ตอนที่ 6
วันที่ 3
: กุสินารา เมืองเล็กๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเลือก
มื้อกลางวันนี้พวกเราต้องรับประทานกันให้อิ่มท้องกันเป็นพิเศษ และยังต้องเตรียมเข้าห้องน้ำห้องท่ากันให้เรียบร้อยด้วย เพราะตลอดบ่ายนี้พวกเราจะต้องใช้เวลาทั้งหมดในการเดินทางนั่งรถไกลเพื่อไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน การเดินทางของเราในครั้งนี้พระอาจารย์ยังคงเดินทางร่วมไปกับคณะด้วย ท่านอยู่ศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อินเดียมาเป็นเวลาร่วมสิบปี ท่านจึงมีความรู้ไม่ใช่เพียงพระพุทธศาสนา ยังมีเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อของชาวอินเดียด้วย ซึ่งท่านบอกว่าเรียนรู้ประเทศอินเดียนี้ สิบปีที่ท่านอยู่ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีหลายความคิด ความเชื่อและเชื้อชาติ วิถีชีวิตจึงแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ท่านเองเคยถูกโจรแขกมอมยาปล้นทรัพย์จนสลบไปสองวันสองคืนก็เคยมาแล้ว มารู้ตัวอีกทีสงสัยว่าตัวเองมานอนอยู่ข้างถนนได้ยังไง เงินในย่ามถูกขโมยไปเกลี้ยง ก็ยังดีที่โจรยังไว้ชีวิตท่าน แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตโปรดพุทธศาสนิกชนที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเดินทางมานมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียอยู่ตลอดมา เวลาในการเดินทางก็ล่วงเลยไปหลายชั่วโมงแล้ว พวกเราบางคนก็ผลอยหลับไปบ้าง มองเหม่อดูทัศนียภาพข้างทางบ้าง แต่พระอาจารย์ของเรายังคงบรรยายทั้งเรื่องราวของอินเดีย เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่สนุกสนาน รวมไปถึงธรรมะที่น่ารู้ด้วย ด้วยความเมตตาของท่านนี้ทำให้ฉันได้ประเด็นหลายประเด็นในการเขียนครั้งนี้ด้วย อย่างเช่นเมืองกุสินาราที่เรากำลังเดินทางไปนี้ อยู่ห่างจากเมืองโครักขปุระ (Gorakhpur) ประมาณ 55 กิโลเมตรและมีสนามบินทหารด้วย ท่านก็เล่าที่มาของชื่อเมืองว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีแม่โคกับปูตัวหนึ่ง ทั้งสองหลงรักกันจึงเป็นที่มาของชื่อเมืองว่า “โครักกับปู” ทำเอาพวกเราที่ตั้งใจฟังต้องขำกลิ้งนึกว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ทำให้เราจำชื่อเมืองสุดท้ายก่อนที่เราจะอำลาอินเดียนี้ได้แม่น
การเดินทางรถในเมืองแขกบนถนนซุปเปอร์ ที่ไม่ใช่ Super Highway แต่เป็น Super Slow จากที่ควรจะวิ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็กลายเป็นสิบชั่วโมงได้อย่างมหัศจรรย์ ดังนั้นพระอาจารย์ท่านจึงมีเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าให้พวกเราฟังได้ตลอดการเดินทาง ทั้งพุทธประวัติและประสบการณ์ของท่านเองในฐานะที่อยู่อินเดียมากว่า 10 ปี ท่านพูดและฟังภาษาแขกได้เป็นอย่างดี มีอยู่ตอนหนึ่งท่านเล่าประสบการณ์การถอนฟันกับหมอแขกให้ฟัง ตอนนั้นท่านปวดฟันบ่อยเพราะฟันผุ หมอตรวจดูแล้วบอกว่าต้องถอนฟันกรามซี่นั้นทิ้ง ก่อนถอนฟันหมอก็ได้ฉีดยาชาให้เพื่อจะได้ไม่ปวด เมื่อหมอเริ่มลงมือถอน อาจจะด้วยเพราะยาชายังไม่ออกฤทธ์ดี ท่านจึงยังรู้สึกเจ็บอยู่ ปากก็พูดไมได้เพราะอุปกรณ์ถอนฟันคาอยู่เต็มปาก จึงพยายามจะยกมือบอกว่ายังเจ็บอยู่ แต่หมอก็นึกว่าท่านจะดิ้น จึงให้ผู้ช่วยมาผูกมือไว้กับเก้าอี้ถอนฟันแล้วเริ่มปฏิบัติการต่อ เพราะเดี๋ยวพอยาชาออกฤทธิ์ก็หายเจ็บเอง แต่ท่านก็ยังไม่หยุดดิ้นแล้วยังร้องลั่น
หมอก็บอกว่า “ภันเต อย่าร้องดิ้นโวยวายซิ อยู่เฉยๆ”
ว่าแล้วหมอก็ทำหน้าที่ของแกต่อไปด้วยความโมโหที่เห็นท่านดิ้นอาละวาดขนาดนี้ แต่ท่านก็ยังไม่หยุดร้องดิ้น รวมทั้งส่วนล่างของร่างกายท่านที่ยังเป็นอิสระอยู่ก็ถูกนำมาใช้ คือทั้งยันทั้งถีบชุลมุนไปหมด คราวนี้หมอแกเกณฑ์ผู้ช่วยมาหมดร้าน ให้มาช่วยกันโดยให้คนหนึ่งขึ้นคร่อมทับตัวท่านไว้ อีกสองคนล็อคขา ส่วนตัวหมอก็ปลุกปล้ำกับการถอนฟันที่ทั้งงัดทั้งดึงอย่างทุลักทุเลกว่าจะดึงเจ้าฟันซี่นั้นออกมาได้ ในสภาพที่เลือดกลบปากท่านและมีเสียงร้องโหยหวนของท่านเป็น background
พอหมอถอนฟันเสร็จ ก็ดุท่านใหญ่เลยว่า “ถอนฟันแค่นี้ ทำไมภันเตต้องร้องโวยวายด้วย”
“ก็มันเจ็บน่ะซิ ถึงได้ร้อง” ท่านบอก
“จะเจ็บได้ยังไง ก็ในเมื่อหมอฉีดยาชาให้แล้ว” หมอตวาดเสียงเข้ม
“ก็ไม่รู้น่ะ มันเจ็บอย่างสุดจะทน เจ็บมากปางตายก็แล้วกัน” ท่านตอบอย่างโมโหด้วยเสียงอู้อี้ สำลีเต็มปาก ในสภาพที่หน้าบวมโย้ไปข้างนึง
หมอทำหน้าครุ่นคิด แล้วเดินไปที่ถังขยะ เก็บขวดเปล่าของยาชาที่โยนทิ้งไปแล้วขึ้นมาดู หมออ่านดูที่สลากข้างขวดสักพักแล้วหันบอกกับท่านว่า
“ Sorry ภันเต ไอ้ที่ฉีดให้เมื่อกี้น่ะ ไม่ใช่ยาชา สงสัยผู้ช่วยหยิบยาผิดขวด เดี๋ยวหมอฉีดยาชาให้ใหม่ก็แล้วกัน”
“......?!!.???!!!....”
ปัดโธ่.. เล่นโดนถอนฟันสดๆ แล้วยังจะมีหน้ามาให้ฉีดยาชาตามทีหลัง ท่านบอกว่าครื้งนั้น หน้าท่านบวมโย้ไปอีกสามวันกว่าจะยุบ นี่แหละค่ะ ประสบการณ์ถอนฟันกับหมอแขกของท่านมหาน้อย
โยกไป ก็โยกมา ตัวพวกเราโอนเอียงตามหลุมตามบ่อของถนน จนกระทั่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็หยุดลง เพราะว่าการจราจรเริ่มติดขัด ผู้คนที่หลับบางคนก็ตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์รอบตัว รวมไปถึงฉันด้วย ฉันมองไปทางเท้าด้านซ้ายมือของรถ มีรถกระบะคันนึงจอดอยู่ริมทาง ดูเหมือนกับว่าจะเป็นคนขับที่กำลังง่วนอยู่กับการทำอะไรซักอย่างที่ข้างๆ รถนั้น พวกเราเริ่มสงสัยและย้ายตัวไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่าภาพที่เห็นคือ คนขับรถคนนั้นกำลังเชือดไก่ที่บรรทุกมาจากหลังกระบะ ทุกคนอึ้งกับโศกนาฏกรรมที่เห็นกันซึ่งๆ หน้า ฉันยังไม่ทันเห็นว่าคืออะไร ก็เบือนหน้าเสียก่อน
เวลาใกล้ค่ำ ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปตามหน้าที่ของมัน ทั้งรถ ทั้งคนขับรถ ทั้งม้าลาที่เดินอยู่ข้างๆ ถนน รวมไปถึงกระเพาะปัสสาวะของพวกเราด้วย หลังจากอั้นกันมานาน ก็ถึงจุดที่ไม่ไหวกันแล้ว หันไปรอบๆ ก็มีแต่ทุ่งเขียวไปหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายซะทีเดียว เพราะทุ่งนี้แหละคือ ห้องปลดทุกข์ของเรา โชคดีหน่อยที่คนขับรถสามารถหาซากบ้านร้างได้ พวกเราชาวสตรีเพศจึงรู้สึกมิดชิดมากขึ้น ฝ่ายชายก็ได้ข้ามไปปลดกันอีกฝั่ง ณ เวลานั้น ทั้งฐานะ วัย นิสัยใจคอ ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นของพวกเราอีกแล้ว เพราะต่างคนก็ต่างหามุมแล้วก็........สบาย กันถ้วนหน้า เมื่อทุกคนเดินขึ้นรถก็ได้ดอกไม้ และกระต่ายกันคนละตัวสองตัว ..
ท้องฟ้าเริ่มมืดแล้ว ระหว่างทางเราได้จอดแวะที่พักกลางทางอีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าห้องน้ำและดื่มชา คราวนี้เป็นห้องน้ำของจริงไม่อิงทุ่ง แต่ก็เป็นห้องน้ำแบบแขกๆ พอหลับหูหลับตาเข้าไปไหว ที่ชื่นใจผู้ใหญ่หลายท่านก็คงจะเป็นชานมร้อนๆ ของเขาที่เตรียมไว้ให้เรา เรียกตามภาษาเขาว่า “ไจ” กลิ่นหอมทีเดียว และในที่สุดโรงแรมของพวกเราก็อยู่ตรงหน้าแล้ว รวมเวลาในการเดินทางจากพาราณสีถึงกุสินาราทั้งหมดก็ประมาณ 9 ชั่วโมง บนระยะทางเพียง 268 กิโลเมตร!!
วันที่ 4
: ปรินิพพานวิหารและมกุฎพันธเจดีย์
เช้าวันรุ่งขึ้นที่กุสินารา เมืองนี้สมัยเมื่อพระถังซัมจั๋งมาเยือนได้วาดภาพเมืองกุสินาราที่รุ่งเรืองในสมัยนั้นไว้เป็นที่ระลึกนำกลับไปเมืองจีน น่าเสียดายที่เมืองถูกทิ้งให้ทรุดโทรม ซึ่งภาพวาดเหล่านั้นได้เป็นประโยชน์ต่อการขุดค้นทางโบราณคดีในอีกหลายร้อยปีต่อมา ในสมัยของพระพุทธองค์ พระราชาแคว้นใหญ่ๆ และผู้คนต่างสงสัยว่าทำไมทรงเลือกปรินิพพานที่เมืองเล็กๆ อย่างนี้ จึงทรงตรัสว่าเมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ และเคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้าจักรพรรดิสุทัสสนะ
พวกเราก็ลุยจาริกแสวงบุญกันต่อโดยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน มีต้าสาละปลูกอยู่เยอะ แต่ฉันไม่เห็นต้นรังนะ ลืมถามเขาไปเหมือนกันว่าเป็นต้นไหน ปัจจุบันนี้ทางการอินเดียได้ปรับปรุงดูแลอุทยานต้นสาละนี้ ให้เป็นอุทยานที่ร่มรื่นสวยงาม จากทางที่รถจอดไปถึงปรินิพพานวิหาร ก็ใช้ระยะทางพอสมควร ดูเหมือนว่าฝนจะเพิ่งตกไปไม่นาน ทางเข้าจึงมีแอ่งน้ำเจิ่งนองอยู่หลายแอ่ง แต่ก็ทำให้บรรยากาศ ณ ตอนนี้ น่าเดินเล่นเป็นอย่างมาก ไม่นานนักพวกเราก็ได้เดินเข้าไปในปรินิพพานวิหาร ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ ยาว 20 ฟุต หรือประมาณ 6 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ และหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

พระนอนที่วิหารมหาปรินิพพานซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองมธุระ
ตอนออกมานอกวิหาร ฉันหันไปเห็นขอทานร่างเล็ก ในมือถือไม้กวาดมาคอยกวาดลานพระวิหารและช่วยจัดเรียงรองเท้าให้นักท่องเที่ยว โดยหวังเพียงเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีใครเมตตาให้ แต่ปรากฏว่าฉันเข้าใจผิดถนัด เพราะพระอาจารย์มหาน้อยบอกว่า ชายร่างเล็ก เนื้อตัวมอมแมม เคี้ยวหมาก หน้าเปื้อนยิ้มผู้นี้ เขามีเงินฝากธนาคารถึง 20 ล้านรูปี (ประมาณ 20 ล้านบาท!!!!) อุแม่เจ้า อะไรกันเนี่ย แล้วพระอาจารย์ก็เล่าแจ้งแถลงไขว่า เขาคือเจ้าของที่ดินบริเวณมหาวิหารปรินิพพานแห่งนี้ และประกอบอาชีพด้วยการเป็นขอทาน เพราะมีแต่ที่ดิน ไม่มีตัง ทางการได้พยายามขอซื้อที่ดินนี้จากเขามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทำอย่างไรเขาก็ไม่ยอมขาย เพราะกลัวว่าจะไม่มีที่ไปขอทาน (เอ..หรือจะเป็นเพราะว่าที่นั่นมีมาเฟียขอทาน ห้ามหากินล้ำแดนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้) จนกระทั่งในที่สุดเขาใจอ่อนยอมขายให้ในราคา 20 ล้านรูปี โดยมีข้อแม้ว่า ยังต้องให้เขาเป็นคนดูแลปรินิพพานวิหารและยังคงประกอบอาชีพขอทานที่นี่ได้เหมือนเดิม! โอ๊ย..ลมจะใส่ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นขอทานเศรษฐีที่นี่ Only in India!
เหตุผลที่เขายังขอเป็นขอทานอยู่ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร ก็เป็นขอทานมาตั้งแต่เกิดน่ะ มีเงินก็ใช้ไม่เป็น ยังอยู่กระต๊อบดินหลังเดิม เฮ้อ! อย่างนี้จะเรียกว่า มีบุญแต่กรรมบังรึเปล่าเนี่ย..
ภายในวิหารเป็นบรรยากาศที่สงบมาก ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนเข้าไปสักการบูชาแน่นขนัด หลังจากนั้นพวกเราก็ไปเสียเวลาเสียหลายนาทีที่ด้านหน้าของปรินิพพานวิหารนี้ สิ่งที่ทำให้พวกเรายอมเสียเวลาอันมีค่าของการเดินทางนี้ ถ้าไม่รวมช้อปปิ้งแล้ว ก็คือการถ่ายรูปนี่แหละ
คราวนี้เป็นการถ่ายรูปหมู่ คณะของเราก็มีจำนวนร่วมร้อย ต่างคนก็ต่างหาจุดของตัวเอง ต่างคนต่างครอบครัวก็ยังนำกล้องส่วนตัวมาอีก จึงทำให้ฉันต้องฉีกยิ้มอยู่เป็นเวลานาน หลังจากพักให้กล้ามเนื้อหน้าหายเมื่อยกันแล้ว พวกเราก็เดินชมรอบๆ อุทยาน มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยคือ ต้นสาละ ซึ่งต้นที่เราเห็นนี้ไม่ใช่ต้นที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล แต่ได้ปลูกใหม่เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึง หลังจากมานมัสการวิหารสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว พวกเราก็ไม่ควรพลาดที่จะไปนมัสการมกุฎพันธเจดีย์ด้วย ซึ่งก็คือสถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ตอนเดินกลับ ขอทานเศรษฐี เดินตามมาส่ง พร้อมกับยื่นใบสาละที่หล่นดินส่งให้เราเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก พร้อมกับรอยยิ้มสีหมากและสายตาที่รอคอย.. แน่นอนค่ะ รอคอยว่าหวังจะได้เศษตังเล็กๆ น้อยๆ จากพวกเรา ผู้ใหญ่หลายคนส่งตังให้ เพื่อเพิ่มยอดเงินฝากในธนาคารให้เขาซักหน่อย ก่อนจะเดินขึ้นรถไป
มกุฎพันธเจดีย์นั้นเป็นสถูปที่มีฐานใหญ่มาก แต่ก็พังทลายไปมากแล้ว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะได้สร้างถวาย โดยภายหลังได้มีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุในพระโกศทองคำ รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียในสมัยนั้นได้ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยได้ทำพิธีมอบกันที่เมืองโครักขปุระ ทรงให้นำบางส่วนไปไว้ที่เจดีย์ภูเขาทองและส่วนใหญ่ไว้ที่พระเจดีย์เกาะลอย(พระเจดีย์กลางน้ำ) ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเรียกว่าพระสมุทรเจดีย์ แต่ไม่ได้อยู่กลางน้ำแล้ว เพราะแผ่นดินได้งอกมาเชื่อมกัน และทรงประกาศให้ประเทศที่เป็นเมืองพุทธประเทศใดต้องการจะแบ่งไปบูชา ก็ทรงยินดีที่จะแบ่งให้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีหลายประเทศส่งตัวแทนเข้ามารับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ

มกุฎพันธเจดีย์ สถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า
จากมกุฎพันธเจดีย์ เราได้ออกเดินทางไปยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เพื่อทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกัน ได้กราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี ท่านเจ้าอาวาสด้วย ท่านเป็นพระเถระที่งดงามและเป็นพระธรรมฑูตรุ่นบุกเบิกในอินเดียก็แทบจะว่าได้ ตัวอุโบสถของวัดก็สวยงามมากเป็นสีขาวทั้งหลัง
วันที่ 4
: ข้ามพรมแดนอินเดียเข้าสู่เนปาล
มื้อเที่ยงของวันนี้ เป็นมื้อเที่ยงมื้อสุดท้ายที่พวกเราจะได้รับประทานกันที่อินเดีย เพราะบ่ายนี้ขบวนรถบัสของพวกเราจะมุ่งหน้าไปยังเนปาล เพื่อไปยังสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ระยะทางไม่ไกลจากกันมาก ประมาณ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางก่อนถึงด่านที่พรมแดน คุณแม่บอกว่าเดี๋ยวนี้ ได้มีคณะผู้แสวงบุญชาวไทยรวมทั้งการบินไทยด้วย ร่วมกันสร้างห้องน้ำและที่พักสงฆ์เอาไว้ก่อนถึงด่านสักหนึ่งชั่วไมงได้มั้ง โดยการนำของท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นที่พักระหว่างทาง รวมทั้งบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงหรือเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ที่ทำให้ด่านปิดเข้าเมืองเนปาลไม่ได้ จะได้เป็นที่พักแรมรอสำหรับทั้งพระทั้งคนที่แสวงบุญ พอด่านเปิดค่อยเดินทางใหม่
การเดินทางข้ามพรมแดน ต้องมีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง รถของเราจอดตรงจุดนั้นครู่ใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่นอกจากจะเช็คเอกสารแล้ว ยังเช็คความปลอดภัยด้วยว่า คนไทยในรถบัสนี้มีใครแอบพกพาอาวุธอันตรายหรือเปล่า พี่ไกด์ผู้คล่องแคล่วของเรา ได้เตรียมยาหม่องขาวตาลิงแพ็คใหญ่เพื่อเป็นใบเบิกทางในการข้ามแดน ที่จริงวิธีนี้ไม่ดีเลย แต่ดูเหมือนว่าในอินเดียต้องใช้เยอะ บางที่ต้องเป็นกระดาษพิเศษที่มีรูปท่านคานธีด้วย (ตัง) ถึงจะเรียบร้อย
ระหว่างรอฉันนั่งมองไปรอบๆ ด่านตรวจ พบกับผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ จุดประสงค์การเดินทางข้ามพรมแดนก็แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าโลกเราจะมีการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ซึ่งติดต่อกันไปมา ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากซีกโลกหนึ่งไปอีกซีกโลกหนึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามกับการเดินทาง ซึ่งดูเหมือนว่าการจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละที่นั้นจะมีข้อแม้ที่ทำให้เราต้องยากลำบากมากขึ้นๆ คิดนู่นคิดนี่ รู้ตัวอีกทีฉันและคณะทัวร์ก็มาถึงสวนลุมพีนีวัน อันเป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์กันแล้ว
แล้วฉันจะเล่าต่อในตอนหน้านะคะ คิดว่าคงจะเป็นตอนสุดท้ายแล้ว
จบตอนที่ 6 ค่ะ