ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

*** ความรู้ กฐิน : อริยประเพณีและอานิสงส์ ***


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 9 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 สาธุธรรม

สาธุธรรม
  • Members
  • 1124 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 October 2008 - 10:27 AM

“ทอดกฐิน”
อริยประเพณีที่สืบทอดมา กว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความศรัทธาเลื่อมใสว่าเป็น “ยอดของมหากุศล” จะเป็นเหตุนำให้ผู้ได้มีส่วนในการทอดกฐินนั้น ได้มหานิสงส์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ

ด้วยเหตุนี้ การทำบุญทอดกฐินจึงเป็นงานบุญที่อยู่ในใจ และอยู่ในเส้นทางสัญจรของชีวิตในหนึ่งปีที่จะพลาดไม่ได้

เพื่อให้การทำบุญทอดกฐินในปีนี้ ดำเนินอยู่บนรากฐานของศรัทธาอย่างพุทธศาสนิกชนตามพุทธประสงค์ คือ
ทำบุญอย่างผู้เข้าใจคุณค่าและความหมายของบุญ

ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะได้ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้





ความหมายของกฐินและทอดกฐิน

กฐิน มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้

กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง, ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ

กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก

กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4








ที่มาของประเพณีทอดกฐิน

ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ
ในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นก็เดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก
ระยะนั้นมีฝนตกชุก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี
พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง
ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลให้ทรงทราบ
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส
โดยกำหนดระยะเวลา คือ นับจากวันออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นระยะเวลา 1 ดือน กฐิน
จึงได้ชื่อว่าเป็น กาลทาน



ความพิเศษของกฐินทาน

ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจานั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่

1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
2. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
6. จำกัดคราว คือ วัดๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง



ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน

ช่วงเช้าเหล่าอุบาสก อุบาสิกา จะเริ่มต้นเช้าอันเป็นวันมงคลด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ณ อาวาสดังกล่าว
ภาพพระภิกษุและสามเณรเดินเรียงรายเป็นทิวแถวด้วยอาการสงบ สีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสต์ต้องแสงตะวันยามเช้า
สร้างเลื่อมใสศรัทธาให้เอิบอาบในใจจิตพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ได้พบเห็นอย่างไม่เสื่อมคลาย








พิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อถวายผ้ากฐินตามพระบรมพุทธานุญาต บางวัดจัดขึ้นในช่วงสายพร้อมและต่อด้วยการถวายสังฆทาน เพื่อถวายภัตตาหาร ซึ่งเป็นบุญอีกงบหนึ่ง โดยธรรมเนียมแล้ว มักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายภายในวัดเป็นค่าน้ำค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง ทั้งส่วนซ่อมแซมและต่อเติมเสริมใหม่กิจการพระศาสนาขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บางวัดนำมาเป็นกุศโลบายให้สาธุชนได้ปฏิบัติธรรมกัน อย่างเช่นที่วัดพระธรรมกาย กิจกรรมทอดกฐินจะทำในช่วงบ่าย ส่วนช่วงสายนั้นให้ทุกคนได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเพื่อกลั้นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ก่อนจะทำบุญใหญ่กัน
กิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณีกฐินคือ “ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” ซึ่งขึ้นกับแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่นจะบรรลุสิ่งสวยงาม ทรงคุณค่า คู่ควรกับความสำคัญของพิธีทอดกฐินซึ่งจัดพียงปีละครั้ง ริ้วขบวนอาจประกอบด้วย ขบวนธงธิว ถ้าภาคเหนืออาจเป็นตุง ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยใช้ทั้งสาธุชนและบุตรหลานเยาวชนมาร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนใกล้วัดตั้งแต่เล็ก

การได้ผ้ากฐินแบบมีเจ้าภาพ ถือเป็นคฤหบดีกฐินนั้น เมื่อมีผู้มาทอดผ้า ณ เบื้องหน้าคณะสงฆ์ โดยไม่ได้เจาะจงถวายแก่รูปใดรูปหนึ่ง คณะสงฆ์ต้องทำพิธีอปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่า ผ้ากฐินในปีนี้ควรถวายแก่ภิกษุรูปใด

ส่วนพิธีกรานกฐิน เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์ จะทำพิธีกันในพระอุโบสถ โดยพระภิกษุผู้ได้รับการเลือกสรรจากคณะสงฆ์ ว่าเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถที่จะกรานกฐินได้


อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน

1. ทำให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ
2. ทำให้ได้ลักษณะที่งดงามสมส่วน
3. ทำให้มีผิวพรรณงดงาม
4. ทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์
5. เมื่อละโลกแล้วย่อมไปบังเกิดในสวรรค์



series กฐิน


อานิสงส์กฐินตอนที่ 1 ความหมายของคำว่ากฐิน


http://www.dhammakay...t_1_Meaning.wmv


อานิสงส์กฐิน ตอนที่ 2 นายติณบาล


http://www.dhammakay..._2_Tinnaban.wmv


อานิสงส์กฐิน ตอนที่ 3 มานพหนุ่มกับผ้าทิพย์ ตอนที่ 1


http://www.dhammakay...tialCloths1.wmv


อานิสงส์กฐิน ตอนที่ 4 มานพหนุ่มกับผ้าทิพย์ ตอนที่ 2


http://www.dhammakay...tialCloths2.wmv


อานิสงส์กฐิน ตอนที่ 5 เอหิภิกขุ-มหาลดาปสาธน์


http://www.dhammakay...aladapasadh.wmv



พิธีกรานกฐิน



พิธีกรานกฐิน

พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร

เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้


ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ
เปล่งวาจากรานกฐินว่า
"อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ"
แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์
เปล่งวาจากรานกฐินว่า
"อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ"
แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง)
เปล่งวาจากรานกฐินว่า
"อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ"
แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ



ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ
แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้


"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ
(แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)


คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต

ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา

(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษาแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)



ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง

เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา
ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง

ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน
หยุดนิ่งนั้นแหละไซร้ พรหมจรรย์
พระผุดผ่านทุกวัน สะอาดเกลี้ยง
นิวรณ์หมดสุขสันต์ สดชื่น
ชีพรื่นธรรมหล่อเลี้ยง ผ่องทั้งกายใจ

สุนทรพ่อ

#2 สาธุธรรม

สาธุธรรม
  • Members
  • 1124 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 October 2008 - 10:44 AM



ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่า

ชนิดของกฐิน มีสองลักษณะ คือ

จุลกฐิน
การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

มหากฐิน
คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี


การทอดกฐินในเมืองไทย

กฐินหลวง
กฐินหลวงคือผ้าพระกฐินที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปถวายด้วยพระองค์เอง
กฐินหลวง เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่านั้น)
กฐินหลวงในปัจจุบันมีเพียง 16 วัดเท่านั้น เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

กฐินต้น
กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์

กฐินพระราชทาน
กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร
(ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)

กฐินราษฎร์
กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี
ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า
เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน
จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย




คำถวายผ้ากฐินภาษาบาลี
มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ แบบเก่า และแบบใหม่ ดังนี้

คำถวายผ้ากฐินภาษาบาลี แบบเก่า

ตั้งนะโมสามจบ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (๓ จบ)

กล่าวคำถวายผ้ากฐิน
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินวีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ทุติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ตติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ หิตาย สุขาย

กล่าวคำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สอง
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สาม
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐิน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ[5]


คำถวายผ้ากฐินภาษาบาลี แบบใหม่

ตั้งนะโมสามจบ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (๓ จบ)

กล่าวคำถวายผ้ากฐิ
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม,
สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ,
ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ, อมฺหากํ
ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

กล่าวคำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารนี้ แด่พระสงฆ์
ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ.
หยุดนิ่งนั้นแหละไซร้ พรหมจรรย์
พระผุดผ่านทุกวัน สะอาดเกลี้ยง
นิวรณ์หมดสุขสันต์ สดชื่น
ชีพรื่นธรรมหล่อเลี้ยง ผ่องทั้งกายใจ

สุนทรพ่อ

#3 อริย 072

อริย 072
  • Members
  • 440 โพสต์

โพสต์เมื่อ 21 October 2008 - 07:29 PM

ขออนุโมทนาบุญ กับธรรมทานที่เลิศนี้ด้วยจ้ะ
สาธุ


#4 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 21 October 2008 - 07:37 PM

อนุโมทนา ในสาระธรรมที่เหมาะสมกับเทศกาลทอดกฐินสามัคคี ด้วยครับ
แนบไฟล์  Sa_Dhu_Anumonatami.gif   22.04K   98 ดาวน์โหลด

ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรม

#5 Suk072

Suk072
  • Members
  • 430 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 22 October 2008 - 04:22 PM

ขอกราบอนุโมทนาบุญ ในธรรมทานนี้ด้วยค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

#6 kamachi

kamachi
  • Members
  • 2 โพสต์

โพสต์เมื่อ 23 October 2008 - 08:23 PM

ขออนุโมทนาบุญ กับธรรมทานนี้นะค่ะ อนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ
ได้ความรู้มากขึ้นเลยทีเดียวค่ะ

#7 Tree

Tree
  • Members
  • 2076 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 October 2008 - 01:05 AM

ขอร่วมอนุโมทานบุญด้วยนะครับ สาธุ สาธุ สาธุ

#8 K.กร กนก

K.กร กนก
  • Members
  • 2 โพสต์

โพสต์เมื่อ 31 October 2008 - 09:49 AM

อนุโมทนาบุญกับธรรมะใสๆด้วยนะค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ ดิฉันกำลังหาข้อมูลไว้ไปบอกเล่าบนรถบัสค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นคนใหม่ขอบคุณมากๆๆค่ะ อนุโมทนาบุญนะคะ

#9 สาธุธรรม

สาธุธรรม
  • Members
  • 1124 โพสต์

โพสต์เมื่อ 31 October 2008 - 04:41 PM

QUOTE
อนุโมทนาบุญกับธรรมะใสๆด้วยนะค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ ดิฉันกำลังหาข้อมูลไว้ไปบอกเล่าบนรถบัสค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นคนใหม่ขอบคุณมากๆๆค่ะ อนุโมทนาบุญนะคะ


ขอกราบอนุโมทนาสาธู๊ กับ นักรบกองทัพธรรมฝ่ายรุกด้วยนะคะ _/\_
หยุดนิ่งนั้นแหละไซร้ พรหมจรรย์
พระผุดผ่านทุกวัน สะอาดเกลี้ยง
นิวรณ์หมดสุขสันต์ สดชื่น
ชีพรื่นธรรมหล่อเลี้ยง ผ่องทั้งกายใจ

สุนทรพ่อ

#10 [B]ondGaI[D]

[B]ondGaI[D]
  • Members
  • 20 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 September 2009 - 03:26 PM

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ