
แน่นอนครับเขาจบปริญญาเอก แต่ในต่างประเทศนั้นโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง UCLA ถ้าใครเป็นศาสตราจารย์แล้วก็จะไม่เรียกว่า "ศาสตราจารย์ ดร." เหมือนในประเทศไทย เพราะคำว่า "ศาสตราจารย์" นั้นสูงกว่า "ดอกเตอร์" มาก (จนคำว่า "ดอกเตอร์" นั้นแทบไม่มีความหมายอะไรเลย). ส่วนอายุของเขาตอนจบดอกเตอร์ก็คือ 20 ปี ครับ. และเป็นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Princeton เสียด้วย.
และถ้ามองย้อนกลับไปอีก เขาผู้นี้สร้างชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี ด้วยการเป็นผู้เข้าร่วมแข่งขัน "คณิตศาสตร์โอลิมปิก" ที่อายุน้อยที่สุด (คู่แข่งส่วนมากอายุ 17 ปี). การแข่งขันครั้งนั้นเขาชนะได้เหรียญทองแดงด้วย. ในการแข่งขันอีก 2 ครั้งต่อมา ด้วยวัยเพียง 13 ปี เขาก็สามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ และเป็นเหรียญทองที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการจัดการแข่งขัน. ตั้งแต่นั้น Terence Tao ใช้เวลาอีก 18 ปี สร้างผลงานในหลากหลายสาขาคณิตศาสตร์ ได้รับรางวัลมากมาย จนกระทั่งในปีที่ผ่านมานี้เอง (2549) เขาก็ได้รับรางวัลสูงสุดทางคณิตศาสตร์ คือ Fields Medal ซึ่งถือว่าเป็นรางวัล Nobel in Mathematics. และในปีนี้ (2550) เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชบัณฑิต" แห่งอังกฤษ (Fellow of Royal Society หรือย่อว่า FRS) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ศาสตราจารย์ในประเทศอังกฤษแทบทุกคนใฝ่ฝันที่จะได้เป็น.
บทสัมภาษณ์ Terence Tao ตอนหนึ่งน่าสนใจมากครับ และถ้าคุณได้ฟัง "ฝันในฝัน" เป็นประจำคุณคงจะมีคำอธิบายดีๆ ให้กับเขาด้วย. เขาบอกว่า
"ตัวผมเองไม่มีพรสวรรค์อะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ทุกครั้งที่ผมมองดูโจทย์ปัญหา ผมมีความรู้สึกว่าผมเคยทำมันมาก่อนเมื่อนานมามากแล้ว และหลังจากนั้นผมก็ใช้เวลาอีกนิดหน่อยก็นึกออกว่าต้องแก้ปัญหานี้ยังไง"
ขณะนี้นักคณิตศาสตร์หลายคนทั่วโลกอยากให้ Terence Tao สนใจเรื่องที่พวกเขาทำอยู่ เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหา. ศาสตราจารย์ Fefferman (Fields Medalist ปี 2521) บอกว่า "ถ้าคุณติดปัญหาอะไร ทางออกทางหนึ่งคือทำให้ Terence Tao สนใจให้ได้"