เนมิราชชาดก บำเพ็ญอธิษฐานบารมี (๔)

ความงามยามราตรีอยู่ที่รัศมีแห่งแสงจันทร์ ความงามของดวงตะวันอยู่ที่การทอแสงให้กับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย https://dmc.tv/a10255

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 23 ก.พ. 2554 ] - [ ผู้อ่าน : 18278 ]
 
 

เนมิราชชาดก บำเพ็ญอธิษฐานบารมี (๔)

ความงามยามราตรีอยู่ที่รัศมีแห่งแสงจันทร์ ความงามของดวงตะวันอยู่ที่การทอแสงให้กับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย

 
        ความงามของมนุษย์ทั้งหญิงและชายอยู่ที่การฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญา เป็นผู้มีใจผ่องแผ้ว ประกอบด้วยมหากรุณาเหมือนทะเล และท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล การหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เสมอ จะทำให้ใจของเราเกลี้ยงเกลาจากมลทิน คือ กิเลสที่มาห่อหุ้มดวงจิต  เมื่อไม่มีมลทินของใจ ความสว่างไสวก็จะเข้ามาแทนที่ ความรักและความปรารถนาดี ที่เกิดจากใจหยุดนิ่งย่อมจะบังเกิดขึ้นมา  เพราะฉะนั้น ควรให้โอกาสอันสำคัญนี้กับตัวเอง ด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆ วัน
 
มีวาระพระบาลีในเนมิราชชาดก ว่า
วิเวกชํ เย น ลภนฺติ ปีตึ
กิญฺจาปิ เต อินฺทสมานโภคา
เต เว ปราธีนสุขา วรากา
“เย อทุติยา น รมนฺติ เอกิกา
 
 
          ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อนสอง อยู่คนเดียว ย่อมไม่รื่นรมย์ ย่อมไม่ได้ปีติเกิดแต่วิเวก ชนเหล่านั้นถึงจะมีโภคสมบัติเสมอด้วยพระอินทร์ ก็ชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะได้ความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น” ความสุขในโลกนี้มีหลายอย่าง ตั้งแต่มีทรัพย์แล้วได้ใช้จ่ายทรัพย์ มีบ้าน มีรถ มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีครอบครัวที่อบอุ่น และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย กล่าวโดยย่อ เป็นสุขที่อิงอามิส และสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส สุขที่อิงอามิสเรียกว่า สามิสสุข คือต้องอาศัยอายตนภายในกระทบกับอายตนภายนอก เช่น ตาของเราได้เห็นรูปสวยๆ หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต จมูกได้กลิ่นหอมๆ ลิ้นได้รับรสที่อร่อยถูกใจ กายได้สัมผัสนุ่มๆ ใครได้อารมณ์เช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความสุขตามประสาชาวโลกที่เข้าใจกัน ในภาวะของโลกปัจจุบัน เป็นยุคที่ความเจริญทางด้านวัตถุมีมาก มนุษย์มักวัดความสุขกันที่วัตถุสิ่งของภายนอก ทำให้ไม่รู้ว่าความสุขที่ยิ่งกว่าสามิสสุข ซึ่งเรียกว่านิรามิสสุขนั้นเป็นอย่างไร สุขชนิดนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาจิตใจของตนให้สูงขึ้น ด้วยการสั่งสมบุญ ตั้งแต่ดำรงตนเป็นผู้ให้เสมอ หมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์และเจริญสมาธิภาวนา ความสุขเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เกิดจากคุณงามความดีของตนเอง
 
        สุขอิงอามิสนั้น ท่านผู้รู้ได้กล่าวอุปมาว่า เหมือนกับอาศัยบ้านเขาอยู่ ยืมจมูกเขาหายใจ แม้จะมีสมบัติพัสถานมากมาย มีทิพยวิมานใหญ่โต เทียบกับเวชยันต์ปราสาทของท้าวสักกเทวราช ก็ยังไม่ชื่อว่า ได้พบความสุขอย่างแท้จริง เพราะชื่อว่ายังอิงอามิสอยู่ ผู้รู้ทั้งหลายจึงแนะนำพรํ่าสอนให้แสวงหานิรามิสสุข ดังเช่นเรื่องของพระเจ้าเนมิราชที่หลวงพ่อได้เล่าไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่าพระอินทร์ทรงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าการให้ทาน  เมื่อท้าวสักกเทวราชทรงอ้างถึงผู้รู้ในสมัยก่อนว่า แสวงหาความสุขที่ไม่อิงอามิสด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เช่นมหาฤๅษี ๗ ท่านได้ประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูง และได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ฤๅษีเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ละสมบัติทางโลกออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูง ได้เสวยความสุขที่ละเอียดจากฌานสมาบัติ จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้พระเจ้าเนมิราชฟังว่า ที่บริเวณป่าหิมพานต์มีแม่น้ำชื่อสีทาอยู่ทางด้านทิศอุดร เป็นแม่น้ำลึกข้ามยากและมีความใสมาก กาญจนบรรพตมีสีประหนึ่งไฟที่ไหม้ไม้อ้อ ลุกโพลงรุ่งโรจน์โชติช่วงตลอดเวลา ที่ภูมิประเทศแห่งนั้นมีฤๅษีประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตน อาศัยอยู่เพื่อบำเพ็ญเพียร แต่ละรูปมีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเคารพกราบไหว้มาก ทุกตนมีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น
 
        วันหนึ่ง ฤๅษีตนหนึ่งเหาะเข้าไปกรุงพาราณสีเพื่อบิณฑบาต ท่านปุโรหิตเห็นกิริยาอาการที่สงบสำรวม บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ได้กล่าวเชื้อเชิญท่านฤๅษีให้เข้าไปนั่งในบ้าน ถวายอาหารหวานคาวให้ท่านขบฉันจนอิ่มหนำสำราญ พลางถามว่า “พระคุณเจ้าอาศัยอยู่ที่ไหน อยู่กันเท่าไหร่”  เมื่อปุโรหิตรู้ว่ามีฤๅษีผู้มีอานุภาพ บำเพ็ญสมณธรรมมากถึง ๑๐,๐๐๐ ตน รู้สึกอัศจรรย์ใจที่ท่านสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ยิ่งรู้ว่าฤๅษีแต่ละตนต่างก็ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ใจของปุโรหิตก็ยังน้อมไปในบรรพชา อยากออกบวชเป็นฤๅษีเหมือนผู้มีอานุภาพนั้นบ้าง ท่านปุโรหิตจึงไปทูลลาพระราชา  พระราชาทรงสงสัยว่า เหตุใดท่านปุโรหิตจึงคิดอยากบวช เพราะหน้าที่ตำแหน่งในปัจจุบันถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสุดแล้ว  ครั้นรู้ว่า ปรุโรหิตปรารถนาจะออกบวช เพราะเห็นโทษในกามทั้งหลายและเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ เห็นว่าบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง ฆราวาสเป็นทางคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลีจึงอยากออกบวช พระราชาสดับเหตุผลเช่นนั้น ทรงอนุโมทนากับท่านปุโรหิตคู่ใจ และอนุญาตให้ท่านบวช ทั้งกำชับว่า  เมื่อท่านบรรลุธรรมขั้นสูงแล้วจงหาโอกาสแวะมาเยี่ยมบ้าง  เมื่อปุโรหิตรับคำแล้วก็ถวายบังคมลาพระราชา จากนั้นได้กลับไปที่บ้านเพื่อพรํ่าสอนบุตร และภรรยาโดยมอบสมบัติทุกอย่างให้ รุ่งเช้าท่านฤๅษีใช้อานุภาพจับข้อมือปุโรหิตเหาะไปสู่ป่าหิมพานต์ ให้บวชเป็นฤๅษีในวันนั้นทันที ท่านบวชได้เพียงไม่กี่วันก็ได้บรรลุอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ เหมือนมหาฤๅษีรูปอื่นๆ
 
        ต่อมา ท่านฤๅษีอดีตปุโรหิตรำลึกถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับพระราชา จึงเหาะเข้าไปในเมืองเพื่อโปรดพระราชา  พระราชาเห็นท่านฤๅษีกลับมาเยี่ยมก็ทรงปลื้มพระทัย รีบถวายอาหารอันประณีต พลางปรารภว่า อยากจะทำบุญกับมหาฤๅษีทั้งหมื่นรูป ขอให้ท่านฤๅษีช่วยเป็นธุระในการอาราธนานิมนต์ ให้พระองค์ได้มีโอกาสสั่งสมบุญในเนื้อนาบุญเหล่านั้นท่านฤๅษีเห็นความตั้งใจดีของพระราชา จึงใช้อานุภาพของท่านพาพระราชา และเหล่าอำมาตย์ราชเสนา ไปรอทำบุญถวายทานกับมหาฤๅษีทั้งหมื่นรูปที่ริมฝั่งแม่น้ำสีทา ให้ตั้งค่ายหลวงไว้รอ จากนั้นตัวท่านเข้าไปอาราธนาเหล่ามหาฤๅษีทุกรูปให้มารับบาตรเพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับพระราชา วันรุ่งขึ้น เหล่ามหาฤๅษีทั้งหมื่นรูป ต่างพร้อมใจกันเหาะมาที่ฝั่งแม่น้ำสีทาเพื่อรับบาตรจากพระราชาและข้าราชบริพารทั้งหมด  เมื่อพระราชาได้ถวายทานก็ยิ่งปีติดีใจ ที่ได้ทำบุญใหญ่กับเนื้อนาบุญผู้ทรงฤทธานุภาพ จึงปวารณาตนว่า จะขอถวายทานกับเหล่าพระคุณเจ้าไปจนตลอดชีวิต
 
        ท้าวสักกะเล่าเรื่องนี้และก็ทรงสรุปว่า “ดูก่อนมหาราช พระเจ้ากรุงพาราณสีในกาลนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เป็นหม่อมฉัน หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐด้วยทาน ได้ถวายทานอยู่นานถึง ๑๐,๐๐๐ ปี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถก้าวล่วงกามภพไปบังเกิดในพรหมโลก ส่วนฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดบริโภคทานที่หม่อมฉันบริจาค ก้าวล่วงกามาวจรภูมิไปบังเกิดในพรหมโลก ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีความสุข และความบริสุทธิ์เหนือกว่าหม่อมฉันมากมายหลายเท่านัก  เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์นี้แหละประเสริฐกว่าทาน” ท้าวสักกเทวราชได้ทรงประทานโอวาทให้พระเจ้าเนมิราชต่อไปว่า “ดูก่อนมหาราช แม้ว่าพรหมจริยา เป็นธรรมมีผลมากกว่าทาน แต่ธรรมทั้งสองนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน  เพราะฉะนั้น พระองค์จงอย่าประมาทในธรรมทั้งสอง จงบริจาคทาน รักษาศีลประพฤติธรรม” ตรัสฉะนี้แล้ว ก็เสด็จไปสู่ทิพยสถานวิมาน จะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย แม้จะสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์อันเป็นเหตุให้ได้นิรามิสสุข แต่ท่านไม่ได้ให้ทิ้งการให้ทาน ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์อันสำคัญที่จะทำให้การประพฤติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์สะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ เราจะได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องมัวมาเสียเวลากับการแสวงหาทรัพย์ จะสามารถสร้างบารมีได้เต็มที่ ให้พวกเราทำตามที่นักปราชญ์บัณฑิตในกาลก่อนท่านได้สอนไว้กันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก.เนมิราชชาดก เล่ม ๖๓ หน้า ๒๔๗
 

 

http://goo.gl/kKsym


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี