ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

การทำขวัญนาค


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 15 March 2006 - 10:53 PM

คัดลอกบางส่วนมาจาก บวชนาค ต้องทำขวัญนาค
นิตยสาร ...... ( คาดว่าเป็น มติชนสุดสัปดาห์ ) วันที่ 01 กันยายน พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 11)

ประเพณีของ "นาค" อุษาคเนย์ ที่ไม่มีในอินเดีย-ลังกา

นาค เป็นคำใช้เรียกคนผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ
แต่ไม่เคยพบหลักฐานว่าถ้าคนผู้หญิงขออุปสมบทเป็นภิกษุณีจะมีคำเรียกว่าอะไร? จะเรียกนาคีไหม?

ประเพณีไทยแต่โบราณนานมาแล้วไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวชคนให้เป็นพระ แต่เรียกบวชนาค (ให้เป็นพระ)

ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเรื่องบวชนาค (ให้เป็นพระ) ฉะนั้นพิธีบวชนาค จึงไม่มีในชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า (มอญ) เขมร ลาว และไทย

ปัจจุบันที่ลังกามีบวชนาค แต่เขาอธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร? มาจากไหน? ชี้ให้เห็นว่าพิธีบวชนาคในลังการับไปจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี (จากวัดธรรมาราม อยุธยา) รับนิมนต์ไปประดิษฐาน "สยามวงศ์" ที่ลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕

แต่ครั้นไต่ถามความจริงจากผู้คนในอุษาคเนย์แท้ๆ ก็อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโยนกลับไปที่อินเดีย ตามความเคยชินที่ว่า "คิดอะไรไม่ออกบอกว่ามาจากอินเดียไว้ก่อน" ทั้งๆ ที่ในอินเดียไม่เคยมีบวชนาค…………….


ทำขวัญนาค

ให้ลูกของแม่-นางนาค

ประเพณีบวชสมัยก่อนใช้เวลาอย่างน้อย ๓ วัน คือวันแรกทำขวัญ วันที่สองบวช วันที่สามฉลองพระ

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บางรายทำขวัญตอนสายแล้วบวชตอนบ่ายวันเดียวกัน แต่บางรายไม่ทำขวัญ เมื่อโกนหัวก็แห่เข้าโบสถ์บวชเลยก็ได้

ตามประเพณีเก่า วันแรกทำขวัญนาคตอนกลางคืน เพราะว่าพรุ่งนี้คือวันบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับเป็นวันสำคัญ คำทำขวัญนาคบอกว่า

"...พ่อนาคเอ่ย วันพรุ่งนี้แล้วพ่อจะบรรพชาสิ้นมัวหมอง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ห่มครองเป็นภิกษุสงฆ์
นับเข้าเป็นญาติโดยตรงกับพระศาสนา อันหมู่มารร้ายนานาจงแพ้พ่าย..."


ฉะนั้น วันนี้ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ทำขวัญ ฯลฯ เพื่อให้ผู้จะบวชในวันพรุ่งนี้รำลึกถึง

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรแก่การรำลึกถึงก็คือความเป็นมนุษย์ คำทำขวัญบอกว่า

"...พ่อนาคเอ่ย อันการที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นี้นับว่ายาก โดยอเนกจำนวนส่วนมากมักไปต่ำ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอดีตอกุศลกรรมนำส่ง ให้ลงไปสู่ภูมิต่ำในอบายเหลือจะนับ
นี่เป็นเพราะผลแห่งกุศลจึงได้กลับเกิดมาเป็นคน"


แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นคนมีบุญ ได้พบพระพุทธศาสนา นับว่าพ่อนาคมีบุญมากจึงจะได้บวช ดังคำทำขวัญพรรณนาว่า

"การที่จะได้พบพระพุทธศาสน์ก็ยิ่งล้นยากแสนยาก แม้ครั้งพุทธกาลก็มีอยู่มากเดียรถีย์
จึงนับว่าพ่อนาคนี้พ่อมีบุญ ได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อพุทธางกูรอริยวงศ์ พ่อจึงมิได้ไปใหลหลงให้เนิ่นนาน"


"คนมีบุญ" ที่จะได้บวชต้องเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง
แต่พื้นฐานทางสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสำคัญผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย
เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจำเป็นต้องปรับประเพณีมิให้ขัดแย้งกัน นั่นก็คือยกย่อง "คนมีบุญ" นั้นแท้ที่จริงมีปฏิสนธิแล้วถือกำเนิดมาจากผู้หญิงผู้เป็นแม่นั่นเอง


ถ้าพิจารณาอีกทางหนึ่ง ประเพณีทำขวัญนาคก็คือพิธีให้ความสำคัญแก่ผู้เป็นแม่
เพราะวันพรุ่งนี้เมื่อนาคเข้าโบสถ์แล้วแม่จะหมดหน้าที่ ความสำคัญจะโอนไปอยู่ที่พ่อซึ่งเป็นผู้ชาย

พิธีทำขวัญที่ให้ความสำคัญผู้เป็นแม่ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ มีคำทำขวัญพรรณนาเป็นลำดับดังนี้


เรื่องปฏิสนธิ

"...พ่อนาคเอ่ย เมื่อพ่อนาคจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา

วิญญาณพ่อจะเวียนมาอยู่ตามทิศ ครั้นเมื่อแม่เอนกายสนิทลงหลับไหล

ปฏิสนธิวิญญาณจึงเข้าสู่ได้ทางจมูก


ถ้าเป็นหญิงก็เข้าถูกทางเบื้องซ้าย หากแต่ว่าพ่อนี้เป็นชายทางเบื้องขวา

ปฏิสนธินี้จึงบันดาลให้มารดานิมิตฝัน

ถ้าหากได้แก้วอันแพรวพรรณก็เป็นชาย หากได้แหวนเครื่องอาภรณ์ท่อนสไบกลายเป็นหญิง

...ว่าครุวนาดังน้ำล้างเนื้อ ..... ก่อตั้งขึ้นนับเป็นเยื่อหน้าผากก่อน

ต่อจากนั้นจึงค่อยแตกตอนเบญจสาขา .... มีรูปร่างครบอาการมาสามสิบสอง

นั่งผินหลังให้ทางหน้าท้องของมารดา ...... ประดุจวานรที่หวาดผวากลัวฝน

เข้าหลบลี้หนีซ่อนตนในโพรงพฤกษา ....ตามคำโบราณท่านกล่าวมาเป็นดังนี้


...

บัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวอีกทีถึงปัจจุบัน ..... เพื่อให้รู้ทั่วกันประดับไว้

แพทย์พิสูจน์ว่าสตรีนั้นมีไข่ได้โปรดฟัง ...... ไข่นั้นตั้งอยู่ที่รังที่ปีกมดลูก

มีเอ็นยึดดังผูกไว้สองข้าง ....... ตัวมดลูกนั้นมีรูปร่างคล้ายค้างคาว

ปลายที่สุดคือปากมดลูกนั้นเล่าจรดช่องคลอด ......ปีกทั้งสองข้างคือที่ก่อหวอดตั้งรังไข่

ยามเมื่อสตรีเจริญวัยสู่ความสาว

ครั้นเมื่อประจำเดือนมานั้นเล่าเกิดรังไข่ .....ไข่จะสุกทุกคราวไปยี่สิบแปดวัน

พอสุกแล้วก็เลื่อนหลั่นลงมากลางมดลูก ...... รออยู่ที่จะผสมให้เกิดลูกกับเชื้อชาย

เมื่อไม่ได้ผสมก็ฝ่อไหลไปกับประจำเดือน ....... เป็นที่สุดหยุดเคลื่อนตั้งต้นใหม่

อันเชื้อของฝ่ายชายแพทย์มุ่งมอง ........ เมื่อนำมาส่องด้วยกล้องจึงเห็นครบ

ว่ามีรูปร่างเหมือนลูกกบมีหางยาว ...... เมื่อจะผสมก็ว่ายเข้าทางมดลูก

พบเมล็ดไข่ที่สุกก็กัดหาง ........ แล้วจึงแฝงตัวฝังในเมล็ดไข่

จึงเกิดแววขึ้นข้างในแต่โดยพลัน ......แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นทุกคืนวันกลายเป็นหัว

ต่อมาก็เกิดลำตัวหุ้มภายใน


...

เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ถึงเวลาแพ้ท้อง จนกระทั่งคลอด หมอขวัญจะพรรณนาเป็นขั้นเป็นตอน มีตัวอย่างตอนคลอดดังนี้

พอมีลมกัมมัชวาตมาพัดพาเป็นยามปลอด ....... พ่อร้อยชั่งพ่อก็คลอดเคลื่อนออกมา

เป็นเพศชายร่างโสภางามยิ่งนัก ........ แม่นี้ให้แสนนึกรักดังดวงใจ

เอาลงอ่างอาบน้ำใสแล้วขัดสี ...... ขมิ้นดินสอพองขยี้ชโลมถู

แล้วก็นำพ่อลงใส่อู่เปลที่นอน ........ ยามเมื่อเจ้าร้องไห้อ้อนทำโยเย

แม่ก็แกว่งไกวเปลแล้วเห่กล่อม ........ หากเมื่อยามพ่องามละม่อมเจ้าผวา

แม่ก็กอดเจ้าเข้าไว้แนบอุราอกสัมผัส ........ ในเมื่อเจ้านี้เป็นหวัดได้รัดรุม

แม่ก็จะหายาเอาสุมให้ผ่อนคลาย ........จนพ่อเติบโตเจริญวัยถึงเพียงนี้


...

จากนั้นก็เชิญขวัญ เบิกบายศรี แล้วทำพิธีเวียนเทียนด้วยการขับร้องและบรรเลงเพลงนางนาค

พิธีทำขวัญแต่ก่อนร่อนชะไรไม่ซับซ้อน เป็นพิธีพื้นๆ ง่ายๆ ในหมู่บ้านที่มีแต่ฝูงเครือญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น

ครั้นนานวันเข้าก็ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้ซับซ้อนขึ้น
โดยรับคติทางศาสนาที่รู้จักกันครั้งนั้นเข้ามาประสมประสาน เช่น
พิธีพราหมณ์ ฉะนั้นจึงมีบายศรีเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไป แล้วมีแว่นเวียนเทียนเป็นเครื่องประกอบ

บายศรี เป็นคำเขมรปนสันสกฤต หมายถึงข้าวขวัญ จัดไว้ในกระทงใบตอง
ภายหลังจึงหมายรวมถึงกระทงใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ

การจัดบายศรีเป็นอย่างพราหมณ์ที่รับเข้ามาในพิธีพุทธ แล้วรวมกับพิธีผีที่เป็นระบบความเชื่อท้องถิ่น เหตุนี้ในพิธีทำขวัญนาคจึงให้ความสำคัญแก่บายศรีและเวียนเทียน

เมื่อจะเวียนเทียน นอกจากหมอขวัญผู้เป็นประธานพิธีแล้ว
บรรดาญาติมิตรและเพื่อนบ้านจะต้องเข้าร่วมในสถานพิธีทำขวัญด้วย

ครั้นได้ฤกษ์หรือเวลาที่นัดหมาย หมอขวัญจะเริ่มพิธีคือจุดเทียนที่แว่น
แล้วส่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีที่นั่งล้อมวงอยู่และส่งต่อๆ กันไป
ให้แว่นเทียนเวียนรอบผู้รับทำขวัญเป็นทักษิณาวรรตจนครบ ๓-๕-๗ หรือ ๙ รอบ
ตามแต่จะนิยม มีกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนของสุนทรภู่ ตอนกำเนิดพลายงาม
บรรยายพิธีทำขวัญเวียนเทียนตอนหนึ่งว่า

แล้วจุดเวียนเทียนวงส่งให้บ่าว ..... มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว

คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป ...... แล้วดับไฟโบกควันให้ทันที


เมื่อเริ่มพิธีเวียนเทียนนี่แหละ ดนตรีก็เริ่มบรรเลงและขับร้องทำเพลงนางนาค
แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่าเพลงเรื่องทำขวัญ เพราะมีการปรับปรุงลำดับเพลงให้มีหลายๆ
เพลงบรรเลงต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จพิธี จะได้ไม่เบื่อ

ตามปกติขนบของวงดนตรีไทยโดยเฉพาะวงปี่พาทย์ ไม่ว่าจะบรรเลงเพลงเรื่องหรือเพลงชุดใดๆ
ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องบรรเลงเพลงสาธุการเป็นเพลงแรก
เพราะเป็นเพลงสัญลักษณ์ของการน้อมนมัสการพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถือเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงบรรเลงเพลงอื่นๆ เรียงลำดับไปตามแบบแผนที่กำหนดมาแต่โบราณ


มีแต่เพลงชุดทำขวัญนี้เท่านั้นไม่เริ่มด้วยเพลงสาธุการ แต่เริ่มด้วยเพลงนางนาคเป็นเพลงแรก
เพื่อให้หมายถึงการแสดงความอ่อนน้อม และวิงวอนร้องขอความมั่นคงและมั่งคั่งหรือความอุดมสมบูรณ์
จาก "นาค" หรือ "เจ้าแม่" ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและแผ่นน้ำให้แก่ผู้รับทำขวัญ


.....


#2 Omena

Omena
  • Members
  • 1409 โพสต์
  • Location:44/5 หมู่ 10 ตำบลหนองอ้อ ถนนเพชรเกษม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110

โพสต์เมื่อ 16 March 2006 - 03:39 PM

จริงๆแล้วการบวชนาคก็มีที่มานะคะ

คำนี้มาจากสมัยพุทธกาล
ที่เคยมีนาคตัวหนึ่ง แปลงกายเป็นชายเพื่อมาบวช
ตอนหลังถูกจับได้ เพราะร่ายกลับเป็นนาคตัวใหญ่เต็มทั้งกุฏิเลย
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าไม่ให้บวช เพราะนาคบวชไปก็ไม่มีทางได้บรรลุธรรมอยู่ดี
นาคเสียใจมาก พระพุทธองค์เลยเมตตา ยอมให้เรียกผู้ที่ศรัทธาอยากบวชว่า "นาค"


อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจนะคะ เพราะไปอ่านเจอตอนไปร้านตัดผม
ของจริงมันเป็นกลอนเลยค่ะ
เมื่อไหร่หนอจะได้พบทหารหาญ
รอตั้งนานผู้ชาญศึกหายไปไหน
บอกจะพบกันครึ่งทางที่กลางใจ
อีกนานไหมจะให้พบช่วยบอกที

สุนทรพ่อ




muralath2@hotmail

#3 *ปวีณา*

*ปวีณา*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 14 December 2010 - 12:15 PM

อยากดูทำขวัญนาคเเบบดีๆไหมคัฟ ผมเอามาฝาก

http://www.youtube.c...feature=recentf

http://www.youtube.c...feature=related