ไปที่เนื้อหา


ธรรมะดีดี

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 08 Jul 2009
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Aug 06 2009 06:48 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

แตกเนื้อหนุ่ม

05 August 2009 - 07:03 PM

“เป็นเด็กเป็นเล็ก ทำอะไรต้องคอยดูตามผู้ใหญ่ไว้ รู้ไหม” พระอาจารย์มักจะเตือนสามเณรน้อยด้วยประโยคเหล่านี้บ่อยๆ เพื่อให้สามเณรคอยดูพระอาจารย์หรือพระภายในวัดว่าปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วจะได้ยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง

แต่เหมือนกลายเป็นการสื่อว่าสามเณรก็ไม่ต่างจากเด็กที่จะทำอะไรก็ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยช่วยแนะนำเสมอ จนกลายเป็นความอึดอัดบ้างที่เด็กๆ ต้องมาคอยระวังว่าจะทำอะไรผิด ผิดกับผู้ใหญ่ที่ทำอะไรก็ได้ไม่ผิด นั่นทำให้สามเณรน้อยรอวันที่ตนเองจะได้เป็นผู้ใหญ่กับเขาบ้าง

แต่ก็อดสงสัยเกี่ยวกับคำว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ไม่ได้ จึงต้องปรึกษากับสามเณรปุ้ยสหายธรรมที่สนิทเสียก่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรละว่าใครเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่” สามเณรน้อยถามขึ้น

เสียงเกาศีรษะแสดงอาการครุ่นคิดสักครู่ อันเป็นท่าที่สามเณรปุ้ยบอกว่าได้มาจากเณรอิกคิวซังหนังการ์ตูนที่ดูจนติดตา ท่านี้ก็ทำให้คิดอะไรได้เร็วขึ้น จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะถามอะไร เวลาสามเณรปุ้ยทำอย่างนี้ต้องได้คำตอบเสมอ

“ก็สังเกตที่สิวสิ เวลาเป็นหนุ่มจะเกิดสิว แล้วก็คอยฟังเสียงตอนดึกๆ” สามเณรปุ้ยตอบอย่างมั่นใจ

“เสียงอะไรหรอ” สามเณรน้อยสงสัย

“เสียงแตกเนื้อหนุ่ม” สามเณรปุ้ยตอบพร้อมอมยิ้ม

สามเณรน้อยพยักหน้าเห็นด้วยกับเรื่องสิว แต่เรื่องแตกเนื้อหนุ่มนี่ไม่ค่อยเชื่อเท่าไร

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การรอคอยสิวเม็ดแรกในชีวิตของวัยหนุ่มก็เริ่มขึ้น

กระจกดูจะจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ แต่สามเณรน้อยก็เคยถูกตำหนิเรื่องนี้มาแล้วจากพระอาจารย์

“เป็นพระเณรจะใช้กระจกดูไม่เหมาะนะ”

สามเณรน้อยจึงค้นหาอุปกรณ์ทดแทนซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล เป็นฝาบาตรที่ใช้อยู่มันสะท้อนพอให้เห็นใบหน้าได้ ถึงจะไม่ดีนักแต่ก็พอถูไถไปได้
แล้วการรอคอยก็สิ้นสุดลง เมื่อมีบางอย่างเกิดขึ้น

“ปุ้ยๆๆๆๆๆๆๆ” เสียงสามเณรน้อยดังมาแต่ไกล

“มีอะไรหรอ เสียงดังมาเชียว เดี๋ยวพระอาจารย์ก็ว่าเอาหรอก” สามเณรปุ้ยบอกเตือน

สามเณรน้อยไม่ได้สนใจ กลับชี้ให้ดูเม็ดบางอย่างที่ขึ้นอยู่บนใบหน้า ก่อนจะพูดด้วยอารมณ์ดี

“สิว ๆๆๆ ดูสิ”

“เออ จริงด้วย หลายเม็ดเสียด้วย ดีใจด้วยนะ” เสียงตอบรับจากสามเณรปุ้ยหลังจากพิจารณาสักครู่

หลังจากนั้นมาสามเณรน้อยได้แต่นั่งยิ้มพร้อมกับจ้องฝาบาตรตลอดเวลา จนพระอาจารย์สงสัยจึงถามขึ้น

“ทำอะไรนะเณร”

“พระอาจารย์ครับผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว” สามเณรน้อยตอบด้วยความภาคภูมิใจ

“แล้วเณรรู้ได้อย่างไร”

“ก็นี่ไงครับ สิวนี่ไงครับ และไม่ใช่ขึ้นเม็ดเดียวด้วย ตอนนี้ขึ้นเพียบเลยครับ” สามเณรตอบพร้อมกับชี้ไปบนใบหน้าด้วยความภูมิใจ

พระอาจารย์เลยจ้องไปที่สิวของสามเณร

“แล้วสิวทำไมขึ้นหลายเม็ดจัง ไหนดูสิ” พระอาจารย์เริ่มสงสัยก่อนจะให้สามเณรน้อยรีบถอดจีวรออก

พอถอดออกก็เห็นเม็ดขึ้นอีกเต็มตัว จึงรู้ว่านี่ไม่ใช่สิวแล้ว ก่อนจะบอกว่า

“นี่ไม่ใช่สิวหรอกเณร แต่เป็นเม็ดอีสุก อีใสต่างหาก”

“อีสุก อีใส!!!” สามเณรร้องขึ้น

“ใช่ เดี๋ยวกินยาแล้วไม่นานก็หาย” พระอาจารย์จึงพูดขึ้นพร้อมรอยยิ้ม

นั่นนับเป็นประสบการณ์การแตกเนื้อหนุ่มครั้งแรกของสามเณรน้อยอย่างแท้จริง เพราะหลังจากกินยาเข้าแล้ว เม็ดอีสุกอีใสก็แตกเต็มตัวไปหมด กลายเป็นสามเณรที่มีรอยหนุ่มเต็มตัว เพราะแผลเป็นที่เกิดจากอีสุก อีใสนั่นเอง



“การเป็นผู้ใหญ่เขาไม่ได้ดูที่ร่างกายเท่านั้น เขาดูกันที่ความคิดว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ เธอยังเด็กจึงไม่รู้จักคิดและไตร่ตรองให้ดี ทำอะไรก็เลยผิดพลาดได้ง่าย” พระอาจารย์เตือน





ชื่อหนังสือ : ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม ตอน เณรน้อยชวนคิด

ชื่อผู้แต่ง : กิตติเมธี


ภาษาพระ(๑)

09 July 2009 - 05:53 PM

ทุกครั้ง ก่อนจะทำการสนทนากัน สิ่งหนึ่งคือต้องใช้ภาษาเขา ในขณะเดียวกันก็ให้คนสนทนาด้วยเข้าใจภาษาเราด้วย เพื่อเปลี่ยนถ่ายข้อมูลกันได้อย่างถูกต้อง

มีหลายครั้งที่คนไม่เข้าใจภาษาพระ และใช้ตามที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ ก็ไม่ผิดอะไรบางครั้งน่ารักดีไปอีกแบบ

มีครั้งหนึ่งมีโยมมาถวายอาหาร ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานในวังมาโดยตลอด จึงไม่คุ้นเคยกับคำพูดที่ใช้กับพระนัก พอประเคนเสร็จ เธอก็เชิญชวนให้ลองลิ้มรสอาหารทันที
“ลองเสวยดูสิเพคะ”
พระเณรก็ได้แต่อมยิ้ม ไม่รู้มีเชื้อเจ้ากันตั้งแต่เมื่อไร
ที่จริงถ้าจะใช้ให้ถูก คือคำว่า “ฉัน” หมายถึง รับประทานอาหาร

และยังมีอีกครั้งหนึ่งพระอาจารย์แก้วไปสอนสามเณรที่เข้ามาบวชใหม่ๆ ให้รู้จักภาษาที่พระนิยมใช้กัน ก็เลยถามไป
“ใครรู้บ้างพระอาบน้ำใช้คำว่าอะไร”

สามเณรหลายคนพยายามทำท่าคิดแต่ก็ยังไม่รู้จะตอบอะไร
“เรียกว่า สรงน้ำ” เพื่อไม่ให้สามเณรเครียดเกินจำเป็นจึงตอบแทนให้ก่อนจะถามต่อไป

“แล้วพระนอนละใช้อะไร”
สามเณรน้อยรีบยกมือขึ้นก่อนจะลุกขึ้นตอบด้วยความมั่นใจเต็ม ๑๐๐
“หมอนครับ”

พระอาจารย์ถึงกับอมยิ้มก่อนจะถามใหม่ .
“ไม่ใช่ ที่พระอาจารย์ถามหมายถึงพระนอนใช้คำว่าอะไร”
“อ้อ...ครับ แล้วใช้คำว่าอะไรครับ”
“พระนอน เรียกว่า จำวัด”
“กลัวลืมหรือครับ” สามเณรน้อยเริ่มสงสัยกับการใช้คำพระ

...พระอาจารย์เลยต้องอธิบายอีกยาวเลยทีนี้...

“การ จะรู้จักหรือพูดคุยกับใครจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะรู้ว่าเขาใช้ภาษาอะไร และชอบพูดกันอย่างไร เพื่อพูดคุยและสอนเขาได้มากขึ้น” เป็นคำที่พระอาจารย์บอกสามเณรไม่ให้ดูถูกภาษา laugh.gif


จากหนังสือ ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม โดย: กิตติเมธี



ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม ตอน เณรน้อยเจ้าปัญหา

08 July 2009 - 05:16 PM

เราเคยคิดกันบ้างหรือไม่? ของทุกอย่าง ถ้าคนใช้ไม่มีอำนาจบุญบารมี ก็ไม่มีทางเก็บรักษาไว้ได้ แม้แต่ร่างกาย ผิวพรรณ ถ้าเราไม่มีบุญบารมีพอ ก็ไม่สามารถรักษาให้งดงามอย่างที่อยากเป็นได้
ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับบุญบารมีทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่ผู้หญิง บางคนแม้อายุมาก ก็ดูอายุน้อยได้ ในขณะที่ผู้ชายบางคนก็ดูมีบารมีมากกว่าอายุที่มี เหล่านี้คือ ความจริงที่เห็นๆ กันได้
สามเณรน้อยต้องไปเรียนหนังสือนอกวัด พอเลิกเรียนจะกลับวัด ก็พบว่ารองเท้าที่โยมถวายมาใหม่ๆ หายไป ไม่รู้ว่าใครหยิบผิดไป จึงคิดแต่ว่า
...นี่แหละเท้าเรามันไร้วาสนาบารมี ของดีจึงอยู่ไม่ได้...
วันนั้นจึงเป็นกรรมของสามเณรน้อยที่ต้องเดินกลับวัดทั้งเท้าเปล่าๆ แต่ด้วยบุญบารมีสร้างสมมายังไม่หมดไป จึงไปพบเข้ากับโยมท่านหนึ่งซึ่งยืนอยู่หน้าร้านรองเท้า พอเห็นสามเณรน้อยเดินเท้าเปล่าผ่านมาจึงอยากถวายรองเท้า
แต่ขณะกำลังเอื้อนเอ่ยนิมนต์ ก็พอดีคนขายออกมาพร้อมบอกกับโยมท่านนั้นว่า
"ท่านเคร่งน่ะ ถึงไม่ใส่รองเท้า อย่ายุ่งกับท่านเลย"
แล้วทั้งคู่ก็ต่างยกมือไหว้โดยไม่พูดอะไรกันอีก
...สงสัยไม่มีบารมีจริงๆ...

ถ้าเราไม่มีบารมี
ก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจ
เพราะเราสามารถสร้างได้เสมอ
นี่แหละสิ่งที่สามเณรน้อยอยากบอกทุกท่าน