ศีล 8 คำอาราธนาศีล 8 พร้อมคำแปล

คำอาราธนาศีล 8 คำอาราธนาอุโบสถศีล พร้อมคำแปล ระยะเวลาของการรักษาอุโบสถศีล เป้าหมายหลักในการรักษาอุโบสถศีล อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล https://dmc.tv/a16172

บทความธรรมะ Dhamma Articles > บทสวดมนต์
[ 16 ก.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18281 ]

ศีล 8

คำอาราธนาศีล 8


ศีล 8 คำอาราธนาศีล 8 พร้อมคำแปล
 
ศีล 8 คำอาราธนาศีล 8 พร้อมคำแปล 
 
        ศีล 8 มีความหมายคือสำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล 5 แต่เปลี่ยนข้อ 3 และเติมข้อ 6 - 7 - 8 คือ

      1. เว้นจากทำลายชีวิต
      2. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
      3. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
      4. เว้นจากพูดเท็จ
      5. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
      6. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
      7. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเคลื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
      8. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย

อุโบสถศีล คือ

     อุโบสถศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับพัฒนาตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเช่นเดียวกับศีล 8 อุบาสกอุบาสิกาจะ สมาทานรักษาเป็นประจำในวันพระ คือ วันขึ้น และแรม 8 ค่ำ 15 ค่ำ (แรม 14 ค่ำในเดือนขาด) มีองค์สิกขาบท และองค์แห่งศีลเหมือนกัน ต่างกันแต่คำอาราธนา คำสมาทาน และกาลเวลาที่กำหนดเท่านั้น

       อุโบสถ แปลว่า การเข้าอยู่ หรือดิถีอันวิเศษที่จะเข้าจำศีล การถืออุโบสถจะมีเวลากำหนด เช่น หนึ่งวันกับหนึ่งคืน โดยกำหนดเอาอรุณแห่งวันรุ่งขึ้นหรือเวลาใกล้อาทิตย์จะขึ้น ซึ่งมีสองระยะ คือ มีแสงขาว เรื่อๆ (แสงเงิน)และแสงแดง (แสงทอง) ในเวลาย่ำรุ่ง เป็นการหมดเขตการสมาทานหรือหมดเวลา การรักษาอุโบสถศีล ส่วนศีล 8 ไม่มีเวลากำหนด สามารถรักษาได้ตลอดเวลา

       การสมาทานอุโบสถศีล จะสมาทานร่วมกันทุกข้อ เรียกว่า เอกัชฌสมาทาน ดังนั้นการรักษา อุโบสศีลจึงต้องรักษารวมกันทุกสิกขาบทหรือทุกข้อ ถ้าขาดข้อใดไปก็คือว่าศีลขาดจากความเป็นผู้รักษา อุโบสถศีล
ประเภทของอุโบสถศีล

อุโบสถศีล แบ่งออกตามช่วงเวลาในการรักษาศีลได้เป็น 3 ประเภท คือ

     1. ปกติอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รักษากันในช่วงเวลา 1 วัน กับ 1 คืน โดยมากรักษากันในวันขึ้น หรือแรม 8 ค่ำ 15 ค่ำ หรือ แรม 14 ค่ำ ในเดือนคี่ หรือเป็นการรักษากันในวันพระนั่นเอง ปกติอุโบสถ จัดเป็นอุโบสถขั้นต้น

     2. ปฏิชาครอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่รักษากันในช่วงเวลานานถึง 3 วัน ตัวอย่างเช่น วัน 7 ค่ำ เป็นวันรับอุโบสถ วัน 8 ค่ำเป็นวันรักษาอุโบสถ วัน 9 ค่ำ เป็นวันส่งอุโบสถ รวมเป็น 3 วัน คือ วันรับ วันรักษา และวันส่ง ปฏิชาครอุโบสถจัดเป็น อุโบสถขั้นกลาง

     3. ปาฏิหาริยอุโบสถ ได้แก่ อุโบสถที่มีกำหนดเวลาดังนี้

          1) อย่างต่ำ เริ่มตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง แรม 14 ค่ำ เดือน 11 รวม 14 วัน

          2) อย่างสูง เริ่มตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 รวม 4 เดือน ปาฏิ- หาริยอุโบสถจัดเป็น อุโบสถขั้นสูง

อุโบสถ 3 ประเภท

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับนางวิสาขาเรื่องอุโบสถศีลไว้ใน อุโปสถสูตร1) ว่ามี 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งออกตามวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ คือ

     1. โคปาลกอุโบสถ    คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างคนเลี้ยงโค
     2. นิคัณฐอุโบสถ    คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างนิครนถ์
      3. อริยอุโบสถ    คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างอริยสาวก

     โคปาลกอุโบสถ เป็นของคนที่รักษาไม่จริง เมื่อสมาทานศีลอุโบสถแล้ว แทนที่จะรักษาและ ปฏิบัติธรรมตลอดหนึ่งวันหนึ่งคืน กลับไปคุยกันถึงเรื่องไร้สาระ เช่น วันนี้ได้กินอาหารอร่อยถูกปากอย่างนี้ พรุ่งนี้เราจะต้องเตรียมอาหารอย่างนี้มากินอีก เพราะอาหารอย่างนี้ใครๆ ก็ปรารถนา

     ดังนั้น จึงเรียกการรักษาอุโบสถประเภทนี้ว่า เป็นเหมือนคนเลี้ยงโคที่มอบโคคืนเจ้าของในตอนเย็น แล้วคิดว่า วันนี้โคเที่ยวหากินหญ้าที่ทุ้งหญ้าโน้น ดื่มน้ำที่ลำธารโน้น วันพรุ่งนี้จะต้อนไปทุ่งหญ้าโน้น ดื่มน้ำลำธารสายโน้น เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ
 
     นิคัณฐอุโบสถ เป็นการกระทำอย่างพวกนักบวชนิกายหนึ่งที่มีนามว่า นิครนถ์Ž (นักบวชนอกศาสนา ที่เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร ปัจจุบันคือศาสนาเชนที่ยังอยู่ในอินเดีย) มีวิธีการ คือ ชักชวนสาวกให้ต้อนตี สัตว์ไปในทิศทางต่างๆ บ้างก็ชักชวนกันให้เมตตาสัตว์บางชนิด บ้างก็ให้ทารุณกับสัตว์บางชนิด บ้างก็ ชักชวนให้สลัดผ้านุ่งห่มทุกชิ้นในวันอุโบสถ ฯลฯ

     พฤติกรรมของผู้ปฏิบัติอุโบสถทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

     อริยอุโบสถ เป็นการสมาทานรักษาอุโบสถของผู้ปรารภความเพียร คือ ทำจิตที่เศร้าหมองนั้นให้ ผ่องแผ้ว โดยระลึกถึงพระพุทธคุณ เมื่อระลึกอย่างนี้จิตย่อมผ่องใส เกิดปีติปราโมทย์ ละกิเลสเครื่อง เศร้าหมองของจิตเสียได้ ครั้นแล้วก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ พระสังฆคุณตามลำดับ หรืออีกอย่างหนึ่ง อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย เป็นไท ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกติเตียน เป็นทางแห่งสมาธิ เมื่อเธอระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมละอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้ หรืออีกอย่างหนึ่งระลึกถึงเทวดา และธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาว่า เทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี พรหมกายิกา และเหล่าเทวดาที่สูงขึ้นไป กว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้นๆ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นนั้นของเราก็มีอยู่พร้อมเหมือนกัน เมื่อระลึกอย่างนี้จิตย่อมผ่องใส เกิดปีติ ปราโมทย์ ละกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้

     อริยอุโบสถนั้น เป็นอุโบสถของพระอริยบุคคลผู้เว้นได้เด็ดขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลัก ทรัพย์ เว้นจากกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ เว้นจากการเสพของมึนเมา เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และการทัดทรง ตกแต่ง เครื่องประดับ เครื่องไล้ทา และเว้นจากการนั่ง หรือนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี
   
     แล้วตรัสต่อไปว่า อริยอุโบสถนี้ที่บุคคลสมาทานรักษาแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก

      ที่ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น พระพุทธองค์ทรงเปรียบให้นางวิสาขาเห็นว่า พระราชา เสวยราชสมบัติ และอธิปไตยในชนบทใหญ่ๆ ทั้ง 16 แคว้น สมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการ ถือว่า การเสวยราชสมบัตินี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แต่ยังไม่ได้ถึงเศษเสี้ยวที่ 16 ของอานิสงส์ที่เกิดจากการสมาทาน รักษาอุโบสถศีลเลย
 
1) อุโปสถสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 510 หน้า 382.
 

      อุโบสถศีล เป็นกุศลวิธีที่นำพามนุษย์ไปสู่ สวรรค์มาตั้งแต่มนุษย์ยุคต้นกัป ถ้าเป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เรียกว่า อุโบสถประกอบด้วยองค์ 8 ซึ่งก็หมายถึงรักษาศีล 8 ในวันพระนั่นเอง ในยุคสมัยที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ผู้ปรารถนาสวรรค์จะชักชวนกันรักษาอุโบสถศีล เพราะถือว่าเป็นอริยประเพณีที่มีมาช้านาน แม้กระทั่งพระเจ้าจักรพรรดิราช ก่อนจะทรงครองความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4 ก็ต้องสมาทานอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัดทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำ อานิสงส์ของอุโบสถศีลทำให้ รัตนะทั้ง 7 ประการ มีจักรแก้ว เป็นต้น บังเกิดขึ้น เป็นของคู่บุญ ทำให้พระองค์ทรงสามารถปกครองโลกให้เกิดสันติสุข ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์

อุโบสถศีล มี 8 ประการ

อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ 8 มีดังนี้ คือ

1. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
2. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
3. อพรหมจริยา เวรมณี งดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อการประพฤติผิดพรหมจรรย์
4. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ รวมถึงวจีกรรมในรูปแบบต่างๆ
5. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้น จากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. วิกาลโภชนา เวรมณี งดเว้นจากการบริโภค อาหารในเวลาวิกาล
7. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ลูบทาทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่อง ทาอันจัดว่าเป็นการแต่งตัว
8. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่
 
คำอาราธนาศีล 8

มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิมะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิมะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
(สมาทานคนเดียว เปลี่ยนคำว่า “มะยัง” เป็น “อะหัง” และ “ยาจามะ” เป็น “ยาจามิ”)
 
คำอาราธนาอุโบสถศีล


มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,อุโปสะถัง ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,อุโปสะถัง ยาจามะ
ตะติยัม มะยังภันเต ติสะระเณ นะสะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,อุโปสะถัง ยาจามะ
(สมาทานคนเดียว เปลี่ยนคำว่า “มะยัง” เป็น “อะหัง” และ “ยาจามะ” เป็น “ยาจามิ”)
 

 

บทไตรสรณคมน์


พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

คำสมาทานศีล 8 หมายถึง คำรับศีลจากพระภิกษุ

1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เจตนา เว้นจากการฆ่าด้วยตนเอง และใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

2. อทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว,ด้วยตัวเอง และใช้ให้ผู้อื่นฉ้อฉล

3. อพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำล่อลวงผู้อื่น

5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฺฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการ ดื่มน้ำเมา สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท

6. วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ( ตั้งแต่เที่ยงจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ )
 
7. นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนามาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฺฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่างๆและดูการละเล่นชนิดเป็นข้าศึกต่อกุศล และลูบทาทัดทรวงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี


8. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการนั่งนอนบนเตียงตั่งมีเท้าสูงเกินประมาณและที่นอนสูงใหญ่ภายในมีนุ่นและสำลี และเครื่องปูลาดอันวิจิตรงดงามต่างๆ

ถ้าให้อุโบสถศีล พึงว่าตามพระผู้ให้ศีลทีละท่อนดังต่อไปนี้
 
อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานอุโบสถ, ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้, อันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้, เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ขาดไม่ให้ทำลาย, ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้ )
 
พระว่าต่อ
 
อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ อุโปสะถะวะเสนะ มะนะสิกะริตวา สาธุกัง อัปปะมาเทนะ รักขิตัพพานิ

(พึงรับพร้อมกันว่า) อามะ ภันเต

แล้วพระสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไป ดังนี้  

สีเลนะ สุคะติง ยันติ
(บุคคลจะมีความสุขเพราะศีล)
สีเลนะ โภคสัมปะทา
(บุคคลจะมีโภคทรัพย์เพราะศีล)
สีเลนะ นิพพุติงยันติ
(บุคคลจะตรัสรู้เข้าสู่นิพพานได้เพราะศีล)
ตัสมา สีลัง วิโสธะเยฯ
(จงพากันทำศีลให้บริสุทธิ์ แล้วจะมีความสุขตลอดไป)
 

การรักษาอุโบสถศีล มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แม้ความสุขของ
พระราชาผู้ทรงเป็นใหญ่ใน 16 แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของอุโบสถ
ที่ประกอบด้วยองค์ 8 เพราะศีลนั้นทำให้เกิดในสวรรค์"

เป้าหมายหลักในการรักษาอุโบสถศีล

     เป้าหมายหลักในการรักษาอุโบสถศีลนั้น ก็เพื่อทำให้จิตใจสงบ ไม่กวัดแกว่งฟุ้งซ่านไปในเรื่องกามารมณ์แต่ยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถือ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ของคฤหัสถ์ผู้ที่ยังไม่ปรารถนาออกบวชโดยปกติวันพระ พุทธศาสนิกชน ที่สะดวกก็จะพากันแต่งชุดขาวไปสมาทานอุโบสถศีล และฟังธรรมที่วัด แล้วพักอาศัยอยู่ที่วัดจนกว่าจะครบกำหนด ถ้าไม่ได้ไปวัด ก็จะตั้งใจสมาทานศีล ด้วยตนเอง จะเปล่งวาจาสมาทานหรือเพียงแต่ตั้งเจตนาไว้ก็ได้ทั้งนั้น

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส อุปมาถึงอานิสงส์ ของการรักษาอุโบสถศีลไว้ว่า ถ้าจะนำมาเปรียบกับสมบัติของพระราชา ที่แม้จะครองความเป็นใหญ่ถึง 16 แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวของผลบุญอันเกิดจากการ รักษาอุโบสถเลย เพราะสมบัติมนุษย์เป็นสมบัติ หยาบเหมือนสมบัติของคนกำพร้า มีความสุขได้ไม่กี่ร้อยปีก็ต้องพลัดพรากซึ่งเทียบไม่ได้กับการได้เสวยทิพยสมบัติอันยาวนานในสวรรค์ที่เกิดจากอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถ

      การรักษาอุโบสถศีลนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสรักษาได้ไม่นาน แต่กลับสามารถส่งผลให้มีอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาดได้ ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า
 
ศีล 8 คำอาราธนาศีล 8 พร้อมคำแปล

เรื่อง ชายหาฟืนรักษาศีลครึ่งวัน

       ในสมัยพุทธกาล คนงานในบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำหน้าที่เป็นคนหาฟืน ต่อมาเมื่อถึงวันอุโบสถเขาลุกขึ้นไปทำงานหาฟืนแต่เช้าตรู่ เมื่อกลับมาจากป่าในยามบ่ายเห็นคนในบ้านรักษาอุโบสถศีลกันทุกคน โดยการงดอาหารหลังเที่ยงเป็นต้นไป เนื่องจากตัวเองเพิ่งสมัครเข้ามาทำงาน จึงไม่รู้ธรรมเนียมของบ้านหลังนี้ ได้ถามบริวารของท่านเศรษฐีว่า"ทำไมในวันนี้ ทุกคนในบ้านเงียบผิดปกติ และก็ดูเหมือนว่าจะเตรียมอาหาร ไว้ให้กระผมคนเดียว"
 
      บริวารตอบว่า "วันนี้เป็นวันพระ ทุกคนใน เรือนนี้หยุดงานเพื่อรักษาอุโบสถศีลกัน แม้เด็กที่ยังดื่มนมอยู่ท่านเศรษฐีก็ให้ดื่มปานะ เพื่อฝึกให้เด็กรักษาอุโบสถศีลตั้งแต่เล็กๆท่านเศรษฐีจึงสั่งให้ฉันจัดอาหารมาเพื่อนายคนเดียวเท่านั้น" หนุ่มหาฟืนคิดว่า "ถ้าเราได้รักษาอุโบสถบ้าง ก็น่าจะดีไม่น้อย" จึงถามท่านเศรษฐี "ท่านเศรษฐีถ้ากระผมเองจะรักษาอุโบสถศีลเพียงครึ่งวัน จะได้บุญบ้างไหม

      "ท่านเศรษฐีก็บอกว่า "ได้สิ แต่มันก็ได้ไม่เท่าคนที่เขารักษาทั้งวันหรอกนะ" เมื่อรู้ว่า นี่คือบุญพิเศษ ที่เราไม่ควรพลาด จึงได้สมาทานอุโบสถศีลด้วยความเต็มใจ แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน จึงหิวข้าวมากเพราะกรำงานตลอดทั้งวันพอตกกลางคืน เกิดลมตีท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด รู้สึกทรมาน มาก จึงเอาเชือกรัดท้องให้แน่นๆ เพื่อระงับอาการปวดท้องแต่ก็ไม่หายปวด

     เมื่อเศรษฐีทราบเรื่องเข้า จึงเอาน้ำอ้อยมาให้กินเพื่อระงับอาการปวดท้อง แต่หนุ่มหาฟืนก็ปฏิเสธ เพราะไม่อยากให้ศีลด่างพร้อย แม้ท่านเศรษฐีจะ คอยบอกเตือนว่า "อย่าทรมานตัวเองเลย วันพระไม่ได้มีหนเดียว เอาไว้รักษาวันพระหน้าก็ได้" แต่เขาก็ไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมตกบุญ ได้นอนนึกถึงอุโบสถศีลที่ตัวเองได้เต็มใจรักษาอย่างเอาชีวิตเป็น เดิมพัน ความปลื้มปีติได้ช่วยข่มความเจ็บปวดเอาไว้ แต่สังขารไม่อาจทนทานเอาไว้ได้ พอรุ่งเช้าปรากฏว่า ได้ละจากโลกนี้ด้วยจิตที่ผ่องใส แล้วได้มาเกิดเป็นรุกขเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ที่ต้นไทรแห่งหนึ่ง

อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล

      จะเห็นได้ว่า เพียงการรักษาอุโบสถครึ่งวันและทำด้วยความเต็มใจ ยังได้อานิสงส์ขนาดนี้ แล้วถ้าหากใครได้รักษาอยู่เนืองนิตย์อานิสงส์นั้นพรรณนา อย่างไรก็ไม่หมด เป็นบุญใหญ่ที่จะนำพาให้ได้สวรรค์สมบัติ เวียนวนอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ในที่สุดจะได้นิพพานสมบัติ เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจะได้รับอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาด อย่างน้อยๆ ก็สามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อ คือ
 
1. ย่อมได้รับโภคทรัพย์ใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ
2. เกียรติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปไกล
3. ผู้มีศีลเข้าไปสู่สมาคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน
4. ผู้มีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ คือ ไม่หลงเผลอสติในเวลาตาย
5. ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพ

     นอกจากนี้ ศีล ยังเป็นบาทเบื้องต้นแห่งสมาธิ ทำให้ใกล้ต่อมรรคผลนิพพาน ดังนั้นคนที่ตั้งใจรักษาศีลได้บริสุทธิ์ก็จะมีผลต่อการนั่งสมาธิไปด้วย ดังนั้น พุทธศาสนิกชนที่ดีก็ควรที่จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทั้งยังต้องเป็นกัลยาณมิตรชักชวนคนรอบข้างมาสั่งสมบุญใหญ่ ที่เกิดจากการรักษาอุโบสถศีล เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป

     บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าผู้มีศีลเป็นอาภรณ์ ผู้มีศีลย่อมติเตียนตนเองไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงศีลที่บริสุทธิ์ ย่อมเกิดปีติทุกเมื่อ

ศีลจึงเป็นรากฐานแห่งความดีทุกอย่างและกำจัดความชั่วทั้งปวง
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับศีล 8

คำอาราธนาศีล 5บทแผ่เมตตาบทกรวดน้ำ


http://goo.gl/EjIMG


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      คำอธิษฐานจิตถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัวและหลอดไฟ
      คำกล่าวถวายผ้าอาบน้ำฝนผ้าเช็ดตัวและหลอดไฟ
      โอวาทปาฏิโมกขาทิปาโฐ
      转法轮经 (บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ภาษาจีน)
      Dhammacakkappavattana Sutta
      รวมบทสวดมนต์ข้ามปี
      คำกล่าวถวายเครื่องกันหนาว
      คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา
      บทสวดมนต์พาหุงมหากา พร้อมคำแปล
      คําอธิษฐานจิตปล่อยปลา
      คำกล่าวถวายร่มเป็นสังฆทาน
      บทสวดธรรมกายานุสติกถา
      อานิสงส์ของการรักษาศีล 5




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related