เส้นทางมหาปูชนียาจารย์

เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ คือ เส้นทางของสถานที่สำคัญ 6 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย https://dmc.tv/a12890

บทความธรรมะ Dhamma Articles > มหาปูชนียาจารย์
[ 23 ธ.ค. 2554 ] - [ ผู้อ่าน : 18263 ]
 
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 
 
 
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ 
 
 
        เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ คือ เส้นทางของสถานที่สำคัญ 6 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร และสถานที่สำคัญแต่ละแห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้ จะเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของท่าน ด้วยทองคำบริสุทธิ์ เพื่อแสดงถึงความรัก ความเคารพ และความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของท่าน
 
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์

เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ มีสถานที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. สถานที่เกิดรูปกายเนื้อ : อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

        สถานที่เกิดรูปกายเนื้อของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คือ แผ่นดินรูปทรงดอกบัว มีน้ำล้อมรอบ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” รูปทรงภูเขาทองแปดเหลี่ยม ภายในบันทึกประวัติการสร้างบารมีของท่านตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย บริเวณกลางวิหารประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้ นำแบบอย่างคุณธรรมของท่านมาเป็นกำลังใจ และเป็นแบบแผนในการสร้างบารมีต่อไป
 
 
อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
 
        พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินกลางน้ำ รูปทรงดอกบัว ริมคลองสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดสองพี่น้อง ในท้องที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้เรียนหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 9 ปี ที่วัดสองพี่น้อง ซึ่งน้าชายของท่านได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งนี้ ต่อมา พระน้าชายของท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหัวโพธิ์ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงติดตามไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระภิกษุ จากนั้น ท่านได้ย้ายจากวัดหัวโพธิ์ไปเรียนหนังสือที่สำนักของพระอาจารย์ทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดบางปลา

2. สถานที่เกิดในเพศสมณะ: วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

        วัดสองพี่น้องเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2212 (ในรัชสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช) ปัจจุบันเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในพื้นที่ ที่มาของชื่อ “สองพี่น้อง” เล่าสืบกันมาว่า มีช้างสองเชือก เข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน เดินมาจากพุม่วง หรือป่าต้น ในอำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นที่อาศัยของช้างของพระมหากษัตริย์ ในหน้าแล้งมักจะมาหากินแถวนี้ ทางดินที่ช้างเดินย่ำเป็นที่ลุ่ม จนกลายเป็นคลอง จึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง”
 
พิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ประดิษฐาน ณ วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) จ.สุพรรณบุรี
 
วัดสองพี่น้อง สุพรรณบุรี 
สถานที่เกิดในเพศสมณะของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
 

        พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า “จนฺทสโร”

  • พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
  • พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
  • พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 
 
      เมื่ออุปสมบทแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง เป็นเวลา 1 พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
 
 
3. สถานที่เกิดรูปกายธรรม (ธรรมกาย) หรือสถานที่บรรลุธรรม: วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
 
        วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วัดแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าของบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาของวัด และผู้สร้างวัด ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526) ความว่า “…พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต วัดโบสถ์บน บางคูเวียง สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2310”
 
สถานที่บรรลุธรรม: วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
 
สถานที่บรรลุธรรม: วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
 
        ในพรรษาที่ 11 พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพนุนี (สด จนฺทสโร) ได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ.2460 ท่านตั้งใจที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ เนื่องจากท่านดำริว่า “เราบวชมาจวนจะครบ 12 พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้า เรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งๆที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวัน ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที” เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆ ให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ จากนั้นจึงได้เจริญภาวนาในพระอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไป จนกระทั่งความปวดเมื่อยเริ่มทวีขึ้นเป็นลำดับ อาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไว้แล้ว ท่านจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆสงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก
 
วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
 
 วัดโบสถ์บน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
 
        เย็นวันนั้น หลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์พร้อมกับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้รีบทำภารกิจส่วนตัว สรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในพระอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขอให้พระพุทธองค์ทรงพระเมตตา โปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯ จักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯ ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”

        เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมดที่อยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทารอบบริเวณที่ท่านนั่งเพื่อกันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า “ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก” จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลงแล้วเจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า “พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าถึงได้นั้น จำ, เห็น, คิด, รู้ ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด” เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆไปตามลำดับจนกระทั่งถึง “ธรรมกาย”

4. สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกาย (ครั้งแรกหลังจากบรรลุธรรม) : วัดบางปลา

        วัดบางปลา ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ ไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากสภาพความเก่าแก่ของวิหาร และจากคำบอกเล่าที่บอกสืบต่อกันมา พอจะสรุปความได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณอายุของวัดจากวิหารเก่าแก่ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และจากเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอายุของวัด คือ นิราศของสุนทรภู่ ซึ่งได้กล่าวไว้ในตอนที่ล่องเรือผ่านมาทางปากคลองบางปลา) เนื่องจากพื้นที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี และคลองบางปลา (ปากคลอง) ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “วัดบางปลา” จนติดปาก กลายเป็นชื่อของวัดมาจนถึงทุกวันนี้
 
สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายวัดบางปลา 
สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายวัดบางปลา
 
        เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มุ่งมั่นในการเจริญภาวนาเพื่อไปให้ถึงที่สุด เมื่อยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้ง จนกระทั่งออกพรรษาและรับกฐินแล้ว ท่านจึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ไปพักที่วัดบางปลาซึ่งท่านเห็นในสมาธิว่า ณ วัดแห่งนี้จะมีผู้บรรลุธรรมกายตามอย่างท่านได้ ท่านได้สอนภาวนาที่วัดบางปลา จนมีพระภิกษุสามารถเจริญรอยตามท่านได้ 3 รูป และคฤหัสถ์ 4 คน

5. สถานที่ทำวิชชาปราบมาร (จนกระทั่งละสังขาร) : วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

        วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวราราม และกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เนื่องจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า “วัดปากน้ำ” ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 และ พ.ศ.2474 ว่า “วัดสมุทธาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกัน คงเรียกว่า “วัดปากน้ำ” มาโดยตลอด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านทิศใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยนั้น

        วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง (ระหว่าง พ.ศ.2031-พ.ศ.2172) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง (สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมา ตัวอย่างเช่น หอพระไตรปิฎก, ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้พระอุโบสถก็ใช้วิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น)
 
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
 
ธุดงค์ธรรมชัยอัญเชิญหลวงปู่ทองคำ
พิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ประดิษฐาน ณ วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ)
 
        เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้กวดขันพระภิกษุ-สามเณร ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน, ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งสำนักเรียน ทั้งนักธรรมและบาลี, สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้มีพระภิกษุ-สามเณรและสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี

        แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จะมีมากสักเพียงใดก็ตาม แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย เพราะท่านถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายและสั่งสอนผู้อื่นให้บรรลุธรรมกายไปด้วยนั้น ท่านได้คัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติดีเยี่ยม ทั้งที่เป็นพระภิกษุ, สามเณร, แม่ชี, อุบาสก และอุบาสิกา จำนวนหนึ่ง เพื่อรวมกลุ่มศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป เรียกว่า “การทำวิชชาปราบมาร”

        เพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกาย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิภาวนา ในปี พ.ศ.2474 ขณะที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯอายุได้ 47 ปี ท่านได้สร้างอาคารเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้นภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงงานทำวิชชา” ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร ใกล้หอไตร เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างมีท่อต่อถึงกันสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯใช้ “สั่งวิชชา” ลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้นๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ 10 คน ตัวเรือนโรงงานทำวิชชา มีขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น 2 แถว ซ้ายและขวา ข้างละ 6 เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทางเดิน พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชี และอุบาสิกา ใช้นั่งเจริญวิชชาและเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานทำวิชชาบ้างแต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างไม่มีบันไดเชื่อมต่อกัน และทางเข้าออกก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และพระภิกษุ, สามเณร ที่อยู่เวรทำวิชชา

        ต่อมาภายหลัง ได้มีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาวพอสมควร ตรงกลางมีฝากั้น แบ่งเป็น 2 ห้องแยกขาดจากกัน โดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีและอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระภิกษุและสามเณร เวลา “สั่งวิชชา” พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจะพูดผ่านฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น

6. สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก) : วัดพระธรรมกาย

        ในบรรดาศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ชั้นสูง ท่านเคยได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯว่า “ลูกจันทร์นี้…หนึ่งไม่มีสอง” ภายหลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมรณภาพแล้ว คุณยายอาจารย์ได้เผยแผ่วิชชาธรรมกายสืบต่อมาตามคำสั่งของท่าน จนกระทั่งมีนิสิตผู้ซึ่งรักการปฏิบัติธรรมอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ มาฝากตัวเป็นศิษย์ของคุณยายอาจารย์ และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม ต่อมา นิสิตผู้นั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า “ธัมมชโย” นับแต่นั้นมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยได้อบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่สาธุชนที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในเขตวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมกับท่านอย่างมากมาย

สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก
 
วัดพระธรรมกาย สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย
เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก
 
        ในปี พ.ศ. 2513 พระเดชพระคุณพระเทพญานมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหมู่คณะ ได้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายขึ้นที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อรองรับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก โดยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี”
 
        เพื่อเป็นการแสดงความรัก ความเคารพ และความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) บรรดาศิษยานุศิษย์โดยการนำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ประดิษฐานในมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ 2,000 ไร่ของวัดพระธรรมกาย และเปิดให้สาธุชนเข้าสักการะรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ในวันเสาร์และวันอาทิตย์

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
 
มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี
 
        ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้สอนการฝึกสมาธิแนววิชชาธรรมกาย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบ จนผู้มีเข้าถึงความสุขภายในจากการทำใจหยุดใจนิ่งเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พระภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา ไปจนถึงสาธุชนทั้งหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายท่านมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป
 
        พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อุทิศชีวิตสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก เพื่อให้สันติสุขที่แท้จริงบังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
 
  
 
ติดตามข้อมูลข่าวสารธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ (สด จนฺทสโร) ปีที่ 2 เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
  
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
 
อานุภาพพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ

http://goo.gl/E83hQ


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      พิธีหล่อรูปเหมือนทองคำคุณยายฯ เพื่อประดิษฐาน ณ อาคาร 100 ปี
      ขอเรียนเชิญร่วมตอกเสาเข็มสถาปนาอนุสรณ์สถานบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559