ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ดอกไม้สมณะ ของขวัญแด่... ผู้ประพฤติพรหมจรรย์


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

    "ความเพียรเครื่องเผากิเลสพึงกระทำเสียแต่วันนี้"

  • Members
  • 2171 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ราชอาณาจักรสยามประเทศ
  • Interests:ADVANCE MEDITATION

โพสต์เมื่อ 10 May 2006 - 12:22 AM

๒๕. พิจารณาเหงื่อ เป็นธาตุน้ำ (อาโป) ที่ไหลออกตามรูขุมขน มีสีใสๆ เหมือนน้ำมัน มีรูปร่างสัณฐานที่อยู่ เกิดทั้งตอนบนและล่างของร่างกาย เหงื่อไม่ได้เกิดมีอยู่เป็นประจำเหมือนเลือด แต่จะเกิดมีขึ้นเมื่อร่างกายร้อนด้วยอากาศ ไฟ หรือแดด หรือธาตุใดธาตุหนึ่งในร่างกายผิดปกติ เกิดขึ้นแล้วก็ไหลออกมาทางขุมขนขุมผม มีขนาดกำหนดด้วยจำนวนเหงื่อเอง เป็นของปฏิกูลเหมือนสิ่งอื่น

๒๖. พิจารณาน้ำมันข้น มีสีเหมือนแท่งขมิ้นที่ผ่าออก สำหรับคนอ้วน มันข้นที่อยู่ระหว่างหนังและเนื้อมีรูปร่างเหมือนผ้าทุกุลพัสตร์ เหลืองเหมือนสีขมิ้น ส่วนคนผอมมันข้นที่ติดอยู่กับเนื้อแข้ง เนื้อขา เนื้อหลังตรงกระดูกหนามหลัง และเนื้อก้อนที่หน้าอก มีรูปร่างสัณฐานเหมือนท่อนผ้าทุกุลพัสตร์ที่พับเป็น ๒ - ๓ ชั้นวางเอาไว้ มันข้นเกิดขึ้นทั้งตอนบนและตอนล่างของร่างกาย ส่วนที่อยู่นั้นเกิดอยู่ทั่วไปในสรรพางค์กายเฉพาะคนผอมมักมีอยู่ที่เนื้อแข้ง เนื้อขา ส่วนขอบเขต เบื้องต่ำตั้งแต่เนื้อขึ้นไป เบื้องบนตั้งแต่หลังลงมา เบื้องขวางกำหนดเอาตัวมันข้นนั้นเอง มันข้นก็เป็นสิ่งปฏิกูล

๒๗. พิจารณาน้ำตา อันเป็นอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ที่ไหลออกมาจากดวงตา มีสีเหมือนน้ำมันงาใสๆ มีสัณฐานตามที่อยู่ เกิดขึ้นที่ท่อนกายตอนบน น้ำตามีอยู่ในเบ้าตาทั้งสองข้าง แต่มิใช่มีอยู่เป็นประจำ แต่จะมีเกิดขึ้นเมื่อดีใจ อดนอน ร้องไห้เสียใจ หรือมิฉะนั้นก็กินอาหารเผ็ดจัด ร้อนจัด หรือมีขี้ผงปลิวเข้าตา ควันไฟรมเอา ปอกเปลือกหัวหอมออกหั่นฯลฯ น้ำตาก็เป็นสิ่งปฏิกูล

๒๘. พิจารณาน้ำมันเหลว มีสีเหมือนน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา เกิดอยู่ทั้งตอนบนและตอนล่างของร่างกาย โดยปกติแล้วมันเหลวอยู่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หลังมือหลังเท้าภายในช่องจมูก และที่หน้าผาก จงอยบ่า เป็นส่วนใหญ่ สำหรับในที่อื่นๆ ไม่มีอยู่เป็นประจำเหมือนที่ที่กล่าวนั้น เมื่อใดเกิดอาการร้อนด้วยไฟ ด้วยแดด หรือออกกำลังหรือร้อนด้วยธาตุกำเริบ จึงจะมีมันเหลวไหลออก เป็นปฏิกูล

๒๙. พิจารณาน้ำลาย อันเป็นอาโปธาตุที่ผสมด้วยฟอง อยู่ในปากของสัตว์ทั้งปวง มีสีขาว เกิดอยู่เบื้องบนของร่างกาย คือ อยู่ที่ในปาก ไหลออกจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างอยู่เหนือลิ้น แต่ไม่ได้มีอยู่ประจำเป็นนิจ เมื่อเห็นอาหารที่ชอบใจ หรือนึกถึงอาหารที่ชอบใจอันเคยรับประทาน มีความอยากเกิดขึ้น น้ำลายจึงไหลออก หรือมิฉะนั้นก็เอาอาหารที่ร้อน ที่เผ็ด ที่เปรี้ยว ที่เค็มใส่เข้าไปในปาก น้ำลายจะไหลออกจากกระพุ้งแก้มมากองอยู่บนลิ้น น้ำลายที่อยู่ตรงโคนลิ้นเป็นน้ำลายข้น ส่วนที่อยู่ตรงปลายลิ้นเป็นน้ำลายเหลว เมื่อใดที่เอาของกินไปใส่เข้าไว้ในปาก น้ำลายก็จะไหลออกมาเอิบอาบเข้าไปจนทั่วของนั้นๆ ไม่รู้จักหมด เหมือนบ่อทรายที่มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา น้ำลายก็เป็นสิ่งปฏิกูล

๓o. พิจารณาน้ำมูก อันเป็นของสกปรกที่ไหลออกมาจากสมอง มีสีเหมือนเยื่อของเต้าตาลอ่อน มีสัณฐานเหมือนที่อยู่ของตน เกิดอยู่ทางตอนบนของร่างกาย ตั้งอยู่เต็มช่องจมูกแต่มิใช่อยู่เป็นประจำ เมื่อใดร้องไห้ หรือกินอาหารเผ็ดร้อนจัด หรือธาตุพิการกำเริบเป็นหวัด ไอ มันสมองก็กลายเป็นเสมหะเน่าไหลออกมาจากภายในศีรษะ ตกลงมาตามช่องเบื้องบนเพดาน ลงมาที่ช่องจมูก บางทีก็ไหลล้นออกจากช่องจมูก เมื่อพิจารณาน้ำมูกในช่องจมูกก็จะเห็นเป็นปฏิกูลอย่างยิ่ง

๓๑. พิจารณาน้ำไขข้อ ไขข้อนั้นอันที่จริงแล้ว คือ ส่วนของมันที่อยู่ตามรอยต่อต่างๆ ของร่างกาย ไขข้อมีสีเหมือนยางกรรณิการ์ มีรูปร่างตามที่อยู่ของตน อยู่ทั้งตอนบนและล่างของร่างกาย ตามข้อต่อซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนถึง ๑๘o แห่ง เหมือนของพอกทารอยต่อของกระดูก ถ้าผู้ใดมีไขข้อน้อย จะลุกนั่งถอยหน้าถอยหลัง คู้เข้าเหยียดออก กระดูกที่ข้อต่อจะเสียดสีกันมีเสียงดัง ถ้าให้เดินไปไกลๆ วาโยธาตุก็จะกำเริบ วิกลวิการเจ็บเนื้อเจ็บตัว ปวดเมื่อย ถ้าเป็นคนมีไขข้อมากจะไม่มีอาการดังกล่าว น้ำไขข้อก็เป็นของปฏิกูล

๓๒. พิจารณาน้ำมูตร คือ น้ำปัสสาวะ อันมีสีเหมือนน้ำล้างถั่วราชมาศ อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ มีรูปร่างเหมือนน้ำที่ใส่ไว้ในรูปกระออมคว่ำ ตั้งอยู่ท่อนล่างของร่างกายใต้ท้องลงไป น้ำปัสสาวะเกิดอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เวลาเข้าสู่กระเพาะไม่มีทางไหลเข้าไป แต่ใช้วิธีซึมซาบเข้าไป ส่วนทางไหลออกมีให้เห็นอยู่ น้ำมูตร คือ ปัสสาวะ นี้ ความจริง คือ อาหารที่กินเข้าไป เมื่อถูกไฟธาตุทำลายให้แหลกละเอียดแล้ว ก็ซึมกรองเข้าในกระเพาะปัสสาวะ พอเต็มกระเพาะก็บันดาลให้เจ็บปวดใคร่จะถ่ายทิ้ง ต้องขวนขวายระบายออก น้ำปัสสาวะก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด

การพิจารณาอาการทั้ง ๓๒ ดังกล่าวมา โดยใช้กล่าวบริกรรมชื่อ และใช้ใจพิจารณาดูสี สัณฐานที่เกิด (บน – ล่าง) ที่ตั้ง ขอบเขต ต้องพิจารณาเรียงตามลำดับก่อนหลังไม่กลับไปกลับมา หากไม่สะดวกที่จะใช้ภาษาบาลี ควรใช้ภาษาไทยเพราะเป็นภาษาที่ตนเคยชิน เพียงเอ่ยชื่อขึ้นในใจก็สามารถทราบความหมายได้ทันที โกฏฐาสะสามารถปรากฏได้เร็วกว่าภาษาที่มิใช่ของตน เพราะใจจะต้องมัวกังวลแปลให้รู้ความหมายเสียก่อน จึงจะพิจารณาได้ถูก ทำให้เสียเวลา และจิตไม่เป็นสมาธิ การบริกรรมใช้ว่าเป็นทีละหมวดๆ เช่น หมวดที่หนึ่ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ดังวิธีการที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นอย่างละ ๕ วัน เวลาบริกรรมแต่ละครั้งคงใช้ใจพิจารณาโดยอุคคหโกสัลละดังได้กล่าวมาแล้ว

การพิจารณาโดยอุคคหโกสัลละ ๗ ประการดังนี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติมากเมื่อปฏิบัติบังเกิดผล จะทำให้ความสำคัญผิดที่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นหญิง เป็นชาย สวยงาม หรือน่าเกลียดฯลฯ เหล่านี้หายไป มีแต่นิมิตทางสี ปฏิกูล หรือธาตุปรากฏแยกให้เห็นเป็นส่วนๆ อุปมาดังตุ๊กตาเสือที่นายช่างประดิษฐ์ไว้ ราวกับเสือจริงๆ เคลื่อนไหวทำกิริยาอาการต่างๆ ได้ เด็กเห็นเข้าย่อมไม่กล้าจับต้องเพราะความกลัว แต่เมื่อนายช่างถอดส่วนต่างๆ แยกออกเป็นชิ้นๆ แล้ว เด็กก็หายกลัวเข้าไปหยิบถือเล่นได้ ผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลย่อมสามารถพิจารณาแยกส่วนของโกฏฐาสะได้ดังนี้เช่นกัน จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเมื่อเห็นคนสัตว์ต่างๆ แล้วไม่มีความคิดว่า เป็นคนนี้ คนนั้น เห็นแต่เป็นโกฏฐาสะที่กองรวมกันอยู่ สิ่งที่เห็น ไม่ใช่คนหรือสัตว์แต่อย่างใด แม้แต่เวลาบริโภคอาหารก็รู้สึกเหมือนตักอาหารใส่ลงในโกฏฐาสะเท่านั้น ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนย่อมหมดไป เมื่อพิจารณานิมิตต่อไปเรื่อยๆ ฌาน และมรรคผลย่อมบังเกิดขึ้น

สำหรับการพิจารณาในมนสิการโกสัลละอีก ๑o ข้อ หลังจากอุคคหโกสัลละทั้ง ๗ ผู้ปฏิบัติไม่จำต้องท่องบ่นด้วยวาจาอีกต่อไป คงใช้พิจารณาโกฏฐาสะด้วยใจ คือ

๑. อนุปุพพโต พิจารณาตามลำดับ เริ่มแต่ สี สัณฐาน ที่ตั้ง ที่เกิด ขอบเขตอย่าให้ลักลั่นสลับไขว้เขว

๒. นาติสีฆโต พิจารณาอย่างไม่รีบร้อน เพราะถ้าเร็วนัก สี สัณฐานฯลฯ ของโกฏฐาสะจะไม่เกิด

๓. นาติสณิกโต พิจารณาอย่าให้เฉื่อยช้านัก ถ้าช้ามากไป สี สัณฐาน หรืออื่นๆ อาจปรากฏให้เห็นเป็นของสวยงามไปได้ ทำให้กรรมฐานไม่ถึงที่สุด ไปไม่ถึงฌาน มรรคผล นิพพานนั่นเอง

๔. วิกเขปปปฏิพาหนโต พิจารณาโดยไม่ยอมให้จิตฟุ้งไปที่อื่น การเจริญกรรมฐานเปรียบเหมือนคนที่เดินไปใกล้เหว ทางเดินนั้นแคบมีระยะแค่ก้าวได้ทีละรอยเท้าเดียวจะต้องเดินด้วยความระมัดระวังเป็นที่สุดเพื่อไม่ให้พลาดตกลงไป ผู้ปฏิบัติพึงต้องระวังจิตมิให้ฟุ้งซ่าน เหมือนระวังการก้าวเดินริมเหวดังที่เปรียบเทียบนั้น ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์กรรมฐานแต่เพียงประการเดียว

๕. ปณณตติสมติกกมโต พิจารณาโดยก้าวล่วงบัญญัติเสีย คือ ในระยะแรกการพิจารณาต้องอาศัยนามบัญญัติ ได้แก่ ถ้อยคำเรียกชื่อดังนั้นดังนี้ เช่นเรียก ผม ขน เล็บฯลฯ และอาศัยสัณฐานบัญญัติว่า มีลักษณะกลม ยาว หรืออื่นๆ เพื่อให้ปฏิกูลนิมิตเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาโดยใช้บัญญัติเหล่านั้นอีก การก้าวล่วง คือ ทิ้งบัญญัติเสีย เหมือนการปรารถนาค้นหาบ่อน้ำเพื่อใช้บริโภค เมื่อพบใหม่ๆ ต้องทำเครื่องหมายตามทางเดินไว้ให้จำได้ เพื่อที่จะได้กลับมาตักน้ำได้ง่าย ไม่ต้องดิ้นรนค้นหา ครั้นเดินไปมาจนชำนาญทางดีแล้ว เครื่องหมายนั้น ย่อมไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดต่อไปอีก

๖. อนุปพพมุญฺจนโต การพิจารณาโดยทิ้งโกฏฐาสะที่ไม่ปรากฏ สี สัณฐาน ที่เกิด ที่ตั้งขอบเขต หมายความว่า เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาตั้งแต่เกสาเรื่อยไปจนถึงมุตตํ เป็นอนุโลม และพิจารณาตั้งแต่ มุตตํ ย้อนขึ้นมาจนถึงเกสาครบ ๓๒ เป็นปฏิโลมอยู่นั้น พึงสังเกตว่า โกฏฐาสะอันใดไม่ปรากฏ หรือปรากฏไม่ชัดเจน ให้ละการพิจารณาในโกฏฐาสะนั้นๆ เสีย แล้วพิจารณาเฉพาะที่ปรากฏชัดที่เหลืออยู่ต่อไป จากนั้นจึงสังเกตเปรียบเทียบดูใหม่เลือกไว้แต่ที่ปรากฏชัดกว่า ดังนี้เรื่อยไปจนกระทั่งเหลือเพียง ๒ โกฏฐาสะ ในจำนวน ๒ นี้ ยังต้องทิ้งเสียอีก ๑ ให้เหลือเพียง โกฏฐาสะเดียว ไม่ใช่ถือเอามาพิจารณาทั้ง ๓๒ ดังตอนต้น มี้ผู้เปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนนายพรานที่ต้องการจับลิงที่อาศัยอยู่บนต้นตาลถึง ๓๒ ต้น ไล่จากต้นหนึ่งก็จะหนีไปอยู่อีกต้นหนึ่ง กลับไปกลับมาอยู่ดังนี้ จนในที่สุดลิงหมดแรงเกาะนิ่งอยู่ที่ต้นใดต้นหนึ่งเพียงต้นเดียว ไม่หนีไปที่ต้นไหนอีก จิตของผู้ปฏิบัติย่อมเป็นเช่นเดียวกัน เปรียบได้กับลิงนั้น

๗. อปปนาโต เมื่อผู้ปฏิบัติคัดเลือกได้โกฏฐาสะที่ปรากฏชัดที่สุดไว้ได้หนึ่งอย่างแล้ว ต่อจากนั้นให้พิจารณาเรื่อยไปจนถึงได้ฌาน โดยไม่ต้องหวนไปสนใจพิจารณาโกฏฐาสะที่ทิ้งไปแล้วอีกเลย แต่ในระยะต้นต้องพิจารณาทั้ง ๓๒ เพื่อยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น หรือหากไม่เกิด ก็ใช้วิธีการคัดเลือกโกฏฐาสะเพื่อให้ได้โกฏฐาสะที่เหมาะสมที่สุดกับจริตอัธยาศัยของตนดังที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๖

๘. การพิจารณาในพระสูตร ๓ อย่าง ตโย จ สุตตนตา คือ อธิจิตตสูตร สีติภาวสูตร และโพชฌังคโกสัลลสูตร อย่างที่หนึ่ง อธิจิตตสูตร ในการปฏิบัติจะมีนิมิต ๓ ประการเกิดขึ้นคือ

สมาธินิมิต จิตใจเข้าสู่ความสงบ
ปัคคหนิมิต จิตใจเกิดความพยายาม
อุเบกขานิมิต ความวางเฉย

นิมิต คือ เครื่องหมาย ๓ อย่างนี้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทั้ง ๓ นิมิต ข้อที่ต้องกระทำต่อไปก็คือ ต้องให้นิมิตนั้นมีสภาวะสม่ำเสมอกัน มิให้โอนเอนไปข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป การประคับประคองให้นิมิตมีความสม่ำเสมอกันได้นี้เอง ได้ชื่อว่า เป็นการทำให้สมาธิมีกำลังและเข้าสู่ขั้นอธิจิต หากปล่อยให้ไม่เสมอกันจะบังเกิดโทษขึ้นดังนี้

สมาธินิมิตมีมาก ทำให้เกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้านขึ้น
ถ้า ปัคคหนิมิตมีมาก ทำให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น
ถ้า อุเบกขานิมิตมีมาก การปฏิบัติจะได้ผลไม่ถึงขั้นบรรลุฌาน มรรคผล

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องไม่ใฝ่ใจในนิมิตใดนิมิตหนึ่งมากจนไป แต่ควรให้เสมอกัน เปรียบเหมือนนายช่างทำทองย่อมรู้จักใช้ความแรงของไฟตามเวลาอันควร พรมน้ำตามเวลาที่ควรหยุดพักเมื่อทำให้พอดี ทองย่อมอ่อน ควรแก่การที่จะประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ตามปรารถนา เนื้อทองย่อมมีความผุดผ่องสวยงามสุกปลั่ง หากนายช่างทำไม่พอดีก็ย่อมจะเกิดผลเสียหาย เช่น ไฟแรงเกินไป เนื้อทองไหม้ละลาย หากพรมน้ำให้เย็นไป ทองก็ไม่สุกปลั่งไม่อ่อน ไม่สามารถที่จะทำเครื่องประดับใดๆ ได้

๙. พิจารณาตามหลัก สีติภาวสูตร คือ ปฏิบัติตามข้อธรรม ๖ ประการ ได้แก่

- ข่มจิตในคราวที่ควรข่ม เมื่อมีความเพียรมากเกินไป จำต้องลดความเพียรลง
- ประคองจิตในคราวที่ควรประคอง เมื่อจิตง่วงเหงา ท้อถอย หดหู่ ต้องปลอบโยน
- ปลอบจิตในคราวที่ควรปลอบ เมื่อจิตไม่ยินดีในการงาน ต้องปลอบด้วยการพิจารณาธรรมสังเวช เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประสบ เป็นต้น
- พักผ่อนจิตในยามที่ควรพักผ่อน เพื่อให้จิตดำเนินอยู่ในอารมณ์กรรมฐานด้วยดี ไม่ฟุ้งซ่าน ท้อถอย
- มีจิตน้อมไปในทางมรรคผล
- มีความยินดียิ่งในพระนิพพาน

๑o. พิจารณาตามหลักโพชฌังคโกสัลลสูตร โพชฌงค์ มี ๗ ประการ เป็นหลักธรรมอันเป็นเหตุให้แจ้งซึ่งอริยสัจ ๔ ได้แก่

๑o.๑ สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้
๑o.๒ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ การพิจารณาค้นคว้าในธรรมทั้งภายใน (นาม) และภายนอก (รูป)
๑o.๓ วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร
๑o.๔ ปีติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มใจ
๑o.๕ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจ
๑o.๖ สมาธิสัมโพชฌงค์ ความตั้งมั่นในอารมณ์
๑o.๗ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การทำให้ธรรมที่เกิดพร้อมกัน (สัมปยุตตธรรม) มีความสม่ำเสมอในหน้าที่ของตน

การปฏิบัติตามหลักโพชฌังคโกสัลลสูตร คือ คราวใดจิตใจมีการง่วงเหงา ท้อถอย คราวนั้นต้องอบรมด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วีริยสัมโพชฌงค์ และปีติสัมโพชฌงค์ ทั้ง ๓ ประการนี้ให้แก่กล้ายิ่งขึ้น

คราวใดจิตมีความเพียรมากจนฟุ้งซ่าน คราวนั้นต้องอบรมด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทั้ง ๓ ประการนี้ให้แก่กล้ายิ่งขึ้น

ในบรรดากรรมฐาน ๔o นี้ การเจริญกายคตาสติ นับว่าเป็นการปฏิบัติที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะต้องปฏิบัติตามนัยอุคคหโกสัลละ ๗ ก่อนเพื่อให้นิมิตทั้ง ๓ ประการเกิด ถ้าไม่เป็นผลสำเร็จต้องพิจารณาตามนัยมนสิการโกสัลละ ๑o ต่อไป แม้จะยากลำบากเพียงใดผู้ปฏิบัติไม่ควรท้อถอย เพราะเป็นการปฏิบัติที่สามารถทำให้บรรลุมรรคผล นิพพานได้ พระพุทธองค์ตรัสแสดงถึงอานิสงส์ของการเจริญภาวนาธรรมด้วยกายคตาสติไว้เป็นอันมากว่า ผู้ใดเจริญกายคตาสติย่อมทำให้

- กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องด้วยการเกิดความรู้แจ้ง ย่อมเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ
- เกิดความสังเวชอันใหญ่หลวง
- เกษมจากโยคะ (หลุดพ้นจากเครื่องประกอบสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ ๓)
- มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า
- ได้ญาณทัสสนะ
- อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
- กาย ใจ วิตก วิจารสงบ
- ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วได้ กั้นจิตจากอกุศลธรรมใหม่ไม่ให้บังเกิด
- กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดอยู่แล้วย่อมไพบูลย์งอกงาม
- วิชชาเกิดขึ้น ละอวิชชาเสียได้
- ถอนอนุสัย ละสังโยชน์ ละอัสมิมานะเสียได้
- มีปัญญาแตกฉาน
- สามารถแทงตลอดในธาตุต่างๆ อย่างมากหลาย
- สามารถทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล
- เป็นผู้มีปัญญามาก ไพบูลย์ ลึกซึ้ง กว้างขวาง ว่องไว คม แล่น และสามารถชำแรกกิเลส
- ได้ชื่อว่าบริโภคอมตะ

ในเรื่องกายคตาสติได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๑๔ หน้า ๑๗๘ – ๑๙O กล่าวถึง กายคตาสติสูตร ไว้ว่า นอกจากจะพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าวแล้ว ยังสามารถใช้สติพิจารณากำหนดรู้ในอาการต่างๆ ของกาย เพื่อเป็นเครื่องยังใจให้สงบ เป็นธรรมเอกอุผุดขึ้น คือ

- กำหนดรู้ความยาวสั้นของลมหายใจ
- กำหนดรู้อิริยาบถใหญ่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) ว่ากำลังทรงกายอยู่ในอาการใด
- กำหนดรู้อิริยาบถย่อย เช่น การก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู เหยียดแขน คู้แขน อาบน้ำ กิน ดื่ม เคี้ยวฯลฯ
- พิจารณาศพประเภทต่างๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับร่างกายของตน
- ในปฐมฌาน พิจารณา ปีติ สุข อันเกิดขึ้นทุกส่วนในร่างกาย เนื่องจากการได้อยู่เพิ่มพูนวิเวก
- ในทุติยฌาน พิจารณา ปีติ สุข เช่นเดียวกัน
- ในตติยฌาน พิจารณา สุข อันปราศจากปีติที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- ในจตุตถฌาน พิจารณา อุเบกขา ที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วยสติอันบริสุทธิ์




#2 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 20 March 2007 - 09:45 AM

สาธุ