ไปที่เนื้อหา


จุลจักร

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 15 Dec 2006
ออฟไลน์ ใช้งานล่าสุด Feb 28 2007 03:49 PM
-----

กระทู้ที่ฉันเริ่ม

กำเนิดและพัฒนาการ ภาษาบาลี

30 January 2007 - 03:16 PM

กำเนิดและพัฒนาการ


ชื่อเรียกภาษานี้ คือ ปาลิ (อักษรโรมัน : Pāli) นั้น ไม่ปรากฏที่มาที่ชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงเรื่อยมาโดยไม่มีข้อสรุป สำหรับชาวพุทธโดยทั่วไปเชื่อว่า ภาษาบาลีมีกำเนิดจากแคว้นมคธ ในชมพูทวีป และเรียกว่า ภาษามคธ หรือ ภาษามาคธี อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ภาษาบาลี และมาคธีนั้นเป็นภาษาทางภาคใต้ของอินเดีย บางท่านระบุว่าเป็นภาษาทางภาคตะวันตกของอินเดีย นักวิชาการชาวเยอรมันสมัยปัจจุบันซึ่งเป็นนักสันสกฤตคือศาสตราจารย์ไมเคิล วิตเซลแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ถือว่าภาษาบาลีเป็นภาษา ทางภาคตะวันตกของอินเดีย และเป็นคนละภาษากับภาษาจารึกของ พระเจ้าอโศกมหาราช

ภาษาบาลีมีพัฒนาการที่ยาวนาน มีการใช้ภาษาบาลีเพื่อบันทึกคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา (เถรวาท)เป็นจำนวนมาก วิลเฮล์ม ไกเกอร์ (Wilhem Geiger) นักปราชญ์บาลีชาวเยอรมัน ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงในสมัยศตวรรษที่ 19 คือ Pali Literatur und Sprache โดยวาง ทฤษฎีที่คนไทยรู้จักกันดีว่าภาษาบาลีในพระไตรปิฎกนั้นสามารถแบ่งวิวัฒนาการการแต่งได้ 4 ยุค ตามรูปลักษณะของภาษาที่ใช้ดังนี้:

ยุคคาถา หรือยุคร้อยกรอง มีลักษณะการใช้คำที่ยังเกี่ยวพันกับภาษาไวทิกะซึ่งใช้บันทึกคัมภีร์พระเวทอยู่มาก

ยุคร้อยแก้ว มีรูปแบบที่เป็นภาษาอินโดอารยันสมัยกลาง แตกต่างจากสันสกฤตแบบพระเวทอย่างเด่นชัด ภาษาในพระไตรปิฎกเขียนในยุคนี้

ยุคร้อยกรองระยะหลัง เป็นช่วงเวลาหลังพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ย่อย เช่น มิลินปัญหา วิสุทธิมรรค เป็นต้น

ยุคร้อยกรองประดิษฐ์ เป็นการผสมผสาน ระหว่างภาษายุคเก่า และแบบใหม่ กล่าวคือคนแต่งสร้างคำบาลีใหม่ๆ ขึ้นใช้เพราะให้ดูสวยงาม

บางทีก็เป็นคำสมาสยาวๆ ซึ่งไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแต่งขึ้นหลังจากที่มีการเขียนคัมภีร์แพร่หลายแล้ว

ปัจจุบันมีการศึกษาภาษาบาลีอย่างกว้างขวางในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และอินเดีย แม้กระทั่งในอังกฤษ ก็มีผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาได้พากันจัดตั้ง สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ขึ้นในกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2424 เพื่อศึกษาภาษาบาลีและวรรณคดีภาษาบาลี รวมถึงการแปลและเผยแพร่ ปัจจุบันนั้น สมาคมบาลีปกรณ์ดังกล่าวนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตำบลเฮดดิงตัน ในเมืองอ๊อกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักร

เฉพาะในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาภาษาบาลีในวัดมาช้านาน และยังมีเปิดสอนในลักษณะหลักสูตรเร่งรัดที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งกล่าวคือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยเฉพาะที่มหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ได้ดำเนินการเรียนการสอนภาษาบาลี ให้บรรดาแม่ชี ซึ่งแบ่งเป็น ๙ ชั้นเรียกว่า บ.ศ. 1-9 มาเป็นเวลาช้านาน และปัจจุบันนี้ ก็มีแม่ชีสำเร็จการศึกษาเปรียญ ๙ ตามระบบนี้เพิ่มจำนวน มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

สังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์

29 January 2007 - 08:06 PM

สังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง คือ


ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่
๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต
๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม
๘. มานะ ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่
๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง;

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้,

พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย,

พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด,

พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ;




ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ
๑. กามราคะ
๒. ปฏิฆะ
๓. มานะ
๔. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
๕. วิจิกิจฉา
๖. สีลัพพตปรามาส
๗. ภวราคะ (ความติดใจในภพ)
๘. อิสสา (ความริษยา)
๙. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
๑๐. อวิชชา