ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
* * * * * 1 คะแนน

พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ?


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 6 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Nee-Sansanee 2

Nee-Sansanee 2
  • Members
  • 893 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 25 May 2010 - 02:37 PM

ขอบอกก่อนนะคะอ่านเจอเห็นดีก็เลยเอามาฝากกันค่ะ เกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าเพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญ

ที่สำคัญมาก ๆ อย่างที่เรา ๆคุ้นหูกันในเรื่องผลบุญของ
อินทกะ และ อังกุระเทพบุตร


พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำไมทำบุญกับท่านแล้วได้บุญม้าก มาก ๆ

พระปัจเจกพุทธเจ้าที่รู้จัก:

ก. สร้างบารมีถึง 2อสงไขย กับอีก100,000มหากัป (หน้า 371 หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธคุณ)

ข. เป็นสมณเพศมีพระเกษา และพระมัสสุ (ผมและหนวด) ยาว 2นิ้ว ทรงบริขาร 8

ค. อุปนิสัย มักน้อย สันโดษ ไม่ชอบคลุกคลีหรือสั่งสอนผู้ใด มีปกติเที่ยวไปเหมือนนอแรด

ง. ลงมาตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณ ในช่วงที่ว่างเว้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จ. ที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งพำนักอาศัยอยู่รวมกัน ในสถานที่พิเศษ เป็นสัปปายะ อยู่ในป่าหิมพานต์

เป็นที่อสาธารณะ(not open to puplic) คือที่ภูเขาคันธมาทน์ เป็นยอดเขาที่มีพื้นราบเรียบ หนา ด้วยต้นไม้

ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือความหอม ทั้งดอก ทั้งต้น และผลหอมหมด และในวันอุโบสถข้างแรมจะเรืองแสงเหมือนถ่านไฟ
คุแดงเรื่อ ๆ น่าดู น่าชม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (ชมพูวีปประกอบด้วยน้ำทะเล 40% พื้นที่มนุษย์อาศัย 30%

และเป็นภูเขาหิมพานต์ หรือเรียกกันคุ้นปากว่าป่าหิมพานต์อีก 30% รวมทั้งหมด 10,000โยชน์)


ภูเขาหิมพานต์ สูง 150 โยชน์ มี 84,000 ยอด มีแม่น้ำ 500 สายไหลเวียนอยู่โดยรอบ และมีสระใหญ่ 7 สระ

1 ใน 7 สระคือ สระอโนดาด
ยาว กว้าง ลึก 50 โยชน์ กลม 250 โยชน์เท่า ๆกันทั้ง 7 สระ น้ำใสเย็นตลอดเวลา

ที่สระอโนดาดและสระนี้จะแวดล้อมด้วยภูเขา 5ลูก และ1 ในจำนวนนั้นคือ
ภูเขาคันธมาทน์ ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ

มีถ้ำ 3ถ้ำคือ สุวรรณคูหา มณีคูหา และรัชตคูหา(ถ้ำทอง, แก้วมณี,และถ้ำเงิน) สวยงามสว่างไสวมาก ไม่มี

ถ้ำใด ๆจะสวยไปกว่านี้อีกแล้ว ในสระอโนดาดนั้น ธรรมชาติจัดไว้ดีเยี่ยม มีแผ่นศิลา ท่าลงสรงน้ำ ไม่มีเต่า

ปลา น้ำใสแจ๋วเหมือนแก้วผลึก.............นี่แหละที่ท่านอยู่กันค่ะ
.......................................

หากใครต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้หาอ่านได้จาก หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน พระธรรมเทศนา พระราช
ภาวนาวืสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ฉบับพุทธคุณ บทที่41-43 หน้า 368-393
.............

หากผิดพลาดประการใด ๆ ขออภัยด้วยค่ะ และขอบพระคุณด้วยช่วยชี้แนะค่ะ







#2 ตำรวจรักบุญ

ตำรวจรักบุญ
  • Members
  • 985 โพสต์

โพสต์เมื่อ 25 May 2010 - 02:55 PM

พระปัจเจกฯ ต้องสร้างบารมี16อสงไขยแสนมหากัปป์ไม่ใช่หรือครับ
พระอรหันต์อสีติมหาสาวก8อสงไขยใช่ไหม

#3 หนานตู่

หนานตู่
  • Members
  • 36 โพสต์

โพสต์เมื่อ 25 May 2010 - 08:40 PM

จะพยายามหาข้อมูลมาช่วยยืนยันครับ.

#4 usr23182

usr23182
  • Members
  • 114 โพสต์

โพสต์เมื่อ 25 May 2010 - 10:36 PM

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างบารมี 20 อสงไขย 1 แสนมหากับ และ ใน 4 อสงไขยช่วงสุดท้ายเป็นการสร้างบารมีโดยได้รับคำพยากรณ์
จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ตลอด 4 อสงไขย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพุทธพยากรณ์ทั้งหมด 21 พระองค์

พระปัจจเจกพุทธเจ้า สร้างบารมี 2 อสงไขย 1 แสนมหากัป

พระอรหันต์อสีติมหาสาวก สร้างบารมี 1 อสงไขย 1 แสนมหากัป

ผิดถูกอย่างไร เดี๋ยวมีท่านอื่นมาช่วย ฮิ ฮิ tongue.gif biggrin.gif rolleyes.gif

#5 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 26 May 2010 - 09:56 AM

เสริมข้อมูลเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้า จากกระทู้เก่าครับ

phra pacceka buddha
http://www.dmc.tv/fo...?showtopic=2078
QUOTE
๑. พระปัจเจกพุทธเจ้ามีลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการหรือไม่?

มี แต่มีไม่ครบทั้ง ๓๒ ประการครับ
QUOTE
๒. ต้องใช้ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีนานเท่าใด จึงจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า?

๒ อสงไขย ๑oo,ooo มหากัป ครับผม


พระปัจเจกพุทธเจ้า : พุทธที่ถูกลืม ๑

วารสารสิรินธรปริทรรศน์

มานพ นักการเรียน


คัดลอกจาก http://www.src.ac.th...u1/patjekab.htm
ความนำ

ในประเพณีหรือธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า (พุทธะ)๑
ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสัพพัญญูพุทธเจ้าไม่ว่าทั้งด้านความรู้หรือคุณธรรม
แต่ปรากฏว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธะที่ถูกละเลย
ไม่ได้รับความสนใจใฝ่ศึกษาจากชาวพุทธเท่าที่ควรจะเป็น

พระปัจเจกพุทธเจ้าคือพุทธะประเภทหนึ่งที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เฉพาะตนเอง
ปรมัตถโชติกา อรรถกถาของสุตตนิบาตอธิบายว่า
การบรรลุธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า เปรียบเสมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเปรียบเสมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น๒
จึงไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามตนได้ (คือสอนได้แต่ไม่อาจให้รู้ตามได้) ไม่ก่อตั้งหรือสถาปนาในรูปสถาบันศาสนา

แต่เน้นอนุโมทนาแก่ผู้ถวายทานในท่าน อุบัติขึ้นในช่วงพุทธันดร คือ
ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ในปัจจุบันนี้
จึงไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนับแต่ตั้งความปรารถนาแล้วนานถึง ๒ อสงไขยกับแสนกัป พุทธการกธรรมนั้นได้แก่
บารมี ๑๐ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

พระ ปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์มีประวัติคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ
เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคหบดี ในสมัยโบราณที่เบื่อหน่ายในโลกิยสมบัติ
ได้ออกบวชศึกษาพระธรรมจนบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ก็ไปชุมนุมที่เขาคันธมาทน์กูฏ
ซึ่งเป็นยอดเขาแห่งหนึ่งของเทือกเขาหิมพานต์ หรือหิมาลัย มีฝูงช้างฉัททันต์คอยปรนนิบัติอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่า

เรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้จะจบลงด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ
ตัวเอกของเรื่องออกบวชแล้วตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องจะแตกต่างกันออกไป
องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เมื่อได้ศึกษาปรมัตถโชติกาแล้ว พบว่า
บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมสโมธาน

(การประชุมธรรม) ๕ ประการ ๓ คือ:-
๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) คือ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เป็นเทวดาไม่ได้
ไม่ต้องกล่าวถึงเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสุรกาย
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺคสมฺปตฺติ) คือ เป็นเพศชายเท่านั้น
จะเป็นผู้หญิง กะเทยและอุภโตพยัญชนก (บุคคลที่มี ๒ เพศในคนเดียวกัน) ไม่ได้
แต่กระนั้น ผู้หญิงสามารถเป็นมารดาของผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
๓. การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลาย (วิคตาสวทสฺสนํ) คือ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
๔. อธิการ (อธิกาโร) คือกระทำอันยิ่ง ต้องบริจาคชีวิตของตนเองแล้วจึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๕. ความพอใจ (ฉนฺทตา) คือ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

แม้ว่าจะยากลำบากประสบพบปัญหาอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น
มีคนกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถเหยียบสากลจักรวาล
อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟได้
ใครก็ตามที่สามารถเหยียบข้ามสากลจักวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวได้
ใครก็ตามที่สามารถลุยข้ามสากลจักรวาลอันเต็มไปด้วยน้ำปริ่มฝั่งได้
ใครก็ตามที่สามารถก้าวล่วงสากลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดรได้
จึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า "เราสามารถทำเช่นนั้นได้"


มีคาถาแสดงไว้ว่า
"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ วิคตาสวทสฺสนํ อธิกาโร ฉนฺทตา เอเต อภินีหารการณาฯ"
"มีเหตุแห่งปณิธานขึ้นพื้นฐาน (ก็เพราะธรรมสโมธาน ๕ ประการ) เหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์,
ความถึงพร้อมด้วยเพศ,การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ, อธิการและความพอใจ"


แต่สำหรับบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมซึ่งเรียกว่า
ธรรมสโมธาน ๘ ประการ๔ คือ:-
๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) มีนัยเดียวกับองค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺสมฺปตฺติ) ก็มีนัยเดียวกัน
๓. เหตุ (เหตุ) คือ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าพยายามอย่างเต็มกำลัง จะสามารถเป็นพระอรหันต์ได้
๔. การเห็นพระศาสดา (สตฺถารทสฺสนํ) คือการเห็นเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตได้เห็นพระทีปังกรพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วจึงตั้งปณิธาน
๕. การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) คือ ความเป็นอนาคาริก ต้องเป็นนักบวชผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที อาทิเช่น
สุเมธบัณฑิตเป็นดาบสชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน
๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ (คุณสมฺปตฺติ) คือการได้คุณธรรมหรือธรรมวิเศษมีฌานเป็นต้น อาทิเช่น
สุเมธบัณฑิตได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วจึงตั้งปณิธาน
๗. อธิการ (อธิกาโร) มีนัยเดียวกัน
๘. ความพอใจ (ฉนฺทตา) ก็มีนัยเหมือนกัน มีคาถาแสดงไว้ว่า

"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ เหตุ สตฺถารทสฺสนํ ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตติ อธิกาโร ฉนฺทตา
อฎฺฐธมฺมสโมธานา อภินีหาโร สมิชฺฌติฯ"

"ปณิธานขั้นพื้นฐานย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์,
ความถึงพร้อมด้วยเพศ, เหตุ, การเห็นพระศาสดา, การบรรชา, ความถึงพร้อมแห่งคุณ, อธิการและความพอใจ"


ส่วนผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระอัครสาวกทั้งสองและพระอสีติมหาสาวก ต้องมีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ
อธิการ หรือการกระทำอันยิ่ง (อธิกาโร) และความพอใจ (ฉนฺทตา)๕

หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า

ปรมัตถโชติกา ๖ เล่าเรื่องของสุสีมมาณพผู้ปรารถนาจะเห็นเบื้องปลายของศิลปะจึงถูกส่งไปหาฤาษีที่ป่าอิสิปตนะ
หลังจากไปป่าอิสิปตนะแล้ว
ได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายของศิลปะบ้างไหม?"
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า "เออ เรารู้สิท่าน"
สุสีมมาณพอ้อนวอนว่า "โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย "ถ้าอย่างนั้นก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวชศึกษาไม่ได้ดอก"
สุสีมาณพ "ดีละ ขอรับ โปรดให้ข้าพเจ้าบวช แล้วให้ศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ไม่สามารถให้เขาเจริญกรรมฐานได้
ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร (ความประพฤติที่ดีงาม) อาทิเช่น

ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
ไม่นานนักจึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

ในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องอภิสมาจารเป็นส่วนใหญ่
บางครั้งท่านก็สอนธรรมเช่นกัน แต่สอนเพียงสั้นๆ

อาทิเช่น จงสิ้นราคะ จงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา
โดยไม่มีหลักคำสอนที่เป็นระบบเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อีกประการหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าคงจะเป็นเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อ ตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพราะเหตุที่ว่า
"ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยของตรรกวิทยา ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต
ก็ถ้าเราพึงจะแสดงธรรม สัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา
ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหนื่อยเปล่า ความลำบากเปล่าแก่เรา"


ท้าวสหัมบดีพรหมจึงทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์
โดยให้เหตุผลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระองค์
จง ทรงแสดงธรรมเถิด เพราะสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่
เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้"

แต่จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสลัดทิ้งความท้อพระทัยเสีย แล้วทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์

จากหลักฐานข้างต้นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไม่สามารถเอาชนะความคิดที่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นรู้ตามได้ยากนั้นได้
จึงไม่ได้เตรียมแสวงหาสาวกและสอนให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับตน

แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรู้สึกจะสมัครใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รู้แจ้ง
โดยอาศัยความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของผู้นั้นเป็นหลัก
ดังนั้น ท่านจึงมิได้ก่อตั้งสถาบันศาสนาอันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
และอุบาสิกา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาระบุไว้ บ่อยครั้งว่าพระปัจเจกโพธิสัตว์ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง
แต่ไม่อาจเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้ แต่ในชาติต่อ ๆ มาจึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ แต่ในปัญจอุโบสถชาดก๘

เสนอความสัมพันธ์ที่กลับกันหรือตรงกันข้ามกัน คือ
เสมือนหนึ่งว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ ส่วนพระโพธิสัตว์๙ เป็นศิษย์
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พระโพธิสัตว์ขณะเป็นดาบส
จนกระทั่งพระโพธิสัตว์นั้นสามารถข่มมานะ
(ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ซึ่งขัดขวางมิให้ได้ฌานสมาบัติ

เรื่องย่อของชาดกนี้มีดังนี้
ในสมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสนั้นมีมานะ ดำริว่า
ดาบสผู้นี้มิใช่อื่นเลย ที่แท้เป็นหน่อเนื้อแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะบรรลุความเป็นสัพพัญญูในกัปป์นี้แหละ เราต้องข่มมานะของดาบสผู้นี้เสีย
แล้วจึงมาจากป่าหิมพานต์ตอนเหนือ
ขณะเมื่อดาบสนั้นกำลังนอนอยู่ในบรรณศาลานั่งเหนือแผ่นกระดานหินของดาบสนั้น
ดาบสออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งเหนืออาสนะของตนอยู่
จึงเกิดความขุ่นเคืองใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาตบมือตวาดว่า

ฉิบหายเอ๋ย ไอ้ถ่อย ไอ้กาลกรรณี มานั่งเหนืออาสนะแผ่นกระดานนี้ทำไม ?

ต่อแต่นั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า
พ่อคนดี เพราะเหตุไรพ่อจึงมีแต่มานะ ?

ข้าพเจ้าบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้วในกัปป์นี้เอง
พ่อก็จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว ต่อไปจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าสิทธัตถะ
บอกชื่อ ตระกูล โคตร และพระอัครสาวก
แล้วจึงแนะนำว่า

พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคายเพื่ออะไรเล่า? ข้อนี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย

ดาบส นั้นแม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง
มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าพเจ้าจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ?

ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เธอไม่รู้ถึงความเป็นใหญ่แห่งชาติและคุณของเรา
หากเธอสามารถก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเราแล้วก็เหาะไปในอากาศโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงบนชฎาของดาบสนั้น

ไปยังป่าหิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม พอท่านไปแล้ว ดาบสมีความสลดใจคิดว่า
ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสรีระหนัก
ไปในอากาศได้ดุจปุยนุ่นที่ทิ้งไปในช่องลม เพราะถือชาติ
เรามิได้กราบเท้าทั้งคู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ยังไม่ถามเสียด้วยว่า

เราจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร?
ขึ้นชื่อว่าชาตินี้จะทำอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ในโลก ถ้าเรายังมีมานะอยู่
จักไปนรกได้ที่นี้เราข่มมานะไม่ได้ ก็จักไม่ไปหาผลไม้

เข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ
นั่งเหนือกระดานเลียบเป็นกุลบุตรผู้มีญาณใหญ่ ข่มมานะได้ เจริญกสิณ
ได้อภิญญาและสมาบัติ ๘ ตายไปอุบัติ ณ พรหมโลก

การบิณฑบาตโปรดสัตว์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เช่นเดียวกับนักบวชอื่น ๆ คัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตมิใช่เพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้ประชาชนมีโอกาสประสบกุศลผลบุญโดยการใส่บาตรท่าน
ทายกที่ถวายทานอย่างสมบูรณ์ คือครบทั้งสามกาล ก่อนถวายทานก็ดีใจ ขณะถวายทานมีจิตเลื่อมใส

และถวายทานแล้วปลื้มใจไม่เสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว สามารถพ้นจากอันตราย
เราสามารถพบตัวอย่างของข้อนี้ได้จากเรื่องสังขพราหมณ์ ผู้มีชื่อเสียงทางบริจาคทาน
ซึ่งวางแผนจะไปสุวรรณภูมิ
เพื่อนำทรัพย์มาบริจาคคนยากจนและคนขัดสน

มติของอรรถกถาเกี่ยวกับคุณธรรม และความรู้


ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า, และพระสาวก
ปรมัตถโชติกา ๑๒ ได้แบ่งประเภทของสรรพสัตว์ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงไว้ดังนี้:-
สัตว์ที่มีวิญญาณมี ๒ ประเภท คือ
สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์
มนุษย์มี ๒ เพศ คือสตรีและบุรุษ
บุรุษมี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนและนักบวช
นักบวชมี ๒ ประเภท คือเสขะและอเสขะ
อเสขะ มี ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสกะ(ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก)
และสมถยานิก
(ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ)
สมถยานิกมี ๒ ประเภท คือ ที่บรรลุสาวกบารมีและไม่บรรลุสาวกบารมี

กล่าวกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าผู้ที่บรรลุสาวกบารมี (พระสาวก) เพราะเหตุไรจึงเลิศกว่า?
เพราะมีคุณมาก

พระสาวกหลายร้อยรูป แม้เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น
ก็ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งร้อยคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศแม้กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร?
เพราะ มีคุณมากถ้าว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิเบียดกันทั่วทั้งชมพูทวีป
ก็ไม่เท่าส่วนเสี้ยวแห่งคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว

ปรมัตถโชติกา๑๓ ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้เป็นอันมาก
บรรยายถึงความแตกต่างทางด้านความรู้ระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกไว้ดังนี้:-

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ได้เองและทรงสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้อีกด้วย (จนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน)
พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เอง แต่ไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้ แทงตลอดอรรถรสเท่านั้น
ไม่สามารถแทงตลอดธรรมรสได้
เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจเพื่อจะยกโลกุตตรธรรมเป็นบัญญัติขึ้นแสดงได้
การบรรลุธรรมจึงมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน เหมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น

พระ ปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุธรรมทั้งหมดรวมถึงฤทธิ์ สมาบัต ิ และปฏิสัมภิทา
มีคุณพิเศษต่ำกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหนือกว่าพระสาวก
ให้บุคคลอื่นบวชได้ ให้ศึกษาอภิสมาจาร ด้วยอุเทศนี้ว่า พึงขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย
หรือทำอุโบสถโดยเพียงพูดว่า วันนี้อุโบสถ
และเมื่อทำอุโบสถประชุมกันทำ ณ รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชุสา ในภูเขาคันธมาทน์

สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาไม่ว่าด้านคุณธรรม หรือความรู้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหนือกว่าพระสาวก
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเหนือกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า

วิถีชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า:การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
คุณลักษณะ พิเศษที่สำคัญประการหนึ่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าคือ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
หรือการดำเนินชีวิตอยู่เพียงลำพัง (เอกะ)

ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับนอแรด
(ขคฺควิสาณกปฺโป) ๑๔

ซึ่งแรดของอินเดียมีเพียงนอเดียว ส่วนแรดในประเทศอื่นมี ๒ นอก็มี แต่กระนั้นก็ตาม
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาประชุมพร้อมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน
คือในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นและในวันอุโบสถ
คงเห็นแล้วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มิได้หลีกเร้นหนีสังคมแต่ประการใด เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน
ท่านก็มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
ปุถุชนธรรมดาไม่อาจที่จะเข้าใจวิถีชีวิตดังกล่าวของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
ถือได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียวหรือผู้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเหตุ ๙ ประการ คือ:-

๑. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส, บุตร, ภรรยา,
ญาติและการสะสมสมบัติ
ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่กังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป

๒. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มีเพื่อน (เมื่อถึงฐานะเช่นนั้นแล้วไม่ต้องการเพื่อน)
หมายถึงว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้
เป็นผู้เดียวอาศัยที่อยู่คือป่าและป่าชัฏอันสงัด มีเสียงน้อยปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม
อยู่ โดดเดี่ยวไกลจากพวกมนุษย์สมควรแก่การหลีกเร้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว
เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว
นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป

๓ เป็นผู้เดียวเพราะละตัณหา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งจิตไปอยู่
กำจัดมารและเสนามาร ละตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
๔. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากราคะแน่นอน
๕. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะแน่นอน
๖. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะแน่นอน
๗. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะหมดกิเลสแน่นอ

๘. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ดำเนินไปผู้เดียว (เอกายนมรรค) เอกายนมรรคนั้น หมายถึง
สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔,

อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ (คือโพธิปักขิยธรรม)

๙. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว
หมายถึงว่า รู้แจ้งไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจสี่นั่นเอง

บทสรุป


บาง คนอาจมีความกังขาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่?
ขอเฉลยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง

และมิใช่มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มีเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีองค์เดียวเท่านั้น

ในช่วงเวลาหนึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างรายชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีตเฉพาะองค์สำคัญ
ที่พบในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเสนอไว้ เช่น พระตครสิขี พระอุปริฏฐะ พระมหาปทุม พระมาตังคะ เป็นต้น

นอกจากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตก็ยังมีปรากฏให้เห็น อาทิเช่น
พระอัฏฐิสสระ ซึ่งก็คือพระเทวทัต ก่อนจะมรณภาพโดยถูกแผ่นดินสูบ ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
คือพระโคตมะ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยกระดูกพร้อมด้วยลมหายใจ
ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว จึงทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตได้
...

เชิงอรรถ

๑. พระพุทธเจ้า (พุทธะ) มี ๔ ประเภท คือ
๑. พระสัพพัญญูพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระจตุสัจจพุทธเจ้า ๔. พระสุตพุทธเจ้า
ประเภทที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพระสาวกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้า
๒. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.
๓. สุตฺต.อ. ๑/๔๗.
๔. สุตฺต.อ. ๑/๔๕.
๕. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.
๖. สุตฺต.อ. ๒/๔๑-๔๒.
๗. วินย. ๔/๗-๘.
๘. ชา.อ.๖/๒๘๘–๒๙๔.
๙. พระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บางท่านเขียนเป็นพระโพธิสัตต์ คำนี้ตรงกับภาษาบาลีว่า โพธิสตฺต และตรงกับภาษาสันสกฤตว่า โพธิสตฺตฺว.
๑๐. ชา.อ. ๕/๓๘๕–๓๘๖.
๑๑. ชา.อ.๕/๘๓.
๑๒. ขุทฺทก.อ.๑๕๕/๑๕๖.
๑๓. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.
๑๔. ขุ.จู.ขัคควิสาณสุตตนิทเทส.๓๐/๑๒๔

ปัจเจกพุทธาปทาน
http://www.dmc.tv/fo...?showtopic=2603

[๒] ลำดับนี้ ขอฟังปัจเจกพุทธาปทาน พระอานนท์เวเทหมุนี ผู้มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว
ได้ทูลถามพระตถาคต ผู้ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า

ทราบด้วยเกล้าฯ ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรท่านเหล่านั้นจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นนักปราชญ์?

ในกาลครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสัพพัญญูผู้ประเสริฐ แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสตอบท่านพระอานนท์ผู้เจริญ
ด้วยพระสุรเสียงไพเราะว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้าสร้างบุญในพระพุทธเจ้าทั้งปวง ยังไม่ได้โมกขธรรมในศาสนาของพระชินเจ้า ด้วยมุข
คือ ความสังเวชนั้นแล
ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์มีปัญญาแก่กล้า
ถึงจะเว้นพระพุทธเจ้าก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้แม้ด้วยอารมณ์นิดหน่อย

ในโลกทั้งปวง เว้นเราแล้ว ไม่มีใครเสมอพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย

เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ ของท่านเหล่านั้น

ท่านทั้งหลาย จงฟังคุณของพระมหามุนีให้ดี
ท่านทั้งปวงปรารถนานิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ จงมีจิตผ่องใส ฟังถ้อยคำดี
อันอ่อนหวานไพเราะของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสรู้เอง

คำพยากรณ์โดยสืบๆกันมาเหล่าใด ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกัน
โทษ เหตุปราศจากราคะ และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บรรลุโพธิญาณด้วยประการใด

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสัญญาในวัตถุอันมีราคะว่าปราศจากราคะ
มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัด ละธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ละการแพ้และความดิ้นรน แล้ว จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ สถานที่เกิดนั้นเอง

ท่านวางอาญาในสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น
มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล เที่ยวไปผู้เดียวเปรียบเหมือนนอแรด ฉะนั้น

ท่านวางอาญาในปวงสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาบุตร
ที่ไหนจะปรารถนาสหายเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย
ท่านเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเสน่หา จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ผู้มีจิตพัวพัน ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย ย่อมทำตนให้เสื่อมประโยชน์
ท่านมองเห็นภัยนี้ ในความสนิทสนม จึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรดฉะนั้น

ความเสน่หาในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวกันอยู่
ท่านไม่ข้องในบุตรและภริยา ดังหน่อไม้ไผ่ เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านเป็นวิญญูชนหวังความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น
เหมือนเนื้อที่ไม่ถูกผูกมัด เที่ยวหาเหยื่อในป่าตามความปรารถนา ฉะนั้น
ต้องมีการปรึกษากันในท่ามกลางสหายทั้งในที่อยู่ ที่บำรุง ที่ไป ที่เที่ยว
ท่านเล็งเห็นความไม่โลภ ความเสรีจึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

การเล่น ความยินดีมีอยู่ในท่ามกลางสหาย ส่วนความรักในบุตรเป็นกิเลสใหญ่
ท่านเกลียดความวิปโยคเพราะของที่รัก จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านเป็นผู้แผ่เมตตาไปในสี่ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
เป็นผู้อดทนต่อมวลอันตรายได้ ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น

แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนสงเคราะห์ได้ยาก
ท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรคนอื่น จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านปลงเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์ กล้าหาญ ตัดกามอันเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์
เปรียบเหมือนไม้ทองหลางมีใบขาดหมด เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ถ้าจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดีเป็นนักปราชญ์
พึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึงดีใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
ถ้าจะไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว
ดังช้างมาตังคะ ละโขลงอยู่ในป่า

ความจริง เราย่อมสรรเสริญสหายสมบัติ พึงส้องเสพสหายที่ประเสริฐกว่า หรือ ที่เสมอกัน
เมื่อไม่ได้สหายเหล่านี้ ก็พึงคบหากับกรรมอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านเห็นกำไลมือทองคำอันผุดผ่องที่นายช่างทองทำสำเร็จสวยงาม
กระทบกันอยู่ที่แขนทั้งสอง จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

การเปล่งวาจา หรือวาจาเครื่องข้องของเรานั้น พึงมีกับเพื่อนอย่างนี้
ท่านเล็งเห็นภัยนี้ต่อไป จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ก็กามทั้งหลายอันวิจิตร หวาน อร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยสภาพต่างๆ
ท่านเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ความจัญไร หัวฝี อุบาทว์ โรค กิเลสดุจลูกศร และภัยนี้
ท่านเห็น ภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านครอบงำอันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คือ หนาว ร้อน ความหิว ความกระหาย ลม
แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน แล้วเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่าน เที่ยวไปผู้เดียว เช่นนอแรด เปรียบเหมือนช้างละโขลงไว้แล้ว มีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว
มีสีกายดังดอกปทุมใหญ่โตอยู่ในป่านานเท่าที่ต้องการฉะนั้น

ท่านใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า บุคคลพึงถูกต้องวิมุติอันเกิดเองนี้
มิใช่ฐานะของผู้ทำความคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรดฉะนั้น

ท่านเป็นไปล่วงทิฏฐิอันเป็นข้าศึก ถึงความแน่นอน มีมรรคอันได้แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว
อันบุคคลอื่นไม่ต้องแนะนำเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่คุณท่าน มีโมโหดุจน้ำฝาดอันกำกัดแล้ว
เป็นผู้ไม่มีตัณหาในโลกทั้งปวงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามก ผู้มักชี้อนัตถะ ตั้งมั่นอยู่ในฐานะผิดธรรมดา ไม่พึงเสพสหาย
ผู้ขวนขวาย ผู้ประมาทด้วยตนพึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

กุลบุตรพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ ท่านรู้ประโยชน์ทั้งหลาย
บรรเทาความสงสัยแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านไม่พอใจในการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลกไม่เพ็งเล็งอยู่
คลายยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวคำสัตย์เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ท่านละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เผ่าพันธ์ และกามทั้งหลายตามที่ตั้งลง
เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ในความเกี่ยวข้องนี้มีความสุขนิดหน่อย มีความพอใจน้อย มีทุกข์มากยิ่ง บุรุษผู้มีความรู้ทราบว่า
ความเกี่ยวข้องนี้ ดุจลูกธนู พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

กุลบุตรพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาทำลายข่าย แล้วไม่กลับมา
ดังไฟไหม้เชื้อลามไปแล้วไม่กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว รักษามนัส อันราคะไม่ชุ่มแล้ว
อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรดฉะนั้น

พึงละเครื่องเพศคฤหัสถ์แล้ว ถึงความตัดถอน เหมือนไม้ทองกวาวที่มีใบขาดแล้ว
นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชแล้ว เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุล เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ประการ พึงบรรเทาอุปกิเลสเสียทั้งสิ้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ
ตัดโทษอันเกิดแต่สิเนหาแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงทำสุข ทุกข์ โทมนัสและโสมนัสก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง ได้อุเบกขา สมถะ ความหมดจดแล้ว
เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงปรารภความเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน มีจิตไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความเพียรมั่น (ก้าวออก) เข้าถึงด้วยกำลัง เรี่ยวแรงเที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ไม่พึงละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการสดับ
มีสติ มีธรรมอันพิจารณาแล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียง ดังสีหะ ไม่ขัดข้อง อยู่ในตัณหาและทิฏฐิ เหมือนลมไม่ติดตาข่าย
ไม่ติดอยู่ในโลก ดุจดอกปทุม ไม่ติดน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงเสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง เป็นราชาของเนื้อ มีปกติประพฤติข่มขี่
ครอบงำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงเจริญเมตตาวิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติทุกเวลา
ไม่พิโรธด้วยสัตว์โลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงละราคะโทสะและโมหะ พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

ชนทั้งหลายมีเหตุเป็นประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน มิตรทั้งหลายไม่มีเหตุ หาได้ยากในวันนี้
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามองประโยชน์ตน ไม่สะอาด พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น

พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา
มีปกติเห็นธรรมวิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์มรรค
และโพชฌงค์ นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า

นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า

มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ ทั้งมวลได้

มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ มีอินทรีย์ระงับ มีใจสงบ มีจิตมั่นคง
มีปกติ ประพฤติด้วยความกรุณาในสัตว์เหล่าอื่น เกื้อกูลแก่สัตว์ รุ่งเรืองในโลกนี้
และโลกหน้า เช่นกับประทีป ปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่สัตว์

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ ละกิเลสเครื่องกั้นทั้งปวงหมดแล้ว เป็นจอมแห่งชน
เป็นประทีปส่องโลกให้สว่าง เช่นกับรัศมีแห่งทองชมพูนุท
เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นดีของโลก โดยไม่ต้องสงสัย บริบูรณ์อยู่เนืองนิตย์


คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในโลกทั้งเทวโลก
ชนเหล่าใดผู้เป็นพาลได้ฟังแล้ว ไม่ทำเหมือนดังนั้น
ชนเหล่านั้นต้องเที่ยวไปในสังขารทุกข์บ่อยๆ
คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นคำไพเราะ ดังน้ำผึ้งรวงอันหลั่งออกอยู่

ชนเหล่าใดได้ฟังแล้ว ประกอบการปฏิบัติตามนั้น
ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เห็นสัจจะ คาถาอันโอฬารอันพระปัจเจกพุทธชินเจ้าออกบวช

กล่าวแล้ว คาถาเหล่านั้น พระตถาคตผู้สีหวงศ์ศากยราชผู้สูงสุดกว่านรชน
ทรงประกาศแล้วเพื่อให้รู้แจ้งธรรม

คาถาเหล่านี้ พระปัจเจกเจ้าเหล่านั้นรจนาไว้อย่างวิเศษ
เพื่อความอนุเคราะห์โลก อันพระสยัมภูผู้สีหะทรงประกาศแล้ว เ
พื่อยังความสังเวช การไม่คลุกคลีและปัญญาให้เจริญ ฉะนี้แล.

จบ ปัจเจกพุทธาปทาน
ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรม

#6 หนานตู่

หนานตู่
  • Members
  • 36 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 May 2010 - 09:27 PM

ตามความคิดเห็น#5ครับละเอียดมาก.

#7 Nee-Sansanee 2

Nee-Sansanee 2
  • Members
  • 893 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 30 May 2010 - 02:48 AM

ขอบคุณทุก ๆท่านค่ะ

หมดข้อสงสัยเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ตลอดจนที่ตั้งของป่าหิมพานต์ที่อยู่ในชมพูทวีปเหมือนโลกเรา และสวรรค์ชั้นที่ 1 ชั้นจาตุฯ ที่มีทั้งเทพ เทวา และสัตว์เช่นนาค ครุต ภูมเทวา

ก็มีบางส่วนได้มาอยู่ปะปนกับมนุษย์ด้วย