วันพระ ประวัติและความเป็นมาของวันพระ ปฏิทินวันพระ

วันพระ มีชื่อเรียกอีก 2 อย่าง คือ 1.วันธรรมสวนะ หมายถึงเป็นวันฟังธรรมตามปกติ 2.วันอุโบสถ หมายถึงเป็นวันที่อุบาสก อุบาสิกาไปอยู่วัดถือศีลอุโบสถกัน วันพระที่ได้ชื่อดังนี้สันนิษฐานกันว่าเป็นวันในพระพุทธศาสนา เป็นวันหยุดทำงานของชาวพุทธ เพื่อไปประกอบศาสนกิจเพิ่มพูนบุญบารมีในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน https://dmc.tv/a10218

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
[ 6 ธ.ค. 2555 ] - [ ผู้อ่าน : 18339 ]

วันพระ ทำใจให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

 
 
 ประวัติความเป็นมาของวันพระ
 

 
 วันพระทำใจให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
 

ความเป็นมาของวันพระ

     ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยพุทธกาลที่ผ่านมาได้มีเหล่านักบวชนอกศาสนาประชุมแสดงคำสอนตามความเชื่อของตนทุกวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำเป็นปกติ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งแคว้นมคธ ทราบจึงเกิดความคิดว่าคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาน่าจะได้กระทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเหล่าพุทธศาสนิกชน เฉกเช่นที่นักบวชนอกศาสนานั้นได้รับ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตตามนั้น การประชุมกันของเหล่าสงฆ์ตามพุทธานุญาตได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การมาประชุมแล้วนั่งนิ่ง เริ่มแสดงธรรม ต่อมาทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่เป็นวินัยของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาพร้อมกับการแสดงอาบัติ
 
 
วันพระ วันธรรมสวนะ หรือวันอุโบสถ

วันพระหรือวันอุโบสถ

      กำหนดโดยถือการเปลี่ยนแปลงของพระจันทร์ จากเดือนเต็มดวงจนถึงเดือนมืดและกลับเป็นเดือนเต็มดวงอีกครั้ง โดยคืนพระจันทร์เต็มดวงเรียก ขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์ค่อยๆ ดับ นับ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ตามลำดับ ถึง 15 ค่ำ เป็นวันพระจันทร์ดับพอดี จากนั้นเริ่มนับขึ้นจากวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันครบรอบ 1 เดือน

ความสำคัญของวันพระ 

      จากพุทธานุญาตให้มีตัวแทนสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและเพื่อความบริสุทธิ์ในเพศสมณะที่ต้องบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามเส้นทางของพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุผู้สวดทบทวน เมื่อสวดถึงข้อใดแล้วมีภิกษุรูปใดรูปใดรูปหนึ่งประพฤติผิดข้อบังคับนั้น จะเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุม หรือที่เรียกว่าแสดงอาบัติ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ
 
      1. เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ ด้วยระเบียบปฏิบัติที่หมั่นทบทวนและเตือนตนด้วยการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ตนละเมิด เพื่อแก้ไขต่อไป ในข้อนี้มีปรากฏการณ์เด่นชัดเมื่อครั้งพุทธกาล คือเมื่อครั้งพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีกันภายหลังเมื่อกลับมีความสามัคคีใหม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า วันสามัคคีอุโบสถ
 
      2.  การหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระธรรมคำสอนไม่คลาดเคลื่อน เลือนหายและทำให้หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้  วันอุโบสถนั้น นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญของทางคณะสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นวันประชุมฟังธรรมของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้
 
 
 
ในวันพระพุทธศาสนิกชนควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม 
 
 
     ในส่วนของพุทธศาสนิกชนนั้น การละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาผ่านการแสดงออกเป็นรูปธรรมด้วยการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันแล้วโลกภายนอกสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเต็มไปด้วยข้อจำกัดในการกระทำความดีเหล่านั้นให้สมบูรณ์ ดังนั้น วันอุโบสถ จึงเป็นเป็นการปรารภเหตุที่จะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้มีโอกาสหันกลับมาทบทวนการทำดีดังกล่าว โดยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนามากขึ้นเป็นพิเศษ  

พิธีรักษาอุโบสถ 

     อุโบสถ แปลอย่างตรงตัวว่า “การเข้าจำ” ถือเป็นอุบายหรือกลวิธีสำหรับขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบางลง ไม่ให้ทับถมพอกพูนมากขึ้นและเป็นทางนำไปสู่ความสงบระงับอันเป็นความสุขสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนจึงนิยมประพฤติปฏิบัติกัน อุโบสถเป็นชื่อของกุศลกรรมอันสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนามี 2 อย่างคือ
 
      1. ปกติอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันตามปกติธรรมดาในเฉพาะวันและคืนหนึ่งในวันพระ คือ วันขึ้น – แรม 8 ค่ำ 14 หรือ 15 ค่ำ
 
      2. ปฏิชาครอุโบสถ คืออุโบสถที่รับรักษาเป็นพิเศษกว่าปกติ คือ รักษาคราวละ 3 วัน จัดเป็นวันรับวันหนึ่ง วันส่งวันหนึ่ง เช่น รักษาอุโบสถในวัน 8 ค่ำ ก็รับตั้งแต่วัน 7 ค่ำ 8 ค่ำ รักษา และ 9 ค่ำ เป็นวันส่ง เป็นต้น
 
     โดยเนื้อแท้ การรักษาอุโบสถ ก็คือ การสมาทานรักษาศีล 8 อย่างเคร่งครัดเป็นเอกัชฌสมาทานมั่นคงอยู่ด้วยความผูกใจตลอดกาลของอุโบสถที่ตนสมาทานนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์สำคัญดังกล่าวแล้ว  
 
 
วันพระเข้าวัดถือศีลฟังธรรม เป็นวัฒนธรรมชาวพุทธ
 
  วันพระต้องละนิวรณ์ มารักษาอุโบสถศีลกันเถอะ 

ข้อพึงปฏิบัติในเวลารักษาอุโบสถ 

     ในวันพระสาธุชนจะไปวัดทำบุญที่วัดใกล้บ้าน มีการถวายภัตตาหารพระ รักษาศีลและเจริญภาวนา ทำความสะอาดวัด นิมนต์พระเทศน์ให้ฟัง เพราะถ้าไม่มีการสอนธรรมะแล้ว ความรู้ที่แท้จริงก็จะเลือนหายไป เนื่องจากสังคมทุกวันนี้ คนเชื่อ คิด ทำ ต่างๆ นาๆ จนมักไปทำความชั่วหรือดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้กิจกรรมในวันอุโบสถเอื้อต่อการรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ด้วยดี พุทธศาสนิกชนจึงควรถือปฏิบัติคือ เมื่อถึงวันพระ ต้องละนิวรณ์ นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้นใช้หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้น หรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิตใจ  
 
นิวรณ์ มี 5 อย่างคือ
 
1. กามฉันท์ ความพอใจติดใจอยู่ในสิ่งที่ชอบใจ คือติดความสุขในกาม 
2. พยาบาท ความคิดร้ายผู้อื่น คือมีความโกรธอาฆาตอยู่ 
3. ถีนมิทธะ ความหดหู่ ท้อแท้ และเคลิบเคลิ้ม เศร้าซึม 
4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน อึดอัด กลัดกลุ้ม วิตกกังวล และรำคาญใจ 
5. วิจิกิจฉา ความลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ ความสงสัยกังวล
 
      ดังนั้นในวันพระ พุทธศาสนิกชนผู้ใคร่ในธรรม ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา และควรที่จะสมาทานรักษาอุโบสถศีลด้วย นอกจากนี้ในวันพระ เราก็ไม่ควรกระทำบาปใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการทำผิดศีล 5 ในวันพระถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง 
 

 
บทความที่เกี่ยวข้องกับวันพระ
 
 
MV วันนี้วันพระ
 

รับชมคลิปวิดีโอ
ชมวิดีโอ   Download ธรรมะ
 

http://goo.gl/pL3e6


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติวันวิสาขบูชา
      วันมหาปูชนียาจารย์ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี
      วันออกพรรษา 2566 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันสมาธิโลก 2566 World Meditation Day
      วันอาสาฬหบูชา 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติ
      วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
      วันคุ้มครองโลก EarthDay ประวัติและความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
      วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
      วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
      ทอดกฐินทุกวัดทั่วไทย สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
      เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
      ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ