
[/font]
ครั้งหนึ่งนั้น พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในเกาะศรีลังกาต่อเนื่องอย่างช้านาน จนมาถึงกระทั่งยุคล่าอาณานิคม ศรีลังกาถูกชาติตะวันตกหลายชาติ เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส และอังกฤษ ผลัดเปลี่ยนกันมารุกรานช่วงชิงทรัพยากรเป็นเวลากว่า 400 ปี นอกจากเสียเอกราชทางการเมืองการปกครองแล้ว ผู้ปกครองก็มุ่งเป้าเพื่อที่จะทำลายพระพุทธศาสนาให้หมดไปจากเกาะศรีลังกาให้ได้ นี่เป็นเรื่องจริงที่ได้รับการบันทึกไว้ในยุคนั้น ชาวศรีลังกาในยุคมืด ชาวพุทธถูกกดขี่ข่มเหงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ราวกับจะถูกต้อนให้ตกทะเล ชาวพุทธรู้สึกสิ้นหวังและท้อแท้ทุกหย่อมหญ้า ตัวอย่างการกดขี่ รัฐบาลสั่งห้ามชาวพุทธประกอบพิธีทางศาสนาโดยเด็ดขาด วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถูกยกเลิก เช่น วันวิสาขบูชาไม่ให้เป็นวันหยุดอีกต่อไป แล้วประกาศวันหยุดของศาสนาผู้ที่ครอบครองแทน และสนับสนุนเฉลิมฉลองอย่างเต็มที่ ตำแหน่งระดับสูงสงวนไว้ให้กับผู้ที่นับถือศาสนาผู้ปกครองเท่านั้น ชาวพุทธหากว่าไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาจะได้รับตำแหน่งชั้นล่างเท่านั้น มีวัดร้างเพิ่มขึ้น ที่ดินและทรัพย์สินของวัดร้างถูกยึดไปเป็นของรัฐ หรือของศาสนาอื่น พระภิกษุจะถูกวัยรุ่นศาสนาอื่นดูถูกดูหมิ่นล้อเลียนในที่สาธารณะ ศาสนิกอื่นเขียนหนังสือบทความโจมตีพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในยุคนั้นอย่างเต็มที่
แต่กรุงศรีลังกาไม่สิ้นคนดี เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมา เด็กชายคนหนึ่งก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชาวสิงหล แต่เนื่องจากลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่ง เขาจึงได้ชื่อภาษาฝรั่งว่าไมเคิล ส่วนตัวแล้วหนูน้อยไมเคิลมีนิสัยดี ๆ อยู่ 3-4 ประการคือ
1. ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา
2. กล้าแสดงความคิดเห็น
3. มีความทรงจำเป็นเยี่ยม
4. เปี่ยมไปด้วยวาทะศิลป์และปฏิภาณ
เมื่อหนูน้อยไมเคิลอายุได้ 12 ปี ก็ได้พบจุดหักเหในชีวิต เขาได้ไปเที่ยวงานวัดบนเขาแห่งหนึ่ง เขาได้ช่วยงานเป็นอาสาสมัคร รู้สึกอิ่มเอิบเพลิดเพลินอยู่ในบรรยากาศหลายวันก็เลยตัดสินใจขอบวชเป็นสามเณรที่วัดนั้นนั่นเอง เขาได้รับนามว่า ‘คุณานันทะ” ซึ่งชาวศรีลังการู้จักดีและโด่งดังไปในโลกของพระพุทธศาสนามาตราบทุกวันนี้
ในวันบรรพชา สามเณรคุณานันทะได้เทศน์โปรดญาติโยมในทันที การเทศน์กัณฑ์แรกในชีวิตของสามเณรอายุ 12 ขวบ มีผู้มาฟังเป็นพัน ๆ คน มีเนื้อหาเทศนาถึง 3 ชั่วยาม ยามหนึ่งมี 4 ชม. นั่นก็คือ 12 ชม. โดยที่ผู้ฟังไม่อยากรู้สึกกลับบ้านเลยทั้ง ๆ ที่เป็นการเทศน์โต้รุ่ง และเป็นการเทศน์กัณฑ์แรก ผู้คนก็เลื่องลือถึงความสามารถและความสง่างามของสามเณรไปทั่วศรีลังกา
แม้จะโด่งดัง สามเณรน้อยวัย 12 ขวบ บรรพชาแล้วหาได้หลงใหลในคำสรรเสริญแต่อย่างใดไม่ เป็นที่น่าแปลกว่าแม้จะเป็นวัยเด็กวิ่งเล่นก็ตาม ท่านกลับมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น
1. รักการฝึกฝน อบรม ปรับปรุง ตนเองเป็นอย่างมาก
2. ฝึกแสดงธรรมอย่างสม่ำเสมอ ให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น
3. สอนตนเองได้ว่า ท่านจะต้องรับภารกิจงานพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ในอนาคต
4. พัฒนางานวิชาการด้านศาสนา เพื่อพัฒนางานพระพุทธศาสนาที่ท้าทายยิ่ง
เมื่อสามเณรอายุได้ 21 ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดโคลัมโบ ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาอื่น พระภิกษุคุณานันทะมีบุคลิกไม่เหมือนชาวพุทธทั่วไป ชาวพุทธเมื่อถูกรุกรานอย่างไม่เป็นธรรมจากศาสนาอื่น ชาวพุทธทั่วไปมักจะ
1. สงบเสงี่ยมเจียมตัว พร้อมใจกันวางอุเบกขา
2. ไม่กล้าเผชิญหน้าหรือโต้ตอบกันตรง ๆ
3. แผ่เมตตาแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ปรับปรุงสิ่งใด ๆ ให้ดีขึ้น
4. พากันดูดาย ไม่กระตือรือร้นที่จะร่วมกันขจัดภัยพาลของพระพุทธศาสนา
ผลจากการที่เป็นสามเณรที่ดี ได้รับการฝึกตนอย่างยิ่งยวด รักและหวงแหนพระพุทธศาสนาแต่เยาว์วัย ครั้นเป็นพระภิกษุที่ดี ต่อไปก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาในศรีลังกาที่เกิดจากการโต้วาทะกับศาสนาที่มาครอบครองศรีลังกาเป็นจำนวนถึง 5 ครั้งโดยใช้เวลาถึง 9 ปีเศษ คือไม่ได้ต่อเนื่องกันทุกวัน พอเพลี่ยงพล้ำก็ไปซ้อมใหม่ ไปประเมินผลหาจุดบกพร่องของตัว พอพร้อมดีแล้วก็นัดกันครั้งที่ 2 โต้วาทะอีก พอเลี่ยงพล้ำก็นัดไปใหม่อีก จนถึงครั้งที่ 5 ก็ยอมจำนน จากหลักธรรมที่ประกอบด้วยเหตุและผล ด้วยกำลังใจอันสูงส่งและประกอบด้วยเมตตาธรรมในการโต้วาทะ ไม่มีการทำให้เสียหน้าหรือขายหน้า แต่ทำให้เข้าใจว่าเรื่องราวของพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและเทวดา คำว่ามนุษย์ คือ ทุก ๆ คนที่เกิดอยู่ในโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ ท่านทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลา 9 ปีเศษ
ครั้งที่ 1 เดือน ก.พ. 2408 ผลคือ ชาวพุทธที่เคยท้อแท้สิ้นหวัง ต่างเริ่มมองเห็นความหวังขึ้นมาบ้างและสิ่งที่ท่านคุณานันทะทำตลอดมานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ชาวพุทธที่อยู่ภาคใต้ ฟังให้ดี ให้ตื่นตัวขึ้นมารักษาพระศาสนา แต่ไม่ได้ให้ไปรบกับใคร ให้รบกับกิเลสในตัว)
ครั้งที่ 2 เดือน ส.ค. 2408 ผลคือ ผู้ฟังทั้ง 2 ศาสนาเพิ่มมากขึ้น เกิดความตื่นตัวสนใจในการโต้วาทะธรรมอย่างกว้างขวาง
ครั้งที่ 3 ถัดไปอีก 1 ปี คือ เดือน ก.พ. 2409 ผลคือ ศาสนาอื่นเข็ดขยาด ไม่กล้ามาตอแยท่านคุณานันทะเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม การย่ำยีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะก็หมดไป แม้ว่าการโจมตีทั่วไปจะยังไม่หมดก็ตาม
ครั้งที่ 4 เดือน ม.ค. 2414 ผลคือ ผู้แทนศาสนาอื่นเข็ดหลาบในการโต้วาทะธรรม กลับไปปรับกระบวนทัพใหม่
ครั้งที่ 5 เดือน ส.ค. 2416 เป็นการโต้วาทะธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด มีผลกระทบต่อการเป็นความตายของศาสนาทั้งสองมากที่สุด เกิดจากการที่ศาสนาอื่นได้กล่าวจ้วงจาบย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านคุณานันทะกล่าวเชิญมาโต้วาทะกัน ณ เมืองปานะดุระ โดยแบ่งเวลาสนทนา 2 วัน รวม 5 รอบ มีเวลาพักและเบรค ผลที่เกิดขึ้นฝ่ายศาสนาอื่นพ่ายแพ้ราบคาบ ไม่กล้ามาเผชิญหน้ากับท่านอีกต่อไป ผลที่ต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ
1. มีการตีพิมพ์บทโต้วาทะเป็นภาษาอังกฤษ โดยหนังสือพิมพ์ TIMES OF SRIRUN และอีกหลายภาษา
2. ชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ เฮนรี่ สตีลโอกอด ได้ไปอ่านพบเข้าและมีบทบาทในการเข้าไปแก้กฏหมายต่าง ๆ เช่น ให้อังกฤษยกเลิกกฏหมายห้ามชาวพุทธเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนาของตน ดังนั้นชาวพุทธจึงทำพิธีฉลองวันวิสาขบูชาได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2428 หลังจากว่างเว้นมายาวนาน
3. ศาสนิกอื่นที่มาร่วมฟังการโต้วาทะธรรมในครั้งนั้น บางคนถึงกับเสื่อมศรัทธาในศาสนาของตนหันมานับถือพุทธศาสนา
4. การข่มเหงและเบียดเบียนชาวพุทธก็หมดไป
ตลอดชีวิตของท่านนั้นเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขของชาวพุทธทั้งประเทศไม่ให้ตกอยู่อำนาจ อยุติธรรมจากศาสนาอื่น จนถึงกับมีผู้ที่เขียนพรรณาโวหารเป็นภาษาสิงหลไว้ว่า “ท่านคุณานันทะทำให้พวกศาสนาอื่นหวาดผวาเหมือนนักย่องเบา เห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยเด่นขึ้นมาฉันนั้น” เนื่องจากท่านทุ่มเททำงานศาสนาอย่างหนักไม่หยุดหย่อนเลย ท่านจึงอาพาธอยู่เนือง ๆ ที่เรียกว่าป่วยกระเสาะกระแสะนั่นเอง แพทย์บอกให้ท่านวางมือเสียบ้าง แต่ท่านก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 21 ก.ย. 2433 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ เหมือนดวงอาทิตย์เที่ยงวันพลันดับลงด้วยสิริอายุเพียง 67 ปีเท่านั้น
67 ปี ที่ทรงคุณค่าต่อชาวพุทธและอนุชนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้ พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว ชีวิตแม้มีอยู่ถึง 100 ปี มีความเกียจคร้านมีความเพียรแล้ว หาประเสริฐไม่ บุคคลแม้มีชีวิตอยู่เพียง 1 วันแต่มีความเพียรมั่น ชีวิตนั้นย่อมประเสริฐกว่า เพราะฉะนั้นวันพระวันนี้เราก็จะได้มาศึกษาประวัติชีวิตของท่านคุณานันทะอีกภาคหนึ่ง
เทวดาที่รักษาพระพุทธศาสนาในศรีลังกา ก็คือพุทธศาสนิกชนรุ่นเก่า ได้มองเห็นเหตุการณ์ในปัจจุบันและเหตุการณ์ในอนาคตด้วยทิพยจักขุ เทวดารู้สึกว่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็จะย่ำแย่ และต่อไปบ้านเมืองจะต้องถูกปกครองด้วยชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาอื่น ซึ่งเป็นผลร้ายต่อชาวศรีลังกา เหล่าเทวดาเห็นถึงอันตรายที่จะมีขึ้นกับพระพุทธศาสนาจึงไปกราบทูลเท้าจตุมหาราช คือ จากภุมเทวาไปบอกรุกขเทวา จากรุกขเทวาไปบอกอากาศเทวา จากอากาศเทวาไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกา นั่นคือมหาราชทั้งสี่ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน แล้วกราบทูลเรื่องราวพุทธศาสนาในเกาะศรีลังกาให้ท้าวจาตุมหาราชทราบ ท้าวจาตุมหาราชเมื่อรับทราบแล้ว ก็นำเรื่องราวทั้งหมดเข้าสู่เทวสมาคมชั้นดาวดึงส์ในวันเพ็ญ
เทวดาจะไปชุมนุมกันที่เทวสมาคมในวันพระ ซึ่งสวรรค์แต่ละชั้นก็แตกต่างกันไปตามกำลังบุญ เช่น ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต เหล่เทวดาประชุมกันว่า พระพุทธศาสนาในศรีลังกากำลังจะย่ำแย่ พวกเราควรจะทำกันอย่างไรดี ในที่ประชุมของธรรมสภาบอกว่า เราต้องไปอาราธนาพระโพธิสัตว์เทวบุตรให้มาบังเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อที่จะแก้ไขเหตุการณ์ครั้งนี้ ท้าวสักกะเทวราชรับทราบในที่ประชุม จึงคอยวันเวลาที่จะมีเทวดาจากชั้นดุสิตมากราบไหว้พระธาตุจุฬามณี ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของสวรรค์ เนื่องจากเทวดาในสวรรค์ชั้นล่างขึ้นบนไม่ได้ แต่บนลงล่างได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเทวดาจากชั้นดุสิตมาบูชาพระธาตุจุฬามณี โดยท้าวสักกะเทวราชเห็นจากรัศมีกายที่สว่าง จึงฝากความไปถึงท้าวสันตดุสิตบนสวรรค์ชั้นดุสิต
เทวบุตรที่รับฝากข้อความก็นำความนั้นไปกราบทูลให้ท้าวสันตดุสิตทราบ ซึ่งเป็นผู้ปกครองภพสวรรค์ชั้นดุสิตให้รับทราบเรื่องราวทั้งหมด ที่ต้องเป็นชั้นดุสิต เพราะชั้นนี้เป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ มีนิยตโพธิสัตว์ ซึ่งปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าและได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว เป็นที่ชุมนุมของพระบรมโพธิสัตว์ ท้าวสันตดุสิตจึงเรียกประชุมเทวสมาคมในกรณีพิเศษ การเข้าประชุมในเทวสมาคมจะแบ่งเป็นเขต คือแบ่งตั้งแต่นิยตโพธิสัตว์และอนิยตโพธิสัตว์ หัวข้อในการประชุมคือเรื่องราวที่รับฝากมาจากท้าวสักกะเทวราชถึงความเป็นไปในพระพุทธศาสนาในศรีลังกา เมื่อประชุมเสร็จก็ปรึกษากันว่า ในเทวสมาคมชั้นดุสิตบุรี เทวบุตรองค์ไหนจะอาสาสมัครลงไปกู้วิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งเป็นปกติของสวรรค์ชั้นดุสิตของบรมโพธิสัตว์เขตนั้น ก็มีเทวบุตรองค์หนึ่งพนมมือขึ้นหันไปทางท้าวสันตดุสิต รัศมีของท่านจะสว่างเมื่อใจไปถึงท่านประธาน ทำให้สายตาของสวรรค์มองไปที่ท่านผู้นี้ ท่านเป็นนิยตโพธิสัตว์ คือผู้ที่จะสร้างบารมีปรารถนาที่จะไปเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตและได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ท่านรับอาสาว่าจะลงมาแก้ไขเหตุการณ์นี้ เทวบุตรองค์นี้มีรัศมีมาก ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกพุทธเจ้า สมบูรณ์ไปด้วยดวงปัญญา มีรัศมีสว่างไสว มีวิมานที่สวยงาม วิมานจะใสเป็นแก้ว แตกต่างจากวิมานทองของเทวบุตรอื่น ที่วิมานใสก็เพราะท่านมีบารมีมาก เมื่อท่านรับอาสา เสียงพูดจะได้ยินถึงกันหมดโดยไม่ต้องใช้ไมค์ เหล่าเทวดาทั้งหมดในเทวสมาคมต่างก็อนุโมทนาสาธุลั่นเทวสภาด้วยความยินดี แล้วท่านก็กลับวิมานของท่านไปทำสมาธิ โดยไม่ได้หมดบุญ แต่เป็นการอาราธนาลงมา เทวดาที่จะหมดบุญ รัศมีจะหมอง เครื่องประดับหมอง มีเหงื่อออก แต่ถ้ามีบุญแล้วไปอาราธนา จะมีรัศมีจะวาบ ๆ
[font="Times New Roman"]
เมื่อสมาธิถึงจุด ๆ หนึ่งก็อธิษฐานจิตลงมาเกิดที่เกาะศรีลังกามาเป็นสามเณรคุณานันทะ และคุณานันทะภิกขุก็เป็นวีรบุรุษกองทัพธรรมที่มีอนุสาวรีย์อยู่ที่ตรงนั้น ท่านได้มากอบกู้พระพุทธศาสนา ซึ่งในตอนนี้ท่านก็ยังนั่งอยู่กลางวิมานของท่าน ระลึกนึกถึงผลบุญที่ท่านได้กู้พระพุทธศาสนาขึ้นมาจากศาสนาอื่นที่ศรีลังกา ท่านยังรำพึงอยู่บนรัตนบัลลังก์อยู่เลย เพราะเวลาในโลกมนุษย์ผ่านไป 100 กว่าปี เท่ากับเวลาผ่านไปแค่ไม่กี่นาทีบนสวรรค์ชั้นดุสิต
วันนี้เป็นวันพระ ครูไม่ใหญ่อยากให้พุทธบุตร พุทธบริษัททั้ง 4 มาระลึกนึกถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา จะได้เอาใจใส่สนใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติทั้งหลายและเทวดาทั้งปวง