ธุดงค์ธรรมชัย ทุกย่างก้าวบำเพ็ญสมณธรรม

ธุดงค์ธรรมชัย ทุกย่างก้าวบำเพ็ญสมณธรรม ตามที่ได้เคยพบเห็นพระธุดงค์กันมาแต่โบราณ พระธุดงค์ต่างเดินจาริกเข้าไปในป่า ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมในป่า อาจจะดูแปลกๆ ที่โครงการธุดงค์ธรรมชัยบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ปีที่ 3 นี้กลับเดินเข้าไปในระแวกชุมชน https://dmc.tv/a14970

บทความธรรมะ Dhamma Articles > มหาปูชนียาจารย์
[ 22 ธ.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18272 ]
ธุดงค์ธรรมชัย สร้างบุญใหญ่น้อมถวายเป็นพุทธบูชา  
 
  
ธุดงค์ธรรมชัย ทุกย่างก้าวบำเพ็ญสมณธรรม

โดย ทีมงาน dmc.tv

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาออกธุดงค์เพื่อขจัดกิเลสในตัวให้เบาบาง

         ตามที่ได้เคยพบเห็นพระธุดงค์กันมาแต่โบราณกาล พระธุดงค์ต่างเดินจาริกเข้าไปในป่า ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมในป่า
จึงอาจจะดูแปลกๆ ที่โครงการธุดงค์ธรรมชัยบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ปีที่ 2 นี้กลับเดินเข้าไปในระแวกชุมชน ซึ่งแท้จริงแล้วการธุดงค์ไม่ว่าจะธุดงค์ไปที่ไหนก็ตาม วัตถุประสงค์ของการธุดงค์ก็เพื่อทำกิเลสให้เบาบาง

ธุดงค์ธรรมชัยอัญเชิญหลวงปู่ทองคำ
พระภิกษุสงฆ์จะยาตราไปในทางใด แม้ไม่ใช่ป่า แต่เป็นเมือง ก็ยังมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ มุ่งกำจัดกิเลสในตัว และได้เป็นเนื้อนาบุญให้แก่ญาติโยมที่มารอต้อนรับ / ในภาพเป็นธุดงค์ธรรมชัยอัญเชิญหลวงปู่ทองคำวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 เดินจากสนามกีฬาเทพหัสดิน ถึง ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รวมระยะทาง 5.50 กิโลเมตร


       วัตถุประสงค์ของธุดงค์ธรรมชัยนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้พระธุดงค์ได้ฝึกตนขจัดกิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อที่จะปลูกฝังศลธรรมให้แก่ชุมชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านศีลธรรมให้แก่เครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ดังนั้นประโยชน์จึงเกิดทั้งแก่พระธุดงค์ แก่ชุมชน และแก่พระพุทธศาสนา และธุดงค์ธรรมชัยยังถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของธุดงควัตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ด้วย   

        ธุดงค์คือข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ เพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษ เพื่อให้เกิดความสบายไม่มีภาระมาก ธุดงค์นั้นเป็นข้อปฏิบัติ จัดเป็นการสมาทานความเพียร แต่ไม่จัดว่าเป็นศึล พระภิกษุรูปใดมีศรัทธาจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ จะถือธุดงควัตรกี่ข้อก็ได้ และในการธุดงค์นั้นหากไม่ได้ถือธุดงควัตรข้ออยู่ป่า นั่นก็คือ จะถือธุดงควัตรที่ใดก็ได้

        พระธุดงค์ธรรมชัยทั้ง 1,128 รูปนั้นได้สมาทานธุดงควัตร 2 ข้อ คือ เอกาสนิกังคะ สมาทานองค์แห่งผู้ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียว นั่นคือท่านจะฉันภัตตาหารมื้อเช้าเพียงมื้อเดียว ไม่ได้ฉันเพล เพื่อนำเวลาที่เหลือจากการฉันไปฝึกฝนอบรมตนในกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ

        และสมาทานธุดงควัตรข้อ ยถาสันถติกังคะ คือ สมาทานองค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะตามแต่ที่เขาจัดให้ คือ เมื่อเดินธุดงค์จาริกไปถึงที่ไหน ท่านก็จะพักในสถานที่ตามแต่ที่เจ้าของสถานที่จะจัดสรรให้ เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อเจ้าของสถานที่ ทั้งยังฝึกฝนตนเองให้รู้จักพอใจเพียงพอในสิ่งที่ตนได้รับ

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
เมื่อพระภิกษุสงฆ์ธุดงค์ไปในที่ใดแล้วก็จะใช้เวลาในการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนาอยู่เป็นปกติ
 
       พระธุดงค์ธรรมชัยทั้ง 1,129  รูป ได้ฝึกฝนอบรมตนเองทั้งปฏิบัติธรรม ศึกษานักธรรม พระไตรปิฎก ท่องบทสวดมนต์ ฝึกการอยู่ร่วมกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และได้ออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเป็นเนื้อนาบุญให้แก่สาธุชนที่มาคอยต้อนรับ

        ในเช้าของวันเดินธุดงค์นั้นพระธุดงค์ได้สมาทานธุดงค์วัตร ฉันเช้า และออกเดินธุดงค์ โดยต้องแบกบริขารที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ซึ่งหนักกว่า 5 กิโลกรัม เดินธุดงค์วันละไม่ต่ำกว่า 16 กิโลเมตร ระหว่างเดินธุดงค์นั้น จะเดินโดยแบกกลดไว้ไหล่ขวา และสะพายย่ามไว้ไหล่ซ้าย ซึ่งในย่ามพระธุดงค์นั้นมีเพียงบริขารของพระและอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น เช่น บาตร จีวร กระบอกน้ำ มีดโนหนวด เครื่องสรงน้ำ เครื่องนอน เป็นต้น  โดยตลอดการเส้นทางการเดินธุดงค์นั้น พระธุดงค์จะไม่เปลี่ยนท่าในการเดินเลย คือเดินท่าเดียวตลอดเส้นทาง ไหล่ขวาแบกกลด ไหล่ซ้ายสะพายบาตร ซึ่งใช้เวลาเดินกว่าวันละ 6 ชั่วโมง ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุยามบ่าย

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
ตลอดเส้นทางที่พระธุดงค์ในโครงการธุดงค์ธรรมชัยนี้ยาตราผ่านไป  ภาพพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก นับพันกว่ารูป แจ่มชัดในใจผู้คนที่มาต้อนรับ ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองไปอีกยาวนาน
 
 
        เมื่อความเมื่อยล้า ความร้อน ความเหนื่อย ความหิวกระหาย เกิดขึ้นแก่พระธุดงค์ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือต้องอดทน บำเพ็ญสมณธรรมเรื่อยไป พระธุดงค์จะแกะหรือจะเกาก็ดูไม่งาม สายตาต้องทอดลงต่ำตลอดเวลา จะมองซ้ายขวาโดยไม่สำรวมไม่ได้เลย เพราะญาติโยมสาธุชนที่มาคอยต้อนรับก็นั่งอยู่เต็มตลอดเส้นทาง พระธุดงค์จึงต้องสำรวมระวังอย่างมาก คือ “มองกลาง มองทาง” ระหว่างเดินธุดงค์ก็ทำสมาธิไปด้วย ซึ่งนั่นก็คือ การเดินจงกรม พระธุดงค์บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกความอดทน ทั้งยังต้องต่อสู้กับความไม่สบายกาย และสู้กับกิเลสภายในใจที่จะคอยดึงใจให้ออกนอกตัวอยู่ตลอดเวลา

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
ม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไร พระธุดงค์ในโครงการธุดงค์ธรรมชัยก็ยังคงสงบ นิ่งเฉย ตรึกธรรมะตลอดเวลางดงามเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาแก่สาธุชนที่ได้พบเห็นยิ่งนัก

       เมื่อเดินถึงที่พักค้างในแต่ละวัน หลังจากพักฉันน้ำปานะเสร็จแล้ว ท่านต้องกางกลดในจุดที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ไม่มีสิทธิ์เลือกสถานที่กางกลดตามความชอบใจ ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ อีกทั้งยังได้ฝึกการเป็นผู้ไม่เรื่องมาก และยินดีในสิ่งที่ถึงแก่ตน ตามวัตถุประสงค์ของธุดงควัตรข้อ ยถาสันถติกังคะ

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
ความเป็นอยู่ของพระธุดงค์ในโครงการธุดงค์ธรรมชัย เรียบง่าย สะอาด เป็นระบบระเบียบ ทำให้แม้การอยู่รวมกันของพระนับพันกว่ารูป ก็ไม่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายเลย
 

         เป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ห้องน้ำห้องท่า ที่ตากผ้าซักผ้า เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ย่อมไม่เพียงพอ ต้องจัดระบบและแบ่งปันกันใช้อย่างประหยัด การเข้าพักค้างของพระธุดงค์จึงไม่ได้มีความสะดวกสบายมากนัก ดังนั้นพระธุดงค์ต้องรู้จักประมาณในการรับปัจจัย 4 รู้จักคำว่าเพียงพอเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
สมณกิจใดๆ ที่พระภิกษุสงฆ์พึงทำ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น การเจริญสมาธิภาวนา การท่องบาลี ตำรานักธรรม ก็เป็นสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติกันตลอด
 
        อีกทั้งพระธุดงค์ยังต้องระวังกิเลสภายในใจของตน เพราะพระธุดงค์ทุกรูปต่างก็เหน็ดเหนื่อยจากการเดินธุดงค์ทั้งสิ้น ต่างก็อยากจะพักผ่อนหรือได้รับความสบายทางร่างกายบ้าง ดังนั้นก็อาจเกิดการกระทบกระทั่งขึ้นได้ง่าย จึงต้องระวังกิเลสในใจ โดยเฉพาะกิเลสตัวโทสะ คือต้องระวังความโกรธเคืองไม่พอใจ  และกิเลสตัวทิฏฐิมานะคือต้องไม่เป็นผู้ว่ายากสอนยาก ต้องยอมรับฟังซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคณะสงฆ์ พระธุดงค์จึงต้องอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ การเดินธุดงค์ธรรมชัยจึงถือเป็นบทฝึกฝนขัดเกลากิเลสให้ออกไปจากใจอย่างดียิ่ง

        ในช่วงหัวค่ำ หลังจากที่ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว พระธุดงค์ทุกรูปจะรวมกันสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม รับฟังโอวาทจากพระอาจารย์ หรือจากเจ้าอาวาสเจ้าของสถานที่ที่พักค้างในคืนนั้นๆ และแยกย้ายกันเข้าจำวัตร ซึ่งก่อนจำวัตรพระธุดงค์ทุกรูปก็จะนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอยู่ในกลดเพื่อให้จิตใจปล่อยวางจากเรื่องภายนอก แล้วล้มตัวลงจำวัตรอย่างมีสติในอู่แห่งทะเลบุญ


        ในเช้าของวันใหม่ พระธุดงค์ธรรมชัยต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เก็บกลด จัดบริขารเพื่อเตรียมเดินธุดงค์ในวันใหม่ ทำภารกิจส่วนตัว สวดมนต์ทำวัตรเช้า และนั่งสมาธิ จนถึงเวลาที่ศรัทธาสาธุชน นำภัตตาหารคาวหวานมาถวายพระธุดงค์

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
เมื่อรุ่งอรุณวันใหม่มาถึง ก็เป็นวันที่บรรดาสาธุชนทั้งหลายได้โอกาสนำภัตตาหารมาถวายแด่คณะพระธุดงค์ โดยท่านจะรับอาหารกันอย่างสงบ เงียบ และมีสติรู้ตัว

        ในการรับภัตตาหารของพระธุดงค์นั้น หากพระธุดงค์รับภัตตาหารมามากเกินไป ก็จะอิ่มเกิน จุก เกิดความไม่สบายท้องเป็นทุกข์ และเดินธุดงค์ด้วยความลำบาก แต่หากพระธุดงค์รับภัตตาหารน้อยเกินไป ในช่วงบ่ายๆ ก็จะเกิดความหิวและเป็นทุกข์เช่นกัน ดังนั้นพระธุดงค์ต้องรู้จักประมาณในการรับภัตตาหารให้พอดี และในระหว่างที่ฉันภัตตาหารนั้น ก็ต้องพิจารณาว่า ภัตตาหารมื้อนี้ไม่ได้ฉันเพื่อความอร่อยมัวเมาในรสอาหาร แต่ฉันเพื่อจะเป็นเรี่ยวแรงกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้ญาติโยมที่มาถวายได้บุญมากที่สุด

        หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว พระธุดงค์ก็พร้อมจะออกเดินธุดงค์ และเป็นเนื้อนาบุญให้กับสาธุชนที่มาร่วมต้อนรับและอนุโมทนาสาธุการตลอดเส้นทางที่ท่านย่างก้าวไป

ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
ภาพประวัติศาสตร์ของพระธุดงค์กองพันสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)


ธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 2
ทุกย่างก้าวของพระธุดงค์ธรรมชัยที่ แบกลด สะพายย่าม มาเป็นเนื้อนาบุญนี้ จึงเป็นไปเพื่อการฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ ตรงตามหลักธุงควัตรอย่างแท้จริง

         จะเห็นได้ว่าพระธุดงค์ธรรมชัยทั้ง 1,128 รูปนั้น บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะทุกย่างก้าวตลอดการเดินธุดงค์ธรรมชัยทั้ง 26 วัน รวมระยะทาง 446 กิโลเมตร  ธุดงค์ธรรมชัยนี้จึงเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสอาสวะ เพื่อความมักน้อยสันโดษ เพื่อความยินดีตามมีตามได้   ธุดงค์ธรรมชัยจึงถูกต้องตามหลักของธุดงควัตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้อย่างแท้จริง
 
..............................................................................................
 
โครงการธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปีที่ 2

http://goo.gl/igRl8


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      พิธีหล่อรูปเหมือนทองคำคุณยายฯ เพื่อประดิษฐาน ณ อาคาร 100 ปี
      ขอเรียนเชิญร่วมตอกเสาเข็มสถาปนาอนุสรณ์สถานบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559
      ธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5 วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559