ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)

ประเพณีตักบาตรอยู่คู่กับคนไทยมานาน การตักบาตรมีรายละเอียดที่ควรรู้อย่างไร https://dmc.tv/a24493

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ข้อคิดรอบตัว
[ 6 ก.พ. 2562 ] - [ ผู้อ่าน : 18300 ]
ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)
ประเพณีตักบาตรอยู่คู่กับคนไทยมานาน การตักบาตรมีรายละเอียดที่ควรรู้อย่างไร

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง GBN



ทำไมพระภิกษุสงฆ์ถึงต้องมีการบิณฑบาตกับพุทธศาสนิกชน?
          พระภิกษุไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร เพราะฉะนั้นการยังชีพของพระภิกษุโดยพื้นฐานคือ เรื่องอาหารก็มาจากการบิณฑบาต ท่านเรียกว่าเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มีบาตรใบเดียวไปถึงไหนก็ไปได้  แล้วก็สองเท้าย่ำเดินในยามเช้า  มีคนใส่ก็ฉันไม่มีคนใส่ก็อด เพราะฉะนั้นโปร่งเบาจากการคิดว่าจะต้องไปประกอบอาชีพ ใจจะได้ปลงจากการแสวงหา แล้วมีเวลากับการปฎิบัติธรรมมากขึ้นท่านอุปมาว่า ภิกษุมีบาตรและมีจีวร จีวรก็สบงสังฆาฏิ แล้วก็ผ้าจีวรทั้งหมดสามผืน ไปไหนก็ไปได้ ทุกทิศ เหมือนนกที่มีปีกสองข้าง สามารถไปได้ทุกที่เพราะปัจจัย 4 ข้อพื้นฐาน ในภาวะที่ลำบากที่สุดการยังชีพของพระภิกษุ คือ 
 

          1.อาหาร ให้ยังชีพด้วยบิณฑบาตตั้งแต่พระบวชใหม่ พระอุปัชฌาย์จะให้โอวาทเรื่องนิสัย4  คือ เครื่องอาศัย 4 อย่าง  ปิณทิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ เต ยา วะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย  เธอจงยังชีพด้วยการบิณฑบาต และทำความอุตสาหะในการนี้จนตลอดชีวิต  พระพุทธเจ้าให้โอวาทอย่างนี้ แต่พระองค์ก็เปิดให้ว่า อติเรกกลาโภ คือ ลาภเป็นอดิเรกมาก็ได้ไม่มาก็ได้ คือถ้ามีใครนิมนต์จะไปฉัน หรือเอาอาหารมาถวายก็รับได้แต่ถึงแม้ไม่มีใครนิมนต์ไม่มีใครถวายก็ให้บิณฑบาตไป 
          2.จีวร ปังสุกูลละจีวรัง นิสสาย ปัพัชชา ตัตถะ เต ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย ใช้ผ้าสามผืน คือ ผ้าบังสกุลเรียบง่าย 
          3.ที่อยู่อาศัยหรือ รุกขะมูละเสนาสนัง นิสสาย ปัพพัชชา คือ อาศัยโคนต้นไม้เป็นที่พัก  ถึงแม้ไปไหนไม่มีที่อยู่ก็โคนต้นไม้ นั่งใต้ต้นไม้ ท่านยังไม่พูดถึงกลดด้วยซ้ำไป ถ้ามียังถือว่าเป็นของแถม ถึงแม้ไม่มีอะไรแค่อาศัยต้นไม้ใบไม้บังน้ำค้างให้ก็ถือว่าดีแล้ว 
          4. ยารักษาโรค เวลาป่วยไข้ คือ สมอดองด้วยน้ำปัสสาวะ ดื่มน้ำปัสสาวะตัวเองเป็นยารักษาโรค อันนี้ไม่ต้องพกอะไร เพราะมันอยู่ในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีติดตัว คือบาตรและจีวรเท่านั้นเอง ก็ไปได้ทุกที่ ในยุคนี้ไม่ค่อยขาดแคลนพระบิณฑบาตมีโยมใส่อาหารแต่ในยุดก่อนเราเป็นเมืองพุทธ อย่างสมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านนั่นเองมาศึกษาพระปริยัติธรรม พักที่วัดโพธิ์บิณฑบาต บางวันได้ข้าวปั้นเดียวกับกล้วยน้ำว้าผลเดียวเท่านั้นเอง ไม่อิ่มแต่ก็มีแค่นั้นฉันเท่านั้น ได้เท่าไหร่ก็ฉันเท่านั้น บิณฑบาตคือเป็นการยังชีพพื้นฐานของพระภิกษุ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ให้เป็นแนวทางเอาไว้

“ตักบาตร” กับ “ใส่บาตร” คำไหนเป็นคำที่ถูกต้อง?
 

         ใช้ได้ทั้งคู่ สมัยก่อนนิยมคำว่า “ตักบาตร” บรรพบุรุษเรามีใจละเอียดอ่อนมากและมีความเคารพในทาน จะถวายอะไรกับพระภิกษุจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่ตัวเองมี เช่น ข้าวหุงเสร็จก็จะเอาข้าวปากหม้อ ตักแล้วก็เอาไปใส่บาตรก่อน ที่เหลือตัวเองค่อยทาน จะไม่เอาของเหลือเดนไปถวายพระ เพราะฉะนั้นเมื่อเอาข้าวใส่ในขันหรือในโถ แล้วมีฝาปิด มีทัพพี พระผ่านมาก็ตักข้าวแล้วก็ใส่บาตร จึงเรียกว่า “ตักบาตร” ตักแล้วก็ใส่ในบาตร ต่อมาพอวิทยาการก้าวหน้า มีถุงพลาสติก แกงใส่ถุงหนึ่ง กับใส่ถุงหนึ่ง ข้าวใส่ถุงหนึ่ง หรือมีขนม ก็ใส่เป็นถุงๆ ถึงเวลาพระผ่านมาก็หยิบเอาถุงเหล่านี้ที่วางอยู่บนถาด แล้วก็ใส่บาตร อย่างนี้ไม่ใช่การตักแล้ว แค่หยิบถุงไปใส่ในบาตร จึงเกิดคำว่า “ใส่บาตร” ตามอากัปกิริยาในการที่จะทำภัตตาหารของเราใส่ลงในบาตรพระว่าเป็นการตักหรือการใส่นั่นเอง 
 
ในเมืองจะใช้การตักบาตรโดยถุงพลาสติก แต่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะปู่ย่าตายาย ท่านก็ยังชอบวิธีการตักบาตร มีทั้งข้าว ทั้งปลาร้า  มีทั้งโอวัลติน ทั้งขนมหวานรวมกัน เคยมีประสบการณ์แบบนี้บ้างหรือไม่?
 

          เป็นการสอนตัวเองว่า ฉันเพื่อยังชีพให้ดำรงอยู่ได้เท่านั้นให้มีพลังงานในการหล่อเลี้ยงสังขารร่างกายให้อยู่ได้ เพื่อใช้กำลังนั้นในการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ได้ฉันเพื่อเอาความเอร็ดอร่อย พอแยกเป็นอย่างๆไม่ได้ปนกันก็สามารถละเลียดลิ้นชิมรสชาติของกับข้าว ของขนมแต่ละอย่างๆ ได้แบบละเมียดละไมมากขึ้น สนองความอยากและความติดในรส แต่พอเป็นบิณฑบาต แล้วคนทำบุญจะเตรียมจะใส่อะไร พระมีหน้าที่เพียงแต่เดินไปตามทาง พอเห็นโยมยืนรอใส่บาตร เราก็หยุด แล้วแต่ความศรัทธาความพร้อมของญาติโยม กลับมาถึงพิจารณาอาหารเสร็จเรียบร้อย ก็ฉันกัน ด้วยความสงบสำรวมใส่อะไรผสมอยู่ในนั้น ก็ถือว่าบาตรทำหน้าที่แทนกระเพาะ ผสมกันเสร็จ แล้วก็ตักแล้วก็ฉัน นี้เป็นการฉันในบาตร บางทีเรียกว่าฉันสำรวม สำรวม หมายถึงว่าสำรวมใจ แล้วก็รู้ว่าอาหารใช้เพื่อให้เกิดพลังงานในการหล่อเลี้ยงร่างกาย เพื่อเราจะได้ใช้พลังงานนั้น ในการทำความดีเท่านั้นเอง แต่ภาพนี้ตอนนี้มีน้อยลงแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่ก็จะใช้ถุงพลาสติก

สำหรับการเตรียมอาหารสดนั้น ควรจะจัดเตรียมอย่างไรและมีข้อห้ามสำหรับอาหารสดใส่บาตรหรือไม่?
 

          ขึ้นอยู่กับความสะดวกของญาติโยม หากจะมีคือ อย่าใช้อาหารที่มีรสจัด เช่น อาหารเผ็ดจัด หากพระบางรูปท่านไม่คุ้นกับอาหารรสเผ็ด ฉันทีน้ำหูน้ำตาไหลไปหมดเลย ไปเสาะท้องท่านเดี๋ยวท่านจะท้องเสียท้องเราเองก็เราไม่รู้พระแต่ละรูป ท่านถนัดไม่ถนัดอะไรพื้นฐานครอบครัว เป็นอย่างไรก็เอาอาหารกลางๆที่ทุกคนจะสามารถฉันได้ ทุกรูปฉันได้ไม่ว่าจะพื้นฐานมาจากครอบครัวประเภทไหนก็ตาม แล้วขณะเดียวกัน ก็ขอให้คำนึงถึงสุขภาพของพระด้วย เนื่องจากพระไม่ได้เลือกเองโยมใส่อะไรมาก็ฉันตามนั้น บางทีโยมก็ใส่พวกทองหยิบทองหยอดทองฝอยขนมหวานต่างๆเยอะ ท่านฉันน้ำตาลมากเกินไปสุขภาพก็ไม่ค่อยดีอย่างนี้เป็นต้น เราก็ช่วยนึกแทนพระท่านด้วย ว่าอะไรที่ฉันแล้วดีต่อสุขภาพ เพราะท่านเลือกไม่ได้ เราเลือกแทน แล้วก็เอาอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด สารอาหารครบที่เหมาะสมแล้วก็ตักบาตรถวายท่านไป เราก็ชื่นใจ ท่านได้ฉันใดก็สุขภาพแข็งแรง สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ก็ยังดีขึ้นไปอีก
 
ในระยะหลังๆ มีกระแสของการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง บางคนตั้งข้อสงสัยว่า ในพระธรรมวินัยของพระ ไม่สามารถประกอบหรือปรุงอาหารได้ ควรจะบอกเรื่องนี้อย่างไร?
 

          เนื่องจากพระไปหุงอาหารเองไม่ได้ เช่น ผัดกับข้าวเองอย่างนี้ทำไม่ได้ ถ้ามีก็คือลูกศิษย์ทำ เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารแห้ง เนื่องจากในบางช่วงบางเทศกาลโยมมาใส่บาตรกันเยอะ อย่างวันเข้าพรรษาออกพรรษา คนมาใส่บาตรเยอะทำให้ฉันได้ไม่หมดเลย แต่บางวันคนก็มาน้อย บางวัดมีลูกศิษย์มีสามเณรเยอะ ทำให้ในวันธรรมดาอาหารไม่พอฉัน แต่วันบุญพิเศษวันวิสาขบูชา มาฆบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษาอาหารมาเยอะจนกระทั่งเหลือ น่าเสียดาย โยมบางส่วนรู้อย่างนี้ จึงใส่บาตรด้วยอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร เส้นหมี่เป็นถุงๆ เป็นต้น มีหลากหลายอย่าง ท่านไม่ได้หุงหาเองแต่มีลูกศิษย์ที่ทำหน้าที่หุงหาให้ วัดมักจะมีโรงครัวอยู่ด้วย ถึงคราวเจ้าหน้าที่ในโรงครัวลูกศิษย์ลูกหาก็จะไปช่วยเตรียมภัตตาหารไว้ให้ท่านวันไหนที่ญาติโยมไปทำงานและอาหารไม่พอก็จะทำมาเสริมอย่างนี้เป็นต้น ทำให้สิ่งที่เราเองถวายพระท่านไป เกิดประโยชน์ได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น
 
ทำไมเราใส่บาตรต้องถอดรองเท้า แล้วควรจะนั่งหรือยืนในการใส่บาตร?

 
          บรรพบุรุษชาวพุทธใจจะละเอียดอ่อนมากว่าไม่ควรจะอยู่สูงกว่าพระ ถ้าพระท่านเดินเท้าเปล่า แล้วเราใส่รองเท้าก็เหมือนกับว่าเราสูงกว่าพระ ท่านจึงถอดรองเท้า บางคนไม่รู้ถอดรองเท้าแล้วก็ไปอยู่บนรองเท้าที่ถอดนั่นแหละ อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเหตุที่ถอดรองเท้า เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ส่วนว่าจะยืนใส่บาตรหรือว่านั่งใส่บาตร แล้วแต่ความเหมาะสม เช่น ถ้าเป็นสมัยก่อนเป็นลักษณะการตักบาตรอุ้มขันข้าวแล้วก็ใช้ทัพพีตัก ถ้านั่งแล้วมาตักจะใส่ไม่ถึงบาตรพระ แต่ปัจจุบันเป็นอาหารที่ใส่ถุง ถ้าใส่ถุง แล้วนั่งที่พื้น ท่านผ่านมาก็หยิบอาหาร แล้วก็ใส่ลงไปในบาตรพระได้ง่ายๆ เราก็นั่งที่พื้น หรือขึ้นอยู่กับว่าพื้นตรงนั้นสะอาดไหม ชุดเราเหมาะที่จะให้นั่งที่พื้นหรือไม่ มันมีหลายองค์ประกอบ แต่โดยรวมให้ถือหลักอย่างนี้ว่า ให้ด้วยความเคารพในทาน ถอดรองเท้าควรเลย แล้วก็ใส่บาตรด้วยอาการเคารพนอบน้อม เหมาะที่จะยืน ยืน เหมาะที่จะนั่ง นั่ง แต่ด้วยความเคารพนอบน้อม ท่านมาถึงก็ยกมือไหว้ แล้วก็เริ่มใส่บาตรท่าน ด้วยความเคารพนอบน้อมในทาน 


รับชมคลิปวิดีโอตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 1 : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 1 : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 1 : ข้อคิดรอบตัว





พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำไมจีวรพระต้องเป็นสีเหลือง
      ขอไม่นับถือพระสงฆ์
      ข้อคิดธรรมะของพระสุธรรมญาณวิเทศ (สุธรรม สุธมฺโม) จากหนังสือ "หน้าสุดท้าย"
      I can’t respect monks, can I?
      กราบไหว้ทำไม งมงาย !
      Why do people have to pay homage? Ignorant!
      โซเดียม อันตรายใกล้ตัว
      บวชให้สุก
      พลังหญิง
      ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)
      ปัญหามรดก
      ยิ่งใหญ่ในรายละเอียด




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related