การจับผิดของสังคมไทยนั้นถูกสื่อออกมาทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต และอื่นๆ เช่นละครทีวี และสื่อเหล่านี้เองก็ถูกผลิตโดยมันสมอง และดวงใจหมองๆ ของคนที่จ้องจับผิด ผู้รับสื่อจึงเรียนรู้การจับผิดผ่านกระบวนการสื่อสารอย่างไม่รู้ตัว และเกิดติดเป็นนิสัยขึ้นมากันทั่วประเทศ
สำหรับ "วิธีจับผิด" ที่ผมเรียนมาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้น อาจารย์ฝรั่งท่านสอนมาอย่างนี้ครับ
1. นำกระดาษขึ้นมาหนึ่งแผ่น
2. ลากเส้นคั่นกลางหน้ากระดาษ
3. ข้างซ้ายเขียนว่า "ข้อดี" ข้างขวาเขียนว่า "ข้อเสีย"
4. ให้เราคิดออกมาให้ได้มากที่สุดว่าเรื่องที่เราจะวิเคราะห์นั้น มีข้อดีอะไรบ้าง ข้อเสียอะไรบ้าง ใส่มาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะคิดออก
5. หากคิดคนเดียวไม่รอบคอบพอ ให้รวมกลุ่มกันกับเพื่อนเพื่อระดมความคิด เพราะเราคนเดียวอาจมีอคติต่อหัวข้อนั้น
6. พิจารณาดูจากข้อดีข้อเสียที่ได้ในหน้ากระดาษเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
หลายปีต่อมา ผมกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ปรากฏว่าการเรียนการสอนไม่มีแนวความคิดเรื่อง ข้อดี ข้อเสีย แบบนี้ครับ ส่วนมากแล้วผู้สอนจะใช้วิธีชี้นำและฟันธงบอกนักศึกษาว่าอะไรถูก หรือผิดตามความเห็นและประสบการณ์ของตน ซึ่งแน่นอนว่า อคติมีย่อมมีอิทธิพลต่อการหาข้อสรุปแบบนี้
หากคุณอยากทราบว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า ลองคลิ๊กเข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์ไทยสักฉบับก็ได้ครับ แล้วลองสังเกตดูว่า ข่าวสารนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูล แบบข้อดี ข้อเสีย แล้วจึงสรุป หรือว่าชี้นำและฟันธง
