ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในจีน
 
     แผ่นดินจีน ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า ในสมัยของ กษัตริย์โจวเจาแห่งราชวงศ์โจว  เกิดเหตุในเมืองจีนคือ 1.น้ำขึ้นในแม่น้ำ(ซึ่งปกติเป็นช่วงน้ำลด) 2.แหล่งน้ำธรรมชาติมีน้ำผุดขึ้นมาจนล้นทุกแห่ง 3.แผ่นดินไหว 4.มีแสงสว่าง 5 สี พวยพุ่งไปบนท้องฟ้า สุดลูกหูลูกตา  กษัตริย์โจวเจา จึงสอบถามอำมาตย์ว่าเกิดอะไรขึ้น  อำมาตย์กราบทูลว่า  “ในทิศตะวันตก(ของจีน)ได้มีอริยบุคคล บังเกิดขึ้นแล้ว คำสอนของท่านจะเผยแผ่เข้ามาในแผ่นดินจีนในอีก 1 พันปีข้างหน้า” กษัตริย์โจวเจา จึงรับสั่งให้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้โดยแกะสลักลงบนแผ่นศิลา
 
 
ภาพอักษร ศิลาจารึกระบุว่า มีแผ่นดินไหวและแสงสว่าง 5 สี บนท้องฟ้า
 
     80 ปีต่อมา ถึงยุค กษัตริย์โจวมู่ก็มีการบันทึกเหตุการณ์ประหลาดอีก คือได้เกิดแผ่นดินไหว มีลมพัดแรงในเมืองจีนและแสงสว่างคล้ายสีรุ้ง 12 เส้น ส่องมาจากทิศตะวันตก ทาบอยู่บนท้องฟ้าของเมืองจีนตลอดคืน อำมาตย์ทำนายว่า “กายหยาบของอริยบุคคลกำลังแตกดับจากโลกนี้ไป”
 
     ซึ่งวันที่ถูกจารึกในสมัย กษัตริย์โจวเจา ตรงกับ วันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนวันที่ถูกจารึกในสมัย กษัตริย์โจวมู่ ตรงกับ วันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนในวันตรัสรู้นั้น ได้มีหลักฐานบันทึกไว้ในบทขยายความว่า เกิดเหตุมีแสงสว่างมาถึงเมืองจีนด้วยเช่นกัน
 
     1 พันปีต่อมา ถึงยุคราชวงศ์ฮั่นของ กษัตริย์ฮั่นหมิงตี้ พระองค์ฝันเห็นบุรุษในรูปกายทองคำ สูงใหญ่ มีรัศมีเรืองรองกระจายไปทั่ว อำมาตย์ผู้ชำนาญในประวัติศาสตร์จีน ทำนายว่า “นั่นเป็นภาพของศาสดาพระองค์หนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งเรียกว่า “ฝอ” หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่พระองค์มีพระชนม์ชีพ ทรงอยู่ที่อินเดีย”  อำมาตย์คนที่ 2 ผู้จบการศึกษาสูงสุด กล่าวเสริมว่า “ใช่เลยพระเจ้าข้า เพราะในยุคกษัตริย์โจวเจา มีบันทึกในศิลาจารึกเรื่องอริยบุคคลในทิศตะวันตกนี้ไว้ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ครบ 1 พันปีพอดี  ถึงเวลาที่ศาสนาของพระองค์ ควรจะเข้ามาในแผ่นดินจีนแล้ว”  
 
     กษัตริย์ฮั่นหมิงตี้ จึงส่งคณะทูต ประกอบด้วยขุนนางผู้มีความรู้ 18 คนไปอัญเชิญพระพุทธศาสนามาที่เมืองจีน ใช้เวลาเดินทางไปกลับถึง 3 ปี   คณะทูตได้พบกับพระภิกษุชาวเอเชียกลางผสมกับอินเดีย จำนวน 2 รูป จึงนิมนต์ท่านมาที่จีนพร้อมกับพระสูตร พระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูป เมื่อกลับมาถึงจึงได้มีการแปลพระสูตรเป็นภาษาจีนครั้งแรกที่วัดม้าขาว 
 
 
วัดม้าขาว
 
     ปัจจุบัน วัดนี้มีอายุถึง 1,900 ปี แต่เดิมเคยเป็นของความเชื่ออื่นมาก่อน จึงถือว่าวัดนี้เป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
 
     จากอดีตที่ผ่านมา ยุคใดที่กษัตริย์จีนเลื่อมใสพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็จะได้รับการฟื้นฟูและเจริญรุ่งเรือง เช่น สมัยพระเจ้าเม่งตี้ พ.ศ. 1038 มีการสลักภูเขาให้เป็นถ้ำพระพุทธรูป เช่น ถ้ำลุงแมน
 
 
ถ้ำลุงแมน (Longman cave)
 
     ในยุคพระเจ้าบู่ตี่ มีวัดในพระพุทธศาสนา 1,300 แห่งโดยเฉพาะในนครโลยาง มีภิกษุ-ภิกษุณีรวมกัน 2 ล้านรูป และพระต่างชาติอีก 3 พันรูป  หรือในยุคพระเจ้าเกาโจ้ว แห่งราชวงศ์ซ้อง พ.ศ.1503 ทรงโปรดให้สร้างวัด ณ สนามรบเก่า ส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย ต่อมาก็โปรดให้แกะไม้แผ่น พิมพ์พระไตรปิฎกรวม 130,000 แผ่น  แต่ยุคใดที่กษัตริย์ยกย่องพระพุทธศาสนาเพียงบางคราวเพื่อผลทางการเมืองหรือนับถือลัทธิความเชื่ออื่น พุทธศาสนาก็จะเสื่อมโทรมหรือถูกทำลาย
 
     นอกจากกษัตริย์จีนแล้ว พระภิกษุจีนหลายรูปก็อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนาจนเป็นที่นับถือมาถึงปัจจุบัน หนึ่งนั้นคือ  “พระถังซำจั๋ง” 
 
 
รูปปั้นพระถังซำจั๋ง
 
     ท่านอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) ท่านเป็นผู้ใฝ่ศึกษาธรรมะจากหลายสำนักและพบว่ามีความแตกต่างกัน เมื่อตรวจสอบคัมภีร์ก็แตกต่างกันอีก ไม่อาจทราบว่าฝ่ายใดถูกต้อง  จึงเดินทางไปศึกษายังถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนาในอินเดียเพียงผู้เดียว ในวัยเพียง 26 ปี (พ.ศ.1172) ระหว่างทางต้องผ่านทะเลทราย บางช่วงไม่มีน้ำฉัน จนเป็นลมสลบไปหลายครั้ง บ้างก็มีโจรผู้ร้ายระหว่างทาง ทำให้เรื่องราวในช่วงนี้ คนในยุคหลังนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเรื่องไซอิ๋วนี่เอง  ในที่สุดท่านก็ไปถึงอินเดีย ได้ศึกษาธรรมที่มหาวิทยาลัยนาลันทาจนเข้าใจภาษาสันสกฤตและหัวข้อธรรมอย่างลึกซึ้ง    ในปี พ.ศ. 1186 พระถังซำจั๋งก็นำพระธรรมกลับไปเมืองจีน โดยพระเจ้าศีลาทิตย์แห่งอินเดียจัดผู้คนพร้อมช้าง,ม้า,ลา,ล่อ ขนคัมภีร์,พระพุทธรูปและของมีค่าไปส่งให้ด้วย ท่านได้เป็นหัวหน้าในการแปลพระไตรปิฏกจากสันสกฤตเป็นภาษาจีน  โดยกว่าจะแล้วเสร็จ ใช้เวลาอีกเกือบ 20 ปี  ซึ่งคุณธรรมความดีครั้งนั้น ยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน
 
     ต่อมา พระภิกษุยุคหลังพระถังซำจั๋ง ได้นำคัมภีร์นิกายมันตรยาน ซึ่งมีกำเนิดในอินเดียเข้ามา ซึ่งนิกายนี้เกิดขึ้นโดยนำความเชื่อเรื่องพิธีกรรมและอาถรรพเวทของพราหมณ์เข้ามารวมกับพุทธศาสนา  ประกอบกับชาวจีนก็มีความเชื่อเรื่องเทวนิยมจากลัทธิเต๋าอยู่เป็นพื้นแล้ว ทำให้แนวคิดเรื่องเทวนิยม(ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า-เจ้าพ่อ-เจ้าแม่) แพร่หลายอย่างกว้างขวางในที่สุด  นอกจากนี้ จุดเด่นอีกอย่างของจีนซึ่งเป็นพุทธมหายานคือการฉันมังสวิรัติ รูปใดล่วงละเมิดจะอาบัติ เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมการฆ่าสัตว์ทางอ้อม ส่งเสริมกำหนัดราคะ ทำลายสุขภาพ  ทำให้จิตใจไม่บรรลุสมาธิ และเนื้อที่ทานเข้าไปก็อาจเป็นบิดามารดาในภพชาติก่อนๆ ก็เป็นได้ 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/latest_update/ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในจีน.html
เมื่อ 25 เมษายน 2567 17:46
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv