ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 3

ท่านเสนกะนิ่งตรวจดูทิศอันเป็นมงคลอยู่ครู่หนึ่ง ด้วยกำลังคำนวณตามพยากรณ์ศาสตร์ที่ตนได้ร่ำเรียนมา ไม่ช้าก็กราบทูลทำนายประหนึ่งเห็นด้วยตาทิพย์ว่า“วันนี้เป็นวันที่บัณฑิตนั้นถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา หรือมิฉะนั้นก็คงเป็นวันที่เขาคลอดจากครรภ์มารดา พระเจ้าข้า” https://dmc.tv/a2127

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ทศชาติชาดก > มโหสถบัณฑิต
[ 12 ก.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18277 ]
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 3
 

        จากตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งวิเทหรัฐอันรุ่งเรือง ราชธานีมีนามว่า มิถิลานคร เป็นมหานครอันคับคั่งด้วยชาวประชา คลาคล่ำไปด้วยผู้คนซึ่งเดินทางผ่านไปมาเพื่อประกอบการค้าขายมิได้ขาด

        เจ้าเหนือหัวผู้เป็นจอมราชาแห่งแคว้นวิเทหรัฐ ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช ท้าวเธอทรงมีราชบัณฑิตประจำราชสำนักถึง ๔ ท่าน มีนามตามลำดับอาวุโส คือ อาจารย์เสนกะ อาจารย์ปุกกุสะ อาจารย์กามินทะ และอาจารย์เทวินทะ จึงทำให้วิเทหรัฐสงบร่มเย็นและรุ่งเรืองเรื่อยมา   จนกระทั่งในคืนวันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง พระเจ้าวิเทหราชขณะบรรทมเหนือพระแท่นไสยาสน์ ทรงพระสุบินนิมิตว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้งสี่ทิศ มีกองเพลิง ๔ กองลุกโชติช่วง แต่แล้วก็มีกองเพลิงอีกกองหนึ่ง ผุดขึ้นท่ามกลางกองเพลิงทั้งสี่นั้น ลุกโพลงจนกลบความสว่างของกองเพลิงทั้งสี่ไปเสียสิ้น แสงนั้นพลันเจิดจ้าไปทั่วจักรวาล กระจ่างยิ่งกว่าแสงแห่งดวงดาวและแสงอาทิตย์ แผ่ไพศาลไปจรดถึงพรหมโลก แต่กลับเป็นแสงที่เย็นฉ่ำนวลตาประดุจแสงจันทร์ ปวงเทพเทวาและเหล่ามนุษย์ที่สัญจรไปมา พากันมาแวดล้อมอยู่รอบกองเพลิง ต่างพร้อมใจกันสักการบูชากองเพลิงนั้น

        ครั้นรุ่งเช้า เหล่าปุโรหิตาจารย์ทั้งสี่ นำโดยท่านอาจารย์เสนกะ ก็พากันมาเข้าเฝ้าถวายบังคม พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเล่าถึงพระสุบินนิมิตนั้น พร้อมกับรับสั่งถามด้วยความข้องพระหฤทัยว่า  “ท่านอาจารย์ เราฝันน่ากลัวยิ่งนัก จะดีร้ายประการใด ขอท่านจงช่วยตรวจดูให้ถี่ถ้วนทีเถิด”

        ท่านเสนกะรับทราบเหตุตามที่ทรงเล่าแล้ว ก็พิเคราะห์ลักษณะพระสุบินอย่างถี่ถ้วน เล็งดูดวงชะตาของพระองค์และดวงชะตาเมือง ก็เห็นต้องด้วยลักษณะแห่งศุภนิมิต จึงได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระองค์ผู้สมมุติเทพ ธรรมดาเปลวเพลิงเป็นของร้อน ย่อมแผดเผาสรรพสิ่งให้กลายเป็นจุณ   แต่เปลวเพลิงที่พระองค์ตรัสเล่ามา หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ที่เปลวเพลิงนั้นสว่างไสวแต่กลับชุ่มเย็น มิได้เบียดเบียนผู้ใดเลยแม้เพียงปลายเส้นขน    เมื่อเป็นดังนี้ พระสุบินนิมิตที่ปรากฏ จึงมิใช่นิมิตร้าย ตรงกันข้าม กลับเป็นมหามงคลนิมิต ที่ปรากฏขึ้นเฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว พระเจ้าข้า”
 

        “ท่านอาจารย์ ก็แล้วกองเพลิงนั่น หมายถึงอะไรกันเล่า” ตรัสแล้วก็ทรงนิ่งเพื่อรอคอยคำตอบจากท่านเสนกะ
 

        ท่านเสนกะกราบทูลยืนยันตามที่ได้ร่ำเรียนมาว่า“ขอถวายพระพร กองเพลิงเหล่านั้น เป็นศุภนิมิต หมายเอาบุคคลผู้ทรงปรีชาญาณ เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ผู้สามารถปรนนิบัติบำรุงตามพระราชประสงค์ เพื่อเฉลิมพระบารมีของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้นไป พระเจ้าข้า”
 

        “ถ้าเช่นนั้น กองเพลิงใหญ่ที่ผุดพลุ่งขึ้น ท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น คืออะไร และจักมีความวิเศษอย่างไร ขอท่านจงแจกแจงมาเถิด”
 

        “ขอเดชะ ข้าพระองค์เห็นด้วยเกล้าว่า กองเพลิงใหญ่ ๔ กองนั้น เป็นนิมิตหมาย ระบุถึงพวกข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ มิใช่ใครอื่นเป็นแน่แท้ แต่กองเพลิงที่สว่างเพียงแสงหิ่งห้อย แต่ภายหลังกลับขยายครอบคลุมกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น เป็นนิมิตหมายว่า อีกไม่นานนัก จักมีบัณฑิตผู้อุดมด้วยปัญญาธิคุณ มีปรีชาญาณล่วงพ้นพวกข้าพระองค์ทั้ง ๔ เขาจักได้มาสู่พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ตั้งแต่วัยเยาว์  ครั้นมาแล้ว เขาผู้นั้น จักเป็นที่เคารพบูชาของมหาชน หาผู้เสมอเหมือนมิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
 

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงมีพระหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยความปีติปราโมทย์ รับสั่งถามว่า“ก็แล้วบัณฑิตผู้นั้น บัดนี้อยู่ ณ ที่แห่งใด ท่านพอจะบอกเราได้หรือไม่”
 
 
        ท่านเสนกะนิ่งตรวจดูทิศอันเป็นมงคลอยู่ครู่หนึ่ง ด้วยกำลังคำนวณตามพยากรณ์ศาสตร์ที่ตนได้ร่ำเรียนมา ไม่ช้าก็กราบทูลทำนายประหนึ่งเห็นด้วยตาทิพย์ว่า“วันนี้เป็นวันที่บัณฑิตนั้นถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา หรือมิฉะนั้นก็คงเป็นวันที่เขาคลอดจากครรภ์มารดา พระเจ้าข้า”
 

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำทำนายของท่านเสนกะแล้ว ก็ทรงโสมนัสพระหฤทัยเป็นล้นพ้น เพราะเหตุที่ทรงใฝ่หาบัณฑิตคู่พระบารมีมาเนิ่นนาน พระองค์จึงได้กำหนดถ้อยคำทำนายของท่านเสนกะไว้แม่นมั่นในพระหฤทัยประหนึ่งรอยจารึกบนแผ่นศิลา   จำเดิมแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์จึงเฝ้าเพียรปรารภถึงบัณฑิตผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้งไม่เว้นวาง แต่เมื่อกาลยังมาไม่ถึง พระองค์จึงได้แต่ทรงรอคอย จนกาลล่วงเลยไปนานถึง ๗ ปี

        กล่าวถึงหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม (ปา-จีน-ยะ-วะ-มัช-ชะ-คาม) อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงมิถิลานคร แคว้นวิเทหรัฐ ได้มีมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งนามว่า สิริวัฒกะ (สิ-ริ-วัฑ-ฒะ-กะ) ภรรยาของเศรษฐีชื่อว่า สุมนาเทวี ทั้งสองอยู่ร่วมกันมานานแรมปี
 

        ในวันที่พระราชาทรงพระสุบินแปลกประหลาดนั้นเอง นางได้ให้กำเนิดทารกเพศชาย มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งทองทา อีกทั้งในเวลาที่ทารกนั้นคลอดจากครรภ์มารดา ความทุกข์มิได้มีแก่นางสุมนาเทวีเลยแม้เพียงน้อยนิด  เพราะทารกคลอดออกมาง่ายดาย ดุจหลั่งน้ำออกจากเครื่องกรองน้ำ
 

        ยิ่งกว่านั้น ในมือข้างหนึ่งของทารกน้อยยังกำแท่งโอสถแท่งหนึ่ง ซึ่งเป็นยาทรงสรรพคุณวิเศษติดมาด้วยเป็นที่น่าอัศจรรย์ นางสุมนาเทวีผู้เป็นมารดาเห็นแท่งโอสถในมือของกุมารนั้น ก็เกิดความฉงนจึงพูดเปรยเป็นทำนองถามขึ้นว่า “ลูกได้อะไรมา”

 
        กุมารนั้นก็ตอบมารดาทันทีว่า “โอสถจ๊ะแม่” แล้ววางทิพโอสถในมือของมารดา กล่าวว่า “แม่จ๋า แม่จงให้โอสถนี้แก่เหล่าคนไข้  ที่เจ็บป่วยด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด”
 

        ครั้นได้ยินเสียงกุมารนั้นกล่าวตอบ นางสุมนาเทวีก็แทบไม่เชื่อหูของตน จึงได้บอกเรื่องนี้ให้แก่ท่านสิริวัฒกะผู้เป็นสามีทราบ  ทั้งสองดำริกันว่า ชะรอยลูกของเราจักเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก คิดดังนี้แล้ว ก็ยิ่งบังเกิดความร่าเริงยินดี

        สิริวัฒกเศรษฐีซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมานานถึง ๗ ปี ปรารถนาจะทดลองรักษาด้วยแท่งโอสถนั้น จึงได้นำแท่งโอสถฝนที่หินบด แล้วชโลมตรงหน้าผาก   ทันทีที่เนื้อยาอาบทั่วบริเวณ ฤทธิ์ยาก็แผ่ซ่านเข้าสู่ภายในศีรษะ แทรกซึมเข้าเส้นประสาททั่วทุกอณูเนื้อ โรคปวดศีรษะที่เรื้อรังมานานก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง ในชั่วครู่เดียว ดุจหยดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัวฉะนั้น

        เมื่อข่าวความวิเศษของแท่งโอสถนั้นเลื่องลือไปไกล  บรรดาชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างแห่แหนกันมาขอยาวิเศษจากเศรษฐีไปรักษา แล้วก็หายป่วยไข้กันถ้วนหน้า  เพราะอานุภาพของโอสถที่กุมารนั้นนำมาเป็นเหตุ ท่านสิริวัฒกเศรษฐีจึงได้ขนานนามบุตรชายของตนว่า มโหสถกุมาร แปลว่า ผู้มีแท่งโอสถอันมีอุปการะมากแก่มหาชน 

        มโหสถกุมารนั้น ท่านเริ่มฉายแววแห่งความเป็นบัณฑิตมาตั้งแต่เกิด  คือ พอเกิดมาปุ๊บก็พูดได้ทันที ถือได้ว่ามีความเป็นอัจฉริยะเหนือทารกทั้งหลาย ส่วนว่า ความเป็นบัณฑิตของท่านจะมีความพิเศษพิศดารอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

 

http://goo.gl/5BEMr


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย
      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 200
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 199
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 198
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 197
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 196
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 195
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 194
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 193
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 192




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related