รอยลบ ที่ไม่ลบเลือน

การจะได้ใบลานที่จารได้สวยงามนั้น ผู้จารต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด หรือมีการแก้ไขให้น้อยที่สุด.... https://dmc.tv/a22718

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ความรู้รอบตัว
[ 12 ก.ย. 2560 ] - [ ผู้อ่าน : 18255 ]
รอยลบ ที่ไม่ลบเลือน

เรื่อง : Tipitaka (DTP)
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐


     พระภิกษุสูงวัยใช้มือหนึ่งจับเหล็กจารปลายแหลม และอีกมือหนึ่งช่วยประคองขณะขีดเขียนเนื้อความพระไตรปิฎก บนแผ่นใบลานที่วางอยู่บนเข่าอย่างชำนาญ น้ำหนักมือที่ลงอย่างพอดีกอปรกับความรู้ ในพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษามาตลอดระยะเวลาหลายพรรษาทำให้ลายเส้นของแต่ละอักขระคมชัด เรียงเป็นแถวเป็นระเบียบงดงาม ทั้งเนื้อความก็ครบถ้วนสมบูรณ์ ไร้ร่องรอยการแก้ไข ซึ่งการจะจารใบลานให้สวยงามเช่นนี้ได้ ต้องผ่านการศึกษา ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และต้องอาศัยสมาธิที่จดจ่อ มิเช่นนั้นอาจจารตัวอักษรผิดพลาด คัดลอกเนื้อหาไม่ตรงกับต้นฉบับ หรือจารเนื้อหาไม่ครบถ้วนรอยลบ
 

     ผู้จารคัมภีร์ใบลานมีทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่ผ่านการบวชเรียนมาก่อน ผู้จารที่มีฝีมือดีเรียกว่า “ช่างจาร” ส่วนผู้จารที่อยู่ในราชสำนักเรียกว่า “อาลักษณ์” วิธีการจารจะใช้เหล็กจารซึ่งมีลักษณะคล้าย ดินสอหรือปากกา
 
     ส่วนปลายเป็นเหล็กแหลม ด้ามจับทำด้วยวัสดุหลากหลาย อาทิ ไม้ งาช้าง เขาสัตว์ หรือโลหะเหล็กจารที่ใช้ในประเทศไทยโดยทั่วไป มีความยาวประมาณ ๑๘-๒๕ เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เซนติเมตร
 
 

     การจับเหล็กจารคล้ายกับการจับปากกาหรือดินสอ คือ ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางแต่การเขียนกับการจารใบลานนั้นมีข้อที่แตกต่างกัน ที่การใช้มือและทิศทางของตัวอักษร การเขียนใช้มือที่ถนัดเพียงข้างเดียว โดยพาดดินสอหรือปากกาไว้บนนิ้วกลาง แล้วใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้เป็นตัวควบคุมการขยับ สามารถเขียนเนื้อความได้ทั้งจากซ้ายไปขวา จากขวามาซ้ายหรือจากบนลงล่างแล้วแต่ธรรมเนียม แต่การจารนั้นต้องใช้ ๒ มือ คือ ใช้มือขวาจับเหล็ก จารคล้ายกับการจับดินสอหรือปากกา และใช้มือซ้ายจับสนับโดยมีนิ้วหัวแม่มือซ้ายคอยดันเหล็กจาร ทิศทางการจารจะจารจากซ้ายไปขวา โดยให้ตัวอักษรอยู่ใต้เส้นที่ตีไว้บนแผ่นลานสำหรับผู้จารที่ชำนาญแล้วสามารถจารใบลานโดยไม่ใช้สนับรอง เพียงวางใบลานไว้บนเข่าและใช้มือซ้าย ประคองเหล็กจารก็สามารถจารได้อย่างคล่องแคล่ว สวยงาม
 

      การจะได้ใบลานที่จารได้สวยงามนั้น ผู้จารต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด หรือมีการแก้ไขให้น้อยที่สุด เพราะหากจารผิดจะไม่สามารถลบออกได้ เหมือนการใช้ยางลบเมื่อปลายเหล็กจารขีดลงบนเนื้อลานเป็นร่องลายเส้น ซึ่งอาจปรากฏเพียงลายเส้นจาง ๆแต่เมื่อจารเสร็จแล้ว ผู้จารจะนำเขม่าจากควันไฟ หรือถ่านบดละเอียดผสมน้ำมันยางมาลูบให้ทั่วบนพื้นลาน จากนั้นจะทำการ “ลบใบลาน” โดยใช้ทรายร้อนหรือแกลบมาลบหมึกหรือเขม่าดำ ๆ ออก ซึ่งในขั้นตอนนี้ เขม่าสีดำบริเวณพื้นลานที่ไม่ได้จารตัวอักษรลงไปจะถูกลบออก แต่บริเวณที่มีการจาร น้ำหมึกสีดำจะไหลไปฝังตามร่องลาย เส้นปรากฏเป็นตัวอักษรสีดำที่อ่านได้อย่างชัดเจน ดังนั้นหากผู้จารทำสัญลักษณ์ แก้ไขตัวสะกดหรือจารข้อความผิดพลาด เมื่อลบใบลานแล้วจะเห็นร่องรอยการแก้ไขบนหน้าแผ่นลานอย่างชัดเจน
 

      คัมภีร์ใบลานที่ใช้ในพิธีสำคัญหรือ“คัมภีร์ฉบับหลวง” ที่สร้างขึ้นภายใต้การสนับสนุนของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะมีความประณีต วิจิตรบรรจงไม่มีการแก้ไข เพราะหากจารผิดจะต้องเปลี่ยนแผ่นลาน และเริ่มจารเนื้อความในหน้านั้นใหม่ตั้งแต่ต้น แต่หากเป็นคัมภีร์ใบลานทั่วไป ที่สร้างโดยสามัญชน ที่เรียกว่า “คัมภีร์ฉบับราษฎร์” หรือ “คัมภีร์เชลยศักดิ์” หากเกิดความผิดพลาดผู้จารอาจใช้วิธีเริ่มจาร ใบลานใหม่หรือทำการแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดหรือตกหล่น โดยการเขียนตัวอักษรที่ถูกทับไปบนตัวที่เขียนผิด

     การป้ายทับตัวอักษรที่ผิดด้วยยางไม้ การทำสัญลักษณ์ การจารแทรกข้อความที่ตกหล่นหรือเริ่มจารใหม่นี้ไม่เพียงแต่เป็นการเสียเวลาเท่านั้น แต่ยังเสียทรัพย์เพิ่มด้วย เพราะกว่าจะได้แผ่นลานแต่ละแผ่นต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน อีกทั้งบางยุคใบลานก็มีราคาสูง ดังนั้นผู้ที่จะจารคัมภีร์ใบลานที่ทรงเนื้อหาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ไร้ตำหนิและไม่สิ้นเปลือง จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จาร มีความระมัดระวัง และใช้สมาธิในขณะจารอย่างมากทีเดียว
 

     วิธีแก้ไขตัวสะกดผิด ผู้จารนิยมทำสัญลักษณ์เป็นเลขศูนย์เล็ก ๆ ตรงกลางตัวอักษรที่จารผิด ขีดเส้นกลางตัวอักษร หรือทำขีดเล็ก ๆ หลาย ๆ ขีดบนตัวอักษร เพื่อเป็นการบอกว่าไม่ต้องการใช้อักษรตัวดังกล่าวแล้วจารตัวอักษรที่ถูกต่อมา บางครั้งพบว่าเมื่อผู้จารเผลอจารผิดและรู้ตัวทัน ก็จะปล่อยตัวอักษรนั้นจารค้างไว้ครึ่งตัว แล้วจารตัวที่ถูกต้องแทน หรือผู้จารอาจใช้วิธีจารตัวอักษรที่ถูกทับบนอักษรที่ผิดเลยก็มี
 

      ในกรณีข้อผิดพลาดเป็นข้อความยาว อาจใช้วิธีทำวงเล็บคร่อมหรือขีดเส้นกลางอักษรตลอดช่วงที่ไม่ต้องการ แต่หากจารเนื้อความตกหล่น จะใช้การทำสัญลักษณ์กากบาทเล็ก ๆ ตรงช่วงที่ต้องการเพิ่มข้อความ แล้วจารข้อความที่ต้องกา รเพิ่มด้วยอักษรขนาดเล็กพอที่พื้นที่ว่าง ระหว่างบรรทัดจะอำนวย หากเป็นการแก้ไขในยุคหลังบางครั้งจะใช้หมึกดำ หรือเขียนเพิ่มการแก้ไขอีกวิธีที่พบก็คือ การป้ายคำผิดด้วยหรดาลสีเหลือง วิธีนี้พบมากในใบลานที่พบในประเทศไทย คัมภีร์บางฉบับที่เพิ่งจารในยุคหลังใช้วิธีลบ โดยใช้สีฝุ่นสีขาวทาบนตัวที่ไม่ต้องการส่วนใบลาน ที่พบในประเทศพม่าบางครั้งใช้สีแดงป้ายปิด เมื่อป้ายแล้วส่วนใหญ่จะเว้นไม่จารทับเนื้อความตรงส่วนที่ป้าย แต่จารเนื้อหาที่ถูกต้องต่อจากส่วนที่ป้ายไว้
 

      การแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวมีผลต่อการทำความสะอาดใบลานเพื่ออนุรักษ์เพราะหากใบลานขึ้นราต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ขณะเช็ดก็ต้องระวังไม่ให้แอลกอฮอล์โดนหมึกที่เขียนเพิ่มหรือที่แก้ไขเนื้อความ หรือสีที่ป้ายปิดข้อผิดพลาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หมึกละลายหรือสีที่ป้ายไว้หลุดออกได้ หรือในกรณีที่ตัวอักษรเริ่มจางและต้องลงหมึกสีดำที่ได้จากเขม่าหรือถ่านบดละเอียดเพื่อเพิ่มความเข้มหากไม่ระวังปล่อยให้หมึกไปโดนสีที่ป้ายไว้ เมื่อนำ  ผ้าหรือสำลีเช็ดออก จะเกิดรอยปื้นสีดำบนหรดาลสีเหลืองหรือสีฝุ่น ทำให้ใบลานดูไม่สวยงาม
 

     ทุกเส้นจารที่ขีดเขียนลงบนใบลานนั้นมีคุณค่า ที่ผู้จารบรรจงลงอักขระเพื่อส่งต่อความรู้ บอกเล่าประสบการณ์เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ที่สำคัญไม่แพ้วัสดุชิ้นใดที่มนุษยชาติ เคยใช้บันทึกลายลักษณ์อักษร แต่ในการประดิดประดอยสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ ไม่ว่าผู้จารจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความเหนื่อยล้าความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้เกิดการผิดพลาดขึ้นในระหว่างการจารใบลานได้ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วผู้จารได้แก้ไขตามกรรมวิธีต่าง ๆ หรือมีการอ่านทวนโดยผู้รู้ เมื่อพบข้อผิดพลาดจึงได้แก้ไขให้ถูกต้อง แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของใบลานที่อย่างไรก็ไม่อาจลบคำหรือส่วนที่จารผิดให้เลือนหายได้ ผู้จารหรือผู้แก้ไขจึงได้ทำในสิ่งที่ดีทีี่สุดที่นวัตกรรมสมัยนั้น ๆ จะเอื้ออำนวย แก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ถูกต้อง
 

      เพื่อไม่ให้ลูกหลานที่ตามมาศึกษาภายหลัง เข้าใจและนำไปใช้ผิด ๆ ซึ่งความเข้าใจผิดนั้นเป็นอันตรายที่บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดภัยใหญ่หลวงได้ ใบลานที่จารผิดแม้ไม่สวยงามแต่ก็มีคุณค่า ทำให้เรารู้ว่าใบลานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจไม่ใช่สักแต่ว่าจาร และยังบอกเล่าให้เรารู้ว่า ใบลานนี้มีผู้นำมาศึกษา ไม่ใช่จารเอาไว้บูชา แต่ไม่เคยนำถ้อยคำสอนและประสบการณ์ ล้ำค่าเหล่านั้นมาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นเลย
 
สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. (๒๕๕๖). คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.





พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      Metaverse ผู้นำแสงสว่างออนไลน์
      กลอนเพราะๆ จากสุนทรภู่ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบวช
      คําขวัญวันต่อต้านยาเสพติด
      คำสอนสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
      คำขวัญวันครู 2567 รวมภาพสวยๆ และคำขวัญวันครูทุกปี
      ส.ค.ส. ปีใหม่ 2566 ส.ค.ส. พระราชทาน
      วันรัฐธรรมนูญ 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญ
      Why is the monk’s robe saffron?
      คำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก
      คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกล่าสุด
      นางสงกรานต์ 2565
      ประเพณีรดน้ำดำหัว เทศกาลวันสงกรานต์
      ประกาศระเบียบปฏิบัติของวัด "ห้ามสูบบุหรี่"




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related