที่สุดปลายทางทั้ง ๒ นี้ ถึงจะเฝ้าร้องร่ำคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์

ผู้ที่เที่ยวหลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่อย่างนั้น หากมันจะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง

บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นแจ้งก็จะพึงทำความคร่ำครวญเช่นนั้นบ้าง



คนเราจะได้รับความสงบใจเพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศก ก็หาไม่

รังแต่ความทุกข์จะเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และร่างกายของเขาก็มีแต่ซูบซีดทรุดโทรมลง

เพราะผู้เบียดเบียดตนเองอย่างนี้ ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส

อีกทั้งคนตายผู้ไปสู่ปรโลกนั้น ก็ไม่อาจคุ้มครองตนได้ ด้วยการคร่ำครวญของผู้อยู่ในโลกนี้

ฉะนั้น การคร่ำครวญอันเป็นเหตุเบียดเบียนตนนี้เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่อผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว

ก็ผู้ทอดอาลัยถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ จักบรรเทาความโศกไม่ได้

ย่อมจมอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก รังแต่จะได้รับทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น



ท่านจงมองดูคนเหล่าอื่นบ้าง ทุกคนทั้งหมดล้วนแต่จะต้องตายไปตามกรรม

สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ต่างก็ตกอยู่ในอำนาจแห่งความตาย ต่างพากันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทั้งนั้น

สิ่งที่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นสำคัญหมาย และวาดหวังไว้ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไปเสมอ

การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่ประจำ ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด

คนเราแม้จะมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปบ้างก็ตาม

ก็จำต้องถึงความพลัดพรากจากกันในที่สุด จำต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน



เพราะฉะนั้น เราเมื่อได้ฟังธรรมของพระอรหันต์เห็นปานนี้แล้ว

เมื่อใดเห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป ให้กำหนดรู้ว่าผู้ตายไปแล้วนั้น

ไม่อาจเป็นอยู่ร่วมกับเราได้อีก ควรกำจัดความเศร้าโศกคร่ำครวญนั้นเสีย

ธีรชนผู้มีปัญญาฉลาดปราดเปรื่อง ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน

เหมือนลมที่พัดพาเอาปุยนุ่นปลิวไป และเหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลามอยู่ได้ฉะนั้น



บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน ควรแท้ที่จะกำจัดความคร่ำครวญ ความโทมนัส

และความทะยานอยากทั้งปวง พึงเพียรถอนลูกศรคือกิเลสที่เสียบอยู่ในใจของตนให้ได้

เพราะบุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย

ย่อมถึงความสงบใจ จักสามารถล่วงพ้นความเศร้าโศกทั้งหมดได้

ผู้ไร้แล้วซึ่งความเศร้าโศกทั้งปวง ชื่อว่าดับกิเลสถอนลูกศรได้แล้ว



ศรีวยาฆร-เรียบเรียง

๘ มกราคม ๒๕๕๒



ป.ล. ให้ไว้ปลงธรรมสังเวชครับ อิ อิ happy.gif

เรื่องเล่าจากชาดก กับ สภาพบ้านเมืองไทยในตอนนี้

18 November 2008 - 06:25 PM

มีเรื่องเล่าในชาดกมาฝากครับ บางที บ้านเมืองเราอาจจะเป็นอย่างนี้บ้างก็ได้



ในอดีตกาล ครั้นพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี ณ ที่อันไม่ไกลจากพระนครพาราณสีได้มีบ้านช่างไม้หมู่ใหญ่ มีครอบครัวอาศัยอยู่พันครอบครัว ในที่นั้นพวกช่างไม้พากันกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าจักกระทำเตียงให้แก่พวกท่าน จักกระทำตั่ง จักกระทำเรือนให้พวกท่าน ต่างกู้หนี้ เป็นอันมากจากมือของฝูงคน แล้วไม่อาจจะทำอะไร ๆ ได้เลย ฝูงคนพากันทวงพากันเร่งเร้า กะพวกช่างไม้ที่พบเข้า ๆ พวกนั้นถูกพวกคนที่เป็นเจ้าหนี้เร่งรัดหนักเข้า พูดกันว่า พวกเราพากันไปต่างประเทศ ไปอยู่เสีย ณ ที่ใดที่หนึ่งเถอะ ชวนกันเข้าป่าตัดไม้ต่อเรือขนาดใหญ่ เข็นลงน้ำนำมาจอดไว้ในที่กึ่งโยชน์กับ ๑ คาวุตจากบ้าน ถึงเวลากลางคืนพากันมาบ้านรับลูกเมียไปสู่ที่เรือจอด พากันขึ้นสู่เรือนั้น แล่นเข้ามหาสมุทรไปโดยลำดับ เมื่อเที่ยวไปด้วยอำนาจลม พากันบรรลุเกาะแห่งหนึ่งท่ามกลางมหาสมุทร ก็แลในเกาะนั้น ผลาผลต่าง ๆ หลายอย่าง มีข้าวสาลี อ้อย กล้วย มะม่วง ข้าว ขนุน ตาล มะพร้าว เกิดเองทั้งนั้น มีอยู่ อนึ่งเล่ายังมีบุรุษเรืออับปางคนหนึ่ง ไปถึงเกาะนั้นก่อน บริโภคข้าวสาลี เคี้ยวกินอ้อยเป็นต้น มีร่างกายอ้วนท้วนเปลือยกาย มีผมและหนวดงอกงาม พำนักอยู่ที่เกาะนั้น ครั้งนั้น พวกช่างไม้แม้นั้น คิดกันว่า ถ้าเกาะนี้ จักมีรากษสคุ้มครอง พวกเราแม้ทั้งหมดจะพากันถึงความพินาศ พวกเราต้องสำรวจดูมันก่อน ทีนั้นบุรุษ ๗-๘ คนที่กล้า มีกำลัง ผูกสอดอาวุธครบ ๕ประการ จึงไปสำรวจเกาะ ขณะนั้นบุรุษนั้นบริโภคอาหารเช้าแล้ว ดื่มน้ำอ้อยแสนสุขสบาย นอนหงายในร่มอันเย็นเหนือพื้นทรายเช่นกับแผ่นเงิน ในประเทศอันน่ารื่นรมย์ เมื่อจะขับเพลงว่า ชาวชมพูทวีปพากันไถ พากันหว่านยังไม่ได้สุขเช่นนี้เลย เกาะน้อยของเรานี้เท่านั้นประเสริฐกว่าชมพูทวีป เปล่งอุทานนี้. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเมื่อจะทรงแสดงว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเปล่งอุทานนี้ แล้วตรัสพระปฐมคาถาว่า



ชนทั้งหลายพากันไถ พากันหว่าน

เป็นมนุษย์ผู้ต้องเลี้ยงชีพด้วยผลการงาน ไม่ถึงส่วนหนึ่งแห่งเกาะอันนี้

เกาะของเรานี้แหละดีว่าชมพูทวีป.



ลำดับนั้น พวกคนที่สำรวจเกาะเหล่านั้น ฟังเสียงเพลงขับของเขาพูดกันว่า ที่พวกเราได้ยินดูเหมือนเสียงคน ต้องรู้เสียงนั้นให้ได้นะ พากันเดินตามกระแสเสียง เห็นบุรุษนั้นพากันกลัวว่าต้องเป็นยักษ์ ต่างสอดลูกศรฝ่ายบุรุษนั้นเล่า เห็นคนเหล่านั้นด้วยความกลัวจะฆ่าคนเสีย วิงวอนว่า นายเอ๋ยฉันไม่ใช่ยักษ์ดอกจ้า ฉันเป็นบุรุษโปรดให้ชีวิตทานแก่ฉันเถิด ครั้นพวกนั้นกล่าวว่า ธรรมดาคนจะเป็นคนเปลือยอย่างเจ้าไม่มีเลย อ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้พวกนั้นรู้ความที่ตนเป็นมนุษย์จนได้ พวกนั้นพากันเข้าไปหาบุรุษนั้น ทำสัมโมทนียกถาแล้ว ถามถึงเรื่องที่บุรุษนั้นมาในเกาะนั้น แม้เขาก็เล่าเรื่องทั้งปวงแก่พวกนั้น แล้วกล่าวว่า พวกท่านพากันมา ณ ที่นี้ด้วยบุญสมบัติของตน เกาะนี้เป็นเกาะอุดม ในเกาะนี้คนไม่ต้องทำการงานด้วยมือตนเลย ก็พากันเป็นอยู่ได้ ข้าวสาลีเกิดเอง และอ้อยเป็นต้นในเกาะนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย เพราะเหตุนั้น เชิญพวกท่านอยู่กันอย่างไม่ต้องกระวนกระวายใจเถิด พวกเหล่านั้นต่างถามว่า ก็แม้อันตรายอย่างอื่นจะไม่มีแก่พวกเราผู้อยู่ในเกาะนี้บ้างหรือ ตอบว่า ภัยอย่างอื่นน่ะไม่มีดอกในเกาะนี้ แต่ว่าเกาะนี้อมนุษย์ครอบครอง พวกอมนุษย์เห็นอุจจาระ และปัสสาวะของพวกท่านแล้วพึงโกรธได้ เหตุนั้นเมื่อจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ พึงขุดทรายแล้วก็กลบเสียด้วยทราย ภัยในเกาะนี้มีเพียงเท่านี้อย่างอื่นไม่มี พวกท่านพึงพากันไม่ประมาทเป็นนิตย์เทอญ พวกนั้นเข้าอาศัยอยู่ในเกาะนั้น ก็ในพันครอบครัวนั้น ได้มี ช่างไม้ ๒ คนเป็นหัวหน้าคนละ ๕๐๐ ครอบครัว ในหัวหน้าทั้งสองนั้น คนหนึ่งเป็นพาลหมกมุ่นในรส คนหนึ่งเป็นบัณฑิตไม่หมกมุ่นในรสทั้งหลาย ในกาลต่อมา ครอบครัวเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ต่างอยู่กันอย่างสบายในเกาะนั้น พากันมีร่างกายอ้วนพี คิดกันว่า สุราของพวกเราห่างเหินนักล่ะ พวกเราพากันกระทำเมรัยด้วยน้ำอ้อยดื่มกันเถอะ พวกนั้นช่วยกันทำเมรัยดื่ม พากันร้องรำเล่นประมาทไปด้วยอำนาจที่เมามัน ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไว้ในที่นั้นแล้วไม่กลบกระทำเกาะให้สกปรกปฏิกูล ฝูงเทวดาโกรธว่า คนพวกนี้พากันทำสนามเล่นของเราให้สกปรก คิดกันว่า ต้องให้น้ำทะเลท่วมท้นขึ้นทำการล้างเกาะเสียเถอะพากันกำหนดวันไว้ว่า วันนี้เป็นกาฬปักษ์ และสมาคมของพวกเราก็ถูกทำลายเสียแล้วในวันนี้ ในวันเพ็ญอุโบสถ วันที่ ๑๕ จากวันนี้ เวลาดวงจันทร์ขึ้นแล้วพวกเราต้องให้น้ำทะเลท่วมฆ่าพวกนี้เสียให้หมดเลยคราวนี้ ครั้งนั้นในกลุ่มแห่งเทวดาเหล่านั้น เทพบุตรองค์หนึ่งเป็นผู้ทรงธรรม สงสารว่า พวกเหล่านี้จงอย่าพินาศไปทั้ง ๆ ที่เราเห็นอยู่เลย เมื่อคนเหล่านั้นบริโภคอาหารเย็น นั่งสนทนากันสบายที่ประตูเรือน ประดับกายด้วยอาภรณ์ทั้งปวง กระทำเกาะทั้งหมดให้สว่างเป็นอันเดียวกัน ยืนอยู่บนอากาศทางทิศเหนือ กล่าวว่า ช่างไม้พ่อเอ่ย ฝูงเทวดาพากันโกรธพวกท่าน อย่าพากันอยู่ ณ ที่นี้เลย ก็ล่วงไปกึ่งเดือนแต่วันนี้ พวกเทวดาจักให้น้ำทะเลท่วมฆ่าพวกท่านเสียทั้งหมดทีเดียวพวกท่านจงพากันออกจากเกาะนี้หนีไปเสียเถิด กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า



ในวันพระจันทร์เพ็ญ ทะเลจักมีคลื่นจัดจะท่วมเกาะใหญ่นี้ให้จมลง

คลื่นทะเลอย่าฆ่าท่านทั้งหลายเสียเลย

ท่านทั้งหลายจงพากันไปหาที่พึ่งอาศัยที่อื่นเถิด.



เทพบุตรนั้นให้โอวาทแก่พวกนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ไปสู่สถานของตนทันที เมื่อเทพบุตรองค์นั้นไปแล้ว เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง####มโหด กักขฬะ คิดว่าพวกนี้พึงเชื่อถือถ้อยคำของเทพบุตรองค์นี้พากันหนีไปเสีย เราต้องการห้ามการไปของพวกนั้นไว้ ต้องให้ถึงความพินาศทั้งหมดเลย ประดับด้วยอลังการอันเป็นทิพย์ กระทำบ้านทั้งหมดให้สว่างเป็นอันเดียวกัน มายืนอยู่ในอากาศทางทิศทักษิณ ถามว่า เทพบุตรองค์หนึ่งมาที่นี่หรือ ครั้นพวกนั้นตอบว่ามาเจ้าข้า กล่าวว่า เขาพูดอะไรกะเธอเล่า เมื่อพวกนั้นพากันตอบว่า เรื่องนี้ เจ้าข้า กล่าวว่า เขาไม่อยากให้พวกเธออยู่ที่นี่หรือ พูดด้วยความเคียดแค้น พวกเธอไม่ต้องไปที่อื่นดอก พากันอยู่ที่นี่เช่นเดิมเถิด ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า



คลื่นทะเลจะไม่เกิดท่วมเกาะใหญ่นี้ เหตุอันนั้นเราเห็นแล้ว ด้วยนิมิตเป็นอันมาก

ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกทำไม จงเบิกบานใจเถิด.



ท่านทั้งหลายจงอยู่ยึดครองเกาะใหญ่นี้ อันมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมายเป็นที่อยู่อาศัยเถิด

เราไม่มองเห็นภัยอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายเลย

ท่านทั้งหลายจงเบิกบานใจอยู่ด้วยบุตรหลานเถิด.



เทพบุตรนั้นปลอบโยนพวกเหล่านั้นด้วยคาถาสองคาถาเหล่านี้แล้วหลีกไป. ในเวลาที่ เทพบุตรนั้นกลับไปแล้ว ช่างไม้ที่เป็นพาลฟังถ้อยคำของเทพบุตร ผู้ดำรงในความไม่เชื่อถือ ก็ตักเตือนช่างพวกที่เหลือว่า ชาวเราเอ๋ย เชิญฟังคำของข้าพเจ้าแล้วกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า



เทพบุตรในทิศทักษิณนี้ ย่อมคัดค้านความเกษมสำราญ

ถ้อยคำของเทพบุตรนั้นเป็นคำจริง เทพบุตรในทิศอุดรไม่รู้แจ้งภัย

ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกไปทำไม จงเบิกบานใจเถิด.



พวกช่างไม้ ๕๐๐ ผู้หมกมุ่นในรส ฟังคำนั้นแล้วเชื่อถือถ้อยคำของช่างไม้พาลชนนั้น. ฝ่ายช่างไม้บัณฑิตอีกคนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อถือถ้อยคำของช่างไม้นั้น เรียกช่างไม้เหล่านั้นมา ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า



เทพยดาเหล่านี้ ย่อมกล่าวผิดกันอย่างไร

เทวดาตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าปลอดภัย

ดังเราขอเตือน ท่านทั้งหลายจงฟังถ้อยคำของเราเถิด

เราทั้งหมดอย่าฉิบหายเสียเร็วพลันเลย.



เราทั้งปวง จงมาช่วยกันทำเรือใหญ่ให้มั่นคงติดเครื่องยนต์ไว้พร้อมสรรพ

ถ้าเทพบุตรในทิศทักษิณพูดจริง เทพบุตรในทิศอุดรก็พูดค้านเปล่า ๆ.



เมื่ออันตรายเกิดมีขึ้น เรือของพวกเรานั้นก็จักไม่เสียหาย

อนึ่ง เราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ ถ้าหากว่าเทพบุตรในทิศอุดรพูดจริง เทพบุตรในทิศทักษิณก็พูดค้านเปล่า ๆ.



เราทุกคนพึงขึ้นสู่เรือนั้นทันที ข้ามไปถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดีอย่างนี้

พวกเราไม่พึงเชื่อถือง่าย ๆ ว่าคำจริงโดยคำแรก

ไม่พึงเชื่อถือโดยง่าย ๆ ซึ่งถ้อยคำที่เทพบุตรกล่าวแล้วในภายหลังว่าเป็นจริง

นรชนใดในโลกนี้ เลือกถือเอาส่วนกลางไว้ได้ นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ.



ก็แลครั้นกล่าวเช่นนี้แล้ว กล่าวต่อไปว่า พ่อเอย พวกเราต้องทำตามคำของเทพบุตรทั้งสอง พวกเราพึงเตรียมเรือไว้ แต่นั้นถ้าคำของเทพบุตรองค์ก่อนจักเป็นจริง พวกเราก็พากันขึ้นเรือหนีไป ครั้นคำของเทพบุตรอีกองค์หนึ่งจักเป็นจริง พวกเราก็จอดเรือไว้ข้างหนึ่ง คงอยู่ในเกาะนี้สืบไป ครั้นช่างไม้ผู้บัณฑิตกล่าวอย่างนี้ ช่างไม้ผู้พาลกล่าวว่า พ่อเอย ท่านเห็นจระเข้ในโอ่งน้ำ ช่างหลับตาเสียนานเหลือเกิน เทพบุตรองค์แรกพูดด้วยความเคียดแค้นในพวกเรา องค์หลังพูดด้วยความรัก พวกเราจักพากันทอดทิ้งเกาะอันประเสริฐ ปานฉะนี้นี่ไปไหนกันเล่า ก็ถ้าท่านอยากจะไป ก็จงควบคุมคนของท่านทำเรือเถิด พวกข้าพเจ้าไม่มีเรื่องที่จะใช้เรือ ช่างไม้บัณฑิตชวนบริษัทของตนเตรียมเรือ บรรทุกเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ พร้อมทั้งบริษัทพักอยู่ในเรือ ต่อจากวันนั้นถึงวันเพ็ญ พอเวลาดวงจันทร์ขึ้น คลื่นก็ซัดขึ้นจากท้องทะเล มีประมาณเพียงเข่า ซัดไปล้างเกาะ ผู้บัณฑิตทราบความคะนองแห่งท้องทะเล ก็ปล่อยเรือแต่ครอบครัวทั้ง ๕๐๐ ซึ่งเป็นพวกช่างไม้พาล ต่างนั่งพูดกันเรื่อยไปว่า คลื่นจากท้องทะเลซัดสาดมาเพื่อจะล้างเกาะ เพียงนี้เท่านั้น ต่อจากนั้นคลื่นในท้องทะเลก็ซัดสาดมาสู่เกาะน้อยเพียงเอว เพียงชั่วคน เพียงชั่วลำตาล บัณฑิตผู้ไม่ติด ในรสเพราะเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ไปได้โดยสวัสดี ช่างไม้ผู้พาลไม่มองดูภัยในภายหน้า เพราะหมกมุ่นในรสถึงความพินาศพร้อมกับครอบครัวทั้ง ๕๐๐ เเล.

อนุสาสนีต่อจากนี้ เป็นพระอภิสัมพุทธคาถา ๓ พระคาถาส่องความนั้นดังต่อไปนี้



กุลบุตรผู้มีปัญญากว้างขวาง แทงตลอดประโยชน์ในอนาคตแล้ว

ย่อมไม่ให้ประโยชน์นั้นผ่านพ้นไปแม้แต่น้อย

เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้น พากันไปในท่ามกลางทะเลโดยสวัสดี ด้วยกรรมของตน.



ส่วนพวกคนพาลมัวหมกมุ่นอยู่ในรสด้วยโมหะ

ไม่แทงตลอดประโยชน์อันเป็นอนาคต

เมื่อความต้องการเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ย่อมพากันล่มจม

เหมือนมนุษย์เหล่านั้นพากันล่มจมในท่ามกลางทะเล ฉะนั้น.



ชนผู้เป็นบัณฑิตพึงรีบทำกิจที่ควรทำก่อนเสียทีเดียว

อย่าให้กิจที่ต้องทำเบียดเบียนตัวได้ ในเวลาที่ต้องการ

กิจนั้นไม่เบียดเบียนบุคคลผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น ในเวลาที่ต้องการ.



พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เทวทัตมัวเกี่ยวเกาะสุขปัจจุบันไม่มองดูภัยในอนาคต ถึงความพินาศพร้อมทั้งบริษัท ทรงประชุมชาดกว่า ช่างไม้ผู้พาลในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวัตผู้ติดสุขในปัจจุบัน เทพบุตรผู้ไม่ดำรงธรรมที่สถิต ณ ภาคใต้ ได้มาเป็นโกกาลิกะ เทพบุตรผู้ทรงธรรมที่สถิตทางทิศเหนือ ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนช่างผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตแล.



จบอรรถกถาสมุททวาณิชชาดก

กองทัพและนักรบ(ธรรม)

01 October 2008 - 08:55 AM

แต่งโคลงมาร่วมบรรยากาศการรวมทัพของลูกพระธรรมครับ



กองทัพและนักรบ(ธรรม)



happy.gif จอมทัพกองทัพกล้า----------ทัพธรรม

องค์พระพุทธผู้นำ-------------ทัพหน้า

เปิดแนวรบมารจำ-------------หลักจู่ โจมแล

ขนส่ำสัตว์ข้ามหล้า------------โลกระบือ



happy.gif แนวรบเราเปิดแล้ว-------------มาเถิด

ภิกษุท่านจงเปิด----------------ทัพหน้า

นำสัตว์สู่สิ้นเกิด----------------กรรมวิบาก

ตีฝ่าวงล้อมหล้า----------------โลกมาร



happy.gif สงครามครั้งใหญ่นี้------------มี่สะเทือน

ภิกษุอย่าแชเชือน--------------ลุกสู้

โลกนี้มิใช่เรือน----------------เราอยู่ เสมอนา

เราเกิดมาเพื่อกู้-----------------สัตว์สิ้นสงสาร



happy.gif โลกนี้มิใช่บ้าน-----------------อยู่สบาย

โลกถูกแก่เจ็บตาย-------------บีบคั้น

อย่าเลยสัตว์ทั้งหลาย----------อย่าเพลิด เพลินอยู่

มารอย่าได้ปิดกั้น--------------ท่านไว้ทรมาน



happy.gif รบเถิดภิกษุผู้-------------------นักรบ

จงรบออกจากภพ--------------คุกหล้า

จงนำส่ำสัตว์สบ---------------สิ้นโศก

ตีฝ่าวงล้อมข้า------------------ทาสมาร



happy.gif รบเถิดทหารกล้า----------------กาจกรรม

ภิกษุนักรบธรรม----------------ทัพหน้า

จงตีฝ่าออกนำ-------------------หมู่สัตว์

ประกาศอิสรภาพข้า------------ทาสมาร



happy.gif รบเถิดนักรบกล้า---------------ทัพธรรม

จงรบทัพมารนำ-----------------สัตว์ข้า

บ่าวทาสวิบากกรรม-------------ภพเกิด

คือคุกขังสัตว์หล้า----------------จุ่งให้ทำลาย



happy.gif จงรบนักรบกล้า----------------ทัพธรรม

จงรบและชี้นำ-------------------สัตว์ข้าม

จงรื้อวัฏฏกรรม-----------------วิบากเกิด

จงประกาศธรรมห้าม----------สัตว์เข้าสู่อบาย



happy.gif เรามาเพื่อกอบกู้-----------------ธาตุธรรม

ต้นธาตุต้นธรรมนำ-------------ทัพสู้

ธาตุธรรมอธรรมทำ-------------ต่อสัตว์

ปฏิภาคดำ-ขาวรู้-----------------รากรื้อสงสาร



happy.gif 10 ตุลาฯศกนี้--------------------รวมพล

หลวงปู่ทองคำคน---------------รักแท้

ประกาศทั่วภูวดล---------------พร้อมรบ

ให้โลกลือระบือแม้-------------มี่สวรรค์



ศรีวยาฆร ประพันธ์

พ. 01/10/2551.