การกำจัดกิเลสด้วยบุญ

บุญจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะไปกำจัดกิเลส 3 ตระกูลคือโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ และคุณสมบัติเสื่อมลง https://dmc.tv/a8121

บทความธรรมะ Dhamma Articles > แก้กรรม-รู้ทันวิบากกรรม
[ 14 ก.ย. 2553 ] - [ ผู้อ่าน : 18256 ]
การกำจัดกิเลสด้วยบุญ
 
                บุญจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะไปกำจัดกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภะ  โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ และคุณสมบัติเสื่อมลง
 
               
               ทานจะไปกำจัดโลภะ คือ ความโลภ ความอยากได้สิ่งของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม ถ้ามีใครมีโลภะมาก ใจจะไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ โลภะจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทรัพย์สมบัติพร่องไป จึงต้องมาเกิดเป็นคนที่ขาดแคลนทรัพย์อยู่เสมอ
                แต่ถ้าใครทำทานอยู่เป็นนิตย์ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่นกระแสบุญจากการให้ทานจะดึงดูดโภคทรัพย์ให้เกิดขึ้น
 

                ศีลจะไปกำจัดโทสะ คือ ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาตผู้อื่น ถ้าใครรักษาไม่ดีจะทำให้โทสะกำเริบ และอาจไปทำร้ายคนอื่นจนพิกลพิการหรือถึงตาย จึงเป็นเหตุให้ตนเองมีรูปวิบัติ

                ถ้าใครตั้งใจรักษาศีล ไม่เบียดเบียนทำร้ายร่างกายทำลายชีวิตผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์แล้ว ก็จะไม่มีเวร ไม่มีโทษไม่มีวิบากกรรม ย่อมทำให้มีรูปสมบัติงดงาม ครบถ้วนบริบูรณ์ อายุขัยยืนยาว สุขภาพแข็งแรง
 
                
        ภาวนาจะไปกำจัดโมหะ คือความหลงผิด ไม่รู้ไม่เห็นไปตามความเป็นจริง ถ้าใครมีโมหะมากก็จะไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ตรงตามความเป็นจริง โมหะจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คุณสมบัติ คือ ความเฉลียวฉลาดไหวพริบปฏิภาณพร่องไป แต่ถ้าใครหมั่นเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอ ย่อมเห็นตัวเองเหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมตามความจริงและมีใจเป็นกลาง ทำให้อคติ คือ ความลำเอียงไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ ทำให้เกิดปัญญาเฉลียวฉลาด ทันโลก ทันคนทันกิเลสตัวเอง เมื่อหมั่นสร้างบุญด้วยทาน ศีล ภาวนาให้มากขึ้นจนมีกำลังอยู่เหนือกิเลสได้ ก็จะทำให้ความทุกข์ลดน้อยลงเพราะบุญจะดึงดูดทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติให้เกิดขึ้นกับเราให้มีความสุขมากขึ้น
 
                การสั่งสมบุญจึงเป็นงานสำคัญของชีวิต ที่ควรกระทำให้เป็นนิสัยจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้ได้ดังที่บรรพบุรุษไทยได้เคยกระทำกันมาดังนี้
 

เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว

วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน

คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งเข้านอน

                ทั้งทาน ศีล ภาวนา ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราทำครบทุกประการเราก็จะได้ครบทั้งทรัพย์สมบัติ (รวย) รูปสมบัติ (หล่อ ,สวย,แข็งแรง) และคุณสมบัติ (ฉลาด)

                เมื่อทำบุญแล้ว ก็ควรจะอธิษฐานกำกับไว้ด้วย โดยสำรวจดูว่า เรายังมีอะไรขาดตกบกพร่อง จะได้เติมให้สมบูรณ์ การอธิษฐานเป็นบารมีอย่างหนึ่งในบารมี 10 ทัศเรียกว่า “อธิษฐานบารมี” ถ้าเราอยากออกแบบชีวิตให้เป็นอย่างไร เมื่อสร้างบุญแล้วให้อธิษฐานกำกับซ้ำๆ บ่อยๆ บุญจะดลบันดาลให้สิ่งที่เราต้องการเกิดขึ้นได้ ทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปแล้วแต่กำลังบุญที่มีอยู่ การอธิษฐานเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบชีวิตให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ถ้าเปรียบการทำทานรักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เสมือนยานพาหนะที่พร้อมสำหรับการเดินทาง การอธิษฐานก็เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง
 

                ชาตินี้เราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักความเป็นจริงของชีวิต ได้มาสร้างบุญสร้างบารมีให้ชีวิตสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไปจนกว่าจะก้าวสู่จุดสูงสุดคือนิพพาน ในขณะที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น เราก็สามารถใช้ชีวิตนี้สร้างกรรมดีได้ยิ่งๆขึ้นไป ตามคำสอนของพระบรมศาสดาโดยมอบความไว้วางใจให้ทาน ศีล ภาวนา ช่วยดีไซน์ชีวิตของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วเราจะเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นโลกนี้มีสีสันสดใสสวยงามประดุจสีรุ้งที่ฉาบทาฟ้าหลังฝนตลอดเส้นทางในสังสารวัฏ

                  “สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในหลุมโสโครก หรือท่อโสโครกผู้ใดเทน้ำล้างหม้อ หรือน้ำล้างชามลงไปด้วย เจตนาให้สัตว์ในนั้นได้อาศัยเลี้ยงชีพ กรรมจากการเทน้ำนั้น ยังเป็นทางมาแห่งบุญจะกล่าวไปไยถึงการให้ทานในมนุษย์เล่า” (มก.34/22)
                  
ชีวิตเพียงวันเดียวของผู้มีศีลมีสมาธิยังประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปีของผู้ทุศีล ไร้สมาธิ (มก. 25/18)
 
อจินไตย หมายถึง สิ่งที่พ้นความคิด  สิ่งที่เป็นอจินไตย
มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ
1. พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  2. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน            
3. วิบากแห่งกรรม  4. ความคิดเรื่องโลก                  
                   
                  ฉะนั้นวิบากแห่งกรรมหรือการให้ผลของบุญบาป จึงเป็นสิ่งที่เกินความสามารถที่ปุถุชนจะคาดคิดได้
(วิสัย = ความสามารถ)

http://goo.gl/AKgfq


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      โทษภัยของการพนัน
      วิบากกรรมปาณาติบาต
      โทษภัยของการลักขโมย ผิดศีลข้อที่ 2
      วิบากกรรม วิบากกาม
      โทษภัยของการพูดโกหก ผิดศีลข้อที่ ๔
      วิบากกรรมที่ทำให้ท้องเสียและท้องผูก
      วิบากกรรมที่ทำให้เป็นวัณโรค
      วิบากกรรมที่ทำให้ฆ่าตัวตาย
      วิบากกรรมที่ทำให้หน้าแก่เกินวัย
      กรรมที่ทำให้มีขางาม
      ทุกข์ในอัตภาพสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์
      ฆ่าตัวตาย กรรมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย
      กรรมที่ทำให้รูปงาม