ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ

ลักษณะมหาบุรุษของพระพุทธเจ้ามี ๓๒ ประการ คือ พระพุทธเจ้ามีพระบาททั้งสองประดิษฐานเรียบสนิท พื้นใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์มีลายคล้ายจักร เพราะพระองค์เป็นผู้นำธรรมจักรให้หมุนไป ยังสรรพสัตว์ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับไม่ถ้วน พระพุทธองค์มีส้นพระบาทยาวสมส่วนกลมงาม มีพระองคุลี คือนิ้วมือเรียวงามเหมือนลำเทียน แต่ละนิ้วยาวเท่าๆ กันสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ทั้งฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายเหมือนตาข่ายสวยงามมาก https://dmc.tv/a19672

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
[ 5 มี.ค. 2558 ] - [ ผู้อ่าน : 18272 ]
ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ
 
ลักษณะมหาบุรุษ
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร ว่า
     
    “เอส เทวมนุสฺสานํ             สพฺพกามทโท นิธิ
    ยํ ยํ เทวาภิปตฺเถนฺติ          สพฺพเมเตน ลพฺภติ
    สุวณฺณตา สุสรตา             สุสณฺฐานํ สุรูปตา
    อาธิปจฺจํ ปริวาโร               สพฺพเมเตน ลพฺภติ
     
            บุญนิธินั้น อำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่างแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ปรารถนาซึ่งอิฐผลใด อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ความมีวรรณะงาม ความมีเสียงเพราะ ความมีทรวดทรงดี ความมีรูปสวย ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้”
     
            บุญเป็นคุณเครื่องแห่งความสุขและความสำเร็จ ที่จะบันดาลทุกสิ่งให้ผู้มีบุญได้สมปรารถนา เหมือนในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองสาวัตถีพากันสนทนาปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระวรกายของพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ถึงพร้อมด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีฉัพพรรณรังสีแผ่ออกไปโดยรอบด้านละ ๑ วา งดงามประดุจดอกไม้สวรรค์เบ่งบาน
     
            พระบรมศาสดาทรงเล่าประวัติการสร้างบารมี ที่เป็นเหตุให้พระองค์ได้ลักษณะมหาบุรุษว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งตถาคตเป็นมนุษย์ในภพชาติปางก่อน เป็นผู้ยึดมั่นในกุศลธรรม มั่นคงไม่ถอยหลังในกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต ยึดมั่นในการบำเพ็ญทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ปฏิบัติดีในมารดาบิดา สมณพราหมณ์ เป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และมีความเคารพยิ่งในธรรม ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ต้องตายเพราะกายแตก อันเนื่องเพราะกรรมที่ตถาคตได้ทำและสั่งสมพอกพูนไว้ ตถาคตย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์และโผฏฐัพพะทิพย์  ครั้นจุติจากโลกสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะครบถ้วนทุกประการ”
     
            ลักษณะมหาบุรุษของพระพุทธเจ้ามี ๓๒ ประการ คือ พระพุทธเจ้ามีพระบาททั้งสองประดิษฐานเรียบสนิท พื้นใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์มีลายคล้ายจักร เพราะพระองค์เป็นผู้นำธรรมจักรให้หมุนไป ยังสรรพสัตว์ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับไม่ถ้วน พระพุทธองค์มีส้นพระบาทยาวสมส่วนกลมงาม มีพระองคุลี คือนิ้วมือเรียวงามเหมือนลำเทียน แต่ละนิ้วยาวเท่าๆ กันสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ทั้งฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายเหมือนตาข่ายสวยงามมาก
     
            ลักษณะมหาบุรุษมีข้อพระบาทที่กลมกลึง ไม่มีปุ่มปมนูนขึ้นมาเหมือนของมนุษย์ทั่วไป มีพระชงฆ์เรียวงามเหมือนแข้งเนื้อทราย  เมื่อประทับยืนก็มีพระวรกายตั้งตรง หลังไม่ค่อม มีความสง่างามเหมือนพญาราชสีห์ พระองค์มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก มีพระฉวีดุจทองคำเปล่งปลั่งผ่องใสอยู่เป็นนิจ ทรงมีพระตจะ คือ หนังประดุจหุ้มด้วยแผ่นทองคำ มองดูแล้วเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้ที่ได้พบเห็น ทรงมีพระฉวีละเอียด ฝุ่นไม่เกาะ เพราะพระฉวีละเอียด ละอองธุลีจึงมิอาจติดอยู่ที่ผิวพระวรกายได้
     
            นอกจากนี้พระโลมา คือ ขุมขนแต่ละเส้นเสมอกันไปทุกขุมขน ไม่มีเล็กไม่มีใหญ่ สวยงามเหมือนกันหมด อีกทั้งพระโลมามีปลายช้อนขึ้นข้างบน มีสีเขียวเหมือนสีดอกอัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักขิณาวัฏ คือ เส้นขนหมุนวนขวาเหมือนเวียนประทักษิณ มีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม มีพระมังสะ คือ เนื้อของท่านจะเต็มในที่ ๗ แห่ง คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง พระอังสาหรือที่บ่าทั้งสอง จะไม่มีเว้าแหว่งและมีพระศอเต็มกลมกลึงสวยงาม นั่นคือสัญลักษณ์ของผู้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต รูปกายภายนอกก็งดงาม ภายในก็มีธรรมกาย ซึ่งเป็นกายอันอมตะสวยงามที่สุดสว่างไสวอยู่ภายใน
     
            นอกจากนี้ ลักษณะของมหาบุรุษยังมีพระกายท่อนบนเหมือนกายท่อนหน้าของพญาสีหะ คือ อกผายไหล่ผึ่ง มีความองอาจสง่างาม มั่นคงประดุจขุนเขา  เมื่อกางแขนเหยียดออกทั้ง ๒ ข้างก็จะมีความยาวเท่ากับความสูงของพระพุทธองค์ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปที่มีความสูงเท่ากับความยาวของวาตนเองเท่ากันนั้นยากมาก ส่วนใหญ่ถ้าไม่ขาดก็เกิน
     
            พระหนุ คือ คางของพระพุทธองค์ จะเป็นประดุจคางของราชสีห์ ทำให้มีพระทนต์ คือ ฟันถึง ๔๐ องค์ พระทนต์เรียบเสมอกัน เรียงเป็นระเบียบสวยงาม ไม่ห่างไม่โยกไม่เก มีพระทาฐะ คือ เขี้ยวงามเหมือนมุข มีพระชิวหา คือ ลิ้นที่สมบูรณ์ มีปลายเส้นประสาทสำหรับรับรสอาหารได้ดี มีพระสุรเสียงดุจเสียงท้าวมหาพรหม ทุกครั้งที่พระองค์จะตรัสเทศนา จะมีพระสุรเสียงน่าฟังไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก สิงสาราสัตว์ทั้งมนุษย์และเทวาต้องหยุดฟังทันที ทรงมีพระเนตรดำสนิท มีดวงพระเนตรเหมือนตาลูกโคซึ่งบริสุทธิ์ เป็นสายพระเนตรที่บ่งบอกถึงความไม่มีมายา อ่อนโยนและประกอบด้วยเมตตาธรรม พระอุณาโลมจะเกิดตรงระหว่างพระขนง คือ ที่กลางหน้าผากระหว่างคิ้วจะมีขนสีขาวอ่อนๆ นุ่มเหมือนปุยนุ่น วนเป็นทักขิณาวัฏและพระองค์ทรงมีกรอบพระพักตร์งามสมดุลได้ส่วน บนพระเศียรก็มีจอมกระหม่อมสง่างามมาก
     

            ทั้งหมดนี้ คือ ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของผู้ที่มีรูปกายที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีอนุพยัญชนะอีก ๘๐ อย่าง ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุญล้วนๆ ปกติพระวรกายของพระองค์จะมีพระรัศมีแผ่ออกไปข้างละวา ฉัพพรรณรังสี คือ รัศมี ๖ ประการ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีหงสบาทและสีเลื่อมพรายประภัสสร เปล่งประกายสว่างไสว ใครเห็นแล้วจะบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เพราะพระองค์ได้สร้างบารมีมามาก อย่างน้อย ๔ อสงไขย แสนมหากัป
     
ลักษณะมหาบุรุษ

            เพราะฉะนั้น  เมื่อเสด็จอุบัติในชาตินี้ บุญบารมีที่เต็มเปี่ยมทำให้พระองค์ได้รูปสมบัติที่สมบูรณ์ เป็นลักษณะมหาบุรุษที่ไม่มีใครจะยิ่งกว่าหรือเสมอเหมือนก็ไม่มี พระสาวกบางท่านได้ลักษณะมหาบุรุษใกล้เคียงพระองค์ แต่ได้ไม่ครบทุกอย่าง ทั้งยังทรงถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ พระองค์ทรงมีขุมทรัพย์ถึง ๔ ขุมใหญ่ๆ บังเกิดขึ้นมา ขุมทรัพย์ชื่อสังขะ กว้างถึง ๑ โยชน์ ขุมทรัพย์ชื่อเอละ กว้างครึ่งโยชน์ ขุมทรัพย์ชื่ออุปปละกว้าง ๓ คาวุต และขุมทรัพย์ชื่อปุณฑริกะกว้าง ๑ โยชน์ แม้จะตักสมบัติเหล่านั้นออกไปใช้มากมายเพียงใด สมบัติก็ยังคงเต็มอยู่เท่าเดิม เป็นสมบัติตักไม่พร่อง นอกจากนี้  เมื่อจะกล่าวถึงคุณสมบัติของพระองค์ คือ ทรงมีพระสติปัญญาเป็นเลิศ แทงตลอดในความรู้ทั้งหลายทั้งปวง พระปัญญาธิคุณของพระองค์เป็นเลิศ ถึงขนาดตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ถ้าเป็นเหล่าสาวก ยังต้องฟังธรรมจากพระองค์จึงจะสามารถตรัสรู้ธรรมตามได้
     
            เหนือสิ่งอื่นใด พระพุทธองค์ทรงมีกายธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด คือ คงความเป็นอมตะของกายมหาบุรุษมากที่สุด มากกว่ารูปกายภายนอกของพระพุทธองค์ เพราะกายธรรมเป็นกายที่คงที่ เที่ยงแท้ เป็นอมตะ ไม่มีความเจ็บป่วยไข้มาเบียดเบียน เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน กายนี้เป็นกายที่พระพุทธองค์ ทรงปรารถนาให้มนุษยชาติได้เข้าถึง เพราะแม้รูปกายภายนอกจะงดงามเพียงใด ก็ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่หากเราปฏิบัติธรรมให้เข้าไปถึงกายธรรมภายในได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตอย่างแท้จริง  ดังนั้น ให้ทุกๆท่านหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ สักวันหนึ่ง เราจะสมปรารถนา ได้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน ซึ่งเป็นกายของมหาบุรุษที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งจะเป็นที่พึ่งให้กับตัวเราไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม

*มก. ลักขณสูตร เล่ม ๑๖ หน้า ๑

http://goo.gl/SqgIQX


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติวันวิสาขบูชา
      วันมหาปูชนียาจารย์ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี
      วันออกพรรษา 2566 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันสมาธิโลก 2566 World Meditation Day
      วันอาสาฬหบูชา 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติ
      วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
      วันคุ้มครองโลก EarthDay ประวัติและความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
      วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
      วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
      ทอดกฐินทุกวัดทั่วไทย สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
      เวียนเทียนวันวิสาขบูชา