แต่เมื่อได้อ่านแล้ว
ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์และวิบากกรรม กฏแห่งกรรม ได้มากโข
ขอตัดบางส่วนบางตอนมาเล่าต่อ ส่วนบทความเต็มอ่านได้ที่นีค่ะ
http://manager.co.th...D=9510000023236
*********************************************************************
ในความคิดของตัวเอง คิดว่า คนเล่านี้ยังมีอีกมาก ที่ไม่รู้เรื่องราวความจริงของชีวิต
และ เฝ้ารอคนที่จะไปโปรดพวกเขา อย่างถูกหลักวิชา(กฏแห่งกรรม) เหมือนกัน
และแม้ว่า การทำบุญกับพวกเขาจะเป็นได้เพียง การสงเคราะห์โลก เท่านั้น...
ทำอย่างไรหนอ จึงช่วยคนจำนวนมากเล่านี้ให้รู้เรื่องราวที่สำคัญกับชีวิต
จริงดังที่คุณครูไม่ใหญ่ว่า ..... ทานบารมี เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆๆๆๆๆๆๆ
*************************************************************************
เนื้อหาบทความ
**เสน่ห์และความจริงที่สนามหลวง
สำหรับผู้ชายคนหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดในบริเวณสนามหลวงเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวงและคลองหลอดอย่างจริงจัง...
นที สรวารี หรือ ครูเอ็กซ์ ในฐานะนายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชน เล่าย้อนไปในคืนที่ฟ้าห่มผ้าลายดวงดาวขาว-ดำเมื่อ 3 ปีก่อนว่า หลังจากเหนื่อยอ่อนจากการลงพื้นที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อนในต่างจังหวัดแล้วแวะพักเหนื่อยที่สนามหลวงและเผลอหลับขณะที่ข้าวของอย่างโทรศัพท์มือถือ ตลอดรวมถึงกระเป๋าสตางค์ยังวางแบะที่หน้าอก คำพูดที่ว่าหากมาสนามหลวงของมีค่าหายไม่มีเหลือแน่เหมือนจะปลุกให้ตนเองตื่นขึ้นมา
แต่สิ่งที่เห็นเมื่อลืมตาพบก็คือมีชายแก่คนหนึ่งนั่งพัดปัดยุงและจุดยากันยุงให้ นี่เองทำให้ค้นพบคำตอบและอยากจะบอกให้คนอื่นๆ ได้เห็นแบบเดียวกันว่า นี่คือเสน่ห์เล็กๆ ของอีกมุมเมือง หากแต่ใส่ใจดูสักเพียงนิด
“สถานการณ์ของคนสนามหลวงตอนนี้จะมีตั้งแต่กลุ่มคนที่มีบ้านแต่ไม่อยากอยู่เพราะไม่มีความสุข อีกกลุ่มหนึ่งคือครอบครัวมีฐานะ แต่อาจจะเหงา เมื่อเขามาแถวนี้แล้วพบว่าคนที่นี่มีความเอื้อเฟื้อในความรู้สึกของเขา อาจจะด้วยการพูดคุย ร้องเพลงเฮฮา ก็ตัดสินใจมาอยู่ นอกจากนี้ยังมีคนที่เข้ามาทำงานแล้วถูกหลอก ไม่รู้จะไปไหน สนามหลวงก็เป็นที่พักสุดท้าย”
“คนที่ใช้พื้นที่คลองหลอดสนามหลวงมี 2- 3 ส่วนคือกลุ่มของผู้ขายบริการทั้งผู้หญิงและผู้ชายตลอด 24 ชั่วโมงมี 800-1,000 คน คนเร่ร่อนไร้บ้านมีไม่น้อยกว่า 50-80 ครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคนเร่ร่อนในละแวกนี้ไม่น้อยกว่า 200-300 คน ยังไม่รวมถึงคนที่มาแบบเดี่ยวๆ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 500 คน ตัวเลขค่อนข้างเยอะและไม่นิ่งตายตัว” ครูเอ็กซ์เล่า
**เรียนรู้ชีวิตจากครูข้างถนน
**เปิดใจนักเรียนข้างถนน
“ตอนแรกก็กลัวเลยแหละ แต่พอได้เข้ามาคุยก็รู้สึกดีขึ้น เห็นว่าชีวิตเขาเจออะไรที่โหดร้ายมาเยอะ แต่ว่าก็ยังไม่สนิทใจเพียงพอที่จะกล้ามาเดินแถวสนามหลวงคนเดียว...” นี่คือคำกล่าวของ ติ๊ก-สุดาวรรณ ผาสุข นักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันนี้ติ๊กมาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนเร่ร่อน เธอบอกว่าเพิ่งจะมาคลองหลอดสนามหลวงอย่างจริงจังเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้น ความหวาดหวั่นผ่านคำบอกเล่าจึงมีอยู่ให้เห็น ทว่าแววตาที่มองไปยังคนเร่ร่อนไร้บ้านก็ยังมีความอาทรแฝงอยู่นัยน์ตาคู่นั้นเช่นกัน
“ครั้งนี้มาศึกษาข้อมูลการกลับบ้านของคนเร่ร่อน แล้วก็ได้ข้อคิดดีๆ กลับบ้านไปด้วย เมื่อฟังคนเร่ร่อนได้เล่าเรื่องตัวเอง รู้สึกว่าพวกเขามีความภูมิใจในตัวเองที่อย่างน้อยยังมีคนรับฟังเรื่องราวทั้งดีหรือไม่ดีของพวกเขา เพราะอย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองพอจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นอยู่บ้าง” นักศึกษาปริญญาโทพูดเมื่อเราเดินผ่านกลุ่มคนไร้บ้านออกมา
**คำให้การคนไร้บ้านบางส่วนเสี้ยว
*** โจ้ และ อุ้ม หนุ่มสาวชาวสกลนครหน้าซื่อ ร่างกายของโจ้ผอมกะหร่อง สองขาที่ดูไร้เรี่ยวแรงยืนขายภาพวาดให้กับผู้มาถวายสักการะสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เขากลับมาเป็นคนสนามหลวงอีกครั้งหลังจากที่ลูกสาววัย 4 เดือนเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากตัดสินใจลาขาดสนามหลวงเพื่อไปทำงานที่กระบี่ แต่จนแล้วจนรอดเขาและภรรยาก็หนีวงเวียนนี้ไม่พ้น วันนี้โจ้บอกว่าเขาอยากจะเก็บเงินให้ได้เพียงพอที่จะจับรถไปกระบี่แล้วไปขอใบมรณะบัตรลูกสาว แล้วค่อยไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อใด
*** ป้าพร อดีตสาวเชียงใหม่การระเห็จออกจากบ้านตั้งแต่แรกสาว 18 ป้าพรตัดสินใจขายบริการ
“ป้าเลิกขายบริการเพราะสามีที่ดี เราสองคนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ และเลี้ยงลูกสาว 2 คนจนโต วันนี้ลูกสาวคนโตทำงานในบริษัทเอกชน คนเล็กเรียนปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เวลาที่นักเรียนมาเยี่ยม เอาขนมหรือหายามาให้ทำให้เราคิดถึงลูกนะ แต่ว่าถ้าเราไปอยู่ที่บ้านมันก็ไม่มีความสุข เพราะเขารักเรามากเกินไป ต้องกินเหมือนลูก ไปไหนกับลูก เวลาเขาไปทำงานเขาก็จะล็อกประตูจากด้านนอก ป้าไปไหนไม่ได้ มันเหงา สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาอีก วันนี้ยังอยากให้ลูกมาเยี่ยมบ้าง แต่ถามว่าจะให้กลับไปอยู่ด้วยอีกไหม ยังไม่รู้ เพราะอยู่นี่ป้าก็มีความสุขดี” มือหนึ่งปาดน้ำตา อีกมือหนึ่งป่ายเปะปะหาที่ยึดเหนี่ยวพอให้ร่างซูบผอมนั้นมั่นคง
**คืนสถานะทางสังคม ช่วยยาใจคนไร้บ้าน
นที บอกว่าตั้งแต่เริ่มมีอาสาสมัครมาลงพื้นที่
เห็นได้ชัดว่ามีการเกื้อกูลในสังคมเล็กๆ
การที่อาสาสมัครมานั่งคุยกับคนเร่ร่อนในเสื่อผืนเดียวกัน
เพียงเท่านี้ก็สามารถเรียกความเป็นมนุษย์ของคนไร้บ้านกลับมาได้
“การเรียกสถานภาพทางสังคมให้เขาด้วยการไหว้ มีนักศึกษา นักเรียนมาให้ความเคารพทำให้คนที่เคยแต่โดนก่นด่า
ถ่มน้ำลายรดหน้า ถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน ขอทาน ไร้ค่า จากที่เป็นไอ้ หรือ อี แต่
ณ วันหนึ่งมีคนมานั่งคุยคำว่าพี่ ป้า น้า อา กลับมาอีกครั้ง
เขากลายเป็นคนมีตัวตนอีกครั้งตามเสียงเรียกของเด็กๆ
นี่เป็นการกู้ศักดิ์ศรีของคนไร้บ้านได้ง่ายๆ
จากการพูดคุย หรือแบ่งปันด้วยความอ่อนน้อม
การยกมือไหว้ในฐานะที่เขามีวัยวุฒิที่สูงกว่าเพียงเท่านี้
เขาก็มีความสุขและเราก็จะรู้สึกมีความสุขด้วย”
************************
เรื่อง /ภาพ : กองทรัพย์ ชาตินาเสียว