วันที่ 3
: ล่องแม่น้ำคงคา
เช้าวันรุ่งขึ้น เวลาที่รถบัสออกจากโรงแรมนั้นยังไม่เห็นแสงอาทิตย์เลย เพราะว่านั้นเพิ่งจะตีห้า แต่ฉันก็ไม่รู้สึกง่วงเท่าไหร่นัก คงเป็นเพราะอยากจะเห็นแม่น้ำคงคาอันเลื่องชื่อ ที่รถบัสจะพาพวกเราไปในเช้านี้ ชื่อแม่น้ำนี้ในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า “Ganges” เหตุที่ต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษก็เพราะว่า แม่น้ำคงคานั้นเป็นสถานที่ๆ มีผู้คนมาใช้ตลอดเวลาเพราะถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ถ้าเราไปช่วงสาย คนที่มาใช้แม่น้ำคงคาก็จะล้นหลาม จนอาจจะทำให้การไปล่องแม่น้ำคงคาของเราหมดสนุกไปเลยก็ว่าได้
ท่ามกลางความมืด รถของเราได้จอดอยู่ ณ ที่หนึ่ง พี่ไกด์บอกว่ารถใหญ่ไม่สามารถเข้าไปถึงแม่น้ำคงคาได้ ดังนั้นพวกเราจึงต้องเดินเท้าฝ่าถนนและตลาดเข้าไป ฝนตกพรำๆ โชคดีที่ฟ้าเริ่มสางขึ้นบ้างแล้วจึงมองเห็นทางเดิน งานนี้คุณยายยอมใช้บริการรถแขกสามล้อถีบเพราะถนนค่อนข้างลื่นเละ สองข้างทางนั้นมีทั้งคนและสัตว์ และยังจะเห็นผู้คนที่คาดว่าคงจะเป็นพราหมณ์หรือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ถือภาชนะ ภายในมีน้ำสีแดงๆ เขาจะคอยมาแปะหน้าผากให้ เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ฉันเลือกที่จะไม่ให้เขาแปะ เมื่อคืนนี้ฝนคงจะตก พื้นจึงแฉะๆ ฉันและคนอื่นๆ จึงต้องคอยหลบแอ่งน้ำรวมไปถึงหลบกองมูลที่อยู่ตามพื้นด้วย ตอนแรกฉันนึกว่ากองมูลนี้มาจากโคที่ผู้เลี้ยงจูงมาบริเวณนั้น แต่ความจริงแล้วก็มีมูล..ด้วย ซึ่งต้องคอยเดินหลบให้ดีๆ เมื่อเดินตามถนนไปเรื่อยๆ พอเริ่มใกล้ถึงแม่น้ำคงคา ร้านค้าสองข้างทางก็เริ่มเพิ่มขึ้น และแล้วท่ามกลางฝนที่โปรยลงมาเราก็ถึงที่ท่าเรือ มีเรือที่รอเราอยู่สองลำ เป็นเรือขนาดใหญ่มาก มีผู้พายอยู่ท้ายเรือ เรือลำหนึ่งบรรทุกคนได้ประมาณสี่สิบกว่าคน แม่น้ำคงคานี้เชื่อกันว่าไหลมาจากภูเขาไกรลาสบนสรวงสรรค์ (ตามหลักภูมิศาสตร์ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล) เมื่อเขาเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เพราะมีที่มาจากสวรรค์ การทำพิธีกรรมต่างๆ ของชาวอินเดียจึงมาทำกันที่นี่
แต่พิธีกรรมที่น่าสนใจที่สุดคือ การเผาศพ ซึ่งผู้ชายเท่านั้นที่จะเข้าร่วมพิธีได้ แม้แต่แม่ของคนตายก็ไปเผาลูกตัวเองไม่ได้ ชาวฮินดูจะเผาศพแล้วทิ้งเถ้ากระดูกลงแม่น้ำคงคา หรือบางทีเผาเพียงแค่ไหม้เพราะไม่มีตังพอซื้อฟืนได้มากพอจนเผาหมดได้ เรียกว่าเผาพอเป็นพิธี แล้วก็จะทิ้งลงแม่น้ำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกศพจะเผาได้ทั้งหมด มีกรณียกเว้นบางประการเช่น ศพคนถูกงูกัด ศพผู้หญิงท้อง เป็นต้น จะห้ามเผา ให้ลอยคงคาเลย ดังนั้นการล่องเรือในแม่น้ำคงคานี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่จะมีศพมาติดตามเรือ ที่สำคัญศพที่จะมาลอยติดได้นั้น ก็จะต้องเป็นศพที่ขึ้นอืด หรือ ตายแล้วไม่ต่ำกว่าสองสามวัน ภาพที่เห็นจึงสุดจะบรรยาย แต่คงเป็นเพราะบุญกรรมวาสนาดีอย่างไรไม่ทราบ ศพทั้งหลายจึงพร้อมใจกันไม่เข้ามาติดเรือของเราในเช้าวันนั้น



บรรยากาศยามเช้าริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ฝั่งที่เห็นเงียบสงบ ไม่บ้านเรือนเลยนั้น เพราะชาวอินเดียถือว่าเป็นฝั่งนรก
ไฟที่ชาวอินเดียใช้จุดเผาศพนั้น ตั้งอยู่ในวิหารริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งกองไฟประธานว่ากันว่ามีมานานกว่าสามพันปีไม่เคยมอดดับ เพราะมีคนตายมาให้เผากันอยู่ตลอด ฝั่งที่เราขึ้นเรือนั้นเรียกกันว่าเป็นฝั่งสวรรค์ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นฝั่งนรก ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะฝั่งตรงข้ามนั้นแห้งแล้งกว่ามากๆ ทั้งยังเป็นที่ต่ำ จึงเกิดน้ำท่วมได้บ่อยครั้ง เมื่อเป็นที่ต่ำแล้ว ศพที่ลอยอืดก็จะไปเกยติดยังฝั่งตรงกันข้าม



ฝั่งนี้แหละ คือฝั่งสวรรค์
อาคารที่เห็นนั้นมีอายุนับพันปีเป็นโรงแรมสำหรับคนใกล้ตายรอเตรียมเผา ฟืนที่ใช้ในการเผาศพจะถูกลำเลียงมาทางเรือ
เผาเสร็จก็โปรยเถ้าลงคงคา ใครไม่มีตังพอซื้อไม้ฟืน ก็เผาพอเป็นพิธีแล้วก็ส่งลงคงคาเช่นกัน
เวลานี้ฟ้าสว่างแล้ว แต่ฝนก็ยังคงตกลงมาปรอยๆ เช่นเดิม เริ่มที่จะมีเรือจอแจมากขึ้น ที่นอกจากมาทำพิธีกรรมและล่องดูวัฒนธรรมแล้ว ยังมีเรือค้าขายอีกด้วย พวกเราเจอเรือมาเทียบพยายามเชื้อเชิญให้ซื้อของอยู่หลายลำ ของที่ขายนั้นก็ดูน่าซื้อ ส่วนมากเป็นเครื่องทองเหลือง แต่คงจะต้องต่อรองราคาให้ดีดี เพราะมิฉะนั้นจะเจอพ่อค้าแขกโก่งราคาเอาได้ นอกจากมาขายของแล้ว ยังมีมาขายปลา ปลาที่เห็นคงจะจับได้แถวนั้น เป็นปลาสร้อยปลาสอดธรรมดา แต่เขาขายพวกเราถึงร้อยบาท นอกจากสินค้าจะไม่น่าสนใจแล้ว ราคายังไม่เป็นที่ถูกใจอีกด้วย
พี่ไกด์ได้แนะนำเราว่าอย่าไปซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทองเหลืองที่น่ารักน่าเอ็นดูหรืออะไรก็ตามจากเรือเหล่านั้น ไม่ใช่ด้วยเพราะราคาสินค้า แต่ด้วยเหตุผลที่เรานึกไม่ถึง คือ เรือพ่อค้าเหล่านั้นที่มารุมเรือเรา เขาจะเกาะโหนเรือเราเอาไว้เป็นเรือโยงเรือแพเลย ทำให้ฝีพายเราต้องออกแรงพายอย่างหนักจนเหนื่อยหอบ โดยไม่มีสิทธิพูดจาหรือไล่ไม่ให้พ่อค้าเหล่านั้นมาเกาะเรือเราเลย เพราะพ่อค้าจัดว่าเป็นวรรณะศูทร ในขณะที่ฝีพายเราเป็นวรรณะจัณฑาลที่ตำกว่า ซึ่งไม่มีสิทธิหืออือใดๆ ทั้งสิ้น!! โถ น่าสงสารเขาจริงๆ เนี่ยขนาดรัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกระบบวรรณะมานานแล้ว แต่ค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่นั้น ยากจริงๆ ดังนั้นเพื่อช่วยไม่ให้เขาต้องออกแรงพายเหนื่อยมาก ก็อย่าซื้อเลย
ในขณะที่เขาตามตื้อเราอยู่นานมากๆ แต่ในที่สุด คงทนเห็นแรงความเฉยชาของผู้โดยสารในเรือเราไม่ไหว จึงย้ายเป้าหมายเป็นเรือลำอื่นๆ ต่อไป เมื่อหันไปทางท้ายเรือฉันก็เห็นฝีพายที่พายอยู่ด้วยความชำนาญ แต่อาจเป็นเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างร้อน เลยทำให้จังหวะที่ลมพัดมา โชยเอากลิ่นพิเศษมาด้วย ฉันจึงต้องเบือนหน้าหนีเข้าสู่ฝั่งทันที
สีสันของผ้าส่าหรีเริ่มหลากตาตามจำนวนของคนที่มาใช้บริการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มากขึ้นๆ อีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวอินเดียมักจะมากันในเวลาเช้าก็เพราะพวกเขามาทำพิธีบูชาพระอาทิตย์กัน เมื่อเรือจอดนิ่ง คนที่ซื้อกระทงดอกไม้มาจากฝั่งก็ได้ร่วมกันลอยกระทง เพื่อบูชาแม่น้ำคงคา กระทงนี้ราคาสิบบาทบ้าง ห้าบาทบ้าง ทำจากใบตองภายในมีกลีบดอกไม้ และมีเทียน ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการมาล่องแม่น้ำคงคาอันเลืองชื่อ ฝีพายได้พาพวกเราขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย ดูเหมือนว่าเราได้ทำอะไรหลายๆ อย่างในเช้านี้มาก ก็เนื่องจากเราได้ตื่นกันตั้งแต่ ตีสี่ ตีห้า เวลาข้าวเช้าของพวกเรานั้นจึงเพิ่งถึง ระหว่างทางออก ฉันกับน้องก็ได้ซื้อของติดไม้ติดมือไปบ้าง เช่น ที่แปะหน้าผากที่ฉันซื้อมาทั้งแผงเพียง สองบาทเท่านั้น และก็ยังมีเชือกผูกข้อมือหลากสีที่ราคาถูกไม่แพ้กัน

พอพระอาทิตย์ขึ้น ผู้คนที่มาอาบน้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ก็เริ่มหนาตาขึ้น


ทางเดินกลับขึ้นจากท่าน้ำริมฝั่งคงคา
เราขึ้นรถกลับโรงแรม โดยหลังจากรับประทานอาหารเช้ากันแล้ว รถบัสก็พาเราไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไปกราบนมัสการธรรมเมกขสถูป คือ สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์หลังจากที่ทรงตรัสรู้ได้ 8 สัปดาห์ แต่เดิมนั้นเมืองสารนาถเป็นที่เงียบ เป็นป่า ไม่ได้มีบ้านเมืองหนาแน่นอย่างเช่นปัจจุบัน ในสมัยโบราณใครคิดว่าตัวเองได้สำเร็จวิชาอะไรๆ แล้ว จะต้องเริ่มมาเผยแพร่ที่นี่ เพื่อให้นักปราชญ์และผู้คนในเมืองนี้ยอมรับ ดังนั้นปัญจวัคคีย์จึงเลือกที่จะมาบำเพ็ญเพียรที่นี่ ณ ที่นี้ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์จึงได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์จนขอบวชเป็นพระสงฆ์ ที่เราเรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชานั่นเอง
ธรรมเมกขสถูปได้ถูกทำลายหลายครั้งแต่ก็ยังคงสภาพได้ดีกว่าสถูปอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งวิหารมูลคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ทรงประทับและปฏิบัติธรรมเมื่อคราวเสด็จมาสารนาถ ซึ่งวิหารนี้แต่เดิมสูงถึง 61 เมตร (ตามคำบอกเล่าของพระถังซัมจั๋งที่เดินทางมาเมื่อประมาณพ.ศ.1280) พวกเราได้เดินเข้าไปในบริเวณฐานของธรรมเมกขสถูป เพื่อที่จะไปวางดอกไม้และเดินประทักษิณรอบพระสถูปเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ ผู้ใหญ่หลายท่านในคณะเราอุตส่าห์เตรียมดอกกล้วยไม้ช่องามๆ จากเมืองไทยมากราบบูชาพระสถูป และยังสดอยู่จนถึงวันนี้ด้วยเพราะดูแลมาเป็นอย่างดี ฉันและคุณแม่คุณยายเลยได้อานิสงส์มีดอกไม้งามๆ บูชาพระสถูปไปกับเขาด้วย เพราะท่านมีน้ำใจงามได้เผื่อแผ่แบ่งปันมายังเราที่ไม่ได้เตรียมมาเลย สาธุ...
ณ จุดที่พวกเรากำลังเดินวนอยู่ ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เป็นจุดแรกเริ่มของพระพุทธศาสนา จากนั้นพวกเราก็ได้เดินชมซากของกุฏิกว่าหนึ่งร้อยหลัง และถัดจากธรรมเมกขสถูปไปทางเหนือเล็กน้อยเราจะพบกับ เสาพระเจ้าอโศกซึ่งปัจจุบันไม่มีหัวเสาเหลือแล้ว บางส่วนก็ได้ไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสารนาถที่พวกเราได้ไปเชยชมมาเมื่อวานนี้ อากาศเย็นขึ้นเล็กน้อย เพราะปรอยฝนที่ตกลงมา ภาพด้านหลังของฉันก่อนที่จะขึ้นรสบัสเป็นภาพธรรมเมกขสถูปที่ตั้งสูงเด่นอยู่ ถึงแม้ว่าจะเห็นได้ไม่ชัดมากเพราะความถี่ของเม็ดฝน แต่ฉันก็สามารถเห็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตได้
จบตอนที่ 5 ค่ะ