ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
* * * * * 1 คะแนน

ความสุขสามอย่าง


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 8 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 วัดในดวงใจ

วัดในดวงใจ
  • Members
  • 1199 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 06:51 AM

ความสุข 3 อย่าง




คนเราในสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่ ได้ใช้ชีวิตไปตามวิถีทางซึ่งตนกำหนดขึ้นเอง โดยไม่ได้ศึกษาเลยว่า ทางที่เดินนั้นถูกต้องสมควรแล้วหรือยัง คนชั่วทั้งหลายย่อมใช้ชีวิตไปตามความพอใจของตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ส่วนคนดีในสมัยนี้ก็ได้แต่ทำในสิ่งที่ตนคิดว่าดี โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เมื่อไม่ศึกษาให้เข้าใจถึงความดีที่แท้จริง จะรู้จักความดีได้อย่างไร เมื่อไม่รู้จักความดี จะกล่าวว่าตนเองทำดีได้อย่างไร ก็สิ่งที่เขาคิดว่าดี ที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นความชั่วก็ได้ เขาเหล่านั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท ส่วนผู้ไม่ประมาทย่อมศึกษาเสียก่อนว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็เลือกทำความดีตามที่ตั้งใจเอาไว้ อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง
ในเรื่องของความสุขก็เช่นกัน ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมต้องการความสุขด้วยกันทั้งสิ้น แต่การไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งความสุขนั้น แตกต่างกันออกไป ถ้าท่านต้องการความสุขท่านจะทำอย่างไร ทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นความสุขเลยทันที หรือจะศึกษาถึงเหตุที่ทำให้เกิดความสุขเสียก่อน แล้วจึงสร้างเหตุให้เกิดความสุขตามที่ใจปรารถนาในภายหลัง ผู้ที่มีความประมาท ไม่ศึกษาให้รู้ถึงแก่นแท้ของความสุขเสียก่อน เมื่อแสวงหาความสุข ย่อมหลงทางได้ง่าย เหมือนกับการหาขุมทรัพย์โดยไม่มีลายแทงอย่างนั้นแหละ
ในเรื่องของความสุข 3 อย่าง เป็นการกล่าวถึงธรรมชาติของความสุขในชีวิต ว่าไม่ได้มีอยู่เพียงอย่างเดียวดังเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ความสุขในโลกนี้มีถึง 3 อย่าง ในการปฏิบัติธรรมของผม ได้พบเห็นธรรมชาติของความสุขทั้งสามนี้ ว่ามีเหตุเกิดจากอะไร และมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร จึงได้เขียนลงในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องของความสุขที่แท้จริง
ความสุข เป็นสภาพธรรมชาติที่เป็นคู่ปรับ หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับความทุกข์ ขณะใดที่มีความสุขมาก็อาจกล่าวได้ว่า มีความทุกข์น้อย ขณะใดที่มีความสุขน้อยก็อาจกล่าวได้ว่า มีความทุกข์มาก ความทุกข์ หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก หรือสภาพที่ไม่น่าพอใจ ความสุข หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ได้ง่าย หรือสภาพที่น่าพอใจ ความสุขของคนเราแบ่งออกได้เป็น 3 อย่างคือ

1. ความสุขในกาม
คำว่า กาม หมายถึง ความใคร่ อันได้แก่ความใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่น ขณะที่เราเห็นรูปสวย ๆ แล้วเกิดความพอใจ เรียกว่าเสพกาม ขณะนั้นเราได้รับอารมณ์ที่พอใจ เรียกว่ามีความสุขในการเห็น จัดเป็นความสุขในกาม ขณะที่เราได้ยินเสียงเพลงไพเราะแล้วเกิดความพอใจ เรียกว่าเสพกาม ขณะนั้นเรามีความสุขอยู่กับการฟังเพลง จัดเป็นความสุขในกาม
เรื่องของความสุขในกามนี้ มีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลหรือฝ่ายบุญ และฝ่ายที่เป็นอกุศลหรือฝ่ายบาป บุญ ก็คือกรรมที่การกระทำที่ส่งผลให้มีความสุขหรือทำให้ได้รับความสบายในอนาคต ส่วน บาป หมายถึงกรรมหรือการกระทำที่ส่งผลให้เกิดทุกข์หรือทำให้ได้รับความลำบากในอนาคต

ความสุขในการฝ่ายบุญ
ความสุขในกามที่เป็นบุญได้แก่ ความรู้สึกยินดี โดยไม่มีกิเลสเจือปน เช่น ขณะที่เราฟังธรรม มีความยินดี ได้ชื่อว่าเสพกามฝ่ายกุศล เป็นบุญ ปัจจุบันย่อมมีความสุข และยังจะส่งผลให้สบายหรือมีความสุขในอนาคต เช่น จะเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจธรรมะได้ง่ายในอนาคต วันดีคืนดีนึกอยากฟังธรรมขึ้นมา ก็ไม่รู้สึกหงุดหงิด ไม่รู้สึกทุรนทุราย เมื่อได้ฟังธรรมอีกก็มีความสุขอีก แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็ไม่ได้กลุ้มใจหงุดหงิดแต่อย่างใด
ขณะที่เราตักบาตร มีความยินดี มีความพอใจ ได้ชื่อว่าเสพกามฝ่ายกุศล เป็นบุญ ปัจจุบันก็มีความสุขและยังส่งผลให้สบายในอนาคตอีกด้วย เช่น จะเป็นผู้ไม่ขัดสนในทรัพย์ วันดีคืนดีนึกอยากจะตักบาตรขึ้นมา ก็ไม่กลุ้มใจ ไม่ทุรนทุราย เมื่อได้ตักบาตรอีกก็มีความสุขอีก แต่ถ้าไม่ได้ตักบาตรก็ไม่ได้กลุ้มใจหงุดหงิดแต่ อย่างใด

ความสุขในกามฝ่ายบาป
ความสุขในกามที่เป็นบาป ก็ได้แก่การที่จิตมีโลภะ เช่น ขณะตกปลา ปลาติดเบ็ดเกิดความพอใจ ได้ชื่อว่าเสพกาม ฝ่ายอกุศล คือ จิตมีความโลภ เป็นบาป ปัจจุบันเขาย่อมมีความสุข แต่บาปนี้จะส่งผลให้เขาลำบากในอนาคต เช่น ถูกประทุษร้ายหรือได้รับอุบัติเหตุในอนาคต วันดีคืนดีนึกอยากจะตกปลาอีก ขณะนั้นย่อมมีความไม่สบายใจ จิตย่อมทุรนทุราย มีความทุกข์ หาทางที่จะให้ได้ตกปลาอีก เรียกว่ามีตัณหาเกิดขึ้น ถ้าได้สนองตัณหา คือได้ตกปลาสมอยาก ความทุรนทุรายก็หมดไป แต่ถ้ามีอุปสรรคเป็นเหตุให้ไม่ได้ตกปลา จิตก็จะมีความหงุดหงิดเศร้าหมองเกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะเหตุนี้จึงกล่าวว่า โลภะคือความพอใจส่งผลให้มีสุขในปัจจุบัน แต่ส่งผลให้ลำบากหรือเป็นทุกข์ในอนาคต
ขณะที่เราฟังเพลงไพเราะแล้วเกิดความพอใจในเสียงเพลงนั้น ได้ชื่อว่าเสพกามฝ่ายอกุศล คือจิตมีโลภะ เป็นบาป ในปัจจุบันย่อมมีความสุข แต่จะส่งผลให้ลำบากในอนาคต เช่นวันดีคืนดีนึกอยากจะฟังเพลงอีก จิตย่อมทุรนทุรายไม่เป็นสุข เพราะมีตัณหาคือความปรารถนาที่จะได้ฟังเพลงเกิดขึ้น ขณะนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นทุกข์แล้ว ต่อเมื่อได้ฟังเพลงสมอยาก ความทุรนทุรายก็หมดไป กลับมีความสุขในการฟังเพลงอีกเพราะได้สนองตัณหา แต่ถ้าไม่สามารถหาเพลงฟังได้ จิตก็จะเร่าร้อนหงุดหงิดทุรนทุราย เกิดความไม่พอใจ เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากการที่จิตมีโลภะนั้นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของกรรมที่ทำ เช่น การมีความสุขอยู่กับการตกปลา ย่อมส่งผลให้ลำบากกว่าการมีความสุขอยู่กับการฟังเพลง การเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง เป็นเพียงการประพฤติผิดทางใจเท่านั้น ไม่ได้แสดงออกทางกายให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่การตกปลาเป็นการประพฤติทั้งทางใจและทางกาย เป็นการเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก จึงมีผลมากกว่า

ความทุกข์ในกาม
การเสพกาม นอกจากจะมีลักษณะที่เป็นสุขในปัจจุบันแล้ว ยังมีลักษณะที่เป็นทุกข์ในปัจจุบันอีกด้วย การเสพกามที่เป็นทุกข์ก็ได้แก่ การที่จิตมีโทสะ เช่น ขณะถูกด่า รู้สึกโกรธ ได้ชื่อว่าเสพกามฝ่ายอกุศล คือ จิตมีโทสะเป็นบาป ในปัจจุบันย่อมมีความทุกข์ใจ และยังจะส่งผลให้ลำบากหรือเป็นทุกข์ในอนาคตอีก เช่น วันดีคืนดีนึกถึงคนที่ด่าเรา ก็รู้สึกโกรธไม่พอใจอีก หรือเดินไปเจอหน้าคนที่ด่าเรา ก็รู้สึกโกรธขึ้นมาอีก กรรมที่เราทำในลักษณะนี้ ส่งผลให้ลำบากน้อย เพราะเป็นการประพฤติผิดทางใจ แต่ถ้าเราถูกด่า รู้สึกโกรธแล้วไปทำร้ายตอบ ก็จะเป็นกรรที่ส่งผลให้ลำบากมากกว่า เช่น อาจจะถูกทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุ ในอนาคตข้างหน้า
จะเห็นว่าการเสพกามนี้ มีทั้งฝ่ายที่เป็นบุญและบาป ฝ่ายที่เป็นบุญให้ความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนฝ่ายที่เป็นบาป มีทั้งที่ให้ความสุขในปัจจุบัน แต่เป็นทุกข์ในอนาคต และที่ให้ความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ผู้ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการเสพกาม ย่อมหาความสุขในชีวิตได้ยาก เพราะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุขขึ้น คือความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับสุขเวทนาเท่านั้น เช่นเมื่อได้เห็นภาพดี ๆ ได้ยินเสียงดี ๆ ได้รับรสอาหารดี ๆ จึงจะมีความสุขเกิดขึ้น ความสุขในกามนี้จัดเป็นความสุขระดับต่ำ ผู้ใฝ่หาความสุขในกาม ถ้าทำกรรมดีหรือทำบุญเสมอ ๆ เมื่อตายไป ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ ได้แก่ เป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าทำกรรมชั่วหรือทำบาปเสมอ ๆ เมื่อตายไป ก็จะเกิดในทุคติภูมิ ได้แก่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นก หรือเปรต

2. ความสุขในฌาน
คำว่า ฌาน หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เช่น อารมณ์สงบ ปีติสุข อารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นก็เฉพาะกับคนที่ฝึกสมาธิได้ผลแล้วเท่านั้น บุคคลใดก็ตามที่ทำจิตให้สงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้ ละความฟุ้งซ่าน ละความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้ ก็จะมีอารมณ์ฌานเกดขึ้นกับบุคคลนั้น ในตอนแรกอาจจะรู้สึกว่าจิตสงบ รู้ชัดในอารมณ์ที่กำหนด มีความสบายใจเกิดขึ้น ต่อมาอาจจะมีปีติคือความอิ่มใจเกิดขึ้น ต่อมาอาจจะมีสุขคือความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งเกิดขึ้น ต่อมาอาจจะมีจิตผ่องใส เป็นอิสระจากกิเลส อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสำหรับผู้ทำสมาธิ เรียกว่า ความสุขในฌาน อารมณ์ฌานนี้เป็นฝ่ายกุศล เป็นบุญ ส่งผลให้เกิดความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ที่ทำฌานให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ ย่อมเป็นคนที่จิตใจมั่นคง อารมณ์ดีเยือกเย็น มีความสบายใจอยู่เสมอ
ผู้ที่ใช้ชีวิตสวนใหญ่อยู่กับสมาธิ อยู่กับฌาน ย่อมหาความสุขได้ง่าย เพราะความสุขในฌานเกิดขึ้นจากภายในไม่อาศัยเวทนาจากภายนอก คือไม่ว่าภายนอกจะมีความสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าขณะนั้นเขาสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ ความสุขในฌานก็จะเกิดขึ้นเสมอ ความสุขในกามกับความสุขในฌาน มีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ผู้ที่ปรารถนาจะมีความสุขในฌาน จะต้องละความสุขในกามเสียก่อน แล้วทำสมาธิให้จิตสงบ ความสุขในฌานจึงจะเกิดขึ้น ความสุขในฌานนี้จะดีกว่า ประณีตกว่า เป็นสุขกว่า น่ายินดีกว่าความสุขในกาม นอกจากนี้ ถ้าผู้ใดทำสมาธิจนแก่กล้า ก็จะสามารถทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ เช่น สามารถอ่านใจผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ หายตัวได้ เป็นต้น เมื่อตายไปก็จะมีโอกาสเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก

3. ความสุขในนิโรธ
คำว่า นิโรธ หมายถึง ความสละ หรือความปล่อยวางตัณหา ตัณหาคือความอยาก คืออยากได้อารมณ์ที่ดี เช่น อยากเห็นรูปสวย ๆ อยากได้กลิ่นหอม ๆ อยากฟังเสียงที่ไพเราะ ขณะใดที่เราทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น ขณะนั้นนิโรธก็เกิดขึ้น ลักษณะของนิโรธก็คือ รู้ชัดในอารมณ์ตามความเป็นจริง เรียกว่าไม่มีโมหะ ไม่มีความยินดียินร้ายในอารมณ์นั้น เรียกว่าไม่มีโลภะ และโทสะ ขณะนั้นจิตย่อมบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส
การทำนิโรธให้เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยการตั้งใจดูอารมณ์ รับรู้ในอารมณ์เฉย ๆ ทำใจเป็นกลาง ไม่เสพอารมณ์ เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้รู้ในสุขเวทนานั้นเฉย ๆ ไม่ยินดีในสุขเวทนานั้น เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้รู้ในทุกขเวทนานั้นเฉย ๆ ไม่ยินร้ายในทุกขเวทนานั้น เช่น ขณะที่อากาศเย็นสบาย ก็ให้รู้ว่าอากาศเย็นเฉย ๆ ไม่ยินดีในความเย็นนั้น ขณะที่อากาศร้อนอบอ้าว ก็ให้รู้ว่าอากาศร้อนเฉย ๆ ไม่ยินร้ายในความร้อนให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา ขณะกินอาหารรสไม่ดี ก็ให้รู้ในรสเฉย ๆ ไม่ยินร้ายในรสชาติของอาหารให้เกิดความไม่อร่อยหรือความไม่พอใจขึ้นมา ขณะดูภาพยนตร์ก็ตั้งใจดูให้รู้ในเรื่องราวเฉย ๆ ไม่ใส่อารมณ์ ไม่เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวในภาพยนตร์นั้น ถึงตอนที่พระเอกชนะผู้ร้าย ก็ให้รู้เฉย ๆ ไม่ให้ดีใจ ถึงตอนที่พระเอกแพ้ผู้ร้าย ก็ให้รู้เฉย ๆ ไม่ให้เสียใจ ไม่ให้รู้สึกโกรธขึ้นมา เรียกว่าไม่เข้าข้างฝ่ายไหน มีใจเป็นกลางดูเหตุการณ์ที่ปรากฏบนจอเฉย ๆ อย่างนี้ได้ชื่อว่า ไม่เสพกาม ได้ชื่อว่าทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น ได้ชื่อว่าทำนิโรธให้เกิดขึ้น
ในขณะที่เราทำสมาธิ เมื่อมีอารมณ์ฌานเช่นมีปีติเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่ามีปีติเกิดขึ้น ยังมีปีติอยู่ ไม่ยินดีในปีตินั้น เมื่อปีติเสื่อมไป ก็ให้รู้ว่าปีติเสื่อมไป ไม่เสียใจในความเสื่อมนั้น เมื่อมีสุขเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่ามีสุขเกิดขึ้น สุขปรากฏอยู่ ก็ให้รู้ว่าสุขปรากฏอยู่ ไม่ยินดีในสุขนั้น อย่างนี้ได้ชื่อว่าไม่เสพอารมณ์ฌาน ได้ชื่อว่าทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น ได้ชื่อว่าทำนิโรธให้เกิดขึ้น
จะเห็นว่านิโรธก็คือการรู้ในอารมณ์แต่ไม่เสพอารมณ์นั่นเอง เมื่อมีกามก็ไม่เสพกาม เมื่อมีฌานก็ไม่เสพฌาน ได้แต่รับรู้เฉย ๆ นิโรธเป็นฝ่ายกุศล เป็นบุญ ส่งผลให้มีความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีลักษณะเช่นเดียวกับฌาน เพราะในการปฏิบัติจิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่ให้ผลในอนาคตต่างกันคือ ผู้ที่ทำนิโรธให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ ย่อมมีการสั่งสมปัญญา ทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง และเมื่อปฏิบัติจนนิโรธมีกำลังแก่กล้า ก็จะสามารถเอาชนะตัณหา สามารถประหารกิเลส ทำให้บรรลุมรรคผลได้ในที่สุด
ผู้ที่ได้มรรคผลครั้งที่ 1 เรียกว่า พระโสดาบัน เมื่อตายไป จะเวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิอีกไม่เกิน 7 ชาติก็จะได้เป็นพระอรหันต์
ผู้ที่ได้มรรคผลครั้งที่ 2 เรียกว่า พระสกิทาคามี เมื่อตายไป จะเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงชาติเดียว และจะได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น
ผู้ที่ได้มรรคผลครั้งที่ 3 เรียกว่า พระอนาคามี เมื่อตายไป จะเกิดเป็นพรหมและได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น
ผู้ที่ได้มรรคผลครั้งที่ 4 เรียกว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เมื่อตายไป ก็จะไม่เกิดอีกเรียกว่าเปลี่ยนสภาพจากการมีชีวิตที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นสภาพที่ว่างเปล่า ไม่มีชีวิต ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก ที่เรียกว่า นิพพาน



กฎแห่งกรรม-กฎของชีวิต
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ ตายแล้วเกิดจริงหรือ อิทธิปาฏิหาริย์มีจริงหรือ มีคนเป็นจำนวนมากสงสัยในเรื่องเหล่านี้ แต่ทุกคนก็หาคำตอบไม่ได้ เพราะเหตุใดจึงหาคำตอบไม่ได้ ก็เพราะทุกคนไม่เคยลงมือพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตนเองเลย บางคนก็เชื่อในเรื่องเหล่านี้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็น บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนก็ยังสงสัยอยู่ แต่บุคคลทั้งสามประเภทนี้ต่างก็ไม่รู้จริงด้วยกันทั้งนั้น ได้แต่คิดเอาเองตามเหตุผลของตน ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ชัดเจนในเรื่องของกฎแห่งกรรม ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด รวมทั้งเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ว่ามีอยู่จริง แต่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะพวกที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มักจะไม่เชื่อ โดยอ้างว่ามีการตีความในพระไตรปิฎกผิดบ้าง หรือไม่ก็อ้างว่ามีคนแต่งเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านเลื่อมใสศรัทธาบ้าง ผมย่อมตำหนิคนเหล่านี้ว่าอ้างโดยไม่มีเหตุผล เพราะไม่เคยได้ลงมือทดลองพิสูจน์หาความจริงเลย เพียงแต่นึกคิดไปตามเหตุผลของตนเองก็ด่วนสรุปเสียแล้ว โดยธรรมชาติของคนเราจะไม่เชื่ออะไรร้อยเปอร์เซนต์ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตนเอง คนที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมร้อยเปอร์เซนต์ก็คือคนที่มีฌานวิเศษหยั่งรู้ในเรื่องกรรมว่าคนนี้ได้รับผลกรรมอย่างนี้เพราะทำกรรมอะไรไว้ในอดีต คนนั้นมีร่างกายพิการอย่างนั้น เพราะทำกรรมชั่วอะไรไว้ในอดีต คนที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดร้อยเปอร์เซนต์ก็คือคนที่ระลึกชาติได้ หรือเป็นผู้ที่มีฌานวิเศษ หยั่งรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร อยู่ในภพใด ส่วนคนที่เชื่อว่าอิทธิปาฏิหาริย์มีจริงร้อยเปอร์เซนต์ก็คือคนที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถทำปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันคนที่ทำเช่นนี้ได้ คนที่ยืนยันในเรื่องเหล่านี้ได้ ยังมีอยู่มาก

ความจริงแห่งชีวิต
ตามที่ทราบมาแล้วว่าชีวิตทุกชีวิตย่อมประกอบด้วย กาย จิต และเจตสิก กายก็คือร่างกายอันเป็นที่ตั้งของทวารต่าง ๆ จิตก็ได้แก่จิตใจซึ่งมีหน้าที่สั่งให้ร่างกายทำงาน เจตสิกก็ได้แก่ตัวปรุงแต่งจิตให้สามารถรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ ให้มีความรู้สึกนึกคิดเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ เจตสิกมีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และฝ่ายกลาง ๆ เจตสิกฝ่ายดี เรียกว่า กุศลเจตสิก ซึ่งได้แก่ สติ ปัญญา ศรัทธา เป็นต้น เจตสิกฝ่ายชั่วเรียกว่า อกุศลเจตสิก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ส่วนเจตสิกฝ่ายกลาง ๆ ก็ได้แก่ เวทนา สัญญา เป็นต้น เมื่อเจตสิกปรุงแต่งจิต จิตก็จะมีลักษณะตามเจตสิกที่มาปรุงแต่งนั้น ถ้าอกุศลเจตสิกปรุงแต่งจิต จิตก็เป็นอกุศลด้วย ถ้ากุศลเจตสิกปรุงแต่งจิต จิตก็เป็นกุศลด้วย เช่น เมื่อโทสะเจตสิกปรุงแต่งจิตของเรา จิตก็จะโกรธ ถ้าโทสะ เจตสิกมีกำลังน้อยก็จะรู้สึกโกรธน้อย คือรู้สึกไม่พอใจ รำคาญ หรือหงุดหงิด แต่ถ้าโทสะมีกำลังมาก เราก็จะรู้สึกโกรธมากถ้าไม่ยับยั้งจิต จิตก็จะสั่งให้กายทำชั่วได้ เช่น สั่งให้ทุบตี ทำร้ายหรือด่าว่า เพื่อสนองความโกรธ เมื่อสนองกิเลสแล้ว กิเลสก็จะสงบลง พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เราแสดงออกมานี้เรียกว่า กรรม

กรรมคืออะไร ?
กรรม ก็คือการกระทำซึ่งแสดงออกได้ 3 ทาง คือ การกระทำทางใจเรียกว่า มโนกรรม การกระทำทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม และการกระทำทางกายเรียกว่า กายกรรม กรรมแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะคือ กรรมดีหรือกรรมที่เป็นบุญ เรียกว่า กุศลกรรม และกรรมชั่วหรือกรรมที่เป็นบาปเรียกว่า อกุศลกรรม
กรรมดี ได้แก่การกระทำอันเกิดจากการที่กุศลเจตสิกปรุงแต่งจิต เช่น นึกอยากจะตักบาตร คิดช่วยเหลือผู้อื่น พยายามระงับความโกรธ นึกแผ่เมตตาในใจ เห็นผู้อื่นทำดีก็นึกยินดีด้วยที่เรียกว่า อนุโมทนา เหล่านี้เรียกว่า ทำกรรมดีทางใจ และถ้ากุศลเจตสิกมีปริมาณมากหรือมีกำลังมาก ก็จะส่งผลให้มีการแสดงออกเป็นกรรมดีทางวาจาหรือทางกายได้ เช่น แผ่เมตตาโดยเปล่งวาจาออกมา เห็นผู้อื่นทำดีก็กล่าวคำอนุโมทนาด้วย กล่าวธรรมะให้ผู้อื่นฟัง เหล่านี้เป็นการทำกรรมดีทางวาจา ส่วนการทำกรรมดีทางกายก็ได้แก่ การตักบาตร การไหว้พระ การบริจาคทรัพย์ การลงมือช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
กรรมชั่ว ก็ได้แก่การกระทำอันเกิดจากการที่อกุศลเจตสิกปรุงแต่งจิต เช่น รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด เบื่อ กลุ้มใจ รู้สึกโลภอยากได้ อยากกินอาหารอร่อย ๆ อยากฟังเพลง อยากตกปลา ใจลอย รู้สึกฟุ้งซ่าน เหล่านี้เป็นการทำกรรมชั่วทางใจ และถ้าอกุศลเจตสิกมีปริมาณมากหรือมีกำลังมาก ก็จะส่งผลให้มีการแสดงออกเป็นกรรมชั่วทางวาจาหรือทางกายก็ได้ เช่นโกรธจึงด่าว่าออกไป อยากได้เงินจึงพูดโกหกหลอกลวงเพื่อนเพื่อให้ได้เงินมา พูดคำหยาบ พูดจาเพ้อเจ้อ เหล่านี้เป็นการทำกรรมชั่วทางวาจา ส่วนการทำกรรมชั่วทางการก็เช่น รู้สึกโกรธจึงทุบตี ทำร้าย อยากได้เงินจึงไปลักขโมย กลุ้มใจจึงกินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่เชื่อเรื่องกรรมจึงยิงนกตกปลาตามใจชอบ เป็นต้น
กรรมดีกรรมชั่วเหล่านี้จะมีกำลังมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความตั้งใจ เช่นเมื่อถูกยุงกัดรู้สึกโกรธแต่ไม่ตบบาปน้อยกว่าได้ตบยุงให้ตายไป ฆ่ายุงบาปน้อยกว่าฆ่าหนู เพราะฆ่าหนูทำได้ยากกว่า ต้องมีเจตนาแรงกว่าจึงจะฆ่าได้ ฆ่าหนูบาปน้อยกว่าฆ่าคน เพราะการที่จะฆ่าคนได้จะต้องมีเจตนาที่แรงกว่าฆ่าหนู แต่ถ้าเราได้ทำสัตว์ให้ตายลงโดยไม่ได้เจตนา เช่น เดินไปเหยียบมดตายโดยที่เราไม่เห็นอย่างนี้ไม่บาป เพราะเราไม่ได้เจตนา
นอกจากกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการกระทำที่เกิดจากการที่เจตสิกฝ่ายกลาง ๆ ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึกกลาง ๆ ไม่เป็นบุญเป็นบาป ลักษณะของจิตที่ไม่เป็นบุญเป็นบาปก็ได้แก่ กิริยาจิต ซึ่งเป็นทีจิตที่สั่งให้ร่างกายทำงานตามหน้าที่ เช่น การที่หัวใจเต้น การหายใจ การยืน เดิน นั่ง นอน ลักษณะเหล่านี้ไม่เป็นบุญเป็นบาป คนชั่วก็หายใจ ยืน เดิน นั่ง นอนได้ คนดีก็หายใจ ยืน เดิน นั่ง นอนได้ แม้พระอรหันต์ก็หายใจ ยืน เดิน นั่ง นอนได้เช่นกัน นอกจากนี้เวทนาคือการรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ ก็ไม่เป็นบุญเป็นบาป คนชั่วก็เห็นได้ ได้ยินได้ คนดีก็เห็นได้ ได้ยินได้ แม้พระอรหันต์ ก็เห็นได้ ได้ยินได้ เช่นกัน

วิบาก
ในเรื่องของกฎแห่งกรรมกล่าวไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีปัจจัย ไม่มีกรรมใดที่ทำแล้วไม่ส่งผล บุคคลใดเมื่อทำกรรมแล้วย่อมต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหรือสภาพแวดล้อม ผลของกรรมเรียกว่า วิบาก กรรมเป็นการกระทำของเรา ส่วนวิบากเป็นสิ่งที่เราได้รับ กรรมและวิบากย่อมตรงกันเสมอ คือ ทำกรรมดีก็ย่อมได้รับวิบากดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับวิบากชั่ว เช่น ถ้าเราฆ่าสัตว์ในปัจจุบัน ย่อมส่งผลให้เราได้รับอุบัติเหตุถูกทำร้าย หรือมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน วิบากร้ายนี้จะเกิดขึ้นในลักษณะใด เร็วหรือช้า จะเกิดในชาตินี้หรือชาติหน้า ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่จะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเหตุที่ทำกรรมชั่วเอาไว้
เวทนาต่าง ๆ ที่เราได้รับในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นวิบากอันเป็นผลกรรมที่เราทำเอาไว้ในอดีตทั้งสิ้น ที่เราได้รับทุกขเวทนาในปัจจุบันก็เพราะอดีตเราเคยทำกรรมชั่วเอาไว้ และขณะนี้กรรมนั้นกำลังส่งผล เราจึงได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี ที่เราได้รับสุขเวทนาในปัจจุบันก็เพราะอดีตเราเคยทำกรรมดีเอาไว้ และขณะนี้กรรมดีนั้นกำลังส่งผล เราจึงได้รับอารมณ์ดี ในคนคนหนึ่งย่อมทำกรรมดีกรรมชั่วมากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป เขาจึงได้รับวิบากดีเป็นสุขเวทนาบ้าง ได้รับวิบากชั่วเป็นทุกขเวทนาบ้าง คละเคล้ากันไปเช่นกัน

ทรงสอนเรื่องกรรม
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว ให้ดีได้ และได้ทรงยกตัวอย่างของกรรมเอาไว้ดังนี้
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคน####มโหด ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่เสมอ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรมที่ได้สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีอายุสั้น
บุคคลบางคนเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอ เมื่อตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะผลกรรที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีอายุยืน
บุคคลบางคนชอบเบียดเบียนสัตว์ ทำร้ายสัตว์ด้วยฝ่ามือ ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยอาวุธต่าง ๆ อยู่เสมอ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีโรคมาก
บุคคลบางคนมีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยฝ่ามือ ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยอาวุธต่าง ๆ เมื่อตายไปย่อมเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีโรคน้อย
บุคคลบางคนมักโกรธง่าย ถูกว่าเพียงเล็กน้อยก็โกรธเคือง ผูกพยาบาท มักแสดงอาการโกรธให้ปรากฏอยู่เสมอ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีผิวพรรณทราม
บุคคลบางคนมักไม่โกรธง่าย ถูกว่ามากก็ไม่โกรธเคือง ไม่ผูกพยาบาท มักไม่แสดงอาการโกรธให้ปรากฏ เมื่อตายไปย่อมไปเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นคนน่าเลื่อมใส
บุคคลบางคนมักมีใจอิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีอำนาจน้อย
บุคคลบางคนมีปรกติไม่อิจฉาริษยาในลาภสักการะของผู้อื่น เมื่อตายไปย่อมเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีอำนาจมาก
บุคคลบางคนมักไม่ให้ข้าว น้ำ ดอกไม้ ของหอม ปัจจัย 4 ต่าง ๆ แก่สมณพราหมณ์ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีทรัพย์น้อย
บุคคลบางคนมักให้ข้าว น้ำ ดอกไม้ ของหอม ปัจจัย 4 ต่าง ๆ แก่สมณพราหมณ์ เมื่อตายไปย่อมเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีทรัพย์มาก
บุคคลบางคนมักกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่ต้อนรับคนที่ควรต้อนรับ เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเกิดเป็นคนในสกุลต่ำ
บุคคลบางคนมักไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ บูชาคนที่ควรบูชา เคารพคนที่ควรเคารพ ต้อนรับคนที่ควรต้อนรับ เมื่อตายไปย่อมเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเกิดเป็นคนในสกุลสูง
บุคคลบางคนไม่สนใจที่จะสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ ไม่ศึกษาหาความรู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ ทำกรรมอะไรจึงเกิดทุกข์ ทำกรรมอะไรจึงเกิดสุข บุคคลเช่นนี้เมื่อตายไปย่อมเกิดในทุคติภูมิ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีปัญญาทราม
บุคคลบางคนมักสนใจที่จะสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ ศึกษาหาความรู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ ทำกรรมอะไรจึงเกิดทุกข์ ทำกรรมอะไรจึงเกิดสุข บุคคลเช่นนี้เมื่อตายไปย่อมเกิดในโลกสวรรค์ เพราะผลกรรมที่สั่งสมไว้นั้น แต่ถ้าไม่ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่มีปัญญามาก
เนื่องจากกรรมต่าง ๆ ที่เรากระทำลงไป ไม่ได้ส่งผลในขณะนั้นทันที ต้องใช้เวลา ซึ่งบางครั้งยาวนานมากถึงข้ามภพข้ามชาติเลยทีเดียว ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม เขาเหล่านั้นจึงได้ทำกรรมต่าง ๆ ไปตามความปรารถนาของตน บางคนชอบทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นแล้วมีความสุข ก็ดำเนินชีวิตไปในทางแห่งความดีนั้น โดยที่ตนเองก็ไม่ได้สนใจในเรื่องกรรมดีกรรมชั่วแต่อย่างใด บางคนชอบทำความชั่ว เบียดเบียนผู้อื่นแล้วมีความสุข ก็ดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางแห่งความชั่วนั้น โดยไม่นึกถึงผลของบาปกรรมที่ทำลงไป แต่ไม่ว่าเขาจะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมได้รับผลของกรรมที่ทำไว้อยู่นั่นเอง เพราะกฎแห่งกรรมเป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ ไม่ใช่หลักปรัชญา สัตว์โลกทั้งหลายย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม เป็นคนไทย จีน แขก ฝรั่ง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่น ๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมด้วยกันทั้งสิ้น

การส่งผลของกรรม
การที่กรรมจะส่งผลได้นั้น ต้องมีเหตุปัจจัยหรือมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ในอดีตเราเคยเบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อน มาวันนี้กรรมนั้นจะส่งผลให้เราเจ็บป่วย ถ้าเราเดินทางออกไปนอกบ้าน ถูกฝนเปียกปอน เราก็จะเป็นไข้ เพราะมีเหตุคือถูกฝน แต่ถ้าเราไปออกนอกบ้าน กรรมนั้นก็จะส่งผลไม่ได้เพราะไม่มีเหตุที่ทำให้เราเจ็บป่วย ต้องไปส่งผลในโอกาสอื่น และถ้ากรรมนั้นยังไม่ส่งผลในวันนี้ แม้เราจะถูกฝนเปียกปอน เราก็ไม่เป็นไข้เช่นกัน
ถ้าในอดีตเราเคยฆ่าสัตว์ให้ตายลง มาวันนี้เป็นช่วงที่เราเคราะห์ร้าย เป็นช่วงที่กรรมนั้นจะส่งผลให้ได้รับอุบัติเหตุ ถ้าเราออกไปเที่ยวเตร่ก็อาจจะถูกรถชน แต่ถ้าเราไปทำบุญนั่งสมาธิอยู่ในวัด เหตุที่จะทำให้ได้รับอุบัติเหตุก็ไม่มี กรรมนั้นก็ส่งผลไม่ได้ ต้องไปส่งผลในโอกาสอื่น หรือถ้าวันนี้เราเดินทางไปนอกบ้านแต่ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย จนจิตใจผ่องใส เบิกบาน ขณะนั้นจิตเป็นกุศล กรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลก็ส่งผลไม่ได้เช่นกัน ต้องไปส่งผลในโอกาสอื่น จะเห็นว่าเหตุที่ทำให้เราถูกรถชน มีอยู่ 2 เหตุด้วยกันคือ เหตุอดีต ได้แก่กรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีต และ เหตุปัจจุบัน คือ รถที่แล่นมาชนเรา ถ้าไม่มีเหตุอดีต รถก็จะไม่แล่นมาชนเรา ถ้าไม่มีเหตุปัจจุบัน คือไม่มีรถแล่นมา เราก็ไม่ถูกรถชนเช่นกัน แต่เพราะเราเห็นแต่เหตุปัจจุบัน ไม่เห็นเหตุอดีต ก็เลยเข้าใจผิดว่าผลของกรรมไม่มี
ความรู้ในเรื่องกฎแห่งกรรมนี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติธรรมได้ ในขณะปฏิบัติธรรม มีบ่อยครั้งที่เราต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ทำให้มีความหงุดหงิด มีความโกรธขึ้นมา บางครั้งก็ทนไม่ได้ ถึงกับต้องแสดงออกเป็นความชั่วทางวาจา หรือทางกาย ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายติดตามมา เราจึงควรสอนตนเองอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่เราได้รับคือวิบาก สิ่งที่เรากระทำคือกรรม เมื่อเราได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี ก็ให้รู้ว่านี่เป็นวิบากอันเกิดจากกรรมชั่วที่เรากระทำไว้ในอดีต ขณะนี้เป็นการชดใช้กรรม เราควรยินดีรับผลกรรมนั้น และตั้งใจว่าจะไม่ทำกรรมชั่วต่อไปอีก อนาคตเราจะได้ไม่ลำบากเช่นนี้ ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ความหงุดหงิด ความโกรธ ก็จะไม่กำเริบ เราก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปได้

บาปบุญอยู่ที่ใจ
มีชาวพุทธหลายคนที่ได้ยินได้ฟังมาว่า บาปบุญอยู่ที่ใจ ก็เข้าใจไปว่า ใจของเราเองที่เป็นตัวกำหนดบาปบุญ เช่น ถ้าเราคิดว่าฆ่าสัตว์แล้วไม่บาป มันก็ไม่บาป แต่ถ้าเราไปคิดไปกังวลว่ามันบาป มันก็บาป คนที่คิดเช่นนี้นับว่ามีความเห็นผิดอย่างมาก ที่จริงแล้วทำพูดที่ว่าบาปบุญอยู่ที่ใจนั้นหมายถึง สัตว์โลกทั้งหลายทำบาปหรือทำบุญได้ด้วยใจ เช่น ถ้าเราเดินไปเห็นมด ก็ตรงเข้าไปเหยียบจนมดตาย อย่างนี้บาป เพราะเรามีความจงใจฆ่ามด แต่ถ้าเรามองไม่เห็นมด เดินไปเหยียบมดตายโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างนี้ไม่บาป เพราะเราไม่มีเจตนาที่จะฆ่า

การตายหมู่
บางคนกล่าวว่าการตายหมู่เกิดจากการที่ใครคนหนึ่งในกลุ่มมีชะตาถึงฆาต จึงพาให้คนอื่นต้องประสบเคราะห์กรรมตายตามไปด้วย ในเรื่องของกฎแห่งกรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน ใครถึงฆาต คนนั้นก็ต้องตายคนเดียว จะไปถึงให้คนอื่นตายด้วยไม่ได้ แต่ที่เกิดการตายหมู่ เช่นเครื่องบินตก ก็เพราะทุกคนเคยทำกรรมชั่วไว้ในอดีต และในปัจจุบันนี้มีเหตุพร้อมให้ตายได้คือเครื่องบินขัดข้อง ทุกคนในเครื่องบินจึงตายหมด แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งชะตายังไม่ถึงฆาต เขาก็จะต้องประสบเหตุให้แคล้วคลาดจากการตายหมู่ เช่น ไปไม่ทันเครื่องบิน หรือเกิดเปลี่ยนใจไม่ไปเที่ยวบินมฤตยูนั้น

ประโยชน์ของการอบรมตน
พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างผู้ที่อบรมตน กับผู้ที่ไม่อบรมตนว่า ผู้ที่อบรมตนเมื่อได้รับวิบากร้าย ย่อมได้รับความลำบากน้อยกว่าผู้ที่ไม่อบรมตน บุคคลบางคน ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็สามารถส่งผลให้เขาตกนรกได้ ส่วนบุคคลบางคน อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นเดียวกัน บาปกรรมนั้นย่อมส่งผลทันตาเห็น แต่เขาก็ไม่เดือดร้อนมากนัก ที่ตรัสเช่นนี้ก็เพราะ บุคคลที่ไม่อบรมตน ย่อมมีบารมีน้อย เปรียบเสมือนคนจน ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่เพียงร้อยบาท ถูกโจรขโมยเงินไปร้อยบาท ย่อมได้รับความเดือดร้อนมากมาย ถึงอดตายได้ ส่วนบุคคลที่อบรมตน ย่อมมีบารมีมาก เปรียบเสมือนคนรวยมีทรัพย์มาก ถูกโจรขโมยเงินไปร้อยบาท ย่อมไม่เดือดร้อนมากนัก


การเวียนว่ายตายเกิด
ธรรมชาติของชีวิตทุกชีวิตย่อมมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพนี้ มีฐานะความเป็นอยู่อย่างนี้ ดำเนินชีวิตอยู่ในภพนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ตายไป เกิดในภพโน้น ใช้ชีวิตอยู่ในภพโน้นระยะหนึ่ง แล้วก็ตายไป เกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ทำไมตายแล้วจึงต้องเกิดอีก ก็เพราะมีกิเลสอยู่ในปัจจุบันชาติ เมื่อตายแล้วจึงต้องเกิดอีก ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่ตายแล้วจะไม่เกิดอีก ชีวิตที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเวียนว่ายตายเกิดชั่วนิรันดร์ เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในภพใด จะมีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ภพภูมิทั้งหมดแบ่งออกได้เป็น 6 ภูมิใหญ่ ๆ จัดเป็นสุคติภูมิ 3 ได้แก่ พรหม เทวดา มนุษย์ และทุคติภูมิ 3 ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน เปรต และสัตว์นรก รวมเป็น 6 ภูมิ เหตุที่เรียกว่า สุคติภูมิ เพราะภูมิเหล่านั้นมีความเป็นอยู่สบาย สามารถทำบุญทำกุศลได้ง่าย และที่เรียกว่า ทุคติภูมิ เพราะภูมิเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ลำบาก ทำบุญทำกุศลได้ยาก พวกมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานเวลาเกิดต้องอาศัยครรภ์มารดา หรือฟองไข่ หรือของโสโครกเป็นที่เกิด เช่น มนุษย์ วัว ควาย สุนัข แมว อาศัยครรภ์มารดาเป็นที่เกิด นก เป็ด ไก่ เต่า อาศัยฟองไข่เป็นที่เกิด หนอนต่าง ๆ อาศัยของโสโครกเป็นที่เกิด ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานมีการเจริญเติบโต มีการแก่หง่อมของร่างกาย และใช้โลกนี้เป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน ส่วนพรหม เทวดา เปรต และสัตว์นรก เวลาเกิด ก็เติบโตขึ้นมาเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ทันที ไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีการการแก่หง่อมของร่างกายในภายหลังอีก เวลาตายก็หายวับไปทันที ไม่มีการเน่าเปื่อย ชีวิตประเภทที่เกิดเติบโตทันทีเหล่านี้เรียกว่า โอปปาติกะ ส่วนต้นไม้ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตนั้นในทางพุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต เพราะไม่มีจิตใจ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ดังนั้น การตัดต้นไม้จึงไม่เป็นบาป เมื่อต้นไม้ตายแล้ว ก็ไม่ได้ไปเกิดใหม่ที่ใด ๆ อีก มีแต่เน่าเปื่อยผุพังไปเท่านั้น
ว่าถึงเรื่องของการเกิด การที่มนุษย์แต่ละคนเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีเหตุปัจจัยพร้อมมูล คือ สตรีจะต้องมีระดูที่เหมาะสม ต้องมีการสมสู่ระหว่างสตรีนั้นกับบุรุษ ต้องมีชีวิตหนึ่งตายลงจากภพภูมิใดภพภูมิหนึ่ง และผู้ตายนั้นต้องมีกรรมสอดคล้องที่จะเกิดเป็นมนุษย์ในครรภ์ของสตรีนั้นได้ เมื่อมีเหตุครบถ้วนพร้อมมูล ชีวิตจึงอุบัติขึ้นในครรภ์ของสตรีผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นมารดานับตั้งแต่บัดนั้น ฉะนั้น การทำแท้งจึงเป็นบาป เพราะเป็นการฆ่าชีวิตหนึ่งชีวิตให้ตายลง แต่การคุมกำเนิดไม่เป็นบาป เพราะชีวิตยังไม่ได้อุบัติขึ้นในครรภ์ของสตรี

ลักษณะของภพภูมิต่าง ๆ
1. เทวดา ผู้ที่เกิดเป็นเทวดาก็คือผู้ที่อดีตชาติชอบทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นเทวดาอยู่ในเทวโลก หรือที่เราเรียกว่าสวรรค์ สวรรค์มีทั้งหมด 6 ชั้น เรียงจากชั้นต่ำไปสูงดังนี้คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี แต่ละชั้นจะมีเทพผู้เป็นใหญ่ปกครอง เช่น สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีท้าวสักกะ หรือที่เราเรียกกันว่า พระอินทร์ เป็นผู้ปกครอง เทวดาไม่มีพ่อแม่ เพราะเป็นพวกโอปปาติกะ คือเกิดเติบโตทันที มีทั้งเพศชายและเพศหญิง เพศชายเรียกว่าเทพบุตร หรือบางทีก็เรียกว่าเทวดา ส่วนเพศหญิงเรียกว่าเทพธิดา หรือบางทีก็เรียกว่านางฟ้า เทวดามีอายุขัยยาวนานกว่ามนุษย์มาก และมีความเป็นอยู่สุขสบาย พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์หมด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอยหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเรียกว่าวิมาน ก็ล้วนแต่เนรมิตขึ้นมาทั้งสิ้น เทวดาไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีการแก่ เวลาตายร่างกายก็หายวับไปทันที ไม่มีการเน่าเปื่อย เนื่องจากเหล่าเทวดามีความเป็นอยู่สุขสบาย ร่างกายไม่มีการเจ็บป่วย ไม่แก่เฒ่า ทำให้การปฏิบัติธรรมทำได้ยากเพราะไม่เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
นอกจากเทวดาที่อาศัยอยู่ในสวรรค์แล้ว ยังมีเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาบางจำพวกอาศัยอยู่ในที่ต่าง ๆ บนโลกมนุษย์ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น เทวดาที่อาศัยอยู่ในบ้าน เราเรียกกันทั่วไปว่า ผีบ้านผีเรือน เทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้เรียกว่ารุกขเทวดา ถ้าเป็นหญิงบางทีก็เรียกว่านางไม้ เทวดาที่ดูแลอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เราก็เรียกกันทั่วไปว่าเจ้าที่เจ้าทาง แม้ว่าเทวดาเหล่านี้จะอาศัยอยู่ที่เดียวกับเรา แต่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะร่างกายของเทวดาเป็นกายทิพย์ การที่จะเห็นเทวดาได้ เราจะต้องมีตาทิพย์ หรือไม่ก็เทวดาเนรมิตกายให้เห็น เราจึงจะเห็นได้
2. พรหม ผู้ทีเกิดเป็นพรหมก็คือผู้ที่อดีตชาติได้ฝึกสมาธิจนมีฌานแก่กล้า เป็นผู้ที่มีจิตใจสงบเยือกเย็นอยู่เสมอ เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก พรหมมีอยู่ 2 ประเภท คือ รูปพรหม และอรูปพรหม พวกรูปพรหมมีรูปร่างลักษณะคล้ายเทวดาอาศัยอยู่ในพรหมโลกที่เรียกว่ารูปภพ มีทั้งหมด 16 ชั้น ผู้ที่เกิดเป็นรูปพรหมก็คือผู้ที่อดีตชาติเคยฝึกรูปฌานจนแก่กล้า เมื่อตายไปก็เกิดเป็นรูปพรหม ส่วนพวกอรูปพรหมไม่มีกายมีแต่จิตและเจตสิก จึงมองไม่เห็นรูปร่าง อาศัยอยู่ในพรหมโลกที่เรียกว่า อรูปภพ มีทั้งหมด 4 ชั้น ผู้ที่เกิดเป็นอรูปพรหมก็คือ ผู้ที่อดีตชาติเคยฝึกอรูปฌานจนแก่กล้า เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นอรูปพรหม
ในชั้นพรหมนี้ ไม่มีการข้องแวะทางเพศ ไม่ต้องกินอาหาร อาศัยความสุขจากฌานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต พรหมโดยทั่วไปมีรูปร่างเป็นชาย อายุขัยของพรหมยาวนาน ยาวนานจนพรหมบางองค์เข้าใจผิดว่าพวกของตนเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย นอกจากนี้ยังหลงผิดไปอีกว่าพวกของตนเป็นผู้สร้างโลก ที่เข้าใจเช่นนี้ก็เพราะตนได้เห็นสัตว์ในภพอื่นเวียนว่ายตายเกิดไปหลายต่อหลายชาติ แต่ตนเองนั้นยังไม่ตาย นอกจากนี้ยังเห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ปรารถนาสิ่งใดก็เนรมิตได้สมปรารถนา จึงคิดเอาเองว่าพวกของตนเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย และพวกของตนนี่แหละที่เป็นผู้สร้างโลก
3. เปรต ผู้ที่เกิดเป็นเปรตก็คือ ผู้ที่ในอดีตชาติชอบทำบาป ทำอกุศลอยู่เสมอ ธรรมชาติของเปรตมีรูปร่างอัปลักษณ์แตกต่างกันตามลักษณะของกรรมที่นำเกิด มีความอดอยาก หิวโหยอยู่เสมอ อาหารและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ของเปรต สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการอุทิศส่วนกุศลจากผู้อื่นที่อยู่ในสุคติภูมิ การที่เรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จใหม่ ๆ ผู้ที่ได้รับส่วนบุญที่เราอุทิศให้ ก็คือเปรตนี่เอง ส่วนผู้ที่เกิดในภพภูมิอื่นไม่สามารถรับส่วนบุญนี้ได้ แต่อาจจะทำบุญให้เกิดขึ้นได้ด้วยการอนุโมทนา เช่น เมื่อเราได้ทำบุญเสร็จแล้ว ไปบอกให้คนอื่นฟัง คนอื่นก็นึกยินดีในบุญที่เราทำ หรือกล่าวอนุโมทนาในบุญที่เราทำ ขณะนั้นคนผู้นั้นก็ได้บุญ คือ บุญที่เกิดจากการอนุโมทนา ถ้าเราทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้แก่โอปปาติกะทั้งหลาย มีเทวดาองค์หนึ่งรับรู้ในบุญที่เราทำ และได้อนุโมทนาในบุญนั้น ขณะนั้นเทวดาผู้นั้นก็ได้บุญ คือ บุญที่เกิดจากการอนุโมทนา เปรตโดยทั่วไปมีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์มาก และใช้ชีวิตอย่างอดอยากอยู่ในโลกเปรตเป็นการชดใช้กรรมที่ในไว้ในอดีตชาติ อสุรกายที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา ก็จัดเป็นเปรตชนิดหนึ่ง แต่มักนิยมเรียกแยกกันว่า เปรตและอสุรกาย เปรตบางจำพวกอาศัยอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ บนโลกมนุษย์เช่นเดียวกับเทวดาบางจำพวก เปรตบางตนก็มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเทวดา และสามารถปรากฏกายให้เราเห็นได้ ซึ่งเราเรียกกันทั่วไปว่า ผี
ว่าถึงเรื่องผีเรื่องวิญญาณ ความเข้าใจของคนไทยในเรื่องผีเรื่องวิญญาณนี้ ต่างจากคำสอนในพุทธศาสนาอย่างมาก พวกเราส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่า คนเราเมื่อตายไปก็จะเป็นวิญญาณล่องลอย ยังไม่ไปผุดไปเกิด บางทีก็ปรากฏร่างให้เราเห็น ที่เรียกกันว่าผี ส่วนทางพุทธศาสนานั้น วิญญาณ หมายถึง จิต จิตเป็นนามธรรม มองไม่เห็นต้องอาศัยอยู่กับรูปหรือกายอยู่เสมอ จะล่องลอยไปมาไม่ได้ คนเราเมื่อตายลง จิตก็จะดับจากกายนี้ ไปเกิดในกายใหม่ทันที ที่เราเห็นเป็นผีนั้น อาจจะเป็นลักษณะของเปรตปรากฏกายให้เห็นก็ได้ เปรตก็มีกายมีจิตเช่นเดียวกับมนุษย์ หรืออาจจะเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เนรมิตให้เราเห็นเป็นภาพของคนตายก็ได้ ไม่ใช่ภาพของวิญญาณที่ล่องลอยอย่างที่เราเข้าใจ
4. สัตว์นรก ผู้ที่เกิดเป็นสัตว์นรกก็คือ ผู้ที่อดีตชาติชอบทำบาปทำอกุศลอยู่เสมอ เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นสัตว์นรก ถูกทรมานให้ได้รับความเจ็บปวดเร่าร้อนอยู่ในนรก เป็นการชดใช้กรรมที่ทำมาในอดีตชาติ ไม่มีโอกาสทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด ผู้เป็นใหญ่ในนรกเรียกว่า พญายม หรือยมราช ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในนรกเรียกว่า นิรยบาล นรกแบ่งออกเป็นขุมใหญ่ ๆ ได้ 8 ขุม ขุมที่ลึกที่สุดเรียกว่า อเวจี อายุขัยของสัตว์นรกยืนยาวกว่ามนุษย์มาก
5. สัตว์เดรัจฉาน ผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็คือ ผู้ที่อดีตชาติชอบทำบาปทำอกุศลอยู่เสมอ สัตว์เดรัจฉานอาศัยอยู่บนโลกนี้ และมีกายเนื้อเช่นเดียวกับมนุษย์ เราจึงมองเห็นได้ สัตว์เดรัจฉานแบ่งออกเป็นหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีการดำรงชีวิตและมีอายุขัยที่แตกต่างกัน ธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานนั้น มีโมหะมาก มีสติน้อย มีความเข้าใจในเหตุผลน้อย ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องบาปบุญ ถ้าเปรียบมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานแล้วละก็ คนบ้ามีวิถีชีวิตไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉานเลย
6. มนุษย์ ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ก็คือ ผู้ที่มีอดีตชาติชอบทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ เมื่อตายไปก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์อยู่บนโลกนี้ มนุษย์เป็นภพภูมิที่ทำกรรมทั้งดีทั้งชั่วได้ง่ายกว่าภพภูมิอื่น เช่น นึกอยากจะทำทานก็ทำได้ง่าย เพราะผู้ที่มีความเดือดร้อน ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมีมาก ต่างกับเทวดาและพรหม จะทำทานก็ทำได้ยาก เพราะต่างก็มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ผู้ที่เดือดร้อนมีน้อย ส่วนทุคติภูมิทั้งสามก็มีความเป็นอยู่ลำบาก ไม่มีโอกาสที่จะทำบุญทำกุศลได้มากนัก เพราะเหตุที่โลกมนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ไม่สุขสบายเกินไปและไม่ลำบากเกินไป จึงเป็นภพภูมิที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่อุบัติขึ้น ก็ล้วนแต่เป็นมนุษย์ทั้งสิ้น
อายุขัยของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน สมัยใดที่คนส่วนใหญ่อยู่ในศีลในธรรมอายุขัยก็ยืนยาว สมัยใดที่คนไม่อยู่ในศีลในธรรม อายุขัยก็สั้น ในสมัยพุทธกาลอายุขัยของมนุษย์ประมาณ 100 ปี หลังจากนั้นอายุขัยก็สั้นลงตามลำดับจนเหลือ 10 ในสมัยนั้นผู้คนจะมีจิตใจต่ำทรามถึงกับฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก พวกที่รอดชีวิตเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงพยายามทำความดี อายุขัยของมนุษย์ก็ยืนยาวขึ้นตามลำดับ เมื่ออายุขัยของมนุษย์ยืนยาวถึง 80,000 ปี จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งอุบัติขึ้น ชื่อว่า พระศรีอริยเมตไตรย นับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัทรกัปนี้ นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงพยากรณ์ไว้ และมีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก

การให้ทาน
พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงผลของทานว่า ผลของทานขึ้นอยู่กับทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าผู้ให้มีจิตใจที่บริสุทธิ์มากทานนั้นก็มีผลมาก ถ้าผู้รับมีจิตใจที่บริสุทธิ์มาก ทานนั้นก็มีผลมาก และได้ทรงกล่าวถึงผู้รับประเภทต่าง ๆ ที่ทำให้ผลของทานแตกต่างกัน ดังนี้

บุคคลให้ทานแก่ สัตว์เดรัจฉาน ทานมีผลร้อยเท่า
บุคคลให้ทานแก่ ปุถุชนผู้ทุศีล ทานมีผลพันเท่า
บุคคลให้ทานแก่ ปุถุชนผู้มีศีล ทานมีผลแสนเท่า
บุคคลให้ทานแก่ บุคคลนอกพุทธศาสนาที่ปราศจากความกำหนัดในกาม ทานมีผลแสนโกฏิเท่า
บุคคลให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ทานมีผลมากมายมหาศาลจนประมาณไม่ได้
บุคคลให้ทานแก่ พระโสดาบัน มีผลมากกว่าให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน
บุคคลให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระสกิทาคามี มีผลมากกว่าให้ทานแก่พระโสดาบัน
บุคคลให้ทานแก่ พระสกิทาคามี มีผลมากกว่าให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระสกิทาคามี
บุคคลให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพรอนาคามี มีผลมากกว่าให้ทานแก่ พระสกิทาคามี
บุคคลให้ทานแก่ พระอนาคามี มีผลมากกว่าให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอนาคามี
บุคคลให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ มีผลมากกว่าให้ทานแก่ พระอนาคามี
บุคคลให้ทานแก่ พระอรหันต์ มีผลมากกว่าให้ทานแก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์
บุคคลถวายทานแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า มีผลมากกว่าให้ทานแก่ พระอรหันต์
บุคคลถวายทานแก่ พระพุทธเจ้า มีผลมากกว่าถวายทานแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า

ทานที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวนี้ หมายถึง ทานที่เจาะจงให้เฉพาะบุคคลเท่านั้น ส่วนทานที่ถวายแก่สงฆ์ คือ ให้เป็นส่วนรวม ไม่เจาะจงว่าเป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พระพุทธองค์ก็ตรัสว่ามีผลมากเช่นกัน ได้ทรงกล่าวว่า ในอนาคตกาลจะมีแต่ภิกษุที่เป็นปุถุชน มีผ้าเหลืองพันคอ เป็นคนทุศีล ไม่รู้แจ้งในธรรม คนทั้งหลายได้ถวายทานแก่สงฆ์ในหมู่ภิกษุผู้ทุศีลเหล่านั้น ทานนั้นก็มีผลมากมายมหาศาลจนประมาณไม่ได้เช่นกัน

การอุทิศส่วนกุศล
ตามประเพณีของชาวพุทธ เมื่อเราทำบุญเสร็จแล้วก็มักจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว หรืออุทิศให้แก่โอปปาติกะ หรือเปรตอสุรกายทั้งหลาย ตามปรกติการอุทิศส่วนกุศลจะทำหลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จใหม่ ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถนึกถึงบุญได้ง่าย บุญที่ทำโดยทั่วไปก็จะเป็นการให้ทานแก่สมณพราหมณ์ หรือผู้ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม เช่น การตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน บริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ นำอาหารเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ไม้สอยไปให้มิตรสหายที่รักษาศีลปฏิบัติธรรม เป็นต้น ขณะที่ทำบุญต้องทำด้วยความเต็มใจและต้องตั้งใจทำ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็หาทางแก้ไขด้วยเหตุผล อย่าให้มีความหงุดหงิดหรือความโกรธเกิดขึ้น ให้ทำบุญด้วยความสบายใจ พยายามทำจิตให้ผ่องใส จึงจะได้บุญมาก
เมื่อทำบุญเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการอุทิศส่วนกุศล การอุทิศส่วนกุศลอาจจะใช้วิธีกรวดน้ำหรือใช้วิธีกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลเฉย ๆ ก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าในขณะที่อุทิศส่วนบุญนั้น เราต้องตั้งใจอุทิศให้ด้วยความเต็มใจและจิตต้องสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ การอุทิศส่วนกุศลนั้นจึงจะมีผลมาก ต่อไปนี้จะขอเล่าเรื่องการอุทิศส่วนบุญของพระสารีบุตรให้แก่นางเปรตตนหนึ่งเป็นตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้
มีเปรตตนหนึ่ง รูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม เห็นแต่ซี่โครงและเส้นเอ็น มีหนังแตกเป็นริ้วรอยทั่วทั้งตัว ยืนเปลือยกายอยู่ต่อหน้าพระสารีบุตร ผู้ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตรได้ถามนางเปรตว่า ทำกรรมชั่วอะไรไว้จึงได้มาเกิดเป็นเปรตอยู่ในสภาพเช่นนี้ นางเปรตจึงเล่าว่า ตอนที่ตนเป็นมนุษย์อยู่นั้น มิตรสหายได้ชักชวนให้ทำบุญทำทาน ตนก็ไม่ได้ทำแต่อย่างใด เมื่อตายจากโลกมนุษย์จึงมาเกิดเป็นเปรตเปลือย ได้รับความทุกข์ยาก อดอยากหิวโหยอยู่ตลอด 500 ปี และนางเปรตนั้นก็ได้ของความอนุเคราะห์ให้พระสารีบุตรทำทานแล้วอุทิศกุศลให้ตน พระสารีบุตรก็รับคำ ต่อมาพระสารีบุตรได้ถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าขนาดเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง และน้ำดื่มขันหนึ่ง แก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้นางเปรตตนนั้นก็ได้รับอาหาร น้ำและเครื่องนุ่งห่มทันที ภายหลังนางเปรตซึ่งกลับมีร่างกายอันบริสุทธิ์ งดงาม สวมอาภรณ์อันวิจิตร มีรัศมีสว่างไสวไปทั่ว ได้มาหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรเห็นจึงถามนางเทพธิดานั้นว่าเป็นใคร ทำกรรมอะไรไว้จึงมีความงดงามเช่นนี้ นางเปรตก็ตอบว่าตนคือนางเปรตที่เคยมาขอให้พระสารีบุตรอุทิศส่วนบุญให้ และกล่าวว่า เพราะผลของการให้ข้าวคำหนึ่ง ทำให้ตนมีอาหารอย่างดีบริโภคนานนับพัน ๆ ปี ผลของการให้ผ้าเท่าฝ่ามือ ทำให้ตนมีเครื่องนุ่งห่มอย่างดีมากมายห้อยอยู่ในอากาศ เลือกนุ่งห่มได้ตามชอบใจ ผลของการให้น้ำขันหนึ่งทำให้ตนมีสระโบกขรณี มีน้ำใสสะอาด ดาดาษไปด้วยดอกบัว มีความร่มรื่นยิ่งนัก และกล่าวว่า ที่ตนมานี้ก็เพื่อมาไหว้พระสารีบุตร ที่ได้มีเมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ตน

ควรมีสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบ หรือความเห็นที่ถูกต้อง มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าความเห็นผิด ทุกคนที่เกิดมาย่อมมีความเห็นในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป บ้างก็ถูก บ้างก็ผิด พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราควรมีความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องก็ได้แก่ เห็นว่าการให้ทานมีผล การบูชาสังเวยบวงสรวงมีผล กรรมดีกรรมชั่วมีผล มีโลกนี้โลกหน้า บิดามารดามีคุณ มีสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ มีสมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติชอบ มีปัญญารู้แจ้งในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ผู้ที่รู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ถูกต้อง เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ คำว่า สัมมาทิฏฐิในที่นี้ มีความหมายต่างจากคำว่าสัมมาทิฏฐิในมรรค 8 คำว่าสัมมาทิฏฐิในมรรค 8 นั้น หมายถึง ปัญญา ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติธรรม

ทำไมจึงลืมอดีตชาติ ?
ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด มีหลายคนไม่เชื่อและมักจะย้อนถามว่า ถ้าอดีตชาติมีจริง ทำไมเราจึงจำเรื่องราวในชาติก่อนไม่ได้ ถ้าจะให้ผมอธิบาย ผมก็คงยืนยันไม่ได้ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ว่ามีจริงหรือไม่ แต่ถ้ามีใครมาถามผมว่า ทำไมเราจึงจำเรื่องราวในอดีตชาติไม่ได้ ผมก็จะย้อนถามเขาว่า เขาจำเรื่องราวเมื่อวานนี้ได้หรือไม่ ถ้าตอบว่าจำได้ ผมก็จะถามอีกว่า จำเรื่องราวเมื่อตอนเป็นเด็กอายุ 7 ขวบ ได้หรือไม่ ถ้าตอบว่าจำได้ ผมก็จะถามอีกว่า เขาจำเรื่องราวเมื่อตอนที่เป็นทารกอายุ 1 ขวบ ได้หรือไม่ ถ้ายังตอบว่าจำได้ ผมก็จะถามอีกว่า เขาจำเรื่องราวในวันแรกที่เกิดออกมาได้หรือไม่ ว่าเอาหัวหรือขาออกมาก่อน ขณะคลอดรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ ร้องไห้หรือไม่ ได้ดูดนมมารดาหรือไม่ ถ้าเราจำเรื่องราวในวันเกิดซึ่งเป็นเหตุการณ์ในชาตินี้ไม่ได้ เราก็ไม่ควรจะจำเรื่องราวในอดีตชาติได้เช่นกัน

ทำไมจึงต้องสนใจเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ?
มักจะมีคนกล่าวอยู่เสมอว่า ทำไมเราจะต้องไปสนใจเรื่องชาติหน้าด้วย ควรสนใจแต่เพียงชาตินี้ก็พอแล้ว ความคิดเช่นนี้จะถูกต้อง ถ้าชาติหน้าไม่มีจริง แต่ถ้าชาติหน้ามีจริง คนที่คิดเช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่าโชคร้ายอย่างมาก เพราะการดำเนินชีวิตของผู้ที่ไม่สนใจในเรื่องชาติหน้า ย่อมทำไปตามความพอใจของตน ไม่สนใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม จึงมีโอกาสที่จะพลาดถลำไปสู่ทางแห่งความชั่วได้ง่าย ส่วนผู้ที่สนใจในเรื่องชาติหน้าย่อมศึกษาหาความจริงว่าควรจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร จึงจะทำให้ชาติหน้ามีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เขาย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

ไม่ควรประมาท
ว่าถึงเรื่องความประมาท คนเราส่วนใหญ่มักจะมีความประมาท ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว ร่างกายแข็งแรงกระชุ่มกระชวย ไม่ยอมศึกษาปฏิบัติธรรม แต่พอแก่เฒ่าอายุมากแล้วสำนึกได้ จึงหันมาศึกษาปฏิบัติธรรม แต่ถึงเวลานั้นมันก็อาจจะสายเกินไป สำหรับการที่จะได้มรรคผลในชาตินี้ เพราะสุขภาพร่างกายไม่อำนวย ต้องรอไปชาติหน้า และก็ไม่แน่ว่าชาติหน้าจะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือไม่ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่แน่ว่าจะได้เกิดในพุทธศาสนาหรือไม่ แม้ได้เกิดในพุทธศาสนา ก็ไม่แน่ว่าจะได้ฟังธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  ___.bmp   471.75K   253 ดาวน์โหลด

พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์

#2 มณีมายา

มณีมายา
  • Members
  • 52 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 09:39 AM

สาธุ อนุโมทามิ ขอบคุณครับ

#3 นักรบเผ่าพันธุ์ตะวัน

นักรบเผ่าพันธุ์ตะวัน
  • Members
  • 380 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 11:23 AM

สาธุ ครับ
เพราะเป้าหมายของพวกเราคือ "ที่สุดแห่งธรรม"

#4 WISH

WISH
  • Moderators
  • 3579 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 01:47 PM

ชอบมากๆเลย สา...ธุ
ทำไมต้อง หาคำตอบ ณ แดนไกล ลืมหรือไร ว่าอยู่ใกล้ DMC

#5 usr21591

usr21591
  • Members
  • 75 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 04:34 PM

นับถือ ๆ ครับ ดีครับ ดี ดีมาก ๆๆ คร้าบบบบบ (เอาอีกๆ ๆๆ)

#6 DJ.

DJ.
  • Members
  • 1212 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 January 2008 - 06:14 PM

สาธุ

#7 สาธุธรรม

สาธุธรรม
  • Members
  • 1124 โพสต์

โพสต์เมื่อ 16 January 2008 - 02:05 PM

สาธุค่ะ

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อค่ะ
หยุดนิ่งนั้นแหละไซร้ พรหมจรรย์
พระผุดผ่านทุกวัน สะอาดเกลี้ยง
นิวรณ์หมดสุขสันต์ สดชื่น
ชีพรื่นธรรมหล่อเลี้ยง ผ่องทั้งกายใจ

สุนทรพ่อ

#8 hk_girlza

hk_girlza
  • Members
  • 580 โพสต์

โพสต์เมื่อ 17 January 2008 - 02:29 PM

อนุโมทนา สาธุ ค่ะ


#9 suppy001

suppy001
  • Members
  • 2210 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 January 2008 - 04:49 PM

very good ...Sa thu Krub