ไปที่เนื้อหา


thanasub

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 31 Jul 2006
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Sep 12 2006 04:41 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

ความกลัว

18 August 2006 - 04:12 PM

ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง ในบรรดา สิ่งที่ทำลาย ความสุข สำราญ หรือ รบกวนประสาท ของมนุษย์ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยกัน ความกลัวนี้ ย่อมมีลักษณะ และพิษสง มากน้อยกว่ากัน เป็นขั้นๆ ตามความรู้สึก อันสูงต่ำ ของจิต เด็กๆ สร้างภาพ ของสิ่งที่น่ากลัว ขึ้นในใจ ตามที่ผู้ใหญ่ นำมาขู่ หรือได้ยิน เขาเล่า เรื่อง อันน่ากลัว เกี่ยวกับผี เป็นต้น สืบๆ กันมา แล้วก็กลัว เอาจริงๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนั้น ก็ไม่หมดสิ้นไป ความกลัว เป็นสัญชาตญาณ อันหนึ่งของมนุษย์ เหมือนกันหมด แต่ว่า วัตถุที่กลัว นั่นแหละต่างกัน ตามแต่เรื่องราว ที่ตนรับ เข้าไว้ในสมอง วัตถุอันเป็น ที่ตั้งของความกลัว ที่กลัว กันเป็น ส่วนมาก นั้น โดยมาก หาใช่วัตถุ ที่มีตัวตน จริงจัง อะไรไม่ มันเป็น เพียงสิ่งที่ใจ สร้างขึ้น สำหรับกลัว เท่านั้น ส่วนที่เป็น ตัวตน จริงๆ นั้น ไม่ได้ ทำให้เรา กลัว นาน หรือ มากเท่า สิ่งที่ใจ สร้างขึ้นเอง มันมักเป็น เรื่องเป็นราว ลุล่วงไปเสียในไม่ช้านัก บางที เราไม่ทันนึก กลัว ด้วยซ้ำไป เรื่องนั้นก็ได้มาถึงเรา เป็นไปตามเรื่อง ของมัน และ ผ่านพ้นไปแล้ว มันจึงมิได้ ทรมานจิต ของมนุษย์มาก เท่าเรื่อง หลอกๆ ที่ใจสร้างขึ้นเอง

เด็กๆ หรือคนธรรมดา เดินผ่านร้านขายโลง ซึ่งยังไม่เคย ใส่ศพเลย ก็รู้สึกว่า เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นที่ อวมงคล เสียจริงๆ เศษกระดาษ ชนิดที่เขา ใช้ปิดโลง ขาดตก อยู่ในที่ใด ที่นั้น ก็มี ผี สำหรับเด็กๆ เมื่อเอาสีดำ กับกระดาษ เขียนกันเข้า เป็น รูปหัวกระโหลก ตากลวง ความรู้สึกว่าผี ก็มาสิง อยู่ใน กระดาษ นั้นทันที เอากระดาษฟาง กับกาวและสี มาประกอบกัน เข้าเป็น หัวคนป่า ที่น่ากลัว มีสายยนต์ ชักให้แลบลิ้น เหลือกตา ได้ มันก็พอที่ทำให้ใคร ตกใจเป็นไข้ได้ ในเมื่อนำไปแอบ คอยที่ชักหลอกอยู่ในป่า หรือที่ขมุกขมัว และแม้ที่สุด แต่ผู้ที่เป็นนายช่าง ทำมันขึ้นนั่นเอง ก็รู้สึกไปว่า มันมิใช่กระดาษฟาง กับกาวและสี เหมือนเมื่อก่อน เสียแล้ว ถ้าปรากฏว่า มันทำให้ใคร เป็นไข้ ได้สักคนหนึ่ง เราจะเห็นได้ ในอุทาหรณ์ เหล่านี้ ว่า ความกลัวนั้น ถูกสร้างขึ้น ด้วยสัญญา ในอดีต ของเราเอง ทั้งนั้น เพราะปรากฏ ว่า สิ่งนั้นๆ ยังมิได้ เนื่อง กับผีที่แท้จริง แม้แต่นิดเดียว และสิ่งที่เรียกว่า ผี ผี , มันก็ เกิดมาจากกระแส ที่เต็มไปด้วย อานุภาพอันหนึ่ง อันเกิดมาจาก กำลัง ความเชื่อ แห่งจิต ของคน เกือบทั้งประเทศ หรือ ทั้งโลก เชื่อกัน เช่นนั้น อำนาจนั้นๆ มัน แผ่ซ่าน ไปครอบงำ จิตของ คนทุกคน ให้สร้างผี ในมโนคติ ตรงกันหมด และทำให้เชื่อ ในเรื่องผี ยิ่งขึ้น และผี ก็มีชีวิต อยู่ในโลกนี้ได้ จนกว่า เมื่อใด เราจะ หยุด เชื่อเรื่องผี หรือ เรื่องหลอก นี้กันเสียที ให้หมดทุกๆ คน ผีก็จะตายหมดสิ้นไปจากโลกเอง จึงกล่าวได้ว่า ความกลัวที่เรากลัวกันนั้น เป็นเรื่องหลอก ที่ใจสร้างขึ้นเอง ด้วยเหตุผล อันผิดๆ เสียหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ความกลัว เป็นภัยต่อความสำราญ เท่ากับความรัก โกรธ เกลียด หลงใหล และอื่นๆ หรือบางที จะมากกว่าด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่า ธรรมชาติ ได้สร้างสัญชาตญาณ อันนี้ให้แก่สัตว์ ตั้งแต่ เริ่มออกจากครรภ์ ทีเดียว, ลูกนก หรือ ลูกแมว พอลืมตา ก็กลัวเป็นแล้ว แสดงอาการหนี หรือป้องกันภัย ในเมื่อเรา เข้าไปใกล้ เด็กๆ จะกลัวที่มืด หรือการถูกทิ้ง ไว้ผู้เดียว ทั้งที่ เขายังไม่เคย มีเรื่องผูกเวร กับใครไว้ อันจะนำให้กลัวไปว่า จะมีผู้ลอบทำร้าย เพียงแต่ผู้ใหญ่ ชี้ไปตรงที่มืด แล้วทำท่ากลัว ให้ดูสักครั้งเท่านั้น เด็กก็จะกลัว ติดอยู่ในใจไปได้นาน คนโตแล้วบางคน นั่งฟังเพื่อนกันเล่า เรื่องผี เวลากลางคืน มักจะค่อยๆ ยับๆ จนเข้าไป นั่งอยู่กลางวง โดยไม่รู้สึกตัว และยังไปนอนกลัว ในที่นอนอีกมาก กว่าจะหลับไปได้ เดินฝ่าน ป่าช้า โดยไม่รู้ เพิ่งมารู้และกลัว เอาที่บ้านก็มี สำหรับบางคน ทั้งหมดนี้ เป็น เครื่องแสดงว่า ความกลัว เป็นเรื่องของจิต มากกว่า วัตถุ ผู้ใด ไม่มี ความรู้ ในการควบคุม จิตของตน ในเรื่องนี้ เขาจะถูกความกลัว กลุ้มรุม ทำลาย กำลังประสาท และ ความสดชื่น ของใจ เสียอย่างน่าสงสาร ในทำนอง ตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่มี อุบาย ข่มขี่ ความกลัว ย่อม จะได้รับ ความผาสุก มากกว่า มีกำลังใจ เข้มแข็งกว่า เหมาะที่จะเป็น หัวหน้าหมู่ หรือ ครอบครัว

เมื่อปรากฏว่า ความกลัว เป็นภัย แก่ความผาสุก เช่นนี้แล้ว บัดนี้ เราก็มาถึง ข้อปัญหาว่า เราจะเอา ชนะความกลัว ได้อย่างไร สืบไป เพราะเหตุว่า การที่ทราบแต่เพียงว่า ความกลัว เป็นภัย ของความผาสุกนั้น เรายังได้รับผลดีจากความรู้นั้น น้อยเกินไป เราอาจปัดเป่า ความกลัวออกไปเสียจากจิต โดยววิธีต่างๆ กัน แต่เมื่อจะสรุปความ ขึ้นเป็นหลักสำคัญๆ แล้ว อย่างน้อย เราจะได้สามประการ คือ

๑. สร้างความเชื่ออย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ยึดเอาเป็นที่พึ่ง
๒. ส่งใจไปเสียในที่อื่น ผูกมัดไว้กับสิ่งอื่น
๓. ตัดต้นเหตุ ของความกลัวนั้นๆ เสีย

ในประการต้น อันเราอาจเห็นได้ทั่วไป คือวิธีของ เด็กๆ ที่เชื่อ ตะกรุด หรือ เครื่องราง ฯลฯ ตลอดจน พระเครื่ององค์เล็ก ที่แขวนคอ และเป็นวิธีของผู้ใหญ่ บางคน ที่มีความรู้สึก อยู่ในระดับ เดียวกับ เด็กด้วย คนในสมัยอนารยะ ถือภูเขาไฟ ต้นไม้ ฟ้า หรือ สิ่งที่ตนเห็นว่า มีอำนาจน่ากลัว ควรถือเอา เป็นที่มอบกายถวายตัว ได้อย่างหนึ่ง นี่ก็อยู่ในประเภท เดียวกัน ที่ยังเหลือมาจนทุกวันนี้ เช่น พวก ที่บนบาน ต้นโพธิ์ พระเจดีย์ เป็นต้น เพื่อความเบาใจ ของตน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง วิธีนี้ เป็นผลดีที่สุด ได้ตลอดเวลา ที่ตน ยังมีความเชื่อ มั่นคงอยู่ ความเชื่อที่เป็นไปแรงกล้า อาจ หลอกตัวเอง ให้เห็นสิ่งที่ควรกลัว กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรกลัว ไปก็ได้ ถ้าหากจะมีอุบาย สร้างความเชื่อชนิดนั้น ให้เกิดขึ้น ได้มากๆ เมื่อใดความเชื่อหมดไป หรือมีน้อย ไม่มี กำลังพอ ที่จะหลอกตัวเองให้กล้าหาญแล้ว วิธีนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ กลายเป็นของน่าหัวเราะเท่านั้น เล่ากันมาว่า เคยมีคนๆ หนึ่ง อมพระเครื่อง เข้าตะลุมบอน ฆ่าฟันกัน เชื่อว่า ทำให้อยู่คง ฟันไม่เข้า เป็นต้น ดูเหมือนได้ผล เป็นที่น่าพอใจ เขาจริงๆ ขณะหนึ่ง พระตกจากปากลงพื้นดิน ในท้องนา ตะลีตะลานคว้าใส่ปากทั้งที่เห็นไม่ถนัด แทนที่ จะได้พระ กลับเป็นเขียดตัวหนึ่ง เข้าไปดิ้นอยู่ในปาก ก็รบ เรื่อยไป โดยยิ่งเชื่อมั่นขึ้นอีกว่า พระในปาก แสดงปาฏิหาริย์ ดิ้นไปดิ้นมา เมื่อเลิกรบ รีบคายออกดู เห็นเป็นเขียด ตาย ก็เลย หมดความเชื่อ ตั้งแต่นั้นมา ไม่ปรากฏว่า พระเครื่ององค์ใด ทำความพอใจ ให้เขาได้อีก พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า วิธีนี้ ไม่ใช่ ที่พึ่ง อันเกษม คือ ทำความปลอดภัยให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ วิธีสูงสุด, เนตํ สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ

ประการที่สอง สูงขึ้นมาสักหน่อย พอที่จะเรียกได้ว่า อยู่ในชั้นที่จัดว่าเป็นกุศโลบาย หลักสำคัญอยู่ที่ส่งความคิดนึก ของใจไปเสียที่อื่น ซึ่งจะเป็นความรักใครที่ไหน โกรธใครที่ไหน เกลียดใครที่ไหน ก็ตาม หรือหยุดใจเสียจากความคิดนึก ทุกอย่าง (สมาธิ) ก็ตาม เรียกว่า ส่งใจไปเสียในที่อื่น คือจากสิ่งที่เรากลัว นั้น ก็แล้วกัน ที่เราเห็นกันได้ทั่วไป เช่น กำลังเมารัก บ้าเลือด เหล่านี้เป็นต้น จะไม่มีความกลัวผี กลัวเสือ กลัวเจ็บ แม้เรื่องราวในหนังสือข่าวรายวัน ก็เป็นพยาน ในเรื่องนี้ได้มาก แต่เรื่องชนิดนี้ เป็นได้โดย ไม่ต้องเจตนา ทำความรู้สึก เพื่อส่งใจไปที่อื่น เพราะมันส่งไปเองแล้ว ถึงกระนั้น ทุกๆ เรื่อง เราอาจปลูก อาการเช่นนี้ขึ้นได้ ในเมื่อต้องการ และมันไม่เป็นขึ้นมาเอง การคิดนึกถึง ผลดีที่จะได้รับ คิดถึงสิ่งที่เรารักมาก จนใฝ่ฝัน คิดถึง ชาติประเทศ คิดถึงหัวหน้า ที่กล้าหาญ ดูสิ่งที่ยั่วใจให้กล้า เช่น ระเบียบให้มองดู ธงของผู้นำทัพ ในเมื่อตนรู้สึกขลาด อันปรากฏอยู่ในนิยาย เทวาสุรสงคราม ในพระคัมภีร์ เป็นต้น เหล่านี้ ล้วน แต่ช่วยให้ใจ แล่นไปในที่อื่น จนลืมความกลัว ได้ทั้งนั้น ในชั้นนี้ พระผู้มีพระภาพทรงสอนให้ระลึกถึงพระองค์ หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อภิกษุใด เกิดความกลัวขึ้นมา ในขณะที่ตนอยู่ในที่เงียบสงัด เช่น ในป่า หรือถ้ำ เป็นต้น อาการเช่นนี้ ทำนองค่อนไปข้างสมาธิ แต่ยังมิใช่สมาธิแท้ทีเดียว แต่ถ้าหากว่า ผู้ใดแม้ระลึกถึง พระพุทธองค์ก็จริง แต่ระลึกไปในทำนองเชื่อมั่น มันก็ไปตรงกันเข้ากับประการต้น คือความเชื่อ เช่น เชื่อ พระเครื่อง หรือคนป่า เชื่อปู่เจ้าเขาเขียว ต่อเมื่อระลึก ในอาการ เลื่อมใส ปิติในพระพุทธคุณ เป็นต้น จึงจะเข้ากับประการที่สองนี้

ส่วนอาการที่สงบใจไว้ด้วยสมาธินั้น เป็นอุบายข่มความกลัว ได้สนิทแท้ เพราะว่า ในขณะแห่งสมาธิ ใจไม่มีการคิดนึก อันใดเลย นอกจากจับอยู่ที่สิ่งซึ่งผู้นั้น ถือเอาเป็นอารมณ์ หรือนิมิต ที่เกาะของจิตอยู่ในภายในเท่านั้น แต่ว่าใจที่ เต็มไป ด้วยความกลัว ยากที่จะเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสมาธิ ที่ชำนาญ อย่างยิ่งจริงๆ จนเกือบกลายเป็นความจำอันหนึ่งไป พอระลึกเมื่อใด นิมิตนั้นมาปรากฏเด่นอยู่ที่ "ดวงตาภายใน" ได้ทันทีนั่นแหละ จึงจะเป็นผล แม้ข้อที่ พระองค์ สอนให้ ระลึกถึง พระองค์ หรือพระธรรมพระสงฆ์ ตามนัยแห่งบาลี ธชัคคสูตรนั้น ก็หมายถึง พุทธานุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อยู่แล้ว แม้ว่า จะเป็นเพียง อุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงขึดฌาณก็ตาม ล้วนแต่ ต้องการ ความชำนาญ จึงอาจ เปลี่ยน อารมณ์ ที่กลัว ให้เป็น พุทธานุสสติ เป็นต้นได้ ส่วนสมาธิ ที่เป็นได้ถึงฌาณ เช่น พรหมวิหาร เป็นต้น เมื่อชำนาญแล้ว สามารถ ที่จะ ข่มความกลัว ได้เด็ดขาด จริงๆ ยิ่งโดยเฉพาะ เมตตา พรหมวิหาร ยิ่งเป็นไปได้ง่ายที่สุด แต่พึงทราบว่า ทั้งนี้ เป็นเพียง ข่มไว้ เท่านั้น เชื้อของความกลัว ยังไม่ถูกรื้อถอนออก เมื่อใด หยุดข่ม มันก็เกิดขึ้นตามเดิม อีกประการหนึ่ง ไม่ใช่วิธีที่ง่าย สำหรับคนทั่วไป สำหรับการข่ม ด้วยสมาธิ คนธรรมดา เหมาะสำหรับ เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องคิดนึก ของใจเท่านั้น หาอาจทำ การหยุด พฤติการของจิต ให้ชะงักลง ได้ง่ายๆ เหมือน นักสมาธิไม่ และค่อนข้าง จะเป็นการแนะให้เอา ลูกพรวน เข้าไป แขวนผูกคอแมว ไป ในเมื่อสอนให้ คนธรรมดาใช้วิธ๊นี้ และ น่าประหลาดใจ อีกอย่างหนึ่งว่า วิธีที่สาม ที่จะกล่าว ต่อไปข้างหน้า ฃึ่งเป็นวิธี ที่สูง นั้น กลับจะ เหมาะสำหรับ คนทั่วไป และได้ผล ดีกว่า เสียอีก วิธีนั้น คือ ตัดต้นเหตุ แห่งความกลัวเสีย ตามแต่ที่ กำลังปัญญา ความรู้ ของผู้นั้น จะตัดได้มากน้อยเพียงไร ดังจะได้ พิจารณา กันอย่าง ละเอียด กว่า วิธีอื่น ดังต่อไปนี้

เมื่อมาถึงประการ ที่สามนี้ ขอให้เราเริ่มต้นด้วย อุทาหรณ์ง่ายๆ ของท่านภิกขุ อานันท เกาศัลยายนะ [เขียนไว้ในเรื่อง คนเราเอาชนะความกลัวได้อย่างไร ในหนังสือพิมพ์มหาโพธิ และบริติชพุทธิสต์ แต่เขียนสั้นๆ เพียงสองหน้ากระดาษเท่านั้น และกล่าวเฉพาะการประพฤติ กายวาจาใจ ให้สุจริตอย่างเดียวว่า เป็ฯการตัดต้นเหตุแห่งความกลัว] เขียนไว้เรื่องหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในข้อที่ว่า การสะสาง ที่มูลเหตุ นั้น สำคัญเพียงไร อุทาหรณ์ นั้น เป็นเพียงเรื่องที่ผูกขึ้นให้เหมาะสมกับความรู้สึกของคนเราทั่วไป เรื่องมีว่า เด็กคนหนึ่งมีความกลัวเป็นอันมาก ในการที่จะเข้าไปใน ห้องมืด ห้องหนึ่ง ในเรือน ของบิดาของเขาเอง เขาเชื่อว่า มีผีดุตัวหนึ่งในห้องนั้น และจะกินเขา ในเมื่อเขาเพียงแต่เข้าไป บิดาได้พยายาม เป็นอย่างดีที่สุด ที่จะทำได้ ทุกๆ ทาง เพื่อให้บุตรของตน เข้าใจถูกว่า ไม่มีอะไร ในห้องนั้น เขากลัวไปเอง อย่างไม่มีเหตุผล แต่เด็กคนนั้น ได้เคยนึกเห็นตัวผีมาแล้ว เขาเชื่อว่า ไม่มีทางใดที่จะช่วยบุตรของตน ให้หลุดพ้นจาก การกลัวผี ซึ่งเขาสร้างขี้น เป็นภาพใส่ใจ ของเขาเอง ด้วยนโนคติได้จริงแล้ว ก็คิดวางอุบาย มีคนใช้คนหนึ่ง เป็นผู้ร่วมใจด้วย ฤกษ์งามยามดีวันหนึ่ง เขาเรียกบุตร คนนั้นมา แล้วกล่าวว่า "ฟังซิ ลูกของพ่อ ตั้งนานมาแล้ว ที่พ่อเข้าใจว่า พ่อเป็นฝ่ายถูก พ่อเป็นฝ่ายผิด ก่อนหน้านี้ พ่อคิดว่า ไม่มีผีดุ ในห้องนั้น บัดนี้ พ่อพบด้วยตนเองว่า มันมีอยู่ตัวหนึ่ง และเป็นชนิด ที่น่า อันตรายมาก เสียด้วย พวกเรา ทุกคน จักต้องระวังให้ดี"

ต่อมา อีกไม่กี่วัน บิดาได้เรียกบุตร มาอีก ด้วยท่าทาง เอาจริง เอาจัง กล่าวว่า "หลายวันมาแล้ว ผีพึ่งปรากฏตัววันนี้เอง พ่อคิดจะจับและฆ่ามันเสีย ถ้าเจ้าจะร่วมมือกับพ่อด้วย ไปเอาไม้ถือ ของเจ้า มาเร็วๆ เข้าเถิด ไม่มีเวลา ที่จะรอ แม้นาทีเดียว เพราะมันอาจหนีไปเสีย" เด็กน้อย ตื่นมาก แต่ไม่มีเวลาคิด ไปเอาไม้ถือมาทันที พากันไปสู่ห้องนั้น เมื่อเข้าไป ก็ได้พบผี (ซึ่งเรารู้ดีว่า เป็นฝีมือของคนใช้ทำขึ้น และคอยเชิดมันในห้องมืดนั้น) สองคนพ่อลูกช่วยกันระดมตีผี ด้วยไม้ถือ และไม้พลอง จนมันล้มลง มีอาการของคนตาย พ่อลูกดีใจ คนในครอบครัวทั้งหลาย มีการรื่นเริง กินเลี้ยงกันในการปราบผี ได้สำเร็จ ฉลองวันชัย และเป็นวันแรก ที่เด็กนั้น กล้า เข้าไปในห้องนั้น โดยปราศจากความกลัวสืบไป นี่เราจะเห็นได้ว่า เพียงทำลายล้างผี ที่เด็กสร้างขึ้น ด้วยมันสมอง ของเขาเอง บิดาต้องสร้างผี ขึ้นตัวหนึ่งจริงๆ จึงทำลายได้สำเร็จ โดยอาศัยความฉลาด รู้เท่าทันการ รู้จักตัดต้นเหตุ คนโง่ กับคนฉลาด นั้น ผิดกันในส่วนที่ ระงับเหตุร้าย ลงไปจากทางปลาย หรือตัดรากเหง้า ขึ้นมาจากภายใต้ เสือย่อมกระโดด สวนทาง เสียงปืน เข้าไปหาผู้ยิง ในเมื่อรู้สึกว่า ตนถูกยิง แต่สุนัข ย่อมมัว ขบกัด ตรงปลายไม้ ที่มีผู้แหย่ ตนนั่นเอง หาคิดว่าต้นเหตุสำคัญ อยู่ที่ผู้แหย่ไม่

เมื่อเราพบจุดสำคัญว่า การตัดต้นเหตุเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนี้แล้ว เราก็ประจัญกันเข้ากับปัญหาว่า อะไรเล่า ที่เป็น ต้นเหต ุแห่ง ความกลัว ?

เมื่อเราคิดดูให้ดีแล้ว อาจตอบได้ว่า เท่าที่คนเราส่วนมาก จะคิดเห็นนั้น ความกลัวผี มีต้นเหตุมากมาย คือความไม่เข้าใจ ในสิ่งนั้นบ้าง การมีความกลัวติดตัวอยู่บ้าง ใจอ่อน เพราะเป็น โรคประสาทบ้าง อาฆาตจองเวร ไว้กับคน ไม่ชอบพอกันบ้าง รักตัวเอง ไม่อยากตายบ้าง เหล่านี้ ล้วนเป็น เหตุแห่งความกลัว มูลเหตุอันแท้จริง เป็นรวบยอด แห่งมูลเหตุทั้งหลาย คืออะไรนั้น ค่อนข้างยาก ที่จะตอบได้ เพราะเท่าที่เห็นกันนั้น เห็นว่า มันมีมูลมากมายเสียจริงๆ แต่แท้ที่จริงนั้น ความกลัวก็เป็นสิ่งที่ เกิดมาจาก มูลเหตุอันสำคัญอันเดียว เช่นเดียวกับ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด และ ความหลง เพราะว่า ความกลัว ก็เป็นพวกเดียวกันกับ ความหลง (โมหะ หรือเข้าใจผิด) มูลเหตุอันเดียวที่ว่านั้น ก็คือ อุปาทาน ความยึดถือต่อตัวเองว่า ฉันมี ฉันเป็น นั่นของฉัน นี่ของฉัน เป็นต้น อันเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัสมิมานะ (เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคย อธิบายไว้บ้างแล้ว ในเรื่อง "สุขกถา" ที่คณะธรรมทาน เคยพิมพ์โฆษณาแล้ว)

ความรู้สึก หรือ ยึดถืออยู่เอง ในภายในใจ ตามสัญชาตญาณนั้น มันคลอดสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ฉัน" ขึ้นมา และความรู้สึกนั้น ขยายตัวออกสืบไปว่า ฉันเป็นผู้ทำเช่นนั้น เช่นนี้ ฉันจะได้รับนั่น รับนี่ หรือเสียนั่น เสียนี่ ไป นั่นจะส่งเสริมฉัน เป็นมิตรของฉัน นี่จะตัดรอนฉัน ทำลายฉัน เป็นศัตรูของฉัน "ฉัน" สิ่งเดียวนี้ เป็นรากเหง้า ของความรัก โกรธ เกลียด กลัว หลงใหล อันจักทำลาย ความผาสุก และอิสรภาพ ของคนเรา ยิ่งไปกว่าที่ เพื่อนมนุษย์ด้วย กันทำแก่เรา มากกว่ามากหลายเท่า หลายส่วนนัก อุปาทาน ผูกมัดเรา ทำเข็ญให้เรา ยิ่งกว่าที่หากเราจะถูกแกล้งหาเรื่องจับจองจำในคุกในตะรางเสียอีก เพราะปรากฏว่า มันไม่เคยผ่อนผันให้เราเป็นอิสระ หรือพักผ่อน แม้ชั่วครู่ ชั่วยาม เมื่อมี "ฉัน" ขึ้นมาในสันดานแล้ว "ฉัน" ก็อยากนั่น อยากนี่ อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากไม่ให้ เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาดู ซ้ำอีกทีหนึ่งแล้ว จะเห็นว่า เต็มไปด้วย ความเห็นแก่ตนเอง หรือ "ฉัน" นั้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ "ฉัน" ไม่อยากเจ็บปวด ไม่อยากตาย หรือแหลก ละลายไปเสีย ฉัน จึงกลัวเจ็บกลัวตาย เป็นสัญชาตญาณ ของ "ฉัน" เมื่อกลัวตาย อย่างเดียว อยู่ภายในใจแล้ว ก็กลัวง่าย ไปทุกสิ่งที่เชื่อกันว่า มันจะทำให้ตาย หรือทำให้เจ็บป่วย ซึ่งเป็นน้องของ ตาย ทำให้ฉัน กลัวผี จะหักคอฉัน กินฉัน หลอกฉัน ขู่ฉัน กลัวเสือ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่า เป็นเพื่อนกันได้ และกลัว สัตว์อื่นๆ แม้แต่งูตัวนิดๆ กลัวที่มืด ซึ่งเป็นที่อาศัย ของสิ่ง น่ารังเกียจ เหล่านั้น กลัวที่เปลี่ยว ซึ่งไม่มี โอกาส ที่ตนจะ ต่อสู้ ป้องกันตัว ได้ กลัว คู่เวร จะลอบ ทำฉันให้ แตกดับ กลัวฉันจะ อับอาย ขายหน้า สักวันหนึ่ง เพราะฉัน มีความผิด ปกปิดไว้ บางอย่าง ฉันกลัว เพราะไม่เข้าใจว่า สิ่งนั้น จะเป็นอะไร ก็ไม่รู้ เช่น ผลไม้ดีๆ บางอย่าง แต่ไม่เคยรู้จัก มาก่อน ถ้ารูปร่าง หรือ สีมันชอบกลแล้ว ฉันก็กลัว ไม่กล้ากิน หรือแม้แต่ จะชิมก็ ขนลุก และในที่สุด เมื่อ "ฉัน" ปั่นป่วน ในปัญหา การอาชีพ หรือ ชื่อเสียง เป็นต้น ของฉัน กลัวว่า ฉันจะ เสื่อมเสีย อยู่เสมอ ฉันก็เป็นโรคใจอ่อน หรือโรคประสาท สะดุ้งง่าย ใจลอย ความยึดถือว่า ฉันเป็นฉัน เหล่านี้เป็น มูลเหต ุของความกลัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็กวาด ความสดใส ชุ่มชื่น เยือกเย็น ให้หมดเตียน ไปจากดวงจิตนั้น

เมื่อพบว่า ต้นเหตุ ของความกลัว คืออะไร ดังนี้แล้ว เราก็มาถึง ปัญหา ว่าจะตัดต้นเหตุนั้นได้อย่างไร เข้าอีกโดยลำดับ ในตอนนี้ เป็นการจำเป็น ที่เราจะต้องแบ่ง การกระทำ ออกเป็น สองชั้น ตาม ความสูงต่ำ แห่งปัญญา หรือความรู้ ของคนผู้เป็นเจ้าทุกข์ คือถ้าเขามีต้นทุนสูงพอ ที่จะทำลาย อุปาทาน ให้แหลกลงไปได้ ก็จะได้ ตรงเข้าทำลาย อุปาทาน ซึ่งเมื่อทำลายได้แล้ว ความทุกข์ ทุกชนิด จะพากันละลาย สาบสูญไปอย่างหมดจดด้วย นี้ประเภทหนึ่ง และอีกประเภทหนึ่ง คือ พยายาม เพียงบรรเทา ต้นเหตุ ให้เบาบาง ไปก่อน ได้แก่ การสะสาง มูลเหตุ นั้น ให้สะอาด หมดจด ยิ่งขึ้น

ประเภทแรก สำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติธรรมทางใจ ให้ก้าวหน้า สูงขึ้น ตามลำดับๆ จนกว่าจะหมดอุปาทาน ตามวิธี แห่ง การปฏิบัติธรรม อันเป็นเรื่องยาว อีกเรื่องหนึ่ง ผู้สำเร็จ ในประเภทนี้ คือ พระอรหันต์ จึงเป็นอันว่า จักงดวิธีนี้ไว้ก่อน เพราะไม่เป็นเรื่องที่สาธารณะแก่บุคคลทั่วไป และเป็นเรื่อง ที่เคยอธิบายกันไว้ อย่างมาก ต่างหากแล้ว

ส่วนประเภทหลัง นั้นคือ การพยายาม ประพฤติ ความดี ทั้งทางโลก และทางธรรม ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ จนตน ติเตียน ตนเองไม่ได้ ใครที่เป็นผู้รู้ แม้จะมีทิพยโสต หรือทิพยจักษุ มาค้นหา ความผิด เพื่อติเตียนก็ไม่ได้ เป็นผู้เชื่อถือ และเคารพตัวเองได้เต็มเปี่ยม ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน ไม่มีเวรภัย ที่ผูกกันไว้ กับใคร รู้กฏความจริงของโลก ศึกษาให้เข้าใจ ในหลักครองชีพ หาความ หนักแน่น มั่นใจให้แก่ตัวเอง ในหลักการครองชีพ และรักษา ชื่อเสียง หรือคุณความดี พยายาม ทำแต่สิ่งที่เป็น ธรรมด้วย ความหนักแน่น เยือกเย็น ไม่เปิด โอกาสให้ใคร เหยียดหยามได้ ก็จะไม่ต้องเป็น โรคใจอ่อน หรือ โรคประสาท เพราะมีความ แน่ใจตัวเอง เป็นเครื่องป้องกัน และสำเหนียก อยู่ในใจ เสมอว่า สิ่งทั้งปวงเป็น อนัตตา เป็นไปตามเรื่อง คือ เหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นของแปลก หรือได้เปรียบ เสียเปรียบ อะไรแก่กัน ในเรื่องนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความกลัว ก็หมดไป ใจได้ที่พึ่ง ทีเกษม ที่อุดม ยิ่งขึ้น สมตาม พระผู้มี พระภาคเจ้า ตรัสการเห็นแจ้ง อริยสัจ สี่ประการ ไว้ในรองลำดับ แห่งการถือ ที่พึ่งด้วยการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ อริยสัจ ก็คือการรู ้ เหตุผลของ ความทุกข์ และของความ พ้นทุกข์ ความกลัว ก็รวมอยู่ในพวกทุกข์ เห็นอริยสัจอย่างเพลา ก็คือ การเห็น และตัด ต้นเหตุแห่ง ความกลัว ประเภททีหลังนี้ เห็นอริยสัจ เต็มที่ถึงที่สุด ก็คือ พระอรหันต์ หรือการตัดต้นเหตุ ประเภทแรก ได้เด็ดขาด

ข้าพเจ้าขอจบ เรื่องนี้ลง ด้วย พระพุทธภาษิต ที่เราควร สำเหนียก ไว้ในใจ อยู่เสมอ อันจะเป็นดุจ เกราะ ป้องกันภัย จาก ความกลัว ได้อย่างดี ดังต่อไปนี้

"มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัว คุกคาม เอาแล้ว ย่อม ยึดถือเอา ภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง เป็นที่พึ่งของตนๆ นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง อันทำความ เกษม ให้ได้เลย นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ก็ยังไม่อาจ หลุดพ้น ไปจากความทุกข์ ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุ เครื่องให้เกิดทุกข์ เห็นการก้าวล่วงไปเสียได้จากทุกข์ และ เห็นหนทาง อันประกอบด้วยองค์แปดประการ อันประเสริฐ อันเป็นเครื่องยังผู้นั้น ให้เข้าถึง ความรำงับแห่งทุกข์ นั่นแหละ คือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นแหละ คือที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใด ถือเอา ที่พึ่ง นั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้ (ธ. ขุ. ๔๐)

ความโศก ย่อมเกิดแต่ความรัก ความกลัว ย่อมเกิดแต่ความรัก สำหรับผู้ที่พ้นแล้ว จากความรัก ย่อมไม่มีความโศก ความกลัว จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า

ความโศก ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้) ความกลัว ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (เพราะกลัวไม่สมอยาก) สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจาก ตัณหา ย่อมไม่มีความโศก ความกลัว จักมีมา แต่ที่ไหนเล่า (ธ. ขุ. ๔๓)

ขอให้ความกลัว หมดไปจากจิต ความสุข จงมีแต่ สรรพสัตว์ เทอญ.......... glare.gif


ทางเดิน

17 August 2006 - 12:30 PM

ทางเดินของชีวิต
ชีวิตคนเรานั้น แท้จริงคือ การเดินทางชนิดหนึ่ง ซึ่งเดินจาก ความเต็มไปด้วยความทุกข์ ไปยัง ที่สุดจบสิ้นของความทุกข์ ที่ตนเคยผ่านมาแล้ว นั่นเอง ไม่รู้ว่า ผู้นั้นจะ ทราบหรือไม่ทราบ รู้สึกหรือไม่รู้สึก ชีวิตก็ยังคงเป็น การเดินทาง เรื่อยอยู่นั่นเอง เมื่อเดินไป ทั้งไม่ทราบ ก็ย่อมมีความ ระหกระเหิน บอบช้ำเป็นธรรมดา

การเดินทางของชีวิตนี้ มิใช่เป็น การเดินทางด้วยเท้า ทางของชีวิต จึงมิใช่ ทางที่จะเดินได้ด้วยเท้า อีกเช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้พากันสนใจใน "ทางชีวิต" กันมากเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นทางของจิต อันจะวิวัฒน์ไปในทางสูง ซึ่งจะไปได้สูงกว่าทางวัตถุหรือทางกาย อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย

สิ่งที่เรียกกันว่า ทางๆ นั้น แม้จะมีสายเดียว ก็จริง ตามธรรมดา ต้องประกอบ อยู่ด้วย องค์คุณ หลายประการ เสมอ ทางเดินเท้า ทางไกล แรมเดือน สายหนึ่ง จะต้องประกอบด้วย สะพาน ร่มเงา ที่พักอาศัย ระหว่างทาง การอารักขา คุ้มครองในระหว่างทาง การหาอาหาร ได้เสมอไป ในระหว่างทาง ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ฉันใด ทางชีวิต แม้จะสายเดียว ดิ่งไปสู่ ความพ้นทุกข์ ก็จริง แต่ก็ต้อง ประกอบไปด้วย องค์คุณ หลายประการ ฉันนั้น

ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

ปรัชญา เป็นองค์คุณ ที่ช่วยให้เกิด อุดมคติ อันมีกำลังแรง ในการที่จะ กระตุ้น ให้ปฏิบัติ ตามศาสนา หรือ หน้าที่อื่นๆ ทำให้เกิด ความเชื่อ ความเพียร และคุณธรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวกำลังสำคัญ ด้วยกันทั้งนั้น อย่างมากพอ ที่จะไม่เกิด การท้อถอย หรือ โลเล หรือ หันหลังกลับ โดยสรุปก็คือ ช่วยให้มีความเป็น นักปราชญ์ หรือ มีปัญญา เครื่องดำเนินตน ไปจนลุถึง ปลายทางที่ตนประสงค์

วิทยาศาสตร์ ช่วยให้เป็น ผู้รู้จักเหตุผล ให้รู้จัก ใช้เหตุผล และให้อยู่ในอำนาจ แห่งเหตุผล เพื่อให้ชีวิตนี้ ไม่หลับหู หลับตา เดินไปอย่าง โง่เง่า งมงาย ซึ่งจะทำให้ เดินไม่ถึง หรือถึงช้า และไม่ได้รับผลเป็นที่พอใจ

ศิลปะ โดยเฉพาะก็คือ ศิลปะแห่งการครองชีวิต หรือ การบังคับตัวเองได้ ช่วยให้ชีวิตนี้ ดูแจ่มใส งดงาม น่าชื่นใจ น่ารักใคร่ นำมา ซึ่งความ เพลิดเพลิน ในการก้าวหน้า ไปด้วยความรู้ และการกระทำที่ดูงาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

ภูมิธรรม คือ ธรรมสมบัติ หรือ ความดี ความจริง ความยุติธรรม ที่ประกอบ อยู่ที่เนื้อที่ตัว ช่วยเหลือ ให้เกิด บุคลิกลักษณะ อันนำมา ซึ่งความเลื่อมใส ความไว้วางใจ ความน่าคบหา สมาคมจาก ชีวิตรอบข้าง ทำให้ชีวิตนั้น ตั้งอยู่ ในฐานะเป็น ปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยว ของชีวิต ทั้งหลาย

ความรู้ ช่วยให้มีความสามารถ ในการที่จะใช้ความคิด และการวินิจฉัย สิ่งต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ในการตัดสินใจ การค้นคว้าทดลอง การแก้ไข อุปสรรค และอื่นๆ ในอันที่จะให้เกิด ผลในการครองชีพ การสมาคม และอื่นๆ ที่จำเป็นทุกประการ โดยสมบูรณ์

สติปัญญา ช่วยให้เกิดสมรรถภาพ หรือ ปฏิภาณ ในการดำเนินงานของชีวิต ให้สำเร็จ ลุล่วงไปได้ ตามแนว ของความรู้ ทำให้ งานของชีวิต ทุกชนิด ทุกระดับ ดำเนินไป ได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัย โดยประการทั้งปวง

อนามัย ช่วยให้มีกำลังกาย อันเป็น บาทฐาน แห่งกำลังใจ มีความแคล่วคล่อง ว่องไว อาจหาญ ร่าเริง สะดวกกาย สบายใจ ในการ เป็นอยู่ของตน ทำกายนี้ ให้เป็นเหมือน ม้าที่เจ้าของเลี้ยงดู อย่างถูกต้อง ที่สุดแล้ว สามารถเป็นพาหนะ นำเจ้าของ ไปสู่ที่มุ่งหมายได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

องค์คุณ ๘ ประการนี้ กำลังรวมกันเป็น ทางสายเดียว ของข้าพเจ้า ช่วยให้ชีวิตของข้าพเจ้า ดำเนินไปได้ อย่างเป็นที่ พอใจมาก จนถึงกับ นึกอยากจะยืนยัน แก่เพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายว่า จงลอง เดินทางสายนี้ อันประกอบด้วย องค์คุณ ๘ อย่างนี้ ดูบ้างเถิด ผลในโลกนี้ ก็คือ ทรัพย์ ชื่อเสียง และมิตรภาพ ก็ตาม ผลในโลกหน้า คือ สุคติก็ตาม และผลอันสูงสุด พันจากโลกทั้งปวง คือ นิพพาน ก็ตาม จักเป็นที่หวังได้ ครบถ้วน โดยไม่ต้องสงสัยเลย

องค์คุณทั้ง ๘ นี้ ต้องมีครบถ้วน พอเหมาะส่วน และเข้ากันสนิท พร้อมที่จะ ส่งเสริม ซึ่งกันและกัน อยู่ตลอดเวลา จึงจะสำเร็จเป็นตัวทาง และ เป็นการเดินทาง ในตัวมันเอง อยู่แล้วทุกขณะ ไม่มีการถอยหลัง

โลกทุกวันนี้ มีอะไรๆ มากเกินไป ในทางที่จะผูกพันชีวิตนี้ ให้ตกอยู่ ภายใต้อำนาจ ของสิ่งที่บีบคั้น เผาลน เผลอไปเพียงนิดเดียว ก็จักลื่นไถล ลงไปในกองเพลิง ชนิดที่ยาก ที่จะถอนตัว ออกมาได้ และถึงกับตาย อยู่ในกองเพลิงนั้น เป็นที่สุด เพราะเหตุนั้น จึงเป็นการสมควร หรือจำเป็น สำหรับชีวิตทุกชีวิต ที่จะต้องแสวงหาทาง และมีทางของตน อันถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อก้าวหน้า ไปสู่ความสะอาด หมดจด สว่างไสว และ สงบเย็น สมตาม ความปรารถนา ไม่เสียที ที่ได้เวียนมา ในเกลียว แห่งวัฎสงสาร จนกระทั่งมามีชีวิต ในวันนี้ กะเขา ด้วยชีวิตหนึ่ง

โลกทุกวันนี้ มากไปด้วย ขวากหนาม อันเป็นอันตรายมาก ยิ่งขึ้นเพียงใด ชีวิตนี้ ก็ยิ่งต้องเพียบพร้อม ไปด้วยคุณธรรม และสมรรถภาพ อันจะเป็น เครื่องป้องกัน และแก้ไข อันตรายนั้นๆ มากขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด เขาจะต้องมี หนทาง อันประกอบไปด้วย องค์แปดประการ ดังกล่าว ทางไปของชีวิต ในด้านจิต หรือ วิญญาณ ของเขาผู้นั้น จึงจะก้าวไปด้วยดี คู่กันไปได้ กับการก้าวหน้า ในทางวัตถุ หรือทางกาย ของโลกแห่งสมัยนี้ อันกำลังก้าวไป อย่างมากมาย จนเกินพอดี หรือผิดส่วน ไม่สมประกอบ จนทำให้โลก ระส่ำระสาย เป็นประจำวัน อยู่แล้ว

ทางชีวิตแห่งสมัยนี้โลดโผน โยกโคลง ขรุขระ ขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งกว่า สมัยเก่าก่อน เกินกว่าที่จะ ดำเนินไปได้ง่ายๆ โดยการใช้วิธีการ ที่ง่ายๆ สั้นๆ เหมือนที่แล้วมา นับว่าเป็นโชคดี ของพุทธบริษัท ที่เรามี พระพุทธศาสนา อันแสนประเสริฐ ของเรา ซึ่งอาจจะอำนวย สิ่งต่างๆ อันเป็น องค์คุณ ๘ ประการนั้น ให้แก่เราได้ อย่างครบถ้วน พุทธศาสนาของเรา มีเหลี่ยมพราย อันสมบูรณ์ แล้วแต่เรา จะเพ่งดูกัน ในเหลี่ยมไหน ก็มีให้ดู เป็นให้ได้ ครบทุกอย่าง ทุกเหลี่ยม

พุทธศาสนา ในฐานะที่ เป็นทั้งศาสนา เป็นทั้งปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็น ศิลปะแห่งการครองชีวิต เป็นภูมิธรรม ที่พึงประสงค์ ของมนุษยชาติ เป็นความรู้ที่ครบถ้วน เป็นสติปัญญา ที่คล่องแคล่ว และเป็นอนามัย ทั้งทางกาย และทางจิต เหล่านี้แต่ละเหลี่ยมๆ นั้น เอง นับเป็น องค์คุณ ครบทั้ง ๘ ประการ ที่รวมกันเข้า เป็นตัวทาง และเป็นการเดินทาง พร้อมกันไปในตัว ดังที่กล่าวแล้ว

ข้าพเจ้าขอชักชวน เพื่อนร่วม การเกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหลาย ให้สนใจ ในทางอันเอก อันเป็นทาง ดิ่งไปสู่ความสิ้นทุกข์ ของบุคคลผู้เดียว แต่ละคนๆ ทางนี้ ข้าพเจ้า ขอชักชวน ให้พร้อมใจกัน ต่อสู้ โดยทุกวิถีทาง เพื่อให้ทางๆ นี้ยังคงเปิดเผย ปรากฏอยู่ เป็นทางเดิน ของสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้า ขอชักชวน มิตรสหาย ทั้งหลาย ให้ สละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อป้องกันหนทาง อันนี้เอาไว้ ให้ยังคงอยู่ เป็นทางรอดของตน และของเพื่อนสัตว์ ทั้งหลาย ตลอดกาล อันไม่มีที่สิ้นสุด ในนามแห่ง พระพุทธองค์ ผู้ทรงประกาศ ความจริงสากล แก่มนุษย์ชาติ ทั้งมวล.


คำสอนของแม่..

12 August 2006 - 05:59 PM

1..อย่าโกรธทำใจให้กว้าง
2..เมื่อเราลำบากแค่ไหนก็อย่าฟุ้งซ่าน.ให้นิ่งแล้วค่อยๆคิด
3..ชีวิต.ถ้าไม่สมหวัง.ก็ไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็น.คนอื่นๆ.ก็ไม่สมหวัง
4..เลี้ยงลูกน้อง.ไม่ใช่ฟุ้งเฟ้อแต่อย่าให้อาหารเลว
5..ทำงานอะไรก็ได้.แต่อย่าขายศักดิ์ศรีขิงตนเอง
6..ต้องรู้จัก
7..อย่าทำตัวโทรมแต่ให้สวยอยู่ใยความพอดี
8..เห็นผู้ใหญ่ให้นอบน้อมและไหว้ทุกครั้งอย่ามือแข็ง
9..ถ้าเงินได้มามากๆก็ให้เก็บบางส่วน.ใช้บงส่วน.ทำบุญบางส่วน
10..อย่าดูถูกความคิดใครแม้แต่เด็ก.บางครั้งเราอาจจะได่ความคิดดีๆก็ได้
11..อย่าลืมผู้มีพระคุณต้องรู้จักกตัญญู
12..ถ้าเราจนเราต้องอดทนมุมานะบากบั่นจำเอาไว้ว่าไม่มีใครจุดไฟส่องท้องว่าเรากินอะไร.ในท้องเรา
มีอะไรไม่มีใครรู้.ไม่ต้องเสียใจอดทนและพยายามให้ถึงที่สุดแล้วจะประสบความสำเร็จสักวัน
13..คาบดีเอาไว้ในฝัก.ถ้าเรามีดีอยู่ในตัว.อย่าเที่ยวอวดตัวเองว่าตัวเองีกว่าคนอื่นๆ.แต่ถ้าเราโดนดูถูกเหยียดหยาม
ถึงเวลาจริงๆจึงจะพูดได้ว่าตัวเองมีดีอะไร.เวลาดึงดาบออกมาทั้งที.ก็แวววาวและคมกริบเสมอ
14..ดี-ชั่วอยู่ที่ตัวเองใครจะประฌามหยามเหยียดก็ช่างถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น.อย่าไปใส่ใจให้เขาพูดจนปากฉีกถึงหูไปเลย
15..อย่าบ้าเงิน ถ้าเรามีเงินมากๆอย่าบ้ากับมัน อย่าให้เงินมาอยู่เหนือนเรา อย่าเปลี่ยนตัวเองต้องทำตัวเหมือนเดิม
อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง หรือดีกว่าคนอื่นๆให้เจียมตัว อ่อนน้อมถ่อมตนไว้เสมออย่าให้เงินมันมาใหญ่กว่าใจเรา
16..เมื่อมีเรื่องอะไรที่สำคัญต้องปรึกษาพ่อก่อน ต้องถามพ่อทุกครั้ง ถ้าพ่ออนุญาติแม่ก็อนุญาติด้วย
17..การทำอาหารต้องเข้าใจทำ และใส่ใจทำอาหาร ต้องทำด้วยใจถึงจะอร่อย..แกงแน้อใส่น้ำเยอะๆ.แกงผักใส่น้ำน้อยๆ
18..ถ้าเราทำธุรกิจผิดพลาดก็ไม่เป็นไรคิดใหม่ ทำใหม่ได้เสมออย่าโทษตัวเอง และต่อไปต้องคิดให้รอบครอบกว่านี้
เงินหายากนะลูก
19..จงซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
20..ลูดค้าคือผู้มีพระคุณเขาเอาเงินมาให้เรา ต้องพูดกับเขาดีๆทุกครั้ง
21..ปันคนอื่นฉลาดบ้างให้เคารพคนอื่นด้วย เขาอาจจะเห็นต่างกับเรา
22..ควรกล้าในสิ่งที่ควรกล้าให้กล้าในสิ่งที่ทำดี
23..ความในอย่านำออก ควมนอกอย่านำเข้า
24..ทำดีอยู่ป็นนิจความดีจะปกป้องตัวเรา
แม่มอบชีวิตให้ แนะแนวทางให้ก้าวเดินผมจะไม่ทำให้แม่ผิดหวังผมจะทำให้แท่ภูมิใจในตัวผม เป็นบุญวาสนาของผม ที่ได้เกิดมาเป้นลูกของ ..แม่..





ขาดแม่เหมือน(แพแตก)

12 August 2006 - 05:15 PM

cry_smile.gif คำว่าพ่อคำนี้ไม่มีค่า..ไม่เห็นหน้าไม่เห็นใจไม่คิดถึง..พ่อทิ้งไปไม่มาหายังตราตรึง..แล้วจะซึ้งพ่อทำไมไม่ใยดี
ใกล้วันพ่อก็เหมือนกับวันเก่า..วันที่เราแม่ลูกมีสุขศรี..อยู่สองคนไม่ต้องทนใครราวี..พ่อไม่มีไม่เป็นไรไม่ง้อเลย
QUOTE
ผมไม่มีพ่อมานานแล้วครับ
ผมไม่มีพ่อเพราะพ่อที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อทิ้งผมไปอย่างไม่ใยดี..ไม่เคยเหลียวกลับมาดูผมเลย
เปล่า..ผมไม่ได้คิดถึงพ่อ
ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย
ตรงกันข้าม.ผมอยากจะบอกว่าผมกับแม่..เราอยู่กันสบายดี
..มีหลายคนพูดให้ผมได้ยินว่า..พ่อผมเลวยิ่งกว่าหมา..เพราะว่าหมามันยังเลี้ยงลูกและมันยังรักลูกของมัน.แต่สำหรับพ่อผม
ไม่เลี้ยงลูก.ไม่รักลูกคิดเอาเองก็แล้วกันส่วนตัวผมไม่ได้คิดอะไรหรอก.เพราะผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อขนาดนั้น
พ่อทิ้งผมไป..ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร..เพราะว่าผมมีแม่ที่ประเสริฐและสมบูรณ์แบบนี้...แม่รักผมมาก...
แม่ดูแลผมอย่างดี.ผมมีทุกสิ่งทุกอย่าง.อย่างที่คนมีพ่อพึงมี.อาจจะมีมากกว่าสียด้วยซ้ำไป.
..ชีวิตผมมีความสุขมาก..แม่ไม่ได้แต่งงานใหม่ทั้งที่แม่เป็นนสวยมากมีคนมาติดพันแม่อยู่เสมอ
..แม่บอกว่าไม่ได้อ่ลัยอาวรณ์ในตัวพ่อเลยสักนิด..ลืมไปหมดด้วยซ้ำแต่ที่แม่ไม่แต่งงานใหม่..เพราะแม่เข็ดต่างหาก
..แม่เข็ดผู้ชายอย่างพ่อมากและกลัวคนที่จะไม่เอาไหนเหมือนพ่ออีกจึงเลือกที่จะอยู่ลำพังกับผม..แม่บอกว่าคิดไม่ผิดเลยที่เลือกทางชีวิตแบบนี้..เพราะชีวิตในปัจจุบันนี้แมความสุขมากแม่ดูสาวสวยกว่าตอนที่อยู่กับพ่อมาก
....ผมภูมิใจในตัวแม่ที่สุด..ทุกวันนี้ผมยังพกรูปแม่ติดกระเป๋าเอาไว้อวดเพื่อนๆและคุณครูดวยครับครูผมยังชมว่าแม่สวยทุกคนเลย
ผมจึงอยากบอกคนที่ไม่มีพ่อทุกๆคนว่า ถึงแม้ไม่มีพ่อ ก็ไม่เป็นไรหรอก..เพราะขาดพ่อ..แค่เหมือนถ่อหักไม่ตายหรอก..แต่ขาดแม่สิ เหมือนแพแตกอาจจะตายได้นะ........(ขอบคุณครับ)........... smile.gif

จงทำกับเพื่อนมนุษย์...โดยคิดว่า

02 August 2006 - 01:27 PM

เขาเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บตาย ของเรา
เขาเป็นเพื่อน เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารด้วยกันกะเรา
เขาก็ตกอยู๋ใต้ อำนาจกิเลส เหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอไปบ้าง
เขาก็มี ราคะ โทสะ โมหะ ไม่น้อยไปกับเรา
เขาย่อมพลั้งเผลอ บางคราวเหมือนเรา
เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เหมือนเรา ไม่รู้จัก นิพพานเหมือนเรา
เขาโง่ในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยโง่.
เขาก็ตามใจตัวเองในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยกระทำ.
เขาก็อยากดี เหมือนเรา ที่อยาก ดี-เด่น-ดัง.
เขาก็มักจะกอบโกย และ เอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา.
เขามีสิทธิ ที่จะบ้า ดี-เมาดี-หลงดี-จมดี เหมือนเรา.
เขาเป็นคนธรรมดา ที่ยึดมั่น ถือมั่น อะไรต่างๆเหมือนเรา.
เขาไม่มี หน้ที่ ที่จะเป็นทุกข์ หรือตายแทนเรา.
เขาเป็น เพื่อน ร่วมชาติ ร่วมศาสนา กะเรา.
เขาก็ทำอะไร ด้วย ความคิดชั่วแล่น และ ผลุนผลัน เหมือนเรา.
เขามีหน้าที่ รับผิดชอบ ต่อครอบครัวของเขา มิใช่ของเรา.
เขามีสิทธื ที่จะมีรสนิยม ตามพอใจของเขา.
เขามีสิทธิ ที่จะเลือก(แม้ศาสนา) ตามพอใจของเขา.
เขามีสิทธิ ที่จะใช้ สมบัติ สาธารณะ เท่ากันกับเรา.
เขามีสิทธิ ที่จะเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้า เท่ากับเรา.
เขามีสิทธิ ที่จะขอความช่วยเหลือ เห็นอกเห็นใจ จากเรา.
เขามีสิทธิ ที่จะได้รับอภัย จากเรา ตามควรแก่กรณี.
เขามีสิทธิ ที่จะมีรสนิยม หรือ เสรีนิยม ตามใจเขา
เขามีสิทธิ ที่จะเห็นแก่ตัว ก่อนเห็นแก่ผู้อื่น.
เขามีสิทธิ แห่งมนุษย์ชน เท่ากันกับเรา สำหรับจะอยู่ในโลก.
ถ้าเราคิดอย่างนี้ จะมีการ ขัดแย้งใดๆเกิดขึ้น....... laugh.gif