สิ่งที่ทำได้ยากเมื่อให้ไปแล้ว

คนควรให้ทาน จะน้อยหรือมากก็ตาม แต่ผู้ใด ครั้นให้ทานแล้ว ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของที่เป็นที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นนั้นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย https://dmc.tv/a16338

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 8 ส.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18275 ]
สิ่งที่ทำได้ยากเมื่อให้ไปแล้ว
 
 
     ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ล้วนต้องผ่านสภาวะแห่งการดำรงสถานภาพต่างๆมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชา มหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิหรือแม้กระทั่งเกิดเป็นยาจกเข็ญใจ การที่เรารู้ว่า เกิดมาทำไม อะไรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต แล้วตั้งเป้าหมายของชีวิตได้ถูกต้องมุ่งไปสู่จุดหมายได้นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐสุด อย่างไรก็ดีการที่เราจะประคับประคองตนให้อยู่ในสภาวะเช่นนี้ได้ จำเป็นจะต้องหมั่นประคองใจของเราให้อยู่ในแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ให้ได้ตลอดเวลา ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตในปัจจุบัน และในอนาคตก็ย่อมปลอดภัยจากทุกๆ สิ่งรวมทั้งในสังสารวัฏอันยาวไกลด้วย
 
มีวาระพระบาลีใน ทสัณณกชาดก ความว่า
 
                           “ทเทยฺย ปุริโส ทานํ       อปฺปํ วา ยทิวา พาหุ ํ
                            โย จ ทตฺวา นานุตปฺเป   ตํ ทุกฺกรตรํ ตโต
                            สพฺพญฺญํ สุกรํ ฐานํ       เอวํ ชานาหิ มคธ
 
     คนควรให้ทาน จะน้อยหรือมากก็ตาม แต่ผู้ใด ครั้นให้ของรักของตนแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของที่เป็นที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นนั้นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด”
 
     การให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจมาก นับตั้งแต่ที่เราลืมตาขึ้นดูโลก ชีวิตของเราล้วนเกี่ยวข้องกับการให้ตลอดเวลา ตั้งแต่บิดามารดาที่มอบความรักความอบอุ่นให้กับเรา ญาติพี่น้องที่ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ที่โลกเราอยู่อย่างสงบสุขได้ทุกวันนี้ ก็ด้วยการให้สิ่งที่ดีงามต่อกัน ตั้งแต่การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย ความมีน้ำใจสงเคราะห์ช่วยเหลือแบ่งปัน และการสนับสนุนส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน เป็นต้น
 
     พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการให้เป็นอย่างมาก ในบารมีทั้งสิบทัศ ทาน คือการให้ ยังต้องมาเป็นอันดับแรก แท้ที่จริงแล้ว การให้นี้ละเอียด และลุ่มลึกไปตามลำดับ นับตั้งแต่การให้วัตถุ ภาษาพระท่านเรียกว่า วัตถุทาน การให้ความรู้ ที่รู้จักกันดีว่า ให้วิทยาทาน และประการสุดท้ายคือ ไม่ติดใจในเรื่องราวนั้นๆ อันจะเป็นเหตุให้ขุ่นมัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา หรือที่เราเรียกกันว่า อภัยทาน นั่นเอง ลำดับแห่งการให้ มีตั้งแต่ขั้นธรรมดา ขั้นปานกลาง และขั้นอุกฤษฏ์ ซึ่งทุกท่านคงจะจำกันได้ที่มีทั้งอุปบารมี และปรมัตถบารมี
 
     ในชีวิตของปุถุชนคนธรรมดา หากสามารถที่จะให้โดยไม่เกิดความรู้สึกเสียดายในภายหลัง นี้เป็นสิ่งที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายพากันยกย่องและสรรเสริญยิ่งนัก หากทำจิตได้เช่นนี้ จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่กว่าจะทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่ถ้าทำได้ก็ยอดเยี่ยมทีเดียว
 
     * ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ในครั้งที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือ มีอุบาสกท่านหนึ่งซึ่งมีครอบครัวแล้ว ได้เห็นโทษในการครองเรือน ทั้งกับมีศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงตัดสินใจสละชีวิตทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ฝ่ายภรรยาของท่านยังทำใจกับการบวชของท่านไม่ได้ จึงไปเยี่ยมท่านบ่อยๆ ทำให้ท่านเกิดความคิดอยากจะสึก
 
     เมื่อพระศาสดาทรงรู้เรื่องนี้และเล็งเห็นอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมของท่าน จึงเสด็จไปหาและตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอถูกภรรยาเก่ายั่วยวนจนอยากจะลาสิกขาหรือ” ภิกษุรูปนั้น กราบทูลตามความเป็นจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า “ภิกษุ ไม่เพียงแต่ภพชาตินี้เท่านั้น แม้ในอดีต เธอก็เคยถูกหญิงนี้ทำจนแทบเป็นบ้ามาแล้ว แต่อาศัยบัณฑิต จึงรอดชีวิตมาได้” จากนั้นพระองค์ทรงนำอดีตมาเล่าว่า
 
     เมื่อพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ญาติทั้งหลายพากันตั้งชื่อว่า เสนกกุมาร เป็นผู้มีปัญญามาก ครั้นเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปวิทยาจนสำเร็จแตกฉาน หลังจากเรียนจบแล้วก็กลับมารับราชการเป็นอำมาตย์ของพระเจ้ามัททวะ ความเป็นบัณฑิตของพระโพธิสัตว์ เป็นที่เล่าขานกันมาก
 
     วันหนึ่ง บุตรชายของปุโรหิตมาเข้าเฝ้าพระราชา เห็นอัครมเหสีของพระองค์เข้า เกิดจิตปฏิพัทธ์ชนิดที่ว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ นอนอดอาหารอยู่ที่บ้าน ทำให้ล้มป่วยอยู่หลายวัน พระราชาไม่เห็นบุตรปุโรหิตมาเฝ้าจึงตรัสถามว่า “บุตรปุโรหิตหายไปไหนเล่า ทำไมจึงไม่มาเข้าเฝ้า”
 
     เมื่อพระองค์ทรงรู้เรื่องราวทั้งหมด จึงรับสั่งให้เรียกบุตรปุโรหิตมา พลางตรัสว่า “เราจะมอบมเหสีของเราให้ท่าน ๗ วัน ท่านพามเหสีไปอยู่ที่บ้านได้วันที่ ๘ ให้นำมาคืนเราก็แล้วกัน” เมื่อได้ฟังพระดำรัสเช่นนี้ บุตรปุโรหิตดีใจเหมือนได้แก้วทีเดียว ได้นำมเหสีไปอยู่ที่บ้าน เมื่อได้อยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งสองยิ่งรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นมากขึ้น จึงวางแผนหนีออกจากเมือง ไปอาศัยอยู่ที่เมืองอื่นโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้เส้นทางของคนทั้งสอง
 
     ครั้นครบ ๗ วัน พระองค์ไม่เห็นมเหสีกลับมา จึงสั่งให้ป่าวประกาศไปทั่วแว่นแคว้น ก็ไม่มีใครพบบุคคลทั้งสอง ต่อมาพระองค์ทรงเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์นี้มาก พระหทัยรุ่มร้อนถึงกับพระโลหิตไหลออก ทรงอาพาธอย่างหนัก ไม่มีหมอหลวงใดสามารถเยียวยาได้
 
     พระโพธิสัตว์รู้ว่า ที่พระราชาเป็นเช่นนี้ เพราะเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก อันที่จริงพระองค์ไม่ได้เป็นโรคอะไร เพียงแต่ไม่เห็นพระมเหสีเท่านั้น พระโพธิสัตว์จึงคิดหาอุบายช่วยพระราชา โดยเรียกอายุรอำมาตย์ และปุกกุสอำมาตย์มา พลางบอกว่า “ท่านอำมาตย์ทั้งสอง แท้ที่จริงพระราชาไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร เพียงเพราะพระองค์มีพระหทัยอ่อนแอ เราจะออกอุบายรักษาพระราชาให้หายดีดังเดิม”
 
     มหาเสนกอำมาตย์ผู้ทรงปัญญาได้นัดแนะว่า “พวกเราจะให้สร้างฉากแสดงขึ้นที่พระลานหลวง แล้วจัดแสดงการละเล่น โดยให้ผู้ที่รู้วิธีการกลืนดาบแสดงให้พระราชาทอดพระเนตร แล้วเราจะผูกปัญหาตอบโต้กับพระราชา จะทำให้พระองค์ได้พระสติกลับคืนมา” หลังจากนัดแนะกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งสามพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระราชาที่ท้องพระโรง
 
     บัณฑิตทั้งสาม ถวายบังคมพระราชาแล้วได้กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ตอนนี้ที่พระลานหลวงมีการแสดง เมื่อมหาชนพากันดูการละเล่น ที่เป็นทุกข์ก็จะลืมความทุกข์ ขอพระองค์โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรเถิดพระเจ้าข้า” จากนั้นทั้งสามได้พาพระราชาไปทอดพระเนตรที่ช่องพระแกล ในบรรดาคนที่แสดงการละเล่น มีชายคนหนึ่งกลืนกินดาบที่ยาวถึง ๓๓ นิ้ว เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็น ทรงแปลกพระทัย จึงตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า “ท่านอายุระ ชายคนนี้น่าอัศจรรย์นัก สามารถกินดาบที่แหลมคมได้ ยังมีสิ่งที่ทำได้ยากกว่านี้หรือไม่”
 
     อายุระฟังดังนั้นรีบตอบว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ใดก็ตามที่กล่าวว่า จะให้ แล้วตัดใจให้ไป ผู้นั้นได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการกลืนดาบพระเจ้าข้า สิ่งอื่นๆ ชื่อว่าง่ายหมดทีเดียว”
 
     พระราชาฟังดังนี้แล้ว ฉุกใจคิดขึ้นมาว่า คำพูดว่าจะให้ เราเองก็เคยพูด ว่าจะให้ราชเทวีแก่บุตรปุโรหิต แม้เราก็เป็นผู้ทำสิ่งที่ทำได้ยากหนอ เมื่อคิดได้เช่นนี้ความโศกที่ทับถมอยู่ค่อยบางเบาลงบ้าง พระราชาทรงจึงตรัสถามต่อไปว่า “แล้วสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการพูด ว่าจะให้นั้น มีอยู่ไหม”
 
     ปุกกุสบัณฑิตรีบตอบว่า “มหาบพิตร คนที่ไม่รักษาคำพูด สิ่งที่พูดออกไปก็ไม่มีผล ผู้ที่ให้ปฏิญญาแล้วบั่นทอนความโลภได้ จัดว่าทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการกลืนดาบ และการให้ปฏิญญานั้นอีก” พระราชาฟังแล้วก็ฉุกคิดว่า แม้แต่ตัวเราเองก็ได้ให้พระเทวีตามคำสัญญา เราทำสิ่งที่ทำได้ยากหนอ คิดดังนี้แล้ว ความโศกก็เบาบางลงกว่าเดิม  พระองค์ฉุกคิดขึ้นอีกว่า คนที่ฉลาดเกินเสนกบัณฑิตไม่มี เราถามเสนกะบ้างดีกว่า ทรงเอ่ยถามเสนกบัณฑิตว่า “พ่อเสนกะ สิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่านี้มีอีกไหม”
 
     พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นรีบกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช คนควรที่จะให้ทานไม่ว่าน้อยหรือมากก็ตาม ยังไม่ยากกระไรนัก แต่ผู้ใดก็ตามครั้นตัดใจให้แล้ว ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ทำได้ยากกว่าสิ่งใดทั้งหมดพระเจ้าข้า”
 
     พระราชาฟังดังนั้นทรงได้คิดทันทีว่า การที่เราตัดสินใจให้ไปแล้วเดือดร้อนเช่นนี้ ไม่สมควรแก่เราอย่างยิ่ง เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว โรคที่เป็นอยู่ก็หายเป็นปลิดทิ้งโดยฉับพลันทันที ครั้นจบพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
 
     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลใด จะให้นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ยากอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักคำว่าให้ แม้เคยให้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะขาดจากใจได้อย่างง่ายๆ การให้แล้วตัดขาดจากใจในเรื่องที่หลวงพ่อนำมาเล่านี้ เป็นเพียงอุทาหรณ์ให้ทุกท่านคิดเปรียบเทียบถึงการบำเพ็ญทานบารมีของพวกเรา ในขณะที่เราให้ทาน สภาวะใจของเราเป็นเช่นไร หากเราให้แล้วตัดขาดจากใจเหมือนตัดบัวไม่เหลือใย ไม่มีอะไรเหลือติดอยู่เลย ให้แล้วก็ปลื้มปีติยินดี ไม่นึกเสียดายในภายหลัง บุญกุศลที่เกิดขึ้นย่อมจะยิ่งใหญ่ไพศาล เราต้องทำให้ได้อย่างนี้ เพื่อจะได้บุญอย่างเต็มเปี่ยมไม่มีหกไม่มีหล่นเลยแม้แต่น้อย

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า๕๕
 
 

http://goo.gl/Wg6Ucp


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related