ทึ่ง! หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน

หนึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้าพรรษา คือ การถวายเทียนพรรษา หรือบางแห่งมีการประยุกต์เป็นหลอดไฟฟ้า แต่โดยมากชาวพุทธจะนำเทียนไปถวายพระพร้อมกับปัจจัยอื่นๆ https://dmc.tv/a11730

บทความธรรมะ Dhamma Articles > เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
[ 28 ก.ค. 2554 ] - [ ผู้อ่าน : 18268 ]
 
ทึ่ง ! หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน
 
ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
        หนึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้าพรรษา คือ  การถวายเทียนพรรษา หรือบางแห่งมีการประยุกต์เป็นหลอดไฟฟ้า แต่โดยมากชาวพุทธจะนำเทียนไปถวายพระพร้อมกับปัจจัยอื่นๆ ขณะที่ "ประเพณีใส่บาตรเทียน" เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เกี่ยวเนื่องจากเทศกาลเข้าพรรษา เป็นขนบธรรมเนียมทางพุทธศาสนา ที่แตกต่างและน่าจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่วัดบุญยืน (พระอารามหลวง) อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
 
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีใส่บาตรเทียน ชาวเวียงสา จ.น่าน
 
        สถานที่นี้เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ในป่าไม้สัก จึงเรียกนามวัดนี้ว่า “วัดป่าสักงาม” เป็นพระอารามสำนักสงฆ์มาเป็นเวลานาน ต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญญา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารได้สร้างพระวิหารขึ้นเมื่อพ.ศ.2340 จนกระทั่ง พ.ศ.2343 ก็ได้ก่อตั้งสร้างพระพุทธรูปบางประทับยืนขึ้นไว้ในวิหาร 1 องค์ แล้วก็ได้เปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดบุญยืน” ตามลักษณะของพระประธาน และสร้างพระเจดีย์ไว้ด้านหลังวิหารเมื่อพ.ศ.2345"  พระมหาเกรียงไกร อหึสโก เจ้าอาวาสวัดบุญยืน เจ้าคณะอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน บอกเล่า

น้องๆนักเรียนร่วมใส่บาตรเทียน
น้องๆนักเรียนร่วมใส่บาตรเทียน

         ความสำคัญของวัดบุญยืนนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ปีพ.ศ.2485 ต่อมาในปีพ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จมายังวัดบุญยืนและทรงกราบพระประธานในพระวิหาร และในปีพ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานยกฐานเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ  ส่วนประเพณีใส่บาตรเทียนนั้นก็เชื่อกันว่าน่าเกิดขึ้นหลังจากสร้างวัดบุญยืนได้หนึ่งปี จนถึงปัจจุบันก็นับได้ว่าประเพณีนี้ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานถึง 210 ปีแล้ว

วัดบุญยืน สถานที่ประกอบพิธี
วัดบุญยืน สถานที่ประกอบพิธี
 
แสงสว่างกลางพรรษา

         ในอดีตตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะออกเดินทางจาริกโปรดสัตว์และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปยังที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธองค์จึงได้มีบัญญัติให้พระสงฆ์ เข้าพรรษาตลอดช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)
 
พระพุทธรูปปางประทับยืน พระประธานในวิหาร
พระพุทธรูปปางประทับยืน พระประธานในวิหาร
 
        ประเพณีสำคัญในฤดูเข้าพรรษา คือการหล่อและถวายเทียนพรรษา บางที่มีการตกแต่ง ประกวด แห่แหนเทียนพรรษาเป็นงานใหญ่ประจำปี "ตามที่กำหนดให้วันแรม 1 ค่ำเป็นวันเข้าพรรษา เรามาวิเคราะห์ว่าแต่วันแรกก็เป็นเดือนมืดเลย และมีพุทธบัญญัติว่าพระสงฆ์ต้องอยู่ในพรรษา 3 เดือน ก็เลยเกิดมีพระเพณีถวายเทียนเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ได้นำเทียนไปใช้ประโยชน์  คณะศรัทธาของวัดนี้ตั้งแต่ 100-200 ปีที่ผ่านมาคงจะมองเห็นตรงนี้ว่าพอแรม 1 ค่ำนี้ก็เดือนมืดแล้ว พระสงฆ์จะศึกษาพระวินัยก็ไม่ได้ ชาวบ้านก็เลยนำเทียนมาถวาย" อาจารย์ฉัตรชัย นันทวาสน์ ผู้ศรัทธาวัดบุญยืน เล่า
 
เทียนที่เตรียมมาใส่บาตร
 เทียนที่เตรียมมาใส่บาตร
 
        ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาประชาชนชาวอำเภอเวียงสาได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนาน ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อใดแต่เชื่อว่าน่าจะเริ่มขึ้นหลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2344 เชื่อกันว่าในยุคเริ่มต้นเป็นประเพณีนี้ทำเฉพาะวัดบุญยืน จนกระทั่งในระยะเวลาต่อมาได้ขยายไปยังวัดอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ประเพณีนี้เป็นที่ยึดถือปฏิบัติกันทั้ง 63 วัดในอำเภอเวียงสา โดยจะจัดการตักบาตรเทียนกันในวันหลังวันเข้าพรรษา หรือวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 เป็นประเพณีร่วมกันของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน 
 
        "จุดประสงค์ว่าทำไมต้องทำช่วงเข้าพรรษา ทำไมต้องถวายเทียนก็สอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระสงฆ์ สามเณร โบราณกาลไม่มีไฟฟ้า พระสงฆ์ศึกษาพระธรรมวินัยก็ต้องใช้เทียน ทุกวันนี้มีไฟฟ้าแต่เทียนก็ยังสำคัญ อย่างพระบางท่านที่ไปอยู่ป่าหรือที่ที่ไม่มีไฟฟ้า เราก็ได้สืบทอดมา เป็นการส่งเสริมพุทธบัญญัติโดยตรง ส่วนการใส่บาตรเทียนที่ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านนำเทียนไปใส่บาตรด้วยกัน พูดได้ว่าคงมีที่วัดบุญยืนแห่งนี้เท่านั้น ไม่มีที่ไหนในโลก" พระมหาเกรียงไกร เล่า
 

บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
  
ส่องทาง ส่องธรรม ส่องตน

         ไม่เพียงแต่เป็นการส่งมอบเทียนเพื่อเป็นแสงสว่างให้พระสงฆ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมวินัย แต่ประเพณีใส่บาตรเทียนยังแฝงความหมายของการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และการแสดงความอ่อนน้อมที่พระสงฆ์จะคารวะกันโดยยึดถือจำนวนพรรษาหรือปีที่บวชเป็นสำคัญ มากกว่าสมณศักดิ์หรือตำแหน่งในคณะสงฆ์    
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 
        พิธีการของประเพณีนี้จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยพระสงฆ์และสามเณรในอำเภอเวียงสา รวมไปถึงคณะศรัทธาสาธุชนจะเตรียมเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบ น้ำหอม ญาติโยมเตรียมกับข้าวใส่ปิ่นโตเพื่อเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์สามเณรที่ไปร่วมพิธี ฝ่ายพระสงฆ์และสามเณรจะนำผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าสบงไปปูไว้บนโต๊ะที่จัดไว้ต่อกันเป็นแถวยาว และตั้งบาตรบนผ้าอาบน้ำฝนเพื่อรองรับเทียนและดอกไม้ที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนใส่บาตรเทียน กระทั่งในช่วงบ่ายก็จะเริ่มพิธีใส่บาตรเทียน โดยพระสงฆ์จะเดินเรียงแถวกันนำเทียนและดอกไม้วางลงในบาตร โดยใส่เทียน 2 เล่มเพื่อบูชาพระธรรมและพระวินัย พร้อมด้วยดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ หลังจากพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมพิธีใส่บาตรเสร็จก็จะเป็นทีของคณะศรัทธาสาธุชนเดินใส่บาตรเทียนไปรอบโต๊ะที่ตั้งบาตรไว้
 
บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 บรรยากาศการใส่บาตรเทียน
 
        "ในส่วนของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันทั้งหมดนั้น จะมีการทำพิธีเคารพ "สุมาแก้ว 5 โกฐาก" ก็คือที่เราจะทำความเคารพ 5 ส่วน ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน พระสงฆ์ ทั้งพระอริยสงฆ์และสมมติสงฆ์ในปัจจุบัน หรือรวมเรียกว่าพระรัตนตรัย และที่เพิ่มมาคือพระกัมมัฏฐาน และส่วนที่ห้าคือพระอาจารย์ผู้สอนพระกัมมัฏฐาน เพราะบางที่ช่วงเข้าพรรษาจะมีการนิมนต์พระที่เชี่ยวชาญด้านพระกัมมัฏฐานภาวนามาประจำที่วัดเพื่อสอนกัมมัฏฐานให้พระสงฆ์ในวัด จากนั้นก็จะทำพิธีคารวะพระเถระผู้ใหญ่เป็นอันดับต่อไป"  พระมหาเกรียงไกร อธิบาย เมื่อเสร็จสิ้นการใส่บาตรเทียน พระสงฆ์ทั้งหมดก็จะกลับเข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อทำพิธี "สุมาคารวะ" หรือพิธีขอขมา และทำ "สามีจิกรรม" (กรรมที่สมควร คือการเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นต้น) ต่อพระเถระผู้มีอายุพรรษากาลมากเป็นลำดับไป
 
ทำพิธี สุมาคารวะ
ทำพิธี สุมาคารวะ
 
        ในการขอขมาต่อพระจะมีการตั้งชุดขอขมาซึ่งประกอบด้วย บาตรสำหรับใส่น้ำส้มป่อย น้ำอบ เทียน และดอกไม้ พิธีนี้จะกระทำภายในอุโบสถ โดยหลักแล้วถือว่าเป็นพิธีสำหรับสงฆ์เท่านั้น แต่หากคณะศรัทธาญาติโยมต้องการขอขมาก็สามารถร่วมได้หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหมด พระสงฆ์ที่เดินทางมาจากวัดต่างๆ ในอำเภอเวียงสา จะห่อเทียนและดอกไม้ด้วยผ้าสบงที่เตรียมมานำกลับวัดของตนเอง โดยเทียนที่ได้อาจนำไปจุดอ่านหนังสือเรียนท่องบทสวดมนต์ จุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นของมงคล
 
ประชาชนร่วมใส่บาตรเทียน
ประชาชนร่วมใส่บาตรเทียน
 
        วัตถุประสงค์ที่เห็นได้ชัดของประเพณีใส่บาตรเทียน คือเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้มีเทียนไว้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการจุดบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย และประกอบพิธีกรรมอื่นๆ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือส่งเสริมการปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของการแสดง "สามีจิกรรม" หรือการแสดงความเคารพระหว่างพระภิกษุผู้มีพรรษากาลอ่อนกว่าต่อพระเถระผู้มีพรรษากาลมากกว่า รวมทั้งเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมแสดงสามีจิกรรมต่อพระภิกษุที่จะอยู่จำพรรษาจนครบตามกำหนดเวลาสามเดือน
 
หนูน้อยมาร่วมใส่บาตรเทียน
หนูน้อยมาร่วมใส่บาตรเทียน

        นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำสุขมาให้” และเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวอำเภอเวียงสาให้คงอยู่ต่อไป

การฟ้อนรำของชาวเวียงสา หลังเสร็จพิธีใส่บาตรเทียน
การฟ้อนรำของชาวเวียงสา หลังเสร็จพิธีใส่บาตรเทียน

         "ประเพณีใส่บาตรเทียนมีหนึ่งเดียวในไทยและน่าจะหนึ่งเดียวในโลก เราถามผู้เฒ่าผู้แก่บอกเกิดมาก็เห็นแล้ว เดิมน่าจะเป็นเฉพาะกิจของสงฆ์ กุศโลบายน่าจะมีว่าเป็นการที่เอาพระทั้งอำเภอมารวมกันสักครั้งหนึ่งในรอบปีเพื่อคารวะพระเถระผู้ใหญ่ เป็นเรื่องความเคารพผู้ใหญ่ในอดีต ต่อมาฆราวาสมาร่วมด้วย ก็เลยกลายเป็นกิจของสงฆ์กับฆราวาสร่วมกัน เป็นประเพณีที่ทำร่วมกันมาตลอด" ลิขิต จันทรกำธร ตัวแทนกลุ่มฮักเมืองเวียงสา ระบุ

        เวลาผ่านไป ความเจริญผ่านมา แต่แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้ายังไม่สามารถลบเลือนประเพณีที่สืบทอดมาเหนียวแน่นยาวนานนับร้อยปี และเป็นหนึ่งเดียวในโลก อย่างประเพณี "ตักบาตรเทียน" ที่วัดบุญยืน จังหวัดน่าน
 

http://goo.gl/MTd86


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      เพลงวันสงกรานต์
      ทบทวนพระธรรมเทศนาหลวงพ่อธัมมชโย วันคุ้มครองโลก
      สารมุทิตา จากคณะกรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิมาลาลา เซเกรา ศรีลังกา เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สารมุทิตา จากประธานสหพันธ์พุทธนานาชาติ อินเดีย เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สารมุทิตา จากสมเด็จสังฆนายกบังคลาเทศ องค์ที่ 29 แห่งบังคลาเทศ เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2567
      คำขวัญวันเด็ก 2567 รวมคำขวัญวันเด็กทุกปี
      โอวาทหลวงพ่อธัมมชโย เนื่องในวันเข้าพรรษา
      พระประวัติ "สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
      โทษภัยของบุหรี่ ทำไมต้องมีกิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่
      วัดพระธรรมกาย เชิญชวนประชาชน ร่วมสวดธรรมจักร ถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในเวลา 19.00 น. พร้อมกันทั่วโลก
      โครงการธัมมจักกัปปวัตตนสูตร [ประวัติความเป็นมาของโครงการ]
      วันสงกรานต์ 2567 ประเพณีวันสงกรานต์ ประวัติความเป็นมาวันสงกรานต์




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related
เพลงวันสงกรานต์
   เพลงวันสงกรานต์ รูปภาพวันสงกรานต์สวยๆ การ์ดวันสงกรานต์ ประว..
(07 มี.ค. 2557)    ชม 18,497 ครั้ง