ใจหยุด สุดยอดปาฏิหาริย์

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ คืออิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ภิกษุนั้นแล เป็นผู้สำเร็จถึงที่สุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งปวง https://dmc.tv/a7712

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 19 ส.ค. 2553 ] - [ ผู้อ่าน : 18303 ]
ใจหยุด สุดยอดปาฏิหาริย์
 

 
     เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไปอยู่ ๒ ประการ คือ การศึกษาวิชาความรู้ทางโลก และศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาวิชาทางโลก มีเป้าหมายให้เรารู้วิธีแสวงหาปัจจัย ๔ มาเลี้ยงตนได้อย่างถูกต้อง อันจะทำให้เราได้รับความสุข และความสำเร็จในชีวิต ส่วนการศึกษาความรู้ทางธรรม มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งสติ แหล่งแห่งปัญญาได้อย่างสมบูรณ์ อันจะส่งผลให้ชีวิตจิตใจของเราสูงส่งยิ่งขึ้น จนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานในโลกนี้ เข้าถึงความสุขอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในตน
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน ทุติยโมรนิวาปสูตรว่า
 
     “ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ คืออิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ภิกษุนั้นแล เป็นผู้สำเร็จถึงที่สุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งปวง”
 
     เรื่องปาฏิหาริย์เป็นเรื่องปกติธรรมดาในพระพุทธศาสนา การทำปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้สำเร็จได้ ผู้ทำจะต้องมีความบริสุทธิ์ มีอานุภาพ มีใจหยุดนิ่ง จนถึงจุดที่จะนึกคิดสิ่งใด ก็สำเร็จได้เป็นอัศจรรย์ เป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาทำกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จึงเรียกว่าปาฏิหาริย์ เพราะเป็นเรื่องเหลือวิสัยของผู้ที่ใจไม่หยุด แต่สำหรับผู้ที่มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว ท่านถือว่าเรื่องปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๓ อย่าง ตั้งแต่อิทธิปาฏิหาริย์ เช่นการเนรมิตคนเดียวให้เป็นหลายคน เหมือนอย่างพระจูฬปันถก หรือผุดขึ้นดำลงไปในแผ่นดินเหมือนดำน้ำ สามารถเดินบนผิวน้ำได้เหมือนเดินบนแผ่นดิน ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ หรือเอากายเนื้อท่องเที่ยวไปตลอดพรหมโลก โดยใช้เวลาเพียงเหยียดแขนคู้แขน
 
     * ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปรารภว่า จะแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อทำลายความเห็นผิดของเจ้าลัทธิต่างๆ ซึ่งพระสาวกผู้มีฤทธิ์มีเดชต่างมาขออาสาแสดงฤทธิ์แทนพระองค์ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ลำพังพระสาวกยังมีอานุภาพถึงเพียงนี้ แล้วพระศาสดาจะทรงมีอานุภาพถึงเพียงไหน
 
     แม้จะมีพระสาวกขออาสา แต่พระบรมศาสดาก็ทรงห้าม ทำให้พวกเดียรถีย์ยิ่งได้ใจ หวังจะข่มพระพุทธองค์ เพราะคิดว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แม้จะมีฤทธานุภาพมากมาย ก็คงจะไม่แสดงฤทธิ์อย่างแน่นอน เพราะจะเป็นการละเมิดสิกขาบทที่บัญญัติไว้ แต่พระบรมศาสดากลับรับคำท้าทายนั้น โดยให้เหตุผลว่า พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ เพื่อพระสาวกมิใช่เพื่อพระองค์เอง เหมือนพระราชาห้ามคนเก็บมะม่วงในพระราชอุทยาน แต่พระราชาเองก็ยังคงเก็บมะม่วงมาเสวยได้
 
     เมื่อพระบรมศาสดาได้ประกาศว่า จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี พวกเดียรถีย์เกิดความความหวาดหวั่นกันมาก เพราะรู้ว่าพระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ได้จริง แต่ก็ไม่ละความพยายาม จึงชักชวนอุปัฏฐากให้ช่วยกันสร้างมณฑปเสาไม้ตะเคียน และมุงด้วยดอกอุบลเขียว พร้อมทั้งประกาศว่า พวกตนจะทำปาฏิหาริย์ใหญ่ในที่ตรงนี้
 
     พระบรมศาสดาทรงประกาศว่า จะแสดงปาฏิหาริย์ที่ใต้ต้นมะม่วง พวกเดียรถีย์จึงสั่งให้อุปัฏฐากของตน ไปโค่นต้นมะม่วงทิ้งให้หมด ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ในอาณาบริเวณ ๑ โยชน์  ครั้นครบกำหนดนัดหมาย มีคนเฝ้าสวนของพระราชา ชื่อ คัณฑะ ได้นำมะม่วงสุกมาถวายพระบรมศาสดา หลังจากพระองค์เสวยและวางเมล็ดมะม่วงนั้นไว้บนพื้นดิน พลางชำระพระหัตถ์ลงบนเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้นเอง สิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น ต้นมะม่วงได้งอกขึ้นมา และเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงชั่วพริบตาก็สูงถึง ๕๐ ศอก แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมไปทั่วบริเวณ
 
     ท้าวสักกะ เห็นการกระทำ ที่ชั่วร้ายของพวกเดียรถีย์โดยตลอด จึงมีเทวบัญชารับสั่งให้ วาตวลาหกเทพบุตร บันดาลให้มีลมพายุพัดถอนมณฑปของพวกเดียรถีย์ให้พังพินาศ ส่วน สุริยเทพบุตร ก็ให้แผ่รัศมีมณฑลของพระอาทิตย์ ทำให้พวกเดียรถีย์ถูกความร้อนแผดเผา จนไม่อาจทนอยู่ได้ ต่างพากันหลบหนีกันไปคนละทิศละทาง
 
     เมื่อพระบรมศาสดาจะเริ่มแสดงปาฏิหาริย์ ได้มีมหาอุบาสิกาคนหนึ่ง ชื่อ ฆรณี ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อธิดาเช่นหม่อมฉันมีอยู่ หม่อมฉันจะขออาสาทำปาฏิหาริย์แทนพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสถามว่า“ฆรณี เธอจะทำอย่างไร” นางกราบทูลว่า “หม่อมฉันจะทำแผ่นดินนี้ ให้เป็นเหมือนผืนน้ำ แล้วดำดิ่งลงไปแสดงตนที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันตก ดำลงจากทิศตะวันตก ไปโผล่ที่ขอบจักรวาลด้านทิศตะวันออก และจากทิศเหนือไปทิศใต้ พระเจ้าข้า ”
 
     พระบรมศาสดาได้ตรัสห้ามไว้ แต่ก็มีสาวกอีกมากมายมาขออาสาแสดงปาฏิหาริย์ พระองค์มีพระประสงค์จะให้มหาชนรู้ถึงอานุภาพของพระสาวก จึงได้ตรัสถามว่า “ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะแสดงปาฏิหาริย์อีก”
 
     ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ กราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะเนรมิตอัตภาพให้เป็นเหมือนพรหม สูง ๑๒ โยชน์ ปรบมือให้ดังกึกก้องกัมปนาท เหมือนมหาเมฆกระหึ่มในท่ามกลางบริษัทนี้ พระเจ้าข้า”
 
     ต่อมา สามเณรีชื่อ วีรา ซึ่งมีอายุเพียง ๗ ขวบ กราบทูลว่า “หม่อมฉันจะนำภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล และภูเขาหิมพานต์มาตั้งเรียงกันไว้ แล้วย่างก้าวจากยอดเขาแต่ละลูกไปมา พระเจ้าข้า”
 
     จากนั้น สามเณรจุนทะ ได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะเขย่าต้นหว้าใหญ่ ที่เป็นธงของชมพูทวีป แล้วนำผลหว้าใหญ่มาถวายพระพุทธองค์ พระเจ้าข้า”
 
     ต่อจากนั้น พระอุบลวรรณาเถรี ได้กราบทูลว่า “หม่อมฉันจะบันดาลให้ตนเองเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้พรั่งพร้อมไปด้วยรัตนะ ๗  มีบริวาร ๓๖ โยชน์แวดล้อม แล้วพามากราบถวายบังคมพระพุทธองค์”
 
     ส่วน พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะวางภูเขาสิเนรุไว้ในระหว่างฟัน แล้วเคี้ยวกินภูเขานั้น ประดุจเคี้ยวกินเมล็ดพันธุ์ผักกาด จะวางแผ่นดินไว้ในมือข้างซ้าย แล้วเอาสรรพสัตว์ไปไว้ในทวีปอื่นด้วยมือข้างขวา จะทำเขาสิเนรุให้เป็นด้ามร่ม ยกผืนแผ่นดินใหญ่ขึ้นวางไว้เบื้องบน เอามือข้างหนึ่งถือไว้ คล้ายการถือร่ม แล้วเดินจงกรมไปในอากาศ พระเจ้าข้า”
 
     แม้กระนั้น พระบรมศาสดาก็ยังคงตรัสปฏิเสธพระสาวกว่า “เรารู้อานุภาพของพวกเธอดี แต่พวงดอกไม้นี้ เขามิได้ผูกไว้เพื่อประโยชน์แก่พวกเธอ เพราะตถาคตเป็นผู้มีธุระที่หาผู้เสมอมิได้ ผู้อื่นที่ชื่อว่าสามารถนำธุระของเราไปได้นั้น ไม่มี ตถาคตเท่านั้นที่จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ อันเป็นพุทธประเพณี ให้เป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าพุทธบริษัท”
 
     จากนั้นพระองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งมหัศจรรย์และเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นความจริง เรื่องปาฏิหาริย์นั้น เป็นสิ่งที่มีคู่มากับพระพุทธศาสนา และมีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายทีเดียว เรื่องปาฏิหาริย์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่มีใจหยุดดีแล้ว และวิชชาในพระพุทธศาสนาก็สอนให้เราทำในสิ่งเหล่านี้ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ก็มีเรื่องราวของปาฏิหาริย์โดยตลอด เป็นเรื่องถูกปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เป็นสิ่งที่จะยังความศรัทธาเลื่อมใสให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การลงมือปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้ง หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ สิ่งนี้เป็นสุดยอดปาฏิหาริย์ในทางพระพุทธศาสนา
 
     ดังนั้น ใจหยุดจึงเป็นสุดยอดของปาฏิหาริย์ เป็นสิ่งที่ชาวโลกทุกคนสามารถทำกันได้ ศึกษาเรียนรู้กันได้ เป็นวิชชาที่เป็นของกลางของโลก ไม่ว่าชาติไหนภาษาใดก็เรียนรู้กันได้ ถ้าทำใจให้หยุดนิ่ง  เพราะฉะนั้น ใจหยุดเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้เราเป็นผู้มีอานุภาพ มีความบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความดี มีกำลังใจไม่สิ้นสุด ผู้รู้จึงกล่าวว่า อยากได้กำลังกายต้องเคลื่อนไหว แต่อยากได้พลังใจต้องทำใจหยุดนิ่ง ใจที่หยุดนิ่ง จึงมีพลังจะนึกคิดสิ่งใดก็สำเร็จสมปรารถนา  ดังนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกๆ วัน

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เรื่องยมกปาฏิหาริย์ เล่ม ๔๒ หน้า ๒๘๗
  

http://goo.gl/pHNpz


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related